Dialouge series : ไดอาล็อค ....ดอกอะไร หลังจากประชุมกับพี่ๆที่ออฟฟิคของเสี่ยวอีโอตู๋ แล้วเราก็มาตั้งวงทาน
กลางวันที่ร้านส้มตำไฮโซ (ไผ่เรียกว่าร้านส้มตำไฮโซเพราะว่ามันอยู่ที่ตลาด
บ่องมาเช่ ติดแอร์เย็นสบาย และส้มตำแซบหลาย) ระหว่างขับรถกลับบ้านไผ่
ก็คิดว่าวันนี้จะกลับมาเขียน blog ดีกว่า แต่ว่าจะเขียนเรื่อง
อะไรดีนะ เพราะวันนี้พี่ๆทั้งหลายจุดประกายความคิดของไผ่เหลือเกิน
ไม่น่าเชื่อว่าการที่พวกเราทำ “ดอกอะไร ... ไดอาล็อค” กันทุกวันเสาร์
ช่วยพัฒนาความรู้ด้าน Hr ของไผ่เป็นอย่างมาก ซึ่งที่จริงการที่เรามาประชุม ระดมความคิดกันทุกๆวันเสาร์ ไผ่ก็ไม่ทราบหรอกนะคะว่าจะ
เรียกว่าไดอาล็อคได้มั้ย แต่สำหรับไผ่ คิดว่าเป็นเพราะในวงที่พูดคุยกัน
ไม่มีใครแย้งความคิดใคร ฟังความคิดเห็นของกันและกัน สนับสนุนความคิดเห็น และช่วยกันสรรสร้างความคิดดีๆ เพื่อให้งานของสมาคมออกมาดี และ ที่สำคัญทุกคนมาด้วยจิตอาสาจริงๆ ไม่มีเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะ สโลแกนของเราเน้นว่า
“เงินเราไม่เน้น เราเน้นเรื่องของกินของอร่อย” ดังนั้นแทบทุกอาทิตย์ พี่ CEO ตู๋ จะพาPower girl สาวสวยทั้ง 4 มาหม่ำของอร่อยๆ กันเกือบทุกอาทิตย์ โดยเฉพาะส้มตำ นี่เมนูหลัก พอมาถึงตรงนี้ ไผ่ก็เริ่มมีความสงสัยแล้วว่า คำว่า ไดอาล็อค มันคืออะไรกันแน่ ทุกท่านสงสัยเหมือนไผ่หรือไม่
ไอ้คำว่า ไดอาล็อค ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ที่จริงแล้วเรา
เข้าใจกันถูกต้องหรือเปล่า ไอ้ครั้นจะเขียนอธิบายเอง ความรู้ของไผ่ในเรื่องนี้
ก็มีแค่หางอึ่ง ไผ่เลยต้องไปพึ่งพาหนังสือที่ชั้นหนังสือ ซึ่งจะเป็นเรื่องไหนไป
ไม่ได้ ก็ต้องเป็นเรื่อง “ Dialogue : ความคิดลงสู่ใจ...ไหลเป็นปัญญา”
ของ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ นั่นเอง ก็เจ้าต้นตำรับหนิค่ะ ...
เอาล่ะค่ะมาเข้าสู่องค์ความรู้กันดีกว่า
อ.วรภัทร์ ท่านเขียนว่า ถ้าแปลตาม Wikipedia จะหมายถึง
การพูดคุยกันระหว่างคนสองคน หรือเป็นกลุ่ม เป็นการเข้าใจถูก
แต่ยังถูกไม่หมด เพราะ Dialogue เป็นอะไรที่ มากกว่า แค่คำว่า
“
คุยกัน” แต่รวมไปถึง
การฟังเชิงลึก ฟังแบบองค์รวม ฟังแบบไม่มีอคติ ไม่มีลำเอียงเป็นการฟังแบบ proactive คือไม่รีบร้อนสวนกลับ ไม่รีบร้อนตัดสินใจ ไม่รีบร้อนพิพากษา (เขายังเล่าไม่จบ...ก็ประณามเขาแล้ว)
การค้นพบตัวเอง การเข้าใจตนเอง การสะท้อนให้เห็นตัวตนของเรา
การเข้าใจซึ่งกันและกัน เห็นสันดาน เห็นพฤติกรรมเห็นความกลัวของผู้คน
การชำระปมต่างๆ ที่โดนปนเปื้อน เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่วงจรการเรียนรู้ เมื่อเราคุย เราฟังเป็นแล้ว เราก็จะเปิดใจเปิดพลังความตั้งใจ กล้าที่จะทดลอง กล้าที่จะค้นพบ กล้าที่จะสำรวจ กล้าที่จะทำดีต่อไป
การได้เสริมกำลังใจให้กัน การได้ความรู้สึกร่วม... รู้สึกดีๆ รู้สึกว่าเรามีคนที่เข้าใจเรา ได้คำพูดที่ช่วย หล่อเลี้ยง พลังในการทำงานต่อไป
