ผู้เขียน หัวข้อ: 'ความสุข' แค่ปลายจมูก  (อ่าน 2194 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
'ความสุข' แค่ปลายจมูก
« เมื่อ: เมษายน 15, 2017, 12:47:43 pm »
'ความสุข' แค่ปลายจมูก

   ฟังบรรยายธรรมฉบับย่อจากพระนักคิด ที่ชวนให้เราหันมา "มี" ความสุข ไม่ใช่ "หา" ความสุข เพราะจากการหานี่เอง ทำเอาคนทุกข์มานักต่อนัก

หาก พระไพศาล วิสาโล แห่งวัดป่าสุคะโต กลับถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงเนิบนุ่มและเปี่ยมไปด้วยเมตตาว่า ความสุขที่แท้อยู่ใกล้กว่านั้น...
...แค่ปลายจมูก

เส้นผมบังความสุข                                                                                                                                                               อีกกว่าสิบนาที ถึงจะได้เวลาบรรยายจริงตามกำหนดการ แต่ในร้านหนังสือไตรปิฎก ย่านอรุณอมรินทร์ ก็ถูกจับจองที่นั่งจนแทบจะไม่มีที่ยืนแล้ว

เด็ก สตรี คนชรา และ สุภาพบุรุษมากหน้าหลายตาเหล่านั้น มานั่งเพื่อรอฟังการบรรยายธรรมเรื่อง "ความสุขที่ปลายจมูก" ของพระนักคิด นักเขียน และนักเผยแผ่ผู้นี้

เมื่อได้เวลาพอดี นักเทศน์พร้อม ผู้ฟังพร้อม หลายคนยกมือขึ้นพนม นั่งนิ่งๆ แล้วหลับตา

"ความสุขอยู่ใกล้ตัวมาก จนเรามองไม่เห็น เหมือนปลายจมูก ใกล้ตามากๆ เช่น ขนตา แต่เรามองไม่เห็น เรามักจะมองเห็นอะไรไกลๆ จนละเลยสิ่งดีๆ ที่มีอยู่กับตัว รวมไปถึงความสุขที่มีอยู่แล้วแต่เราไม่เคยคิดหรือไม่เคยรู้ว่าตัวเองมี" ท่านเริ่มบรรยายด้วยการให้ความหมาย

พร้อมเล่านิทานเรื่อง "ขโมยกับเศรษฐี" ให้เข้าใจเรื่องปลายจมูกมากขึ้น
"กาลครั้งหนึ่ง มีขโมยกับเศรษฐี บังเอิญมีเรื่องให้ต้องมาพักโรงแรมเดียวกัน นอนห้องเดียวกัน เพราะห้องพักไม่พอ เศรษฐีไม่รู้ว่าขโมยเป็นขโมย แต่ฝ่ายขโมยรู้ว่าเศรษฐีมีเงิน และพยายามคิดอุบายหาทางขโมยเงิน เย็นวันแรก ขโมยแกล้งเข้าห้องน้ำและบอกเศรษฐีว่า เขาอยู่ในห้องน้ำ ให้เศรษฐีลงไปกินข้าวก่อน พอเศรษฐีลงไป ตัวเองก็รีบออกมาหากระเป๋าเงิน แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ ใจก็สงสัย วันรุ่งขึ้น ขโมยก็พยายามสังเกตอีกว่าเศรษฐีเก็บเงินไว้ที่ไหน แล้วเย็นวันนั้นก็ใช้อุบายเดิมอีก พยายามค้นทุกที่ แต่หาไม่เจอ เป็นอย่างนี้อยู่ 3 วัน พอวันที่4 เศรษฐีจะเดินทางไปที่อื่นแล้ว ด้วยความสงสัยมากๆ ขโมยจึงยอมสารภาพทั้งหมดและเปิดเผยตัว พร้อมถามว่า เศรษฐีซ่อนเงินไว้ที่ไหน"

ก่อนจะเฉลย พระไพศาลหรือหลวงพี่เตี้ย ก็ถามกลับไปยังผู้ฟังว่า ทายได้ไหม
คนฟังมากกว่า 5 ยกมือขึ้นพร้อมกับตอบว่า "อยู่ใต้หมอนของโจร"

"อะไรยิ่งใกล้ เรายิ่งมองข้าม ประสาอะไรกับใจเรา" หลวงพี่เปรียบเปรย พร้อมชี้ให้เห็นสภาพของสังคมปัจจุบันว่า "ความสุขอยู่นอกตัว" ไม่ว่าจะเป็น บ้านหลังใหม่ รถคันใหม่ เงินก้อนใหม่ กระทั่งแฟนใหม่

