ผู้เขียน หัวข้อ: ชัมบาลา: พุทธธรรมโลกวิสัย (โอม มณีปัทเมหุม เขียน )  (อ่าน 58 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ชัมบาลา: พุทธธรรมโลกวิสัย

โอม มณีปัทเมหุม เขียน



ในสังคมสมัยใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม วัตถุนิยม และความรู้เชิงเหตุผล พลังศาสนธรรมมักถูกตั้งคำถามว่ายังเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์หรือไม่? อดีตสอนเราว่า ศาสนาไม่ได้ช่วยให้คนเป็นคนดีและไม่จำเป็นต้องช่วยปลดปล่อยมนุษย์เสมอไป เพราะบางทีศาสนาก็มอมเมา กดขี่ ทำให้คนโง่เขลาดักดาน ศาสนาเป็นชนวนก่อสงครามและความรุนแรงต่อมนุษย์ด้วยกันเองในหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะเมื่อศาสนาพัฒนาไปสู่ “ความเชื่อหนึ่งเดียวสูงสุด” ที่ไม่อาจถูกตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ เมื่อใดที่สถานะความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศาสนาถูกผูกเข้ากับสถาบันทางการเมือง ก็ยิ่งทำให้ศาสนากลายเป็นอาวุธพลานุภาพสูงของชนชั้นมีอำนาจ

อีกด้าน การพยายามทำให้ศาสนาย้อนกลับไปหาความดั้งเดิมเพียวบริสุทธิ์ ก็ดูน่ากลัวไม่แพ้กัน เมื่อเข้ากับสังคมสมัยใหม่ไม่ได้ การพยายามแยกตัวออก เพื่อคงไว้ซึ่งสังคมอุดมคติแบบศาสนา อย่างน้อยก็ทำให้ศาสนามีที่ทางของตัวเอง ตามโลกไม่ทัน ก็ช่างโลกมันปะไร …มันจะไม่มีปัญหาอะไรเลย หากรัฐไม่ยกศาสนานั้นๆ ให้เป็นศาสนาของรัฐที่มีอำนาจและบทบาทมากกว่าศาสนาอื่น กระทั่งอุดมคติอนุรักษ์นิยมแบบถอยหนีจากโลกกลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองหลักที่ถูกสนับสนุนด้วยความเชื่อทางศาสนา กระทั่งประชาชนถูกหลอกว่า โลกสมัยใหม่เป็นภัย และไม่ใช่ความจริง…

แล้วมันจะมีไหม ศาสนาที่คุยกับโลกสมัยใหม่รู้เรื่อง? ศาสนาที่มีเหตุมีผลและโลดแล่นบนการแข่งขันเสรีของโลกทุนนิยมได้? ความเป็นไปได้เกิดขึ้นจากการลงมาคลุกคลีและสัมพันธ์กับบริบทใหม่ อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “การกำเนิดเกิดใหม่” ที่พร้อมจะถอดความเป็นศาสนาแบบเดิมๆ อันเทอะทะทิ้ง

ทิเบตน่าสนใจตรงนี้ สถานการณ์ทำให้พุทธศาสนาทิเบตจำต้องเคลื่อนย้ายจากโลกก่อนสมัยใหม่สู่โลกสมัยใหม่อย่างไม่ทันตั้งตัว ด้วยความที่คนทิเบตต้องหนีตาย ไม่มีบ้านให้กลับ พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกที่จะถอยหนีจากโลกสมัยใหม่มากนัก

ตรุงปะ รินโปเช เคยกล่าวไว้ว่า “เราต้องขอบคุณกองทัพจีน ถ้าทิเบตไม่โดนจีนบุก พุทธศาสนาก็จะยิ่ง corrupt เละเทะ ใน bubble ที่ลอยตัวอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงของโลกนั่นแหละ”

“โลกวิสัย” คือดินแดนแห่งใหม่ที่ทิเบตเดินทางเข้าไปพึ่งพิง การเคร่งศาสนาไม่ใช่เรื่องคูลในดินแดนแห่งนี้ เผลอๆ พล่ามเรื่องศาสนามากไปอาจกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจด้วยซ้ำ ชีวิตโลกย์ๆ สำคัญกว่าชีวิตทางธรรม (จึงเรียกว่าโลกวิสัย) ฆราวาสสำคัญกว่านักบวช (จึงเรียกว่า ฆราวาสวิสัย)  มันคือดินแดนที่ศาสนาถูกกำหนดให้ปรับตัว ลดทอนสถานะอำนาจของตนลง เพื่อมาสัมพันธ์กับโลกอย่างเท่าเทียม




