ผู้เขียน หัวข้อ: พ่อแม่ไม่ใช่อรหันต์ของลูก พรหมสูตร ว่าด้วย มารดาบิดาเปรียบดังพรหมของบุตร  (อ่าน 4335 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
.
พ่อแม่ไม่ใช่อรหันต์ของลูก
.
มารดาบิดาเปรียบดังพรหมของบุตรทั้งหลาย วันที่ 18/08/2012   20:35:40
ที่มา watsaladaeng
.
พรหมสูตร ว่าด้วย มารดาบิดาเปรียบดังพรหมของบุตร   
.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกกนิบาต ปฐมปัณณาสก เทวทูตวัคควัณณา
.
พระศาสดา ตรัสว่า
.
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนของตน สกุลนั้นมีพรหม
สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนของตน สกุลนั้นมีบุรพาจารย์
สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนของตน สกุลนั้นมีอาหุไนยบุคคล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมนี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าบุรพาจารย์นี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าอาหุไนยบุคคลนี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
.
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง และแสดงโลกนี้แก่บุตร ฯ
ดังนี้แล้วได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า
.
 มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร ท่านเรียกว่าพรหม
 ท่านเรียกว่าบุรพาจารย์ และท่านเรียกว่าอาหุไนยบุคคล
  เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงนมัสการและสักการะมารดาบิดานั้น
  ด้วยข้าว ด้วยน้ำ ด้วยผ้า ด้วยที่นอน ด้วยการอบกลิ่น ด้วยการให้อาบน้ำ
  และด้วยการล้างเท้าทั้งสอง เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดา นั้นแล
  บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ฯ(ปฐยาวัตร)
.
อรรถาธิบาย1
.
         คำว่า มารดาบิดานั้น ได้แก่ ผู้ให้กำเนิดแก่บุตร หรือผู้ยังบุตรให้เกิด คือผู้ให้ดื่มเลือดอันเกิดแต่อก ก็หรือว่าเป็นผู้แสดงอ้างอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ และน่าพอใจอันเป็นไปในโลกนี้แก่บุตร ชื่อว่าเป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร
.
         คำว่า ผู้อนุเคราะห์บุตร ได้แก่ เป็นผู้บำรุงเลียง คือเฝ้าประคบประหงมบุตร  จำเดิมแต่กาลที่บุตรยังอยู่ในครรภ์ ย่อมให้เครื่องบริหารครรภ์ตลอดเดือนทั้งหลาย ๑๐
.
         คำว่า พรหม ได้แก่ มารดาบิดานั้น ท่านเปรียบดังพรหมของบุตร ด้วยว่าท้าวมหาพรหมย่อมไม่ละภาวนา ๔  คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาอันเป็นไปในสัตว์ทั้งหลายฉันใด มารดาบิดาทั้งหลายย่อมเป็นผู้ไม่ละจากภาวนาทั้ง ๔ อันเป็นไปในบุตรทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน ก็เพราะเหตุใดเล่า มีอรรถาธิบายดังนี้
.
         ในกาลที่บุตรยังอยู่ในท้อง มารดาบิดาย่อมเกิดเมตตาจิตอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจักได้เห็นบุตรน้อยปลอดภัย มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบบริบูรณ์ ดังนี้ชื่อว่ามารดาบิดาทั้งหลายประกอบด้วยเมตตาจิตอันเป็นไปในบุตรทั้งหลาย
.
         ในกาลใดบุตรน้อยนั้นยังเยาว์ นอนแบเบาะ มีเลือดไรไต่ตอมหรือนอนกระสับกระส่าย ส่งเสียงร้องจ้าอยู่ ในกาลนั้น มารดาบิดาครั้นได้ยินเสียงบุตรนั้นย่อมเกิดความกรุณาที่จะปกป้องปัดเป่าความไม่สะบายกายความไม่สะบายใจนั้นแก่บุตร ดังนี้ชื่อว่ามารดาบิดาทั้งหลายประกอบด้วยกรุณาจิตอันเป็นไปในบุตรทั้งหลาย
.
         ในกาลใดบุตรไปได้ด้วยเท้าวิ่งเล่นไปมาอยู่บ้าง ก็หรือว่าในกาลใดบุตรทั้งหลายตั้งอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวท่องเที่ยวไปอยู่บ้าง ในกาลนั้นมารดาบิดามองดูบุตรทั้งหลายแล้ว ย่อมมีจิตอ่อนไหว บันเทิง รื่นเริงใจ เหมือนกับสำลีและปุยนุ่นที่เขายีตั้ง ๑๐๐ ครั้ง หย่อนลงในฟองเนยใส ดังนี้ชื่อว่ามารดาบิดาทั้งหลายประกอบด้วยมุทิตาจิตอันเป็นไปในบุตรทั้งหลาย
.
         อีกอย่างหนึ่ง ในกาลใดแลบุตรทั้งหลายเป็นผู้มีครอบครัวแล้ว แยกเรือนออกไปอยู่  ในกาลนั้นมารดาบิดาทั้งหลายย่อมเกิดความวางใจว่าอย่างนี้ว่า บุตรของเราอาจจะสามารถเพื่ออันจักเป็นอยู่ได้ตามลำพังตามธรรมดาแห่งตนแล้ว ดังนี้ ชื่อว่ามารดาบิดาเป็นผู้ประกอบด้วยอุเบกขาในบุตรทั้งหลาย
.
         คำว่าบุรพาจารย์นั้น อธิบายความว่า แท้จริง คือความจริง มารดาบิดาทั้งหลาย จำเดิมแต่บุตรเกิดแล้ว ย่อมให้บุตรเล่าเรียนบ้าง ให้บุตรสำเหนียกบ้าง อย่างนี้ว่า เจ้าจงนั่งอย่างนี้ จงยืนอย่างนี้ จงเดินอย่างนี้ จงนอนอย่างนี้ จงเคี้ยวอย่างนี้ จงกินอย่างนี้ คนนี้เจ้าควรเรียกว่าพ่อ คนนี้ควรเรียกว่าพี่ คนนี้ควรเรียกว่าน้อง เจ้าควรทำสิ่งนี้ ไม่ควรทำสิ่งนี้ ควรเข้าไปหาคนชื่อโน้น คนชื่อโน้นไม่ควรเข้าไปหาเป็นต้น
.
