ผู้เขียน หัวข้อ: ว่าด้วยเรื่อง การทำบุญที่ถูกต้องและถูกวิธีอย่างย่อ  (อ่าน 994 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
.
ว่าด้วยเรื่อง การทำบุญที่ถูกต้องและถูกวิธีอย่างย่อ
.
ผมนำเรื่องราวการทำบุญผมรวบรวมมาจากหลายแหล่งข้อมูล
เพื่อให้ทราบกันว่า การทำบุญที่ถูกต้องและถูกวิธีกัน (อย่างย่อ) ครับ
.
.
.
เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญ มีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่องหลักก็คือ
.
1.ว่าด้วยเรื่อง วิธีการทำบุญ
2.ว่าด้วยเรื่อง ผู้ทำบุญ (หรือผู้ให้)
3.ว่าด้วยเรื่อง ปัจจัยหรือสิ่งของที่นำไปทำบุญ
4.ว่าด้วยเรื่อง ผู้รับ
.
มาเริ่มกันเลยครับ
.
.
1.ว่าด้วยเรื่อง วิธีการทำบุญที่ถูกต้อง
มีอยู่ด้วยกัน 10 วิธีนี้เท่านั้น ไม่มีวิธีอื่นนอกเหนือจากนี้ นั่นก็คือ
.
.
บุญกิริยาวัตถุ 10 (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, ทางทำความดี — bases of meritorious action)
.
      1. ทานมัย (ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ — meritorious action consisting in generosity; merit acquired by giving)
.
      2. สีลมัย (ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี — by observing the precepts or moral behavior)
.
      3. ภาวนามัย (ทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ — by mental development)
.
      4. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม — by humility or reverence)
.
      5. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ — by rendering services)
.
      6. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น — by sharing or giving out merit)
.
      7. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น — by rejoicing in others’ merit)
.
      8. ธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ — by listening to the Doctrine or right teaching)
.
      9. ธัมมเทสนามัย (ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ — by teaching the Doctrine or showing truth)
.
      10. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง — by straightening one’s views or forming correct views)
.
.
.
2.ว่าด้วยเรื่อง ผู้ทำบุญ (หรือผู้ให้)
.
.
การทำบุญไม่ว่าจะเป็นการทำบุญในเรื่องใดก็ตาม อย่างน้อยผู้ที่ทำบุญต้องมี ศีล 5 ครบบริบูรณ์ แต่หากว่า ผู้ที่ทำบุญมีศีลที่มากกว่าศีล 5 มากเท่าใด  อานิสงส์ของการทำบุญจะมีมากตามศีลของผู้ทำบุญ
.
มาว่าด้วยเรื่องของผู้ทำบุญในการทำทานมัย
.
เรื่องของทาน ตลอดจนการให้ทานที่ถูกต้องไว้บ้าง เพื่อทานของเราจะได้เป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
.
.
ที่มาของบทความตั้งแต่ คำว่า ทาน ที่แปลว่า การให้
บทความเรื่อง ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เขียนโดย ประณีต  ก้องสมุทร
.
               คำว่า ทาน ที่แปลว่า การให้ นั้น จัดเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความดีอย่างหนึ่ง หมายถึง เจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดการให้ก็ได้ หมายถึงวัตถุ คือสิ่งของที่ให้ก็ได้ ทานจึงมีความหมายที่เป็นทั้งนามธรรมและรูปธรรม ถ้าหมายถึงเจตนาที่ให้ก็เป็นนามธรรม ถ้าหมายถึงวัตถุที่ให้ก็เป็นรูปธรรม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงทานในความหมายทั้งสองอย่างนี้รวมๆ กันไป
.
               เจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดการให้ทานนั้น แบ่งตามกาลเวลาได้ ๓ กาล คือ
ปุพเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นก่อน คือเมื่อนึกจะให้ ก็แสวงหาตระเตรียมสิ่งที่จะให้นั้นให้พร้อม
มุญจเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังให้ของเหล่านั้น
อปรเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากได้ให้เรียบร้อยแล้ว แล้วเกิดความปีติยินดีในการให้ของตน
.
