ผู้เขียน หัวข้อ: Hagiography – Sacred Biography การถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตอันเหนือจริงของผู้รู้แจ้ง  (อ่าน 58 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Hagiography – Sacred Biography : การถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตอันเหนือจริงของผู้รู้แจ้ง

โพสต์โดย วัชรสิทธา

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา





Hagiography แปลว่า ชีวประวัติหรือเรื่องราวชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญ ผู้รู้แจ้ง หรือบุคคลทางศาสนาที่น่าเคารพนับถือ เช่น ในคัมภีร์ไบเบิล ที่บอกเล่าเรื่องราวของนักบุญต่างๆ ตำนานที่มาของพระโพธิสัตว์ สิทธา หรือเรื่องเล่าของหลวงปู่ในบ้านเรา เหล่าบุคคลที่มีคุณสมบัติของความตื่นรู้ ซึ่งจากสายตาแบบมนุษย์โลก ชีวิตของคนเหล่านี้มีความ “พิเศษ” “แปลก” และ “แตกต่าง” ไปจากชีวิตของคนทั่วไป ด้วยพันธกิจที่พวกเขาทำ สิ่งที่พวกเขาพบเจอ ทั้งประสบการณ์และปรากฎการณ์เหนือจริง เหลือเชื่อ ที่เกิดขึ้นในชีวิต รวมถึงมิติของการบรรลุธรรมที่ไปพ้นจากขอบเขตประสบการณ์ที่คนธรรมดาคุ้นเคย การศึกษาชีวประวัติของบุคคลเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง จึงเป็นทั้งการเรียนรู้ชีวิตและเรียนรู้คำสอนไปพร้อมๆ กัน

เรื่องราวชีวิตที่ “พิเศษ” นี้แตกต่างจากชีวิตมนุษย์ทั่วไปที่เป็นชีวิต “ปกติ” นั่นก็คือชีวิตทางโลกย์ ชีวิตที่อยู่ในกฎเกณฑ์ มาตรฐานบางอย่างที่จะบอกว่าชีวิตนี้ “โอเค” เช่น มีอาชีพ มีบ้าน มีรถ มีครอบครัว มีจุดอ้างอิงที่ทำให้เราเป็นความปกติในสังคมที่อยู่ร่วมกัน ในขณะที่ชีวิตของบุคคลผู้ใช้ชีวิตทางธรรมนั้นไปพ้นจากพื้นตรงนี้ คนที่มีพลังในการหลุดพ้น หรือสร้างอิทธิพลในการถ่ายทอดคำสอนให้กับคนในสาย จะมีคุณสมบัติแห่งการตื่นรู้ที่มากกว่าคนปกติ ซึ่งนำไปสู่วิถีชีวิตที่ต่างไป เช่น อาจจะเป็นผู้ที่มีความเมตตามากกว่า มีปัญญาญาณที่มากกว่า มีอิสระในการแสดงออกที่มากกว่า หรือสามารถสัมพันธ์อยู่กับสถานการณ์บางอย่างที่ต่างไปจากคนปกติ

จริงๆ แล้ว Hagiography วนเวียนอยู่รอบตัวในบรรยากาศของการพูดคุยเรื่องศาสนาเสมอ ชีวิตของพระเยซูที่ตายแล้วเกิดใหม่ พระพุทธเจ้าที่เกิดมาแล้วเดินเจ็ดก้าวทันที  หรือใกล้ตัวคนไทยมากๆ อย่างเรื่องราวของหลวงปู่มั่นที่เต็มไปด้วยอภินิหาร หรือประสบการณ์ทางธรรมที่เหนือไปจากความเป็นจริงปกติ

ในภาษาอังกฤษ Hagiography แปลว่า Sacred Biography ชีวประวัติที่มีมิติของความศักดิ์สิทธิ์ จะเห็นได้ว่าในชีวประวัติของนักบุญ หรือบุคคลสำคัญทางศาสนา จะมีธีมบางอย่างที่เชื่อมโยงทั้งชีวิตให้ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่พิเศษ เช่น มีคำพยากรณ์ ดังเช่นที่ ตรุงปะรินโปเชได้รับคำทำนายตั้งแต่ยังเด็กว่าจะเป็นผู้เผยแผ่พุทธรรมในโลกตะวันตก และชีวิตคนเหล่านี้จะมีเรื่องราวของอภินิหาร เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ เช่น โมเสสผ่าทะเลแดง หรือการแทงไม่เข้า ฆ่าไม่ตาย หรือตายแล้วเกิดใหม่ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบๆ ตัวที่พิเศษด้วยความประจวบเหมาะเกินกว่าที่จะเป็นเรื่องบังเอิญ