ที่มาบรรยายธรรมวันนี้ หลวงพี่เพียงอยากชี้ว่า จริงๆ แล้วความสุขไม่ได้อยู่ไกลขนาดนั้น
ความสุขแบบลูบคลำได้เหล่านี้ พอได้มาจริงๆ ก็เหนื่อย เพราะผ่านการดิ้นรน แข่งขัน ฝ่าฟัน เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขชั่วคราว แล้วก็อยากได้อยากมีอีก เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา เพราะคิดว่าความสุขทั้งหลายล้วนอยู่นอกตัว

"จริงๆ ความสุขอยู่กับเรา แต่เรามองไม่เห็น ถ้าอยากเห็นเพียงแค่เปลี่ยนมุมมองใหม่ เช่น การที่เราไม่เจ็บไม่ป่วย นั่นคือความสุขแล้ว เป็นความสุขที่มากกว่าการได้เงินได้ทองเสียอีก"
กับ "คนรัก" เรามักไปมองหาคนให้มารักเราจากที่ไกล อยู่ที่ไหนก็ยังไม่รู้ แต่กับคนใกล้ตัวกลับถูกเราผลักให้ออกห่าง แต่จะกลับรู้สึกว่าเขาใกล้ก็ต่อเมื่อเขาจากเราไปแล้ว

"วันที่ได้อยู่ใกล้ อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นวันที่เรามีโชคอย่างยิ่ง อาตมาอยากเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟังว่า นานมาแล้ว ตอนจีบกันใหม่ๆ ผู้ชายคนหนึ่งอยากเห็นหน้าฝ่ายหญิงมาก ประมาณว่าได้เห็นแค่ประตูบ้านก็ยังดี ผู้หญิงก็ใจดีให้รูปถ่ายไว้ดูต่างหน้า ฝ่ายชายก็ดีใจมาก นึกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าอยากให้รูปถ่ายกลายเป็นตัวจริง"

แต่พอร่วมหอลงโรงกันได้ 4-5 ปี ความรู้สึกที่เคยมีกลับพลิกตาลปัตร

"อยากให้ตัวจริงกลายเป็นรูปถ่าย(ยิ้ม) แต่อาตมาเชื่อว่า ถ้าภรรยาของเขาจากไป เขาจะเปลี่ยนความรู้สึก ไม่ต้องถึงกับตายจากไป แค่รูปถ่ายก็ไม่อยากให้เป็น"

ปริมาณ ความรัก ความใส่ใจ จึงต้องแปรผันตามความใกล้-ไกล ไม่ใช่ผกผันตามระยะทาง

รักคนไกล ระอาคนใกล้
หลวงพี่ยังมีเรื่องตลก(ร้าย) เล่าให้ฟังอีก

"แอม เสาวลักษณ์ (ลีละบุตร) เคยเล่าเรื่องเพื่อนคนหนึ่งให้ฟัง เพื่อนคนนั้นเพิ่งกลับจากไปปลูกป่า พร้อมกับบอกว่ามันดีเหลือเกิน ช่วยทั้งเรื่องฝน ดิน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ แล้วก็ปลื้ม นายดาบวิชัย มากๆ ฟังอย่างนี้ แอมเลยถามกลับไปว่า ชอบปลูกป่าอย่างนี้ที่บ้านคงมีต้นไม้เยอะแน่ๆ แต่เพื่อนกลับหน้าบึ้ง ตอบกลับว่า ตัดหมดแล้ว ใบไม้มันร่วงเยอะ ขี้เกียจกวาด"
กระแทกเข้าไปในหัวใจสีเขียวของใครหลายคน ด้วยมัวแต่ชื่นชมและอุ้มชูป่านอกบ้าน หากต้นไม้ในบ้านกลับไม่เห็นค่า บอกว่าระอาและเป็นภาระ
ป่ากับต้นไม้ ไม่ต่างอะไรกับความรู้สึก "รักคนไกล ระอาคนใกล้"

"บางคนที่เบื่อพ่อแม่ เพราะท่านมีนิสัยบางอย่างที่ไม่น่าพอใจ แล้วเราก็ชอบเอาแต่ตรงนี้ไปคิดระอา ทั้งๆ ที่ข้อดีของท่านมีไม่หวาดไม่ไหว" หลวงพี่พยายามดึงให้มองด้านดีของคนใกล้ อย่าไปเสียเวลาใส่ใจกับด้านลบ แล้วมอบสิ่งดีๆ อย่าง คำขอบคุณ อ้อมกอด หรือความรัก เป็นการตอบแทน