         แต่นั้นในกาลอันเป็นส่วนอื่นอีก อาจารย์ทั้งหลายแม้เหล่าอื่นจึงให้ศึกษาศิลปะในเพราะเรื่องช้าง เรื่องม้า เรื่องรถ เรื่องธนูและการนับด้วยนิ้วมือเป็นต้น แต่นั้นอาจารย์เหล่าอื่นจึงให้สรณะ ให้ตั้งใจอยู่ในศีล ให้บรรพชา ให้เรียนพุทธพจน์ ให้อุปสมบท ให้บรรลุโสดาปัตติมรรคเป็นต้น  ก็แล อาจารย์เหล่านั้นแม้ทั้งหมดนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นปัจฉาจารย์  ส่วนมารดาบิดาย่อมเป็นอาจารย์ก่อนกว่าอาจารย์เหล่าอื่นนี้ทั้งหมด จึงได้ชื่อว่า บุรพาจารย์ของบุตรทั้งหลาย
.
         คำว่าอาหุเนยยบุคคลนั้น อธิบายความว่า มารดาบิดาย่อมเป็นผู้สมควร แก่วัตถุสิ่งของมีข้าวและน้ำเป็นต้นที่บุตรจัดมาเพื่อบูชา เพื่อต้อนรับ เช่นเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่เป็นผู้สมควรแก่วัตถุสิ่งของที่บุคคลทั้งหลายพึงนำมาบูชา พึงนำมาสักการะ เป็นต้น ดังนี้ จึงได้ชื่อว่า อาหุเนยยบุคคลแห่งบุตรทั้งหลาย
.
         คำว่าเพราะฉะนั้น ได้แก่ การแสดงเหตุผลยืดยาว
         คำว่าบัณฑิต ได้แก่ บุตรผู้ฉลาด คือรู้เหตุอันเจริญ และเหตุอันไม่เจริญ หรือผู้ประกอบด้วยกตเวทีบุคคล คือผู้เป็นดังสัตตบุรุษ
         คำว่านมัสการ ได้แก่ การอ่อนน้อมเคารพโดยธรรมอันเป็นไปในโลกนี้
         คำว่าสักการะ ได้แก่ การให้วัตถุสิ่งของเช่น ข้าวบ้าง น้ำบ้าง ผ้าบ้าง ที่นอนอันดีบ้าง ให้อบกลิ่นบ้าง ให้อาบบ้าง เป็นต้น
         คำว่าข้าวเป็นต้นนั้น คือวัตถุสิ่งของที่บุตรพึงนำมาสักการะมารดาบิดาด้วยความเคารพโดยธรรมตามธรรม
         คำว่าการปรนนิบัติ หมายถึง การบำรุงเลียงท่านตราบเท่าที่ท่านยังไม่สิ้นชีวิต คือ ยังมีชีวิตดำรงอยู่ คือเที่ยวไปได้ด้วยตาบ้าง ด้วยหูบ้าง ด้วยเท้าทั้งสองบ้าง เป็นต้น
         คำว่าแล เป็นเพียงนิบาต ทำเนื้อความให้ไพเราะ คือให้เต็ม อธิบายว่า กระทำให้ไม่มีช่อง
         คำว่าบัณฑิตทั้งหลาย หมายถึง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย  และพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นต้น
         คำว่าย่อมสรรเสริญ ได้แก่ ยกย่อง คือชมเชย ได้แก่แสดงคุณให้ปรากฎ คือให้ทราบชัด ให้เป็นดังทองอันไหลออกจากเบ่า
         คำว่าเขา ได้แก่ บุคคลผู้บำรุงเลี้ยงปรนนิบัติ คือ บุตรผู้บำรุงเลี้ยงปรนนิบัติ ในมารดาบิดา คือผู้เช่นนั้น กล่าวคือ กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น
         คำว่าในโลกนี้ ได้แก่ มนุษย์โลก ทั้งเป็นไปกับด้วยสัตว์ทั้งหลาย ที่มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด คือผู้เกิดจากครรภ์บ้าง คือผู้เกิดจากไข่บ้าง ชื่อว่าในโลกนี้
         คำว่าละไปแล้ว ได้แก่ ถึงแก่มรณาภัย คือ มีชีวิตออกแล้ว กล่าวคือมีตนดำรงอยู่ด้วยทั้งอัตตภาพในโลกหามิได้
         คำว่าย่อมบันเทิง ได้แก่ เพลิดเพลิน ยินดี พอใจด้วย ฐานะอันเป็นทิพย์ทั้งสิบประการคือ ด้วย อายุอันเป็นทิพย์ วรรณะอันเป็นทิพย์ สุขอันเป็นทิพทย์ ยศอันเป็นทิพย์ ความเป็นใหญ่อันเป็นทิพย์  รูปอันเป็นทิพย์ เสียงอันเป็นทิพย์  กลิ่นอันเป็นทิพย์ รสอันเป็นทิพย์  และโผฏฐัพพะอันเป็นทิพย์ ชื่อว่าย่อมบันเทิง คือ เพลิดเพลิน
         คำว่าในสวรรค์ ได้แก่ เทวโลกทั้ง หก ชั้นอันได้แก่ จาตุมมหาราชิกา ดาวดึง ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัสตี ชื่อว่าเป็นสถานที่อันไม่ปราศจากความสุข เพราะเปรียบด้วยสุขอันเป็นของมีอยู่ในโลก เป็นเช่นเดียวกับหยาดน้ำค้าง แต่สุขอันเป็นไปในทิพย์โลก ย่อมเปลียบได้ด้วยน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่
.
