ผู้เขียน หัวข้อ: “Soft power” ถอดรหัสโครงสร้าง “อำนาจละมุนละไม” ในมิติวัฒนธรรม  (อ่าน 61 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


21 ธันวาคม 2566 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย

รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา

“Soft power” ถอดรหัสโครงสร้าง “อำนาจละมุนละไม” ในมิติวัฒนธรรม

           “Soft power” หรือที่ผู้เขียนเรียกในบทความนี้ว่า “อำนาจละมุนละไม” เป็นแนวคิดที่ริเริ่มจากงานสายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมานานกว่า 3 ทศวรรษ ก่อนขยายสู่งานสายอื่น ด้วยเหตุผลสำคัญคือเป็นการนำ “แหล่งทรัพยากร” โดยเฉพาะ “วัฒนธรรม” มาบริหารจัดการอย่างเหมาะสม จนอำนาจดังกล่าวเกิดพลังในการโน้มน้าวใจคู่ปฏิสัมพันธ์เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและเคารพซึ่งกันและกัน โดยปราศจากการใช้กำลังบังคับ กระทั่งเมื่อโลกก้าวสู่เทคโนโลยีข่าวสาร “อำนาจละมุนละไม” จึงแพร่อิทธิพลความคิดให้ใครต่อใครได้หยิบมาใช้เพื่อให้อุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังบรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ส่วนสังคมไทยพบว่าแนวคิดดังกล่าวเริ่มมีการกล่าวถึงในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่กลับเป็น “กระแส” แห่งยุคสมัยในปัจจุบัน จนมีคนกล่าวว่า “เดี๋ยวนี้ อะไร ๆ ก็ Soft power”

           บทความนี้ ไม่ต้องการตอบคำถามต่อคำพูดดังกล่าวว่า “ถูก” หรือ “ผิด” แต่จะชวนตั้งคำถามและวิเคราะห์ว่า ทำไม “Soft power” หรืออำนาจละมุนละไมในมิติทางวัฒนธรรมถึงมี “พลัง” และ “พลัง” ดังกล่าวก่อตัวขึ้นจากอะไร

-1-

           โจเซฟ เอส. เนย์ จูเนียร์ (Joseph S. Nye Jr.) นักรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้บัญญัติคำ “Soft power” หรือ “อำนาจละมุนละไม” ขึ้นในช่วงต้นคริสตวรรษที่ 1990 เพื่ออธิบายปรากฎการณ์การใช้อำนาจของรัฐในการโน้มน้าวรัฐคู่ความสัมพันธ์ให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและเกิดการเคารพซึ่งกันและกัน โดยใช้วัฒนธรรม อุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายระหว่างรัฐกับรัฐซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้มาเป็นแนวทางบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Nye, 2004; Nye, 2021) ซึ่งตรงข้ามกับ “Hard power” หรืออำนาจแข็งกระด้าง (นิยามโดยผู้เขียน) ที่รัฐจะใช้อำนาจที่มีลักษณะจับต้องได้ เช่น อำนาจทหารข่มขู่หรือใช้กำลังให้รัฐคู่ความสัมพันธ์ปฏิบัติตามนโยบายของตน (Cooper, 2004; Nye, 2008; Lock, E. 2010)

           อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายคนมองว่า อำนาจละมุนละไมของ โจเซฟ เนย์ หาใช่แนวคิดที่ริเริ่มใหม่ เพราะอำนาจดังกล่าวมีส่วนละม้ายกับแนวคิด “อำนาจ” ของ อี.เอช. คารร์ (E.H. Carr) และแอนโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) กล่าวโดยสรุป คือ