ประวัติศาสตร์และที่มาของ “ชัมบาลา”  

“ชัมบาลา” คือดินแดนในตำนาน เรื่องเล่าขานถึงสังคมในอุดมคติ ที่ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าถูกนำไปปฏิบัติจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข จะว่าไปตำนานแบบนี้เราก็เคยได้ยินกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น “โลกพระศรีอาริย์” “สุขาวดี” หรือกระทั่ง “นิพพาน” เอง ที่นอกจากสะท้อนถึงเป้าหมายทางศาสนา ยังมีภาพอุดมคติเป็นดินแดนที่ผู้ศรัทธาใฝ่ฝันจะไปถึง

ตำนานชัมบาลาสามารถย้อนกลับไปยังสมัยพุทธกาล ว่ากันว่าคำสอนนี้ถูกถ่ายทอดโดย ศายมุนีพุทธะ ต่อกษัตริย์อินเดียองค์หนึ่งชื่อ “ดาวา ซังโป” กษัตริย์องค์นี้ได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธะ จึงถามท่านว่ามีคำสอนใดที่จะนำเขาไปสู่การรู้แจ้งโดยสมบูรณ์ โดยที่เขายังสามารถใช้ชีวิตเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง อย่างที่เป็นอยู่นี้ได้หรือไม่?

พระพุทธะพยักหน้า แต่ก่อนที่เขาจะถ่ายทอดคำสอนนั้นต่อดาวา ซังโป ภิกษุทุกรูปถูกเชิญให้ออกจากห้อง และคำสอนที่มีชื่อว่า “กาลจักรตันตระ” ก็ได้ถูกถ่ายทอดตัวต่อตัว ระหว่างพระพุทธเจ้ากับกษัตริย์ดาวา ซังโป นั่นเอง

คำสอนชัมบาลามีที่มาจากคำสอนกาลจักรตันตระที่กษัตริย์ดาวา ซังโปได้รับ ตำนานกล่าวต่อว่า ดาวา ซังโป นำคำสอนดังกล่าวไปปฏิบัติจนรู้แจ้ง และอาณาจักรของเขาพบแต่สันติสุข ผู้คนเคารพกันและกันบนพื้นฐานของความเมตตากรุณาและการเคารพซึ่งกันและกัน สังคมดังกล่าวถูกแปรเปลี่ยนไปสู่อีกมิติหนึ่งของความจริงแท้ และในตำนานบอกว่าชัมบาลายังคงดำรงอยู่ที่ไหนสักแห่งในเทือกเขาหิมาลัย
 

มิติทางสังคมของชัมบาลา

ความน่าสนใจของตำนานของชัมบาลา ไม่ได้อยู่ที่การมีกษัตริย์เป็นตัวเอกของเรื่อง (ซึ่งในแง่นึงภาพและตำนานธรรมราชาลักษณะนี้ ก็มีให้ได้ฟังบ่อยๆ อยู่แล้ว) แต่อยู่ที่คำถามพื้นฐานที่ว่า “จะเป็นไปได้ไหมที่ฉันจะปฏิบัติพุทธธรรมในชีวิตโลกย์ๆ แบบที่เป็น?” แทนที่จะถูกเรียกร้องให้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตไปสู่ความเป็นนักบวชและปฏิเสธความจริงแบบโลกย์ๆ ว่าไม่ใช่ความจริงแท้ เราจะสามารถเข้าสู่สัจธรรมในการใช้ชีวิตทุกๆ แบบในแบบที่เป็นได้หรือไม่?  เราจะสามารถปฏิบัติคำสอนสูงสุดโดยไม่ต้องหลีกเร้นไปจากโลกที่เรามีชีวิตอยู่ได้หรือไม่? คำถามเหล่านี้น่าจะเป็นคำถามท้าทายต่อพุทธศาสนา และเป็นคำถามที่ดูจะสอดคล้องกับความเป็นสมัยใหม่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ไม่ว่าเราจะมองตำนานชัมบาลาว่าเป็นแค่เรื่องขานหรือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงก็ตาม สิ่งสำคัญที่ตำนานนี้ต้องการจะสื่อก็คือ “ความเป็นได้” ที่การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกในระดับสังคมสามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นว่าแนวคิดแบบ secular enlightenment นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ เชอเกียม ตรุงปะ ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ แต่เป็นคำสอนที่มีที่มาทางประวัติศาสตร์ที่สามารถย้อนกลับไปถึงสมัยพุทธกาล