               บุคคลใดที่ทำบุญหรือให้ทานด้วยจิตใจที่โสมนัสยินดี ทั้งประกอบด้วยปัญญา เชื่อกรรมและผลของกรรมครบทั้ง ๓ กาลแล้ว บุญของผู้นั้นย่อมมีผลมาก
.
               เจตนาทั้ง ๓ กาลนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับไปเช่นเดียวกับสังขารธรรมอื่นๆ และเมื่อดับไปแล้วสามารถจะส่งผลนำเกิดในสุคติภูมิเป็นมนุษย์และเทวดาได้
.
ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน แสดงความบุพกรรม คือกรรมในชาติก่อนๆ ของผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่เกี่ยวกับทานไว้มากมาย ตัวอย่าง
.
เช่น พระอรหันต์รูปหนึ่งในอดีตชาติได้ถวายผลมะกอกผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในป่าใหญ่ รูปหนึ่งเคยถวายดอกบุนนาค รูปหนึ่งเคยถวายขนม รูปหนึ่งเคยถวายรองเท้าเป็นต้น นับแต่นั้นมาท่านเหล่านั้นไม่เคยเกิดในทุคติภูมิเลย เกิดอยู่แต่ในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์และเทวดาเท่านั้น ตราบจนในชาติสุดท้ายได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
.
ที่มาของบทความตั้งแต่ คำว่า ทาน ที่แปลว่า การให้
บทความเรื่อง ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เขียนโดย ประณีต  ก้องสมุทร
.
เรื่องที่ผมเคยบอกไว้ว่า ผมรำลึกนึกถึงบุญที่ผมได้เคยทำมาในอดีตอยู่บ่อยๆ  ผมนำบทความที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ให้อ่านกัน
.
ที่มาของบทความ ตั้งแต่ คนที่ทำบุญแล้วระลึกฯ
เรื่อง นานาปัญหา โพสโดย คณะสหายธรรม
.
คนที่ทำบุญแล้วระลึกถึงบุญที่ตนทำมาบ่อยๆ ระลึกแล้วก็ปิติโสมนัสในการกระทำนั้น บุญก็เกิดอีกแน่นอน เพราะฉะนั้น ในสมถกรรมฐานว่าด้วยอนุสสติ ๑๐ มีพุทธานุสสติ ๑ ธัมมานุสสติ ๑ สังฆานุสสติ ๑ สีลานุสสติ ๑ จาคานุสสติ ๑ เทวตานุสสติ ๑ มรณสติ หรือมรณานุสสติ ๑ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ และอุปสมานุสสติ ๑
.
          ในอนุสสติเหล่านั้น ท่านจะเห็นว่าเราสามารถจะระลึกถึงศีลที่เรารักษาดีแล้วได้บ่อยๆ นึกถึงทานที่เราบริจาคดีแล้วได้บ่อยๆ เพื่อให้จิตใจสงบเป็นสมาธิได้ ศีลที่เรารักษาแล้วก็เป็นบุญกุศลที่เราสามารถระลึกถึงได้บ่อยๆ เพื่อให้เกิดสมาธิจัดไว้ในข้อสีลานุสสติ
.
          ส่วนทานการบริจาคที่เราทำแล้วก็เช่นเดียวกัน เราสามารถจะระลึกได้บ่อยๆ จนจิตสงบเกิดสมาธิ จัดไว้ในข้อจาคานุสสติ เพราะฉะนั้นบุญกุศลที่เราทำแล้ว เมื่อเราระลึกถึงอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ก็ย่อมเกิดกุศลเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่ต้องเป็นการระลึกถึงด้วยความปิติโสมนัสในการกระทำนั้น
.
ในการทำบุญให้ทานเป็นต้นนั้น ผลของบุญที่ทำแล้วจะเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ก็เพราะท่านตั้งเจตนาไว้ดีแล้วใน ๓ กาล คือ
.
          ๑. ในกาลก่อนที่จะให้ทำหรือทำ เรียกว่าบุพเจตนาดี
.