           อี.เอช. คารร์ นักคิดสำนักสัจนิยมมองว่า อำนาจในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมี 3 ประเภท คือ อำนาจทางทหาร อำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางความคิด โดยรัฐจะใช้อำนาจเหล่านี้ต่อรองหรือควบคุมรัฐคู่ความสัมพันธ์ และขณะเดียวกันก็เป็นหลักประกันความมั่นคงและปลอดภัยให้กับรัฐของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงอำนาจทางความคิดผ่านวาทศิลป์นั้นถือเป็นการใช้ศิลปะการโน้มน้าวใจคู่ความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญทำให้ผู้นำรัฐและการเมืองได้รับความนิยมชมชอบ วาทศิลป์หรืออำนาจทางความคิดจึงมีอานุภาพดั่งอาวุธสมัยใหม่ที่ไม่ต้องใช้กำลัง (ทหาร) บังคับแต่ประการใด (Carr, 1946)

           ส่วนแอนโตนีโอ กรัมชี นักคิดการเมืองแนวมาร์กซิสต์ให้ความสำคัญศักยภาพของกลุ่มทางสังคม โดยใช้เจตจำนงของกลุ่มครอบงำและรักษาอำนาจเหนือกลุ่มอื่น ๆ กรัมชียังมองว่า อำนาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการบังคับหรือกำลังทางกายภาพเท่านั้น แต่อำนาจยังรวมถึงศักยภาพในการออกแบบรูปแบบและควบคุมความเชื่อ ค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคมผ่านวิธีการและแสดงออกทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ อำนาจของกรัมชีจึงเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของปัญญาชน สถาบันวัฒนธรรมและอุดมการณ์ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมในการรักษาและผลิตซ้ำอำนาจของกลุ่มที่มีอำนาจเหนือกว่า (Gramsci, 1971: 80; Cox, 1983; Bieler and Morton, 2004)

           จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า อำนาจละมุนละไมที่เป็น “กระแส” แห่งยุคสมัยมีส่วนละม้ายกับ “อำนาจ” ในฐานคิดของ อี.เอช. คารร์ นักคิดสำนักสัจนิยมในเรื่องอำนาจทางความคิดและ แอนโตนีโอ กรัมชี นักคิดการเมืองแนวมาร์กซิสต์ ในมิติของแสดงออกวัฒนธรรมและอุดมการณ์ (Zahran and Ramos, 2010) ทั้งหมดมีจุดร่วมเดียวกันคือ อำนาจดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้และหากมีการจัดการที่เหมาะสมจะสามารถถ่ายทอดเป็นพลังได้อย่างมหัศจรรย์

           คำถามสำคัญคือ ถ้าเช่นนั้น อำนาจละมุนละไมมีการทำงานเป็นเช่นไร ถึงทำให้เกิดพลังในการโน้มน้าวใจและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยปราศจากกำลังบังคับ

-2-

           จากนิยามอำนาจลำมุนละไมในมุมมองของโจเซฟ เนย์ พบว่า อำนาจดังกล่าวมีโครงสร้างการทำงานประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1) แหล่งทรัพยากร 2) ตัวแทน 3) ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และ 4) สื่อและเทคโนโลยี (Bially,2005; Nye, 2006; Bilgin and Elis, 2008) กล่าวโดยสรุปคือ

           โครงสร้างแรก “แหล่งทรัพยากร” ที่มาของอำนาจละมุนละไมมี 3 แหล่ง คือ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมืองและนโยบายต่างประเทศ ซึ่งในมิติวัฒนธรรมนั้นสามารถนำวัฒนธรรมชั้นสูงและวัฒนธรรมมวลชนในทุกระดับมาเป็นต้นทุนในการสร้างอำนาจ เพียงแต่ว่าผู้สร้างจำเป็นต้องหา “คุณค่าร่วม” ซึ่งได้รับการยอมรับของทุกฝ่ายในคู่ปฏิสัมพันธ์ พลังโน้มน้าวใจถึงจะก่อตัวขึ้น (Nye, 2004)

