ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธศาสนามีมรรควิธีมากมาย อย่าง นิกายสุขาวดี  (อ่าน 2218 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


มีคำกล่าวว่า จิตวิทยาของคนอินเดียมักจะมองขึ้นไปบนฟ้า แล้วก็ขบคิดถึงอนันตภาวะบางอย่าง ขณะที่คนจีนนั้นจะแตกต่างออกไป นั้นคือ คนจีนมักมองลงมายังพื้นดิน แทนที่จะมองขึ้นไปบนท้องฟ้า และ จินตนาการถึงอะไรบางอย่างแบบคนอินเดีย พูดอีกอย่างก็คือ คนจีนชอบอะไรที่เป็นไปในเชิงปฏิบัติการ และ เป็นคนติดดินยิ่งกว่าคนอินเดีย  นี่จึงเป็นสาเหตุให้เมื่อพุทธศาสนาแบบที่เป็นนามธรรมลึกซึ้ง อย่างนิกายสรวาสติวาทิน ของหินยาน กับ นิกายมาธยมิกะ และ โยคาจาระ ของมหายาน ได้เข้าไปในจีน สำนักคิดเหล่านี้ ถึงได้ดำรงอยู่และรุ่งเรืองได้ไม่นานก็หายไปจากประเทศจีน แม้ว่าพุทธธรรมคำสอนที่ลึกซึ้งเหล่านี้ จะจับใจบรรดาบัณฑิตและปัญญาชนของจีนก็ตาม แต่สำหรับชาวบ้านร้านตลาดแล้ว ปรัชญาเหล่านี้ดูไม่มีผลกระทบหรือเกี่ยวข้องอะไร กับชีวิตประจำวันของพวกเขามากนัก ถ้าเราเคยอ่านพระอภิธรรมของนิกายเถรวาท เราจะพบว่า พระอภิธรรมเป็นปรัชญาเชิงวิเคราะห์ ซึ่งยากที่ตาสีตาสาจะเข้าใจได้ ต้องอาศัยนักศึกษาชั้นที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดจริงๆ ในขณะที่นิกายมหายานอย่างเซน ก็ล้วนเต็มไปด้วยข้อปริศนาธรรมซึ่งชวนพิศวงและยากแก่การเข้าใจ แม้การปฏิบัติธรรมเชิงพุทธธรรมดาๆ เราก็เชื่อกันว่า มันยากเย็นแสนเข็ญยิ่งกว่าจะเป็นพระอรหันต์ หรือ พระอริยบุคคลลำดับชั้นรองๆลงมา 

ดังนั้นคณาจารย์มหายานของจีนจึงพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว กล่าวคือ จะทำอย่างไรให้พุทธศาสนา ที่เป็นอะไรที่ " ยาก "และ "ห่างไกลชีวิต"เสียเหลือเกิน เป็นเรื่องของปราชญ์ บัณฑิต หรือ บุคคลพิเศษบางพวกซึ่งมุ่งเน้นการปฏิบัติที่เคร่งครัดตามวิถีของผู้สละโลก เป็นของที่จับต้องได้ สำหรับชาวบ้านร้านตลาด ผู้ซึ่งอาจจะแม้อ่านหนังสือไม่ออก และ มีชีวิตไปกับการทำไร่ไถ่นา รีดนมวัวไปวันๆ สามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์ได้ และ นั้นคือที่มาของนิกายสุขาวดี กล่าวคือ คณาจารย์มหายานชาวจีนได้พยายาม หาทางออกของปัญหาดังกล่าว และ พบว่าบรรดาคณาจารย์ชาวอินเดียในอดีต นั้นมีคำตอบ และ ได้ให้คำตอบเอาไว้ ในพระสูตรจำนวนหนึ่ง กล่าวคือ  มหาสุขาวดีวยูหสูตร , อมิตายุรธยานสูตร, จุลสุขาวดีวยูหสูตร และอมิตายุอุปเทศสูตร ซึ่งพระสูตรเหล่านี้ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของสุขาวดี ของพระพุทธเจ้าผู้มีนามว่า อมิตาภะ ซึ่งพระสูตรบรรยายเอาไว้ว่า ด้วยการสั่งสมบารมีที่ยากลำบากและยาวนานของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ส่งผลให้พุทธเกษตรของพระองค์นั้นรุ่งเรือง