ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะกลางใจ "พระต่างชาติ"  (อ่าน 2104 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ธรรมะกลางใจ "พระต่างชาติ"
« เมื่อ: ธันวาคม 18, 2017, 06:37:43 pm »
ธรรมะกลางใจ "พระต่างชาติ"

แม้กาลเวลาจะล่วงผ่านมาหลายพันปี แต่ว่าพระธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงเบ่งบานในใจของพุทธศาสนิกชน ขณะเดียวกัน ยังได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่งดั้นด้นเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อปฏิบัติธรรมภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์


วัดบวรนิเวศวรวิหาร เป็นอีกวัดหนึ่งที่ชาวต่างชาติจากทั้งซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออกเดินทางมาศึกษาพระธรรม ปัจจุบันมีพระชาวต่างชาติจากประเทศเนปาลจำนวน 5 รูป ,อินโดนีเซีย 3 รูป ,อังกฤษ 2 รูป และพระจากสหรัฐฯ 1 รูป โดยระยะเวลาของการพำนักต่างกัน บางรุ่นพำนักชั่วคราว ก่อนที่จะจาริกไปตามวัดต่างๆ ขณะที่บางรูปพำนักเป็นการถาวร และบางรูปพำนักระหว่างศึกษาพระปริยัติธรรม จากนั้นจึงเดินทางกลับไปยังประเทศของตัวเอง เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาต่อไป




                             1.

รวมระยะเวลาเกือบ 26 ปีแล้วที่ พระกันตสีโล เดินทางเข้าสู่ความสงบใต้ร่มเงาพุทธศาสนา เดิมเป็นชาวเมืองมลรัฐอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา แต่หลังจากได้สัมผัสรสพระธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียงร้อยอยู่ในหนังสือพิมพ์บ่อยๆ นำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธา และประสงค์ที่จะศึกษาพระธรรมคำสอนเพิ่มเติม

หากแต่ในสหรัฐฯ สมัยนั้น แม้จะเป็นศูนย์กลางของความหลากหลายของชนเผ่า และความเชื่อ แต่เรื่องของพุทธศาสนาแล้วถือว่ายังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเมืองไทยตั้งแต่ปี 2516

"ตั้งแต่เกิดมา ที่บ้านไม่เคยสอนเรื่องคริสต์ศาสนา แต่สอนเรื่องจรรยา ศีลธรรม อย่าไปขโมย อย่าพูดเท็จ ซึ่งดูไปแล้วเหมือนศีล 5 แต่พวกเราไม่ได้รู้จักพระพุทธเจ้าหรอก นั่นแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นเป็นสากล ไม่ได้เป็นบัญญัติให้เชื่อแบบงมงาย ซึ่งประโยชน์ก็คือความสุข ซึ่งพออ่านพระธรรมบท คำสอนของพระพุทธเจ้าจากหนังสือพิมพ์ แล้วก็สว่าง เหมือนมีกระดิ่ง สามารถพูดได้ว่าอย่างนั้นใช่เลย ก็ค่อยๆ เป็นค่อยๆไป จนเรียกตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ก็ใช่ว่าจะรู้เรื่องทุกอย่าง เพราะบ้านของเราทางด้านพุทธศาสนายังไม่เจริญเท่าเมืองไทย วัดวาหาไม่ได้ ทรัพยากรบุคคลหาไม่ได้ มีอยู่แต่ว่าน้อย และห่างไกล"

"ตอนที่อายุ 13-14 ปี ตั้งใจไปเรียนที่โรงเรียนพุทธ ซึ่งวัดที่อเมริกามี แต่โดยมากเป็นของคนอเมริกันเชื้อสายจีน หรือญี่ปุ่นเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจึงเป็นพุทธศาสนาลัทธิมหายาน แล้วข้อบังคับของคนที่ไปเรียนที่นั่นต้องได้ 2 ภาษา คือ ถ้าเป็นโรงเรียนจีนก็ต้องพูดภาษาจีน และอเมริกันคล่อง นอกนั้นก็ไม่ได้มีอะไรให้เรา เพราะเรานับถือพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท แล้วก็พูดภาษาจีนและญี่ปุ่นไม่ได้ จึงเรียนโรงเรียนรัฐตามปกติ"

