ล่ามองค์ทะไล ลามะ “พระพุทธเจ้าในตัวคุณ”
แม้ในเทศกาลศิลปวัฒนธรรมทิเบตเมี่อเร็วๆ นี้ น้องสาวขององค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบตจะไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมงานวัฒนธรรมในเมืองไทยได้ แต่คราวนี้ Geshe Damdul Numgyal ล่ามองค์ทะไล ลามะ มีโอกาสเดินทางมาบรรยายธรรมในเมืองไทย
ท่านบวชเรียนตั้งแต่เรียนจบไฮสคูล และศึกษาพุทธปรัชญาตามแนววัชรยาน ท่านเป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่ทำงานเผยแพร่พุทธศาสนาวัชรยาน และทำงานให้องค์ทะไล ลามะ ท่านมีโอกาสพบปะคนจากทั่วโลกที่เดินทางไปที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย
การเดินทางมาคราวนี้ นอกจากบรรยายธรรม ยังนำปฏิบัติภาวนาแบบทิเบต ท่านบอกว่า พระพุทธเจ้ากล่าวว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางในการเข้าถึงความสุขคือ อวิชชาหรือความไม่รู้
“ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ล้วนเกิดจากความไม่รู้ทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง หากห้องนี้มีแต่ความมืด แล้วคุณอยากอ่านหนังสือ ก็ต้องมีแสงสว่าง ดังนั้นคุณต้องเริ่มต้นจุดเทียน เพื่อนำแสงสว่างเข้ามา ถ้าเราประจักษ์เรื่องนี้ เราต้องเริ่มต้นที่จะให้มีแสงสว่างในปัญญา ความมืดก็จะหายไป
หนทางที่จะหลุดพ้นก็คือ การบ่มเพาะแสงสว่างแห่งปัญญา เราต้องศึกษาเรื่องใกล้ตัวเพื่อที่จะพบความสุขที่แท้จริง พระพุทธเจ้ากล่าวว่า จงนำถ้อยคำของท่านไปปฏิบัติเถอะ อย่ามานับถือหรือศรัทธาในตัวท่าน ขอให้ผู้ปฏิบัติได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง”
ไม่ว่าพุทธนิกายใดก็ตาม ท่านชี้ว่าต้องแสวงหาแก่นแท้ของพุทธะให้เจอ ชาวพุทธต้องตั้งคำถาม ไม่ใช่เชื่อเพราะการบอกต่อ สิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ค้นหาก็คือ ความจริงแท้
“ไอน์สไตน์บอกว่า ศาสนาที่ก้าวไปพร้อมๆ กับวิทยาศาสตร์ก็คือ พุทธศาสนา หลายปีที่อาตมาได้ศึกษาพุทธปรัชญา อาตมาสนใจสิ่งที่ไอน์สไตน์กล่าวเขาพูดถึงทฤษฎีสัมพันธภาพ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของพื้นที่และเวลา”
ท่านยกตัวอย่างเรื่องความสัมพันธ์ต่างเวลาต่างสถานที่ของคนสองคน คนหนึ่งขับยานอวกาศขึ้นไปนอกโลกใช้เวลา ๑๐ นาที ส่วนคนบนโลกที่รอคอยใช้เวลา ๓๐ ปี ทำไมเวลาของทั้งสองแตกต่างกัน
"หลายคนอาจคิดว่า เรื่องนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเราคิดถึงเวลาที่แน่นอนตายตัว ไม่ได้มองในแง่ทฤษฎีสัมพันธภาพ ในมุมพุทธไม่มีสิ่งใดตายตัว ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน พระพุทธเจ้าบอกว่า ทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์เกิดขึ้นจากอวิชชา มนุษย์คิดว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องตายตัวและแน่นอน พระพุทธเจ้าจึงให้เรามองสภาวะความเป็นจริงที่เกิดขึ้น อย่ามองตายตัวว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ให้มองอย่างเป็นเหตุปัจจัยมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ซึ่งเป็นจุดร่วมของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่”
นอกจากการอธิบายพุทธตามแนวทางทฤษฎีสัมพันธภาพแล้ว ท่านยังอธิบายตามแนวควอนตัมฟิสิกส์อีกว่า ตามหลักของทฤษฎีนี้ ก็คือภาวะของสิ่งที่สังเกตกับตัวผู้สังเกต