พระคุณของพ่อแม่
.
          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่าถ้าบุตรจะพึงวางบิดามารดาไว้บนบ่าทั้งสองของตน ประคับประคองท่านอยู่บนบ่านนั้นป้อนข้าวป้อนน้ำและให้ท่านถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่านั้นเสร็จ แม้บุตรจะมีอายุถึง ๑๐๐ปี และปรนนิบัติท่านไปจนตลอดชีวิต ก็ยังนับว่าตอบแทนพระคุณท่านไม่หมด (ลูกไม่สามารถตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ให้หมดสิ้นได้ ด้วยการทำในลักษณะเช่นนี้)
.
         ยังมีผู้อุปมาไว้ว่า หากเราใช้ท้องฟ้าแทนกระดาษยอดเขาพระสุเมรุแทนปากกาน้ำในมหาสมุทรแทนหมึก เขียนบรรยายคุณของพ่อแม่จนท้องฟ้าเต็มไปด้วยอักษร ภูเขาสึกกร่อนจนหมดน้ำในมหาสมุทรเหือดแห้งก็ยังบรรยายคุณของพ่อแม่ไม่หมด((เพราะการตอบแทนคุณมารดาบิดาไม่สามารถให้สำเร็จได้ด้วยการทำในลักษณะเช่นนี้) คือด้วยการเขียนดังกล่าวแล้ว)(อุปมาข้อนี้เป็นบัญญัติของมนุษย์โลก ไม่ได้เกิดแต่คำสอนในพระศาสนา
.
ความหมายของอุปมาข้อนี้ หมายถึง ถ้าบุตร หรือลูกคนใดใช้ความพยามตามอุปมาข้อนี้เพื่อแสดงคุณของมารดาบิดา ด้วยความคิดว่า เราจะตอบแทนบุญคุณของท่านให้หมดสิ้นด้วยการทำลักษณะดังนี้ ความพยายามถึงเพียงนั้น แห่งบุตร หรือลูกคนนั้นเป็นอันไม่ตอบแทนบุญคุณแห่งมารดาบิดาให้หมดสิ้นได้เลย) (เพราะคุณแห่งมารดาบิดาไม่สามารถทำให้หมดสิ้นไปได้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ แล้วเท่าไหนถึงจะหมดสิ้น)อย่างนี้คือ ทำมารดาบิดา ผู้มีความเห็นผิด ให้เห็นถูก ไม่มีศีล ให้มีศีล ไม่เลื่อมใส่ในพระพุทธศาสนา ให้เลื่อมใส่ในพระพุทธศาสนา ทำมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ผู้ยังไม่ถึงมรรค ให้ถึงทางแห่งอริยมรรค เป็นต้น ในเหตุทั้งหลายเหล่านี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นอันบุตร คือว่าลูกทั้งหลาย อาจทำ อาจสามารถ ตอบแทนบุญคุณท่านให้หมดสิ้นได้  การตอบแทนบุญคุณมารดาบิดาทั้งหลาย ย่อมเป็นอันบุตรทั้งหลาย ตอบแทนแล้ว และตอบแทนแล้ว ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ด้วยเหตุอื่นนอกจากนี้ ใคร ๆ อย่าชอบใจเลยที่จะทำหรือจะจัด ด้วยความคิดว่า เราจักอาจหาญโดยประการอื่นจากนี้
.
บิดามารดาเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบุตร สรุปโดยย่อคือ
.
         ๑. เป็นต้นฉบับทางกาย แบบเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำให้ของทั้งหลายในโลกมีค่าสูงขึ้นตัวอย่างเช่นก้อนดินเหนียวธรรมดาถ้าหากนำมาใส่แบบพิมพ์แล้วพิมพ์เป็นตุ๊กตาก็ทำให้ดินก้อนนั้นมีค่าขึ้นมาเป็นเครื่องประดับบ้านเรือนได้ดินเหนียวก้อนเดียวกันนี้หากได้แบบที่ดีกว่าขึ้นมาอีกเช่นแบบเป็นพระพุทธรูปก็จะเห็นได้ว่าคุณค่าของดินเหนียวก้อนนี้ทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้นผู้คนได้กราบไหว้บูชา จะเห็นได้ว่าคุณค่าของดินเหนียวก้อนนี้ขึ้นอยู่กับแแบบที่พิมพ์นั่นเอง ในทำนองเดียวกัน การเกิดของสัตว์ เช่นเป็นช้าง มัา วัว ควาย ฯลฯแม้จะมีปัญญาติดตัวมามากสักปานใดก็ไม่สามารถทำความดีได้เต็มที่โชคดีที่เราได้แบบเป็นคน ซึ่งเป็นโครงร่างที่ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลายเหมาะในการทำความดีทุกประการ พระคุณขงอพ่อแม่ในการเป็นต้นแบบทางกายให้เราก็นับว่ามีมากเหลือหลายแล้วยิ่งท่านอบรม เลี้ยงดูเรามาเป็นต้นแบบทางใจให้ด้วยก็ยิ่งมีพระคุณมากเป็นอเนกนันต์
.
         ๒. เป็นต้นแบบทางใจให้ความอุปการะเลี้ยงดู ฟูมฟัก ทะนุถนอมอบรมสั่งสอน ปลูกฝังกิริยามารยาทให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ลูก
.

สมญานามของพ่อแม่
.
         สมญานามของพ่อแม่นั้น กล่าวกันว่าท่านเป็นทั้งพรหมของลูก เป็นเทวดาคนแรกของลูก เป็นครูคนแรกของลูก และเป็นพระอรหันต์ของลูก ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
.