คำสอนชัมบาลาพูดถึงความใฝ่ฝันที่จะเห็นสังคมอุดมคติ ซึ่งทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจตามมาก็คือ เราจะตีความคำสอนพุทธศาสนาไปสู่อุดมคตินั้นอย่างไร??  เราต่างเคยได้ยินถึงการพยายามตีความพุทธศาสนาให้มาสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ศีลธรรมพุทธ การศึกษาแนวพุทธ การออกกฏหมายห้ามดื่มเหล้า ค่านิยมเรื่องความดี คนดี ธรรมาธิปไตย เผด็จการโดยธรรม ฯลฯ

สังคมในอุดมคติแบบพุทธคือสังคมที่ทุกคนเข้าวัด ทำบุญ อย่างนั้นหรือไม่?
สังคมในอุดมคติแบบพุทธคือสังคมที่ทุกคนปฏิบัติธรรม ฝึกสติอยู่เสมออย่างนั้นหรือเปล่า?

หากการนำอุดมคติดังกล่าวไปปฏิบัติ หมายถึงการที่อำนาจรัฐออกกฏหมายบังคับให้คนปฏิบัติตาม การควบคุมบังคับทางศีลธรรมดังกล่าวจะยังได้ชื่อว่าเป็นกระบวนการที่นำไปสู่อุดมคติแบบพุทธหรือไม่???? อันนี้เป็นคำถามที่น่าสงสัยอยู่ไม่น้อย

ความดีพื้นฐาน  (ฺBASIC GOODNESS: The First Principle of Shambhala)

หลักการข้อแรกของสังคมในอุดมคติแบบชัมบาลา คือ ผู้คนไม่กลัวที่จะเป็นตัวเอง พื้นฐานคำสอนตั้งอยู่บนการตระหนักรูัในธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์และสรรพสิ่งที่เรียกว่า BASIC GOODNESS หรือ “ความดีพื้นฐาน”

เราสามารถเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ความเป็นมนุษย์ที่โดยปกติแล้วมีสติปัญญา มีความรักความกรุณา และมีความเป็นปกติสุขในจิตใจอยู่เป็นพื้นฐาน เราไม่จำเป็นต้องไปมองหาหรือออกตามหาที่ไหน เพราะธรรมชาติดังกล่าวมีอยู่ในตัวคนทุกคนอยู่แล้ว อีกทั้งไม่มีสิ่งใดจะมาทำลายหรือขโมยธรรมชาติพื้นฐานอันนี้จากเราไปได้

โอเค… ชัมบาลาไม่ใช่สังคม “แนวพุทธ” แบบที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ (อย่างหมู่บ้านศีล ๕ )  ณ ตรงนี้ จุดเริ่มต้นคือมุมมองที่ว่า มนุษย์นั้นดีโดยพื้นฐาน ดังนั้นเราจึงสามารถให้อิสระทุกคนที่จะเป็นตัวเอง มิติทางสังคมของชัมบาลาไม่ใช่การสร้างความรู้สึกผิดหรือความกลัว แต่คือการสร้างพื้นที่ของการเคารพ “สิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น” โดยมองเห็นถึงคุณค่าของการมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นในแบบของมัน

แทนที่จะมองว่าความดีคืออุดมคติบางอย่าง และคนดีสามารถอ้างความดีเพื่อใช้ในการควบคุมคนเพื่อบรรลุถึงอุดมคติของตนได้ ชัมบาลารื้อถอนมายาคติของสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวดังกล่าว และตระหนักว่าคนทุกคนนั้นมีธรรมชาติพื้นฐานที่ควรค่าแก่การเคารพ



Empowerment : การตระหนักถึงพลังอำนาจภายใน

ธรรมชาติของมนุษย์นั้นดีอยู่แล้วโดยพื้นฐาน คำสอนศาสนาเพียงเข้ามาชี้ให้ตระหนักและเชื่อมั่นในศักยภาพนั้น ศาสนาไม่ได้มีหน้าที่สั่งสอนให้มนุษย์มองเห็นความชั่วร้ายเป็นธรรมชาติพื้นฐานแล้วให้มนุษย์มีศาสนาเพื่อที่จะถูกช่วยให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายนั้น โอ้.. หรือนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของคุณค่าศาสนธรรมที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ก็เป็นได้

