“หยั่งรากวัชรยาน” : แรงบันดาลใจ แนวทางการสอน และความท้าทายของสังฆะวัชรยานในสังคมไทยโพสต์โดย วัชรสิทธา
บทความโดย TOON วัชรสิทธา
นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 ที่กองทัพจีนบุกยึดทิเบตและทำให้ประชาชนชาวทิเบตต้องระหกระเหินจากประเทศของตน ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สิ่งปลูกสร้าง คัมภีร์ทางศาสนา ถูกทำลายย่อยยับ ลามะและผู้คนชาวทิเบตมากมายถูกเข่นฆ่า และจำนวนมากต้องหลบหนีออกจากบ้านเกิดของตัวเอง
แต่น่าอัศจรรย์ ที่เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำให้พุทธศาสนาทิเบตล่มสลายลง กลับกันมันได้ทำให้ผู้นำทางศาสนา คุรุระดับสูงในนิกายต่างๆ รวมถึงลามะมากมาย กระจายออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งโลก ผู้คนเหล่านี้ได้นำเอาหัวใจคำสอน ประสบการณ์ รวมถึงวิถีปฏิบัติติดตัวไปด้วย และได้ส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับเพื่อนมนุษย์ในพื้นที่ที่เขาย้ายไปอยู่อาศัย ไม่ว่าที่แห่งนั้นจะมีความต่างด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือค่านิยมแบบใดก็ตาม เมื่อพุทธศาสนาทิเบตหรือพุทธวัชรยาน ได้ถูกสอนนอกประเทศทิเบตเป็นครั้งแรก พลวัตนี้ก็เริ่มสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหม่และครั้งใหญ่ให้กับพุทธศาสนา โดยมีศูนย์กลางของพลวัตเป็นโลกตะวันตก ซึ่งทำให้รูปแบบการเรียนรู้พุทธธรรมย่างเข้าสู่พื้นที่แห่งการศึกษาเรียนรู้ที่เป็นสากลมากขึ้น
ในประเทศไทยเองมีกลุ่มคนที่สนใจและศึกษาพุทธวัชรยานอย่างลึกซึ้ง โดยได้เดินทางไปศึกษาทั้งจากทิเบตและจากโลกตะวันตก พวกเขาได้นำคำสอนที่มีคุณค่าเหล่านั้นกลับมาเผยแพร่ให้กับลูกศิษย์ชาวไทยเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่น่าสนใจว่าพุทธศาสนาวัชรยานนี้กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับว่ากำลังเริ่มต้น “หยั่งราก” ลงสู่ผืนดินไทย
มูลนิธิพันดาราร่วมกับมูลนิธิวัชรปัญญาจึงได้จัดงานเสวนา “หยั่งรากวัชรยาน” ขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2566 เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสองสังฆะ รวมถึงความคิดเห็นต่อการงานทางธรรมที่จะทำให้พุทธวัชรยานสามารถหยั่งรากในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาคือ อ.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล, อ.เยินเต็น, วิจักขณ์ พานิช, คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, ตัวแทนสังฆะพันดารา และตัวแทนสังฆะวัชรปัญญา
