วะบิ-ซะบิ รอยตำหนิแห่งสุนทรียะ ตอนที่ 1 : “วะบิ” (侘) ความเรียบง่ายจาก ‘ซ่ง’ ถึง ‘เซน’
“วะบิ ซะบิ” เป็นคำที่สร้างความสับสนที่สุดคำหนึ่งในหมู่ผู้สนใจสุนทรียศาสตร์แบบญี่ปุ่น
อย่างแรก สับสนกันว่ามันควรแปลเป็นภาษาอื่น (อังกฤษ หรือ ไทย) ว่าอย่างไร?
อย่างที่สอง มักเข้าใจไขว้เขวกันว่า วะบิ-ซะบิ คือความเป็น “เซน” อย่างหนึ่ง
ประเด็นแรก คำว่า วะบิ (侘) มีความหมายที่กว้างขวาง โดยความหมายตรงออกจะให้ความรู้สึกผสมผสานระหว่างความพึงพอใจในความพร่อง ความสับสนในใจ ความผิดหวังที่เปล่าเปลี่ยว ฯลฯ ราวกับเป็นคำที่สะท้อนอารมณ์ที่ประเดประดังของศิลปินที่สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่จากความคลุมเครือของจิตใจ
วะบิ ในความหมายนี้ไม่ได้สะท้อน “เซน” ออกมา แต่เป็นสภาวะของผู้ที่อยู่ในอบายภูมิ จมจ่อมกับอารมณ์ที่พาใจดิ่งสู่ความลึกไร้ที่สิ้นสุด เป็นความลึกซึ้งที่ “เซอร์เรียล” ที่ต่างจากเซนที่เป็นความลึกซึ้งที่ “เรียล”
อย่างไรก็ตาม คำนี้ยังมีความหมายนัยประหวัด (หรือความหมายเชิงเปรียบเทียบ) ที่พัฒนาขึ้นในช่วงยุคกลางของญี่ปุ่นเพื่อสะท้อนความงามที่ขาดพร่อง สะท้อนโลกที่เรียลแบบเซนคือไม่สมบูรณ์แบบ แต่การตระหนักในความพร่องนี้ กลับทำให้จิตใจเต็มอิ่ม และอารมณ์ยกสูงขึ้น ไม่จ่อมจมเหมือนความหมายเดิมของคำนี้
ยุคกลางของญี่ปุ่นตรงกับยุคคะมะกูระถึงยุคมูโรมะจิ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชนชั้นนักรบก้าวขึ้นมากุมความเป็นไปของบ้านเมือง มีทั้งศึกนอก (กับมองโกล) และศึกใน (ระหว่างแว่นแคว้นนักรบ) ชนชั้นนำจึงต้องการปรัชญาที่แตกต่างจากเดิม เป็นอภิปรัชญาที่มีความปฏิบัตินิยม ช่วยให้จิตใจเข้มแข็งในการเผชิญกับความตายในสนามรบ และไม่หรูหราอลังการจนรุ่มร่าม
ยุคคะมะกูระเป็นยุคที่วัฒนธรรมของชนชั้นนักรบได้ก่อกำเนิดขึ้นโดยมีวัฒนธรรมของชนชั้นปกครองเป็นรากฐาน (Photo: ukiyo-e.org)
ในยุคโบราณของญี่ปุ่นปรัชญาที่ชี้นำชนชั้นสูงมาจากพุทธศาสนาหกนิกายหรือ นันโตโรกุชู (南都六宗) เป็นพุทธปรัชญามีความซับซ้อนเพราะอิงกับอภิธรรม สุนทรียศาสตร์ก็มุ่งเน้นความงามอันสมบูรณ์แบบ มัณฑศิลป์ต้องประกาศความอลังการ ฉันทศาสตร์ต้องมีนัยอันลึกซึ้งโยงใยกับวรรณกรรมและไวยากรณ์คลาสสิก นี่คือลักษณะของปรัชญาและสุนรียศาสตร์ที่ญี่ปุ่นยุคโบราณรับมาจากจีนสมัยราชวงศ์ถัง
ดังนั้น ความเป็น ‘ถัง’ คือความอลังการทั้งจิตวิญญาณและศิลปะ
ภาพวาดพระโพธิสัตว์ สมัยราชวงศ์ถัง ค.ศ.618 – 907 (Photo: chineseculturalstudiescenter.org)
พระพุทธรูปโลหะหุ้มทองคำ สมัยราชวงศ์ถัง ค.ศ.618 – 907 (Photo: metmuseum.org)
ครั้นถึงยุคกลาง แผ่นดินใหญ่ผ่านยุคสงครามและการกวาดล้างศาสนาพุทธ นิกายอภิธรรมถูกกำจัดจนหมดสิ้น มีเพียงนิกายฉาน (เซน) ที่อยู่รอดได้เพราะสลัดทิ้งความหรูหรา ปฏิบัติธรรมอย่างติดดินและพึ่งพาตนเองได้ด้วยการทำงานหนัก
ในยุคราชวงศ์ซ่ง คือยุคทองของนิกายฉาน และเมื่อเมืองหลวงของจีนย้ายจากภาคเหนืออันกว้างใหญ่ไพศาล ไปยังกังนั้มหรือ เจียงหนาน (江南) ในภาษาจีนกลาง (ดินแดนตอนใต้ของแยงซีเกียง) อันกระจิดริดแต่เรียบง่าย สุนทรียะของจีนก็เปลี่ยนไป
ความเป็น ‘ซ่ง’ คือเรียบง่าย ใช้เส้นสายที่มัธยัสถ์ ดูเหมือนพร่อง แต่เป็นการเว้นวรรคเพื่อให้นามธรรมในใจเติมเต็มความพร่องนั้น มิได้ให้รูปธรรมเติมให้แบบสมัยถัง
