ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ  (อ่าน 1146 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
เรื่องเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ
« เมื่อ: มีนาคม 26, 2023, 06:54:49 pm »
.
.
เรื่องเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ
.
.
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙
.
๖. เรื่องเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ [๑๐๐]       
.     
               ข้อความเบื้องต้น
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ (เศรษฐีตีนแมว) ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มาวมญฺเญถ ปุญฺญสฺส" เป็นต้น.
.
               ให้ทานเองและชวนคนอื่น ได้สมบัติ ๒ อย่าง                             
ความพิสดารว่า สมัยหนึ่ง ชาวเมืองสาวัตถีพากันถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน โดยเนื่องเป็นพวกเดียวกัน. อยู่มาวันหนึ่ง พระศาสดา เมื่อจะทรงทำอนุโมทนา ตรัสอย่างนี้ว่า
.
               "อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ให้ทานด้วยตน (แต่) ไม่ชักชวนผู้อื่น, เขาย่อมได้โภคสมบัติ (แต่) ไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้วๆ, บางคนไม่ให้ทานด้วยตน ชักชวนแต่คนอื่น, เขาย่อมได้บริวารสมบัติ (แต่) ไม่ได้โภคสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้วๆ; บางคนไม่ให้ทานด้วยตนด้วย ไม่ชักชวนคนอื่นด้วย, เขาย่อมไม่ได้โภคสมบัติไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้วๆ; เป็นคนเที่ยวกินเดน บางคนให้ทานด้วยตนด้วย ชักชวนคนอื่นด้วย, เขาย่อมได้ทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้วๆ."
.
               บัณฑิตเรี่ยไรของทำบุญ
.
ครั้งนั้น บัณฑิตบุรุษผู้หนึ่งฟังธรรมเทศนานั้นแล้ว คิดว่า "โอ! เหตุนี้น่าอัศจรรย์ บัดนี้ เราจักทำกรรมที่เป็นไปเพื่อสมบัติทั้งสอง" จึงกราบทูลพระศาสดาในเวลาเสด็จลุกไปว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรุ่งนี้ ขอพระองค์จงทรงรับภิกษาของพวกข้าพระองค์."
.
               พระศาสดา. ก็ท่านมีความต้องการด้วยภิกษุสักเท่าไร ?
.
               บุรุษ. ภิกษุทั้งหมด พระเจ้าข้า.
.
               พระศาสดาทรงรับแล้ว.
.
               แม้เขาก็เข้าไปยังบ้าน เที่ยวป่าวร้องว่า "ข้าแต่แม่และพ่อทั้งหลาย ข้าพเจ้านิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้, ผู้ใดอาจถวายแก่ภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่าใด, ผู้นั้นจงให้วัตถุต่างๆ มีข้าวสารเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่อาหารมียาคูเป็นต้น เพื่อภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านั้น, พวกเราจักให้หุงต้มในที่แห่งเดียวกันแล้วถวายทาน"
.
               เหตุที่เศรษฐีมีชื่อว่าพิฬาลปทกะ                             
.
ทีนั้น เศรษฐีคนหนึ่งเห็นบุรุษนั้นมาถึงประตูร้านตลาดของตน ก็โกรธว่า "เจ้าคนนี้ ไม่นิมนต์ภิกษุแต่พอ (กำลัง) ของตน ต้องมาเที่ยวชักชวนชาวบ้านทั้งหมด (อีก)" จึงบอกว่า "แกจงนำเอาภาชนะที่แกถือมา" ดังนี้แล้ว เอานิ้วมือ ๓ นิ้วหยิบ ได้ให้ข้าวสารหน่อยหนึ่ง ถั่วเขียว ถั่วราชมาษก็เหมือนกันแล.
.
               ตั้งแต่นั้น เศรษฐีนั้นจึงมีชื่อว่าพิฬาลปทกเศรษฐี. แม้เมื่อจะให้เภสัชมีเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้น ก็เอียงปากขวดเข้าที่หม้อ ทำให้ปากขวดนั้นติดเป็นอันเดียวกัน ให้เภสัชมีเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้นไหลลงทีละหยดๆ ได้ให้หน่อยหนึ่งเท่านั้น.
.
               อุบาสกทำวัตถุทานที่คนอื่นให้โดยรวมกัน (แต่) ได้ถือเอาสิ่งของที่เศรษฐีนี้ให้ไว้แผนกหนึ่งต่างหาก.
.
               เศรษฐีให้คนสนิทไปดูการทำของบุรุษผู้เรี่ยไร                             
.
เศรษฐีนั้นเห็นกิริยาของอุบาสกนั้นแล้ว คิดว่า "ทำไมหนอ เจ้าคนนี้จึงรับสิ่งของที่เราให้ไว้แผนกหนึ่ง?" จึงส่งจูฬุปัฏฐากคนหนึ่งไปข้างหลังเขา ด้วยสั่งว่า "เจ้าจงไป จงรู้กรรมที่เจ้านั่นทำ" อุบาสกนั้นไปแล้ว กล่าวว่า "ขอผลใหญ่จงมีแก่เศรษฐี." ดังนี้แล้วใส่ข้าวสาร ๑-๒ เมล็ด เพื่อประโยชน์แก่ยาคู ภัตและขนม ใส่ถั่วเขียวถั่วราชมาษบ้าง หยาดน้ำมันและหยาดน้ำอ้อยเป็นต้นบ้าง ลงในภาชนะทุกๆ ภาชนะ.