แรงบันดาลใจในการศึกษาพุทธวัชรยานอ.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล เล่าย้อนไปถึงช่วงที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ว่าตอนนั้นได้มีโอกาสเป็นตัวแทนยุวพุทธเถรวาทที่ได้เดินทางไปทำกิจกรรมร่วมกับตัวแทนจากชาติอื่นๆ ซึ่งในทริปนั้นอาจารย์ได้พบกับพระทิเบตสองรูปซึ่งจุดประกายให้เกิดความสนใจในวิถีและวัฒนธรรมของทิเบต จน 5 ปีหลังจากนั้น อาจารย์ก็ได้ไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านภาษาและวรรณกรรมทิเบต และได้พบกับหนังสือของท่านศานติเทวะที่ชื่อ “โพธิสัตว์จรรยาวจาร” หรือ “จริยวัตรของพระโพธิสัตว์” ซึ่งทำให้เกิดความประทับใจถึงความยิ่งใหญ่ของแนวคิดแบบมหายาน-วัชรยานผ่านตัวอักษรทิเบต
จากนั้นอ.กฤษดาวรรณ ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาภาคสนามที่ประเทศเนปาลเป็นเวลาหนึ่งปี โดยได้ใช้ชีวิตอยู่กับผู้อพยพชาวทิเบตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ กับพระมหาสถูปโพธินาถ ตลอดปีนั้นเป็นช่วงเวลาที่อาจารย์ได้เรียนรู้หลายๆ อย่างจากวิถีการใช้ชีวิตของชาวทิเบตที่ผูกรวมอยู่กับศาสนา
“การได้ทุนไปทำวิจัยในทิเบตเป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ของเรา เพราะมันทำให้เราได้เห็นความมหัศจรรย์แห่งจิตวิญญาณของชาวทิเบต แม้เราจะเกิดในดินแดนพุทธ แต่เรารู้สึกว่ามันขาดแรงบันดาลใจบางอย่างที่เสริมสร้างความรู้สึกของการให้ แต่พอได้ไปใช้ชีวิตในทิเบตช่วงนั้นมันเติมเต็มในส่วนนี้ของเรา และทำให้เราได้พบกับชีวิตใหม่”อาจารย์เล่าต่อว่าแรงบันดาลใจนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใดจากการฟังบรรยายของคุรุอาจารย์ท่านใดท่านหนึ่ง แต่เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมผ่านการใช้ชีวิตกับชาวทิเบต ได้เรียนภาษาทิเบต ได้อ่านวรรณกรรมทิเบต แล้วก็ได้เดินทางไปอยู่ในทิเบต จนได้พบกับพระปฐมอาจารย์ที่ทำให้อยากจะศึกษาและฝึกปฏิบัติวัชรยานอย่างลงลึก
ด้านวิจักขณ์ พานิช ก็ได้เล่าถึงความสนใจด้านพุทธศาสนาของตัวเองตั้งแต่วัยหนุ่ม โดยเริ่มจากการฝึกปฏิบัติภาวนาในสายปฏิบัติของคุณแม่สิริ กรินชัย (ยุวพุทธิกะสมาคมฯ) ซึ่งในระหว่างการฝึกครั้งนั้นเขาได้มีประสบการณ์บางอย่างที่จุดประกายความอยากรู้อยากเห็นของเขาขึ้นมา
“ในการภาวนาครั้งนั้น เกิดประสบการณ์ที่พาให้ได้เข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติบางอย่างของจิตใจ ซึ่งไม่สามารถอธิบายเป็นถ้อยคำหรือหลักเหตุผลได้เลย ประสบการณ์นั้นทำให้เกิดความคิดที่ชัดขึ้นมาในใจว่า หากจะมีอะไรที่อยากเข้าใจอย่างถ่องแท้ในชีวิต ก็คือสิ่งนี้”หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย วิจักขณ์ได้บวชอยู่ที่สวนโมกข์เป็นเวลาหนึ่งปี โดยระหว่างนั้นเขาได้เรียนการภาวนากับพระอาจารย์สิงห์ทอง เขมิโย อุปัฏฐากย์ของท่านอาจารย์พุทธทาส
“ช่วงที่อยู่สวนโมกข์ เรามีความดื่มด่ำกับการศึกษาธรรมะมาก เริ่มอินกับการฝึกฝนตนเอง การเข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาติ และฝึกท้าทายตัวเองเรื่องความกลัว นิสัย รูปแบบ และความเคยชินในชีวิตต่างๆ ตอนนั้นชอบชีวิตพระมากเลยนะ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นถึงข้อจำกัดด้วย อยากเรียนรู้อะไรที่กว้างขึ้น เลยเริ่มมองหาสถานที่ที่จะได้ทั้งภาวนาและเรียนไปด้วย เลยตัดสินใจว่าจะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ”