"คนมักเห็นค่า เมื่อ 1.ยังไม่ได้มา 2.จากไปแล้ว" ท่านย้ำ พร้อมเล่าเรื่องเพื่อนที่เป็นหมอคนหนึ่ง ว่า สมัยก่อนเขาอยากได้พีดีเอโฟนมาก เลยอยู่เวรดึกหลายคืนเพื่อเก็บเงิน แต่พอใช้ไปได้ 4-5 เดือน บ่นอยากได้รุ่นใหม่ซะแล้ว แล้วจู่ๆ เครื่องเดิมเกิดหาย เสียดายมาก"

นอกจากคน สิ่งของ ความสุขระยะใกล้ยังหมายถึง "เวลา" ...นาฬิกาชีวิตที่มักถูกลืม

การที่คนๆ หนึ่งตื่นมาทุกเช้า พร้อมกับความรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะคนๆ นั้นเชื่อว่า เวลายังไม่จบสิ้น ไม่เคยเลยสักวันที่ตื่นมาขึ้นมาใน "เช้าอันแสนวิเศษ"

"แต่ถ้าเขาเป็นโรคร้าย หรือโลกใบนี้กำลังจะแตก เขาจะรู้สึกถึงว่า การมีเช้าวันใหม่นั้นเป็นของขวัญ เพราะไม่รู้ว่าจะมีวันพรุ่งนี้หรือไม่ และทำให้เขาใช้เแต่ละวันแต่ละนาทีอย่างมีคุณค่า ชีวิตมีความสุขมากขึ้น"


ขอให้มี "ลมวิเศษ"
ทั้งหมดที่พระไพศาลพยายามเล่าพร้อมยกตัวอย่างนั้น เป็นการอธิบายถึง "ความสุขที่ปลายจมูก" เชิงอุปมาอุปไมย แต่ความหมายจริงๆ ก็มีและลึกซึ้ง

"ที่ปลายจมูกมีลมหายใจเข้าออก ถ้าเรารู้สึกตัว ความรุ่มร้อนในใจจะคลายลง"
เพราะเมื่อสติกลับมาที่ลมหายใจ จิตกลับมาอยู่ที่ปลายจมูก รับรู้ลมหายใจเข้าออก ความหนักใจจะค่อยๆ หายไป

"ความรู้สึกตัวจะช่วยปัดเป่า ให้เราเย็น มันจึงเป็นลมวิเศษ"

หลวงพี่บอกต่อว่า "ลมวิเศษ" ที่ว่านี้ ใครๆ ก็มีได้ แค่เราเอาใจใส่ลมหายใจธรรมดา ไม่หายใจแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ให้สูดลมหายใจเข้าออกแบบรู้ตัวอยู่เสมอ

ลมวิเศษ จะเอาความสงบเย็นไปหล่อเลี้ยงจิตใจ ขจัดปัดเป่าความหนักใจให้กลายเป็นความโปร่งเบา

"ลมวิเศษ จะทำให้พบอีกหลายอย่าง เช่น ทำให้เกิดปัญญา เห็นความจริงของกายและใจ ไม่ต่างอะไรจากวิปัสสนาที่ก่อให้เกิดสติสัมปชัญญะ รู้ทันข้างใน ที่สำคัญที่สุดคือ ก่อให้เกิดอิสระ และเห็นความเป็นจริง ไม่เป็นตัวกูของกู ไม่มีการปรุงแต่ง เป็นอิสระจากความทุกข์ที่เกิดจากการยึดมั่น ถือมั่น และเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง"

เมื่อ "ความสุขที่ปลายจมูก" เดินทางมาถึงช่วงสุดท้าย พุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง ยกมือขึ้นถามว่า เช่นนั้นแล้ว ความสุขภายนอกยังจำเป็นอยู่ไหม และถ้ายังจำเป็น ควร "จำกัด" มันไว้แค่ไหน ไม่ให้เสพติดมัน

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ตอบว่า "ยังจำเป็นอยู่" ยกตัวอย่างเช่น ปัจจัยสี่ ที่ยังจำเป็นในชีวิตประจำวัน

"แต่จำเป็นเพราะความอยู่รอด โดยปกติ จิตใจจะโหยหาความสุข ถ้าไม่ได้ความสุข มันจะป่วน คนที่ทำตัวเกกมะเหรกเกเรเพราะเขาขาดความสุข

