ผู้เขียน หัวข้อ: รักแท้คืออะไร : ความรักที่ไม่ปริปากพูด( ติช นัท ฮันห์ )  (อ่าน 1985 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


รักแท้คืออะไร : ความรักที่ไม่ปริปากพูด

1

ครั้งหนึ่ง ผมเเคยไปฟัง ‘ไถ่’ (คำนี้เป็นภาษาเวียดนาม หมายถึงครูหรืออาจารย์) อย่างท่านติช นัท ฮันห์ เทศน์


ท่านกล่าวถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ว่าสิ่งสำคัญในตัวพระโพธิสัตว์ คือการเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยผู้อื่นให้ข้ามพ้นความทุกข์

นอกจากนี้ ท่านยังบอกด้วยว่า การสวดภาวนาจะช่วยสร้างสติและทำให้เราผ่อนคลาย ผู้ที่กำลังมีทุกข์ เมื่อฟังบทสวดแล้วก็จะรู้สึกดีขึ้น ท่านจึงขอให้แต่ละคนปล่อยให้พลังแห่งการสวดแทรกซึมเข้าไปภายใน และเมื่อรู้สึกดีขึ้นแล้ว ให้ส่งพลังดังกล่าวไปให้คนที่เรารัก เขาก็จะได้รับพลังเหล่านี้ด้วย

ในวันนั้น ผมได้แต่นิ่งฟังด้วยความสงสัย-พลังดังกล่าวจะส่งผ่านไปถึงคนที่เรารักได้จริงหรือ?

และความสามารถในการฟังอย่างลึกซึ้งเยี่ยงพระโพธิสัตว์นั้น มนุษย์เราสามารถฝึกฝนให้เกิดขึ้นในตัวเองได้จริงหรือ?

 

2

สมัยที่ท่านนัทฮันห์มีอายุได้ 17 ปี ท่านเคยไปปฏิบัติธรรมในวัดเซนแห่งหนึ่ง และได้ขอให้อาจารย์ให้ช่วยสอน ‘วิถีแห่งเซน’ ให้


ในเวลานั้น อาจารย์นิ่งเงียบ ไม่ตอบอะไร แต่กลับยื่นหนังสือเล่มเล็กๆให้เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือว่าด้วยการนำพระวินัยมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มีพระวินัยสำคัญๆสำหรับผู้บวชใหม่ และมีคำเทศนาของอาจารย์อยู่ในนั้น ทั้งหมดเป็นเรื่องพื้นฐานว่าด้วยการกินอยู่ปฏิบัติตัว ไม่มีอะไรลึกซึ้งพิสดาร ไม่มีอะไรเป็น ‘เซน’ อย่างที่เรามักคิดกัน

อาจารย์บอกว่า ท่านนัทฮันห์ต้องท่องจำข้อความทั้งหมดในหนังสือให้ได้ก่อน แล้วนำมาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอน กินอาหาร การทำงานในวัด ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่มีอะไรดูเหมือนเป็น ‘ปรัชญา’ เซนเลย

ต่อมาอีก 29 ปี ท่านนัทฮันห์จึงได้เขียนถึงหนังสือเล็กๆเล่มนั้นว่า

เมื่อข้าพเจ้ามีอายุ 17 ปี ข้าพเจ้าคิดว่าคู่มือเล่มเล็กนี้มีขึ้นสำหรับเด็กๆ และบุคคลผู้เริ่มแสวงหา และยังอยู่ห่างไกลจากเซน ข้าพเจ้าไม่ได้ศรัทธาและเห็นความสำคัญของวิธีการเหล่านี้มากไปกว่าที่เห็นว่าเป็นเพียงการเตรียมตัวเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ 29 ปีให้หลัง ข้าพเจ้าจึงได้รู้ว่าคู่มือเล่มเล็กนั้นคือแก่นอันสำคัญยิ่งของเซน เป็นสาระสำคัญยิ่งแห่งพระพุทธศาสนา

 

เมื่ออ่านข้อความนี้ ผมชอบคิดว่า-หลายครั้งในชีวิต เรานึกว่าตัวเองเติบใหญ่และเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างในโลกแล้ว