“ช่วงแรกไม่ได้มีความสนใจเกี่ยวกับพุทธวัชรยานเลย แต่ก็เริ่มสัมผัสถึงความเปิดกว้างและได้รู้จักสายปฏิบัติที่หลากหลายตั้งแต่ตอนอยู่ที่สวนโมกข์ เริ่มเห็นว่าเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ไม่ได้มีกำแพงกั้นระหว่างกันอย่างที่เคยรับรู้มา ตอนก่อนจะไปนาโรปะ รู้สึกอยู่ลึกๆ ประมาณว่า ทำไมพุทธศาสนาต้องแบ่งแยก ทำไมต้องมีข้อห้ามหรือเงื่อนไขเต็มไปหมด ทั้งเรื่องเพศ สังคม ความเป็นธรรม สังคม การเมือง ฯลฯ ในใจเกิดคำถามว่า จะมีสักที่ไหมที่ตอบความสนใจทั้งหมดของเราตรงนี้”จนวิจักขณ์ได้เจอกับ อ.เรจินัลด์ เรย์ อาจเรียกว่า การได้พบคุรุถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของเขา
“อาจจะเรียกว่า เราเจอครูก่อน ที่จะเจอวัชรยานก็ได้ เราไม่สนเลยว่าจะชื่อว่าพุทธอะไร แต่เราอยากเรียนกับครูคนนี้ พอได้เจอครูแล้ว จึงค่อยเห็นว่าแผนที่วัชรยานนำไปสู่อะไร แล้วเกิดความรู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่เราตามหา นี่แหละตรงกับความปรารถนาลึกๆ ของเรา ถ้าถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้สนใจวัชรยาน มันคือเรื่องความใกล้ชิดระหว่างศิษย์กับครู ความศรัทธาต่อบางสิ่งบางอย่างที่ใหญ่กว่าตัวเรามากๆ แล้วก็เรื่องของภาษาและประสบการณ์ที่พ้นไปจากการแบ่งขั้วทวิลักษณ์ เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ความรัก ความงาม และการย้อนกลับมาเคารพสังสารวัฏ สัมพันธ์กับผู้คน เพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ อย่างเท่ากันเสมอกัน”ในวงเสวนายังมี อ.เยินเต็น อีกหนึ่งท่านที่เข้ามาร่วมพูดคุยด้วยกัน โดย อ.เยินเต็น เป็นหนึ่งในคุรุประจำสังฆะพันดาราซึ่งเดินทางมาจากทิเบตโดยตรง อ.ตุล จึงชวนพูดคุยถึงสถานการณ์และความเป็นไปของศาสนาพุทธในทิเบตในปัจจุบัน
อ.เยินเต็น เริ่มจากการอธิบายว่าส่วนใหญ่แล้ว ชาวทิเบตจะบวชเรียนกันตั้งแต่เด็ก โดยมีพ่อแม่พาไปบวช โดยมีประเพณีว่า หากครอบครัวไหนมีลูกชายสองคน หนึ่งในนั้นจะต้องบวช (แต่ในปัจจุบันประเพณีนี้เริ่มมีน้อยลง) ซึ่งนักบวชรุ่นใหม่ๆ เหล่านี้จะได้เรียนพุทธธรรมแบบ “ข้ามนิกาย” ซึ่งนับว่าเป็นรูปแบบการศึกษาแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมลามะทิเบต
“ชาวทิเบตมีนิกายมากมายและแต่ละนิกายก็มีรายละเอียดของหลักสูตรไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในส่วนของคำสอนขั้นสูง ซึ่งในสมัยก่อนนิกายเหล่านี้ไม่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันข้ามสาย แต่ทุกวันนี้สังคมทิเบตเปลี่ยนไปแล้ว แต่ละนิกายพร้อมที่จะเปิดรับองค์ความรู้จากนิกายอื่นๆ วัดขนาดใหญ่จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างนิกายมาบรรยายและแลกเปลี่ยนในลักษณะของงานเสวนาอย่างที่เราทำกัน สิ่งนี้นับว่าเป็นอนาคตของพุทธธรรมในทิเบตที่ทำให้เหล่านักบวชรุ่นใหม่ๆ สามารถเรียนรู้หลักปฏิบัติที่หลากหลายและรุ่มรวยของนิกายวัชรยานในทิเบต”จุดเด่นของพุทธศาสนาวัชรยานอ.