วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม

เบื้องแรกของการปฏิบัติภาวนา

(1/2) > >>

時々होशདང一རພຊຍ๛:


จงหายใจเข้า…หายใจออก.อยู่อย่างนั้นแหละ
อย่าใส่ใจกับอะไรทั้งนั้น ใครจะยืนเอาก้นขึ้นฟ้า ก็ช่าง อย่าไปเอาใจใส่
อยู่แต่กับลมหายใจเข้า - ออกให้ความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ…เอาอยู่เท่านี้แหละ

ไม่ไปเอาอะไรอื่น ไม่ต้องคิดว่าจะเอานั่นเอานี่ ไม่เอาอะไรทั้งนั้น
ให้รู้จักแต่ลมเข้า…ลมออก.ลมเข้า….ลมออก
พุท…...เข้า……โธ…...ออก อยู่กับลมหายใจอย่างนี้แหละ เอาอันนี้เป็นอารมณ์

ให้ทำอยู่อย่างนี้จนกระทั่งลมเข้ารู้จัก...ลมออกก็รู้จัก…ลมเข้าก็รู้จัก…ลมออกก็รู้จัก
ให้รู้จักอยู่อย่างนี้จนจิตสงบหมดความรำคาญ ไม่ฟุ้งซ่านไปไหนทั้งนั้น….
ให้มีแต่ลมออก…ลมเข้า…ลมออก…ลมเข้าอยู่เท่านั้น ให้มันเป็นอยู่อย่างนี้
ยังไม่ต้องมีจุดหมายอะไร นี่แหละเบื้องแรกของการปฏิบัติ

ถ้ามันสบาย ถ้ามันสงบ มันก็จะรู้จักของมันเอง ทำไปเรื่อย ๆ ลมก็จะน้อยลง
อ่อนลง.กายก็อ่อน.จิตก็อ่อน…มันเป็นไปตามเรื่องของมันเอง
นั่งก็สบาย ไม่ง่วง ไม่โงก ไม่หาวนอน จะเป็นอย่างใด
ดูมันคล่องของมันเองไปทุกอย่าง…นิ่ง…สงบ จนพอออกจากสมาธิแล้ว
จึงมานึกว่า บ๊ะ ! มันเป็นอย่างใด...น้อ...แล้วก็นึกถึงความสงบอันนั้นไม่ลืมสักที

https://www.img.live/images/2019/03/19/IMG_000000394.jpg

時々होशདང一རພຊຍ๛:


สิ่งที่ติดตามเรา เรียกว่าสติ…ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว
เราจะพูดอะไร.จะทำอะไร - จะไปนั่น จะไปบิณฑบาตร ก็ดี จะฉันจังหันก็ดี
จะล้างบาตรก็ดี ก็ให้รู้จักเรื่องของมัน ให้มีสติอยู่เสมอ ติดตามมันไป ให้ทำอยู่อย่างนี้

เมื่อจะเดินจงกลม ก็ให้มีทางเดินสักทางหนึ่ง จากต้นไม้ต้นนี้ไปสู่ต้นไม้ต้นนั้นก็ได้
ให้ระยะทางมันยาวสัก 7 - 8 วา

เดินจงกรมมันก็เหมือนกับทำสมาธิ ให้กำหนดความรู้สึกขึ้นในใจว่า
บัดนี้…เราจะทำความเพียร…จะทำจิตให้สงบ.มีสติสัมปชัญญะให้กล้า

การกำหนดก็แล้วแต่ละคน…ตามใจ…บางคนออกเดินก่อน ก็แผ่เมตตา
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง.สารพัดอย่าง…แล้วก็ก้าวเท้าขวาออกก่อนให้พอดี พอดี
ให้นึก พุทโธ พุทโธ ตามก้าวเดินนั้น ให้มีความรู้ในอารมณ์นั้นไปเรื่อย

ถ้าใจเกิดฟุ้งซ่าน…หยุด…ให้มันสงบ…...ก้าวเดินใหม่ ให้มีความรู้ตัวอยู่เรื่อย
ต้นทางออกก็รู้จัก…รู้จักหมด…ต้นทาง…กลางทาง…ปลายทาง
ทำความรู้นี้ให้ติดต่อกันอยู่เรื่อย ๆ

