ผู้เขียน หัวข้อ: สนทนาธรรมะ กับ พระอาจารย์สวง วัดเขาพระ (จ.ลพบุรี)  (อ่าน 1621 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ควันหลงจากทริปงานบุญ 3 วัด ในวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2564
.
ทริปงานบุญนี้ ผมได้นำคำถามที่ได้จัดเตรียมไว้ก่อนหน้า  ที่นำไปขอความรู้ในทางธรรมะ  กับ พระสงฆ์ 
ที่แต่เดิม  ผมใช้การตั้งคำถามที่นั้นเลย 
ผมจะเขียนมาเฉพาะที่ผมลงแล้วจะได้ประโยชน์กับท่านผู้อ่านเป็นสำคัญ
.
การสนทนาธรรมะกับพระอาจารย์สวง วัดเขาพระ (จ.ลพบุรี)
.
เรื่องแรก คนที่ด่าพ่อแม่คนอื่น
เมื่อไม่เคยด่าพ่อแม่คนอื่น  คนอื่นไม่ด่าพ่อแม่เรา
เมื่อไม่ต้องการให้ใครมาด่าพ่อแม่เรา  เราต้องไม่ไปด่าพ่อแม่ของคนอื่น ถ้าเราทำเป็นปกติ
ในเรื่องนี้ อยู่ในหลัก มงคลสูตร เมื่อเราไหว้เขาแล้ว เขาจะไหว้เราตอบ , เขาด่าเรา เราก็ด่าตอบ ถ้าในชาติภพปัจจุบัน เราไม่เคยด่าพ่อแม่คนอื่น  แสดงว่า ในภพชาติที่ผ่านมา เราเคยไปด่าพ่อแม่คนอื่นไว้ ภพชาติที่แล้วเคยไปกระทำกับเขาไว้ ในชาตินี้เขาก็เลยมาเอาคืน 
แต่ในเมื่อรู้แล้วว่า การกระทำนี้ไม่ดีและไม่ถูกต้อง  เราต้องอโหสิกรรม  จึงส่งผลให้กรรมอันนั้นหลุดไป  แต่ถ้าไม่อโหสิกรรม เหมือนกับการผูกข้อต่อของโซ่ในแต่ละห่วงไว้ และผลนั้นติดตามต่อไปในภพชาติหน้าอีก
ดังนั้น ต้องตัดโซ่(กรรม)อันนั้นให้ได้ 
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในเรื่อง อภัยทาน  ที่เป็นทานที่มีอนิสงค์สูงที่สุด

หมายเหตุ มงคลสูตร  อธิบายเพิ่มเติม (เพิ่มจากในส่วนที่พระอาจารย์สวง ท่านให้ธรรมะมา)

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

มงคลสูตรในขุททกปาฐะ
[๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ครั้นปฐมยามล่วงไป
เทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น
แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

