ผู้เขียน หัวข้อ: มณฑลจักรวาล (จำลอง) ใน บุโรพุทโธ (Culture ศิลปวัฒนธรรม)  (อ่าน 82 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
มณฑลจักรวาล (จำลอง) ในบุโรพุทโธ (1)



บุโรพุทโธ เป็นมหาสถูปทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในศิลปะชวา สร้างขึ้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 14 โดยราชวงศ์ไศเลนทร์ซึ่งนับถือพุทธศาสนามหายาน นอกจากจะเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ที่แห่งนี้ยังแฝงด้วยคติการจำลองจักรวาลในพุทธศาสนามหายานที่ซับซ้อนที่สุดอีกด้วย

สำหรับศาสนาพุทธนั้นเริ่มเจริญรุ่งเรืองในดินแดนชวาภาคกลางเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์ไศเลนทร์มีอำนาจปกครองชวาภาคกลางแทนที่ราชวงศ์สัญชัย (มะตะราม) เดิมนั้นราชวงศ์ไศเลนทร์นับถือฮินดู จนกระทั่งเมื่อกษัตริย์นาม ‘ปนังกะรัน’ ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา พระองค์ได้หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานแบบตันตระ โดยเชื่อกันว่านิกายดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ปาละ-เสนะของอินเดีย (วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล : 2558)

บุโรพุทโธ สร้างตามคติจักรวาล ซึ่งถือเป็นคติความเชื่อที่เข้ามาพร้อมกับการนับถือพระพุทธศาสนาในชวา ระบบจักรวาลนี้มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง ล้อมรอบด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์และทะเลสีทันดร 7 ชั้น ซึ่งคติจักรวาลนี้แสดงให้เห็นได้อย่างเด่นชัดในการวางผังที่หมายถึงจักรวาลและอำนาจของพระอาทิพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้าผู้สร้างโลกในพุทธศาสนามหายาน (สุภัทรดิศ ดิศกุล : 2545) ศูนย์กลางที่เป็นเขาพระสุเมรุ ใช้สัญลักษณ์คือสถูปทึบตันบนยอดสูงสุด ที่แผ่อำนาจบารมีไปทั่วทั้งจักรวาล

ในพุทธศาสนามหายานนั้น การจำลองจักรวาลมาอยู่ในสถาปัตยกรรม ประติมากรรม หรือจิตรกรรมนั้นเรียกว่าระบบ “มณฑล” (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558) โดยบุโรพุทโธได้แสดงมณฑลที่จำลองภูมิทางจิต 3 ระดับ หรือภูมิ 3 ซึ่งหมายถึงภพภูมิทางจิตของสัตว์โลกในคติมหายาน โดยเรียงจากฐานด้านล่างสู่ยอดด้านบน และระบบอาทิพุทธ-ธยานิพุทธ ดังนี้



1.กามภูมิ คือ ภพภูมิที่ยังมัวเมาในกิเลสตัณหา จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดและตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ร่างกายของมนุษย์ที่อยู่ในภูมินี้จะตกอยู่ภายใต้การเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระพุทธเจ้าประจำภูมินี้คือ “พระมานุษิพุทธ” หรือพระพุทธเจ้าผู้เป็นมนุษย์ เกิดจากพระธยานิพุทธประจำกัปอีกทีหนึ่ง เป็นพระพุทธเจ้าที่ลงมาตรัสรู้เพื่อสั่งสอนสัตว์โลก เช่น พระศรีศากยมุนี (คนจีนเชื่อว่าคือ พระยูไล) พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

2.รูปภูมิ คือ ภพภูมิที่ไม่ต้องการกามแล้ว แต่ยังคงปรากฏการมี “รูป” คือหลุดพ้นจากกิเลสหยาบได้ แต่ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสละเอียด บุคคลที่เกิดในภูมินี้จะไม่เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีร่างกายที่รุ่งเรือง เป็นอมตะและมีความสุขตลอดไป พระพุทธเจ้าประจำภูมินี้คือ “พระธยานิพุทธ” เป็นพระพุทธเจ้าประจำทิศทั้ง 5 เกิดขึ้นจากสมาธิของพระอาทิพุทธ และเป็นพระพุทธเจ้าผู้ผลัดเปลี่ยนดูแลกัปต่างๆ ในระยะเวลาที่ต่างกัน ประกอบด้วย