งดงาม ยิ่งกว่าพุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าองค์ใดๆ และ เพียงแค่การทำบุญทำทาน มีเมตตาจิต รักษาศีล ทำสมาธิชำระจิตให้บริสุทธ์ โดยหมั่นระลึกหรือออกนามพระอามิตาภะเท่านั้น ! มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเคยทำบาปกรรมอะไรมากก็ตาม ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เพศไหน มีฐานะทางสังคมยังไง ก็ย่อมสามารถไปเกิดบนพุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าองค์นี้ได้ (ไปเกิดแบบโอปปาติกะ บนดอกบัว) เมื่อไปเกิดแล้วจะไม่ตกต่ำมาสู่อบายภูมิอีก และ เที่ยงแท้ต่อการบรรลุนิพพาน เพราะ พระอมิตาภะเจ้า เป็นผู้หยั่งรู้วาระจิตสรรพสัตว์ เฉลียวฉลาดในการใช้อุบายต่างๆ ในการสอนสัตว์ ดังนั้นบุคคลผู้ได้ไปเกิดในสุขาวดี ย่อมเที่ยงแม้แต่ความหลุดพ้น (ในขณะที่พุทธเกษตรอื่น งดงามไม่เท่า รุ่งเรืองไม่เท่า และ ไม่การันตีว่าเที่ยงต่อควาใหลุดพ้นทุกคนแบบสุขาวดี)
ฝ ซึ่งด้วยความง่ายของมัน และ ความรู้สึกว่าพุทธศาสนาสามารถปฏิบัติได้จริง และ ไม่ไกลเกินเอื้อมก็ได้ทำให้พุทธศาสนานิกายนี้ กลายเป็นอะไรที่คนจีนยอมรับได้ และ กลายเป็นหนึ่งในนิกายหลักที่ชาวประเทศมหายานที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน ยังคงยอมรับและปฏิบัติกัน

ในที่นี้เราจะไม่ลงรายละเอียดของสุขาวดี ว่าเป็นอย่างไร วิเศษมหัศจรรย์เพียงใด เพราะ รายละเอียดดังกล่าวย่อมมีผู้กล่าวถึงมามากแล้ว แต่ในที่นี้ เราจะนำเสนอในลักษณะ ของการวิเคราะห์ พุทธศาสนาแบบสุขาวดีกัน ปกติแล้วคติของสุขาวดีมักถูกมองอย่างดูถูกจากชาวพุทธนิกายอื่น ทั้งเถรวาท และ มหายาน โดยมองว่าความคิดของสุขาวดี นั้นเป็นความคิดราคาถูก หรือ เป็นปรัชญาชั้นต่ำๆ และ ดูเหมือนจะทำให้พุทธศาสนาถอยหลังเข้าคลอง กลายเป็นปรัชญาแบบเทวนิยมไป กล่าวคือ นิกายนี้เน้นย้ำว่า การพ้นทุกข์ของสรรพสัตว์ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเข้ามาช่วย ซึ่งดูแล้วเป็นอะไรที่ขัดกับคติพุทธแบบดั้งเดิมที่เน้นพึ่งตนเองเป็นหลัก อย่างไรก็ตามหากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง จะพบว่าคติเรื่องสุขาวดี แม้เราจะพูดว่าข้อปฏิบัติของลัทธินี้ "ง่าย" แต่ คำว่า"ง่าย" ก็ไม่ได้หมายความว่า "ไม่ลึกซึ้ง" และคติของนิกายนี้ ก็ไม่ได้ขัดกับคติเรื่องโลกธาตุของพุทธศาสนาทั้วๆไปเลย เพราะ พุทธศาสนาทั่วๆไปก็ยอมรับการมีอยู่ของโลกธาตุอื่น นอกเหนือไปจากโลกนี้โดยระบุว่ามีมากมาย ดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคามหานที และ เนื่องจากสุขาวดี เป็นเพียงพุทธเกษตร ซึ่งเกิดจากอำนาจทางจิตของพระพุทธเจ้า เป็นเพียงโลกธาตุหนึ่ง ซึ่งมีอยู่อย่างชั่วคราว สำหรับผู้ปรารถนาจะบรรลุนิพพาน จึงไม่ได้ขัดกับคติพุทธศาสนาเลย

