ปริเฉทที่ ๑๐
สุคันโธปจิตพุทธวรรค
ลำดับนั้นแล พระสารีบุตรเถรเจ้า ได้บังเกิดความปริวิตกขึ้นในใจว่าบัดนี้เป็นกาลใกล้เพลแล้ว ก็บรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลายนี้ จักแสวงอาหารบริโภคได้ ณ ที่ใดหนอ ? ครั้งนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ได้ทราบความปริวิตกของพระสารีบุตรแล้ว จึงกล่าวกับพระสารีบุตรว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร พระพุทธองค์ตรัสวิโมกขธรรม ๘ ซึ่งพระคุณรับปฏิบัติตาม ไฉนพระคุณจึงมาจำนงหวังต่อการขบฉันในการสดับพระสัทธรรมกระนี้เล่า ? หากพระคุณปรารถนาจักขบฉันอาหารไซร้ ก็ขอนิมนต์รอสักครู่หนึ่ง กระผมจักนำภัตอันไม่เคยมีมาก่อนถวายแด่พระคุณ.”
ครั้นแล้ว วิมลเกียรติอุบาสกจึงเข้าสู่ฌานสมาบัติ บันดาลด้วยอิทธาภิสังขาร สำแดงโลกธาตุเบื้องบน ให้ชนทั้งหลาย ณ ที่นั่นเห็นกล่าวคือ ณ ทิสาภาคเบื้องบนผ่านพุทธเกษตรอันมีจำนวนเท่าเมล็ดทรายในคงคานที ๔๒ นทีรวมกัน มีโลกธาตุแห่งหนึ่งนามว่า พหุสุคันธพุทธเกษตร ในโลกธาตุนั้น มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สุคันโธปจิตตถาคต ยังดำรงพระชนม์ประทับแสดงพระธรรมบรรยายอยู่ ณ บัดนี้ อันว่าสุคันธะแห่งพุทธเกษตรนั้น นับว่าเป็นยอดเยี่ยมยิ่งกว่าบรรดากลิ่นหอมในพุทธเกษตรอื่นทั่วทศทิศ ยิ่งกว่ากลิ่นหอมทั้งในมนุษยโลกแลเทวโลกอีกด้วย อนึ่งในพหุสุคันธโลกธาตุนั้น แม้แต่นามว่าพระอรหันตสาวกก็ดี ฤๅนามพระปัจเจกโพธิเจ้าก็ดี จักมีอยู่ก็หามิได้ คงมีแต่บริษัทแห่งพระมหาโพธิสัตว์อันบริสุทธิ์หมดจด แลพระตถาคตเจ้าพระองค์นั้น ย่อมตรัสพระสัทธรรมในหมู่พระโพธิสัตว์เหล่านี้ อนึ่ง สรรพสิ่ง ณ พุทธเกษตรนั้น แต่ละล้วนสำเร็จด้วยกลิ่นหอมอบอวลมณฑิราลัยสถานทิพย์ ก็ปรุงด้วยกลิ่นหอมระรวยรื่น แลพสุธาดลที่เดินจงกรมชังฆวิหารเล่าก็เป็นสุคันปฐพี อนึ่ง มีทิพยวโนทยานอันประดับด้วยสุคันธชาติหอมเฟื้องฟุ้ง แลทิพยสุทธิโภชน์ แห่งนิกรชนในพุทธเกษตรนั้น ก็มีสุคันธรสอันขจรขจายไปในโลกานุโลกไม่มีประมาณทั่วทศทิศกาลบัดนั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พร้อมด้วยพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย กำลังประทับเสวยภัตตาหาร มีเหล่าเทพนิกรล้วนนามว่า สุคันธาลงกตเทพทุกองค์มีจิตปณิฌานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นผู้กระทำการน้อมถวายภัตตาหารแด่พระตถาคตเจ้ากับทั้งพระโพธิสัตว์เหล่านั้น ก็ทิพยประภาพเป็นไปดังกล่าวนี้ ย่อมปรากฏแก่บริษัททั้งปวงบรรดาที่อยู่ ณ คฤหาสน์ของท่านวิมลเกียรติโดยต่างได้ทัศนาเห็นกันทั่วทุกรูปนามแล.
ครั้งนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ได้กล่าวกับพระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในคฤหาสน์ของท่านว่า
“ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย จักมีท่านผู้ใดฤๅไม่ ที่อาสาไปทูลขอทิพยสุทธาโภชน์จากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ?”