"พอเรียนจบอยากบวช แต่ตอนนั้นเพิ่งจะอายุ 18 ทางพ่อแม่ยินดีให้บวช แต่ว่าอยากให้อยู่ใกล้บ้าน ก็พยายามหาทางบวชที่อเมริกา แต่ไม่เจอ เพราะสมัยก่อนพอจะมีคนไทยอาศัยอยู่บ้าง วัดสมัยนั้นลักษณะเหมือนบ้านเช่า ไม่ใหญ่โต อาจจะมีพระรูปเดียว แต่เดี๋ยวนี้มีปริมาณมากขึ้น ขณะที่วัดก็มีจำนวนมากแทบทุกรัฐ ในเวลานั้นจึงบอกกับพ่อแม่ว่าไม่มีทางเลือกแล้ว จึงได้เดินทางมาเมืองไทย ตอนอายุ 18 ปี"

ท่านเดินทางจากบ้านมาพร้อมกับความศรัทธาในพุทธศาสนา โดยไม่รู้ว่าหนทางในภายภาคหน้านั้นจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ครั้งแรกอยู่ได้เพียงอาทิตย์เดียว เผชิญกับอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ภาษาและวัฒนธรรม ส่วนครั้งที่ 2 อยู่ได้ 2 อาทิตย์ เดินทางไปมาอยู่ 2 ครั้งแต่ก็ยังไม่สำเร็จ

"สมัยนั้นไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่มีอีเมล ตอนนั้นมีแต่ศรัทธาอย่างเดียว โดยไม่รู้ว่าไปแล้วจะเจออะไรบ้าง ไม่รู้จะไปหาใคร ก็มีภาพโดยรวมว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ความคิดที่อยู่ในกล่อง พอมาแล้วไม่เป็นอย่างที่คิดก็เป็นทุกข์ มารู้ภายหลังว่ามีพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก"

กระทั่งครั้งที่ 3 อาศัยอยู่หนึ่งเดือนจึงได้บวชสามเณรที่วัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี เวลานั้นอายุ 19 ปี

"ที่วัดเขมาฯไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้ นอกจากพระนวกะสักรูป อาตมาคงเป็นพระต่างประเทศองค์แรก บังคับให้ต้องพูดภาษาไทยในระยะเวลาอันสั้น อยู่ 6 เดือน ก็พูดภาษาไทยได้ค่อนข้างคล่อง แต่ยังอ่อนมาก ถึงเข้าเรียนก็ไม่เข้าใจ จึงไม่ได้เรียนทั้งไทยและบาลีเป็นรูปธรรม เพราะไม่มีใครสอน ต้องเรียนเอง แต่ด้วยอายุยังน้อย สามารถไปคุยกับหลายๆคน ทำให้ภาษาเจริญได้เร็ว นอกจากนี้ก็ปฏิบัติศีล 10 ทำวัตรเช้า-ค่ำ ช่วยเหลือพระสงฆ์ แต่กิจไม่ค่อยมี เพราะไม่ค่อยเข้าใจภาษา"

ต่อมาในปี 2523 จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศ โดยสมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นพระอุปัฌาย์

"วัดบวรฯสมัยนั้นมีพระต่างชาติทั้งตะวันตก ตะวันออกเข้ามาศึกษา ปฏิบัติธรรมจำนวนมาก แล้วเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เจ้าอาวาส ตอนนั้นยังไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ท่านสามารถตรัสเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วสอนกรรมฐาน"

ภายหลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุก็เริ่มเข้าชั้นเรียนพระปริยัติธรรม ที่มหามงกุฏราชวิทยาลัย