สุขาวดีเป็นอะไรที่คล้ายๆกับ สุทธาวาสภูมิ ของคติพุทธแบบดั้งเดิม ที่เป็นเสมือนภพภูมิของพระพรหมอนาคามี ผู้เที่ยงแท้แต่พระนิพพาน กล่าวคือสุทธาวาสภูมิเป็นภพภูมิสำหรับ พระอนาคามี บำเพ็ญบารมีต่อเพื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน กล่าวกันว่าในสุขาวดี สรรพสิ่งล้วนสำแดงธรรม แม้แต่นกในสุขาวดีก็ร้องเป็นเสียงธรรมเทศนา (นกเหล่านี้ไม่ใช่เดรัจฉาน หากแต่เกิดจากอำนาจของพระอมิตาภะ เพื่อขับกล่อมและแสดงธรรมแก่ชาวสุขาวดี)  ดังนั้นสุขาวดี จึงเป็นคนและสิ่งกับพระนิพพาน และ ไม่ได้ขัดกับคติของเถรวาท หรือ นิกายมหายานอื่น ซึ่งไม่ได้ตีความว่า นิพพานเป็นบ้านเป็นเมือง หรือ เป็นภพๆหนึ่ง ซึ่งคล้ายๆดินแดนอมตะ ซึ่งเป็นที่อยู่ของบรรดาผู้บรรลุธรรมแล้วแต่อย่างใด คติสุขาวดีสะท้อนความคิดฝันของมนุษย์ ซึ่งฝันถึงโลกที่ดีกว่า โลกใบนี้เต็มไปด้วยปัญหานานับประการ และ ความทุกข์ยาก ดังนั้นมันคงจะดีกว่า ถ้าจะมีโลกในอุดมคติที่เป็นสุขชั่วนิรันดร์ ความคิดแบบนี้ ยังสะท้อนอยู่ในกรอบของศาสนาต่างๆบนโลก ซึ่งบรรยายถึงสรวงสวรรค์ของพระเป็นเจ้า หรือ โลกหน้าที่ใกล้จะมาถึงในฐานะรางวัลของผู้ประพฤติดี เช่น โลกพระศรี ในทางปรัชญาการเมือง นับตั้งแต่อุดมรัฐของเปลโต้ ไปจนถึงยูโทเปีย ของสาธุคุณโทมัส มอร์ ก็สะท้อนความพยายามที่จะจัดระเบียบโลกนี้ให้กลายเป็นโลกในฝัน หากจะต่างกันก็เพียงแค่ นักการศาสนามุ่งโลกอื่น แต่นักปรัชญาการเมืองมุ่งโลกนี้

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะพบความคิดของบ้านเรา ที่มีความพยายามจะตีความนิพพานเป็นบ้านเป็นเมือง เช่น สำนักฤาษีลิงดำ ,สำนักธรรมกายเป็นต้น ซึ่งสะท้อนความพยายามที่จะตีความหรือผลิตชุดความเชื่อ เพื่อเอาใจมวลชน ที่ลึกๆในใจก็ฝันถึงโลกใหม่ที่ดีกว่า นอกจากนี้ คติของความคิดแบบนี้ยังสะท้อนความกลัวการดับสูญของ ตัวตน ของปุถุชนทั้งๆไป อีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ  เมื่อได้ยินว่า พระนิพพานในมติคัมภีร์เถรวาท ระบุว่า พระนิพพานเป็นอนัตตา เพราะ เขาเข้าใจผิดคิดว่า อนันตาหมายถึงไม่มีอะไร ? ดังนั้นเขาจึงอยากจะให้พระนิพพานเป็นอะไรบางอย่างที่เป็น สิ่งๆหนึ่งที่มีอยู่ แต่ครั้นจะยอมรับมติว่าพระนิพพานเป็นอัตตา เขาก็ได้เรียนรู้มาว่า ความคิดแบบนี้ คือ ยึดถือเรื่องการมีอัตตา เป็นทัศนะของศาสนาพราหมณ์ ที่เขาดูถูก ดังนั้นเขาจึงเลี่ยงไปในทัศนะที่ส่ายไปมา คือ ไม่ใช่อัตตา  แต่ก็ไม่ใช่อนัตตา ซึ่งเกิดจากความเข้าใจที่ผิดว่า อนัตตาหมายถึง ไม่มีอะไร?  นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ว่า ในคัมภีร์เถรวาทไม่ได้ระบุว่า หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน หรือ พระอรหันต์นิพพาน นั้นสภาวะหลังจากนั้นเป็นยังไง หรืออยู่ในสภาพใด ดังนั้นพวกเขาจึงจินตนาการไปว่า บางทีอาจจะไปอยู่ในดินแดนบรมสุขใดสักแห่ง ซึ่งท่านเหล่านั้นยังคงอยู่ และ ยังคงเฝ้ามองจับตาดูโลก และ วันดีคืนดีก็อาจจะกลับมาปรากฏอีกครั้ง เพื่อสั่งสอนผู้คน ซึ่งสะท้อนความซุกซนของจิตที่ชอบคิดนั้นนี่ ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์

ดั่งที่มีความเชื่อว่า เมื่ออ.ชั้นสูงปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้า หรือ พระสาวกของพระองค์สามารถมาปรากฏพระองค์ หรือ ตัว เพื่อให้คำแนะนำได้ ซึ่งลึกๆก็สะท้อนความคิดแบบปุถุชนที่กลัวว่าตัวเอง หรือ บุคลิกภาพของตัวเองจะหายไปหลังความตาย (สมมติท่านเกิดใหม่เป็นคนอีกครั้ง ท่านก็จะจำอดีตชาติไม่ได้ ท่านจะกลายเป็นคนใหม่ ที่มีบุคลิกภาพใหม่ ซึ่งไม่เหมือนตัวเองในชาติที่แล้ว)  ดังนั้นจึงจินตนาการถึงการดำรงอยู่ของท่านเหล่านี้ ในแบบตัวตน หรือ จิตที่ดำรงอยู่อย่างเที่ยง หรือ ยังคงมีบุคลิกภาพแบบเดิมอยู่หลังท่านเหล่านี้ตายจากไป คือ ความตายไม่สามารถทำลายหรือกวาดบุคลิกภาพของท่านเหล่านี้ให้หายไปได้    อันที่จริงหากเราใคร่ครวญเพิ่มเติม โดยเอาเกณฑ์แบบประโยชน์นิยมที่ว่า คำสอนใดก็ตามที่เป็นประโยชน์มากที่สุดต่อคนหมู่มากที่สุดในสังคม นั้นก็สามารถยอมรับได้  ก็ดูนิกายสุขาวดี จะชนะขนาดในแง่นี้ เพราะ นิกายสุขาวดี กลับเป็นนิกายที่มีคนในโลกยอมรับนับถือ และ ปฏิบัติมากที่สุด (ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศมหายาน อาทิ จีน,ญี่ปุ่น,เวียดนาม,เกาหลี  ล้วนนับถือนิกายนี้ ) เพราะ ข้อปฏิบัติของนิกายที่ง่าย ทั้งง่ายต่อการเรียนรู้ ง่ายต่อการเอาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน สุขาวดีจึงเป็นมรรคที่ใช้การได้ ต่อคนกลุ่มใหญ่ของสังคม ลองมองไปรอบๆ เราจะเห็นคนธรรมดาๆ ปากกัดตีนถีบเอาชีวิตรอด มีภาระครอบครัว น้อยคนนักจะมีเวลามานั่งครุ่นคิดความหมายของชีวิตเยี่ยงนักปราชญ์ น้อยคนนักจะมั่งคั่ง แบบไร้ภาระความรับผิดชอบ ชนิดมีเวลาว่างมากๆ พอที่จะมานั่งใคร่ครวญ หรือ ปฏิบัติธรรม โดยไม่ต้องห่วงเรื่องปากท้อง ,ธุรกิจ ,ประเทศชาติ หรือ ความรับผิดชอบอื่นๆ น้อยคนนักที่มีความกล้าพอที่จะสละโลก ละทิ้งภาระ ครอบครัว และ สามารถพาตัวเองไปอยู่ภายใต้ระเบียบวินัยที่เคร่งครัดของชีวิตนักบวช และ ประพฤติพรหมจรรย์ ดังนั้นความง่ายของสุขาวดี จึงต้องการให้แม้แต่คนกลุ่มนี้ก็พอได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากพุทธศาสนา คือ แม้จะมีเวลาน้อย แต่ถ้าแบ่งมาสักนิดมาระลึกถึงพระอมิตาภะบ้างนั้นก็อาจจะเพียงพอแล้ว

