'มุมมองใหม่ในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์'
ถ้าหากท่านมีอาการปวดข้อนิ้วมือ ข้อมือ พร้อม ๆ กันหลายข้อ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ท่านมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ยิ่งถ้าข้อที่ปวดมีอาการบวมด้วยโอกาสเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยิ่งมากขึ้น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด ในบรรดาโรคข้ออักเสบทั้งหลาย นอกจากนี้ยังเป็นโรคข้อที่พบบ่อยเป็นอันดับสองรองจากโรคข้อเสื่อม ความน่ากลัวของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นอกจากอาการปวดข้อข้ออักเสบที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานและใช้งาน ข้อไม่ได้ในขณะที่ข้ออักเสบแล้ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาช้าไปหรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง จะทำให้ข้อที่อักเสบกลายเป็นข้อที่พิการ เนื่องจากมีข้อเคลื่อนหลุดหรือข้อติดผิดรูปผิดร่าง จนเกิดความทุพพล ภาพใช้งานไม่ได้เหมือนเดิม ซึ่งอาจจะทำให้ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้อยลงไปมาก ในประเทศแถบทวีปยุโรปและอเมริกามีผู้ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ถึงร้อย ละ 1-2 หมายความว่าในคน 100 คน จะมี 1-2 คน ป่วยเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งถือว่าไม่น้อยทีเดียว แต่ยังโชคดีที่ในประเทศแถบเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 0.3-0.5 ซึ่งน้อยกว่าพวกฝรั่ง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือเป็นโรคที่น่ากลัวเพราะทำให้เกิดความพิการนั่นเอง
ในปัจจุบันนี้ถึงแม้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แต่จากการศึกษาทำให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับพยาธิกำเนิดของโรคข้ออักเสบรูมา ตอยด์ดีขึ้นมาก ว่าโรคนี้มีพื้นฐานมาจากการที่ผู้ป่วยมีพันธุกรรมบางอย่างที่ทำให้มีโอกาสจะ เกิดโรคนี้ขึ้น เมื่อมีปัจจัยภายนอกบางอย่าง มากระตุ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน ทำให้เกิดการอักเสบต่อเนื้อเยื่อบริเวณข้อของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดอาการปวดข้อหรือข้อบวมเรื้อรัง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์นี้ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและไม่ใช่โรคติดต่อจึงไม่ แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น แม้คนรอบข้าง ความผิดปกติของเซลล์ต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันเป็นต้นเหตุที่ทำให้เยื่อบุข้อถูก ทำลาย กระดูกในข้อกร่อน การทำลายนี้รวมไปถึงเยื่อหุ้มข้อและเส้นเอ็นรอบ ๆ ข้อมีการอักเสบและฉีกขาดได้ ทำให้ข้อเคลื่อนหลุด ข้อ ผิดรูปร่างและกลายเป็นความพิการในที่สุด นอกจากความพิการของข้อที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่อวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบทำให้มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด เกิดพังผืดในปอดจากเนื้อปอดอักเสบ กระดูกต้นคอช่วงบนเคลื่อนจนไปกดเส้นประสาทไขสันหลัง เยื่อหุ้มตาอักเสบหรือบางลงจนทะลุได้ หรือเกิดภาวะเส้นเลือดอักเสบเป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนที่กล่าวมานี้พบได้ไม่บ่อย และสามารถป้องกันได้ถ้ามีการรักษาโรครูมาตอยด์ที่ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก
ปัจจุบันนี้ในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา มีความสนใจศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์กันอย่างกว้างขวาง จึงเกิดการพัฒนาการวินิจฉัย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ วิธีการรักษารวมทั้งยาใหม่ ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ทำให้การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มี ประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นทำให้ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีคุณภาพชีวิตที่ดี ยิ่งขึ้น ปีนี้เองมีการประกาศใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อันใหม่ ที่เกิดจากความร่วมมือของแพทย์โรคข้อหรือรูมาโตโลจิสต์ (rheumatologist) ในยุโรปและอเมริกา เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยหวังว่าจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้รวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เพราะยิ่งวินิจฉัยได้เร็วเท่าไร ผู้ป่วยก็มีโอกาสจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องเร็วขึ้นเท่านั้น จะได้ไม่เกิดความพิการหรือได้รับความทุกข์ทรมานจากโรค สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการยังมีการพัฒนาการตรวจเลือดเพิ่มเติม จากการตรวจรูมาตอยด์แฟคเตอร์ (rheumatoid factor) คือการตรวจแอนติซีซีพี (anti-CCP) ซึ่งเป็นการตรวจที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มากขึ้น เพิ่มการวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