ภาพวาด สมัยราชวงศ์ซ่ง ค.ศ. 960 – 1279 (Photo: china-underground.com)
ภาพวาด สมัยราชวงศ์ซ่ง ค.ศ. 960 – 1279 (Photo: inkston.com)
ในยุคนี้ คณาจารย์ในญี่ปุ่นเริ่มได้ยินกิตติศัพท์ของสำนักฉาน จึงเดินทางไปศึกษาพระธรรมที่อาณาจักรซ่ง บุคคลแรกที่เดินทางไปยังจีนและนำนิกายฉานมาเผยแพร่คือ ท่านเอไซ นี่คือจุดเริ่มต้นของนิกายฉานในญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่า “เซน” นอกจากนิกายเซนแล้วท่านเอไซยังนำการดื่มชามาเผยแพร่ที่ญี่ปุ่นด้วย
“ท่านเอไซ” หรือ เมียวอัง เอไซ
ช่วงแรกนั้น การดื่มชาในวัดนิกายเซน เป็นเพียงการดื่มเพิ่มให้เกิดกำลังวังชา ผ่อนคลาย และให้กายตื่น แต่เพราะต่อมาญี่ปุ่นติดต่อกับอาณาจักรซ่งมากขึ้น (โดยมีศาสนจักรเป็นตัวกลางติดต่อ) และรับรสนิยมการดื่มชาอย่างมีกระบวนพิธีมาด้วย พิธีชงชาจึงเริ่มแพร่หลายในหมู่ผู้สนใจนิกายเซนทั้งพระและโยม ในแผ่นดินใหญ่กระบวนการดื่มชาอย่างมีแบบแผนเริ่มมาตั้งแต่สมัยถัง แต่กระบวนพิธีและอุปกรณ์ที่สะท้อน “ความงามอันพร่อง” และจิตวิญญาณอันเรียบง่าย เริ่มต้นขึ้นสมัยซ่ง
ในญี่ปุ่น เรียกอุปกรณ์ชงชาว่า คาระโมโนะ (唐物) แปลว่า “เครื่องเคราอย่างจีน” คำว่า คาระ (唐) เป็นการออกเสียงแบบญี่ปุ่น ถ้าออกเสียงอย่างจีนจะเป็น โท หรือ ถัง คำว่า โท/คาระ เป็นคำที่ญี่ปุ่นใช้เรียกแทนประเทศจีนตั้งแต่โบราณจนถึงศตวรรษที่ 20 แม้ว่าจีนจะเปลี่ยนราชวงศ์เป็นซ่งแล้ว ก็ยังเรียกจีนว่า “ถัง” เช่นเดียวกับคนจีนบางท้องถิ่นที่ยังเรียกตัวเองเป็นคนถัง หรือ ตึ่งนั้ง (唐人)
ญี่ปุ่นเรียกอุปกรณ์ชงชาว่า คาระโมโนะ (唐物) แปลว่า “เครื่องเคราอย่างจีน” (Photo: jianglichi.pixnet.net)
เครื่องเคราในพิธีชงชาที่อยู่ในตำราญี่ปุ่น เป็นของนำเข้าจากอาณาจักรซ่ง สมัยซ่งเป็นจุดสูงสุดของเครื่องเคลือบ มีเครื่องเคลือบที่มีราคาแพงและหาได้ยากมากมาย เพียงแต่ในพิธีชงชาของญี่ปุ่นยุคต้น มันหาใช่เครื่องเคลือบมีราคาแพงอย่างที่นิยมในจีน
ในสำนักฉานที่จีน พระสงฆ์จะดื่มชาในถ้วยกระเบื้อง เจี้ยนเย่า (建窯) ที่ผลิตในภาคใต้ของจีน เป็นเครื่องเคลือบผิวเนียนแต่เคลือบสีคล้ายผิวกร้าน มิได้เรียบร้อยหมดจน แต่ละลานตาด้วยคุณลักษณะเฉพาะตัวของลวดลายธรรมชาติ ญี่ปุ่นเรียกถ้วยแบบนี้ว่า เทนโมกุ (天目) ตามชื่อภูเขาเทียนมู่
ลวดลายธรรมชาติอันงดงามของถ้วยกระเบื้อง เจี้ยนเย่า (建窯) หรือเทนโมกุ (天目) ในภาษาญี่ปุ่น (Photo: twitter | @freshtaiwan_tpe)
ในกังนั้ม ยังมีถ้วยอีกแบบเรียกว่า จี๋โจวเย่า (吉州窯) เคลือบหยาบๆ เพื่อเล็งผลอันวิเศษต่อผิวเคลือบเช่นกัน เครื่องเคลือบทั้ง 2 ชนิดนี้นิยมกันมากทั้งในกังนั้มและในญี่ปุ่น
ถ้วยจี๋โจวเย่า (吉州窯) (Photo: yu-jen.tw)
ซึ่งความหยาบของเครื่องเคลือบนี่เอง ต่อมาเมื่อผสมกับความเป็นเซนที่ต้องถ่อมตนในคุณค่าแบบ “ซะบิ” (寂) ของชาวญี่ปุ่น จนเกิดเป็นปรัชญาที่เรียกว่า วะบิ-ซะบิ (侘寂) ในเวลาต่อมา
_____
*ทำความรู้จักคุณค่าแบบ “ซะบิ” (寂) ต่อได้ที่ วะบิ-ซะบิ รอยตำหนิแห่งสุนทรียะ ตอนที่ 2 : ซะบิ (寂) ความหยาบกร้านที่งดงาม
https://becommon.co/culture/wabi-sabi-sabi-esthetic/ ตอนแรก จาก
https://becommon.co/culture/wabi-sabi-wabi-simply/