กฤษดาวรรณ เล่าว่ามีหลายอย่างในพุทธวัชรยานที่เธอประทับใจ ช่วงแรกอาจจะเป็นเรื่องของความรัก ความกรุณา การได้พบคุรุแล้วเกิดแรงบันดาลใจจากท่าน แต่เมื่อเดินบนเส้นทางไปเรื่อยๆ ผ่านการฝึกฝนปฏิบัติ ความประทับใจแรกจะพัฒนาสู่ความหมายและการเติบโตของคำว่า “โพธิจิต” ที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะช่วยให้คนอื่นได้ตื่นรู้และเห็นความหมายของชีวิต โดยพร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรคนานา
“เรารู้สึกว่าวิถีนี้มันช่างนำพาเราไปโดยไม่ให้สนใจจุดมุ่งหมายของตัวเองเลย เป้าหมายของตัวเองมันไม่มี เพราะเป้าหมายของเราและชีวิตอื่นคือสิ่งเดียวกัน นั่นคือการหลุดพ้น อีกสิ่งที่ประทับใจมากๆ ตั้งแต่วันแรกคือคำว่าคุรุ สิ่งที่คุรุทำให้กับศิษย์ เราไม่ต้องไปหาพระโพธิสัตว์ที่ไหนไกลเพราะท่านอยู่กับเราตรงนี้แล้ว เราพบกับท่านในฐานะบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง และการที่เรามีเขาอยู่ เราจึงเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ใช่หน้าตาของท่าน ไม่ใช่เสื้อผ้าที่ท่านสวมใส่ หมวกที่ท่านมี หรือบัลลังก์ใหญ่ที่ท่านได้รับ แต่มันคือหัวใจที่ท่านพร้อมจะให้กับศิษย์ เพราะท่านอุทิศตัวเองที่จะช่วยเราและคนอื่น”
“เมื่อเราฝึกวัชรยาน ขอให้เราเปิดกว้าง อย่ารีบหาคำตอบสำหรับสิ่งใด เพราะความเข้าใจนั้นไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป มันเป็นเพียงคำตอบของคนอื่นหรือเป็นการท่องจำข้อความในหนังสือ ความเข้าใจในวัชรยานจะมาพร้อมกับความเข้าใจในความหมายของสายสัมพันธ์คุรุ-ศิษย์ หรือความเข้าใจเรื่องโพธิจิต ซึ่งแม้จะสวดมนตราเป็นแสนๆ ครั้งก็อาจจะยังไม่เข้าใจ เพราะความเข้าใจเกิดขึ้นผ่านการเปลี่ยนจากข้างใน ไม่ใช่เรื่องของจำนวนการสวดมนตรา”
อ.กฤษดาวรรณเล่าย้อนไปถึงก้าวแรกที่ตัดสินใจเดินบนเส้นทางของการทำงานทางธรรม ที่จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 20 มาแล้ว
“ไม่เคยเลยที่จะรู้สึกว่าเวลาที่ผ่านมาเป็นสิ่งน่าเสียดาย แต่อาจจะมีวันที่รู้สึกกังวลบ้างว่าเราจะไปอย่างไรต่อ เพราะเราไม่เคยได้วางแผนเส้นทางเอาไว้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นมันคือการลงมือทำมาตลอด คิดจะทำแล้วก็ทำเลย บางวันจึงอาจจะมีความกังวลเกิดขึ้นมาบ้างซึ่งมันมาแล้วก็ผ่านไป แต่ความสุข ความเบิกบาน ความสบายใจมีเยอะมาก ทั้งยังภูมิใจที่เราได้นำคำสอนเหล่านี้มาบอกเล่าแก่ผู้อื่น”
ด้านของวิจักขณ์เล่าว่า เมื่อได้ก้าวขาเข้าสู่โลกวัชรยานแล้ว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเด่นชัดคือ “Enlightenment is real” ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตล้วนแต่เป็นเส้นทางที่พาเราไปสู่การตื่นรู้