.
               จูฬุปัฏฐากไปบอกแก่เศรษฐีแล้ว.
.
               เศรษฐีฟังคำนั้นแล้ว จึงคิดว่า "หากเจ้าคนนั้นจักกล่าวโทษเราในท่ามกลางบริษัทไซร้ พอมันเอ่ยชื่อของเราขึ้นเท่านั้น เราจักประหารมันให้ตาย." ในวันรุ่งขึ้น จึงเหน็บกฤชไว้ในระหว่างผ้านุ่งแล้ว ได้ไปยืนอยู่ที่โรงครัว.
.
               ฉลาดพูดทำให้ผู้มุ่งร้ายกลับอ่อนน้อม                             
.
บุรุษนั้นเลี้ยงดูภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ชักชวนมหาชนถวายทานนี้ พวกมนุษย์ข้าพระองค์ชักชวนแล้วในที่นั้น ได้ให้ข้าวสารเป็นต้นมากบ้างน้อยบ้าง ตามกำลังของตน ขอผลอันไพศาลจงมีแก่มหาชนเหล่านั้นทั้งหมด."
.
               เศรษฐีได้ยินคำนั้นแล้ว คิดว่า "เรามาด้วยตั้งใจว่า ‘พอมันเอ่ยชื่อของเราขึ้นว่า เศรษฐีชื่อโน้นถือเอาข้าวสารเป็นต้นด้วยหยิบมือให้, เราก็จักฆ่าบุรุษนี้ให้ตาย’, แต่บุรุษนี้ทำทานให้รวมกันทั้งหมด แล้วกล่าวว่า ‘ทานที่ชนเหล่าใดตวงด้วยทะนานเป็นต้นแล้วให้ก็ดี, ทานที่ชนเหล่าใดถือเอาด้วยหยิบมือแล้วให้ก็ดี, ขอผลอันไพศาล จงมีแก่ชนเหล่านั้นทั้งหมด’, ถ้าเราจักไม่ให้บุรุษเห็นปานนี้อดโทษไซร้, อาชญาของเทพเจ้าจักตกลงบนศีรษะของเรา."
.
               เศรษฐีนั้นหมอบลงแทบเท้าของอุบาสกนั้นแล้วกล่าวว่า "นาย ขอนายจงอดโทษให้ผมด้วย" และถูกอุบาสกนั้นถามว่า "นี้อะไรกัน?" จึงบอกเรื่องนั้นทั้งหมด.
.
               พระศาสดาทรงเห็นกิริยานั้นแล้ว ตรัสถามผู้ขวนขวายในทานว่า "นี่อะไรกัน ?"
.
               เขากราบทูลเรื่องนั้นทั้งหมดตั้งแต่วันที่แล้วๆ มา.
.
               อย่าดูหมิ่นบุญว่านิดหน่อย                             
.
ทีนั้น พระศาสดาตรัสถามเศรษฐีนั้นว่า "นัยว่า เป็นอย่างนั้นหรือ? เศรษฐี." เมื่อเขากราบทูลว่า "อย่างนั้น พระเจ้าข้า."
.
               ตรัสว่า "อุบาสก ขึ้นชื่อว่าบุญ อันใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่า ‘นิดหน่อย,’ อันบุคคลถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเช่นเราเป็นประธานแล้ว ไม่ควรดูหมิ่นว่า ‘เป็นของนิดหน่อย’ ด้วยว่า บุรุษผู้บัณฑิตทำบุญอยู่ย่อมเต็มไปด้วยบุญโดยลำดับแน่แท้ เปรียบเหมือนภาชนะที่เปิดปากย่อมเต็มไปด้วยน้ำ ฉะนั้น." ดังนี้แล้ว
.
               เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
               ๖.  มาวมญฺเญถ ปุญฺญสฺส     น มตฺตํ อาคมิสฺสติ     
                อุทพินฺทุนิปาเตน     อุทกุมฺโภปิ ปูรติ
                อาปูรติ ธีโร ปุญฺญสฺส     โถกํ โถกํปิ อาจินํ.
                บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่า ‘บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง’
                แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมา (ทีละหยาดๆ) ได้ฉันใด,
                ธีรชน (ชนผู้มีปัญญา) สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น.
.
.
               แก้อรรถ                             
.
เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า :-
.
               "มนุษย์ผู้บัณฑิต ทำบุญแล้วอย่าดูหมิ่น คือไม่ควรดูถูกบุญ อย่างนี้ว่า ‘เราทำบุญมีประมาณน้อย บุญมีประมาณน้อยจักมาถึง ด้วยอำนาจแห่งวิบากก็หาไม่. เมื่อเป็นเช่นนี้ กรรมนิดหน่อยจักเห็นเราที่ไหน? หรือว่าเราจักเห็นกรรมนั้นที่ไหน? เมื่อไรบุญนั่นจักเผล็ดผล?’
.
               เหมือนอย่างว่า ภาชนะดินที่เขาเปิดฝาตั้งไว้ ย่อมเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมา (ทีละหยาดๆ) ไม่ขาดสายได้ฉันใด, ธีรชน คือบุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อสั่งสมบุญทีละน้อยๆ ชื่อว่าเต็มด้วยบุญได้ ฉันนั้น."
.
               ในกาลจบเทศนา เศรษฐีนั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.
.
               พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทที่มาประชุมกัน ดังนี้แล.
.
               เรื่องเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ จบ.               
.
.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)