ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธะผู้หญิง โดย เชฟหมี คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง  (อ่าน 1447 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ไม่นานนี้ มิตรสหายที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผู้เป็นแอดมินของเพจ Zen smile Zen wisdom เพจที่นำเสนอพุทธศาสนานิกายเซนและนิกายอื่นๆ อย่างสนุกสนานเข้าใจง่าย ในรูปแบบการ์ตูนที่แสนน่ารัก โดยแอดมินเป็นผู้วาดเอง กำลังเผชิญความท้าทายที่น่าสนใจมาก

ใครพอจะรู้จักพุทธศาสนานิกายเซนบ้างก็คงทราบว่า เซนดูเหมือนจะเป็นนิกายที่มีท่าทีไม่ใส่ใจต่อ “รูปแบบ” ต่างๆ ตราบเท่าที่รูปแบบนั้นไม่ไปกันกับความเข้าใจที่แท้

เซนจึงมีความยืดหยุ่นสูงและมีอารมณ์ขันมาก เพราะสามารถเล่นกับอุบายวิธีต่างๆ ได้ ในฐานะเครื่องมือสอนธรรม ดังมีเรื่องเล่าในตำนานเซน แม้ว่าจะดูนอกรีตนอกรอยเพียงใดก็ตาม ขอเพียง “ชี้ตรงไปที่ใจคน บรรลุพุทธภาวะ” ก็ใช้ได้หมด

มิตรสหายของผมท่านนี้ นอกจากสนใจพุทธศาสนานิกายเซนแล้ว ยังสนใจทุกนิกายรวมทั้งวิถีแห่งจิตวิญญาณอื่นๆ ทั้งยังมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะดี เข้าใจโลกสมัยใหม่

 

ล่าสุดท่านนำเอาคำสอนของพระอาจารย์เซนชาวเกาหลี “เพราะเธอดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าจึงดำรงอยู่ รูปกายของพระพุทธเจ้าคือรูปกายของเธอ จิตของพระพุทธเจ้าคือจิตของเธอ” โดยวาดภาพประกอบเป็นรูปพุทธะใส่สูทเช่นเดียวกับนักธุรกิจ นั่งสมาธิ พร้อมด้วยคอมพิวเตอร์และอาหารเช้า ข้างกายมีพระพุทธรูปวางอยู่

โดยต้องการสื่อว่า แม้ภายนอกเราจะเป็นนักธุรกิจหรือใครก็ตาม แต่พุทธภาวะนั้นเป็นธรรมชาติเดิมแท้ของเรา ไม่ใช่พระพุทธรูปซึ่งเป็นสิ่งภายนอกซึ่งไม่ใช่พุทธะจริงๆ

อีกภาพซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เป็นรูปหญิงสาวนั่งสมาธิใส่บิกินีสีขาว ข้างกายมีข้าวของการงานของผู้หญิง ตะกร้าผ้ากองโต เตารีด เบื้องหน้ามีเขียงและอาหารที่รอปรุง สมุดบัญชีและเครื่องคิดเลข ข้างๆ มีถุงกระดาษใส่ของที่ดูเหมือนเพิ่งซื้อจากซูเปอร์มาเก็ตและมีพระพุทธรูปในถุงนั้น

แต่สิ่งที่สะดุดตาที่สุด คือหญิงสาวนั้นมีศีรษะเป็นศีรษะแบบเดียวกับพระพุทธรูป พร้อมคำบรรยายจากคำสอนท่านอาจารย์เซนบังเค โยทะคึ

“เมื่อเธอรู้ซึ้งใน “ไร้เกิด” อย่างแท้จริง ขณะนั้นเอง ในไร้เกิด ไม่มีความแตกต่างไม่ว่าเธอจะเป็นบุรุษหรือสตรี ทุกๆ คนล้วนคือกายแห่งพุทธะ… แม้ว่าในทางร่างกาย บุรุษและสตรีจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทว่าในแง่จิตแห่งพุทธะนั้น ไม่มีความแตกต่างกันอย่างใดเลย”

 

หลายคอมเมนต์เดือดดาลเพราะเห็นว่าเป็นการลบหลู่พระพุทธเจ้า เป็นผู้หญิงยังไม่พอทำไมต้องใส่บิกินีด้วย หลายคนกลัวว่าจะไปสร้างอกุศลจิตและความสับสนแก่คนดู (แต่โทษคนวาด) แต่ที่สำคัญหลายคนไม่เห็นว่าผู้หญิงจะเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

ท่านผู้วาดได้ชี้แจงแสดงว่า หน้าตาของพุทธะในรูปนั้น ไม่ได้เจาะจงถึงพระพุทธศากยมุนี หรือพุทธะในประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งยังได้ยกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะว่า เศียรแบบนี้ในศิลปะทั้งอินเดียและนอกอินเดียไม่ได้ไว้ใช้กับพระพุทธเจ้าศากยมุนีเท่านั้น แม้แต่พระศาสดาของไชนะ คือพระตีรถังกรก็ใช้

