ผู้เขียน หัวข้อ: ฝรั่งบันทึกไว้ ด้วยความทึ่ง.! บุรุษผู้คงกระพันในประวัติศาสตร์ไทย ดาบฟันไม่เข้า  (อ่าน 21959 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ฝรั่งบันทึกไว้ ด้วยความทึ่ง.! บุรุษผู้คงกระพันในประวัติศาสตร์ไทย ดาบฟันไม่เข้า

ฝรั่งบันทึกไว้ ด้วยความทึ่ง.! บุรุษผู้คงกระพันในประวัติศาสตร์ไทย ดาบฟันไม่เข้า กลับบีบคอเพชฌฆาตตาย

ประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนใหญ่ไม่ได้บันทึกไว้โดยบุคคลร่วมสมัย มาบันทึกก็ต่อเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วเป็นเวลานาน บางเรื่องก็เป็น ๑๐๐ ปี เพราะคนไทยเราไม่มีนิสัยชอบบันทึกเรื่องราวของบ้านเมือง แต่ก็โชคดีที่มีฝรั่งซึ่งมีนิสัยชอบบันทึกเข้ามามากในช่วงนั้น บางคนก็อยู่นานหลายปี และบันทึกเรื่องราวที่รู้เห็นไว้ เอาไปพิมพ์เผยแพร่ในยุโรปหลายเล่ม จึงนับเป็นประวัติศาสตร์ไทยที่บันทึกโดยบุคคลร่วมสมัย ถือได้ว่าใกล้เคียงความจริงมากที่สุด
       
       ฝรั่งผู้บันทึกประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกอ้างบ่อยมากคนหนึ่ง ก็คือ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต หรือเรียกกันในสำเนียงไทยว่า “วันวลิต” ซึ่งเข้ามาเป็นผู้จัดการสถานีการค้าของฮอลันดาที่กรุงศรีอยุธยาระหว่างปี ๒๑๗๖-๒๑๘๕ ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมจนถึงแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง อยู่นานจนรู้จักเมืองไทยดี ได้เขียนเรื่องเมืองไทยในยุคนั้นนำไปพิมพ์เผยแพร่ในยุโรปไว้หลายเล่ม เล่มหนึ่งกรมศิลปากรได้นำมาแปลไว้ในชื่อ “รวมประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาของ ฟาน ฟลีต (วัน วลิต)” ได้รับความเชื่อถือจากนักประวัติศาสตร์ไทยมากกว่าฉบับอื่นๆ เพราะนอกจากจะบันทึกโดยผู้อยู่ในยุคสมัยที่บันทึกแล้ว ยังไม่มีข้อจำกัดเหมือนนักพงศาวดารของไทย เพราะบันทึกแล้วนำไปพิมพ์ในต่างประเทศ
       
       เรื่องหนึ่งที่วันวลิตเล่าไว้อย่างน่าตื่นเต้นก็คือ เรื่องของ “ออกหลวงมงคล” ผู้จงรักภักดีต่อพระศรีศิลป์ พระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งตามธรรมเนียมประเพณีแล้ว จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อ แต่พระเจ้าทรงธรรมต้องการให้ราชสมบัติตกแก่พระเชษฐาธิราช พระราชโอรส ซึ่งวันวลิตได้บันทึกตอนนี้ไว้ว่า

       “...และเพื่อกีดกันพระอนุชาผู้ทรงเป็นรัชทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายนี้ พระองค์ทรงปรึกษาออกญาศรีวรวงศ์ เสนาบดีผู้มีความตั้งใจที่แท้จริงในอันจะช่วงชิงราชบัลลังก์มาเป็นของตนเอง โดยแย่งมาจากเจ้าชายผู้เยาว์พระชันษา ซึ่งมีพระชนม์เพียง ๑๕ พรรษา เจ้าชายองค์นี้ทรงมีนิสัยต่ำทรามจนออกญาศรีวรวงศ์มั่นใจว่า พระองค์ต้องเป็นที่รังเกียจของไพร่ฟ้าและข้าแผ่นดิน...”
       