นี่เป็นวิธีทำ…กำหนดเดินจงกรม เดินจงกรมก็คือ เดินกลับไป…กลับมา
เดินจงกรมไม่ใช่ของง่ายนะ บางคนเห็นเดินกลับไป - กลับมา.เหมือนคนบ้า
แต่หารู้ไม่ว่าการเดินจงกรมนี้…ทำให้เกิดปัญญานักละ

เดินกลับไป - กลับมา ถ้าเหนื่อยก็หยุด กำหนดจิตให้นิ่ง กำหนดลมหายใจให้สบาย
เมื่อสบายพอควรแล้ว ก็ทำความรู้สึกกำหนดการเดินอีก

แล้วอิริยาบถมันก็เปลี่ยนไปเองหรอก การยืน การเดิน การนั่ง การนอน มันเปลี่ยน
คนเราจะนั่งรวดเดียวไม่ได้ ยืนอย่างเดียวไม่ได้นอนอย่างเดียวก็ไม่ได้
มันจะต้องอยู่ตามอิริยาบถเหล่านี้ ทำอิริยาบททั้งสี่นี้ให้มีประโยชน์
ให้มีความรู้สึกตัวอยู่อย่างนี้…นี่คือ…การทำ..ทำไป.ทำไปมันไม่ใช่ของง่าย ๆ หรอก

時々होशདང一རພຊຍ๛:


ถ้าจะพูดให้ดูง่าย ๆ ก็..นี่.เอาแก้วใบนี้ตั้งไว้นี่สองนาที ได้สองนาทีก็ย้ายไปตั้งไว้นั่น
ตั้งไว้นั่นสองนาทีก็เอามาตั้งไว้นี่

ให้ทำอย่างนี้.ทำ...ทำ..ทำ…จนให้มันทุกข์…ให้มันสงสัย…ให้มันเกิดปัญญาขึ้น
นี่คิดอย่างใดนัก.แก้วยกไป ยกมาเหมือนคนบ้า มันก็จะคิดของมันไปตามเรื่อง
ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง ยกอยู่อย่างนั้นสองนาทีนะอย่าเผลอ ไม่ใช่ห้านาที
พอสองนาทีก็เอามาตั้งไว้นี่ กำหนดอยู่อย่างนี้…นี่เป็นเรื่องของการกระทำ

จะดูลมหายใจเข้า - ออกก็เหมือนกัน ให้นั่งขาขวาทับขาซ้าย ให้ตัวตรง สูดลมเข้าไปให้เต็มที่
ให้หายลงไปให้หมดในท้อง สูดเข้าให้เต็ม แล้วปล่อยออกให้หมดปอด อย่าไปบังคับมัน

ลมจะยาวแค่ไหน จะสั้นแค่ไหน จะค่อยแค่ไหนก็ช่างมัน ให้มันพอดี พอดีกับเรา

นั่งดูลมเข้า..ลมออก ให้สบายอยู่อย่างนั้น อย่าให้มันหลง ถ้าหลง..หยุด
ดูว่ามันจะไปไหน…มันจึงไม่ตามลม ให้หามันกลับมา…
ให้มันมาเล่นตามลมอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็จะพบของดีสักวันหนึ่งหรอก
ให้ทำอยู่อย่างนั้น…ทำเหมือนกับว่า...จะไม่ได้อะไร.ไม่เกิดอะไร
ไม่รู้ว่าใครมาทำ…แต่ก็ทำอยู่เช่นนั้น

เหมือนข้าวอยู่ในฉาง แล้วเอาไปหว่านลงดิน ทำเหมือนจะทิ้ง
หว่านลงในดินทั่วไป โดยไม่สนใจ
มันกลับเกิดหน่อ.เกิดกล้า...เอาไปดำ
กลับได้กินข้าวเม่าขึ้นมา นั่นแหละ เรื่องของมัน

時々होशདང一རພຊຍ๛:


อันนี้ก็เหมือนกัน นั่งเฉย ๆ บางครั้งก็จะนึกว่าจะนั่งเฝ้าดูมันทำไมนะ…ลมนี่น่ะ
ถึงไม่เฝ้ามัน มันก็ออก…ก็เข้าของมันอยู่แล้ว