           โครงสร้างที่สอง “ตัวแทน” ทำหน้าที่เป็น “สะพาน” เชื่อมโยงและถ่ายทอด “วัฒนธรรม” สู่คู่ความสัมพันธ์ ซึ่งในช่วงต้นของการใช้อำนาจนี้ ตัวแทนส่วนใหญ่มักจำกัดเพียงรัฐ ดารานักแสดงแนวหน้า (superstar) และบุคคลที่มีชื่อเสียงเท่านั้น ในมุมหนึ่ง “ตัวแทน” ดังกล่าวถือมีส่วนสำคัญต่อการสร้างหรือนำความคิดไปปรับใช้ (trendsetter) แต่อีกมุมหนึ่ง หากเลือกตัวแทนผิดพลาดก็จะส่งผลทำให้อำนาจละมุนละไมอ่อนพลัง (Lock, 2010) “ตัวแทน” จึงเป็นดาบสองคม เพราะหากตัวแทน (รวมถึงรัฐผู้เลือกตัวแทน) ขาดความเข้าใจต่อ “วัฒนธรรม” ที่นำมาสร้างอย่างถ่องแท้และไม่เข้าใจท่าที่ของ “คู่ความสัมพันธ์” อาจถึงขั้นส่งผลเชิงลบต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว (Herman, 2000; Van Ham, 2002)

           โครงสร้างต่อมาคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ สืบเนื่องจากการเลือก “ตัวแทน” ผิดพลาด ย่อมส่งผลกระทบต่ออำนาจละมุนละไมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคู่ความสัมพันธ์ เนื่องจากความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลต่อการทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและโลกรอบตัว อีกทั้งโครงสร้างดังกล่าวยังเป็นความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานสุดของการอยู่ร่วมกัน อำนาจจึงมักจะแสดงออกในรูปแบบที่หลากหลายและซับซ้อน (Zahran, 2010) ดังนั้น หากพิจารณาความสัมพันธ์อย่างฉาบฉวย ความเข้าใจผิดก็อาจเกิดขึ้นได้ เหตุนี้ อำนาจละมุนละไมจะมีพลังได้ตามที่ผู้สร้างประสงค์หรือไม่ ผู้สร้างจำเป็นต้องใส่ใจทุกรายละเอียดของคู่ความสัมพันธ์ว่า “เขา” คือใคร มีท่าที มีอำนาจและมีคุณลักษณะอย่างไร เป็นการเรียนรู้แบบ “เข้าใจเขา เข้าใจเรา” สะท้อนถึงความจริงใจซึ่งจะนำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจที่นำพลังละมุนละไมไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม

           โครงสร้างท้ายสุด คือ สื่อและเทคโนโลยี ในยุคต้นสื่อส่วนใหญ่มักเป็นสื่อกระแสหลัก โดยสร้างสรรค์ผ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และภาพยนตร์ ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลทางความคิดเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามก็ทำให้เกิดข้อวิจารณ์สำคัญข้อหนึ่งคือ สื่อดังกล่าวนำเสนอไม่รอบด้านหรือไม่เข้าใจวัฒนธรรมที่ต้องการสื่อ เสมือนเป็นการรับใช้อุดมการณ์ของรัฐซึ่งอาจเป็น “จุดบอด” ของการสร้างอำนาจละมุนละไม เนื่องจากถูกมองว่าเป็นเพียงกระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ กระทั่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต ทำให้การทูตสาธารณะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะสะดวกที่ (เกือบ) ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล กล่าวได้ว่าอินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารระดับต่าง ๆ ประการสำคัญยังเป็นศูนย์กลางข้อมูลและส่งผลกระทบต่อประชากรโลก ทำให้ผู้คนมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ไม่ได้จำกัดการนำเสนอเฉพาะสื่อกระแสหลักเช่นยุคต้น (Herr, 2019) ยิ่งกว่านั้น ในรอบ 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อสังคมก้าวสู่ยุคโชเชียลมีเดียเกิดแพลตฟอร์ตต่าง ๆ มากมาย ยิ่งทำให้การใช้อำนาจละมุนละไมขยายขอบเขตการสื่อสารและโน้มใจอย่างไร้ขอบเขตตามเช่นกัน