"ตอนมาอยู่วัดบวรฯภาษาไทยเริ่มใช้ได้ จึงไปเรียนที่มหามงกุฏราชวิทยาลัย เรียนบาลีเป็นรูปธรรม เข้าห้องเรียนรวมกับพระไทยรูปอื่นทุกวัน เรียนมีทั้งยากและง่าย เพราะตามหลักบาลีเหมือนภาษาอังกฤษ รูปประโยคของภาษาอังกฤษใกล้เคียงกับภาษาบาลีมากกว่า แต่คำศัพท์ต่างๆในภาษาไทยใกล้เคียงภาษาบาลีมากกว่า อย่างไรก็ตามศัพท์คำไหนที่ไม่เข้าใจก็สามารถถามจากคนรอบข้างได้ ก็ได้อย่างเสียอย่าง ได้เปรียบตรงที่ว่าบางคำมีรากศัพท์เป็นอินโด-ยูโรเปี้ยน ตรงกับภาษาอังกฤษ ตรงนี้ก็ได้มุมมองกว้างออกไป"

ขณะที่กิจวัตรของสงฆ์ที่วัดบวรก็ยังต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับพระรูปอื่น "วัดบวรฯเป็นวัดใหญ่ เรียกว่าวัดบ้าน วัดที่เล่าเรียนศึกษาปริยัติธรรม ต่างจากวัดป่าเน้นปฏิบัติสมาธิภาวนา แต่เดี๋ยวนี้วัดป่าแท้ๆไม่ค่อยมี ฉะนั้นสถานที่ปฏิบัติก็คือใจเราเอง ใจอยู่ในเมืองก็ต้องปฏิบัติในเมือง ใจเราอยู่ในป่าก็ต้องปฏิบัติในป่า แต่ใช่ว่าใจเราอยู่ในป่าแล้วจะเป็นธรรมะตามป่า เพราะฉะนั้นสำคัญที่ธรรมะ"

ตลอด 26 ปีภายใต้ร่มเงาพุทธศาสนาแห่งสยามประเทศ แม้ว่าจะได้ศึกษาพระธรรมบทจำนวนมาก แต่สำหรับพระกันตสีโลแล้ว ถือว่ายังไม่หมดสิ้นพระธรรมที่ต้องศึกษาต่อไป

"ยังต้องเรียนศึกษาอีกเยอะ ตราบใดที่ยังไม่ได้มรรคผล คำว่าครบถ้วนไม่มี แล้วในภาษาบาลีมีคำอยู่ 2 คำเรียกว่าเสขบุคคลและอเสขบุคคล เสขบุคคลคือคนที่ยังต้องเรียน ศึกษา หมายถึงคนธรรมดาจนถึงอนาคามี ซึ่งเป็นพระอริยบุคคล แต่พระอรหันต์เรียกว่า อเสขบุคคล คือคนที่ไม่ต้องเรียนแล้ว"

และด้วยระยะเวลาดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความผูกพันในท้องถิ่นนี้

"กลับไปเยี่ยมโยมบิดา มารดาปีละ4เดือน เวลาไปก็ป้อนธรรมให้ แล้วคนอเมริกันละแวกนั้นจะมานั่งภาวนา สนทนาธรรม ปีนี้ก็ได้ฉลองวิสาขบูชาในมลรัฐที่อาศัยอยู่เป็นครั้งแรก"

บั้นปลายชีวิตใต้ร่มเงาธรรมจะเป็นอย่างไรนั้น ท่านอธิบายว่า "เราเกิดในประเทศหนึ่งที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ทำให้รู้ถึงความยากลำบากในการแสวงหาสิ่งที่รู้คุณค่า แต่หายากว่ารสชาติมันเป็นอย่างไร สำหรับคนไทยอยากจะไปฟังธรรม เดินข้ามถนนไปก็มีวัดวา หาได้ง่ายมาก แต่บ้านเกิดเราขับรถ 4-5 ชั่วโมงยังไม่เจอวัดเลย"