ดังนั้น แต่เดิมมาพระพุทธรูปที่มีหน้าตาแบบนี้ จึงไม่ได้แสดง “ภาพเหมือน” ของบุคคล แต่เป็นการแสดงออกของ “ภาวะ” แห่งพุทธะต่างหาก ซึ่งโดยหลักของฝ่ายเซน เป็นสิ่งที่มีในทุกผู้คนอยู่แล้ว

ศิลปินผู้วาดเน้นว่า สรีระร่างกายของผู้หญิงไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ ผู้หญิงจะใส่บิกินีก็ได้ นี่มันโลกสมัยใหม่ ในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานถึงกับวาดรูปของพระโพธิสัตว์สตรีเปลือยด้วยซ้ำไป เช่นเดียวกับเทพฮินดู ผิดกันแต่ว่าในฝ่ายฮินดู ความเปลือยเปล่าของเทวีนั้นสะท้อน “กามะ” หรือความปรารถนาอันเป็นทิพยสมบัติของโลกิยะ

ส่วนการเปลือยในพุทธศิลป์นั้น สะท้อนภาวะเดิมแท้ของ “ธรรมดา” คือเปลือยเปล่าโดยปราศจากการปรุงแต่งใดๆ

บางท่านให้ข้อสังเกตว่า ทีภาพพุทธะเป็นบุรุษใส่สูทไม่เห็นใครเดือดดาล ชะรอยเพราะเป็นสตรีและใส่บิกินีกระมัง

พุทธภาวะไม่ใช่สิ่งที่เป็นแต่ของอยู่ในอดีต แต่อยู่ในโลกสมัยใหม่ด้วย และจะอยู่เป็นนิรันดร์เสมอไป ผู้หญิงสมัยใหม่ที่ใส่บิกินีมีก็มีพุทธภาวะและก็ต้องกระทำกิจกรรมต่างๆ ดังภาพ

 

หากพูดผ่านมุมมองพุทธศาสนามหายาน กิจกรรมธรรมดาต่างๆ ก็อาจนับว่าเป็นพุทธกิจได้หากประกอบไปด้วยญานทัศนะที่เที่ยงตรง

ในฝ่ายมหายาน (ที่จริงก็ฝ่ายเราด้วย) หากประกอบกิจวัตรประจำวันด้วยสติสัมปชัญญะ และประกอบไปด้วยญานทัศนะ เช่นเห็นว่า ไม่มีความแตกต่างของกิจกรรมระหว่างการปฏิบัติธรรมและกิจทางโลก เพราะจิตไม่คิดแบ่งโดยทวิภาวะ ย่อมไม่มีความต่างของการปฏิบัติและกิจวัตร ทุกสิ่งย่อมคือพุทธกิจ

พุทธะที่แท้จึงอยู่ในกายในใจเรานี้เอง ไม่ใช่พระพุทธรูปภายนอก (ซึ่งภาพแสดงอยู่ในถุงช้อปปิ้ง)

หลายท่านที่แม่นคัมภีร์ก็ว่า รูปนี้วาดอย่างผิดหลัก เพราะในโสตัตถกีมหานิทาน และในพระไตรปิฎกกล่าวว่า ผู้หญิงจะถึงซึ่งความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ (รวมทั้งเป็นพระมหาจักรพรรดิด้วย)

ดังนั้น หลายท่านจึงมั่นใจมากๆ ผ่านพระไตรปิฎก (ที่เข้าใจตามตามตัวอักษร) ว่า ผู้หญิงย่อมเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้

แต่ในฝ่ายมหายานนั้น พุทธะภาวะไม่มีเพศและย่อมมีในสรรพสัตว์อย่างเสมอหน้ากัน เพราะทางฝ่ายเขาถือว่า พุทธะนั้นเป็น “ภาวะ” มิใช่บุคคลในประวัติศาสตร์



ในฝ่ายวัชรยานนั้นยิ่งไปกว่า คือถือว่า พระโพธิสัตว์ใหญ่ๆ ทั้งหลายที่จริงโดยสภาวะคือเป็นพระพุทธะแล้ว เช่น อวโลกิเตศวร ตารา มัญชุศรี ฯลฯ แต่เหตุที่ยังเรียกว่าพระโพธิสัตว์ก็เพื่อเป็นการยกย่องปณิธานที่จะช่วยสรรพสัตว์

ในบรรดาพระโพธิสัตว์เหล่านี้ พระโพธิสัตว์ตารา เป็นพระโพธิสัตว์สตรีซึ่งตำนานเล่าว่า ปรารถนาจะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณในรูปกายสตรี เพื่อแสดงให้เห็นว่า สตรีก็อาจบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้

พระโพธิสัตว์ตารา คือพระพุทธเจ้าแห่งความกรุณาในสตรีเพศ คู่กับ อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์ฝ่ายกรุณาในบุรุษเพศ