แต่ที่จริง เรายังมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น…

 

3

พระโพธิสัตว์ที่เรารู้จักกันดีที่สุด น่าจะเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งชาวเวียดนามเรียกขานว่า กวนอัมหรือกวนถิอัม ในภาษาเวียดนาม คำว่า ‘กวนอัม’ หมายถึงการสังเกตหรือการฟังอย่างลึกซึ้งต่อเสียงต่างๆหรือเสียงร้องไห้ของโลก กวนอัมจึงมีความสามารถในการ ‘ฟังความทุกข์’ ของผู้คน เข้าใจพวกเขา จึงสามารถช่วยเหลือผู้คนที่เจ็บปวดเหล่านั้นได้


ผมได้พบกวนอัมอีกองค์หนึ่งในหนังสือชื่อ ‘สามเณร : เรื่องราวของรักแท้’

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล็กๆ หน้าปกสีดำและเทา แลดูสงบนิ่งเคร่งขรึม แต่แท้จริงแล้วเล่าถึงเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ในความเชื่อของชาวเวียดนาม ซึ่งเคยมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ และมีชื่อเสียงอย่างยิ่งในฐานะที่ท่านแสดงให้เห็นถึงการ ‘ให้อภัย’ ที่ใหญ่หลวง รวมถึงการใช้ชีวิตโดยเจริญอุเบกขาธรรมอย่างสูงสุด

พระโพธิสัตว์ที่ว่า ชาวเวียดนามเรียกว่า ‘กวนอัมถิกึ้นห์’ ซึ่งเป็น ‘สามเณร’ ผู้มีประวัติความเป็นมาอันน่าทึ่งยิ่งนัก

เพราะแม้ท่านจะเป็น ‘สามเณร’ ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่เชื่อหรือไม่ว่าท่านเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร้ายที่จะฆ่าคน และยังถูกกล่าวหาด้วยว่าไปทำผู้หญิงคนหนึ่งท้อง และที่สุด ผู้หญิงคนนั้นก็เอาลูกมาทิ้งไว้ให้ท่านเลี้ยง,

และท่านก็เลี้ยง!

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ก็คือจุดใหญ่ใจความในหนังสือเล่มนี้ตรงที่บอกว่า

อันที่จริงแล้วสามเณรท่านนี้ไม่ใช่ชายหนุ่ม แท้จริงแล้ว กึ้นห์ตัมเป็นลูกสาวของตระกูลหลี (“ต้นบ๊วย”) ซึ่งอยู่ที่จังหวัดอื่น พ่อแม่ตั้งชื่อให้เธอว่า กึ้นห์ (“ความเลื่อมใส”) และด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะใช้ชีวิตอย่างนักบวช กึ้นห์จึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ ปลอมตัวเป็นผู้ชายเพื่อจะได้บรรพชาเป็นสามเณร พระพุทธศาสนามาสู่ยาวเจา ซึ่งเป็นนามเดิมของเวียดนาม ราวๆ 200 ปีก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ และอารามทั้งหลายในแผ่นดินนี้ทำพิธีบวชให้ก็แต่ผู้ชายเท่านั้น (หน้า 14-15)

 

เมื่อท่านเป็นหญิง แล้วท่านจะไปทำผู้หญิงท้องได้อย่างไรเล่า!


ก่อนหน้าที่ท่านจะหนีมาบวช ท่านเคยแต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่งมาก่อน แม้ท่านจะอุทิศชีวิตจิตใจให้กับสามี แต่ท่านรู้ตัวอยู่เสมอว่าตนปรารถนาจะเป็นนักบวช จนกระทั่งวันหนึ่งท่านถูกครอบครัวของฝ่ายชายกล่าวหาว่าจะฆ่าสามีด้วยความเข้าใจผิด แต่ท่านยืนยันที่จะไม่ขอโทษ เนื่องจากท่านไม่ได้คิดเช่นนั้น และท่านไม่ได้ทำอะไรผิด ท่านจึงต้องถูกขับออกจากบ้านของสามี และที่สุดก็หนีออกจากบ้านเพื่อปลอมตัวมาบวชเป็นสามเณร