[๖] เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล

พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า
การไม่คบคนพาล ๑
การคบบัณฑิต ๑
การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑
ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑
การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
พาหุสัจจะ ๑
ศิลป ๑
วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑
วาจาสุภาสิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การบำรุงมารดาบิดา ๑
การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑
การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ทาน ๑
การประพฤติธรรม ๑
การสงเคราะห์ญาติ ๑
กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การงดการเว้นจากบาป ๑
ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑
ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ความเคารพ ๑
ความประพฤติถ่อมตน ๑
ความสันโดษ ๑
ความกตัญญู ๑
การฟังธรรมโดยกาล ๑  นี้เป็นอุดมมงคล
ความอดทน ๑
ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑
การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑
การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ความเพียร ๑
พรหมจรรย์ ๑
การเห็นอริยสัจ ๑
การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ๑
ไม่เศร้าโศก ๑
ปราศจากธุลี ๑
เป็นจิตเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ               
จบมงคลสูตร
ที่มา เว็บไซด์ 84000
จบอธิบายเพิ่มเติมในส่วน มงคลสูตร (เพิ่มจากในส่วนที่พระอาจารย์สวง ท่านให้ธรรมะมา)
.
เรื่องที่สอง  การที่บุคคลที่รู้จักกันในภพชาตินี้  ต้องเคยรู้จักกันในภพชาติที่แล้วเสมอ เพราะผลของกรรมที่เคยได้ร่วมกระทำกันมา เช่น บางคนที่พึ่งเคยเห็นหน้า แต่ไม่ชอบหน้า (ทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน) แสดงว่า ในอดีตชาติเคยกระทำกรรมที่ไม่ดีต่อกันมา 
เมื่อพบหน้ากัน จิตเราเกิด ปฎิฆะ (ความไม่ยินดีพอใจ  อยู่ใน อนุสัย 7) คือ การกระทบกระทั่งในจิตเรา
ทุกคนมีสัญญาเก่า (การกระทำต่อกันในอดีตชาติ) และ สัญญาใหม่  (การเกิดใหม่ในภพปัจจุบัน)  ขาดจากกัน เนื่องจากต่างภพต่างชาติที่ได้เกิดขึ้นมา แต่สัญญาเก่า (ความกระทบกระทั้งของจิต) ในส่วนลึกยังคงอยู่ในจิต (ที่บันทึกกรรมไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว) เสมอ
.
หมายเหตุ อนุสัย 7  อธิบายเพิ่มเติม (เพิ่มจากในส่วนที่พระอาจารย์สวง ท่านให้ธรรมะมา)
อนุสัย 7 คือ กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน เหมือนตะกอนนอนอยุ่ที่ก้นภาชนะ ตะกอนจะฟุ้งขึ้นมาทำน้ำให้ขุ่นเพราะมีคนไปกระทบหรือกวนภาชนะฉันใด อนุสัยกิเลสก็เช่นเดียวกัน จะฟุ้งขึ้นมาทำจิตให้ขุ่นมัว ต่อเมื่อมีอารมณ์ภายนอกมากระทบเช่นเดียวกันฉันนั้น[1]
อนุสัย 7 เป็นกิเลสที่มีความละเอียดที่สุด สามารถกำจัดได้ด้วยปัญญาเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกิเลสที่มีในสังโยชน์ อนุสัย 7 นี้ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังโยชน์ 7 ประกอบด้วย
•   ทิฏฐิ การหลงในความเห็น (สักกายทิฏฐิและสีลัพพัตตปรามาส)
•   วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
•   ปฏิฆะ ความไม่ยินดีพอใจ
•   ราคะ ความยินดีพอใจในกาม(กามราคะ)
•   ภวราคะ ความยึดติดในภพ ทั้ง รูปภพ อรูปภพ
•   มานะ ความสำคัญว่าดีกว่า เสมอกัน เลวกว่า ในสิ่งทั้งปวง
•   อวิชชา ความไม่รู้จริง
ที่มา วิกิพีเดีย