ง่ายมาก ที่เราจะตกสู่กับดักของ Guilt หรือความรู้สึกผิดที่ศาสนามอบให้ เรารู้สึกว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์ “เป็นบาป” การมีอารมณ์ทางเพศ “เป็นบาป” การไม่เชื่อฟังพ่อแม่ “เป็นบาป” ฯลฯ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์ข้อผิดพลาดในชีวิตอื่นๆ ที่ไม่อาจให้อภัยตัวเองได้จาก “บาปกรรม” ที่ตนเคยกระทำมาในอดีต

สังคมที่มีศาสนาเป็นความเชื่อหลักมาเป็นเวลายาวนาน ได้ใช้อำนาจศาสนาลักษณะนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครอง มนุษย์เกิดมาไม่สมบูรณ์และมีบาปติดตัว ดังนั้นมนุษย์จึงต้องมีศาสนา คนไม่มีศาสนาเป็นคนไม่ดี การมีศาสนาช่วยขัดเกลาให้มนุษย์เป็นคนดีและปกครองได้ คำว่า “อิสรภาพ” จึงเป็นคำที่อันตราย เพราะการให้อิสรภาพคือการให้อิสระแก่กิเลสตัณหา และศาสนาต้องทำหน้าที่ควบคุมสัญชาตญาณอันชั่วร้ายของมนุษย์

เมื่อเป็นเสียแบบนี้ เราก็มอบ inner authority ให้นักบวชทางศาสนาไปจนหมด ศาสนาไม่เคยบอกว่าเราสามารถเป็นตัวเองหรือรักตัวเองอย่างที่เป็นได้



จริงอยู่ที่มนุษย์มีกิเลสตัณหา มีความต้องการ ความอยาก ซึ่งนำเราไปสู่ปัญหาและความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด…

กระนั้นชัมบาลาก็ยืนยันว่า กิเลสตัณหาหรือความสับสนเหล่านั้นไม่อาจทำให้ธรรมชาติของความดีพื้นฐานในตัวคนเราแปรเปลี่ยนไปได้ มันเป็นเพียงแค่เมฆหมอกที่มาบดบังแสงอาทิตย์ชั่วคราว ทว่าผืนฟ้าหรือดวงอาทิตย์ก็จะคงอยู่ตรงนั้นเสมอไม่ไปไหน

การฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณคือการฝึกฝนให้เรามีความเชื่อมั่นในธรรมชาติความดีพื้นฐานนั้นที่มีอยู่ในตัวเรา “อยู่แล้ว”…

แทนที่เราจะมองว่าการปฏิบัติทางจิตวิญญาณเป็นไปเพื่อ “แก้” หรือ “เปลี่ยน” นิสัยหรือสิ่งที่ไม่ดีในตัวเราเพื่อให้เรากลายเป็นคนที่ “ดีขึ้น” เรากลับให้พื้นที่สำหรับการยอมรับและทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่เป็น ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความโกรธ ความอยาก อารมณ์หรือสภาวะจิตต่างๆ โดยที่ผลลัพธ์ของการปฏิบัติยิ่งทำให้เราเชื่อมั่นว่าโดยพื้นฐานแล้วมีท้องฟ้าอันกว้างใหญ่และดวงอาทิตย์ส่องสว่างอยู่หลังเมฆหมอกเสมอ…

การปฏิบัติทางจิตวิญญาณเพื่อเข้าถึง BASIC GOODNESS ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน เพราะความไม่ไว้วางใจในธรรมชาติของมนุษย์นี่เองที่ทำให้เราต้องใช้กำลัง ควบคุม ออกคำสั่ง หรือกดขี่มนุษย์ด้วยกัน เพื่อเป้าหมายของการปกครองสังคมให้มีสันติสุข พื้นฐานของการฝึกใจเพื่อการเข้าถึงความดีอันเป็นสากลของมนุษยชาติส่งผลต่อความเปิดกว้างและการเปิดใจที่เราสามารถมีต่อกันได้ และนั่นคือหัวใจของมนุษย์ที่มีศักยภาพที่จะรัก