แต่ด้วยอานุภาพของ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ บันดาลให้ทุกผู้ในที่ประชุมนั้น พากันนิ่งเงียบ วิมลเกียรติอุบาสกจึงกล่าวว่า
“น่าละอายยิ่งนัก ที่บริษัทหมู่ใหญ่เห็นปานนี้ ปราศจากผู้ที่สามารถอาจรับอาสาไปนำทิพยสุทธาโภชน์ ณ พุทธเกษตรนั้นมาได้.”
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ จึงท้วงขึ้นว่า
“ดูก่อนคฤหบดี พระพุทธองค์ตรัสไว้แล้วมิใช่หรือว่า อย่าพึงดูแคลนบุคคลผู้เริ่มศึกษา ?”
ลำดับนั้นแล ท่านวิมลเกียรติมิได้ลุกขึ้นจากอาสนะ เฉพาะหน้าชนทั้งหลายนั้น ท่านได้นิรมิตรูปพระโพธิสัตว์ขึ้นองค์หนึ่ง ประกอบด้วยศุภลักษณ์ผุดผ่องอลังการ พร้อมด้วยเตชพละอันพิเศษอุดมปรากฏขึ้นมาในท่ามกลางธรรมสภานั้น และแล้วคฤหบดีผู้นั้นจึงสั่งพับพระโพธิสัตว์นิรมิตนั้นว่า
“ท่านจะไปสู่โลกธาตุ ณ ทิศาภาคเบื้องบน ผ่านโลกธาตุจำนวนเท่าเมล็ดทรายใน ๔๒ สายคงคานทีรวมกัน มีโลกธาตุหนึ่งนามว่า พหุสุคันธพุทธเกษตร มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สุคันโธปจิตพุทธะ พระองค์พร้อมทั้งหมู่พระโพธิสัตว์ กำลังเสวยภัตตาหารอยู่ ณ บัดนี้ท่านจงไปเฝ้าพระตถาคตเจ้าพระองค์นั้น จงกราบทูลตามคำของเราว่า ข้าพระองค์วิมลเกียรติ ขอถวายอภิวาทน์แด่พระบาทบงกชของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า มีพระอิริยาบถเป็นไปด้วยความผาสุกอยู่ฤๅ ? ทรงมีพระโรคน้อย มีความถูกเบียดเบียนเพราะสังขารทุกข์น้อยอยู่ฤๅ ? ทรงมีพระอนามัยแข็งแรงกระปรี้กระเปร่าดีฤๅ ? ข้าพระองค์มีความปรารถนามาทูลขอทิพยสุทธาโภชน์ อันเหลือจากเสวยของพระองค์ เพื่อประสงค์นำไปบำเพ็ญพุทธกรณียกิจยังสหโลชกธาตุกระทำให้บุคคลผู้ยินดีในหินธรรมได้บริโภคอาหารนี้แล้ว บังเกิดจิตปณิธานมุ่งต่อพระโพธิญาณ ยังมหาปฏิปทา (สู่พุทธภูมิ) ให้แพร่หลายไพบูลย์ อนึ่ง เพื่อยังพระเกียรติคุณแห่งพระสุคตเจ้าให้ระลือลือเลื่อง ณ สหโลกธาตุนั้นอีกโสดหนึ่งด้วย.”
ครั้งนั้นแล พระโพธิสัตว์นิรมิต ณ ที่ประชุมนั้น ได้สำแดงปาฏิหาริย์เหาะลอยขึ้นไปสู่ทิศาภาคเบื้องบน เป็นที่แลเห็นกันตลอด เมื่อเหาะมาถึงพหุสุคันธพุทธเกษตร ได้ถวายอภิวาทน์พระบาทของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้าแล้ว ก็กราบทูลตามคำของท่านวิมลเกียรติว่า ฯลฯ.
ก็โดยสมัยนั้นแล บรรดาพระมหาบุรุษ ซึ่งสถิตอยู่ในพหุสุคันธโลกธาตุ ครั้นได้ยลเห็นพระโพธิสัตว์นิรมิตพระองค์นี้แล้ว ต่างก็พากันอัศจรรย์ จึงพากันกราบทูลถามพระสุคตเจ้าขึ้นว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านผู้นิรทุกข์นี้มาแต่อาคตสถานหนใดหนอ อนึ่ง สหโลกธาตุนั้นเล่า อยู่ใกล้ไกลจากแดนนี้ไปอีกเท่าไร และด้วยเหตุดังฤๅจึงชี่อว่าบุคคลผู้ยินดีในหินธรรม พระพุทธเจ้าข้า ?”