จบอธิบายเพิ่มเติมในส่วน อนุสัย 7 (เพิ่มจากในส่วนที่พระอาจารย์สวง ท่านให้ธรรมะมา)
.
เรื่องที่สาม การพูดเอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้คนอื่น
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า เรามีกรรมเป็นของตนเอง เรามีกรรมเป็นผู้นำมามอบให้ เรามีกรรมเป็นผู้นำไปเกิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์และพวกพ้อง เรานั่นแหละเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น หนีไม่พ้น  ขนาดสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังหนีกรรมไม่พ้น 
หมายเหตุ  กรรมของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ท่านต้องรับกรรมในขณะที่พระองค์ท่านเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  โดยพระอาจารย์สวง ท่านนำมาพูดก็คือ เรื่อง ห้ามผู้อื่นดื่มน้ำ ทำให้ต้องอดน้ำ
คราวหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้สระอโนดาต ได้ตรัสเล่าบุพกรรมของพระองค์เรื่องที่ ๒ ให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า
ชาติปางก่อน เรา เมื่อครั้งเกิดเป็นนายโคบาล ต้อนโคไปเลี้ยง ได้เห็นแม่โคกำลังดื่มน้ำขุ่น จึงห้ามมันไว้ไม่ให้ดื่ม ด้วยผลกรรมนั้น ในภพสุดท้ายนี้ เรากระหายน้ำ ก็ไม่ได้ดื่มน้ำตามความปรารถนา
มีเรื่องกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพานหลังจากเสวยพระกระยาหารที่นายจุนทกัมมารบุตรจัดถวายแล้ว ได้เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรงลงพระบังคนหนักเป็นโลหิต(ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด) ทรงมีทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส(กระหายน้ำอย่างมาก) แต่ทรงใช้สติสัมปชัญญะข่มทุกขเวทนาไว้ ตรัสชวนท่านพระอานนท์ ออกเดินทางต่อไปยังกรุงกุสินารา ระหว่างทางทรงหยุดพักและรับสั่งให้พระเถระนำน้ำดื่มมาถวาย แต่พระอานนท์กราบทูลว่า น้ำในแม่น้ำตรงนั้น มีน้ำน้อยและถูกกองเกวียน ๕๐๐ เล่มเหยียบย่ำไปก่อนหน้านั้นแล้วก็ไม่ไปตักมาถวาย จนพระองค์ต้องรับสั่งในครั้งที่ ๓ พระอานนท์จึงไปตักน้ำนำมาถวายให้พระองค์ได้ทรงดื่ม และน้ำที่พระอานนท์ไปตักนั้น กลับเป็นน้ำใสสะอาด น่าอัศจรรย์ใจมาก
.
หมายเหตุ อภิณหปัจจเวกขณ์  อธิบายเพิ่มเติม (เพิ่มจากในส่วนที่พระอาจารย์สวง ท่านให้ธรรมะมา)
ชราธัมโมมหิ  ชะรัง อะนะติโต เรามีความแก่เป็นธรรมดา  จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้
พะยาธิธัมโมมหิ  พะยาธิง  อะนะตีโต เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา  จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้
มะระณะธัมโมมหิ  มะระณัง  อะนะตีโต เรามีความตายเป็นธรรมดา  จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้
สัพเพหิ  เม  ปิเยหิ  มะนาเปหิ  นานาภาโว  วินาภาโว เราจักพลัดพรากจากของที่รัก ของชอบใจทั้งหลาย
กัมมัสสะโกมหิ  กัมมะทายาโท เรามีกรรมเป็นของๆตน  เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
กัมมะโยนิ   กัมมะพันธุ เรามีกรรมเป็นแดนเกิด  เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์
กัมมะปะฏิสะระโน   ยัง กัมมัง กะริสสามิ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย  เราทำกรรมอันใดไว้
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา เป็นกรรมดีก็ตาม  เป็นกรรมชั่วก็ตาม
ตัสสะ  ทายาโท  ภะวิสสามิ เราจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น
เอวัง  อัมเหหิ  อะภิณหัง  ปัจจะเวกขิตัพพัง เราทั้งหลายพึงพิจารณาเนืองๆอย่างนี้แล.
จบอธิบายเพิ่มเติมในส่วน อภิณหปัจจเวกขณ์ (เพิ่มจากในส่วนที่พระอาจารย์สวง ท่านให้ธรรมะมา)
.
เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจแล้วใช้อำนาจในการสั่งผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเป็นการเอาเปรียบผู้ใต้บังคับบัญชา , เรื่องที่คนที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาบางคนให้ทำงานให้กับตนเอง  โดยผู้ใต้บังคับบัญชาบางคนต้องใช้เงินและทรัพย์สินของตนเองที่ได้(จากการทำงาน)มาด้วยความสุจริตและบริสุทธิ์  เพื่อให้ทำงานให้กับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งบริษัทห้างร้านต่างๆ  และเรื่องของการพิจารณาการขึ้นเงินเดือนและการจ่ายโบนัส ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานราชการ , รัฐวิสาหกิจ และ บริษัทห้างร้านต่างๆ
บุคคลที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน  เป็นคนที่บุญเก่าที่ตนเองได้เคยกระทำไว้ได้ส่งผลให้เป็นคนที่มีอำนาจอยู่ แต่หากหมดบุญที่ส่งผลให้อยู่นั้น และผลกรรมชั่วที่ตนเองได้เคยกระทำไว้ในอดีตส่งผลมาแทนที่  คนนั้นก็เหมือนกับหมาขี้เรื้อนตัวนึงเท่านั้น
.
คนที่สั่งการในลักษณะนี้ เป็นผู้ที่มี อคติ 4 คือ
1.มีความลำเอียงเพราะความรักใคร่
2.มีความลำเอียงเพราะความโกรธ
3.มีความลำเอียงเพราะความเขลา
4.มีความลำเอียงเพราะความกลัว
.
ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในปัจจุบัน  เนื่องจากผลบุญยังคงส่งผลให้อยู่ เหมือนกับน้ำที่พ้นตอไม้(ที่อยู่ใต้น้ำ) แต่เมื่อไหร่ที่ผลบุญที่ส่งผลให้อยู่นั้นหมดลง  กรรม(ชั่ว)จะส่งผลให้เมื่อถึงเวลา เปรียบเหมือนกับเวลาที่น้ำลดแล้วตอไม้(ที่เดิมอยู่ใต้น้ำ) โผล่พ้นน้ำมาให้เห็นนั่นเอง
เปรียบเหมือนกับเวลาที่เดินบนพื้นดิน(ที่ผลบุญส่งผลให้อยู่) พอเดินไปปรากฎว่ากลายเป็นอากาศ ทำให้การเดินนั้นตกลงเหว) นั่งคือผลกรรม(ชั่ว)ส่งผลให้กับบุคคลนั้น  เช่น คนที่รุกผืนป่าที่เมื่อก่อนเป็นคนมีอำนาจ แต่เมื่อหมดอำนาจนั้นๆ ส่งผลให้ถูกดำเนินคดี เป็นต้น
.
ปัจจุบันบุคคลส่วนใหญ่เห็นเงินเป็นพระเจ้า  อำนาจ , เงินตรา , ยศฐา และ ชื่อเสียง เป็น โลกธรรม8 ครอบสัตว์โลกไว้ และ ให้สัตว์โลกเป็นไปตามโลกธรรมนี้
.
ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องกระทำในงาน(ที่แจ้งไว้ด้านบน) ส่วนใหญ่เป็นการกระทำเพราะกลัว  เช่น กลัวตกงาน , กลัวอำนาจของผู้บังคับบัญชาจะมาทำร้าย   เหมือนกับผู้ใต้บังคับบัญชาไป #ต่อตีนโจร  ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ทำงาน  งานนั้นก็ทำไม่สำเร็จ เช่น โจรจะเข้าไปขโมยของ  ถ้าไม่มีบริวารโจรที่คอยช่วยเหลือแล้ว โจรก็ไม่สามารถเข้าไปลักทรัพย์นั้นได้  ในการกระทำนี้เป็นการกระทำให้เกิดกรรมเช่นกัน  เมื่อตายไปแล้ว ไปเกิดในภพชาติใหม่  คนที่ต่อตีนโจรต้องกลับไปเป็นบริวารของโจรอีก อีกทั้งผลของกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นคนที่ต่อตีนโจร ได้รับผลเช่นเดียวกันกับผู้บังคับบัญชาเช่นกัน
แต่หากผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ต้องการไปต่อตีนโจร ก็ต้องฝืน(ไม่ยอม) อะไรจะเกิดขึ้นตามมา ก็ให้เป็นไป (กลัวหรือเปล่าที่ไม่ต่อตีนโจร) เช่น ตกงานก็ยอม เป็นอะไรก็เป็นกัน  ต้องไม่เกรงกลัวในอำนาจของผู้บังคับบัญชา เงินไม่มีไม่เป็นไร ไม่มียศฐา ไม่เป็นไร ไม่มีชื่อเสียงไม่เป็นไร
แต่โลกในยุคปัจจุบันอยู่ได้ด้วยเงิน  เมื่อขาดเงินก็ไม่สามารถอยู่ได้
เรื่องนี้ต้องตัดสินใจเลือกหนทางในเรื่องของ ต่อตีนโจร ให้รอบคอบและละเอียดถี่ถ้วน
.
หมายเหตุ อคติ 4   อธิบายเพิ่มเติม (เพิ่มจากในส่วนที่พระอาจารย์สวง ท่านให้ธรรมะมา)
อคติ 4 ประการ และแนวทางการละอคติ