"ธรรมที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหาได้ยาก เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากสำหรับคนที่มีตาดู แต่สำหรับคนที่ไม่มีตาก็ไม่ได้เห็นว่าต่างจากความเชื่ออื่น เราคิดว่าไม่มีอะไรที่อยากจะทำ มากไปกว่าการศึกษาปฏิบัติธรรม ยิ่งเข้ามาเห็นพระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักใจตัวเอง โดยมีพระพุทธเจ้าสอนความจริง จึงยิ่งศรัทธา"

"ฉันไม่มีวันที่จะเสื่อมศรัทธาในพระรัตนตรัย แก้วอันประเสริฐ 3 องค์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นธรรมะเป็นสัจธรรมอย่างแท้จริง เป็นของจักรวาล ไม่ใช่เฉพาะในเอเชีย วันนี้อาจจะเป็นบั้นปลายแล้ว อาจจะตายวันนี้ พรุ่งนี้ เราก็อยู่แต่ละวันๆ โดยทั่วไปอยากจะใช้ชีวิตเป็นประโยชน์ให้แก่คนอื่น ทั้งเรื่องการเทศน์ การสอน ดีทั้งนั้นเลย ถ้าเราฝึกใจตัวเอง ยิ่งมากเท่าไร ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น พบด้วยตัวเอง เป็นสัจธรรมของตัวเอง"



    2.

ใกล้ๆ กับกุฏิ 2 ชั้นของพระกันตสีโลเป็นที่ตั้งของอาคารไม้โบราณ 2 ชั้น ด้านข้างติดป้ายว่า "คณะสูง นานาชาติ" ที่พำนักของพระชาวต่างชาติรูปอื่นๆ

ความที่สืบเชื้อสายตระกูลศากยะ ซึ่งมีสถานภาพทางสังคมเสมือนพระ ทำให้ พระอนิล ธมมสากิโย (ศากยะ) ต้องปฏิบัติกิจต่างๆทางพิธีกรรม กลายเป็นความคุ้นเคย อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ออกบวช

"พุทธศาสนาเถรวาทเข้าไปในเนปาลประมาณ 80 ปีที่แล้ว โดยมีพระเนปาลเดินทางไปอินเดีย แล้วได้เจอพระเถรวาท ซึ่งรูปแบบอยู่ในจิตรกรรมฝาผนัง คนแก่คิดว่าพระแบบสมัยพุทธกาลคงไม่มี เพราะเนปาลเป็นประเทศปิดโดยทางทะเล ดังนั้นความสัมพันธ์กับต่างประเทศมีน้อย ตอนหลังมีการติดต่อค้าขาย พ่อค้าเดินทางเจอพระจาริกแสวงบุญเหมือนกับพระในจิตรกรรมฝาผนัง ก็กลับมาเล่า คนที่มีศรัทธาก็อยากไปเรียน แล้วนำเข้ามาเผยแผ่ โยมพ่อสนับสนุนพระเถรวาท ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทิ้งศาสนาดั้งเดิม"

"เชื่อว่านามสกุลศากยะอาจสืบสายทางพระอานนท์ ในสังคมเนปาล เชื้อสายศากยะมีสถานภาพเหมือนพระ แม้ไม่ได้ออกบวช ชีวิตฆราวาสก็เหมือนเป็นพระอยู่แล้ว โยมพ่อถือว่าเป็นมหาเถระ เป็นตระกูลพระ แบบวชิรญาณ ความคุ้นเคยในพระพุทธศาสนามีมาตั้งแต่เกิด แต่เน้นเรื่องพิธีกรรม แต่นั่นไม่ใช่แรงบันดาลใจออกบวช"

"พ่อมีลูกชาย 5 คน ความคุ้นเคยศาสนาจึงคิดถวายลูกชายให้กับศาสนา 1 คน คนแรกคือพี่ชาย แต่พอดีสอบเอนทรานซ์ได้ทุนเรียนอินเดีย พี่ชายไม่อยู่ มีหน้าที่ดูแลบ้านแทน ไม่มีเวลาเล่น ความคิดเด็กตอนนั้นอยากทำอะไรก็ทำไม่ได้ พอถูกทาบทามให้บวช เห็นพระวันๆไม่ได้ทำอะไร มีญาติโยมมาถวายนั่น-นี่ จึงบวช"