สมัยก่อนผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มักได้รับการบอกจากแพทย์ผู้รักษาว่าโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคที่รักษา ไม่หาย หรือรักษาไม่ได้ต้องเป็นไปตลอดชีวิต เป็นโรคเวรโรคกรรม แต่ในปัจจุบันนี้ มีการศึกษาพบว่าโรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์เป็นโรคที่มีความรุนแรง และมีการทำลายโครงสร้างต่าง ๆ ของข้อจนทำให้เกิดความพิการต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลา 1-3 ปีแรก ซึ่งถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรกก็จะสามารถระงับการทำลายข้อ สามารถทำให้โรคสงบลงจนหายขาดได้ ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์สามารถมีชีวิตที่เป็นปกติสุขและมีคุณภาพชีวิต ที่ดีเหมือนคนทั่วไป ดังนั้นในปัจจุบันนี้จึง มีการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงบุคลากร ทางการแพทย์ตระหนักถึงความสำคัญของการวินิจฉัยและรักษาโรคข้ออักเสบรูมา ตอยด์อย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก
การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะประกอบด้วยการรักษาด้วยยา ซึ่งมีทั้งยากินและยาฉีด การทำกายภาพบำบัด ตลอดจนการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายเพื่อแก้ไขความพิการที่เกิดขึ้น การรักษาด้วยยาจะประกอบด้วย ยาแก้ปวด ลดการอักเสบของข้อ ซึ่งได้แก่ ยาพาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งยากลุ่มนี้มีความจำเป็นในระยะแรกเพื่อบรรเทาอาการปวดและอาการบวมของข้อ แต่ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงมากเมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังไม่ ช่วยแก้ไขความผิดปกติที่เกิดจากโรค จึงต้องใช้ คู่กับยาที่มีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงการดำเนินโรคให้ เข้าสู่ระยะสงบ เช่น ยาเมโธรเทร็กเซท (metho- trexate) ยาซัลฟาซาลาซีน (sulfasalazine) กลุ่มยาต้านมาลาเรีย เป็นต้น ซึ่งยากลุ่มนี้แต่ละชนิดมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน ให้แพทย์เลือกใช้ตามความรุนแรงของโรค ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องใช้เวลาในการออกฤทธิ์อาจจะหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แต่เมื่อออกฤทธิ์แล้วก็ควรใช้ต่อเนื่องกันไป โดยถ้าอาการดีขึ้นโรคสงบลง ก็หยุดยา แก้ปวดเหลือแต่ยาปรับเปลี่ยนตัวโรค ที่ต้องรับ ประทานต่อเนื่องเพื่อควบคุมโรคจนเข้าสู่ระยะสงบเป็นเวลานาน ๆ จนหายขาด แต่ยังมีผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงมากใช้ยาปรับเปลี่ยนตัวโรคแล้วไม่ได้ ผลหรือได้รับผลข้างเคียงจากยาปรับเปลี่ยนตัวโรค ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ คือ กลุ่มยาชีวภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ปัจจุบันในประเทศไทยมียาชีวภาพที่ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ 3 ประเภท ซึ่งต่อไปในอนาคตคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก แม้ยาชีวภาพจะมีประสิทธิภาพสูงมาก ผลการรักษาผู้ป่วยดีมาก แต่ก็เป็นยาที่มีราคาแพงมากเมื่อเปรียบกับยาปรับเปลี่ยนตัวโรค ดังนั้นการเลือกใช้จึงต้องพิจารณาในผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริง ๆ และภายใต้การกำกับดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ที่ได้ผล นอกจากจะต้องวินิจฉัยได้รวดเร็ว ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกแล้ว ผู้ป่วยและญาติควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและยาต่าง ๆ ที่ใช้รักษา โรค ทราบถึงวิธีทำกายภาพบำบัดที่ถูกต้องเพื่อบรรเทาอาการปวดอักเสบ และวิธีปฏิบัติตนเองหรือใช้งานข้ออย่างไรในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันความ พิการ ผู้ป่วยควรมาติดตามการรักษา อย่างสม่ำเสมอ ตามแพทย์นัดและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด
รูมาตอยด์ คอยไม่ได้ ให้ตระหนัก
อย่ามัวพัก รักษาเอง เกรงใจหนอ
แม้รักษา มาแต่เนิ่น ได้เกินพอ
อย่ามัวรอ หมอช่วยได้ ให้รีบเอย
ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติ โตเต็มโชคชัยการ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี.
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
.
.