พระทศพล พระองค์นั้น จึงตรัสว่า
“จากที่นี้ไป ณ ทิศาภาคเบื้องต่ำ ผ่านโลกธาตุอันมีจำนวนดุจเมล็ดทรายในคงคานที ๔๒ นทีรวมกัน ยังมีโลกธาตุหนึ่งชื่อว่า สหโลกธาตุ มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระศากยมุนีพุทธะ ประทับแสดงพระสัทธรรมในท่ามกลางโลกซึ่งมีความเสื่อม ๕ ประการนั้น ทรงแสดงปฏิปทาให้แก่สัตว์ทั้งหลายผู้ยินดีในหินธรรม พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งชื่อว่า วิมลเกียรติ เขาผู้นี้ดำรงอยู่ในอจินไตยวิมุตติธรรม เป็นผู้กำลังกล่าวธรรมบรรยายแก่ชนทั้งหลายอยู่ ณ กาลบัดนี้ เขาเป็นผู้นิรมิตรูปพระโพธิสัตว์ดังกล่าวมายังโลกธาตุแห่งนี้ เขาได้กล่าวสดุดีเราผู้ตถาคต อีกทั้งสรรเสริญความอุดมวิเศษแห่งโลกธาตุนี้ด้วย เพื่อยังกุศลของพระโพธิสัตว์ที่อยู่ในธรรมสมาคมนั้นให้ทวีสมบูรณ์ขึ้น.”
เหล่าพระโพธิสัตว์ จึงพากันทูลถามอีกว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านวิมลเกียรติเป็นบุคคลชนิดใด จึงสามารถนิรมิตรูปเห็นปานนี้ กอปรทั้งมีกำลังแห่งคุณ ปราศจากความหวั่นหวาด มีอิทธิบาทถึงกระนี้ได้ พระพุทธเจ้าข้า ?”
พระสุคันโธปจิตพุทธเจ้า ตรัสว่า
“อันคุณธรรมแลอิทธานุภาพของอุบาสกนั้น ยิ่งใหญ่มโหฬารนักหนาแม้แต่ในโลกธาตุทั้งหลายทั่วทศทิศ เขาก็ได้ส่งรูปนิรมิตไปบำเพ็ญพุทธกรณียกิจต่าง ๆ เป็นอเนกประการ เพื่อหิตประโยชน์ของสรรพสัตว์.”
เมื่อ มีพระพุทธฎีกาดั่งนั้นแล้ว พระสุคันโธปจิตพุทธเจ้า จึงทรงประทานทิพยสุทธาโภชน์ ซึ่งบรรจุบาตรอยู่ในจำนวนมากอยู่เต็มให้แก่พระโพธิสัตว์นิรมิต (อาหารทั้งหมดก็รวมอยู่ในบาตรเพียงใบเดียว).
ครั้งนั้นแล พระโพธิสัตว์จำนวน ๙ ล้านองค์ที่อยู่ ณ ที่นั้น ก็พากันเปล่งเสียงขึ้นว่า
“พวกข้าพระองค์ ปรารถนาจักไปสู่สหโลกธาตุ เพื่อถวายสักการบูชาพระศากยมุนีพุทธเจ้า แลเยี่ยมเยือนท่านวิมลเกียรติกับทั้งหมู่พระโพธิสัตว์ในแดนนั้น พระพุทธเจ้าข้า.”
พระสุคันโธปจิตพุทธเจ้า จึงมีพุทธบรรหารว่า
“จงไปเถิด ! แต่จงรวมกลิ่นหอมในสรีรกายของพวกเธออย่าให้ขจรเฟื่องฟุ้ง จักเป็นเหตุให้สรรพสัตว์ในสหโลกธาตุผู้ได้สูดสุคันธารมณ์นี้แล้ว บังเกิดฉันทราคะต่อกลิ่นนั้นได้ อนึ่ง พึงสละทิพยกายของเธอไว้ก่อน อย่าให้บุคคลผู้แสวงพระโพธิญาณในแดนนั้น ทัศนาเข้าแล้วเกิดการเปรียบเทียบกับกายของตนเอง แล้วแลบังเกิดความละอายในกายของตนได้๑ อนึ่ง เธอทั้งหลายอย่าได้เกิดอวรณสัญญาดูแคลนต่อพระโพธิสัตว์เหล่านั้นว่า มีสรีระด้อยกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าโลกธาตุในทศทิศ ย่อมเปรียบด้วยความว่างเปล่า อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจักแสดงพระสัทธรรมโปรดปรานบรรดาผู้ยินดีต่อหินธรรม พระองค์ย่อมไม่สำแดงพุทธเกษตรของพระองค์ให้ให้บริสุทธิ์หมดจดวิเศษไปเสียเลยทีเดียว.”