ความอยากที่จะออกจากปัญหา แก้ไขตัวเอง แก้ไขคนอื่น หรือความหวังที่จะพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นคนดีขึ้น คือตัวอย่างของความคิดที่จำเป็นจะต้องถูกปล่อยวางในการฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณ เราไม่จำเป็นต้องพยายามทำให้ตัวเองเป็นคนพิเศษหรือทำให้มีประสบการณ์ที่พิเศษเกิดขึ้นในการภาวนา ทว่าด้วยความเต็มใจที่จะ “ปล่อย” และ “stay present” หรืออยู่ตรงนั้นกับตัวเอง อย่างปราศจากเป้าหมายหรือสิ่งเร้าใจ นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการมีประสบการณ์ของการเป็นตัวเองอย่างแท้จริง

การพัฒนาความอ่อนโยนกับตัวเองทำให้เรามองเห็นทั้งปัญหาและศักยภาพของเรา เราไม่จำเป็นต้องเพิกเฉยปัญหาหรืออวดโอ่ศักยภาพที่มีเกินจริง ความสามารถในการอ่อนโยนกับตัวเองและชื่นชมสิ่งที่เราเป็นได้เสมอ เป็นพื้นฐานที่จำเป็นมากๆ ต่อการช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น




ความจริงแท้ในตนเอง

การปฏิบัติทางจิตวิญญาณบนหลักความดีพื้นฐานไม่ได้เรียกร้องให้เรา “เป็นคนดี” หรือ “เป็นคนดีขึ้น” แต่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความจริงแท้ในตนเอง” (Authenticity)  ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความกล้าอย่างมาก ในทุกลมหายใจเข้าออก เราพร้อมที่จะเปิดต่อทุกสภาวะจิต ทุกอารมณ์ ทุกความคิดที่ผ่านเข้ามา เรานั่งเฉยๆ และทำความรู้จักมันอย่างที่เป็น พร้อมที่จะปล่อยให้มันเป็นไป แล้วกลับมาอยู่กับร่างกายและลมหายใจอีกครั้ง ความกล้ายังสะท้อนอยู่ในความเต็มใจที่จะปล่อยวางจากการยึดมั่นทางความคิดทั้งหลาย ทั้งที่เรามีต่อโลกและต่อตัวเราเองอีกด้วย

ความกล้าที่จะยอมให้โลกเข้ามาสัมผัสใจเราอย่างไม่ต่อต้านขัดขืน คือหนทางแห่งนักรบชัมบาลา โดยปกติแล้ว ความกลัวได้สร้างโลกจากการยึดมั่นทางความคิด เราสร้างโลกในหัวจาก conceptual framework  ซึ่งซ้อนทับโลกแห่งความเป็นจริงอยู่อีกชั้นหนึ่ง เราไม่ต้องการสัมพันธ์กับโลกที่มีชีวิตเพราะมันคาดไม่ถึง เดาไม่ได้ แล้วกลไกดังกล่าวก็ย้อนกลับมาเราใช้ชีวิตอย่างน่าเบื่อหน่าย จำเจ ซังกะตาย จากการพยายามควบคุมบงการให้โลกเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น

ยิ่งทำเช่นนี้ เราก็ยิ่งค้นพบว่าเราต้องเผชิญหน้ากับความกลัวภายใน เป็นความกลัวต่อ unknown หรือความไม่รู้ ผลของการปฏิบัติภาวนาจะนำพาเราไปสู่โลกอีกแบบนึง เป็นโลกที่ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยความหวังและความกลัว หรือความเคยชิน สำหรับอัตตา unknown เป็นสิ่งที่น่าหวั่นกลัว แต่สำหรับนักรบชัมบาลา ความกล้าที่จะสัมพันธ์กับ unknown นำไปสู่โลกแห่งการตื่นรู้และอิสรภาพ  

หนทางอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนักรบ

วิสัยทัศน์แห่งชัมบาลาสะท้อนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้ฝึกตนที่เชื่อมั่นในความดีพื้นฐานของมนุษย์ พวกเขาไม่กลัวที่จะเป็นตัวเองและมีความจริงแท้ต่อทุกประสบการณ์อย่างเปลือยเปล่า เราเรียกผู้คนที่มีความจริงแท้ในตัวเองเช่นนี้ว่า “นักรบ” ไม่ใช่นักรบที่ใช้ความรุนแรงหรือเอาอาวุธไปสู้รบกับใคร แต่มีความอ่อนโยนและกล้าหาญในการเผชิญตัวเองอย่างถึงที่สุด และด้วยความจริงแท้นี่เองที่ทำให้นักรบชัมบาลามีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอยู่