ชีวิตการบวชทำให้ท่านสงบและเบิกบาน ท่านปฏิบัติอย่างแข็งขันและเข้าใจลึกซึ้งในธรรม จนกระทั่งวันหนึ่ง หญิงสาวที่มาชอบท่านเกิดตั้งท้องขึ้นมา แล้วกล่าวหาว่าท่านคือพ่อของเด็กในท้อง

ท่านรู้ตัวดีว่าไม่มีทางเป็นเช่นนั้นได้ เพราะท่านเป็นหญิง แต่หากท่านเปิดเผยตัวเอง ท่านก็อาจต้องยุติชีวิตนักบวช และอาจสร้างความอับอายให้กับหญิงสาวด้วย ท่านจึงเลือกหนทางที่ยากลำบากที่สุด นั่นคือการใช้อุเบกขาธรรมในการจัดการกับปัญหาทั้งหลาย

“อุเบกขาไม่ได้หมายถึงการกดความทุกข์เอาไว้ และไม่ได้หมายความว่ากัดฟันทนด้วยความจำใจหรือการยอมจำนน ปฏิกิริยาอย่างนี้ไม่เรียกว่าอุเบกขา (หรือขันติบารมี) และไม่อาจนำเราไปสู่อีกฝั่งได้ เราต้องฝึกมองอย่างลึกซึ้ง ต้องฝึกใคร่ครวญเพื่อจะได้เข้าใจ และบ่มเพาะความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ในการบ่มเพาะความเมตตาเราให้ความสุข ในการหล่อเลี้ยงความกรุณาเราช่วยทำให้ความทุกข์ของผู้อื่นบรรเทา และเมื่อเราปฏิบัติอย่างไม่หยุดยั้ง มุทิตา (ต้นธารของความสุขเบิกบาน) ก็จะยิ่งหนักแน่น การปฏิบัติอุเบกขาจะช่วยให้เราปล่อยวางความโกรธเกลียด อคติ และเครื่องพัวพันทั้งปวง” (หน้า 63-64)

 

เมื่อท่านสิ้นชีวิตลงในอีกหกปีถัดมา ผู้คนที่เคยเกลียดชังและกล่าวหาท่านจึงได้รู้ความจริงว่าท่านเป็นหญิง พวกเขาหันมายกย่องท่านที่อดทนต่อความเจ็บปวดต่างๆ และในที่สุด ท่านก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระโพธิสัตว์

 

4

ผมอ่านเรื่องราวทั้งหมดนี้ด้วยความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง


เรื่องราวของพระโพธิสัตว์องค์นี้ ได้รับการ ‘เล่าใหม่’ โดยฝีมือของท่านนัทฮันห์ ผู้มีความเป็นกวีอยู่ในสายเลือด ท่านเล่าเรื่องด้วยภาษาร้อยแก้วอย่างสมถะ เรียบง่าย แต่ลึกซึ้งและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก และถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยด้วยฝีมือของ ‘สดใส’ หรือ อ.สดใส ขันติวรพงศ์ ผู้แปลงานงดงามมาแล้วมากมาย

เมื่ออ่านจบ ผมจึงเข้าใจว่า พลังแห่งความรักส่งผ่านไปถึงคนที่เรารักได้อย่างไร

และแม้ยังต้องฝึกฝนตัวเองอีกมาก แต่ผมก็เริ่มเข้าใจแล้วว่า ความสามารถในการฟังอย่างลึกซึ้งเยี่ยงพระโพธิสัตว์นั้น มนุษย์เราสามารถฝึกฝนให้เกิดขึ้นในตัวเองได้อย่างไรบ้าง

ผมจึงอยากให้คุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วย

 

 

ชื่อหนังสือ : ‘สามเณร : เรื่องราวของรักแท้’

เขียนโดย : ติช นัท ฮันห์

แปลโดย : สดใส ขันติวรพงศ์


จาก https://tomorn.co/2017/10/06/love-4/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...