เมื่อจบ พระดำรัสลง พระโพธิสัตว์นิรมิต ซึ่งถือเอาบาตรรทิพยสุทธาโภชน์พร้อมด้วยพระโพธิสัตว์ ๙ ล้านองค์ อาศัยพระพุทธาภินิหารกับทั้งอานุภาพของท่านวิมลเกียรติประกอบกัน ได้อันตรธานจากพหุสุคันธโลกธาตุ เพียงชั่วขณะเดียวก็มาปรากฏในคฤหาสน์ของท่านวิมลเกียรติคฤหบดี.”
ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ได้บันดาลให้เกิดสิงหาสนบัลลังก์ขึ้น ๙ ล้านที่ ด้วยอานุภาพแห่งฤทธิ์ แต่ละล้วนวิจิตรอลงกตดุจสิงหาสนบัลลังก์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว บรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่ขจรมาใหม่ จึงได้ขึ้นประทับบนอาสนะเหล่านั้น ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์นิรมิตได้นำบาตรอันเต็มเปี่ยมด้วยสุคันธโภชน์เข้าไปมอบให้แก่ท่านคฤหบดี แต่กลิ่นแห่งทิพยาหารนั้นได้กำจายไปทั่วเขตนครเวสาลี ตลอดจนอบอวลครอบงำไปทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุอีกด้วย บรรดาประชาชน มีสมณพราหมณ์ คฤหบดีทั้งหลายเป็นอาทิในกรุงเวสาลี ต่างได้สูดกลิ่นหอมอันเป็นทิพย์นี้แล้ว ทุก ๆ คนก็มีกายแลใจอันผมสุกสำราญยิ่ง ต่างสดุดีว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย.
ครั้งนั้น ประธานเจ้าลิจฉวี ผู้ชื่อว่าจันทรฉัตร พร้อมด้วยบริวาน ๘๔,๐๐๐ คน ได้ยุรยาตรมาสู่คฤหาสน์ของท่านวิมลเกียรติ แลเมื่อยลหมู่แห่งพระโพธิสัตว์จำนวนมากในคฤหาสน์นั้น พร้อมทั้งสิงหาสนบัลลังก์อันอลังการไพจิตรสูงตระหง่าน ก็บังเกิดความโสมนัสปรีดาพากันถวายภิวาทน์แต่พระโพธิสัตว์ กับทั้งพระอรหันตสาวกเหล่านั้นด้วยเศียรเกล้าแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง อนึ่ง ปวงภุมมเทพเจ้า อากาสเทพเจ้ากับทั้งเทพเจ้าในกามาพจรสวรรค์ก็ดี เทพเจ้าในรูปาพจรพรหมโลกก็ดี เมื่อได้สูดกลิ่นหอมดังกล่าวแล้ว ต่างก็มาสู่คฤหาสน์ของท่านวิมลเกียรติทั่วหน้ากันทุกองค์แล.
ลำดับนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี จึงกล่าวกับบรรดาพระอรหันตสาวก มีพระสารีบุตรเป็นต้นว่า
“ขอนิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายขบฉันจังหันนี้ ซึ่งเป็นอมฤตวิสุทธิสุคันธโภชน์แห่งองค์พระสุคตเจ้า เป็นกระยาหารอันอบรมสำเร็จมาจากพระมหากรุณาของพระพุทธองค์ แต่ขออาราธนาอย่าได้ขบฉันด้วยจิตที่มีภูมิขีดคั่นจำกัด๒ มิฉะนั้นแล้ว ก็มิอาจย่อยอาหารนี้ได้เลย.”