อคติ 4 หมายถึง วิถีในทางที่ผิดหรือการดำเนินไปในทางที่ผิด ทั้งนี้ อันเกิดจากทัศนะหรือความคิดเห็นในทางที่ผิด ซึ่งต่อมาจึงใช้คำให้เข้าใจง่ายเป็น ความลำเอียง หรือ ความไม่เที่ยงธรรม ประกอบด้วย 4 ประการ คือ

1. ฉันทาคติ คือ ความลำเอียงเพราะชอบพอ
2. โทสาคติ คือ ความลำเอียงเพราะโกรธหรือชิงชัง
3. โมหาคติ คือ ความลำเอียงเพราะหลง หรือ ความลำเอียงเพราะความเขลา
4. ภยาคติ คือ ความลำเอียงเพราะกลัว
อคติ 4 เป็นธรรมสำหรับปุถุชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้นำ เป็นหัวหน้า ผู้ที่ทำหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือเป็นข้าราชการ เพราะธรรมเหล่านี้ เป็นสัจจะความจริงที่มักเกิดขึ้นกับบุคคลเหล่านี้ และมีผลอย่างมากต่อการบริหารงาน ต่อการปกครอง และความสงบสุขของสังคม
ผู้นำ หัวหน้างานหรือฝ่ายปกครองที่ละเว้นจากอคติ 4 ประการนี้ได้ ย่อมทำให้ลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนเกิดความสุข อันส่งผลต่อความเจริญของสังคม และความสงบสุขของสังคมตามมา
อคติ มาจากภาษาบาลี คำว่า
อะ หมายถึง ผิด, ไม่, ไม่ถูกต้อง, ไม่ดีงาม, ไม่สมควร
คติ หมายถึง วิถี, แนวทาง, สิ่งที่เป็นไป, การดำเนินไป, ความเป็นไป, การตอบสนอง, การแสดงออก
คติ มีความแตกต่างกับ ทัศนะ คือ
ทัศนะ หมายถึง ความเห็น, ความคิดเห็น, มุมมอง ส่วน คติ หมายถึง ดังข้างต้น ดังนั้น ทัศนคติ จึงหมายถึง การแสดงออก หรือ วิถีที่ดำเนินไปอันเกิดจากความคิดหรือความเห็น
ความหมายที่ครอบคลุมของอคติ

– วิถีในทางที่ผิด
– แนวทางที่ผิด
– สิ่งที่เป็นไปในทางที่ไม่ดีงาม
– การดำเนินไปในทางที่ผิด
– ความลำเอียง
– ความไม่เที่ยงธรรม
– ความไม่เป็นกลาง
ความหมายของอคติแต่ละประการ

1. ฉันทาคติ คือ ความลำเอียงเพราะชอบพอ
ฉันทาคติ มาจากคำว่า ฉันทะ + อคติ
ฉันทะ หมายถึง ความชอบใจ หรือ ความพอใจ
2. โทสาคติ คือ ความลำเอียงเพราะโกรธหรือชิงชัง
โทสาคติ มาจากคำว่า โทสะ + อคติ
โทสะ หมายถึง ความโกรธ
ปัจจัยที่ก่อเกิดความโกรธหรือชิงชังในคัมภีร์ปริวาร
– โกรธเพราะได้ทำแล้วซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อโทษแก่ตนเอง
– โกรธเพราะกำลังทำซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อโทษแก่ตนเอง
– โกรธเพราะคิดจะทำซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อโทษแก่ตนเอง
– โกรธเพราะได้ทำแล้วซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อโทษแก่คนที่ตนรัก
– โกรธเพราะกำลังทำซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อโทษแก่คนที่ตนรัก
– โกรธเพราะคิดจะทำซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อโทษแก่คนที่ตนรัก
– โกรธเพราะได้ทำแล้วซึ่งประโยชน์ต่อผู้ที่ตนชิงชัง
– โกรธเพราะกำลังทำซึ่งประโยชน์ต่อผู้ที่ตนชิงชัง
– โกรธเพราะคิดจะทำซึ่งประโยชน์ต่อผู้ที่ตนชิงชัง
3. โมหาคติ คือ ความลำเอียงเพราะหลง หรือ ความลำเอียงเพราะความเขลา
โมหาคติ มาจากคำว่า โมหะ + อคติ
โมหะ หมายถึง ความหลง ความลุ่มหลง
4. ภยาคติ คือ ความลำเอียงเพราะกลัว
ภยาคติ มาจากคำว่า ภยะ + อคติ
ภยะ หมายถึง ความกลัว ความหวาดหวั่น หรือ มักเรียกกลายเป็นศัพท์ว่า ภัย
แนวทางการละอคติ 4
1. ไม่คบคนพาล
2. จักกสูตร 4 ประการ
– อยู่ในประเทศอันสมควร หมายถึง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นคนดี
– การคบสัตบุรุษ
– การตั้งตนไว้ชอบ คือ ยึดมั่นในการประพฤติตนให้เป็นคนดีอย่างสม่ำเสมอ
– ความเป็นผู้มีบุญที่ทำไว้ในปางก่อน คือ เชื่อถือในความดีงามที่ทำมาว่าจะเกิดกุศลกรรมที่ดีงามต่อเราในภพนี้ และภพหน้า
3. สัมมาทิฏฐิ คือ ตั้งมั่นในความเห็นชอบ
4. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ พิจารณาสภาพจิตของตนเอง
5. กุศลวิตก 3 คือ การตรึกตรองถึงสิ่งที่เป็นกุศล 3 อย่าง คือ
– การตรึกตรองที่เว้นจากกาม
– การตรึกตรองที่เว้นจากพยาบาท
– การตึกตรองที่เว้นจากการเบียดเบียน
6. สาราณียธรรม 6
7. พรหมวิหาร 4
ที่มา thaihealthlife
จบอธิบายเพิ่มเติมในส่วน อคติ 4   (เพิ่มจากในส่วนที่พระอาจารย์สวง ท่านให้ธรรมะมา)
.
หมายเหตุ โลกธรรม 8   อธิบายเพิ่มเติม (เพิ่มจากในส่วนที่พระอาจารย์สวง ท่านให้ธรรมะมา)
โลกธรรม ๘