“การตรัสรู้ การรู้แจ้ง การสัมพันธ์กับครูบาอาจารย์ สายปฏิบัติ สังฆะ หรือแม้แต่จักรวาลที่ทำงานกับเราในแต่ละขณะ มันไม่ได้เป็น myth อีกต่อไป ทุกสถานการณ์ที่เราต้องเข้าไปสัมพันธ์ด้วย อุปสรรค ความท้าทาย และปัญหาทั้งหมด คือส่วนสำคัญของเส้นทางสู่ Enlightenment เมื่อฝึกวัชรยาน เรารู้สึกได้จริงๆ ว่าทั้งหมดทั้งปวงที่เข้ามาทำงานกับเรา มาช่วยให้เราหลุดพ้น คำว่า “ตรัสรู้” ที่เคยอ่าน เคยเรียน เคยได้ยิน แต่ลึกๆ ยังไม่เชื่อว่ามันเป็นไปได้จริง แต่วัชรยานทำให้สัมผัสได้จริง เราอยู่ในมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ อยู่ในอ้อมกอด การเกื้อหนุน และความรักของครูบาอาจารย์ และพรที่ส่งมาอย่างไม่ขาดสาย”
“ในการทำงานทางธรรม ผมก็รู้สึกคล้ายกับ อ.กฤษดาวรรณ คือบ่อยครั้ง ไม่รู้จะไปต่อยังไง แต่แล้ว ก็มักจะมีสัญญาณ หรือสิ่งนำทางเกิดขึ้นในชีวิตอยู่โดยตลอด หลายคนอาจคิดว่าที่ทำมูลนิธิวัชรปัญญา สร้างสังฆะ ทำวัชรสิทธา หรือโครงการต่างๆ มาจากการวางแผน แต่จริงๆ ผมไม่เคยวางแผนอะไรสักอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนคือ พรจากครูบาอาจารย์”
“เหมือนจู่ๆ เราก็หลุดเข้าไปอยู่ในวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ของครูบาอาจารย์ จนทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้อีกแล้ว เพราะนี่คือสิ่งที่งดงามและมีค่าที่สุด ซึ่งจริงๆ ตัวเองก็ไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะมาทำอะไรแบบนี้เลยนะ แต่รู้ตัวอีกทีก็ทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว ตอนกลับไทยมาใหม่ๆ ยังมีความลังเลนะว่าจะทำอะไรดี แต่ทั้งหมดเริ่มต้นด้วยความปรารถนาที่จะถ่ายทอดสิ่งที่เรียนมาจากอาจารย์ให้กับคนอื่น เพราะมันคือสิ่งมีค่ามาก ที่เราไม่อยากให้มันหายไป”
นอกจากนี้วิจักขณ์ยังเสริมว่า จริงๆ แล้ววัชรยานมีฐานเป็นมหายาน ซึ่งก็คือโพธิจิต หรือศักยภาพของจิตใจที่เปิดกว้าง โอบรับทุกความเป็นไปได้ ทุกแง่มุมของมนุษย์ ทั้งในตัวเราเองและคนอื่น วัชรยานจะยิ่งทำให้โพธิจิตนี้เบ่งบานและเปล่งประกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่งดงามและมีค่ายิ่ง
“วัชรยานจะมีความภูมิใจเรื่อง unbroken lineage หรือ “ความไม่ขาดสาย” ของสายปฏิบัติ เพราะวัชรยานเป็นธรรมะที่มีชีวิต ส่งผ่านจากจิตสู่จิต เป็นธรรมะที่มอบให้กันด้วยความรัก เหมือนที่อาจารย์กฤษดาวรรณบอกว่า คำสอนวัชรยานต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนักเพื่อที่จะได้รับมา ในแต่ละรุ่นมีคนที่อุทิศตนเพื่อรับและส่งต่อสิ่งนี้ ซึ่งเมื่อผมเองก็ไปรับมาแล้ว เราเลยไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้นอกจากหาวิธีส่งต่อมันให้กับคนอื่น ซึ่งแม้มันจะยาก ก็ถือเป็นเกียรติของชีวิตนะ ที่ได้ทำสิ่งนี้”