       เมื่อออกญาศรีวรวงศ์ช่วยให้พระเชษฐาธิราชขึ้นครองราชย์ได้ จึงได้รับการโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ สมุหกลาโหม ส่วนพระศรีศิลป์รู้ชะตากรรมของตัวเองดีจึงไปผนวชเอาผ้าเหลืองคุ้มชีวิต เจ้าพระยากลาโหมวางแผนที่จะกำจัดพระศรีศิลป์ให้สิ้นเสี้ยนหนาม แต่เมื่อมีกระแสรับสั่งให้พระศรีศิลป์มาเข้าเฝ้า พระศรีศิลป์ซึ่งรู้ตัวดีว่าถ้าออกจากวัดเมื่อไหร่ก็ต้องตายเมื่อนั้น จึงไม่ยอมเข้าเฝ้า เจ้าพระยากลาโหมจึงเปลี่ยนแผนใหม่ ให้ออกญาเสนาภิมุข หรือ “ยามาด้า” ทหารอาสาญี่ปุ่น ไปหลอกพระศรีศิลป์ว่าจะนำทหารญี่ปุ่นมาช่วยชิงราชบัลลังก์ พระศรีศิลป์จึงตัดสินใจสึกออกมานำทหารญี่ปุ่นบุกเข้าวัง แต่พอถึงวังหลวง ทหารญี่ปุ่นของยามาด้าเองกลับเป็นฝ่ายจับพระศรีศิลป์มัด นำตัวไปให้เจ้าพระยากลาโหม

       พระเชษฐาธิราชพระทัยไม่แข็งพอที่จะสำเร็จโทษพระเจ้าอา ให้นำตัวไปจำขังไว้ก่อน เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงส่งไปขังไว้ที่เมืองพริบพรี หรือเมืองเพชรบุรี ซึ่งยามาด้าเป็นเจ้าเมือง แล้วกระซิบให้ผู้คุมลดอาหารลงทุกวันจนกว่าจะตายไปเอง ผู้คุมขุดหลุมลึกเอาพระศรีศิลป์ขังไว้ แล้วชะโงกหน้ามาดูที่ปากหลุมวันละ ๓ เวลา ว่าพระศรีศิลป์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

       ชะตากรรมของพระศรีศิลป์ยังไม่ถึงฆาต ออกหลวงมงคล ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงทางด้านอยู่ยงคงกระพัน และเป็นนักรบที่แกล้วกล้า ได้ติดตามไปที่เมืองพริบพรี ขุดอุโมงค์ไปจนถึงก้นหลุมที่คุมขังพระศรีศิลป์ จากนั้นก็บีบคอทาสที่ช่วยขุดจนตาย แล้วเอาเครื่องทรงของพระศรีศิลป์ใส่ให้ จับนอนคว่ำหน้าอยู่ในหลุมแทน ก่อนที่จะอุ้มพระศรีศิลป์ออกไป เมื่อผู้คุมชะโงกหน้ามาดู ก็เห็นว่าพระศรีศิลป์ตายแล้ว จึงกลบหลุมแล้วรายงานไปยังกรุงศรีอยุธยา
       
       ออกหลวงมงคลนำพระศรีศิลป์ไปพักฟื้นที่วัดแห่งหนึ่งจนแข็งแรง ข่าวการรอดชีวิตของพระศรีศิลป์แพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ขุนนางในกรุงศรีอยุธยาทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์สึกออกมาสวามิภักดิ์เป็นจำนวนมาก ขอช่วยรบชิงราชบัลลังก์ถวาย
       
       ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา เมื่อทราบข่าวก็จัดทหารไทยพร้อมซามูไรญี่ปุ่นเข้าปราบปราม ออกญาเสนาภิมุขได้ใช้เล่ห์กลอีกครั้ง ส่งคนไปเจรจากับออกหลวงมงคลว่าจะนำทหารญี่ปุ่นมาเข้าข้าง แม้ถูกสั่งให้ออกหน้าก็จะไม่รบจริง แค่แกล้งทำเป็นรบแล้วให้จับเป็นเชลยทั้งหมด ออกหลวงมงคลก็หลงเชื่อยามาด้าอีก สั่งทหารไทยไม่ให้ฆ่าฟันทหารญี่ปุ่น ฉะนั้นพอ ๒ กองทัพเผชิญหน้ากัน ทหารของออกหลวงมงคลจึงรบกับญี่ปุ่นแบบลิเก แต่ญี่ปุ่นกลับฟันเอาๆด้วยซามูไร จนกองทัพของออกหลวงมงคลแตกพ่าย พระศรีศิลป์จะหลบหนีลงใต้ก็ถูกจับได้เสียก่อน เมื่อถูกนำตัวมาเฝ้าพระเชษฐาธิราช พระศรีศิลป์รู้ชะตากรรมของตัวดีจึงไม่ได้ไหว้วอนขอชีวิต แต่ทรงเตือนในฐานะอากับหลานว่าให้ระวังตัวให้ดี วันหนึ่งก็จะถูกเจ้าพระยากลาโหมกำจัดเช่นเดียวกับพระองค์
       
       ส่วนออกหลวงมงคลเมื่อแตกทัพแล้ว ก็หลบเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา คิดจะลอบฆ่าเจ้าพระยากลาโหม ดักอยู่หน้าประตูวังหลายวัน เจ้าพระยากลาโหมก็ไม่ออกมาเลยล้มความตั้งใจ พาเมียหลวงและเมียน้อยหลบไปอยู่ชายแดนกัน ๓ คนผัวเมีย ใช้ชีวิตแบบพรานป่า ต่อมาเมียทั้งสองพลาดท่าถูกทหารกรุงศรีอยุธยาจับไป เลยหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต เดินทางเข้ากรุงมอบตัวรับโทษแต่โดยดี



ผลงานของวันวลิต

 วันวลิตได้บันทึกเรื่องราวในช่วงนี้ไว้อย่างน่าแปลกใจในความเชื่อของฝรั่งว่า
       
       “...เจ้าหน้าที่พันธนาการเขาด้วยโซ่ตรวน ใส่ขา มือ แขน คอ และทุกๆส่วนของร่างกายเพราะได้รับคำตักเตือนมาก่อนในเรื่องพละกำลังมากมายผิดธรรมดา และเรื่องวิทยาคุณตามหลักไสยศาสตร์ ออกหลวงมงคลจึงหัวเราะขบขันคนเหล่านั้น และบอกว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่ใส่โซ่ตรวนคนซึ่งยอมมอบตัวเป็นนักโทษโดยสมัครใจ เขากล่าวว่า “ถ้าหากข้าพเจ้าต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็จะไม่ยอมอยู่ในอำนาจของท่าน จะไม่ให้จับกุมคุมขังข้าพเจ้าได้เลย” กล่าวดังนั้นแล้วก็หักโซ่ตรวนออกโดยง่ายดายเหมือนดึงเศษเชือกหรือด้ายเปื่อยๆ แล้วก็พูดต่อไปว่า “ถ้าข้าพเจ้าต้องการพิสูจน์พละกำลังและวิชาความรู้ของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าก็สามารถฆ่าท่านได้หลายคนทีเดียว แต่ข้าพเจ้าต้องการตาย ฉะนั้นจงนำข้าพเจ้าไปกรุงศรีอยุธยาโดยอิสระ เพื่อว่าออกญากลาโหมผู้โหดเหี้ยมซึ่งปลงพระชนม์พระมหาอุปราช อาจพึงพอใจในเลือดของข้าพเจ้า เพราะเขากระหายมานานแล้ว”
       
       พระเชษฐาธิราชและเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงค์ไม่ประสงค์จะเอาชีวิตออกหลวงมงคล ต้องการผู้มีวิทยาคมและกล้าหาญไว้รับราชการ แต่ออกหลวงมงคลกลับตอบข้อเสนอว่า
       