“เรื่องควอนตัมมีจุดร่วมกับสิ่งที่ศาสนาพุทธกล่าว คือ สิ่งที่เราสังเกตเห็นมีความสัมพันธ์กับวิธีคิด ในศาสนาพุทธทุกอย่างที่เป็นไปและเกิดขึ้นในชีวิตมาจากจิตใจของเราทั้งสิ้น ยกตัวอย่างตอนที่คุณมองอาตมา คุณคิดว่าอาตมาไม่เกี่ยวข้องกับคุณเลย ซึ่งเป็นการมองที่ผิดในแง่มุมศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าได้กล่าวไว้ว่า ความทุกข์ทั้งมวลที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ไม่ว่าความโกรธ ความเกลียด ความชังมาจากวิธีคิดของคุณทั้งนั้น แต่เมื่อใดที่คุณคิดว่าสิ่งนั้นเป็นเช่นนั้นเอง คุณมองตามความเป็นจริง ความทุกข์ทรมานก็จะหายไป”
จากเหตุผลดังกล่าว ท่านบอกว่า ภาวะพุทธะมีอยู่ในทุกคน เราสามารถเป็นพระพุทธเจ้าด้วยตัวของเราเอง
ระหว่างที่ล่ามขององค์ทะไล ลามะบรรยาย ท่านย้ำว่า ถ้ามีคำถามสามารถขัดจังหวะการพูดคุยได้ตลอดเวลา
ท่านย้อนถามว่า ทำไมจิตเดิมแท้จึงมีความบริสุทธิ์ ลองนึกถึงธรรมชาติของน้ำ ทำไมน้ำสกปรกสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำสะอาดโดยการเติมสารเคมีบางอย่างลงไป แต่ทำไมถ่านหินสีดำเปลี่ยนเป็นสีขาวไม่ได้
“เพราะธรรมชาติเดิมแท้ของน้ำ ไม่ใช่สิ่งสกปรก จึงแยกสิ่งปนเปื้อนออกจากน้ำได้ แต่สภาพเดิมแท้ของถ่านหิน มีเนื้ออะตอมเป็นสีดำ ดังนั้นธรรมชาติเดิมแท้ของจิต เป็นจิตใจของพุทธะ เป็นความบริสุทธิ์ สิ่งสำคัญคือ เราต้องแยกภาวะด้านลบหรือกิเลสออกไป เพื่อพบกับภาวะเดิมแท้”
อย่างไรก็ตาม ท่านย้ำว่าต้องมีความเพียรพยายามในการปฏิบัติ คุณสามารถกลายเป็นพระพุทธเจ้าด้วยตัวของคุณเอง ศาสนาพุทธจึงต่างจากศาสนาอื่นที่ต้องบูชาและสักการะพระพุทธเจ้า แต่การสักการะไม่ได้เปลี่ยนให้คุณเป็นพระพุทธเจ้าด้วยตัวเอง
“เมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะจะประเสริฐหรืองดงามขึ้นอยู่กับการบ่มเพาะของคุณเอง จึงมีคำถามอีกว่า ต้องใช้ความพยายามแค่ไหน แล้วปัญญาที่จะให้เราได้เป็นพระพุทธเจ้าคือ ปัญญาแบบไหน”
ท่านบอกว่า ต้องเป็นปัญญาหรือความฉลาดที่จะเห็นหรือรู้ได้ว่า ทุกๆ สรรพสิ่งบนโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน แม้ความทุกข์หรือความสุขในตัวผู้อื่น ก็มีความสัมพันธ์กับคุณ
“ลองจินตนาการเรื่องราวของคุณแม่สองคนนี้...แม่คนหนึ่งมีลูกคนเดียว แม่อีกคนมีลูกสิบคน แม่คนแรกทำงานแค่สองสามชั่วโมงก็สามารถเลี้ยงดูลูกได้ แต่แม่คนที่สองต้องทำงานหนัก มุ่งมั่นกระตือรือร้นมากกว่า เพราะเธอมีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่กว่า
แต่ปรากฏว่า แม่คนที่สองประสบความสำเร็จมากกว่า เมื่อลูกทั้งสิบเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วนำของกำนัลสิบอย่างมาให้ เธอรู้สึกมีความสุขมาก
“ขณะที่แม่คนแรกได้รับความเบิกบานอย่างเดียวจากลูกคนเดียว ซึ่งเรื่องนี้ก็เหมือนคุณมองการหลุดพ้นด้วยนิพพานลำพังตัวคุณเอง คุณก็จะได้รับเบิกบานเฉพาะตัวคุณเท่านั้น แต่ถ้าคุณคิดว่าจะมอบความสุขให้สรรพชีวิตทั้งหมดทั้งปวง คุณก็จะได้รับความสุขไม่มีที่สิ้นสุด เราเรียกว่า ภาวะโพธิจิต เป็นสภาวะความรักแบบไร้เงื่อนไขกับทุกๆ สิ่งที่ดำรงอยู่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ก็จะให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน”
ท่านอธิบายต่อว่า ไม่มีจิตใจใดจะงดงามมากไปกว่าภาวะแห่งโพธิจิต เพราะต้องการช่วยเหลือทุกๆ ชีวิตอย่างไร้เงื่อนไข และด้วยแรงปรารถนาที่จะช่วยเหลือสรรพชีวิตให้หลุดพ้น ประกอบกับปัญญาหรือความรู้อย่างลึกซึ้ง
"คุณภาพทั้งสองสิ่ง ทำให้เรามีความงดงามแห่งพุทธะ"
เรื่อง : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
ที่มา
http://www.komchadluek.net/detail/20100315/52093/ล่ามองค์ทะไลลามะ“พระพุทธเจ้าในตัวคุณ”.html
http://skyd.org/site/view.php?group=4&aid=758