ผู้เขียน หัวข้อ: โกกาลิกสูตร - ว่าด้วยพระโกกาลิกะ และระยะเวลาขุมนรก  (อ่าน 112 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
.
.
โกกาลิกสูตร - ว่าด้วยพระโกกาลิกะ ระยะเวลาขุมนรก
.
.
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
.
.
๑๐. โกกาลิกสูตร๑-
ว่าด้วยพระโกกาลิกะ
.
ที่มา เว็บไซด์ 84000
.
.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๐. โกกาลิกสูตร
.
            ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
.
            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น แล โกกาลิกภิกษุเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาชั่วลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
.
            เมื่อโกกาลิกภิกษุกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
.
@เชิงอรรถ :
@๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘๑/๒๔๘, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๘๙/๒๐๐-๒๐๔
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๕๕}
.
.
            แม้ครั้งที่ ๒ โกกาลิกภิกษุก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ มีพระพุทธพจน์ที่ข้าพระองค์เชื่อถือได้ก็จริง แต่ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
.
            พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
.
            แม้ครั้งที่ ๓ โกกาลิกภิกษุก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ มีพระพุทธพจน์ที่ข้าพระองค์เชื่อถือได้ก็จริง แต่ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
.
            พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
.
            ครั้งนั้น โกกาลิกภิกษุลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป
.
            เมื่อโกกาลิกภิกษุจากไปไม่นาน ร่างกายก็มีตุ่มขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเกิดขึ้นทั่วร่าง ตุ่มเหล่านั้นโตเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด แล้วก็โตเท่าเมล็ดถั่วเขียว โตเท่าเมล็ดถั่วดำ โตเท่าเมล็ดพุทรา โตเท่าเมล็ดกระเบา โตเท่าผลมะขามป้อม โตเท่าผลมะตูมอ่อน เท่าผลมะตูมแก่ แล้วก็แตกเยิ้ม หนองและเลือดไหลออกมา โกกาลิกภิกษุเพราะทนพิษตุ่มแตกนั้นไม่ไหวจึงมรณภาพลงในขณะนั้น และเมื่อ
.
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๕๖}
.
.
มรณภาพลงแล้วได้ไปเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะ
.
            ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๑- ท้าวสหัมบดีพรหมมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้วไปเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะ”
.
            ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นแล
.
            ครั้นคืนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
.
            “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป ท้าวสหัมบดีพรหม ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสหัมบดีพรหม ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็กระทำประทักษิณแล้วหายไปณ ที่นั้นแล”
.
            เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรกนานเท่าไรหนอ”
.
            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนานมาก ประมาณอายุในปทุมนรกนั้น ยากที่จะนับได้ว่า ‘ประมาณเท่านี้ปี ประมาณ ๑๐๐ ปีเท่านี้ ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเท่านี้ ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปีเท่านี้”
.
            ภิกษุนั้นทูลถามอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์พอจะยกอุปมาได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า”
.
@เชิงอรรถ :
@๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๕๗}
.
.
            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ได้ ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “ภิกษุ หนึ่งเกวียนเมล็ดงาของชาวโกศลมีอัตรา ๒๐ ขารี๑- ล่วงไปแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ ปี บุรุษจึงนำเมล็ดงาออกจากเกวียนนั้น ๑ เมล็ด เมล็ดงาหนึ่งเกวียนของชาวโกศลซึ่งมีอัตรา๒๐ ขารีนั้น จะพึงหมดไปโดยทำนองนี้เร็วกว่า แต่ว่า ๑ อัพพุทนรก๒- หาหมดไปไม่ ๒๐ อัพพุทนรก เป็น ๑ นิรัพพุทนรก ๒๐ นิรัพพุทนรก เป็น ๑ อพพนรก ๒๐ อพพนรก เป็น ๑ อหหนรก ๒๐ อหหนรก เป็น ๑ อฏฏนรก ๒๐ อฏฏนรกเป็น ๑ กุมุทนรก ๒๐ กุมุทนรก เป็น ๑ โสคันธิกนรก ๒๐ โสคันธิกนรก เป็น ๑ อุปปลกนรก ๒๐ อุปปลกนรก เป็น ๑ ปุณฑรีกนรก ๒๐ ปุณฑรีกนรก เป็น ๑ ปทุมนรก
.