       “ข้าพเจ้าไม่มีพระเจ้าอยู่หัวที่เคารพอีกแล้ว และพระเจ้าอยู่หัวผิดกฎหมายที่ท่านพูดถึง ทั้งตัวท่านเอง ก็ได้ร่วมมือกันปลงพระชนม์ผู้สืบราชสมบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายเสียแล้ว เหตุนี้ข้าพเจ้าจึงอยากตายมากกว่าที่จะเชื่อฟังคนใจโหด ฆาตกร คนกบฏ และคนก่อกวนความสงบสุขของบ้านเมืองเช่นพวกท่าน ท่านอย่าหวังเลยว่าข้าพเจ้าจะยอมให้สัตย์สาบานแก่คนซึ่งข้าพเจ้าไม่ขอเกี่ยวข้องให้มาเป็นนายของข้าพเจ้า”

       ด้วยเหตุนี้ออกหลวงมงคลจึงถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยดาบ และก่อนจะตายเขาได้แสดงอภินิหารเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งวันวลิตบันทึกไว้ว่า
       
       “ ในที่สุดเขาพูดถึงความกล้าหาญของตนเองและวิทยาคุณทางไสยศาสตร์ กับกล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าหากใครคนใดยังสงสัยเรื่องที่เขาพูดนี้ เขาจะพิสูจน์ให้เห็นจริงต่อหน้าคนทั้งหลาย อันที่จริง เมื่อเขาอยู่ในอาการสงบเพื่อรับดาบที่ฟันลงมา เพชฌฆาตก็ไม่สามารถทำให้เกิดบาดแผลในร่างกายของเขาได้ แม้จะได้ฟันเต็มแรงจนใบดาบชนิดโค้งนั้นคดไปก็ตาม ทุกครั้งที่เพชฌฆาตฟันก็เกิดเสียงดังเหมือนคมดาบกระทบทั่งตีเหล็ก หลังจากนั้นออกหลวงมงคลก็ก็ลุกขึ้นดึงเชือกที่มัดตัวออก จับเพชฌฆาตไว้และบีบคอจนตาย เสร็จแล้วก็ขอน้ำ เขาเสกคาถาลงไปในน้ำ แล้วดื่มไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือใช้ลูบไล้ร่างกาย และเอานิ้วขวาจุ่มลงในน้ำมนต์ ทำเครื่องหมายลงบนลำตัวด้านซ้ายใต้ซี่โครง ในประเทศสยามถ้าผู้ใดถูกตัดสินให้ตายด้วยคมดาบ ก็จะต้องถูกฟันตรงนั้นซึ่งไส้จะไหลออกมาอย่างเร็วที่สุด แล้วออกหลวงมงคลก็นอนลงแล้วสั่งให้เพชฌฆาตอีกคนที่ถูกนำตัวมาใหม่ให้ฟันเขาตรงที่ๆเขาทำเครื่องหมายเอาไว้ ถ้าหากฟันพลาดออกหลวงมงคลจะบีบคอให้เหมือนกับที่ทำกับเพื่อนเขาคนก่อน เพชฌฆาตฟันดาบลงไป แต่ด้วยความกลัวพลาดจึงทำให้ฟันผิด ฟันไม่ถึงตาย ออกหลวงมงคลร้องดังลั่นและสั่งให้ฟันตรงหัวใจมิฉะนั้นจะบีบคอเพชฌฆาตนี้เสียอีกคน นี่คือวาระสุดท้ายของออกหลวงมงคล บุคคลผู้น่าเกรงขาม ผู้ทำให้พระเจ้าแผ่นดินและทุกคนในราชสำนักตกอยู่ในความกลัว...”
       
       นี่ก็เป็นเรื่องราวบุรุษผู้อยู่ยงคงกระพันในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งบันทึกไว้โดยชาวตะวันตกเมื่อเกือบ ๔๐๐ ปีก่อน แล้วเอาไปพิมพ์ให้ฝรั่งด้วยกันในยุโรปอ่าน


จาก http://astv.mobi/A4pu024
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...