ประชาชนกับการละเมิดลิขสิทธิ์ /อ้วน อารีวรรณ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
24 สิงหาคม 2553 13:41 น
jatung_32@yahoo.com
“สิทธิคืออำนาจอันชอบธรรม ที่บุคคลย่อมพึงมีพึงได้ โดยไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นและสามารถใช้สิทธิของตนเองยันกับบุคคลอื่น เพื่อรักษาผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของตนเองไว้ได้ โดยมีกฎหมายได้บัญญัติรับรองถึงสิทธิของบุคคลไว้ด้วย”
ในส่วนของลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็น “สิทธิ” ประเภทหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติรับรองว่า เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของมนุษย์ เนื่องจากเป็นงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาได้จากภูมิปัญญาของตนล้วนๆ
กฎหมายลิขสิทธิ์จึงมีหน้าที่หลักในการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์จากการหาประโยชน์ที่ไม่ชอบของบุคคลอื่น เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์งานจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการที่ตนเองได้ใช้ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะ กำลังกาย กำลังใจ และระยะเวลาเนิ่นนานในการสร้างสรรค์งานของตนเองอย่างเต็มที่ขึ้นมา
เมื่อ “ลิขสิทธิ์”เป็นสิทธิทางทรัพย์สินประเภทหนึ่ง ที่เมื่อบุคคลใดได้มาซึ่งลิขสิทธิ์แล้ว บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดไว้ โดยในมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้กำหนดขอบเขตของสิทธิทางทรัพย์สินนี้ ให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ดังต่อไปนี้
ให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่ผู้เดียว ในการ
1. ทำซ้ำหรือดัดแปลง
2. เผยแพร่ต่อสาธารณชน
3. ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์หรือสิ่งบันทึกเสียง
4. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
5. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม(1) (2) หรือ (3) โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้
การพิจารณาว่าเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง (5) จะเป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
และนอกจากนี้ กฎหมายยังได้บัญญัติถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ ไว้ในมาตรา 27 ดังนี้
การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 15 ที่ได้กล่าวถึงแล้ว ในทาง
1. ทำซ้ำหรือดัดแปลง
2. เผยแพร่ต่อสาธารณชน
"ให้ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์”
ซึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปมักละเมิดลิขสิทธิ์ คือการที่ไม่ทราบในนิยามของคำเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น “ทำซ้ำ”, “ดัดแปลง” และ “เผยแพร่ต่อสาธารณชน” ว่ามีความหมายครอบคลุมอย่างใดบ้าง ส่งผลให้เกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์กันเยอะมาก
ทำซ้ำ หมายความว่า คัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใดๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพ จากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หมายความถึง คัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ดัดแปลง หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
งานเผยแพร่ต่อสาธารณชน หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น
ด้วยเหตุที่การละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นได้ง่ายเช่นนี้เอง ย่อมส่งผลให้ซาเล้ง คนหาเช้ากินค่ำ สามารถกลายเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดยเฉพาะบทบัญญัติมาตรา 69 โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากมาตรา 69 ได้บัญญัติว่า
“ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
เมื่อข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนในคดี ได้ทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และยื่นส่งสำนวนคดีต่อพนักงานอัยการ เพื่อให้ฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยเป็นการกระทำเพื่อการค้า ดังที่ปรากฏเป็นข่าวดังในสื่อต่างๆ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้กระทำความผิดได้รับสารภาพว่า นำซีดีมาวางขายจริงศาลต้องลงโทษภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ไม่สามารถลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลให้กระทำเช่นนั้นได้ จึงต้องปรับผู้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุดของค่าปรับตามที่กฎหมายบัญญัติ
เนื่องจากในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 71 ได้บัญญัติหลักการสำคัญของหน้าที่ของชนชาวไทยว่า
“บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย”
ดังนั้นหากเราเห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายใด มีบทลงโทษที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ทำให้รู้สึกว่า “เป็นธรรม” อย่างแท้จริง เราก็ควรต้องกลับไปแก้ไขที่เนื้อหาของกฎหมายนั้นแทนค่ะ
http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9530000117798.