            ภิกษุ โกกาลิกภิกษุนี้เกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในสารีบุตรและโมคคัลลานะ”
.
.
@เชิงอรรถ :
@๑ ขารี เป็นชื่อมาตราตวงชนิดหนึ่งของอินเดียโบราณ มีลำดับมาตราดังนี้
@๔ กุฑุวะ หรือปสตะ(ฟายมือ) เป็น ๑ ปัตถะ (กอบ)
@๔ ปัตถะ เป็น ๑ อาฬหกะ
@๔ อาฬหกะ เป็น ๑ โทณะ
@๔ โทณะ เป็น ๑ มาณิกา
@๔ มาณิกา เป็น ๑ ขารี
@๒๐ ขารี เป็น ๑ เกวียน
@(ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๒/๓๐๗, อภิธา.ฏีกา คาถา ๔๘๐-๔๙๔)
@๒ อัพพุทนรก นิรัพพุทนรก อพพนรก อหหนรก อฏฏนรก กุมุทนรก โสคันธิกนรก อุปปลกนรก ปุณฑรีกนรก
@ปทุมนรก ทั้งหมดนี้อยู่ในอเวจีมหานรก เป็นนรกเล็กอยู่ในนรกใหญ่ ไม่มีภูมิเป็นของตนเอง แต่เป็นที่ซึ่ง
@สัตว์จะต้องรับกรรม เช่น อัพพุทนรก เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โดยการนับชิ้นเนื้อเป็นเครื่องบอกระยะ
@เวลาในการทรมานสัตว์ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๘๙/๓๖๖, ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๒/๓๐๗)
@อนึ่ง นรกเหล่านี้ปรากฏชื่อตามจำนวนสังขยา อรรถกถาให้นัยไว้ว่า นรกเหล่านี้มีวิธีนับระยะเวลาปี
@ของอัพพุทนรกเป็นตัวอย่างดังนี้ คือ
@๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี เป็น ๑ โกฏิ-ปี
@๑๐,๐๐๐,๐๐๐ โกฏิ-ปี เป็น ๑ ปโกฏิ-ปี
@๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ปโกฏิ-ปี เป็น ๑ โกฏิปโกฏิ-ปี
@๑๐,๐๐๐,๐๐๐ โกฏิปโกฏิ-ปี เป็น ๑ นหุต-ปี
@๑๐,๐๐๐,๐๐๐ นหุต-ปี เป็น ๑ นินนหุต-ปี
@๑๐,๐๐๐,๐๐๐ นินนหุต-ปี เป็น ๑ อัพพุทะ-ปี
@ต่อจากอัพพุทะไปใช้ ๑ x ๒๐ เช่น ๒๐ อัพพุทะ (๑ อัพพุทะ x ๒๐) ได้เท่ากับ ๑ นิรัพพุทะ เป็นต้น
@(ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๒/๓๐๗, กัจ. ๕/๘/๓๙๕)
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๕๘}
.
.
            พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
.
            [๖๖๓] ผรุสวาจา(คำหยาบ)เป็นเหมือนผึ่ง ๑ เครื่องตัดตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว ย่อมเกิดที่ปากของคนพาล
.
            [๖๖๔] ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติเตียน หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมความผิดไว้ด้วยปาก ย่อมไม่ประสบความสุข เพราะความผิดนั้น
.
            [๖๖๕] การปราชัยด้วยทรัพย์ในการเล่นการพนันจนหมดตัวนี้ เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย แต่การที่บุคคลมีใจประทุษร้าย ในบุคคลผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้เท่านั้น เป็นความผิดมากกว่า
.