         -พ่อแม่เป็นพรหมของลูก เพราะเหตุที่มีพรหมธรรม ๙ ประการได้แก่
             ๑. มีเมตตาคือมีความปรารถนาดีต่อลูกไม่มีที่สิ้นสุด
             ๒. มีความกรุณาคือ หวั่นใจในความทุกข์ของลูกและคอยช่วยเหลือเสมอไม่ทอดทิ้ง
             ๓. มีมุทิตาคือ เมื่อลูกมีความสุขสบาย ก็มีความปลาบปลื้มยินดีด้วยความจริงใจ
             ๔. มีอุเบกขา คือ เมื่อลูกมีครอบครัวสามารถเลี้ยงตนเองได้แล้วก็ไม่วุ่นวายกับชีวิตครอบครัวลูกจนเกินงาม และหากลูกผิดพลาดก็ไม่ซ้ำเติมแต่กลับคอยเป็นที่ปรึกษา ให้เมื่อลูกต้องการ
         -พ่อแม่เป็นเทวดาคนแรกของลูกเพราะคอยปกป้องคุ้มกันภัยเลี้ยงดูลูกมาก่อนผู้มีความปรารถนาดีคนอื่น ๆ
         -พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เพราะสั่งสอนอบรม คำพูดและกิริยามารยาทให้ลูกก่อนคนอื่นๆ
         -พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูกเพราะมีคุณธรรม ๔ ประการได้แก่
             ๑. เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ลูก ท่านได้ทำภารกิจอันทำได้แสนยากได้แก่การอุปการะเลี้ยงดูลูก ซึ่งยากที่จะหาคนอื่นทำแก่เราได้อย่างท่าน
             ๒. เป็นพระเดชพระคุณมาก ปกป้องอันตราย ให้ความอบอุ่นแก่ลูกมาก่อน
             ๓. เป็นเนื้อนาบุญของลูกมีความบริสุทธิ์ใจต่อลูกอย่างแท้จริงเป็นผู้ที่ลูกควรทำบุญต่อตัวท่าน
             ๔. เป็นอาหุไนยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การรับของคำนับ และการนมัสการของลูก
.
คุณธรรมของลูก
.
         เมื่อพ่อแม่มีพระคุณมากมายปานนี้ลูกจึงควรมีคุณธรรมต่อท่านคุณธรรมของลูกเริ่มที่รู้จักคุณพ่อแม่คือรู้ว่าท่านดีต่อเราอย่างไร สูงขึ้นไปอีกคือตอบแทนคุณท่านในทางศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสบรรยายคุณธรรมของลูกไว้อย่างสั้นๆแต่จับความไว้ได้อย่างครบถ้วน คือคำว่า "กตัญญูกตเวที"คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นลูกรวมอยู่ใน ๒คำนี้
.
         กตัญญูหมายถึงเห็นคุณท่านคือเห็นด้วยใจ ด้วยปัญญาว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณต่อเราอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าปากท่องพระคุณพ่อแม่ปาวๆไปเท่านั้น
.
          คุณของงพ่อแม่ดูได้จากอุปการะคือประโยชน์ที่ท่านทำแก่เรามีอะไรบ้างที่แตกต่างจากคนอื่น ตามธรรมดาของคนทั่ว ๆ ไปเมื่อจะอุปกาะใครเขาต้องเห็นทางได้ เช่น เห็นหลักทรัพย์ หรือดูนิสัยใจคอต่อเมื่อแน่ใจแล้วว่าอุปการคุณของเขาจะไม่สูญเปล่า จึงลงมือช่วยเหลือแต่ที่พ่อแม่อุปการะเรานั้นเป็นการอุปการะโดยบริสุทธิ์ใจจริง ๆไม่ได้มองถึงหลักประกันใด ๆ เลยเราเองก็เกิดมาตัวเปล่าไม่มีหลักทรัพย์แม้แต่เข็เล่มเดียวยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าอวัยวะร่างกายจะใช้ได้ครบถ้วนหรือไม่ยิ่งนิสัยใจคอแล้วยิ่งรู้ไม่ได้เอาทีเดียวโตขึ้นมาจะเป็นอย่างไรจะเป็นคนอกตัญญูหรือไม่ไม่รู้ทั้งนั้นหนังสือสัญญาการรับปากสักคำเดียวระหว่างเรากับท่านก็ไม่มีแต่ทั้ง ๆที่ไม่มีท่านทั้งสองก็ได้โถมตัวเข้าช่วยเหลือเราจนสุดชีวิตที่ยากจนก็ถึงกับกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาช่วยเรื่องเหล่านี้ต้องคิดดูด้วยเหตุผลอย่าสักแต่คิดด้วยอารมณ์เท่านั้นการพิจารณาให้เห็นคุณของพ่อแม่ด้วยใจอย่างนี้แหละเรียกว่า"กตัญญู"เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของผู้เป็นลูก ยิ่งพิจารณาเห็นคุณท่านมากเท่าไรแสดงว่าใจของเราเริ่มใสและสว่างมากขึ้นเท่านั้น
.
         กตเวทีหมายถึงการทดแทนพระคุณของท่าน ซึ่งมีงานที่ต้องทำ ๒ ประการ คือ
         ๑. ประกาศคุณท่าน
         ๒. ตอบแทนคุณท่าน
.
         การประกาศคุณท่านหมายถึงการทำให้ผู้อื่นรู้ว่า พ่อแม่มีคุณแก่เราอย่างไรบ้าง มากน้อยเพียงใดเรื่องนี้มีคนคิดทำอยู่มากเหมือนกัน แต่ส่วนมากไปทำตอนงานศพคือเขียนประวัติสรรเสริญคุณพ่อแม่ในหนังสือแจกการกระทำเช่นนี้ก็ถูกแต่ถูกเพียงเปลือกนอกผิวเผินนักถ้าเป็นการกินผลไม้ก็แค่เคี้ยวเปลือกเท่านั้นยังมีทำเลที่จะประกาศคุณพ่อแม่ที่สำคัญกว่านี้ คือ ที่ตัวเรานี่เอง
.