          ๒. ในเวลากำลังให้ก็มีใจยินดีหรือในขณะทำกุศลก็มีใจยินดี เรียกว่ามุญจนเจตนาดี
.
          ๓. ทำแล้วระลึกขึ้นมาก็ยินดี เรียกว่าอปรเจตนาดี หรือแม้ทำแล้วนานๆ ระลึกถึงก็ยังยินดี เรียกว่าอปราปรเจตนาดี ซึ่งทั้งอปรเจตนาหรืออปราปรเจตนานี้ ก็รวมไว้ในเจตนาครั้งหลัง คือหลังจากทำแล้วก็ระลึกถึงด้วยความยินดี การที่เราระลึกถึงบุญกุศลที่ทำแล้วด้วยความปิติยินดีนี้ จึงจัดอยู่ในเจตนาครั้งหลังนี้
.
          ถ้าทำได้ครบทั้ง ๓ กาลเช่นนี้ กุศลของท่านย่อมถึงความไพบูลย์แน่นอน
.
พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงเรื่องการใช้ทรัพย์ ไว้ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาทิยสูตรที่ ๑   (ข้อ ๔) ๕ ประการ คือ
.
               ๑. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม บำรุงเลี้ยงตนเอง บิดา มารดา บุตร ภรรยาและ บ่าวไพร่ให้มีความสุข ไม่อดยาก
.
               ๒. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม เลี้ยงดูมิตรสหายให้อิ่มหนำสำราญ
.
               ๓. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม ป้องกันอันตรายอันเกิดจากไฟ จากน้ำ พระราชา  โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เพื่อให้ตนปลอดภัยจากอันตรายนั้นๆ
.
               ๔. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม ทำพลี คือบูชา หรือบำรุงในที่ ๕ สถาน คือญาติพลี บำรุงญาติ อติถิพลี ต้อนรับแขก ปุพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ราชพลี บำรุงราชการมีการเสียภาษีอากรเป็นต้น และเทวตาพลี ทำบุญแล้วอุทิศให้แก่เทวดา เพราะว่าเทวดาย่อมคุ้มครองรักษาผู้นั้นด้วยคิดว่า  "คนเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็นญาติของเราเขาก็ยังมีน้ำใจให้ส่วนบุญแก่เรา เราควรอนุเคราะห์เขาตามสมควร"
.
               ๕. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม บำเพ็ญทักษิณาทานที่มีผลเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ไว้ในสมณะพราหมณ์ผู้เว้นจากความประมาท มัวเมา ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะเป็นผู้หมั่นฝึกฝนตนให้สงบระงับจากกิเลส
.
ในข้อ ๕ นี้ตรัสสอนให้ใช้ทรัพย์ที่หามาได้ให้ทานแก่ผู้มีศีล ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติเพื่อความหมดจดจากกิเลส ผู้เป็นทักขิเณยยบุคคล เพราะทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก ทำให้เกิดในสวรรค์ ได้รับความสุขอันเป็นทิพย์ นอกจากนั้นผู้ถวายยังอาจบรรลุคุณวิเศษ เพราะธรรมที่ท่านผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบเหล่านั้นยกมาแสดงให้ฟังได้อีกด้วย ผู้มีปัญญาย่อมไม่เสียดายทรัพย์ที่หมดเปลืองไปเพราะเหตุเหล่านี้ เพราะว่าท่านได้ใช้ทรัพย์นั้นถูกทางแล้วเกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นแล้ว โดยเฉพาะทรัพย์คือบุญที่ท่านถวายไว้ในผู้มีศีลเหล่านั้น ยังสามารถติดตามตนไปในโลกหน้าได้อีกด้วย
.
               ควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์ให้ถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้
.
               และควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์นั้นจำแนกแจกทาน
.
ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๑
.
               ๑. ให้ทานโดยเคารพ คือให้โดยความเต็มใจ ไม่ได้ให้ด้วยความเกรงกลัวหรือจำใจให้ เวลาให้ก็ให้ด้วยกิริยาที่นอบน้อมยิ้มแย้มแจ่มใส
.