การสัมพันธ์กับสถานการณ์ชีวิตบนพื้นฐานของการเปิดใจต่อ unknown ทำให้นักรบชัมบาลาค้นพบเวทมนตร์ “MAGIC” ซึ่งเป็นธรรมชาติอีกประการหนึ่งของสังคมแห่งการตื่นรู้ เมื่อเปิดใจ เราก็ค้นพบความเป็นไปได้ในทุกสถานการณ์ที่เปิดกว้างไปพร้อมๆ กัน ราวกับมีเวทมนตร์หรือความมหัศจรรย์เกินกว่าที่จะคาดคิดได้ล่วงหน้า

การปฏิบัติทางจิตวิญญาณไม่ได้เป็นการกดข่มหรือควบคุม sense perception แต่กลับช่วยทำให้การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสมีความละเอียดอ่อนและปราศจากเครื่องกั้นขวางทางความคิดยิ่งขึ้น โลกภายนอกผ่านการเปิดตาเปิดใจจะยิ่งเป็นสิ่งที่เข้ามา “ช่วย” ปลุกให้เราตื่น ดังนั้นการภาวนา แม้จะไม่ใช่อะไรที่เร้าใจ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ตายซากน่าเบื่อ เพราะเราเปิดประสาทรับรู้ต่อโลกตามที่เป็นจริงให้เข้ามาปลุกเราอยู่ตลอดเวลา



DECONSTRUCT เป้าหมายการตรัสรู้

วิถีชัมบาลารื้อสร้างเป้าหมายการตรัสรู้ ที่อาจถูกมองว่าเป็นการปล่อยวางจากโลกและถอยห่างไม่สัมพันธ์กับชีวิตทางโลกย์ๆ โดยสิ้นเชิง ด้วยการเชื้อเชิญให้เรา “ใส่ใจ” ต่อรายละเอียดของการดำเนินชีวิตเราในแต่ละขณะยิ่งขึ้น ไม่มีสิ่งใดจำเป็นต้องถูกปฏิเสธหรือผลักออกไป เพราะหากสามารถสัมพันธ์กับโลกปรากฏการณ์ทั้งหลายด้วยใจที่เปิดกว้าง โลกก็จะมีชีวิตราวกับเวทมนตร์ เป็นโลกอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยปลุกเราให้ตื่นอย่างเหมาะเจาะ

ตัวอย่างเช่น หากเราเดินเข้าไปในห้องห้องหนึ่งที่มีการจัดวางสิ่งต่างๆ ไว้อย่างเป็นระเบียบ สิ่งแวดล้อมในห้องนั้นก็จะมีผลกระทบต่อจิตใจเรา อาจทำให้เราใจเย็นลงหรือรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น หรือการที่เรารักษาความสะอาดร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าที่มีกลิ่นหอมและสะอาด ก็จะมีผลต่อสภาวะจิตของเราในวันนั้นด้วยเช่นกัน เราแต่ละคนสามารถแสดงออกซึ่งการดำเนินชีวิตอย่างสง่างามในแบบของเราเอง เป็นการแสดงออกซึ่งความใส่ใจต่อโลก ผู้คน และสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่

แม้คำสอนชัมบาลาจะพูดถึงเรื่องการฝึกตน แต่ท้ายที่สุดมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวกับเราทั้งหมดเสียทีเดียว ด้วยความเชื่อมั่นในความดีพื้นฐานและความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้คนและต่อโลก เราตระหนักได้ถึงความเร่งด่วนของการมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่โลกใบนี้ เราสามารถทำอะไรบางอย่างในแบบของเรา ช่วยเหลืออะไรบางอย่างแก่ผู้คนและแก่โลกใบนี้  การช่วยเหลือของเราไม่ได้ถูกขับเคลื่อนจากความคิดที่ว่า เราต้องเป็นอะไรบางอย่างเสียก่อนจึงจะไปช่วยคนอื่นได้ เช่น ถ้าเรารวย… ถ้าเรามีเงิน… ถ้าเราจบด็อกเตอร์ ถ้าเรามีความสามารถกว่านี้… ถ้าเราเข้มแข็งกว่านี้… เราไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเองดีกว่านี้ จึงจะมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้ได้ ด้วยการตระหนักในความดีพื้นฐาน เรามีทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นอยู่ในตัวเองอยู่แล้วตอนนี้ การเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและต่อสังคมที่เราอยู่ คือ การเริ่มต้นจากสิ่งที่เราเป็น


จาก https://www.vajrasiddha.com/article-shambhala/

http://www.tairomdham.net/index.php/topic,16181.0.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...