คนเราทุกคนคือตัวแทน ของพ่อแม่ตนทั้งนั้นเลือดก็แบ่งมาจากท่านเนื้อก็แบ่งมาจาท่านตลอดจนนิสัยใจคอก็ได้รับการอบรมถ่ายทอดมาจากท่านความประพฤติของตัวเรานี่แหละจะเป็นเครื่องประกาศคุณพ่อแม่อย่างโจ่งแจ้งที่สุดหากพิมพ์ข้อความไว้ในหนังสือแจกว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นคนตั้งอยู่ในศีลในธรรมแต่ตัวเราเองประพฤติสำมะเลเทเมาคอร์รัปชั่นทุกครั้งที่มีโอกาสศีลข้อเดียวก็ไม่สนใจรักษา ก็ผิดที่ไปสดุดีคุณพ่อแม่ว่าเป็นคนดีสุภาพเรียบร้อยแต่ตัวเราผู้เป็นลูกกลับประพฤติตัวเป็นนักเลงอันธพาลอย่างนี้คุณค่าของการสรรเสริญพ่อแม่ก็ลดน้ำหนักลงกลายเป็นว่ามอบหน้าที่ในการกตเวทีประกาศคุณพ่อแม่ให้หนังสือทำแทน ให้กระดาษให้เครื่องพิมพ์ ให้ช่างเรียงพิมพ์แสดงกตเวทีแทนแล้วตัวเรากลับประจานพ่อแม่ของตัวเองอย่างน้อยที่สุดก็ประจานแก่ชาวบ้านว่าพ่อแม่ของเราเลี้ยงลูกไม่เป็นประสา
.
          พ่อแม่ของใครใครก็รักเมื่อรัท่านก็ประกาศคุณความดีของท่านซิประกาศด้วยความดีของตัวเราเองตั้งแต่เดี๋ยวนี้ยิ่งท่านยังมีชีวิตอยู่ การประกาศคุณของเราจะทำให้ท่านมีความสุขใจอย่างยิ่งส่วนใครจะประพันธ์สรรเสริญคุณพ่อแม่พิมพ์แจกเวลาท่านตายแล้วนั่นเป็นประเด็นเบ็ดเตล็ดจะทำก็ได้ไม่ทำก็ไม่เสียหายอะไร
.
ไม่ว่าเราจะตั้งใจประกาศคุณท่านหรือไม่ความประพฤติของเราก็เป็นตัวประกาศคุณท่านหรือประจานท่านอยู่ตลอดเวลาคิดเอาเองก็แล้วกันว่าเราจะประกาศคุณพ่อแม่ของเราด้วยเกียรติยศชื่อเสียงหรือจะใจดำถึงกับประจานผู้บังเกิดเกล้าด้วยการทำตัวเป็นพาลเกเรและประพฤติต่ำทราม
.
การตอบแทนคุณท่าน แบ่งเป็น ๒ ช่วงคือ
.
         ๑. เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ช่วยเหลือกิจการงานของท่านเลี้ยงดูท่านตอนเมื่อยามท่านชราดูแลปรนนิบัติการกินอยู่ของท่านให้สะดวกสบายและเอาใจใส่ช่วยเหลือเมื่อท่านเจ็บป่วย
         ๒. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็จัดพิธีศพให้ท่านและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านอย่างสม่ำเสมอ
แม้เราจะตอบแทนพระคุณท่านถึงเพียงนี้แล้วก็ยังนับว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับพระคุณอันยิ่งใหญที่ท่านมีต่อเรา ดังนั้นผู้ที่มีความ
.
กตัญญูกตเวทีต้องการจะสนองพระคุณท่านให้ได้ทั้งหมดพึงกระทำดังนี้       
         ๑. ถ้าท่านยังไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็พยายามชักนำให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธาให้ได้
         ๒. ถ้าท่านยังไม่ถึงพร้อมด้วยการให้ทานก็พยายามชักนำให้ท่านยินดีในการบริจาคทานให้ได้
         ๓. ถ้าท่านยังไม่มีศีลก็พยายามชักนำให้ท่านรักษาศีลให้ได้
         ๔. ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนาก็พยายามชักนำให้ท่านทำสมาธิภาวนาให้ได้
.
         เพราะว่าการตั้งอยู่ในศรัทธาการให้ท่าน การรักษาศีล การทำสมาธิภาวนาเป็นประโยชน์โดยตรงและเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตัวบิดามารดาผู้ประพฤติปฏิบัติเองทั้งในภพนี้ ภพหน้าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือ เป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน
.
อานิสงส์การบำรุงบิดามารดา
          ๑. ทำให้เป็นคนมีความอดทน (อดทนต่ออักโกสกวัตถุ 10 อย่าง)
          ๒. ทำให้เป็นคนมีสติรอบคอบ (ถึงพร้อมด้วย สติ และ สัมปัชชัญญะ)
          ๓. ทำให้เป็นคนมีเหตุผล (เป็นสัมมาทิฎฐิบุคคล)
          ๔. ทำให้พ้นทุกข์ (หาทุกข์ในภพเสียดแทงไม่ได้ อีกนัยหนึ่ง ทำให้ถึงฝั่ง)
          ๕. ทำให้พ้นภัย (หาภัยแต่ที่ไหน ๆ ในภพไม่ได้ อีกนัยหนึ่ง ย่อมพ้นจากภัยในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อในที่ ที่เที่ยวไปแล้วและดำรงอยู่แล้ว)
          ๖. ทำให้ได้ลาภโดยง่าย (เป็นผู้ไม่ลำบากในโภชนาหาร ย่อมหาได้โดยง่าย แม้ในน้ำ บนดิน และในป่า หรือในที่มิใช้บ่เกิดทั้งหลาย)
          ๗. ทำให้แคล้วคลาดภัยในยามคับขัน (เมื่อมรณาภัยแห่งชีวิตยังไม่มาถึง ความผิดเพี้ยนแห่งเหตุย่อมเกิดมี)
          ๘. ทำให้เทวดารักษา (หมายถึง ค่อยปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีให้ออกไปห่าง ๆ หรือ ไม่ให้ไปพบเจอ)
          ๙. ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ (บัณฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมยกย่องสรรเสริญ เหตุเป็น ปุราณธรรม ของสัตตบุรุษ และ ของพระมหาบุรุษทั้งหลายได้อบรมมา)
        ๑๐. ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า (ไม่ตกต่ำ เที่ยวไปในสถานที่ใด  ๆ ย่อมมีคนเคารพนับถือ หรือต้อนรับเป็นต้น)
        ๑๑. ถ้ามีลูกก็จะได้ลูกที่ดี (เป็น อภิชาตบุตร หรือ เป็นอนุชาตบุตร คือไม่เป็น อวชาตบุตร (ลูกที่มีคุณเลวกว่ามารดาบิดา)
        ๑๒. ทำให้มีความสุข (ดำรงชีวิต อยู่ด้วยความสุขอันเกิดแต่ ปัญจกามรสในมนุษย์โลก)
        ๑๓. ทำให้เป็นตัวอย่างอันดีแก่อนุชนรุ่นหลัง (เป็นสิ่งที่ควรทำตาม คือน่าเอาเป็นแบบอย่าง)
.