ครั้งนั้น มีพระสาวกบางรูปเกิดความปริวิตกว่า อาหารมีปริมาณเท่านี้ไหนเลยจักเพียงพอกับทุก ๆ คนในบริษัทหมู่ใหญ่เห็นปานนี้จักบริโภคโดนทั่วถึงกันได้ พระโพธิสัตว์นิรมิตทราบความปริวิตกนั้นแล้ว จึงกล่าวขึ้นว่า
“ขอท่านผู้เจริญ อย่าได้ทำคุณธรรมเพียงเล็กน้อย ปัญญาเพียงเล็กน้อยของภูมิพระสาวกมาหยั่ง
__________________________
๑. คือพระโพธิสัตว์ในพหุสุคันธโลก ล้วนเป็นทิพยกายผิดกับพระโพธิสัตว์ บุคคลในโลกของเรานี้เป็นแต่มนุษยกาย ซึ่งจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบ อันจะเป็นเหตุให้ผู้เพิ่งมุ่งพระโพธิญาณเกิดความขวยอายในภาวะของตน จึงตรัสให้มาโดยการสำแดงกายเป็นมนุษย์
๒. จิตที่ภูมิขีดคั่นจำกัด หมายถึงจิตที่ตั้งอยู่ในภูมิพระอรหันตสาวก ซึ่งในทัศนะของฝ่ายมหายานเห็นว่ายังแคบ ควรตั้งอยู่ในภูมิแห่งมหากรุณาบำเพ็ญโพธิจริยามุ่งพระพุทธภูมิดีกว่า.
ประมาณพระคุณาภินิหารบุญสัมภาราดิเรกอีกทั้งพระมหาปัญญาของพระตถาคตเจ้าเลย ถึงมาตรแม้นว่ากระแสชโลทกในห้วงมหาสมุทรทั้ง ๔ จักเหือดแห้งแล้วอันตรธานไป อันทิพยวิสุทธาหารนี้ก็บ่ได้กำจัดหมดสิ้น อนึ่ง ถ้งต่อให้สรรพนิกรชนบริโภคอาหารครุวนาดุจจอมไศลสุเมรุมาศ แลบริโภคอยู่ตลอดกัลป์หนึ่งก็ตาม กระนั้นก็ยังมิอาจยังปริมาณแห่งสุคันธโภชน์นี้ให้หมดสิ้นไปได้ ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่า ทิพยกระยาหารนี้เป็นอาหารส่วนเหลือของพระผู้บริบูรณ์ด้วยคุณมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อันปราศจากขอบเขตอันเป็นอนันตะนั่นเอง.”
โดยประการฉะนี้ อาหารเพียงบาตรเดียว จึงสามารถยังมหาชนที่มาสันนิบาตอิ่มหนำสำราญโดยทั่วถ้วนอย่างมหัศจรรย์ยิ่ง แต่ก็ยังม่อาหารปรากฏอยู่มิรู้หมด แลบรรดาพระโพธิสัตว์ก็ดี พระอรหันตสาวกก็ดี ทวยเทพก็ดี มนุษย์ทั้งหลายก็ดี ประดาที่ได้บริโภคสุคันธโภชน์นี้แล้วต่างก็มีสรีระอันผาสุกยิ่ง มีครุวนาดุจเดียวกับสรีระแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในสรรพโลกธาตุ อันประดับด้วยสุขารมณ์ฉะนั้น อนึ่ง ตามขุมขนแห่งชนผู้บริโภคภัตนั้น ก็มีกลิ่นขอมอบอวลออกมา ดุจกลิ่นหอมแห่งบรรดาพฤกษชาติลดาวัลย์ในพหุสุคันธโลกธาตุอันเดียวกัน.
ครั้งนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ได้ตั้งปุจฉาหมู่พระโพธิสัตว์แห่งพหุสุคันธเกษตรขึ้นว่า
“ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ผู้มีพระนามว่าพระสุคันโธปจิตตถาคตเจ้านั้น พระองค์แสดงพระธรรมบรรยายอย่างไรหนอแล ?”
พระโพธิสัตว์ทั้งนั้น จึงตอบเชลงพจน์ว่า
“อันพระสุคตเจ้าในโลกธาตุของเราทั้งหลายนั้น พระองค์มิได้อาศัยอักขรโวหารบัญญัติใด ๆ มาแสดงพระสัทธรรม แต่ทรงอาศัยสรรพสุคันธชาติเป็นปัจจัย ชักนำเทวาและมนุษย์ให้ตั้งอยู่ในสีลสมาจารวัตรนและพระโพธิสัตว์แต่ละองค์ก็ประทับนั่งอยู่ภายใต้ร่มฉายาของสุคันธพฤกษ์ลดาวัลย์ ครั้นได้สูดสุรภีจากพฤกษชาติเหล่านั้น พลันก็บรรลุภูมิสรวคุณครรภ์สมาบัติ อันผสู้ที่เข้าสู่สมาบัติดังกล่าวนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติทั้งปวงแห่งพระโพธิสัตว์ทีเดียว.”