“พระมารดาปรัชญาปารมิตา” นั้น ก็ดำรงสถานภาพอันศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งในพุทธศาสนา คือได้รับการยกย่องเป็น “มารดาแห่งพระพุทธะทั้งหลาย” โดยเนื้อแท้พระองค์คือสภาวะแห่งพุทธะ แต่อยู่ในลักษณะแห่งอิตถีภาวะ พระองค์คือ “ศูนยตา” อันไพศาล คือปัญญาที่เราจักต้องรวมเข้าไว้ในสัมมาปฏิบัติของบุรุษ เพื่อจะบรรลุความเป็นพุทธะ

ในนิกายวัชรยานถือว่า สภาวะพุทธะดั้งเดิม (หรือธรรมชาติ) อาจเรียกว่า อาทิพุทธ หรือ พระสมันตภัทร (กุนตุซังโป) ซึ่งสะท้อนถึงความกรุณาอันไพศาล อันเป็นธรรมฝ่ายบิดา และในขณะเดียวกันก็มี “สมันตภัทรี” (กุนตุซังโม) พระพุทธเจ้าเดิมแท้ฝ่ายอิตถีภาวะหรือผู้หญิง ซึ่งสะท้อนปัญญาอันไพศาล อันเป็นธรรมฝ่ายมารดา ซึ่งมักทำรูปพระพุทธะผู้มีกายสตรีเปลือยเปล่า

จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ ภาวะทั้งสองของมารดาและบิดาจักต้องเข้ารวมกัน ขาดสิ่งใดไปไม่ได้

พุทธะสตรีจึงมีได้และต้องมีด้วย ที่จริงสภาวะที่เรียกว่าสตรี-บุรุษในทางโลกนี้ย่อมถือเป็นสมมุติบัญญัติ แต่อิตถีภาวะและบุรุษภาวะในทางธรรม ย่อมแสดงถึงสภาวธรรมที่ต่างกันซึ่งไม่แยกออกจากกัน สภาวะพุทธะนั้น เป็นสภาวะอันไพศาล ไร้ขอบเขต เหตุใดจึงต้องจำกัดแต่ผู้ชาย




หากท่านคิดว่า สิ่งนี้แปลกปลอมมีมานอกพระไตรปิฎกและเป็นของฝ่ายมหายานเพิ่มเข้าไปซึ่งเชื่อไม่ได้ ผมอยากให้ข้อมูลว่า พระไตรปิฎกปกรณ์ของฝ่ายมหายานนั้นยิ่งใหญ่กว้างขวางกว่าเรามาก คือพระไตรปิฎกเขามีทั้งของฝ่ายใต้ (คือเถรวาท) และมีของเขาเองด้วยคือศึกษาในทุกฝ่าย แต่ของเรากลับไม่มีของเขา

อีกทั้งโดยข้อเท็จจริง พระไตรปิฎกเถรวาทนั้นก็สืบมาแต่ลังกา ซึ่งผ่านการเวลาและผ่านการแต่งเสริมเติมแต่งไม่น้อยไปกว่าของฝ่ายอื่นๆ ที่สำคัญพระไตรปิฎกไม่ใช่ “เทววิวรณ์” หรือการเผยแสดงของเทพเจ้า จึงไม่ใช่เทวบัญญัติที่จะต้องเกรงกลัว หากแต่เป็นคำสอนที่อาจตีความได้

ท่านพุทธทาสคือตัวอย่างของปราชญ์ที่พยายามตีความและคัดกรองพระไตรปิฎกอย่างนำสมัย ท่านเองยังเห็นว่า มีส่วนไหนที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้ในพระไตรปิฎก ซึ่งน่าเสียดายว่าผู้คนลืมจิตวิญญาณเปิดกว้างอันนี้ของท่านไปเสียแล้ว

ประเด็นนี้จึงไม่ใช่การเห่อเหิมสิทธิสตรีแบบฝรั่งดังใครพยายามจะปักป้ายให้ แต่เรื่องนี้เป็นคุณค่าที่มีในพุทธศาสนาเองโดยสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ อันเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันค้นหา มิใช่ดองพุทธศาสนาไว้ราวกับโบราณวัตถุซึ่งจะพุพังไปตามกาล

 

กลับไปยังภาพพุทธะผู้นุ่งบิกินี่รูปนั้น สำหรับผม เป็นภาพที่งดงามและมีความหมายมากที่สุดรูปหนึ่งอย่างร่วมสมัย

และมิใช่เพียงผม สตรีหลายท่านส่งข้อความให้กำลังใจผู้วาดว่า ทำให้เขาเลิกคิดว่าตนต้อยต่ำ เป็นหีนเพศ แต่เค้ามีศักยภาพแห่งพุทธะเต็มเปี่ยมเช่นเดียวกับทุกคน

น่าปลื้มใจและอนุโมทนา

จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_36723
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...