มันก็หาเรื่องคิดไปเรื่อย และมันเป็นความเห็นของคน เรียกว่า อาการของจิต
ก็ช่างมันพยายามทำไป.ทำไป…ให้มันสงบ

เมื่อสงบแล้ว ลมจะน้อยลง ร่างกายก็อ่อนลง จิตก็อ่อนลง มันจะอยู่พอดีของมัน
จนกระทั่งว่า นั่งอยู่เฉย ๆ เหมือนไม่มีลมหายใจเข้า - ออก แต่มันก็ยังอยู่ได้

ถึงตอนนี้ อย่าตื่น อย่าวิ่งหนี เพราะคิดว่า เราหยุดหายใจแล้ว…นั่นแหละ
มันสงบแล้ว ไม่ต้องทำอะไร…นั่งเฉย ๆ ดูมันไปอย่างนั้นแหละ

บางทีจะคิดว่า เอ.เราหายใจหรือเปล่านี่อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน…มันคิดไปอย่างนั้น
แต่…อย่างไรก็ช่างมัน ปล่อยไปตามเรื่องของมัน ไม่ว่าจะเกิดความรู้สึกอะไรขึ้น
ให้รู้มัน…ดูมัน…แต่อย่าไปหลงไหลกับมัน

ทำไป…ทำให้บ่อย ๆ ไว้…ฉันจังหันเสร็จเอาจีวรไปตาก แล้วเดินจงกรมทันที
นึก พุทโธ….........พุทโธ ไว้ นึกไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลาเดิน เดินไปนึกไป
ให้ทางมันสึกลึกไปสักครึ่งแข้ง หรือถึงหัวเข่า ก็ให้เดินอยู่อย่างนั้นแหละ

時々होशདང一རພຊຍ๛:


ไม่ใช่เดิน ยอกแยก…ยอกแยก คิดโน่น…คิดนี่…เที่ยวเดียวแล้วเลิกขึ้นกุฏิมองดูพื้นกระดาน เออ…มันน่านอน ก็ลงนอนกรนครอก ๆ อย่างนี้ก็ไม่เห็นอะไรเท่านั้น

ทำไปจนขี้เกียจทำ…ขี้เกียจมันจะไปสิ้นสุดที่ไหน…หามันให้เห็น ที่สุดของขี้เกียจ
มันจะอยู่ตรงไหน…มันจะเหนื่อยตรงไหน…มันจะเป็นอย่างไร…ก็ให้ถึงที่สุดของมันจึงจะได้

ไม่ใช่จะมาพูดบอกตัวเองว่า สงบ…สงบ…สงบแล้วพอนั่งปั๊ปก็จะให้มันสงบเลย
ครั้นมันไม่สงบอย่างคิด ก็เลิก ขี้เกียจ…ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่มีวันได้สงบ

แต่พูดมันง่าย หากทำแล้วมันก็ยาก เหมือนกับพูดว่า ฮึ ทำนาไม่เห็นยากเลย…ไปทำนาดีกว่า
ครั้นพอไปทำนาเข้า วัวก็ไม่รู้จัก ควายก็ไม่รู้จัก คราด ไถ ก็ไม่รู้จักทั้งนั้น…
เรื่องการทำไร่ทำนานี้ ถ้าแค่พูด…ก็ไม่ยาก แต่พอลงมือทำจริง ๆ ซิจึงรู้ว่ายากอย่างนี้เอง

หาความสงบอย่างนี้ ใคร ๆ ก็อยากสงบด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่เราไม่ทันจะรู้จักมัน
จะถาม จะพูดกันสักเท่าไหร่ ก็ไม่รู้จักขึ้นมาได้หรอก

ฉะนั้นให้ทำ…ให้ตามรู้จักให้ทันว่า กำหนดลมเข้า…ออก กำหนดว่า พุทโธ…พุทโธ
เอาเท่านี้แหละ ไม่ให้คิดไปไหนทั้งนั้นในเวลานี้…ให้มีความรู้อยู่อย่างนี้ ทำอยู่อย่างนี้
ให้เรียนอยู่อย่างนี้แหละ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version