การได้จุดประกายความคิดให้กันและกัน ต่อยอดความคิด แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ ... “อืม คิดออกแล้ว” “ ใช่เลย มันต้องอย่างนี้” คำพูดต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังจากวง Dialogue จะฟังอยู่ในตัว จะตกผลึก บ่มเพาะ และในยามที่จำเป็น จะพบว่า คำพูด คำเตือน คำหล่อเลี้ยงใจของเพื่อนๆ ในวง Dialogue จะผูดขึ้นมา แนะนำ กระตุ้น มาทำให้เราสามารถ เฉลียวใจ เอะใจ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ท่าน อ.วรภัทร์ ได้กล่าวในหนังสือว่า Dialogue เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน จะทำมั่วๆ แบบเชิญวิทยากรมาทำ workshop สองหรือ สามวัน คงไม่ได้ผลอะไร บ่อยครั้งกลับเป็นผลร้าย เพราะผู้บริหารหลายท่าน
ปิดหู ปิดตา และ ปิดใจ มีเกราะป้องกันตัว Dialogue เป็นเครื่องมือทรงพลัง ที่ต้องฝึกซ้อม ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ แค่อ่าน แค่ฟัง หรือเข้า workshop ครั้ง สองครั้งไม่ได้ หากแต่ต้องหาโอกาสตั้งวงเล่าเร้าพลัง
Dialogue : Modern Management Tool for Sustainable Development
เป็นยังไงกันบ้างค่ะ สำหรับความหมายของคำว่า ไดอาล็อค หรือ
ดอกอะไร ของดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ คงจะทำให้ทุกท่านเข้าใจบ้าง
จากความหมายดังกล่าวข้างต้น ไผ่มองยังไงวงสนทนาของไผ่ก็เป็น
วงดอกอะไรแน่ๆ ค่ะ อยู่ว่าในแต่ละเสาร์ ท่านพี่ตู๋ จะนำดอกอะไรมาให้
เราพูดคุยกัน .... ไหนๆก็พูดถึงเรื่อง ไดอาล็อคแล้ว ก็ทำให้นึกถึงการทำ
ไดอาล็อค ของที่ทำงาน ที่กฟน.มีการนำเครื่องมือนี้มาทำเพื่อให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งทำให้นึกถึงคำพูดของ อ.วรภัทร์ เลยว่า “Dialogue เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน จะทำมั่วๆ แบบเชิญวิทยากรมาทำ workshop สองหรือ สามวัน คงไม่ได้ผลอะไร” หลังจากไผ่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้มา 2 ปี ทำให้ไผ่ทราบว่า Key success ที่สำคัญ คือ ต้องสื่อสารให้คนในวงสนทนา เข้าใจว่า ไดอาล็อค คืออะไร ทำไปเพื่ออะไร และ คนที่มีหน้าที่เป็น Facilitator จะต้องมีทักษะด้าน Dialogue ไม่อย่างนั้น เมื่อเราจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากกิจกรรมนี้เลย
การทำ Dialogue โดยผู้เข้าร่วมวงไม่เข้าใจว่า Dialogue คืออะไร มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร ทำไปทำไม เขาบอกให้เข้ามาพูดก็มาพูด มีไมค์
อยู่ตรงกลางเวียนให้ครบพูดให้จบ ก็ถือว่ากิจกรรมสำเร็จแล้วเท่านั้นหรือ อ้าว !!! ถ้าเป็นแบบนี้ แล้วเราได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนี้ล่ะ ไผ่เคยคิด หลังจากไปนั่งในวง Dialogue ของที่ทำงาน แล้วฟังแต่ละท่านพูดถึงหัวข้อที่ให้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น บางคนก็พูดตรง บางคนก็ไม่ตรง แต่พอมาทบทวนหัวข้อที่รวมกันเป็น Dialogue ตามความหมายของ อ.วรภัทร์แล้ว ถ้าเราจะไม่ได้ไอเดียในเรื่องนั้น แต่เราก็จะได้เห็นความคิดส่วนลึกในใจ