               ๒. ให้ทานโดยยำเกรง คือเคารพในทานของตนและเคารพในผู้รับ การเลือกให้แต่ของดี ของมีประโยชน์ ของสะอาดมีรสดีเป็นต้น ชื่อว่าเคารพทานของตน อีกประการหนึ่ง ผู้ที่ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ที่ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ที่ให้ของที่ดี ย่อมได้ของดี ผู้ที่ให้ของที่ประเสริฐย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี ให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิดในที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ นี้เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า
.
               การเลือกผู้รับที่สมควรแก่ของ และเลือกผู้รับที่เป็นผู้มีศีล มีคุณธรรม ชื่อว่าเคารพในผู้รับ ข้อนี้มิได้หมายความว่าถ้าผู้รับเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นผู้ไม่มีศีลแล้ว ไม่ต้องให้ ควรให้ทั้งสิ้น แต่ของที่ดี ของที่ประณีต ของที่สะอาด มีรสเลิศ ย่อมสมควรแก่ผู้รับที่เลิศ คือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้มีศีลยิ่งกว่าผู้อื่น ยิ่งให้แก่ผู้มีศีลจำนวนมากเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้มีศีลจำนวนมาก ที่เรียกว่าสังฆทาน ยิ่งมีผลมากจนประมาณไม่ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ
.
               ๓. ให้ด้วยมือของตน ข้อนี้หมายความว่า เวลานี้เราเป็นมนุษย์ มีมือ มีเท้า มีอวัยวะครบบริบูรณ์ เราจึงควรทำทานนั้นด้วยมือตนเอง ไม่ควรใช้ผู้อื่นทำแทนอยู่เสมอๆ ถ้าจะใช้ก็ควรใช้เป็นบางครั้งบางคราวในเวลาจำเป็น นอกจากนั้นแล้วควรทำทานด้วยมือของตนเอง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดเจตนาที่เป็นบุญในขณะที่กำลังให้แล้ว ในวัฏฏะอันยาวนานนี้ เราไม่อาจทราบได้ว่าเราจะเกิดเป็นคนมือขาดเท้าขาดเมื่อใดถ้าเราเกิดเป็นคนมือขาดแล้ว แม้ของมีอยู่และเราอยากให้ทานด้วยมือของเราเอง เราจะให้ได้อย่างไร นอกจากจะอาศัยผู้อื่นทำแทนเท่านั้น
.
               ๔. ให้โดยไม่ทิ้งขว้าง ข้อนี้หมายถึงไม่ทิ้งขว้างการให้ คือให้อยู่โดยสม่ำเสมอ ให้อยู่เป็นประจำ
.
               ๕. เห็นผลในอนาคตจึงให้ หมายความว่า ให้เพราะเชื่อว่า ทานมีจริง ผลของทานมีจริง ทาน  ทำให้เกิดในสวรรค์ได้จริง แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน หรือเชื่อว่าทานเป็นการขัดเกลาความตระหนี่ เป็นบันไดก้าวไปสู่สวรรค์และมรรคผล นิพพานได้ สัตบุรุษท่านเชื่ออย่างนี้จึงให้ทาน
.
               ถ้าเป็นทานของอสัตบุรุษ ก็มีนัยตรงข้ามกับที่กล่าวนี้
.
ที่มาของบทความ ตั้งแต่ คนที่ทำบุญแล้วระลึกฯ
เรื่อง นานาปัญหา โพสโดย คณะสหายธรรม
.
.
.
3.ว่าด้วยเรื่อง ปัจจัยหรือสิ่งของที่นำไปทำบุญ
.
.
ที่มาของบทความ ตั้งแต่ การทำทานให้ได้บุญมากนั้น
บทความ ทำบุญด้วยเงินจำนวนมาก ได้บุญมาก จริงหรือ
โพสโดย facebook Sabiangbunpublishing
.
การทำทานให้ได้บุญมากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
.
1.วัตถุบริสุทธิ์ คือ สิ่งที่ให้ทานได้มาด้วยความสุจริตถูกต้อง มาจากแรงงานหยาดเหงื่อของตน มิได้ไปเบียดเบียนมา
.