Too Fancy to Be True

เรื่องเล่าที่มีความ “เหนือจริง” เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เรื่องเล่าของนักบุญที่เป็นมากกว่าชีวประวัติเฉยๆ แต่ยังบรรจุความเชื่อ ความศรัทธาไว้ในนั้นด้วย ดังนั้นแน่นอนว่าส่วนที่เป็นนามธรรมนี้จึงทำงานกับทั้งตัวเรื่องเล่าและตัวผู้อ่าน ว่าจะเชื่อหรือไม่ดี

ในยุคสมัยของสังคมวัตถุและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เราอยู่ทุกวันนี้ ความเชื่อดั้งเดิม ความรู้แบบ traditional ด้านอื่นๆ ถูกปฏิเสธไปมาก มิติของความศักดิ์สิทธิ์อยู่บนเส้นขอบของ “ความงมงาย” จากฐานคิดสมัยใหม่ (ในหนังสือศาสนศึกษาบางเล่มใช้คำว่า Postmodern Thinker) ที่มองสิ่งที่วัดไม่ได้ด้วยสายตาระแวงสงสัยอยู่เสมอ ดังนั้นไม่แปลกเลยที่ตำนาน ชีวประวัติ เรื่องเล่าจากศาสนาหรือมีมิติทางจิตวิญญาณ จะถูกจับไปอยู่หมวดอภินิหาร เป็นเรื่องเล่างมงายที่ไมได้เกิดขึ้นจริง

อย่างเรื่องเล่าของสิทธาอย่าง ติโลปะ นาโรปะ มาร์ปะ มิราเลปะ ล้วนแต่เป็น Sacred Biography ที่ฟังดูแล้วแปลกประหลาดพิสดาร เช่น

เพื่อที่จะได้เป็นศิษย์ของตีโลปะ นาโรปะโดดลงจากยอดเจดีย์ ตกลงมากระดูกหักทุกท่อน และได้แต่อธิษฐานขอให้ชาติหน้าได้เรียนกับตีโลปะ แต่แล้วตีโลปะก็ปรากฏกายและรักษานาโรปะหายในพริบตา จากนั้นก็ถ่ายทอดคำสอนให้

มิราเลปะถูกมาร์ปะสั่งให้สร้างบ้านให้ มิราเลปะอุทิศแรงกายสร้างบ้านขึ้นมา แต่มาร์ปะก็จะพังมันลงทุกครั้งพร้อมข้อแก้ตัวส่งๆ เช่น เมา ไม่ได้ตั้งใจ มิราเลปะสร้างหอคอยเก้าชั้นเพื่อหวังให้มาร์ปะยอมรับ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนมิราเลปะจะฆ่าตัวตายเพราะหมดหวังที่จะได้รับคำสอน มาร์ปะก็ปรากฏตัวขี้นและกล่าวว่า มิลาเรปะพร้อมจะได้รับคำสอนแล้ว




เรื่องราวเหล่านี้น่าจะถูกจัดอยู่ในหมดนิทานปรำปรามากกว่าหมวดชีวประวัติ แต่หากเรามองว่านี่คือชีวิตของบุคคลที่ตื่นรู้ มีภูมิธรรมหรือการเข้าถึงประสบการณ์ทางจิตระดับสูง เป็นผู้อยู่บนหนทางแห่งการรู้แจ้ง การเล่าเรื่องราวชีวิตแบบที่เราคุ้นเคย เช่น เกิดที่ไหน ครอบครัวคือใคร ทำอะไรบ้าง ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง อาจไม่เพียงพอที่จะถ่ายทอดมิติความลึกซึ้งของประสบการณ์ออกมาได้

เรื่องราวจะจริงไม่จริง เชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้ ถือเป็นข้อสงสัยคลาสสิก ที่ธรรมาจารย์ซองซาร์ เค็นเซ รินโปเช กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

“…ความคิดที่ว่า “เรื่องนี้มันเชื่อได้หรือเปล่า?” ไม่เคยแวบขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ ข้าพเจ้าไม่ได้คิดแบบนั้น มิลาเรปะเป็นสถาปนิกที่ร่ำเรียนมาอย่างนั้นหรือ? นาโรปะกระโดดลงมาจากหลังคาอาคารสูงแล้วไม่ตายจริงๆ หรือ? ข้าพเจ้าไม่รู้ แล้วก็ไม่สนใจด้วย ไม่มีใครสนใจหรอก แต่สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับเราก็คือความมุ่งมั่นและความโหยหาพระธรรมของมิลาเรปะกับนาโรปะต่างหาก สำหรับเราแล้ว แรงบันดาลใจมีความสำคัญกว่ารายละเอียดปลีกย่อยที่น่าเชื่อถือ และข้าพเจ้าสามารถกล่าวด้วยความสัตย์จริงว่า ข้าพเจ้าพบว่าในวันนี้เรื่องราวที่เหลือเชื่อเหล่านี้ยิ่งน่าประทับใจยิ่งกว่าเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วมาเสียอีก ถ้าพูดแบบนี้แล้วจะดูเหมือนเป็นคนหูเบาหรือเหมือนเด็กอมมือหรือเปล่า? ก็เป็นไปได้ แต่มีใครบ้างล่ะที่ไม่เป็นแบบนั้น?

“คนสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะเอาเรื่องราวของมิลาเรปะและนาโรปะไปรวมอยู่ในจำพวกตำนานปรัมปราและเทพนิยาย ในบทความที่ชื่อ Why I Quit Guru Yoga’ (ทำไมผมถึงเลิกปฏิบัติคุรุโยคะ) สตีเฟน แบตชเลอร์ (Stephen Batchelor) ให้ความเห็นว่าติโลปะและนาโรปะเป็นตัวละครในนิทานสอนใจ และเรื่องราวชีวิตของทั้งคู่เป็นแค่การสมมติเปรียบเทียบ เมื่อไม่สามารถจินตนาการคุรุทั้งสองได้ในสภาพปัจจุบัน แบตชเลอร์ก็เลือกที่จะเชื่อว่าท่านไม่ได้มีตัวตนจริง ๆ ด้วยซ้ำ แต่ข้าพเจ้าเห็นตรงกันข้าม ข้าพเจ้าเลือกที่จะเชื่อว่ามิลาเรปะและนาโรปะมีตัวตนจริง ๆ และไม่เพียงเท่านั้น แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าเรื่องราวทั้งหมดก็เป็นความจริงด้วยเช่นกัน”

– ซองซาร์ จัมยัง เคียนเซ รินโปเช

จาก “ยาพิษคือโอสถ ไขข้อกังขาเกี่ยวกับวัชรยาน”


A True Story from Sacred World

ประเด็นเรื่อง “เชื่อได้ -เชื่อไม่ได้” ของการอ่าน Hagiography เกี่ยวข้องโดยตรงกับระดับของ “ความจริง” ในงานวิชาการทางด้านตะวันตก มีข้อเสนอที่ว่า Hagiography ควรถูกมองในฐานะ ประวัติศาสตร์ที่ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred History) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส Paul Ricoeur กล่าวว่าสิ่งที่ Hagiography นำเสนอคือ “ความจริงแท้แห่งการสำแดง”  (Truth of Manifestation) ซึ่งไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องธรรมดาๆ อย่างที่ว่าไว้ แต่บรรจุความศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรม ความเชื่อ ความศรัทธา และความจริงแท้บางอย่างที่ชีวิตนั้นได้สัมผัสและถ่ายทอดต่อๆ กันมาถึงคนรุ่นหลัง

“ความจริง” เป็นสิ่งที่แข็งตัวแค่ไหนกัน ต้องจับต้องได้แค่ไหนจึงจะเข้าเกณฑ์ว่า นี่คือจริง

Process Work เป็นศาสตร์หนึ่งที่อธิบายระดับของความจริงไว้อย่างเป็นระบบ เป็นภาพสามเหลี่ยมคว่ำลง ชั้นบนสุดคือชั้นภูเขาน้ำแข็งของ CR – Consensus Reality ความจริงที่ตกลงร่วมกัน เช่น สิ่งของเชิงกายภาพที่จับต้องได้ เช่น โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ ชุดความเชื่อ ศาสนา กฎหมาย ชุดคุณค่าในสังคม ความรวย ความจน ถูกผิด ว่าง่ายๆ เป็นพื้นที่ความจริงที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ ลงมาเป็นระดับของ Dreamland พื้นที่ของอารมณ์ ความรู้สึก ความฝัน ความรัก ความศรัทธา ประสบการณ์ ประวัติศาสตร์ เป็นความจริงที่อยู่ใต้ CR ที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวเรา และลึกสุดคือ ความจริงระดับ Essence เป็นคุณค่าที่ลึกซึ้ง ไปพ้นจากตรรกะทวิภาวะ และเป็นสิ่งสากลที่ทุกคนแชร์ร่วมกัน ความจริงนี้จะอยู่ในระดับจิตวิญญาณในการพูดถึงความจริงสูงสุด

เช่นนั้น สิ่งที่ไปพ้นจากความจริงระดับตกลงร่วมกันยังเป็นความจริงอยู่หรือไม่ คำตอบคือ เป็น เป็นความจริงที่สัมพันธ์อยู่กับประสบการณ์ที่เป็นปัจเจกมากขึ้น ทว่าในระดับลึกสุด ก็ยังเชื่อมโยงอยู่กับความจริงแท้หนึ่งเดียวที่ทุกคนมีร่วมกัน