•พระไวโรจนะ พระพุทธเจ้าประจำทิศเบื้องกลาง เป็นประธานของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ มีกายสีขาว ตราประจำพระองค์คือธรรมจักร ทรงแสดงธรรมจักรมุทรา (ปางปฐมเทศนา) มีพาหนะเป็นสิงโตเผือก ทรงเป็นต้นวงศ์ของพระโพธิสัตว์ตระกูลตถาคตโคตร อันได้แก่ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์

•พระอักโษภยะ พระพุทธเจ้าประจำทิศตะวันออก พระนามของพระองค์แปลว่า ผู้ไม่หวั่นไหว มีกายสีน้ำเงิน ตราประจำพระองค์คือวัชระ ทรงแสดงภูมิสปรรศมุทรา (ปางมารวิชัย) มีพาหนะเป็นช้าง ทรงเป็นต้นวงศ์ของพระโพธิสัตว์ตระกูลวัชรโคตร คือ พระวัชรปาณีโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภโพธิสัตว์

•พระรัตนสัมภวะ พระพุทธเจ้าประจำทิศใต้ พระนามของพระองค์แปลว่า ผู้เกิดมาจากมณี มีกายสีเหลืองทอง ตราประจำพระองค์คือรัตนมณีหรือจินดามณี ทรงแสดงวรทมุทรา (ปางประทานพร) มีพาหนะเป็นม้า ทรงเป็นต้นวงศ์ของพระโพธิสัตว์ตระกูลรัตนโคตร ได้แก่ พระรัตนปาณีโพธิสัตว์

•พระอมิตาภะ พระพุทธเจ้าประจำทิศตะวันตก เป็นพระพุทธเจ้าประจำกัปปัจจุบัน พระนามของพระองค์แปลว่า ผู้มีแสงสว่างนิรันดร์ (คำว่าอมิตาพุทธ ก็น่าจะเพี้ยนเสียงมาจากชื่อของพระองค์) มีกายสีแดง ตราประจำพระองค์คือดอกบัว ทรงแสดงธยานมุทรา (ปางสมาธิ) มีพาหนะเป็นนกยูง ทรงเป็นต้นวงศ์ของพระโพธิสัตว์ตระกูลปัทมโคตร ได้แก่ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

•พระอโมฆสิทธิ พระพุทธเจ้าประจำทิศเหนือ พระนามของพระองค์แปลว่า ผู้สมหวังตลอดกาล มีกายสีเขียว ตราประจำพระองค์คือวิศววัชระ ทรงแสดงอภัยมุทรา (ปางประธานอภัย) มีพาหนะเป็นครุฑ ทรงเป็นต้นวงศ์ของพระโพธิสัตว์ตระกูลกรรมโคตร คือ พระวิศวปาณีโพธิสัตว์

3. อรูปภูมิ คือ ภพภูมิที่ไม่ต้องการทั้ง “กาม” และ “รูป” บุคคลที่เกิดในภพนี้คือผู้บรรลุนิพพาน เป็นผู้ที่เข้าไปรวมแล้วกับความจริงอันสูงสุด ซึ่งไม่ตกอยู่ภายใต้กาลเวลา จึงไม่มีจุดสิ้นสุด เป็นอมตะ พระพุทธเจ้าประจำภูมินี้คือ “พระอาทิพุทธ” เป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกของจักรวาล เป็นพระพุทธเจ้าผู้เกิดขึ้นเอง เป็นอมตะ ทรงเป็นผู้สร้างจักรวาลทั้งปวง ทั้งยังสร้างพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ โลก และสรรพสัตว์ทั้งมวล (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีผู้มากระทำประทักษิณ คือการเดินเวียนขวารอบบุโรพุทโธขึ้นไปนั้น เมื่อเดินขึ้นไปแต่ละชั้นก็จะพ้นจากชั้น “กามธาตุ” ไปยังชั้น “รูปธาตุ” และในที่สุดแล้วก็จะขึ้นไปสู่ชั้น “อรูปธาตุ” ซึ่งถือเป็นชั้นสูงสุดนั่นเอง (วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล : 2558)