2.เจตนาบริสุทธิ์ คือ มีความเลื่อมใสศรัทธา ให้เพื่อหวังบุญจริงๆ ไม่ได้หวังผลตอบแทน หรือไม่มีเจตนาแอบแฝงหวังประโยชน์ และเมื่อให้แล้วก็ไม่นึกเสียดายภายหลัง
.
3.บุคคลบริสุทธิ์ คือ ผู้รับเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีคุณธรรม ยิ่งมีคุณธรรมมากเท่าใด บุญก็ยิ่งได้มากไปตามส่วน เช่น ทำบุญกับคนไม่มีศีลย่อมน้อยกว่าคนมีศีล 5 ถ้ายิ่งทำบุญกับคนที่มีศีลบริสุทธิ์มากขึ้นไปเท่าใดก็จะยิ่งบุญมากที่เรียกกันว่า เนื้อนาบุญ อย่างเช่นทำบุญกับพระสงฆ์ที่ถือศีล 227 ข้อนั้นบุญไม่เท่ากับทำกับพระปัจเจกพุทธเจ้าแน่นอน มันเป็นลำดับขึ้นอยู่กับผู้รับนั้นมีศีลบริสุทธิ์เท่าใด
.
ถ้าการทำบุญของเรานั้นทุกครั้งครบเงื่อนไขดังกล่าว คือ วัตถุ เจตนา บุคคลผู้ให้และผู้รับ มีความบริสุทธิ์เท่ากันแล้ว แน่นอนว่าผู้ที่ให้ทานเป็นจำนวนมากกว่าก็ย่อมได้รับผลมากกว่า เหมือนคนทำนา 100ไร่ ย่อมได้ผลมากกว่าคนทำนา 1ไร่
.
แต่หากผู้ที่ให้ทานด้วยทรัพย์แม้เป็นจำนวนน้อยกว่า แต่มีความตั้งใจ มีความเลื่อมใสศรัทธาเต็มเปี่ยม และได้ให้ทานกับคนที่มีเนื้อนาบุญสูง ก็อาจได้บุญมากยิ่งกว่าผู้ทำด้วยทรัพย์มากยิ่งกว่าเป็นร้อยๆ เท่าก็ได้
.
ที่มาของบทความ ตั้งแต่ การทำทานให้ได้บุญมากนั้น
บทความ ทำบุญด้วยเงินจำนวนมาก ได้บุญมาก จริงหรือ
โพสโดย facebook Sabiangbunpublishing
.
หมายเหตุ ในข้อที่ 1 ที่เขียนว่า เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นนั้น เป็นลักษณะของการเบียดเบียนทั้งทางตรง และ ทางอ้อม  เช่น การขึ้นเงินเดือนที่พิจารณาโดยผู้บังคับบัญชา หรือ เจ้าของบริษัท เป็นต้น
.
หมายเหตุ ในข้อที่ 2 ผมลงไว้ที่ ข้อ 2.ว่าด้วยเรื่อง ผู้ทำบุญ (หรือผู้ให้) แล้ว และ ข้อที่ 3 ผมจะลงเพิ่มเติมในข้อที่ 4.ผู้รับ
.
.
.
4.ว่าด้วยเรื่อง ผู้รับ
.
.
สำหรับผู้รับในเรื่องของการให้ทาน มีหลายประเภท ตั้งแต่สัตว์ทั้งหลาย , คน(มนุษย์)ทั้งหลาย และ พระภิกษุสงฆ์
ผลของทานในการให้  ไม่ว่าจะเป็นการให้กับ สัตว์ทั้งหลาย , คน(มนุษย์)ทั้งหลาย และ พระภิกษุสงฆ์ อานิสงฆ์ในการให้ทานนั้น  ย่อมแตกต่างกันไป
การให้ทานที่มีผลของอานิสงส์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ศีล ของผู้รับ เป็นสำคัญ
.
.
ที่มาของบทความ  ตั้งแต่ อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยฯ
ที่มา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
เว็บไซด์ 84000
.
อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้คือ
.
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
.
ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๓ นี้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศมีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
.
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยศีล อันพระอริยะใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิไม่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อสมาธิ
.
ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๔ นี้ นำสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๔ ประการนี้
.
แล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่  น่าพอใจ ฯ
.
ที่มาของบทความ  ตั้งแต่ อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยฯ
ที่มา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
เว็บไซด์ 84000
.
.
ส่วนเรื่องด้านล่าง เป็นเรื่องที่ทำบุญกับพระสงฆ์เป็นรายบุคคล (ที่ไม่ใช่คณะสงฆ์) กับ การทำสังฆทาน
.
.
ที่มาของบทความ ตั้งแต่ ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับการสนทนานั้น
ที่มา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
เว็บไซด์ 84000
.
ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับการสนทนานั้น เมื่อนางสุภัททาเทพธิดากลับไปแล้ว
จึงตรัสถามนางเทพธิดาว่า
.
            ดูกรนางภัททา เทพธิดาผู้นั้นเป็นใคร มาสนทนาอยู่กับเธอ ย่อมรุ่งโรจน์กว่าเทพเจ้าเหล่าดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยรัศมี?
.
            นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะบรรยายข้อที่สังฆทานของเทพธิดาผู้น้องสาวว่ามีผลมาก จึงทูลว่า
.
            ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ เทพธิดาผู้นั้น เมื่อชาติก่อนยังเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษยโลก เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน และได้เคยร่วมสามีเดียวกันกับหม่อมฉันด้วย เธอสั่งสมบุญกุศลคือถวายสังฆทาน จึงได้ไพโรจน์ถึงอย่างนี้ เพคะ.
.
            สมเด็จอัมรินทราธิราช เมื่อจะทรงสรรเสริญสังฆทาน จึงตรัสว่า ดูกร   นางภัททา น้องสาวของเธอไพโรจน์กว่าเธอ ก็เพราะเหตุในปางก่อน   คือการถวายสังฆทานที่ไม่อาจจะปริมาณผลได้
.
อันที่จริง ฉันได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ครั้งประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายในเขตที่มีผลมาก ของมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญให้ทานอยู่ หรือทำบุญปรารภเหตุแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย จะถวายในบุคคลประเภทใดจึงจะมีผลมาก
.
พระพุทธเจ้าตรัสตอบข้อความนั้นแก่ฉันอย่างแจ่มแจ้งว่า ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔ จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยมรรค ๔ จำพวก พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้ ชื่อว่าสงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติตรงดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล
.
เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญถวายทานในท่านเหล่านี้ หรือทำบุญปรารภการเวียนเกิดเวียนตาย ทานที่ถวายในสงฆ์ ย่อมมีผลมาก พระสงฆ์นี้เป็นผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่ ยังผลให้เกิดแก่ผู้ถวายทานในท่านอย่างไพบูลย์ยากที่ใครจะปริมาณว่าเท่านี้ๆ ได้ เหมือนทะเลยากที่จะคาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ ได้
.
ฉะนั้น พระสงฆ์เหล่านี้แล เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียร เป็นเยี่ยมในหมู่นรชนเป็นแหล่งสร้างแสงสว่าง คือ ญาณของชาวโลก ได้แก่ นำเอาแสงสว่าง คือพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วมาชี้แจง ปวงชนที่ใคร่ต่อบุญเหล่าใด ถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์ ทักขิณาของเขาเหล่านั้นชื่อว่าเป็นทักขิณาที่ถวายดีแล้ว เป็นยัญวิธีที่เซ่นสรวงถูกต้อง จัดเป็นบูชากรรมที่บูชาแล้วชอบ
.
เพราะทักขิณานั้นจัดเป็นสังฆทานมีผลมาก อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลก ทรงสรรเสริญชนเหล่าใดยังท่องเที่ยวอยู่ในโลก มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้ เกิดปีติโสมนัส ก็จะกำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่พร้อมทั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ความลังเลในใจ และการตีตนเสมอท่าน อันเป็นมูลฐานเสียได้ทั้งจะไม่เป็นผู้ถูกผู้รู้ติเตียน แต่นั้นก็จะเข้าถึงสถานที่ๆ เป็นแดนสวรรค์.