"พอบวชแล้วถึงรู้ว่าคิดผิด ตอนนั้นในวัดมีพระ 4 รูป ตอนเช้าเณรต้องทำครัว เตรียมอาหารเช้า ประเคนพระก่อนจึงได้ฉัน แต่ก่อนฉันต้องไปสวดมนต์ ท่องวินัย ให้อาจารย์ฟัง ถ้าท่องไม่ได้ก็ไม่ได้ฉัน บวชได้ 2 วัน อายุแค่ 14 ขึ้นเทศน์ก็อ่านหนังสือ ถูกดุไม่ให้อ่าน ก็ไปท่องจำนิทานชาดกมาเทศน์แบบปากเปล่า"

"แต่ละวันต้องท่องบทวินัย สวดมนต์ให้อาจารย์ 4 รูป 4 เรื่อง แล้วก็ทำความสะอาด ตอนเย็นไปจ่ายตลาด ตอนเช้ามาทำอาหาร และต้องสอนคน อาศัยเป็นเด็กมาเล่นก็ไม่ได้ ต้องวางตัว นึกในใจว่าคิดผิด อยากสึก แต่ภาระหน้าที่ทำให้ไม่มีเวลาตั้งตัว"

กระทั่งในปี 2518 จึงได้เดินทางจากประเทศเนปาลมายังประเทศไทยเพื่อศึกษาพระธรรม นำกลับไปเผยแผ่ต่อไป ซึ่งระยะแรกที่เดินทางมาถึงเมืองไทยนั้น ท่านเผชิญปัญหาเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมไม่ต่างจากพระชาวต่างชาติรูปอื่นๆ

"สมเด็จพระญาณสังวรฯเดินทางไปเนปาลปี 2513 เห็นสภาพพุทธศาสนา ลัทธิเถรวาทยังไม่เจริญ พระเณรมีไม่ถึง 20 องค์ มีการแลกเปลี่ยนพระธรรมทูต และขอให้ช่วยฝึกพระเณรเพื่อกลับมาช่วย อาตมาเดินทางมาไทยเป็นรุ่นที่ 2"

"มาแรกๆพูดภาษาไทยยังไม่ได้ ภาษาอังกฤษก็ไม่เก่ง ใช้ภาษามือ สมเด็จฯพูดภาษาอังกฤษได้ ท่านก็พยายามพูดภาษาอังกฤษ สักพักท่านให้อ่าน นสพ.บางกอกโพสต์ให้ฟังทุกเช้า อ่านผิดก็ให้อ่านใหม่ อ่านไปได้สักเดือน-สองเดือน ท่านก็ถามคำศัพท์ ภาษาอังกฤษจึงซึมไปโดยไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันภาษาไทยก็เริ่มพูดได้ ไปนั่งฟังภาษาบาลีในชั้นเรียน ที่มหามงกุฏฯ ได้แต่นั่งฟัง และใช้ความวิริยะอย่างเดียว"

"ต่อมาเริ่มปรับตัวได้ พร้อมกับเข้าเรียนภาษาบาลี สอบได้ที่ 1 ของห้อง ภาษาไทยก็เริ่มเรียน เพราะความที่ไม่รู้เรื่องก็มีความตั้งใจเยอะกว่า กลายเป็นว่าท็อปในชั้น ถึงตอนนี้หายคิดถึงบ้าน ประกอบกับเป็นเณร ต้องทำความสะอาดไปด้วย เรียนหนังสือไปด้วย พอกลับมาก็เหนื่อยแล้ว"

หลังจากศึกษาพระธรรมจนสำเร็จ ท่านจึงขออนุญาตสมเด็จพระญาณสังวรฯ กลับเนปาล เพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนา

"เรียนจบอายุ 21 ปี ขอกลับบ้าน อยากจะกลับไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา เห็นวัดสวยๆในเมืองไทยก็อยากจะไปสร้างวัดที่เนปาล ขออนุญาติ 2 ครั้งแรกท่านยิ้มอย่างเดียว พอครั้งที่ 3 ท่านก็ถามว่ามีเงินหรือ แล้วอธิบายต่อว่าเงินไม่ใช่ปัญหา เพราะมันเป็นเงินของชาวบ้าน เงินของศรัทธา ที่สำคัญมีบารมีพอที่จะทำให้คนเชื่อหรือเปล่า ดังนั้นจึงอยู่ช่วยงานสมเด็จฯ"

ท่านเล่าต่อไปว่า "อยู่กับพระญาณสังวรฯทำให้เข้าใจพุทธศาสนาและธรรมมากขึ้น เพราะต้องค้นหาหนังสือ ทำให้คุ้นเคยกับพระไตรปิฏกมากขึ้น เวลาท่านจะไปขึ้นเทศน์ที่ไหนก็จะให้หยิบนั่น หยิบนี่ ทำให้ตอนนี้ชำนาญ รู้เรื่อง ไปนั่งฟังท่าน ทำให้ซึมซับวิธีการ"

พระอนิลกล่าวถึงศาสนาพุทธต่อไปว่า "หลายคนมองว่าพุทธศาสนาเสื่อม มองว่าเอาอะไรวัดความเสื่อม สมัยก่อน 50 ปีที่แล้ว กับวันนี้จำนวนพระตอนไหนมากกว่ากัน ถ้าคนเข้าวัดน้อยลง จำนวนพระสมัยนี้มากกว่าสมัยก่อนหลายเท่า แต่อยู่ได้อย่างไร ถ้าสังคมไม่ดูแล พระเหล่านั้นจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่เพราะศรัทธา"

"พุทธศาสนาอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ แล้วมีคนสุขสบายใจตรงนั้น ก็แสดงว่ายังใช้ได้อยู่ ในหลักมนุษยวิทยาบอกไว้ว่าสิ่งใดก็แล้วแต่ถ้ายังอยู่ แสดงว่าสิ่งนั้นยังมีหน้าที่ ถ้าไม่มีหน้าที่คือเสื่อมแล้ว ไม่สามารถอยู่ได้ มันก็จะหายไปเอง เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมยังอยู่ได้แสดงว่ามันยังมีคุณค่าอยู่"



                              3.

พระกันตสีโลเล่าว่า สมัยก่อนชาวต่างชาติที่มีศรัทธาออกบวชในพุทธศาสนาสามารถขออุปสมบทได้ทุกวัด แต่ปัจจุบันมีกฏระเบียบว่า ชาวต่างชาติที่ต้องการจะบวช จะต้องขออุปสมบทในวัดที่มีพระอุปชาสามารถพูดภาษาของประเทศนั้นได้



"พระต่างชาติที่เคยสนทนามีทั้งอินโดนีเซีย เนปาล เขมร เยอรมัน อังกฤษ บังกลาเทศ ตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา มีพระต่างชาติเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมไทยเจริญไปในด้านวัตถุมากขึ้น ทรัพยากรมนุษย์ทางด้านธรรมะน้อยลงๆ ดังนั้นเดี๋ยวนี้มีพระต่างชาติน้อยกว่าสมัยนู้น"

"สมัยก่อนการทำวีซ่าสำหรับพระสงฆ์ง่ายมาก ทางพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกเอาพาสปอร์ตไปแสตมป์ ตอนหลังไม่ได้แล้ว ต้องมีหนังสือรับรองจากเจ้าอาวาส เข้าระบบล่าช้า และสมัยก่อนสามารถบวชได้ทุกวัด แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ เพราะภายหลังมีกฏให้บวชได้ในวัดที่มีพระสงฆ์ที่สามารถพูดภาษานั้นได้คล่องแคล่ว นอกจากนั้นยังต้องมีการรับรองของเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะภาคและเจ้าอาวาส"