ชีวิตของนักบุญ นักบวช พระอรหันต์ สิทธา โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้า คือชีวิตของคนที่เข้าใกล้กับความจริงสูงสุด (Absolute Truth) ดังนั้นพื้นที่ของการใช้ชีวิตจึงไม่ได้อยู่แค่ในระดับ CR แบบคนปกติ แต่ลงไปในโลกของประสบการณ์ สถานการณ์ที่ธรรมชาติรายรอบที่บริสุทธิ์ ไม่ปรุงแต่ง เป็นบุคคลที่ข้ามพ้นไปจากความคิดตัดสิน การแบ่งขั้วทวิลักษณ์ พวกเขาอยู่ในพื้นที่ของ Essence ที่ภาษาแบบทวิลักษณ์ไม่อาจอธิบายได้แล้ว

‘The modern concepts of science are not adequate to understand people and our experience of art and even communication’  – Hans-Georg Gadamer (1900–2002) from Truth and method

เมื่อชีวิตที่ไม่ได้อยู่เพียงแค่ระดับความจริงที่ตกลงร่วมกัน รูปแบบการเล่าเส้นเรื่องปกติธรรมดา และการอ่านบนพื้นฐานความคิดเชิงวิทธาศาสตร์ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้รับรู้ถึงสิ่งที่อยู่ลึงลงไป ดังที่ริเกอร์เสนอว่า Hagiography บรรจุความจริงแท้บางอย่าง นั่นคือความจริงในระดับ dreamland และ essence


พื้นที่ว่างระหว่างผู้อ่านและตัวบท

เรื่องเล่าอีกรูปแบบหนึ่งที่เราสามารถพูดถึงได้ในลักษณะเดียวกัน คือ myth หรือตำนาน เรื่องราวของตำนานเป็นความจริงเท่าไหร่กัน? เราพบเจอกันนานจากเรื่องเล่าก่อนนอนสมัยเด็กๆ เก็บเป็นความทรงจำลางๆ ไว้เล่าที่มาของสิ่งต่างๆ ในเวลาที่โตมา ไม่แน่ใจหรอกว่าจริงหรือไม่ ได้แต่พูดว่า “เขาเล่ากันว่า…”  หรือบางทีก็เห็นตามรายการโทรทัศน์ตามรอยสถานที่ในตำนาน คำถามว่าตำนานจริงไม่จริงแค่ไหน ก็จึงยังวนเวียนอยู่ในใจเสมอ

ความน่าสนใจของการอ่านหรือฟัง myth ทั้งหลาย คือพื้นที่ว่างระหว่างตัวเราและเรื่องราวที่เอื้อให้เกิดจินตนาการใหม่ๆ ขึ้นในแต่ละครั้ง นึกถึงประสบการณ์การรับรู้ myth เรื่องเดิม ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ตัวเราในแต่ละขณะก็จะมีการตีความ เลือกหยิบสานร์ที่แตกต่างกันออกไป นี่คือลักษณะของตัวบทที่ทำงานกับผู้อ่าน ผ่านพื้นที่ว่างที่สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ

ในการศึกษาด้านจิตวิญญาณ หรือสายพลังงาน สายโยคะ มักมีการอธิบายถึงสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ ไม่สามารถวัดได้ เป็นพลังงานที่ละเอียด (Subtle) ซึ่งจะเข้าไปใกล้กับการอธิบายเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับโลกธรรมชาติ และโลกศักดิ์สิทธิ์ แล้วเราจะถ่ายทอดสิ่งวัดไม่ได้มองไม่เห็นเหล่านี้อย่างไรล่ะ เรื่องเล่าในระดับความเป็นจริงทั่วไปคงไม่พอที่จะบรรจุมิติของความละเอียดและศักดิ์สิทธิ์นั้น เรื่องราวจึงต้องถูกถ่ายทอดในรูปแบบของ myth ที่มีความว่าง มีพื้นที่ unknown ให้ความเป็นไปได้ทั้งหลายเกิดขึ้น

สุดท้ายแล้ว เราจะมองว่าอะไร จริง ไม่จริง อย่างไรก็เป็นเรื่องระดับปัจเจก แต่อย่าลืมปล่อยให้ความไม่รู้ พื้นที่ของความอธิบายไม่ได้ พาเราไปสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไปพ้นจากภาษา พ้นจากคำอธิบายโดยสมอง ให้เส้นขอบฟ้าของความตระหนักรู้เราขยายออกไปจรดขอบกับผืนฟ้าแห่งความว่างอันอุดมไปด้วยความเป็นจริงแบบใหม่ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด


จาก https://www.vajrasiddha.com/article-hagiography/

วัชรสิทธา

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน :31:
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...