.
ที่มาของบทความ ตั้งแต่ ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับการสนทนานั้น
ที่มา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
เว็บไซด์ 84000
.
.
.
ที่มาของบทความตั้งแต่ ในทักขิณาวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย
บทความเรื่อง ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เขียนโดย ประณีต  ก้องสมุทร
.
.

ในทักขิณาวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกอานิสงส์ของทานที่ให้โดยเจาะจงและไม่เจาะจงไว้ตามลำดับขั้น ถึง ๒๑ ประเภท คือ
.
               ๑. ให้ทานแก่ดิรัจฉาน มีอานิสงส์ร้อยชาติ คือ ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ  ถึง ๑๐๐ ชาติ
.
               ๒. ให้ทานแก่ปุถุชนทุศีล มีอานิสงส์พันชาติ
.
               ๓. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้มีศีล มีอานิสงส์แสนชาติ
.
               ๔. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้ปราศจากความยินดีในกาม นอกพุทธศาสนา อย่างพวกนักบวชหรือฤาษี ที่ได้ฌานเป็นต้น แม้ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ยังมีอานิสงส์ถึงแสนโกฏิชาติ
.
                สี่ประเภทนี้เป็นปาฏิปุคคลิกทาน เป็นทานที่ให้โดยเจาะจง คือให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง  โดยเฉพาะ และมีผลจำกัด ยังมีปาฏิปุคคลิกทานที่มีผลไม่จำกัด คือให้ผลนับประมาณชาติไม่ได้ มากน้อย   ตามลำดับขึ้นอีก ๑๐ ประเภท ดังต่อไปนี้
.
               ๑. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่ง โสดาปัตติผล
.
               ๒. ให้ทานแก่พระโสดาบันบุคคล คือผู้ที่บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว
.
               ๓. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล
.
               ๔. ให้ทานแก่พระสกทาคามีบุคคล
.
               ๕. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล
.
               ๖. ให้ทานแก่พระอนาคามีบุคคล
.
               ๗. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล
.
               ๘. ให้ทานแก่พระอรหันต์
.
               ๙. ให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
.
               ๑๐. ให้ทานแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
.
               รวมเป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ให้โดยเจาะจง ๑๔ ประเภท ใน ๑๔ ประเภทนี้
.
    ประเภทที่ ๑ มีผลน้อยที่สุด ประเภทที่ ๑๔ มีผลมากที่สุด
.
               ทานที่ให้โดยไม่เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง ที่เรียกว่าสังฆทาน มี ๗ อย่าง
.
               ๑. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
.
               ๒. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานไปแล้ว
.
               ๓. ให้ทานในภิกษุสงฆ์
.
               ๔. ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์
.
               ๕. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
.
               ๖. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์ ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
.
               ๗. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุณีสงฆ์ ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุณีสงฆ์จำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
.
               สังฆทานทั้ง ๗ อย่างนี้ ปัจจุบันเราทำได้เพียง ๒ อย่าง คือให้ทานในภิกษุสงฆ์ และให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์เท่านั้น เพราะพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว ภิกษุณีสงฆ์ก็สูญวงศ์แล้ว
.
               ขึ้นชื่อว่าสังฆทานย่อมมีผลมาก มากจนประมาณไม่ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ แม้ในอนาคตกาล  จักมีแต่ โคตรภูภิกษุ มีผ้ากาสาวะพันที่คอ หรือผูกข้อมือ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก พระพุทธองค์   ก็ยังตรัสว่า คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์  แม้ในเวลานั้นก็มีผลนับประมาณไม่ได้ ปาฏิปุคคลิกทานจะมีผลมากกว่าสังฆทาน คือทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้โคตรภูสงฆ์ หาเป็นไปได้ไม่
.