ภิกษุทั้งหลาย
โลกธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ
๘ ประการเป็นไฉน คือ
มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และ ทุกข์ แปดอย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงในหมู่มนุษย์ ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา,
ผู้มีปัญญา มีสติ รู้ความข้อนี้แล้วย่อมเพ่งอยู่ในความแปรปรวน เป็นธรรมดาของโลกธรรมนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย
ลาภก็ดี ความเสื่อมลาภก็ดี ยศก็ดี ความเสื่อมยศก็ดี นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี สุข
ก็ดี ทุกข์ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่อริยสาวกผู้ได้สดับ
ภิกษุทั้งหลาย
ในข้อนี้จะมีอะไรแปลกกัน มีอะไรผิดกัน มีอะไรเป็นข้อแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับ กับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฯ

ภิกษุทั้งหลาย
ลาภย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความ
เป็นจริงว่า ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความเสื่อมลาภ ... ยศ ... ความเสื่อมยศ ... นินทา ... สรรเสริญ ... สุข ... ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของเขาได้ แม้ความเสื่อมลาภ ...แม้ยศ ... แม้ความเสื่อมยศ ... แม้นินทา ... แม้สรรเสริญ ... แม้สุข ... แม้ทุกข์ย่อมครอบงำจิตของเขาได้ เขาย่อมยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ ย่อมยินดียศที่เกิดขึ้น ย่อมยินร้ายในความเสื่อมยศ ย่อมยินดีสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในนินทา ย่อมยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในทุกข์
เขาประกอบด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้ ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์ ฯ

ภิกษุทั้งหลาย
ลาภย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ อริยสาวกนั้น ย่อมตระหนักชัดทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ลาภนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ ... ยศ ...ความเสื่อมยศ ... นินทา ... สรรเสริญ ... สุข ... ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ อริยสาวกนั้นย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาแม้ลาภย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ แม้ความเสื่อมลาภ ... แม้ยศ ... แม้ความเสื่อมยศ ... แม้นินทา ... แม้สรรเสริญ ... แม้สุข ... แม้ทุกข์ย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมลาภไม่ยินดียศที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมยศ ไม่ยินดีความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในนินทา ไม่ยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในทุกข์ท่านละความยินดียินร้ายได้แล้วเด็ดขาดอย่างนี้ ย่อมพ้นไปจากชาติ ชรา มรณะโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์ ภิกษุทั้งหลาย
นี้แลเป็นความแปลกกัน ผิดกัน แตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฯ

พระไตรปิฎกภาษาไทย(ฉบับหลวง)
เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๑๒๓ ข้อที่ ๙๖.
(บาลี อฏฐก. อํ. ๒๓/๑๕๙/๙๖.)
 ที่มา buddhawajana
จบอธิบายเพิ่มเติมในส่วน โลกธรรม 8 (เพิ่มจากในส่วนที่พระอาจารย์สวง ท่านให้ธรรมะมา)
.
เรื่องที่ห้า เรื่องของการอโหสิกรรม
การกระทำกรรมต่อกัน  ฝ่ายหนึ่งมีการอโหสิกรรมให้กับบุคคลที่มากระทำกรรมต่อตนเอง  แต่อีกฝ่ายไม่อโหสิกรรมให้  เหมือนกับคนที่ส่งของมาให้ทางไปรษณีย์  หากผู้รับ  ไม่รับของชิ้นนั้น  ของชิ้นนั้นต้องกลับไปยังผู้ส่งเสมอ
.
หมายเหตุ อโหสิกรรม   อธิบายเพิ่มเติม (เพิ่มจากในส่วนที่พระอาจารย์สวง ท่านให้ธรรมะมา)
อโหสิกรรม แปลว่า ได้มี ได้เป็น
พระศาสดาใช้ อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน

ภิกษุ ท. ! อริยสาวก ในกรณีนี้ ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต.
ภิกษุ ท. ! อริยสาวกเว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว ย่อมชื่อว่า ให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลายมากไม่มีประมาณ ; ครั้นให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลายมากไม่มีประมาณแล้ว ย่อมเป็นผู้ มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน อันไม่มีประมาณ.

ภิกษุ ท. ! นี้เป็น (อภัย) ทานชั้นปฐม เป็นมหาทาน รู้จักกันว่าเป็นของเลิศเป็นของมีมานาน เป็นของประพฤติสืบกันมาแต่โบราณไม่ถูกทอดทิ้งเลย ไม่เคยถูกทอดทิ้งในอดีต ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบัน และจักไม่ถูกทอดทิ้งในอนาคต อันสมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่คัดค้าน.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้เป็นท่อธารแห่งบุญ (อันดับที่สี่) เป็นที่ไหลออกแห่งกุศล นำมาซึ่งสุข เป็นไปเพื่อยอดสุดอันดี มีสุขเป็นวิบากเป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขอันพึงปรารถนาน่ารักใคร่ น่าพอใจ.
ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : อริยสาวก ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน.
ภิกษุ ท. ! อริยสาวกเว้นขาดจากอทินนาทานแล้ว ย่อมชื่อว่า ให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลายมากไม่มีประมาณ; ครั้นให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลายมากไม่มีประมาณแล้ว ย่อมเป็นผู้ มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน อันไม่มีประมาณ.
ภิกษุ ท. ! นี้เป็น (อภัย) ทานอันดับที่สอง เป็นมหาทานรู้จักกันว่า เป็นของเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นของประพฤติสืบกันมาแต่โบราณไม่ถูกทอดทิ้งเลย ไม่เคยถูกทอดทิ้งในอดีต ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบัน และจักไม่ถูกทอดทิ้งในอนาคต อันสมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่คัดค้าน.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้เป็นท่อธารแห่งบุญ (อันดับที่ห้า) เป็นที่ไหลออกแห่งกุศล นำมาซึ่งสุข เป็นไปเพื่อยอดสุดอันดี มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุข อันพึงปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ.
ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : อริยสาวก ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร.
ภิกษุ ท. ! อริยสาวกเว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจารแล้วย่อมชื่อว่า ให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลายมากไม่มีประมาณ; ครั้นให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลายมากไม่มีประมาณแล้ว ย่อมเป็นผู้ มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอันไม่มีประมาณ.
ภิกษุ ท. ! นี้เป็น (อภัย) ทานอันดับที่สาม เป็นมหาทาน รู้จักกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นของประพฤติสืบกันมาแต่โบราณไม่ถูกทอดทิ้งเลย ไม่เคยถูกทอดทิ้งในอดีต ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบัน และจักไม่ถูกทอดทิ้งในอนาคต อันสมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่คัดค้าน.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้เป็นท่อธารแห่งบุญ (อันดับที่หก) เป็นที่ไหลออกแห่งกุศล นำมาซึ่งสุข เป็นไปเพื่อยอดสุดอันดี มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขอันพึงปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคปลาย หน้า ๑๐๘๔
(ไทย)อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๑๙๑/๑๒๙.
ที่มา buddhawajana
จบอธิบายเพิ่มเติมในส่วน อโหสิกรรม (เพิ่มจากในส่วนที่พระอาจารย์สวง ท่านให้ธรรมะมา)
.
รักษาธรรม ธรรมรักษา
Noom Wangna
ผู้เขียน ที่ได้เรียบเรียงจากการสนทนาธรรมะกับพระอาจารย์สวง วัดเขาพระ จ.ลพบุรี
บทความ ไม่สงวนลิขสิทธิ์
#พระอาจารย์สวงกิตติสาโร
#วัดเขาพระ
#ชมรมพระวังหน้า
#คณะพระวังหน้า
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)