จากแนวคิดดังกล่าวนี้เชื่อมโยงกับคติ “ตรีกาย” อันเป็นพุทธปรัชญาสำคัญประการหนึ่งของมหายานที่เชื่อว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นทิพยภาวะ มีภาวะความเป็นอยู่คู่กับโลกเสมอ การปรินิพพานของพระพุทธองค์เป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น โดยความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้านั้นเป็นอนาทิ เป็นอนันตะ

นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าตรีกายมีกำเนิดในราวพุทธศตวรรษที่ 11 (พิริยะ ไกรฤกษ์ : 2555) จากนิกายโยคาจารที่เสนอความเป็นนิรันดรของจิต และการแสวงหาการหลุดพ้นของจิตด้วยตนเอง หรืออาจมีเค้ามูลจากนิกายมหาสังฆิกวาทที่กล่าวถึงการดำรงอยู่ของพระตถาคตในฐานะพุทธสภาวะอันเป็นนิรันดร มีพระชนม์เป็นอนันตกาลไม่ดับสูญหรือเสื่อมสลาย พระตถาคตที่ปรากฏพระองค์บนโลกมนุษย์เป็นเพียงการแสดงปาฏิหาริย์ของพระตถาคตผู้ทรงเป็นโลกุตรสภาวะ (พิริยะ ไกรฤกษ์ : 2555)  

ในกายตรยสูตร ของลัทธิมหายาน พระศากยมุนีมีพุทธดำรัสกับพระอานนท์ว่าทรงมีพระกายสามมิใช่กายเดียว (อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสต์ : 2551) โดยพุทธปรัชญา “ตรีกาย” ประกอบด้วย

1.นิรมาณกาย (กายเนื้อ) ในอดีตเรียกว่า “รูปกาย” เป็นกายที่ธรรมกายหรือสัมโภคกายเนรมิตขึ้นในรูปของพระมานุษิพุทธะ หรือพระพุทธเจ้าผู้เป็นมนุษย์ที่ยังเผชิญกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกับทุกสรรพสัตว์ เพื่อให้มนุษย์ตระหนักถึงความไม่จีรังยั่งยืนของสังขารและใช้สั่งสอนศาสนาในโลกมนุษย์แทนพระองค์ คำสอนของลัทธิตันตรยานกล่าวว่า “พระศากยมุนีพุทธเจ้าเสด็จลงมายังชมพูทวีปในรูปของนิรมาณกาย ได้ทรงประกอบกิจอันยิ่งใหญ่ 8 ประการ และทรงตรัสรู้ สิ่งทั้งมวลนี้ล้วนเป็นมายาจากองค์พระสมันตภัทรวัชรสัตว์” กายนี้จึงมีทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ไม่เป็นนิรันดร์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระอดีตพุทธะ พระปัจจุบันพุทธะคือพระศากยมุนี หรือพระอนาคตพุทธะที่ประสูติและทรงสั่งสอนพระธรรมในโลกมนุษย์จึงล้วนเป็นนิรมาณกาย

2.สัมโภคกาย (กายทิพย์) คือ สภาวะของพระตถาคตในฐานะร่างเนรมิตของธรรมกาย เพื่อใช้สั่งสอนธรรมแทนพระองค์ สภาวะนี้จึงมีจุดเริ่มต้น ไร้ขีดจำกัด แต่ก็เป็นนิรันดร์ กายเนรมิตนี้มีเพียงพระตถาคต พระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าเท่านั้นที่สามารถทอดพระเนตรได้ เช่น มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ และอสีตยานุพยัญชนะ หรือลักษณะย่อยอีก 80 ประการ หรือแม้แต่พระฉัพพัณณรังสี มนุษย์ปุถุชนทั่วไปไม่อาจมองเห็นความพิเศษดังกล่าวได้โดยตรงนอกจากผ่านทางพระพุทธรูปอันเป็นรูปจำลองของสัมโภคกายเท่านั้น

สัมโภคกายเองก็มีความสามารถในการเนรมิตพระตถาคต พระโพธิสัตว์ หรือเทพเจ้าเพื่อสั่งสอนพระธรรมในรูปของสัมโภคกายได้เช่นกัน แต่ในกรณีของพระตถาคตมักปรากฏในรูปของนิรมาณกาย