พุทธศาสนามีมรรควิธีมากมาย ก็ถ้าเป้าหมายมันคือแบบเดียวกัน คือลุถึง นิพพาน ทำไมเราจึงไม่เลือกทางง่ายล่ะ ทำไมเราต้องเลือกทางยาก หากสุขาวดีเป็นอีกทางที่ง่ายที่สุด ก็แล้วทำไมเราจึงไม่เลือกสุขาวดีล่ะ
  เราอาจจะคิดว่า สุขาวดีเป็นแนวคิดที่ไม่จริง?  เป็นเรื่องแต่งขึ้นมาลอยๆ ของคณาจารย์มหายาน แต่ถ้าเรามองในแง่ประโยชน์นิยมล่ะ คือ แนวคิดนี้ซึ่งอาจจะไม่จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีประโยชน์ เราจะยอมรับได้ไหม? ยกตัวอย่าง ความเชื่อว่ามีผีสางนางไม้สถิตในป่า สมมติความเชื่อนี้ทำให้คนเกิดขาดกลัว จึงไม่คิดบุกรุกป่า และ ป่าก็ยังคงอุดมสมบรูณ์ ในขณะที่ถ้าวันหนึ่งผู้คนเกิดมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้สถิตในต้นไม้ เป็นแค่นิยาย และ พวกเขาก็ไม่เกรงกลัวอาถรรพ์ป่าอีกต่อไป และ ตัดไม้ทำลายป่า แบบนี้ แม้จะมีความเข้าใจที่ถูก ก็ไม่เป็นประโยชน์เลย ดังนั้น แม้สุขาวดีอาจจะเป็นเรื่องหลอกลวง แต่ถ้าทำให้คนเราผู้นับถือ ทำตัวดีขึ้นน่ารักขึ้น (เพราะกลัวจะไม่ได้ไปสุขาวดี) ,หรือมีจิตปรุงแต่งวุ่นวาย ฟุ้งซ่านน้อยลงเป็นสมาธิมากขึ้น เพราะ ได้ภาวนาโดยยึดพระอามิตาภะเป็นอารมณ์อยู่ แม้ยามตายจิตก็มีพระอามิตาภะเป็นอารมณ์ไม่กลัวความตาย เพราะ เชื่อว่า ตัวเองไม่มีทางลงนรก หรือ อบายภูมิอื่นๆ แน่นอน  โดยเชื่อว่า ตนจะมีพระอามิตาภะมารับไปยังแดนสุขาวดี เพื่อปฏิบัติต่อจวบจนลุถึงพระนิพพาน  แบบนี้เราจะสามารถยอมรับ ความคิดสุขาวดีได้หรือไม่ (ภาวะจิตที่จะดับลงก่อนตายนั้นสำคัญมาก ตามคติพุทธถ้าจิตหน่วงอารมณ์ที่เป็นกุศลก่อนตาย แม้คนที่ทำบาปกรรมมามากก็อาจจะไปสู่สุคติภูมิได้ ในทางกลับกันเกิดก่อนตายจิตไปหน่วงเอาอารมณ์ที่เป็นอกุศลเข้า แม้ในชีวิตจะทำกุศลมามากก็อาจจะหน่วงให้เราตกสู่อบายได้ ดังนั้นการที่นิดายสุขาวดี ให้ระลึกถึงพระอามิตาภะเป็นอารมณ์ก่อนที่จะตาย ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้จิตเป็นกุศลตอนจะดับจิตลง ผู้ตายก็อาจจะไปสู่สุคติได้ ซึ่งก็เป็นไปตามทฤษฏีดั้งเดิม ซึ่งมีพุทธวจนะตรัสรับรองไว้ )

นอกจากนี้แม้พุทธศาสนาจะให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองมากกว่าสิ่งภายนอก เพราะ ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่ในชีวิตจริงจะมีมนุษย์กี่คนที่สามารถพึ่งตนเองได้จริงๆ หรือ เรายังจำเป็นต้องหาที่เกาะหรือพึ่งสิ่งอื่นอยู่ร่ำไป เพราะ เรายังไม่เข้มแข็งพอที่จะพึ่งตนเอง ดังนั้นการที่สุขาวดีสอนให้พึ่งอำนาจภายนอกอย่างพระอามิตาภะ จึงไม่ใช่ไร้เหตุผล แต่เกิดจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของคณาจารย์ นิกายสุขาวดี ถึงธรรมชาติของมนุษย์ และ ลึกๆ การสอนว่าเรานั้นไม่มีพลังแม้แต่จะพึ่งตนเองในการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความทุกข์ ก็มีนัยยะลดอหังการ มมังการ(ตัวกู ของกู)  ด้วย คือ เรานี้ช่างอ่อนแอยิ่ง และ ไม่ได้วิเศษวิโสเลย แม้จะพึ่งตนเองก็ยังไม่มีพลังพอ ซึ่งสะท้อนถึงการลดอีโก้ของเราลง อีกด้วย พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้า แบบต่างๆ อาทิ ปัญญาธิกะ ,ศรัทธาธิกะ, วิริยะธิกะ ซึ่งสื่อถึงการยอมรับ ว่าการใช้ศรัทธานำแบบนิกายสุขาวดี ก็เป็นอะไรที่ทรงรับรองว่า เป็นมรรควิธีที่ใช้การได้เข้าถึงผลสำเร็จเหมือนกัน

ในสูตรของเว่ยหลาง ท่านเว่ยหลางสังฆปริณายกนิกายเซน ตีความสุขาวดีว่า คือ สภาวะจิตที่ว่างจากกิเลส ดังนั้นหากเราสามารถละมิจฉาทิฏฐิ ตั้งมั่นในศีล มีความเพียร อบรมจิตให้บริสุทธิ์ ได้ เราก็สามารถลุถึงแดนสุขาวดีได้ที่นี่เดี๋ยวนี้ โดยไม่ต้องรอให้ตายลงเสียก่อนเพื่อไปอุบัติในแดนสุขาวดี เพราะ ทุกๆขณะเราก็ล้วนแล้วแต่ตายลงอยู่แล้ว แม้พระอมิตาภะ จะเป็นอะไรที่คล้ายๆ คติแบบพระเจ้าของศาสนาเทวนิยม แต่พระองค์ก็ไม่ได้ถูกมองจากชาวมหายานว่าพระองค์เป็นอะไรที่คล้ายๆ แบบนั้น พวกเขามองพระองค์คล้ายๆเป็นบุคลาธิษฐาน ของกฏบางอย่างของสากลจักรวาล นั้นคือ กฏของอิทัปปัจจยตา กฏของตถตา(ความเป็นเช่นนั้นเอง) แทนที่จะเป็นเสมือนพลังอำนาจบางอย่างเหนือธรรมชาติ แบบพระเจ้า ท่านติช นัท ฮันห์ พระเถระนิกายเซนร่วมสมัย ตีความสุขาวดีว่า ทุกๆครั้งที่เรามีสติตระหนักรู้ และ สามารถข้ามพ้นความทุกข์ ความเกลียดชัง ความเศร้าหมอง เมื่อนั้นเราก็ได้สัมผัสกับแดนสุขาวดีแล้ว ความสุขสงบ ที่เกิดจากการมีสติระลึกรู้ถึงลมหายใจ ในปัจจุบันขณะ นั้นแหละ คือ แดนสุขาวดี ท่านกล่าวว่า เมื่อเราค้นพบความสุขสงบสันติในจิตใจของเรา เราสามารถทำให้มิติดังกล่าวได้เติบโต แผ่กว้างออกไป ยังคนรอบข้าง สังคม ชุมชน  ประเทศ เมื่อนั้นเราก็ยกแดนสุขาวดี มาอยู่ ณ โลกจริงๆ ที่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ อย่างเป็นรูปธรรม ในทัศนะของท่านนัท ฮันห์  สุขาวดีจึงเป็นอะไรที่มากไปกว่า แค่ท่องบ่น และ รอคอย ท่านกล่าวว่า เราทุกคน มีเมล็ดพันธ์แห่งพระอมิตาภะ , พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ,พระโพธิสัตว์มหาสถามปราปต์ อยู่ในตัวเรานั้นคือ ความเมตตากรุณา และ ความต้องการที่จะสร้างสันติสุขให้กับผู้อื่น เราบรรลุถึงสุขาวดีอยู่แล้ว หรือ อยู่ในสุขาวดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาหรือรอหลังเราตาย เราเพียงแต่ต้องเรียนรู้ที่จะกลับมาสัมผัสความจริงแท้ที่มีอยู่ในตัวเอง ตระหนักรู้ตัวเรา (ผ่านการเจริญสติ) ก็แค่นั้น
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...