อีกโสตหนึ่ง (ยังไม่ได้ชำระข้อความ)
.
ขยายความมงคลข้อที่ ๑๑  การบำรุงมารดาเป็นอุดมมงคล  และ  ๑๒  การบำรุงบิดา  เป็นอุดมมงคล
.
         ในอรรถกถาท่านแยกการบำรุงมารดาออกจากการบำรุงบิดา  เพื่อให้ครบมงคล  ๓๘  แต่ตามความเป็นจริงแล้ว  บุตรพึงบำรุงมารดาบิดาให้เป็นสุขเท่าเทียมกัน  เพราะมารดาบิดาเป็นผู้ให้ชีวิตแก่บุตร  ให้บุตรได้มีโอกาสเกิดมาดูโลกนี้  ถ้าปราศจากมารดาบิดาแล้ว  บุตรจะมีโอกาสเกิดขึ้นมาดูโลกนี้ได้อย่างไร  เพียงเท่านี้ก็นับว่าท่านทั้งสองมีบุญคุณแก่ลูกอย่างล้นเหลือแล้ว  ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการให้การอุ้มชู  อุปการะ  เลี้ยงดู  ป้อนนม  ป้อนข้าว  ป้อนน้ำ  มาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่  อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี  ให้มีการศึกษา  มีการงานเป็นหลักฐาน  ช่วยตนเอง
ได้  บางครั้งก็ยังหาสามีและภรรยาที่เหมาะสมให้ด้วย  เพียงเท่านี้ก็นับเป็นพระคุณล้นฟ้า   ยากที่ลูกจะตอบแทนคุณได้หมด  ยิ่งกว่านั้นบางท่านยังต้องเลี้ยงดูหลานๆ  อันเป็นลูกของลูกชายลูกหญิงของท่านอีกด้วย
.
  พระพุทธองค์ตรัสว่า  การที่บุตรจะตอบแทนบุญคุณของมารดาบิดา  นั้นไม่ใช่ง่าย  คือ  ยากที่จะตอบแทนให้หมดสิ้นได้  หากว่าจะประคองมารดาไว้บนบ่าข้างหนึ่ง  ประคองบิดาไว้บนบ่าอีกข้างหนึ่ง  ตลอดเวลา  ๑๐๐  ปีที่ลูกมีชีวิตอยู่  ปรนนิบัติท่านด้วยความรัก  ความเอาใจใส่  ยอมให้มารดาบิดาถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ  ถึงกระนั้นก็ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย  หรือ แม้บุตรจะสถาปนาแต่งตั้งมารดาบิดาไว้ในตำแหน่งพระเจ้าจักรพรรดิ   เป็นใหญ่ในแผ่นดิน   บุตรก็ยังไม่ได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย   เพราะมารดาบิดามีอุปการะมากแก่บุตร   แต่ถ้าบุตรคนใดได้กระทำมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา  ให้มีศรัทธา  ไม่มีศีล  ให้มีศีล  ไม่มีจาคะ  ให้มีจาคะ  ไม่มีปัญญา  ให้มีปัญญา  การกระทำอย่างนี้เท่านั้นจึงจะได้ชื่อว่า  บุตรได้ทำตอบแทนมารดาบิดาแล้วอย่างแท้จริง
 พระพุทธเจ้าตรัสว่า  มารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร  เพราะประกอบไปด้วยคุณธรรมของพรหม
คือเมตตา  กรุณา  มุทิตา  และอุเบกขา
.
          มารดาบิดาเป็นบุรพเทพ  คือเป็นเทวดาก่อนกว่าเทวดาทั้งปวง  ก็เทวดาหรือเทพนั้นมี  ๓  พวกคือ
.
สมมติเทพ  เทวดาโดยสมมติ  ได้แก่พระราชา  พระราชินี  พระราชโอรส  และพระราชธิดา ๑  อุปปัตติเทพ
.
เทวดาโดยอุบัติ  คือเกิดป็นเทวดาโดยกำเนิดในเทวโลก  ๖  ชั้นมีจาตุมหาราชิกา  เป็นต้น  กับพรหมโลกอีก  ๒๐  ชั้นรวมเป็น  ๒๖ ชั้นที่จัดเป็นเทวดาโดยกำเนิด ๑  วิสุทธิเทพ  เทวดาผู้บริสุทธิ์หมดจดจากอาสวะกิเลสทั้งปวงซึ่งได้แก่พระอรหันตขีณาสพพวกเดียวอีก ๑
.