 3. ธรรมกาย (กายธรรม) คือ สภาวะของพระตถาคตในฐานะที่เป็นแก่นสารของหลักธรรม ดำรงอยู่ตลอดไปไม่เสื่อมสูญ ดังสาธยายในวิมลเกียรตินิทเทสสูตร ของลัทธิมหายานว่าพระวรกายแท้จริงของพระตถาคตทั้งหลายคือพระธรรมกาย ธรรมกายเป็นสัทธรรมในตนเอง ไม่มีจุดเริ่มต้น และไม่มีจุดสิ้นสุด

ในลัทธิมหายานพระตถาคตทุกพระองค์ล้วนดำรงพุทธสภาวะธรรมกาย ส่วนลัทธิตันตรยานซึ่งแยกพุทธสภาวะตรีกายของพระตถาคตค่อนข้างชัดเจน จัดให้พระตถาคต เช่น พระมหาไวโรจนะ พระวัชรธร และพระสมันตภัทรวัชรสัตว์เป็นธรรมกาย

นอกจากนี้ธรรมกายยังเป็นมูลฐานให้กับกายที่เหลืออีกสองกาย คือ สัมโภคกายและนิรมาณกาย เนื่องจากธรรมกายเป็นพุทธสภาวะไร้ตัวตน ไม่อาจโปรดสรรพสัตว์ได้ แต่ด้วยการดำรงพุทธสภาวะดุจเทวะผู้สร้างสรรค์จึงยังสามารถเนรมิตกายที่เหลืออีกสองกายเพื่อสั่งสอนพระธรรมแทนพระองค์ ในรูปของสัมโภคกายและนิรมาณกาย(พิชญา สุ่มจินดา : 2559)

ขณะที่บางท่านเชื่อว่าตรีกายไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีอยู่แล้วในแนวคิดดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์  (Urban Hammar : 2005) กล่าวคือ สัมโภคกายเทียบได้กับ “เทพเจ้า” และธรรมกายเทียบได้กับ “พรหมัน” นั่นเอง





จาก https://www.matichonacademy.com/content/article_42495

เด๋วมาต่อ ภาค 2
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


มณฑลจักรวาล (จำลอง) ในบุโรพุทโธ (2)

จากเมื่อครั้งก่อนเราได้ทราบกันเบื้องต้นแล้วว่าบุโรพุทโธ มหาสถูปทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดและซับซ้อนที่สุดในศิลปะชวา สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 14 โดยราชวงศ์ไศเลนทร์ ตามคติ ‘มณฑล’ หรือระบบจักรวาลในพุทธศาสนามหายาน รวมทั้งยังจำลองระบบภูมิ 3 ระบบอาทิพุทธ-ธยานิพุทธ และระบบตรีกาย ซึ่งถือเป็นพุทธปรัชญาสำคัญของนิกายนี้นั่นเอง


สถูปเกสาริยา (Kesariya) ศิลปะอินเดียสมัยปาละ

เมื่อพิจารณารูปแบบทางสถาปัตยกรรมจะพบว่าบุโรพุทโธแห่งนี้ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถูปเกสาริยา ซึ่งเป็นสถูปในศิลปะอินเดียสมัยปาละ ศาสนสถานแห่งนี้สร้างอยู่บนเนินดินธรรมชาติที่มีความสูงจากระดับพื้นปกติประมาณ 15 เมตร แสดงถึงความฉลาดของผู้สร้างที่ใช้สภาพภูมิศาสตร์และลักษณะกายภาพของพื้นที่มาช่วยในการออกแบบให้สอดคล้องไปกับคติจักรวาลในพระพุทธศาสนา

โดยปกติจันทิหรือศาสนสถานที่พบในชวาภาคกลางจะแบ่งองค์ประกอบเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนฐาน หมายถึง โลกหลังความตาย ส่วนเรือนธาตุ หมายถึง โลกมนุษย์ ภายในอาคารถือเป็นดินแดนบริสุทธิ์ และส่วนยอด หมายถึง ชั้นภูมิเทวดาหรือเทพเจ้า แต่สำหรับที่บุโรพุทโธนั้นแม้จะแบ่งอาคารออกเป็น 3 ส่วนเหมือนกัน แต่ความหมายจะต่างออกไป ดังนี้ (Jan Fontain : 1990)

1.“กามธาตุ” หมายถึง โลกหรือดินแดนที่ยังอยู่ในสังสารวัฏ

2.“รูปธาตุ” หมายถึง โลกหรือดินแดนบริสุทธิ์ ที่ซึ่งมนุษย์สามารถเอาชนะกิเลสตัณหาได้ แต่ยังคงมีรูปอยู่

