ผู้เขียน หัวข้อ: ความเป็นกัลยาณมิตรของหลวงปู่ชา (ป.อ.ปยุตโต)  (อ่าน 2410 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
ความเป็นกัลยาณมิตรของหลวงปู่ชา
ธรรมนิพนธ์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
16 มกราคม 2536

…พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองในพระสูตรหนึ่ง มีพุทธพจน์ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร…”

…แต่สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องรู้เข้าใจขอบเขตของการเป็นกัลยาณมิตรว่า ที่พระพุทธเจ้าตลอดครูอาจารย์ทั้งหลายมาช่วยเรานี้ ท่านช่วยได้แค่ไหนเพียงไร อะไรช่วยได้อะไรช่วยไม่ได้ หมายความว่า ส่วนใดท่านช่วยเราได้ ส่วนใดเราทำเอง อันนี้จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้นก็หวังพึ่งกัลยาณมิตรเรื่อยไป อะไรๆ ก็ให้ท่านทำให้ ตัวเองไม่ต้องทำ ไม่ต้องเพียรพยายาม พระพุทธเจ้าทรงป้องกันความเข้าใจผิดนี้ จึงได้ตรัสพุทธพจน์ไว้หลายแห่ง…

สารบัญ – ความเป็นกัลยาณมิตรของหลวงปู่ชา
ธรรมนิพนธ์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)

๐(กล่าวนำ)
๐ปฏิบัติก็ดี สอนก็เด่น
ไม่ยอมให้มืด ให้แต่ดวงประทีป
๐สังเวช คือ ได้เครื่องกระตุ้นเสริมแรง
๐การบูชาที่มีผลยั่งยืน
๐พระพุทธเจ้าและครูอาจารย์เป็นกัลยาณมิตรของเรา
กัลยาณมิตรช่วยเราได้แค่ไหน
๐ท่านช่วยแล้ว ทำไมเราต้องทำเองด้วย
๐พึ่งตนคือพึ่งธรรม
๐ทำถูกธรรม ไม่ต้องขอ ผลก็เกิดเอง
๐ถ้าช่วยถูก คนถูกช่วยก็เก่งขึ้นด้วย
๐น่ารัก น่าเคารพ น่าทำตาม
๐คอยสอน ทนให้ซัก ชักนำให้ยิ่งดี
ท่านช่วยเราดีที่สุด คือช่วยให้เราทำเองได้
๐ระลึกถึงพระพุทธเจ้าถูก ความสามารถของเราก็เป็นประโยชน์
ถ้าจะกตัญญู ก็ต้องบูชาด้วยการปฏิบัติ
๐มาอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้า ก็ลืมตาของเราออกดู
..
..
ไม่ยอมให้มืด ให้แต่ดวงประทีป
คำสอนของหลวงพ่อชานั้น มีลักษณะพิเศษอย่างที่ได้กล่าวมานี้ และนอกจากนั้น ท่านยังมีลักษณะที่น่าสรรเสริญอีกอย่างหนึ่ง คือการที่ไม่ได้ส่งเสริมในเรื่องเครื่องรางของขลัง แม้ว่าท่านจะเป็นพระอาจารย์ที่ได้รับความเคารพนับถือในเรื่องกรรมฐาน ซึ่งคนทั่วไปมักจะเอาไปสัมพันธ์โยงใยกับอำนาจจิตพลังจิต และมักจะมองไปในแง่ของความศักดิ์สิทธิ์ และเลยไปจนกระทั่งถึงเรื่องวัตถุมงคล เครื่องที่จะนำเอาโชคเอาชัยมาโดยวิธีที่เป็นของขลัง แต่หลวงปู่ชาท่านไม่ได้สนับสนุนในเรื่องนี้ ดังที่ปรากฏว่า แม้แต่ในพิธีพระราชทานเพลิงศพนี้ ก็ไม่มีการจัดในเรื่องนี้ขึ้น อันนี้ถือได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง นับว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ถือว่าเป็นแบบอย่างได้ดีทีเดียว