          วิสุทธิเทพคือพระอรหันต์นั้นประเสริฐกว่าเทวดาทั้งปวง  เพราะปฏิบัติตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนทั้งปวง  เป็นผู้ประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔  ควรแก่การเคารพสักการะบูชา  มารดาบิดาก็เช่นกัน  เป็นเทวดาประจำบ้าน  ที่บุตรควรให้ความเคารพสักการะก่อนผู้อื่น  ด้วยเหตุนั้นมารดาบิดาจึงชื่อว่าบุรพเทพหรือบุรพเทวดา  คือเป็นเทวดาก่อนกว่าเทวดาทั้งปวง  บุตรรู้จักเทพอย่างอื่นได้   ก็เพราะรู้จักบุรพเทพ  คือมารดาบิดาก่อนนั่นเอง  เทวดาประเภทอื่นจึงชื่อว่า  มาทีหลังมารดาบิดา
.
          มารดาบิดาชื่อว่าบุรพาจารย์  เพราะเป็นครู  เป็นอาจารย์ก่อนกว่าครูอาจารย์ทั้งปวง  เริ่มแต่ลูกยังเล็กก็สอนให้รู้จัก  พ่อแม่  พี่ ป้า น้า อา  สิ่งโน้นสิ่งนี้  ชื่อโน้นชื่อนี้  คนโน้นคนนี้ ตลอดจนแนะนำสั่งสอนในสิ่งที่ควรรู้  ควรทำและไม่ควรทำ  นานาประการ  เพราะฉะนั้นมารดาบิดา จึงชื่อว่าบุรพาจารย์  อาจารย์คนแรกของลูก มารดาบิดาชื่อว่าอาหุเนยยบุคคล  คือบุคคลผู้ควรรับของที่บุตรนำมาให้  แม้จากที่ไกล  มีข้าว  น้ำ อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น  ทั้งนี้เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มีอุปการคุณแก่บุตร  มีการให้อาหาร เป็นต้น  เป็นผู้มุ่งประโยชน์แก่บุตรเทียบเท่ากับพระอรหันต์ทั้งหลาย  กล่าวคือพระอรหันต์ท่านเป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาบูชา  เคารพสักการะ  ฉันใด  มารดาบิดาก็เป็นผู้ควรแก่ของที่บุตรนำมาบูชา  มาเคารพสักการะ  ฉันนั้น
.
มารดาบิดาจึง เป็นพระอรหันต์ประจำบ้านที่บุตรควรให้การอุปการะเลี้ยงดูด้วยข้าวน้ำ  เป็นต้น ด้วยเหตุนั้นมารดาบิดาจึงชื่อว่าอาหุเนยยบุคคล  บุคคลผู้ควรแก่ของที่เขาคือบุตรนำมาบูชา นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังตรัสว่า  มารดาเป็นมิตรในเรือนตน   ซึ่งรวมทั้งบิดาด้วย   เพราะมารดาบิดาเป็นคู่คิดของบุตร  เป็นที่ปรึกษาของบุตร  เป็นที่บำบัดทุกข์ของบุตร  ขอเพียงให้บุตรได้ไว้ใจท่านปรึกษาหารือท่านเท่านั้น
.
           มารดาบิดาพร้อมอยู่เสมอที่จะช่วยลูกทั้งในด้านความคิดและโภคทรัพย์  หากเกินกำลังของท่าน  ท่านก็เสาะหาผู้ที่มีกำลังกว่าให้ช่วยแทน  ท่านไม่เคยทอดทิ้งลูกแม้ในยามยาก  ท่านจึงเป็นมิตรแท้ของลูกยิ่งกว่ามิตรคนใด  มารดาบิดาจึงเป็นผู้มีอุปการะมาก  หาผู้เสมอเหมือนมิได้  เป็นผู้สมควรที่ลูกๆ  จะได้อุปการะตอบแทนคุณท่านจนถึงที่สุด  โดยเฉพาะในเวลาแก่เฒ่า ดูแลเอาใจใส่รักษาพยาบาลท่านในยามเจ็บไข้  แม้ท่านล่วงลับไปแล้ว  ก็ยังเพิ่มบุญให้ด้วยการทำบุญอุทิศให้ท่านได้ชื่นชมอนุโมทนา
.
           การเลี้ยงดูมารดาบิดา  ตลอดจนตอบแทนคุณท่านโดยประการอื่น  มีการช่วยทำกิจการงานแทนท่าน  ช่วยรักษาวงศ์ตระกูลไว้ให้ดี   ประพฤติตนให้สมควรที่จะรับทรัพย์มรดกต่อจากท่าน   ตลอดจนทำบุญอุทิศไปให้ท่านเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว  เหล่านี้ล้วนเป็นหน้าที่ของบุตรที่ดีจะพึงกระทำต่อมารดาบิดา  บุตรคนใดทำได้อย่างนี้  บุตรคนนั้นชื่อว่าได้ตอบแทนคุณมารดาบิดาที่ท่านให้ชีวิตมา  จัดเป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล  ผู้หาได้ยากในโลก  และเป็นผู้ที่บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญ  แม้ละโลกนี้ไปแล้ว  ก็ย่อมบันเทิงในสวรรค์
.
  ลูกที่ดูแลเลี้ยงดูมารดาบิดาด้วยความรักความเมตตา  กตัญญูกตเวที  ย่อมได้รับผลที่น่าพอใจทั้งในโลกนี้และโลกหน้า  ฉันใด   ลูกที่ประพฤติผิดในมารดาบิดา   ก็ย่อมได้รับผลที่ตรงกันข้าม  ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า  ถึงความเป็นผู้ถูกนินทาในโลกนี้  เป็นผู้เกิดในอบายในโลกหน้า  ยิ่งทำผิดร้ายแรงถึงกับฆ่ามารดาบิดา  ยิ่งโทษหนักมาก  เทียบเท่ากับฆ่าพระอรหันต์ทีเดียว  เพราะการฆ่าพระอรหันต์เป็นอนันตริยกรรม ให้ผลนำเกิดในอเวจีนรกทันทีที่ตายลง  ฉันใด  การฆ่ามารดาบิดาก็จัดป็นอนันตริยกรรม  ที่ให้ผลนำเกิดในอเวจีนรกทันทีที่ตายลง ฉันนั้น ไม่มีกรรมอื่นจะสามารถแซงให้ผลก่อนได้  แม้จะสำนึกผิดและทำกุศลมหาศาลเพื่อทดแทนความผิดนั้น  ก็ไม่อาจปิดกั้นอนันตริยกรรมที่จะให้ผลก่อนได้
.