                แต่ว่าสังฆทาน จะเป็นสังฆทานได้ก็ต่อเมื่อผู้ถวายมีความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เท่านั้น วางใจในสงฆ์เสมอเหมือนกันหมด ไม่ยินดีเมื่อได้พระหรือสามเณรที่ชอบใจ หรือไม่ยินร้ายเมื่อได้พระหรือ  สามเณรที่ไม่ชอบใจ หรือต้องการผู้แทนของสงฆ์ที่เป็นพระเถระ แต่ได้พระนวกะหรือสามเณรก็เสียใจ หรือ  ได้พระเถระผู้ใหญ่ก็ดีใจอย่างนี้ ทานของผู้นั้นก็ไม่เป็นสังฆทานเพราะขาดความเคารพในสงฆ์ หรือผู้แทนที่สงฆ์ส่งไปในนามของสงฆ์ ด้วยเหตุนี้การถวายสังฆทานที่ถูกต้องจึงทำได้ไม่ง่ายนัก
.
               ในทางพระวินัย ภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป จึงเรียกว่า สงฆ์แต่การถวายไทยธรรมแก่ภิกษุแม้รูปเดียวที่สงฆ์จัดให้เป็นองค์แทนของสงฆ์ ก็จัดเป็นสังฆทานเหมือนกัน ดังมีเรื่องเล่าไว้ใน อรรถกถาปปัญจสูทนี   ภาค ๓ (หน้า ๗๑๗) อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร ว่า
.
               กุฎุมพี คือ เศรษฐีคนหนึ่งเป็นเจ้าของวัดวัดหนึ่ง ได้ไปขอภิกษุรูปหนึ่งมาจากสงฆ์ ด้วยคำว่า  ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงให้ภิกษุรูปหนึ่งจากสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แม้เขาจะได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่งเขาก็ปฏิบัติต่อภิกษุรูปนั้นด้วยความเคารพนอบน้อม ตกแต่งเสนาสนะและเครื่องบูชาสักการะพร้อม ล้างเท้าให้ภิกษุนั้น  เอาน้ำมันทาเท้าให้ แล้วถวายไทยธรรมด้วยความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เหมือนกับบุคคลเคารพยำเกรงต่อพระพุทธเจ้า ภิกษุรูปนั้นฉันภัตตาหารแล้วก็กลับวัด หลังจากนั้นได้กลับมาขอยืมจอบที่บ้านของกุฎุมพีนั้น
.
    อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้กุฎุมพีเอาเท้าเขี่ยจอบให้ คนที่เห็นกิริยาของกุฎุมพีนั้นก็ถามว่า เมื่อเช้านี้ท่านถวายทานแก่ภิกษุรูปนี้ด้วยความเคารพนบนอบอย่างยิ่ง แต่บัดนี้แม้สักว่ากิริยาที่เคารพก็ไม่มี กุฎุมพีตอบว่า  เมื่อเช้านี้เราเคารพยำเกรงต่อสงฆ์ เราหาได้เคารพยำเกรงต่อภิกษุรูปนี้เป็นส่วนตัวไม่
.
               การถวายทานในสงฆ์ที่เรียกว่าสังฆทานนั้น คำว่า สงฆ์ ท่านมุ่งเอา พระอริยสงฆ์ คือ   พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล พระอรหัตตมรรค และพระอรหัตตผล รวมเป็น ๔ คู่ ๘ บุคคล หาได้หมายเอาสมมุติสงฆ์ไม่
.
    ทั้งนี้เพราะพระอริยสงฆ์นั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุปฏิปันโน คือปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโน ปฏิบัติแล้วเพื่อญายธรรม สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติชอบ ทั้งพระอริยสงฆ์เหล่านั้นยังเป็นอาหุเนยโย คือ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาบูชา ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาต้อนรับ   ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรแก่ไทยธรรมที่เขานำมาถวายด้วยศรัทธา อัญชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การกระทำ   อัญชลี อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญอันเยี่ยมของโลก ไม่มีนาบุญอื่นที่ยิ่งกว่า

.
ที่มาของบทความตั้งแต่ ในทักขิณาวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย
บทความเรื่อง ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เขียนโดย ประณีต  ก้องสมุทร
.
.
.
มาโมทนาบุญ ในบุญธัมมเทสนามัย (ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้)
และบุญทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง) กัน บุญเสมอกัน ครับ
.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)