3.“อรูปธาตุ” หมายถึง ภาวะสูงสุด เป็นการหลุดพ้นออกไปสู่การไม่มีรูปใดๆ อีกต่อไป

สำหรับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของบุโรพุทโธแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ฐานล่างสุด ฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมที่มีทางประทักษิณ และฐานกลมด้านบนซึ่งรองรับสถูป โดยใช้กระบวนการ 3 วิธี ในการจำลองระบบมณฑลจักรวาล คือ (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

1.แผนผังทางสถาปัตยกรรม จะสังเกตได้ว่า บุโรพุทโธนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม 2 ส่วน คือ ส่วนฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมซึ่งมีภาพสลักและส่วนฐานกลมซึ่งไม่มีภาพสลัก

                เนื่องจากฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมนั้น “มีการหยักมุม” และมีภาพสลักที่ซับซ้อน ดังนั้นจึงเปรียบได้กับการมีรูป ซึ่งตรงกับ ‘กามภูมิ’ และ ‘รูปภูมิ’ ส่วนฐานกลมด้านบนนั้นเป็นฐานเขียงที่เรียบง่าย ไม่มีการหยักมุมและไม่มีภาพสลักใดๆ




ส่วนนี้จึงน่าจะตรงกับ ‘อรูปภูมิ’ ซึ่งเป็นภูมิที่ไม่มีรูปแล้ว เป็นภูมิแห่งการหลุดพ้นและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระอาทิพุทธเจ้า

2.ภาพสลักในพุทธศาสนาที่ฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมนั้นปรากฏภาพสลักทางพุทธศาสนามหายานจำนวนหลายเรื่อง ซึ่งภาพสลักเหล่านี้นอกจากจะเพื่อจำลองภพภูมิทางจักรวาลแล้ว ผู้ศรัทธาสามารถเรียนรู้เรื่องราวและคติธรรมทางพุทธศาสนาสอดแทรกอยู่ระหว่างเดินประทักษิณอีกด้วย โดยภาพสลักที่ด้านบนมักเป็นสัญลักษณ์ทางภูมิธรรมที่สูงกว่าด้านล่างเสมอ

– ฐานชั้นล่างสุด สื่อถึง ‘กามภูมิ’ หรือดินแดนของมนุษย์ ผู้อาศัยอยู่ในกามภูมิยังคงมัวเมาในกิเลสตัณหา ด้วยเหตุนี้บริเวณฐานชั้นล่างสุดจึงได้สลักภาพตาม “คัมภีร์กรรมวิภังค์” อันเป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนามหายานที่เกี่ยวข้องกับกฎแห่งกรรมและการทำดี-ชั่วของมนุษย์ (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)








สำหรับภาพสลักที่ปรากฏนั้นมักแบ่งออกเป็น 2 ตอนเสมอ คือ การกระทำและผลของการกระทำ อย่างเช่น ภาพสลักเรื่องผลของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้านหนึ่งเป็นภาพคนกำลังเหวี่ยงแหจับปลาและกำลังล่านก ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นภาพนรกซึ่งมีกระทะทองแดง อันเป็นผลจากการกะทำดังกล่าว เป็นต้น

ปัจจุบันได้มีภาพสลักบางภาพที่ชั้นนี้ถูกปิดไม่ให้ชม ส่วนสาเหตุนั้นบางท่านเชื่อว่าเป็นการเสริมหินที่ฐานให้มั่นคงแข็งแรง แต่ก็มีบางท่านคิดเห็นว่าบุโรพุทโธเป็นศาสนสถานที่น้อมนำคนสู่การบรรลุภพภูมิที่สูงขึ้น จึงไม่เป็นการเหมาะสมที่จะให้ภาพของกามภูมิปรากฏให้เห็น จึงมีการปิดไว้ไม่ให้เห็น

– ฐานประทักษิณชั้นที่ 1 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างกามภูมิกับรูปภูมิ เพื่อให้ฐานประทักษิณชั้นนี้เป็นกามภูมิที่มีภูมิธรรมสูงกว่ากามภูมิชั้นล่าง จึงได้มีการเลือกเอาภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี ผู้เป็นพระมานุษิพุทธเจ้าในกัปปัจจุบัน ตามคัมภีร์ลลิตวิสตระและชาดก-อวทาน