           การเลี้ยงดูมารดาบิดา  เป็นคุณธรรมข้อหนึ่งใน  ๗  ข้อที่ทำให้เกิดเป็นพระอินทร์เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งปวงในภพดาวดึงส์   เป็นพระราชาของเทวดาในภพนั้น  เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  การบำรุงเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นอุดมมงคล  เป็นเหตุให้เกิดความเจริญ  ลองสังเกตุดูเถิดลูกคนใดที่กตัญญู  รู้คุณมารดาบิดา  ลูกคนนั้นย่อมมีความสุขความเจริญไม่ตกต่ำจนตลอดชีวิต
.
           พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ธรรมะ  ๔  ประการคือ  อายุ  วรรณะ  สุขะ  พละย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติกราบไหว้  อ่อนน้อมต่อผู้เจริญคือผู้ใหญ่เป็นนิตย์  ผู้ที่กระทำการกราบไหว้  อ่อนน้อมต่อมารดาบิดาเป็นนิตย์ก็ย่อมได้รับพร  ๔  ประการนี้เช่นกัน
.
1 อรรถาธิบายโดย เว็บมาสเตอร์ปรับปรุงเพิ่มเติมแก้ไขให้เข้าใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้ต่างจากที่อื่นบ้าง ผู้อ่านจะได้เข้าใจเพิ่มเติมอีก
.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
.
สพรหมสูตร บิดามารดาเป็นพรหมของบุตร
.
ที่มา เว็บไซด์ 84000
.
.
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
.
.
สพรหมสูตร
.
             [๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของ
ตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้น ชื่อว่ามีพรหม มารดา
และบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูล
เหล่านั้นชื่อว่ามีบุรพาจารย์ มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูล
เหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้นชื่อว่ามีบุรพเทพ มารดาและบิดา
เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้น
ชื่อว่ามีอาหุเนยยบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมบุรพาจารย์ บุรพเทพ
อาหุเนยยบุคคล นี้เป็นชื่อของมารดาและบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดา
และบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ประคบประหงมเลี้ยงดูบุตร เป็นผู้แสดงโลกนี้
แก่บุตร ฯ
.
                         มารดาและบิดาผู้อนุเคราะห์แก่บุตร ท่านเรียกว่า พรหม
                         บุรพาจารย์ และอาหุเนยยบุคคลของบุตรทั้งหลาย เพราะ
                         เหตุนั้นแหละ บุตรผู้เป็นบัณฑิตพึงนอบน้อม พึงสักการะ
                         ท่านด้วยข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม ที่นอน ที่นั่ง อบกาย ให้อาบน้ำ
                         และชำระเท้า เพราะเหตุที่บุตรผู้เป็นบัณฑิตได้บำรุงบำเรอใน
                         มารดาและบิดา บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขา ครั้นเขา
                         ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์ ฯ
.
จบสูตรที่ ๓
.
.
.
.
.
สพรหมกสูตร๑ ว่าด้วยมารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร
ที่มา เว็บไซด์ 84000
.
.
.
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต]
๗. สพรหมกสูตร๑-
ว่าด้วยมารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร
.
.
            [๑๐๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
.
            “ภิกษุทั้งหลาย บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่า
มีพรหม บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีบุรพเทพ
บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีบุรพาจารย์ บุตรของ
สกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีอาหุไนยบุคคล
.
            ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหม นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา คำว่า บุรพเทพ นี้เป็น
ชื่อของมารดาบิดา คำว่า บุรพาจารย์ นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา คำว่า อาหุไนย-
บุคคล นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา๒- ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มี
อุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้”
.
           พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
                        มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์ประชา

                         ท่านเรียกว่าพรหม บุรพเทพ บุรพาจารย์

                         และอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย
.
  [๑๐๖]@เชิงอรรถ :
@๑ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๑/๑๘๓, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๖๓/๑๐๗, ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๑๘๑-๑๘๓/๘๔
@๒ มารดาบิดา ชื่อว่า พรหม เพราะมีพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ชื่อว่า
@บุรพเทพ เพราะเป็นดุจเทพผู้มีพรหมวิหารธรรม ไม่คำนึงความผิดที่บุตรทำไป พร้อมที่จะให้อภัย มุ่งหวัง
@แต่ความเจริญแก่บุตร นำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาแก่บุตร ชื่อว่า บุรพาจารย์ เพราะเป็นอาจารย์
@คนแรกที่สอนลูกให้เรียนรู้การนั่ง การยืน การเดิน การนอน การเคี้ยว การกิน รวมทั้งสอนให้รู้จักพูดและ
@รู้จักอะไรควร อะไรมิควร ชื่อว่า อาหุไนยบุคคล เพราะเป็นผู้ควรแก่ปฏิการคุณที่บุตรพึงทำตอบแทน เช่น
@การปรนนิบัติท่านด้วยอาหารเครื่องนุ่งห่ม (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๑/๑๑๑-๑๑๒, ขุ.อิติ.อ. ๑๐๖/๓๗๙-๓๘๔)
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๔๘๕}
.
.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต]
๘. พหุการสูตร
.
                         เพราะเหตุนั้นแล บัณฑิตพึงนมัสการ
                        และสักการะมารดาบิดานั้นด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน
                         การอบกลิ่น การอาบน้ำ และการล้างเท้า
                        เพราะการปรนนิบัติมารดาบิดานั้น
                        บัณฑิตจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง
                        เขาตายไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
            แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
.
.
สพรหมกสูตรที่ ๗ จบ
.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)