ครั้นแล้ว หมู่พระโพธิสัตว์แห่งพหุสุคันธโลกธาตุ จึงมีปฏิปุจฉาท่านวิมลเกียรติว่า
“ดูก่อนท่านคฤหบดี อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธผู้มีพระนามว่า พระศากยมุนีตถาคตเจ้าในโลกธาตุนี้ พระองค์แสดงพระธรรมบรรยายอย่างไรหนอแล ?”
ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี จึงวิสัชนาว่า “สรรพสัตว์ในโลกธาตุแห่งนี้ มีอัชฌาสัยหยาบกระด้างขัดแข็งยากแก่การอบรมสั่งนอนนัก เหตุดังนั้น พระสุคตเจ้าพระองค์นั้น (หมายถึงพระศากยมุนีพระพุทธเจ้า) จึงต้องตรัสแสดงพจนารถซึ่งกล้าแข็ง เพื่อฝึกข่มสัตว์เหล่านั้นให้ราบคาบ จัดเป็นยถาปราธสาสนธรรม อาทิเช่น ตรัสเรื่องนิรยคติ ดิรัจฉานคติ เปรตคติ กับทั้งคติอันยากระกำลำบาก ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งบรรดาพาลชน ตรัสแสดงว่า นี้ชื่อว่ากายทุจริต นี้เป็นผลแห่งกายทุจริต นี้ชื่อว่าวจีทุจริต นี้เป็นผลแห่งวจีทุจริต นี้ชื่อว่ามโนทุจริตนี้เป็นผลแห่งมโนทุจริต นี้ชื่อว่าปาณาติบาต นี้เป็นผลแห่งปาณาติบาตนั้น นี้ชื่อว่าอทินนาทาน นี้เป็นผลแห่งอทินนาทานนั้น นี้ชื่อว่ากาเมสุมิจฉาจาร นี้เป็นผลแห่งกาเมสุมิจฉาจารนั้น นี้ชื่อว่ามุสาวาท นี้เป็นผลแห่งมุสาวาทนั้น นี้ชื่อว่าปิสุณาวาจา นี้เป็นผลแห่งปิสุณาวาจานั้น นี้ชื่อว่าผรุสวาจา นี้เป็นผลแห่งสัมผัปปลาปะ นี้เป็นผลแห่งสัมผัปปลาปะนั้น นี้ชื่อว่ามัจฉริยะ นี้เป็นผลแห่งมัจฉริยะนั้น นี้ชื่อว่าทุศีล นี้เป็นผลแห่งทุศีลนั้น นี้ชื่อว่าความกริ้วโกรธ นี้เป็นผลแห่งจิตวิกเขปะนั้น นี้ชื่อว่าความหลงนี้เป็นผลแห่งความหลงนั้น ฯลฯ นี้ชื่อว่าควรทำ นี้ชื่อว่าไม่ควรทำ นี้ชื่อว่าอันตราย นี้ชื่อว่าไม่อันตราย นี้ชื่อว่าอาบัติ นี้ชื่อว่าอนาบัติ นี้ชื่อว่าสุทธิ นี้ชื่อว่าอสุทธิ นี้ชื่อว่าอาสวะ นี้ชื่อว่าอนาสวะ นี้ชื่อว่ามิจฉาปฏิปทา นี้ชื่อว่าสัมมาปฏิปทา นี้ชื่อว่าสังขตธรรม นี้ชื่อว่าอสังขตธรรม นี้ชื่อว่าโลกิยะ นี่ชื่อว่านิรวาณะ ที่พระองค์แสดงดั่งนี้ ก็เนื่องมาแต่ว่าบุคคลผู้ยากแก่การฝึกสอนเหล่านั้นมีจิตอุปมาดุจวานรป่าหลุกหลิกไม่คงที่ ฉะนั้น จึงจำต้องมีอุบายโกศลวิธีนานัปการเพื่อข่มจิตนั้น จึงสามารถฝึกหัดให้สงบได้ ครุวนาดังนาเคนทรดุรงคชาติที่คึกคะนองดุร้ายมิยอมอยู่ในอำนาจก็จำต้องฝึกหัดบังคับด้วยวิธีลงขอ เฆี่ยนจนตีให้เจ็บปวดถึงกระดูก ภายหลังจึงเข็ดหลาบยอมเชื่องได้ฉันใด ในการที่จักฝึกตนขัดเหล่าสรรพสัตว์ที่มีอัชฌาสัยกล้าแข็งหยาบกระด้าง ก็จำต้องใช้พจนารถซึ่งเป็นยถาปราธสาสนะอบรมสั่งสอนให้สำเร็จตั้งอยู่ในกุศลธรรมฉันนั้น.”
