เปิดข้อกฎหมายช่วยเหลือ“แพะ” ที่ตำรวจจับ!!
เรื่องการจับกุมหรือควบคุมตัวผู้ต้องหาผิดคนหลายครั้งหรือที่เรียกกันว่า “จับแพะ” นั้น ปรากฏเป็นข่าวคราวให้ได้รับทราบกันบ่อยทีเดียว จนส่งผลต้องทำให้ผู้บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องต้องถูกจับกุมดำเนินคดีไปด้วยจน เกิดความเสียหายในชีวิต เช่นคดีที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ กรณีของ นายสมใจ แซ่ลิ้ม อายุ 39 ปี คนงานฟาร์มหมู อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี จู่ ๆ ต้องตกถูกตำรวจ ปส.จับกุมเป็นผู้ต้องหาคดีมียาบ้า 2 พันเม็ดไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย ถูกจับไปคุมขังอยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางนานถึง 23 วัน อันเนื่องมาจากชื่อและสกุลไปซ้ำกับคนร้ายตัวจริง
แต่โชคยังดีศาลจังหวัดพระโขนง ได้ไต่สวนตามหนังสือร้องทุกข์จากนายสุรินทร์ พิกุลขาว ภรรยานายสมใจ แล้วได้ข้อเท็จจริงว่า เป็นการจับผู้ต้องหาผิดคนไม่ใช่นายสมใจ แซ่ลิ้ม ที่มีอาชีพขับรถบัส ตามหมายจับที่มีผู้ต้องหาคนอื่นชัดทอด เพียงแต่มีชื่อ-สกุล ซ้ำซ้อนกันเท่านั้น ศาลจึงสั่งเพิกถอนหมายขังระหว่างสอบสวนและให้ออกหมายปล่อยตัว ท่ามกลางความดีใจของญาติพี่น้องที่ไปรอรับตัวนายสมใจ
ข่าวการจับแพะในคดีดังกล่าวของตำรวจได้มีการขยายเรื่องราวให้ประชาชนได้รับ รู้ถึงสิทธิและเสรีภาพของตนเองที่จะเรียกร้องความเสียหายจากหน่วยงานของรัฐ ในการเยียวยาให้ขณะที่เป็น “แพะ” อยู่ และที่สำคัญจะต้องเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยเหลือผู้ที เป็นแพะ ไม่ควรปล่อยให้เงียบหายไป ผู้ที่เป็นแพะควรจะรับความช่วยเหลือเยียวยาอย่างเหมาะสม เพราะสิทธิความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนนั้นเท่ากันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ในคดีจับแพะล่าสุดขณะนี้หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้พยายามเร่งตรวจสอบข้อผิดพลาดดังกล่าวเช่นกัน ล่าสุด พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก สตช. ยอมรับว่าต้องเร่งหาทางเยียวยาเหยื่อคดียาเสพติด ที่ตำรวจ บช.ปส. จับผู้ต้องหาผิดตัว ขณะนี้ทางพล.ต.ท.อติเทพ ปัจจมานนท์ ผบช.ปส. พยายามติดต่อผู้เสียหายเพื่อเข้าไปพูดคุยถึงแนวทางเยียวยาที่ผู้เสียหายจะ พึงพอใจที่สุด ในส่วนของการป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาการจับผิดตัวกรณีผู้ต้องหามี ชื่อ-นามสกุลซ้ำกับผู้อื่นเกิดขึ้นอีก โดยกรณีเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ดังนั้นทาง สตช.ได้มอบหมายให้พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษา (สบ10) ฝ่ายกฎหมายและสอบสวน หาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นอาจบรรจุในระเบียบของการสอบสวน ต้องพยายามให้ผู้เสียหายหรือพยานมาชี้ตัวผู้ต้องหาก่อนจะส่งไปฝากขัง นอกจากนี้จะต้องประชุมหารือร่วมกับอัยการเพื่อร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน
ทางด้านนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงเรื่องจับแพะว่า ทำอย่างไรเมื่อถูกจับผิดตัว ซึ่งได้ชี้แจงตามตัวบทกฎหมายว่า “ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 32 ได้บัญญัติรับรองหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของการจับและการคุมขังบุคคลที่จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ อย่างไรก็ดี หากปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าได้มีการจับกุมและคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “ผู้เสียหาย พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ ได้”
นอกจากนี้ เพื่อให้หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายสามารถดำเนินการ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้กำหนดขั้นตอนและเงื่อนไขตั้งแต่การออกหมาย การจับกุมผู้กระทำความผิด ไปจนถึงการนำตัวผู้กระทำความผิดไปคุมขังไว้อย่างละเอียด รวมถึงวิธีแก้ไขในกรณีที่มีการอ้างว่ามีการคุมขังบุคคลใดบุคคลหนึ่งในคดี อาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมาตรา 90กำหนดให้บุคคลดังต่อไปนี้ มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยบุคคลที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญานั้น ได้แก่
(1) ผู้ถูกคุมขังเอง
(2) พนักงานอัยการ
(3) พนักงานสอบสวน
(4) ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี
(5) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง
ทั้งนี้ เมื่อศาลได้รับคำร้องขอให้ปล่อย จะต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน และหากศาลเห็นว่า คำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เห็นเป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบ ด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที
อย่างไรก็ดี สิทธิที่จะร้องขอให้ปล่อยตามมาตรา 90 จะมีอยู่เพียงระยะเวลาที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น หากในระหว่างที่มีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อย หรือการไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยนั้นยังไม่ถึงที่สุด และผู้ถูกคุมขังได้รับการปล่อยตัวไปแล้วในระหว่างนั้น ศาลชอบที่จะจำหน่ายคดีนั้น และสิทธิของบุคคลที่ร้องขอให้ปล่อยย่อมระงับไป
ดังตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 4827/2550 (ประชุมใหญ่) ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธิของผู้ถูกคุมขังในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัว จากการควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายตามมาตรา 90 นั้นมีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ผู้ถูกคุมขังยังถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าหลังจากผู้ร้องถูกควบคุมตัว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยผู้ร้องชั่วคราวไปแล้วโดยให้ผู้ร้องทำสัญญาประกันไว้ จึงไม่มีการควบคุมตัวผู้ร้องอีกต่อไป ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอตามมาตรา 90 ได้ แต่ในส่วนของการจับหากเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะ ดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่จับผู้ร้อง ด้วยการร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานหรือฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเองตามบทบัญญัติของ กฎหมายต่อไป
ดังนั้น การคุมขังบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะต้องกระทำการด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย ดังเช่นในกรณีของนายสมใจ แซ่ลิ้ม ที่ถือได้ว่าได้รับผลกระทบโดยตรงจากการถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย ตามที่บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายจึงต้องมีมาตรการที่จะคุ้มครองเมื่อมีการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายเช่น ว่านั้นเกิดขึ้น โดยกำหนดให้ศาลมีอำนาจที่จะต้องทำการไต่สวนหาความจริงว่ามีการควบคุม กักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายจริงหรือไม่ หากเป็นจริงศาลต้องมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังนั้นไปทันที ทั้งนี้ศาลจะพิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานเป็นรายกรณีไป
คำอธิบายทางข้อกฎหมายของนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม คงจะทำให้ประชาชนได้เข้าใจถึงการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับกรณีที่ ตำรวจจับ “แพะ” ซึ่งสิทธิการเรียกร้องดังกล่าวนี้ ทางกระทรวงยุติธรรม มี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ที่จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ที่เป็น”แพะ”ของเจ้า หน้าที่ตำรวจตาม พรบ.คำตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน ค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544
สำหรับผู้เสียหายที่เข้าเงื่อนไขยื่นเรื่องร้องทุกข์เพื่อขอรับการเยียวยา ตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯ ของกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ผู้เสียหาย หมายถึงบุคคลที่ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจเนื่องจาก การกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น และ 2.จำเลย ที่เข้าองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งคือ เป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี หรือมีคำพิพากษาจากศาลอันถึงที่สุดว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดและมี การถอนฟ้อง
ส่วนขั้นตอนการขอรับค่าเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยสามารถยื่นเรื่องผ่าน ยุติธรรมจังหวัดหรือกรมคุ้มครองสิทธิฯ ภายใน 1 ปี หลังเกิดเหตุ โดยต้องแนบเอกสารหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งคดี รายงานพนักงานสอบสวน หรือกรณีที่มีคำพิพากษาก็ต้องมีรายละเอียดและหมายปล่อยตัว มาประกอบการพิจารณา จากนั้นผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดี อาญา จะทำเรื่องเสนออนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ และคณะกรรมการพิจารณาชุดใหญ่ฯที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 16 คน เป็นผู้มีมติอนุมัติ โดยในรายที่ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้เสียหายหรือญาติสามารถทำ เรื่องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยและให้คำวินิจฉัยของศาลเป็นที่สุด
(รายละเอียดเพิ่มเติม เข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
http://www.rlpd.moj.go.th -http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=656&contentId=146987-
.