ถ้าคุณเป็นคนหนึ่ง ซึ่งสงสัยอยู่ว่าอกตัญญูไหมที่ไม่รักพ่อ? เนรคุณไหมที่เกลียดแม่? ผิดไหมถ้ารักพ่อมากกว่าแม่? บาปไหมที่ดีใจเมื่อรู้ว่าแม่กำลังจะตาย? วันนี้เรามาดูกันว่าจะสบายใจขึ้นได้อย่างไร หรือดีกว่านั้นคือเปลี่ยนใจตัวเองได้ด้วยวิธีไหน
ก่อนอื่นให้มองตามจริงว่าความรู้สึกเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ คนเรามีหูตาอยู่อย่างนี้ ถ้ากระทบเข้าภาพแย่ๆ เสียงแย่ๆ ความรู้สึกก็ต้องแย่ตาม มิใช่วิสัยที่จะสั่งห้ามใจไม่ให้แย่ไปด้วย ฉะนั้น ถ้าตัดคำว่าพ่อ ตัดคำว่าแม่ออกไป เหลือแต่ความกระทบกระทั่งระหว่างคนกับคน ก็อย่าแปลกใจถ้าจะมีอารมณ์ต่อกัน เป็นความขัดเคืองบ้าง ความโกรธบ้าง ความแหนงหน่ายไม่อยากรักบ้าง หรือกระทั่งความชิงชัง รังเกียจเดียดฉันท์บ้าง
ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับใครแล้วรักกันนั้นง่าย แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะรักคนให้ทุกข์ให้โทษกับเราถ่ายเดียว!
ถ้าจะกล่าวโทษ ก็ต้องโทษธรรมชาติที่บีบให้คนเราต้องอยู่ร่วมกัน กระทบกระทั่งได้ เกิดความขัดเคืองได้ สะสมความรู้สึกไม่ดีต่อกันได้ ไม่ยอมให้เราเกิดเอง โตเอง สบายเอง มิฉะนั้นก็คงเลือกได้ตามอิสระ เห็นใครอยู่ในฐานะอะไร ควรรักเขามากน้อยแค่ไหน
ขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่ความผิดของสังคม ที่คนส่วนใหญ่พากันชื่นชม รำลึกนึกถึงพระคุณของพ่อแม่ ถึงขนาดที่เกือบทุกชาติทุกภาษา จัดให้มีวันพ่อ วันแม่ เป็นประจำทุกปี สะท้อนให้เห็นว่าโลกของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงนั้น เขามองกันว่าพ่อแม่เป็นผู้มีบุญคุณยิ่งใหญ่ ขนาดสมควรที่จะไม่ลืมจัดวันพิเศษเพื่อบูชาพวกท่าน
พ่อแม่มีชีวิตต่อได้ถ้าไม่มีคุณ แต่คุณมีชีวิตขึ้นมาไม่ได้ถ้าขาดพ่อแม่!
กล่าวแบบรวบรัด ถ้าจะถามว่าใครเป็นคนกำหนดให้ต้องนึกถึงบุญคุณพ่อแม่ ก็ต้องตอบว่าธรรมชาตินั่นแหละที่กำหนด และฝังไว้ในสำนึกว่าการรู้คุณพ่อแม่เป็นคุณสมบัติของผู้มีใจสูง คนเราจะทราบว่าตนมีใจสูงหรือใจต่ำ ก็ดูง่ายๆว่าจำได้หรือเปล่าว่าพ่อแม่สำคัญแค่ไหน
ถึงตรงนี้สรุปได้สั้นๆว่า อย่ารู้สึกผิดถ้าไม่รักพ่อแม่ แต่จะแย่มากถ้าไม่คิดตอบแทนบุญคุณพวกท่านเลย!