            [๖๖๖] บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจอันชั่วติเตียนพระอริยะย่อมเข้าถึงนรกสิ้น ๑๓๖,๐๐๐ นิรัพพุทกัป กับอีก ๕ อัพพุทกัป
.
            [๖๖๗] คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริงหรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า ‘ฉันไม่ได้ทำ’ ต่างก็ตกนรก ๒-
.
.
@เชิงอรรถ :
@๑ คำว่า “ผึ่ง” หมายถึงชื่อเครื่องมือสำหรับถากไม้ชนิดหนึ่ง รูปคล้ายจอบ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตย-
@สถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)
@๒ ดูธรรมบท ข้อ ๓๐๖ หน้า ๑๒๘, อุทาน ข้อ ๓๘ หน้า ๒๔๘, อิติวุตตกะ ข้อ ๔๘ หน้า ๓๙๙
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๕๙}
.
.
                      คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่วตายไปแล้วมีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า
.
            [๖๖๘] บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้ายเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินบาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น๑-
.
            [๖๖๙] ผู้หมกมุ่นในความโลภต่างๆ ไม่มีศรัทธามีนิสัยหยาบกระด้าง ไม่รู้พุทธพจน์ มีความตระหนี่ ชอบพูดส่อเสียด ย่อมใช้วาจากล่าวร้ายผู้อื่น
.
            [๖๗๐] โกกาลิกะผู้มีปากเป็นหล่ม ชอบพูดเท็จ ไม่ใช่คนดี ชอบกำจัดความเจริญของตนเป็นคนชั่ว ชอบทำแต่กรรมชั่ว เป็นคนต่ำช้า เป็นคนอาภัพ เป็นอวชาตบุตร เธออย่าพูดมากในที่นี้ อย่าต้องเป็นสัตว์นรกเลย
.
            [๖๗๑] เธอย่อมเกลี่ยธุลีคือกิเลสลงใส่ตน ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองเลย เธอชอบทำกรรมหยาบช้าแล้ว ยังติเตียนสัตบุรุษ เธอประพฤติทุจริตมากมาย ต้องไปเกิดในมหานรกเป็นเวลายาวนานแน่นอน
.
            [๖๗๒] กรรม๒- ของใครๆ ย่อมไม่สูญหายไปไหน เขาต้องได้รับผลกรรมนั้น และเป็นเจ้าของกรรมนั้น
.
.
@เชิงอรรถ :
@๑ ดูธรรมบท ข้อ ๑๒๕ หน้า ๗๐ ในเล่มนี้
@๒ กรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรม และอกุศลกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๗๒/๓๐๙)
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๖๐}
.
.
                     คนโง่เขลาผู้ชอบทำกรรมชั่วหยาบ  จะประสบทุกข์ที่ตนได้รับในปรโลก
.
            [๖๗๓] ผู้ทำกรรมชั่วย่อมเข้าถึงสถานที่ที่นายนิรยบาล เอาขอเหล็กอันคมกริบมาเกี่ยวไว้ ถูกหลาวเหล็กอันคมกริบเสียบไว้ และมีก้อนเหล็กแดงโชติช่วงเป็นอาหาร ตามสมควรแก่ความชั่ว ตามสมควรแก่กรรมชั่วที่ตนทำไว้
.
            [๖๗๔] นายนิรยบาลทั้งหลายเมื่อพูดกับสัตว์นรก ก็พูดไม่ไพเราะ สัตว์นรกเหล่านั้นจะวิ่งหนีไปก็ไม่ได้ จะเข้าไปขอความช่วยเหลือก็ไม่ได้ จึงนอนอยู่บนถ่านเพลิงอันลาดไว้ เข้าไปสู่กองไฟอันลุกโพลง
.
            [๖๗๕] นายนิรยบาลเอาข่ายเหล็กพันสัตว์นรก แล้วทุบด้วยค้อนเหล็กในที่นั้นๆ สัตว์นรกทั้งหลายเข้าไปสู่นรกหมอกควันที่มืดทึบ ซึ่งปกคลุมอบอวลไปทั่วดุจกลุ่มหมอก
.