ภายในเจดีย์โปร่งที่บุโรพุทโธ ประดิษฐานพระไวโรจนะพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี ตามคติฝ่ายมหายานนั้นถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ในกามภูมิอันเป็นขั้นแรกของการตรัสรู้เท่านั้น นอกจากนี้ภาพที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ยังแสดงให้เห็นความพยายามหลุดพ้นจากกามภูมิสู่รูปภูมิ จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของหัวลี้ยวหัวต่อระหว่างทั้งสองภูมิได้ (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

คัมภีร์ลลิตวิสตระ ถือเป็นคัมภีร์พุทธประวัติฝ่ายมหายานที่มีปาฏิหาริย์และรายละเอียดที่แตกต่างจากแบบเถรวาท อย่างไรก็ตามเรื่องราวพุทธประวัติในคัมภีร์นี้ได้กล่าวจบที่ตอนแสดงปฐมเทศนา โดยภาพสลักที่บุโรพุทโธนี้ก็บที่ตอนแสดงปฐมเทศนาเช่นกัน

ส่วนชาดกและอวทานทางฝ่ายมหายานนั้น เป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระสาวก ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายมหายานหลายเล่ม เช่น คัมภีร์ชาดกมาลา (John N. Miksic : 2010), คัมภีร์ทิวยาวทาน และคัมภีร์อวทานศตกะ เป็นต้น โดยพระโพธิสัตว์จะเน้นการสละชีวิตช่วยเหลือสรรพสัตว์ เพื่อการบรรลุโพธิญาณสู่การเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคตกาล

ตัวอย่างชาดกในชั้นนี้ เช่น มหากปิชาดก พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาวานร ต่อมาถูกกษัตริย์และบริวารออกมาล่าฝูงลิง พระโพธิสัตว์จึงได้ใช้หางของตนมัดไว้กับต้นไม้อีกต้นหนึ่งเพื่อช่วยฝูงลิงหนีไปได้ สุดท้ายกษัตริย์สำนึกผิดและได้ฟังธรรมจากพญาวานร นอกจากนี้ยังมีเรื่องกัจฉปาวทาน ที่พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาเต่ายักษ์ และพระเจ้าศีพี ผู้สละร่างกายของตนเพื่อช่วยนกเขาจากเหยี่ยว

– ฐานประทักษิณชั้นที่ 2-3 กล่าวถึง ‘รูปภูมิ’ ที่ฐานประทักษิณทั้ง 2 ชั้นนี้สลักภาพเล่าเรื่องจากคัมภีร์คัณฑวยุหสูตร อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระสุธนผู้แสวงหาการตรัสรู้โดยการเข้าหาครูถึง 55 คน แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการบรรลุธรรมขั้นสูงตามแบบพุทธมหายาน ฐานประทักษิณชั้นนี้จึงตรงกับรูปภูมิ อันเป็นการหลุดพ้นจากกามภูมิอย่างแท้จริง (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

คัมภีร์คัณฑวยุหสูตรเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์อวตัมสกสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่สำคัญที่สุดพระสูตรหนึ่งในฝ่ายมหายาน ด้านในมีการเล่าเรื่อง “พระสุธน” ผู้แสวงหาการตรัสรู้เป็นพระโพธิสัตว์ โดยการแสวงบุญเพื่อหาครูผู้ที่จะชี้ทางไปสู่การบรรลุมรรคผล ครูทั้ง 55 คนของพระสุธนนั้นเรียกว่า ‘กัลยาณมิตร’ หรือเพื่อนที่ดี  (John N. Miksic and others : 2010) ประกอบด้วย พระโพธิสัตว์มัญชุศรีตัวแทนแห่งปัญญา ซึ่งพระสุธนเริ่มต้นเข้าหาเป็นพระองค์แรก, พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรตัวแทนแห่งความกรุณา, พระโพธิสัตว์ไมเตรยะอันเป็นอนาคตพุทธ ซึ่งได้สอนหลักธรรมให้แก่พระสุธนด้วยนิมิตต่างๆ จำนวนมาก และพระโพธิสัตว์สมันตภัทรแห่งการตรัสรู้ธรรม เป็นต้น