ต่อให้เป็นโจรชั่ว เมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษประหารจากองค์ราชา ก็ยังสำนึกคุณ ทุ่มกายถวายชีวิตรับใช้องค์ราชาได้ แม้ต่อมาภายหลังจะถูกกดขี่ข่มเหงอย่างไรก็ก้มหน้าก้มตายอมรับ เพราะจดจำอยู่ว่ามีชีวิตต่อก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม
แล้วใครจะอ้างได้เต็มปากเล่า ว่าตัวเองย่ำแย่แค่ไหน เกินกว่าจะทำใจรับพ่อแม่อย่างไร จึงนึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ไม่ออก ที่ให้ชีวิตมาทั้งชีวิตตั้งแต่แรก เห็นได้ชัดเจนว่ายิ่งกว่าพระราชาประทานชีวิตแก่นักโทษประหารไม่รู้กี่ร้อยเท่า
หาค่าของชีวิตให้เจอ แล้วคุณจะได้ตระหนักว่า คุณมีชีวิตขึ้นมาหาค่าของชีวิตไม่ได้ ถ้าปราศจากพ่อแม่
เมื่อเห็นค่าของพ่อแม่ แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะตอบแทนอย่างไร อย่างน้อยก็รู้จักความหมายของคำว่า "กตัญญู" ให้ได้ก่อน ความกตัญญูเป็นอาการของใจที่มีความสามารถรู้คุณคน ทราบว่าใครมีอุปการคุณต่อเราไว้อย่างไร กล่าวโดยย่นย่อที่สุดคือนึกออก บอกถูก และทำไว้ในใจว่าผู้นั้นผู้นี้ มีบุญคุณกับเราไว้เมื่อครั้งไหน
ถ้ากตัญญูเป็น ก็เหมือนจุดพลุ จุดชนวนให้เกิด "กตเวที" ตามมาเอง เพราะความมีใจสูงของมนุษย์ ย่อมเกิดแรงดันให้อยากตอบแทนคุณ โดยไม่ต้องมีใครเอาหอกดาบมาบังคับ
สำหรับคนเกลียดพ่อแม่ แค่มีแก่ใจ ทำความเข้าใจที่มาที่ไปของพ่อแม่ ให้อภัย
ในความร้ายกาจของพวกท่านได้ ก็นับว่าปรับใจเข้ากับความประเสริฐแบบมนุษย์
อันเป็นธาตุแท้ของคุณได้แล้ว
สำหรับคนรักพ่อแม่ไม่เท่ากัน แค่มีแก่ใจ นึกสงสารท่านที่ได้รับความรักจากเราน้อยกว่าอีกท่าน เห็นค่าว่าครึ่งหนึ่งที่ประกอบขึ้นเป็นเรา ได้มาจากท่าน หาใช่รับเต็มตัวมาจากฝ่ายไหน ก็จะก่อให้เกิดกำลังใจในการคิดตอบแทนท่าน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอีกท่านหนึ่ง ความคิดอยากตอบแทนเท่าๆกัน จะค่อยๆปรับความรู้สึกรักไม่ให้ทิ้งระดับห่างจากกันเกินไปนัก
สำหรับคนรักพ่อแม่มากอยู่แล้ว ควรมีแก่ใจ ดูตามจริงว่าพวกท่านมีที่พึ่งให้ตนเองหรือยัง ในทางพุทธ หากชักชวนโดยละม่อม ให้พวกท่านมีใจยินดี ตั้งมั่นในการให้ทาน รักษาศีล ปลูกศรัทธาในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้หยั่งรากลึกมั่นคงพอ จะนับเป็นการตอบแทนอย่างแท้จริง สมน้ำสมเนื้อ เพราะพวกท่านจะมีหลักประกันให้ตนเองได้ไปดี ไปสว่าง ตลอดจนไปถึงที่สุดทุกข์ได้เป็นแน่แท้
อย่าเค้นใจให้รักพ่อแม่ เพราะจะเหนื่อยเปล่า และยิ่งทรมานใจขึ้น
แต่เข้าใจ เพื่อเห็นค่าพ่อแม่ แล้ววันหนึ่งจะเข้าถึงความรู้สึกที่ถูกต้อง
เป็นสุขที่ได้เป็นมนุษย์เต็มตัว สมเกียรติภูมิกัน
ดังตฤณจากบทความ "ทำยังไงดี?"
นิตยสาร Miracle of Life ฉบับ เดือนสิงหาคม ๕๓