            [๖๗๖] ต่อจากนั้น สัตว์นรกเหล่านั้นก็เข้าไปสู่โลหกุมภีนรกที่มีเปลวไฟลุกโพลง ลอยวนขึ้นลงพร้อมกับถูกไฟไหม้อยู่ในหม้อเหล็กที่ติดไฟลุกนั้นเป็นเวลานานแสนนาน
.
            [๖๗๗] สัตว์นรกผู้ทำกรรมชั่วหยาบไว้ประจำ จะพลิกหนีไปทางทิศใดๆ ก็ถูกไฟตามเผาไหม้อยู่ในหม้อเหล็กร้อนแดงที่ปนด้วยหนองและเลือดได้รับทุกข์ระกำลำบากซ้ำยังแปดเปื้อนหนองและเลือดอยู่ในโลหกุมภีนรกนั้น
.
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๖๑}
.
.
            [๖๗๘] สัตว์นรกผู้ทำกรรมชั่วหยาบไว้ประจำย่อมหมกไหม้อยู่ในน้ำที่มีหมู่หนอนยั้วเยี้ยในโลหกุมภี นรกแต่ละขุมนั้นๆ ไม่มีฝั่งที่จะให้ขึ้นอาศัยเลย เพราะมีกระทะครอบอยู่อย่างมิดชิดรอบทุกทิศ
.
            [๖๗๙] ยังมีป่าไม้ที่มีใบคม เหมือนดาบขึ้นอยู่ทั่วไป ซึ่งพวกสัตว์นรกเข้าไปก็จะถูกตัดลำตัวขาดทันที นายนิรยบาลก็จะเอาเบ็ดเกี่ยวลิ้นทรมานด้วยการดึงออกมาเรื่อยๆ
.
            [๖๘๐] ต่อจากนั้น สัตว์นรกนั้นต้องตกนรกน้ำกรดซึ่งเป็นแอ่งถูกคมมีดโกนคมกริบกรีดตามตัว สัตว์ที่โง่เขลาชอบทำบาปไว้มาก จึงต้องตกลงไปบนคมมีดโกนนั้น
.
            [๖๘๑] เพราะได้เคยก่อกรรมทำเข็ญไว้ สัตว์นรกจึงถูกสุนัขดำด่าง และสุนัขจิ้งจอกรุมทึ้งกัดกิน ร้องคร่ำครวญอยู่ในที่นั้นๆ ซ้ำยังถูกฝูงแร้ง กา และนกตะกรุมรุมทึ้งจิกกินอีก
.
            [๖๘๒] คนผู้ชอบทำกรรมชั่วหยาบเป็นประจำ ต้องรู้แก่ใจว่า การดำรงอยู่ในนรกนี้ทุกข์ยากลำบากจริงๆ เพราะฉะนั้น นรชนจึงควรรีบทำกิจที่ควรทำแต่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่นี้และไม่ควรประมาท
.
            [๖๘๓] เกวียนบรรทุกงาที่ผู้รู้ทั้งหลายนับคำนวณ แล้วนำเข้าไปเปรียบกับอายุสัตว์ที่เกิดในปทุมนรก ก็ได้เท่ากับ ๕๑,๒๐๐ โกฏิ
.
            [๖๘๔] สัตว์นรกทั้งหลาย ต้องอยู่ในนรกซึ่งมีทุกข์มากมายตามที่เรากล่าวไว้ในที่นี้ ตลอดระยะเวลายาวนาน เพราะฉะนั้น บุคคลควรกำหนดรักษาวาจาใจให้เป็นปกติในท่านผู้บริสุทธิ์ มีศีลเป็นที่รัก และมีคุณงามความดี
.
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๖๒}
.
.
โกกาลิกสูตรที่ ๑๐ จบ
.
.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)