บรรดาพระโพธิสัตว์แห่งพหุสุคันธโลกธาตุ ได้สดับถ้อยแถลงของอุบาสกวิมลเกียรติดั่งนี้แล้ว ต่างก็พากันเปล่งเสียงขึ้นว่า
“น่าอัศจรรย์นัก ในการที่พระศากยมุนีนราศภทศพลเจ้า ไม่ทรงสำแดงอิสรพละอันปราศจากของเขตของพระองค์ให้ปรากฏ กลับมาปรากฏพระองค์ในโลกธาตุอันยากเข็ญนี้ เพื่อโปรดสรรพสัตว์ อนึ่งแม้เหล่าเทพโพธิสัตว์ ณ แดนนี้ ก็ยอมตรากตรำเหนื่อยยาก ด้วยอาศัยมหากรุณาจิตอันไม่มีประมาณ มาถือสมภพ ณ พุทธเกษตรเหล่านี้ได้.”
ท่านวิมลเกียรติจึงกล่าวว่า
“ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ พระโพธิสัตว์ในโลกธาตุนี้ ย่อมมีพระมหากรุณาจิตอันมั่นคงไม่หวั่นไหวในปวงสัตว์ ดุจวจีสรรเสริญของท่านทั้งหลายแม่นแล้ว อนึ่ง ขอท่านผู้นิรทุกข์ทั้งปวง พึงทราบไว้ด้วยว่า พระโพธิสัตว์ในโลกธาตุนี้ แม้จักบำเพ็ญหิตานุหิตจริยาต่อสัตว์ทั้งหลายเพียงชาติเดียวก็ยังประเสริฐกว่าพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญโพธิจริยาในโลกธาตุอื่น นับด้วยร้อยด้วยพันกัลป์ทีเดียวหนา ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ ? ก็เพราะว่าในสหโลกธาตุนี้ มีความดีอยู่ ๑๐ ประการ ซึ่งหามิได้ในโลกธาตุอื่นใด ก็ความดี ๑๐ ประการนั้นเป็นไฉน ? คือได้อาศัยทานสงเคราะห์ผู้ทุคตะเข็ญใจ ๑ ได้อาศัยศีลบารมีสงเคราะห์ผู้ทุศีล ๑ ได้อาศัยขันติบารมีสงเคราะห์ผู้มักกริ้ว ๑ ได้อาศัยวิริยะบารมีสงเคราะห์ผู้เกียจคร้านท้อแท้ ๑ ได้อาศัยฌานบารมีสงเคราะห์ผู้มีวิกเขปจิต ๑ ได้อาศัยปัญญาบารมีสงเคราะห์ผู้โง่หลง ๑ ได้แสดงธรรมิกอุบาย พาบุคคลให้ข้ามอัฏฐอันตรายธรรม ๑ ได้แสดงมหายานธรรมโปรดบุคคลผู้ยินดีในหินธรรม ๑ ได้อาศัยกุศลินทรีย์ประการต่าง ๆ โปรดบุคคลผู้ไร้กุศลธรรม ๑ ได้อาศัยสังคหวัตถุ ๔ สงเคราะห์สรรพสัตว์ให้สำเร็จ ๑ รวม ๑๐ ประการอย่างนี้แล.”
พระโพธิสัตว์เหล่านั้น จึงถามต่อไปว่า
“ดูก่อนคฤหบดี พระโพธิสัตว์จักต้องสำเร็จในธรรมมีประการฉันใดหนา จึงจักดำเนินจริยาโปรดสัตว์ในสหโลกธาตุนี้ได้ โดยมิแปดเปื้อนด้วยมลทินโทษ แล้วแลได้อุบัติในวิสุทธิภูมิ.”