ความสุขมีสองประเภท คือความสุขทางวัตถุกับความสุขทางจิตใจ ถ้าเรายังไม่มีนิรันดร์สุข เราก็ต้องอิงแอบอยู่กับความสุขที่เรามี แต่เมื่อใดก็ตามที่เรามีความสุขหล่อเลี้ยงใจมากขึ้น เราก็จะต้องการความสุขทางวัตถุน้อยลง แต่ถ้าเราไม่มีความสุขภายในเลย เราก็ต้องการความสุขทางวัตถุมากจนกลายเป็นทาสของมัน เช่น คนติดยา ติดเหล้า เพราะนั่นคือ ความสุขอย่างเดียวของเค้า
เช่นนั้นแล้ว ถ้าเราต้องการเป็นอิสระจากสุขภายนอก เราก็ต้องหาสุขอย่างอื่นมาทดแทน เช่น ตอนเด็กๆ เราชอบกินกล้วยแขก เพราะมันอร่อยมาก แต่พอโตขึ้นมาเจอชอกโกแลต พบว่ามันอร่อยมาก เราก็เบื่อกล้วยแขกไปเลย เพราะเจอของอร่อยกว่า แต่ต่อไปเราก็จะหน่ายชอกโกแลตอีกเพราะเราเจอสิ่งที่ดีกว่า" หลวงพี่ตอบเป็นแนวทางกว้างๆ
..
..
กับคำถามต่อมา ปุจฉาโดยพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง ที่กำลังมีปัญหาในที่ทำงาน
"เราควรวางตัวอย่างไรให้มีความสุขในที่ทำงาน เพราะต้องทำตัวให้แข็งแกร่ง มีความรู้ เพื่อให้ผู้ร่วมงานให้เกียรติ และเราเองก็หวังความสุขจากตรงนั้น แต่บางทีใจเรารู้ว่ามันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง แต่ถ้าเราไม่ทำ ก็จะเกิดความกลัวว่า เพื่อนร่วมงานจะนำปัญหามาให้"

หลวงพี่วิสัชนาว่า
"ปัญหาอยู่ที่ความสัมพันธ์ เราเองต้องทำใจส่วนหนึ่ง อย่าไปอิงกับความคาดหวัง สายตา หรือความรู้สึกของคนรอบข้างมากนัก ถ้าเราพึ่งพิงหรือแคร์ เราจะไม่มีทางมีความสุขได้เลย เพราะสายตาคนรอบข้างไม่มีความแน่นอนอยู่แล้ว แคร์มากเราก็จะทุกข์ การที่เขาจะมองว่าเราไม่แข็งแกร่ง ไม่มีความรู้ ก็เป็นเรื่องของเขา อย่างน้อยให้เรามีความมั่นใจในตัวเอง ไม่หวั่นไหวต่อสายตาคนอื่น นี่เป็นสิ่งสำคัญกว่า

ส่วนที่สอง คือ ปฏิสัมพันธ์กับเขา ถ้าเราปฏิสัมพันธ์กับเขาอย่างเพื่อน ด้วยความจริงใจแล้ว ด้วยความเมตตา ถ้ามีอะไรก็กล้าพูดกับเขา จะช่วยได้ การสื่อสารระหว่างกันเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ในการช่วยลดปัญหา"
..............................................

คนเรามักมีความสุขจากการได้ มากกว่าการมี มีเท่าไหร่ก็ยังจะอยากได้มาใหม่เพราะเรามักคิดว่า ของใหม่จะให้ความสุขแก่เราได้มากกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิม บ่อยครั้งของที่ได้มาใหม่นั้นก็เหมือนกับของเดิมไม่ผิดเพี้ยน แต่เพียงเพราะมันเป็นของใหม่ ก็ทำให้เราดีใจแล้วที่ได้มา

ถ้าหากว่าของใหม่ให้ความสุขได้มากกว่าของเก่าจริงๆ เรื่องก็น่าจะจบลงด้วยดี แต่ปัญหาก็คือ ของใหม่นั้นไม่นานก็กลายเป็นของเก่า และความสุขที่ได้มานั้นในที่สุดก็จางหายไป ผลก็คือกลับมารู้สึก "เฉยๆ" เหมือนเดิม และดังนั้นจึงต้องไล่ล่าหาของใหม่มาอีก เพื่อหวังจะให้มีความสุขมากกว่าเดิม แต่แล้วก็วกกลับมาสู่จุดเดิม เป็นเช่นนี้ไม่รู้จบ น่าคิดว่าชีวิตเช่นนี้จะมีความสุขจริงหรือ? (ตอนหนึ่งจากหนังสือความสุขที่ปลายจมูก)

เนื้อธรรมทั้งหมดที่พระไพศาลบรรยายมาทั้งหมด เชื่อว่าเป็นสิ่งที่หลายคนรู้อยู่แล้ว นี่อาจจะเพียงการช่วยตรวจทานอีกรอบว่า ความสุขมีกันอยู่แล้ว หยิบมันออกมาใช้บ้าง อย่าเอาใจออกห่าง

...อยู่ใกล้แค่นี้เอง

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด bangkokbiznews.com
http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=23944.0;wap2