           จากโครงสร้าง “อำนาจละมุนละไม” ทำให้เห็นว่า แต่ละโครงสร้างมีการทำงานสัมพันธ์แนบแน่นจนกลายเป็นเนื้อเดียวอย่างไม่อาจแยกออกจากกัน ถึงจะทำให้ “อำนาจ” เกิด “พลัง” ยิ่งกว่านั้น อำนาจดังกล่าวเปรียบเสมือน “การสร้างตราสินค้า” ของประเทศ เพื่อใช้เป็นการฑูตสาธารณะอย่างแยบยล เพราะใช้โดยปราศจากอำนาจบังคับ (Herman, 2000; Van Ham, 2002)

           “ความหวือหวา” ดังกล่าวส่งผลทำให้อำนาจละมุนละไมขยายตัวจากเดิมจำกัดเฉพาะงานสายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สู่การทำงานภาคส่วนอื่น ๆ ของรัฐและเอกชน หรือแม้กระทั่งตัวบุคคลได้นำแนวคิดนี้ขับเคลื่อน (Herr, 2019) นั่นหมายความว่า การให้นิยามและความหมายเดิมของอำนาจละมุนละไมย่อมแปรเปลี่ยนไปตามบริบทขององค์การและ/หรือผู้ที่ต้องสื่อว่าต้องการสร้างอำนาจดังกล่าวในการขับเคลื่อนเรื่องใด

-3-

           บทสรุปการทำความเข้าใจ “Soft power” หรืออำนาจละมุนละไมในมิติวัฒนธรรมพบว่า ในด้านความหมายสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดนี้สืบเนื่องมาจากวิธีคิดของ โจเซฟ เนย์ อำนาจดังกล่าวมีเค้าลางใกล้เคียงกับอำนาจของ อี.เอช. คารร์ นักคิดสำนักสัจนิยมในเรื่องอำนาจทางความคิดและแอนโตนีโอ กรัมชี นักคิดการเมืองแนวมาร์กซิสต์ในมิติของแสดงออกวัฒนธรรมและอุดมการณ์ เพียงแต่ เนย์ตอกย้ำให้เห็นว่า“วัฒนธรรม” คือแหล่งทรัพยากรสำคัญที่รัฐหรือผู้ที่ต้องการสร้างอำนาจละมุนละไมนำมาจัดการอย่างเหมาะสมและเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็จะทำให้อำนาจนี้ทรงพลัง ส่งผลทำให้แนวคิดนี้ได้รับความนิยมในแวดวงการทำงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก่อนขยายสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ของรัฐและเอกชน จนกระทั่งเมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนไป ความเจริญด้านสื่อและเทคโนโลยี ตลอดจนเกิดขึ้นแพลตฟอร์มโชเชียลมีเดียต่าง ๆ ยิ่งทำให้ “อำนาจละมุนละไม” กลายเป็นกระแสสังคมและถูกหยิบยกมาใช้จนเกิดการการพูดลอย ๆ ว่า “เดี๋ยวนี้ อะไร ๆ ก็ Soft power”

           บทความนี้ไม่มีคำตอบ “ถูก” หรือ “ผิด” ต่อคำพูดดังกล่าว แต่สิ่งที่ควรฉุกคิดคือ “Soft power” ที่ว่ามานี้จะเป็นอำนาจละมุนละไมที่มี “พลัง” หรือไม่?

           คำตอบคงต้องหันกลับไปทบทวนโครงสร้าง “อำนาจละมุนละไม” ที่ประกอบด้วย 4 โครงสร้างตามที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ 1) แหล่งทรัพยากร 2) ตัวแทน 3) ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และ 4) สื่อและเทคโนโลยี ก็จะเผยให้รู้ว่า อำนาจละมุนละไมที่อ้างมานั้นเป็น “ของจริง” อันทรงพลังหรือเป็นเพียง “ของปลอม” เพื่อสร้างภาพในการโฆษณาชวนเชื่อแบบดาษ ๆ

จาก https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/552
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...