ของเขา ถ้าเจ้านายของเขาได้ฟังแล้วคิดตามว่าแต่ละคนคิดอย่างไร ก็จะสามารถนำไปพัฒนาในเรื่องการทำงานได้เลยล่ะค่ะ อิอิ คราวนี้ไผ่ก็เข้าใจแล้วว่า บางทีการทำ Dialogue ก็ต้องปล่อยให้ไหลไปบ้าง
พอพูดถึงเรื่อง Dialogue ก็ทำให้นึกถึง เรื่อง ทฤษฎีตัวยู ของ อ. C. Otto Scharmer ซึ่ง อ.วรภัทร์ ได้กรุณาอธิบายโดยสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับ Dialogue ดังนี้ การผ่อนอารมณ์ ความรู้สึก ของเราลงมาสู่คลื่นสมองชิล ๆ สบาย ๆ การผ่อนแบบนี้ คือ ขาลงของตัวอักษร U นั่นเอง (ขาซ้ายของตัว U) การจะผ่อนลงได้ ต้อง Open mind เปิดสมอง กล้ารับแนวคิดใหม่ ๆ โดยพวกที่ลงตามขาซ้ายของตัว U ได้ คือ ผู้ที่ดีดความคิดพิพากษา ความคิดอคติ แบ่งชั้นวรรณะ ออกไป คือ พวกที่ห้อยแขวน เสียงภายในของตน ซึ่งมี 3 ตัว ใน 3 ระยะ ได้แก่
(1) เสียงภายในที่ชอบตำหนิ ต่อว่า ตัดสิน กะเกณฑ์ ให้เกรด ให้คะแนน เช่น “คนนี้เรียนไม่เก่ง” “คนนี้ไม่น่าเชื่อถือ” “แกโง่” “แกเคยทำผิดมาก่อน” ฯลฯ เมื่อดีดความคิด หรือ เสียงภายในที่เป็นตัวตัดสินออกไปแล้ว เราจะเปิดความคิด ได้เจออะไรใหม่ ๆ ค้นพบ ความโชคดีก็เริ่มจะตามมา หรือจะเรียกว่า เมื่อสติมาปัญญาเกิด
(2) เสียงภายในตัวต่อมาที่จะต้องเจอต่อจากตัวแรก คือ เสียงแห่งความรังเกียจ เป็นความคิดที่รังเกียจคนอื่น รักแบบมีเงื่อนไข เราจะกลัว ระแวง ยังคงคิดแบบ “ตั้งแง่” “ข้อแม้” เสียงนี้เป็นอุปสรรคอย่างมากในการทำจิตใจให้สงบ เป็นตัวการที่ทำให้เราปิดใจ ไม่เปิดใจ เป็นผู้บริหารใจแคบ ใจดำ เห็นแก่ตัว ถ้าเราดีดเสียงแห่งความรังเกียจนี้ออกไปได้ เราก็จะลงลึกไปตามขาซ้ายของตัว U ได้มากขึ้น
(3) เสียงภายในแห่งความกลัว เป็นตัวขัดขวางที่จะไม่ให้เรา
จิตสงบ เกิดปัญญา เรากลัวลึกๆ รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่กล้าเสี่ยง
ไม่บริหารความเสี่ยง ที่ออกจากความเคยชิน ออกจากความเชื่อเดิมๆ ดังนั้น เราต้องเปิดพลังใจของเราออกมา กล้าคิด ก็กล้าทำ
เพื่อให้ลงไปถึงก้นของตัว U เราคงต้องปล่อยวาง ห้อยแขวนความคิดต่างๆ ผ่านด่าน อุปสรรคจากเสียงภายในทั้ง 3 นี้ให้ได้ก่อน จนกระทั่งเราจะมาอยู่ที่ก้นตัว U จิตใจของเราสงบ โล่ง โปร่งสบาย
มีสติ ตื่นรู้อยู่เสมอ
เป็นยังไงบ้างค่ะเรื่องของดอกอะไร อ่านแล้วเริ่มจะสนุกใช่มั้ยค่ะ
คราวต่อไป เราลองมาดูกันว่า ขั้นตอนการทำ ไดอาล็อคนั้นเป็นอย่างไร
เผื่อผู้ที่เข้ามาอ่านสนใจ จะได้ลองไปปฏิบัติกัน เพราะว่า เจ้าดอกอะไร
มาอ่าน โดยไม่ฝึกฝน มันก็จะไม่เกิดเจ้าค่ะ ต้องลงมือปฏิบัติ....
ที่มา : Dialogue : ความคิดลงสู่ใจ...ไหลเป็นปัญญา ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ
http://www.oknation.net/blog/nongpai/2009/10/07/entry-1