นอกจากนี้พระสุธนยังเดินทางไปหาพระนางมหามายาเทวี พุทธมารดา หรือแม้แต่พระศิวะเองนั้น ก็กลับใจมานับถือพุทธมหายาน ทั้งหมดนี้แสดงความไม่ถือตัวของพระสุธน ซึ่งน้อมรับและเรียนรู้ธรรมะจากกัลยาณมิตรทุกๆ คน

– ฐานประทักษิณชั้นที่ 4 เล่าเรื่องต่อจากชั้นที่ 2-3 กล่าวถึงเนื้อความจากคัมภีร์ภัทรจารี อันถือเป็นบทสรุปสุดท้ายของคัมภีร์คัณฑวยุหสูตรอีกทีหนึ่ง กล่าวถึงการที่พระสุธนได้ไปหาพระโพธิสัตว์สมันตภัทร ซึ่งถือเป็นครูคนสุดท้ายและได้บรรลุธรรม โดยพระสมันตรภัทรได้แสดงนิมิต “พระพุทธเจ้าทั้งหลายในจักรวาล” ให้แก่พระสุธน

ส่วนลานประทักษิณชั้นที่ 5 ไม่มีภาพสลัก เนื่องจากต้องการสื่อถึงการค่อยๆเข้าสู่ภาวะ “อรูปภูมิ” โดยมีเจดีย์โปร่งเป็นสัญลักษณ์ และเมื่อถึงชั้นที่เป็นเจดีย์ทึบตันบนยอดสูงสุด นั่นคือตัวแทนของ “อรูปภูมิ” ที่สมบูรณ์แล้วนั่นเอง (วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล : 2558)







3.พระพุทธรูปและสถูป บุโรพุทโธใช้วิธีการอันชาญฉลาดในการจำลองพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนามหายานที่มีฐานะต่างๆ กัน กล่าวคือใช้พระพุทธรูปที่เป็นรูปมนุษย์ สื่อถึง ‘การมีรูป’ และใช้สถูปซึ่งไม่เป็นรูปมนุษย์ สื่อถึง ‘การไม่มีรูป’

โดยในฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมปรากฏพระพุทธรูปที่สื่อถึงพระธยานิพุทธเจ้า 4 พระองค์ ที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำทั้ง 4 ทิศ เช่น พระอักโษภยะพุทธเจ้า แสดงปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำด้านตะวันออก เป็นต้น การที่สามารถมองเห็นพระพุทธรูปได้อย่างชัดเจน โดยไม่มีสถูปโปร่งมาบดบังนั้น แสดงถึง ‘การมีรูป’ ในรูปภูมินั่นเอง

ถัดขึ้นไปด้านบน ปรากฏสถูปโปร่งบรรจุพระพุทธเจ้าแสดงปางปฐมเทศนาจำนวนมาก ซึ่งก็คือพระไวโรจนะพุทธเจ้า ธยานิพุทธประจำทิศเบื้องกลางนั่นเอง พระพุทธเจ้าองค์นี้มีฐานะใกล้เคียงกับพระอาทิพุทธมากที่สุด ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงอยู่ในฐานะที่สูงกว่าธยานิพุทธอีก 4 พระองค์ ทั้งยังอยู่ในฐานะ “กึ่งสัมโภคกายกึ่งธรรมกาย” และทรงประทับใน “กึ่งรูปภูมิกึ่งอรูปภูมิ” (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

ด้วยเหตุที่พระพุทธรูปแทน ‘การมีรูป’ และสถูปแทนการ ‘การไม่มีรูป’ พระไวโรจนะพุทธเจ้าซึ่งประดิษฐานในสถูปโปร่ง จึงแสดงให้เห็นฐานะ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ระหว่างความมีรูปและความไม่มีรูปของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้

ส่วนสถูปทึบด้านบนสุด เป็นตัวแทนของพระอาทิพุทธผู้เป็นกษัตริย์ของพระพุทธเจ้าทั้งมวล สถูปนั้นเป็นตัวแทนของความไม่มีรูป ซึ่งเข้ากันได้ดีกับพระอาทิพุทธผู้มีธรรมกายแห่งอรูปภูมิอันปราศจากรูปนั่นเอง


จาก https://www.matichonacademy.com/content/culture/article_43116
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...