ท่านวิมลเกียรติเฉลยว่า
“ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ พระโพธิสัตว์จักต้องสำเร็จให้ธรรมอันเป็นคุณสมบัติ ๘ ประการ จึงสามารถดำเนินจริยาโปรดสัตว์ในสหโลกธาตุนี้ได้โดยมิแปดเปื้อนด้วยมลทินโทษ ก็คุณสมบัติ ๘ ประการนั้นเป็นไฉน ?คือ
๑. พระโพธิสัตว์จักต้องบำเพ็ญตนให้เป็นคุณประโยชน์ต่อปวงสัตว์โดยไม่ปรารถนารับผลตอบแทนจากสัตว์ทั้งหลายใด ๆ.
๒. พระโพธิสัตว์สามารถเสวยสรรพทุกข์แทนสรรพสัตว์ได้โดยมิย่นย่อท้อถอย.
๓. พระโพธิสัตว์สร้างคุณความดีไว้มีประมาณเท่าไรก็สามารถอุทิศให้แก่สัตว์ทั้งหลายได้ ไม่หวงแหนตระหนี่ไว้.
๔. พระโพธิสัตว์ตั้งจิตอยู่ในสมธรรมดันสม่ำเสมอในปวงสัตว์ ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ถ่อมตนไว้ไม่ลำพองโดยปราศจากความข้องขัดใด ๆ.
๕. พระโพธิสัตว์เห็นพระโพธิสัตว์ทุก ๆ องค์ ปานประหนึ่งเห็นพระพุทธองค์ อนึ่ง พระสูตรใดที่ยังมิเคยได้สดับตรับฟัง ครั้นได้มีโอกาสสดับตรับฟังแล้ว ก็ไม่บังเกิดความคลางแคลงกังขาอย่างไรในพระสูตรนั้น ๆ๑
๖. พระโพธิสัตว์ไม่หันปฤษฎางค์ให้กับธรรมของพระอรหันตสาวก๒ แต่สมัครสมานเข้ากันได้กับธาตุดังกล่าวนั้น
๗. พระโพธิสัตว์ ไม่เกิดความริษยาในลาภสักการะอันบังเกิดแก่ผู้อื่น แลไม่เกิดความหยิ่งทะนงในลาภสักการะอันบังเกิดแก่ตนเองสามารถควบคุมจิตของตนไว้ได้.
๘. พระโพธิสัตว์จักต้องหมั่นพิจารณาโทษของตนอยู่เป็นนิตย์ไม่เที่ยวเพ่งโทษ โพนทะนาโทษของผู้อื่น ตั้งจิตมั่นคงเด็ดเดี่ยวในการสร้างบารมี.
นี้แล ชื่อว่าธรรมอันเป็นคุณสมบัติ ๘ ประการของพระโพธิสัตว์
เมื่อ ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ได้กล่าวธรรมีกถาในท่ามกลางมหาสันนิบาตนี้จบลง ก็มีเทพยดาจำนวนร้อยเป็นอเนกจำนวนพันเป็นอเนก ตั้งจิตมั่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แลมีพระโพธิสัตว์หนึ่งหมื่นองค์ ได้บรรลุอนุตปาทธรรมกษานติแล.
ปริเฉทที่ ๑๐ สุคันโธปจิตพุทธวรรค จบ.
______________________
๑. คุณสมบัติข้อนี้เท่ากับตอบปัญหาของฝ่ายหินยาน ที่มีความสงสัยในพระสูตรคัมภีร์ต่าง ๆ ของมหายานว่า ไม่มีในพระปิฎกฉบับภาษาบาลี จะเป็นของแต่งขึ้นภายหลังกระมัง ถ้าเราเป็นพระโพธิสัตว์ไซร้ ก็ต้องไม่บังเกิดความสงสัยขึ้น เพราะฝ่ายมหายานถือว่าพระสูตรจะเป็นของใหม่ของเก่าก็ตาม แต่ให้ถือเอาธรรมในคัมภีร์เป็นสำคัญ.
๒. ฝ่ายมหายานถือว่า ธรรมฝ่ายหินยานนั้น เป็นบุพพภาคที่จักพาบุคคลให้เข้าถึงฝ่ายมหายาน
http://www.mahayana.in.th/tmayana/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3.html#ปริเฉทที่_๖_อจินไตยวรรค_
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=khunz&date=12-07-2009&group=18&gblog=8