ถ้าว่าโดยรวบรัด หลวงปู่ชานั้นก็คือพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นพระเถระเป็นมหาเถระองค์สำคัญ ที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พูดง่ายๆ ว่าเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้านั้นเอง แต่ว่าเป็นลูกศิษย์ที่มีความสามารถ นอกจากปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยตนเองแล้ว ก็ยังสามารถเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแจกจ่ายชี้แจงสั่งสอนแนะนำผู้อื่นให้เข้าใจตาม และปฏิบัติตามด้วย เรียกได้ว่าเป็นผู้เชิดชูประทีปธรรม หรือดวงประทีปแห่งธรรมของพระพุทธเจ้าให้สุกใสสว่างต่อไป ฉะนั้นเมื่อท่านสามารถเชิดชูดวงประทีปนี้ขึ้น ให้ส่องสว่างได้แล้ว ท่านทำหน้าที่เสร็จแล้ว ก็ส่งต่อดวงประทีปนี้ให้กับลูกศิษย์ลูกหาหรือคนรุ่นหลัง เพื่อช่วยกันทำหน้าที่เชิดชูดวงประทีปนั้น เอาไปส่องสว่างให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนสืบต่อไป

บัดนี้ หลวงปู่ชาได้ทำหน้าที่ของท่านแล้ว ท่านก็ส่งต่อดวงประทีปนี้มาให้แก่เหล่าพุทธบริษัท ท่านที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย จะต้องนึกถึงหน้าที่ในการที่จะนำเอาดวงประทีปนี้ มาส่องสว่างให้เกิดประโยชน์สมตามความมุ่งหมายต่อไป อย่างน้อยก็นำมาส่องสว่างแก่ทางดำเนินชีวิตของตนเอง และถ้าสามารถก็นำไปส่องสว่างทางชีวิตให้แก่โลกให้แก่สังคม เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขกันต่อไป
..
..
กัลยาณมิตรช่วยเราได้แค่ไหน
แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องรู้เข้าใจขอบเขตของการเป็นกัลยาณมิตรว่า ที่พระพุทธเจ้าตลอดจนครูอาจารย์ทั้งหลายมาช่วยเรานี้ ท่านช่วยได้แค่ไหนเพียงไร อะไรช่วยได้อะไรช่วยไม่ได้ หมายความว่า ส่วนใดท่านช่วยเราได้ ส่วนใดเราต้องทำเอง อันนี้จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้นก็หวังพึ่งกัลยาณมิตรเรื่อยไป อะไรๆ ก็จะให้ท่านทำให้ ตัวเองไม่ต้องทำ ไม่ต้องเพียรพยายาม พระพุทธเจ้าทรงป้องกันความเข้าใจผิดนี้ จึงได้ตรัสพุทธพจน์ไว้หลายแห่ง อย่างที่เราเคยได้ยินกัน เช่นที่ตรัสว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา ที่แปลว่า ความเพียรเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอก อันนี้เป็นเครื่องเตือนให้มองขอบเขตให้ชัดเจนว่า กัลยาณมิตรมาช่วยอะไรเรา ทำอะไรให้เราได้แค่ไหน และในส่วนไหนแค่ใดเราจะต้องทำเอง

หน้าที่ของกัลยาณมิตรก็คือ เป็นผู้บอก เป็นผู้แนะนำ เป็นผู้ให้คำสอน เป็นผู้ชี้ทางให้ แต่ตัวความเพียร ตัวเหตุปัจจัยที่จะให้ผลที่ต้องการสำเร็จนั้น เราจะต้องทำด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทั้งๆ ที่เป็นกัลยาณมิตร พระองค์ก็ตรัสสอนพุทธพจน์มากมายเตือนเรา แม้ตอนใกล้ปรินิพพาน ก็ตรัสเตือนไว้บ่อยว่า อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา ธมฺมทีปา วิหรถ ธมฺมสรณา แปลว่า เธอทั้งหลายจงอยู่โดยมีตนเป็นที่พึ่ง โดยมีตนเป็นสรณะ เธอทั้งหลายจงอยู่โดยมีธรรมเป็นที่พึ่ง โดยมีธรรมเป็นสรณะ อันนี้เป็นหลักเตือนใจที่สำคัญ