"เห็นด้วยในการตรวจสอบคนที่จะบวชว่ามาจากไหน ไม่ใช่บวชแล้วจะไปไหนก็ไป เข้าใจว่าบางคนอาจจะใช่ช่องโหว่ทางกฎหมาย เพื่อที่จะใช้ระบบอย่างผิดประเภท แต่ก็มีหลายคนที่ต้องการเรียนธรรมะจริงๆ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะระเบียบขวางทาง ถ้ามาจากประเทศที่ภาษานั้นมีคนพูดแค่ 2,000 คน แล้วจะหาพระไทยที่พูดภาษานั้นได้ที่ไหน และนอกจากนี้คนที่คิดจะบวชควรพูดภาษาไทยได้ นี่คือปัญหาของคนต่างชาติที่ต้องการจะบวชเมืองไทย พบปัญหาภาษาไทยยากเกิน จึงไม่ได้อยู่เมืองไทย ไปบวชที่พม่า ลังกา ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษได้แทน" พระกันตสีโลกล่าวทิ้งท้าย



          วัดหนองป่าพง ที่พำนักปฏิบัติธรรมพระต่างชาติ
เป็นที่ยอมรับกันว่า หลวงปู่ชา สุภทฺโท ก่อตั้ง "วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี" มีลูกศิษย์ลูกหาชาวต่างประเทศจำนวนมาก และพระชาวต่างชาติเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน

ท่านอาจารย์สุเมโธถือเป็นลูกศิษย์ชาวต่างประเทศรูปแรกเดินทางมาขอบวชในปี 2510 ต่อมาในพ.ศ. 2513 ได้มีชาวอเมริกันอีกสองคนเข้ามาบวชที่วัดหนองป่าพง อยู่ได้ราวหนึ่งปีก็ลาสิกขากลับประเทศ พร้อมกับเล่าถึงวัดหนองป่าพง ทำให้จำนวนพระฝรั่งในวัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน แม้หลวงปู่ชาจะได้ละสังขารไปนานหลายปี หากแต่หลักการปฏิบัติสายพระป่าของท่านยังคงได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ เดินทางมาบวช ทำให้ปัจจุบันมีสาขาของวัดทั้งในและต่างประเทศหลายแห่ง

"พระต่างชาติที่วัดหนองป่าพงปีนี้มี 56 รูป วัดป่านานาชาติปีนี้มี 6 รูป องค์อื่นๆส่งไปเผยแผ่พุทธศาสนาสาขาอื่น ซึ่งตอนนี้กำลังสำรวจสาขาทั้งหมด นับคร่าวๆ สาขาในประเทศมี 198 แห่ง สำรวจเพิ่มอีกประมาณ 40-50 แห่ง สาขาต่างประเทศเกือบ 20 แห่งมีประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี แคนาดา และสหรัฐอเมริกา" พระปรีชา ธีรวังโส ผู้ช่วยท่านเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพงอธิบาย

สำหรับผู้ที่สนใจอุปสมบทนั้น จะต้องผ่านการฝึกฝนและเตรียมความพร้อม สำรวจความศรัทธาที่แท้จริงก่อนจึงจะอุปสมบทได้

"กว่าจะได้บวชยาก พิถีพิถัน ดูว่ามีศรัทธาจริงหรือเปล่า ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่จะมาบวชเริ่มจากการห่มขาวที่วัดป่านานาชาติ ปลงผม นุ่งขาว ถือศีลแปด ใช้เวลาเป็นปี จึงได้บวชเณรที่วัดหนองป่าพง ถือศีลสิบ เพื่อให้มีโอกาสได้ศึกษาเกี่ยวกับธรรมวินัยให้ถี่ถ้วน ทำวัตร สวดมนต์เช้า-เย็น ฝึกคำขานนาคที่จะอุปสมบท หัดท่องพิธี สวดพระปริตร ฝึกบาลี-ไทย ออกอักขระชัดเจน พร้อมจึงบวชพระ คนไทยก็เหมือนกัน แต่คนไทยใช้เวลาเร็วกว่าต่างชาติ เพราะวัฒนธรรมสอดคล้องกับศาสนาพุทธ ส่วนชาวตะวันตกมาด้วยความศรัทธา"


จาก https://mgronline.com/drama/detail/9490000094210
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...