ในที่สุด ที่ว่ากัลยาณมิตรมาช่วยมาบอกมาสั่งสอนนั้น ท่านสั่งสอนให้เราช่วยตัวเอง แต่ที่สำคัญก็คือ แต่ก่อนเราช่วยตัวเองไม่เป็น ท่านมาสอนมาช่วยแนะนำให้เราช่วยตัวเองเป็น แต่ไม่ใช่ว่าท่านมาทำอะไรให้เราไปเสียหมด อันนี้จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง
..
..
ท่านช่วยเราดีที่สุด คือช่วยให้เราทำเองได้
นี่คือคุณสมบัติของกัลยาณมิตร ผู้ที่มีกัลยาณมิตรอย่างนี้ จะมีความรู้สึกเป็นสุขในเบื้องต้น และมีความมั่นใจเกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติ พร้อมทั้งได้ข้อปฏิบัติอันถูกต้อง ที่จะนำมาใช้ในการที่จะพึ่งตนเองต่อไป เพราะฉะนั้น การพึ่งตนเองนั้น จึงไม่ใช่เป็นความแห้งแล้ง แต่เป็นไปอย่างมีความรู้สึกอุ่นใจและมั่นใจว่า มีผู้คอยช่วย คอยโอบอุ้มเราอยู่ เป็นแต่ว่าการช่วยเหลือนี้ เป็นไปในขอบเขตที่ท่านจะทำได้จริงๆ ทำให้ตัวเราเองเก่งขึ้นแข็งขึ้น ไม่ใช่ให้เราอยู่กับความหวังที่งมงายลมๆ แล้งๆ และอ่อนแอลงไปทุกทีๆ

เป็นอันว่า กัลยาณมิตรนั้นท่านช่วยเรา ด้วยการช่วยอย่างประเสริฐ คือ ช่วยให้เราพึ่งตนช่วยตัวเองได้ และช่วยให้เราเข้มแข็งยิ่งขึ้น ถ้าการช่วยเหลือใดทำให้เราอ่อนแอลง และยิ่งต้องหวังพึ่งเขาเรื่อยไป การช่วยนั้นก็ไม่ประเสริฐ ไม่ทำให้คนเป็นอิสระ ผู้ที่ช่วยอย่างนั้นไม่ใช่กัลยาณมิตรแท้จริง

พุทธศาสนิกชนนั้น จะต้องระลึกถึงว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนเรานั้นคือทรงทำหน้าที่กัลยาณมิตรอย่างนี้ คือการที่เป็น อกฺขาตาโร ตถาคตา เป็นผู้บอก เป็นผู้แนะนำชี้ทางให้ เราทั้งหลายจะต้องทำความเพียรด้วยตนเอง ฉะนั้นจะต้องทำให้ตรงตามความจริงที่จะต้องเอาธรรมมาใส่ตน จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการแห่งธรรม คือความจริงแห่งธรรมดา ได้แก่ความเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ดังที่กล่าวมาอย่างนี้

ถ้ายังรู้สึกว่ามีความเข้มแข็งไม่พอ ก็ให้ระลึกต่อไปอีกอย่างหนึ่ง คือนึกว่า คนที่ไม่คิดจะทำอะไรด้วยตนเอง ไม่เพียรพยายามด้วยตนเอง หวังพึ่งอำนาจภายนอกมาดลบันดาล อยู่ด้วยความอยากความปรารถนานั้น เท่ากับเป็นคนที่ดูถูกตนเองด้วย คือดูถูกความสามารถของตนเอง เหมือนกับเป็นคนไม่มีความสามารถ ทำอะไรไม่ได้ ทั้งที่ว่าความจริงนั้น คนเราทุกคนมีศักยภาพที่จะทำอะไรให้ตนเองได้
..
..
ถ้าจะกตัญญู ก็ต้องบูชาด้วยการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น ในวันนี้เราได้มาประชุมกัน ได้มาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพแล้ว เราทั้งหลายมาระลึกถึงหลวงปู่ชาในฐานะที่ท่านเป็นกัลยาณมิตรท่านหนึ่งที่สำคัญ เป็นกัลยาณมิตรที่ดำเนินตามปฏิปทาของกัลยาณมิตรผู้สูงสุด คือพระพุทธเจ้า เราก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องต่อท่าน ในฐานะที่เป็นกัลยาณมิตรนั้น ให้ท่านเป็นเครื่องเตือนใจเรา ในฐานะที่เป็นผู้ให้คำสอน แสดงหลักที่ดีงาม และปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้แล้ว ให้เราดำเนินตาม เราระลึกถึงท่านในฐานะที่ว่า เมื่อยังอยู่ได้ทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร โดยมีคุณสมบัติแห่งความเป็นกัลยาณมิตร ที่เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม

เริ่มด้วยท่านมีความเป็น ปิโย เป็นผู้ที่น่ารัก ประกอบด้วยเมตตา ทำให้เราเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ ชื่นใจ มีความชุ่มฉ่ำใจ มีความรู้สึกว่ามีเพื่อนคอยช่วยเหลืออยู่ ไม่อ้างว้างว้าเหว่ เรามีความรู้สึกนี้ เราจึงมีความกตัญญูระลึกถึงท่าน มาประชุมกัน นี้เป็นประการที่ ๑ และเรามองเห็นท่านเป็น ครุ เป็นผู้มีคุณธรรมน่าเคารพ เป็นผู้หนักแน่น เป็นผู้มั่นคง พลอยทำให้เราเกิดความรู้สึกว่ามั่นคง เป็นหลักให้แก่เรา เราได้เกาะเกี่ยวกับท่านอยู่ กับทั้ง ภาวนีโย ท่านเป็นแบบอย่างให้เรา เป็นที่เจริญใจ ระลึกถึงท่านเมื่อไร ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามีกำลังใจที่จะปฏิบัติให้ก้าวหน้าในธรรมยิ่งขึ้น แล้วก็ วตฺตา ท่านเป็นผู้บอกกล่าวชี้แจงแนะนำคำสอนไว้ให้แก่เราแล้ว เราก็เอาคำสอนนั้นมาประพฤติปฏิบัติตาม

นอกจากนี้คุณสมบัติอื่นอีก คือ ความเป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ความเป็นผู้ที่แถลงแนะนำชี้แจงเรื่องราวที่ลึกซึ้ง การที่ท่านไม่ชักนำในอฐานะ ในเรื่องราวเหลวไหลไร้สาระอะไรต่างๆ ก็เป็นที่ปรากฏประจักษ์แก่ท่านทั้งหลายอยู่ ในเมื่อหลวงปู่ชาท่านมีความเป็นกัลยาณมิตรดังกล่าวมานี้ ท่านจึงเป็นที่เคารพรักของลูกศิษย์ทั้งหลาย ลูกศิษย์ทั้งหลายระลึกถึงท่านแล้ว ก็มีน้ำใจตอบแทน จึงพากันมาบูชาคุณของท่าน ดังที่ปรากฏวันนี้ว่า มีจำนวนมากมายเหลือเกิน นี้เป็นน้ำใจที่เราทั้งหลายแสดงออกตอบแทนต่อท่านที่เป็นครูอาจารย์ ที่เป็นกัลยาณมิตรของเรา จึงเป็นที่น่าอนุโมทนา

แต่ข้อสำคัญก็คือว่า เมื่อระลึกถึงกัลยาณมิตร มีความกตัญญูต่อท่านแล้ว กระทำการบูชาท่าน ก็จะต้องกระทำการบูชานั้นให้ถูกต้อง ด้วยการปฏิบัติบูชาให้ได้ คือต้องเข้าใจหลักความเป็นกัลยาณมิตร ตลอดขึ้นไปจนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า พระองค์ทำหน้าที่เป็นผู้บอก เป็นผู้แนะนำพร่ำสอน เราจะต้องทำความเพียรด้วยตนเอง จะต้องพึ่งธรรม จึงจะพึ่งตนได้สำเร็จ ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา

http://www.payutto.net/book/ความเป็นกัลยาณมิตร/