ผู้เขียน หัวข้อ: รู้ - เห็น  (อ่าน 1592 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ 時々होशདང一རພຊຍ๛

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1011
  • พลังกัลยาณมิตร 1119
  • แสงทองส่องฟ้าคือชีวิต
    • ดูรายละเอียด
รู้ - เห็น
« เมื่อ: กันยายน 06, 2010, 04:21:53 pm »













กราบนมัสการพระคุณเจ้าและสวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน 

เมื่อพูดถึงกระบวนการเรียนรู้ทางศีลธรรมของสังคมปัจจุบัน ผมคิดว่าโดยทั่วไปมักจะมีการบ่นว่า สังคมปัจจุบันศีลธรรมเสื่อมโทรมไปต่าง ๆ นานา ซึ่งผมเห็นด้วยทั้งหมด ไม่ได้คิดว่าศีลธรรมในสังคมปัจจุบันดีอะไรนักหนา แต่ผมคิดว่าบ่นเฉย ๆ จะไม่นำไปสู่ทางออกอะไร เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจะพยายามวิเคราะห์ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางศีลธรรม จะเรียกว่าเสื่อมหรือไม่เสื่อมก็แล้วแต่ของสังคมปัจจุบัน เกิดมาจากอะไร ด้วยความหวังว่าถ้าเราเข้าใจถึงกระบวนการของความเสื่อมโทรมหรือความเปลี่ยนแปลงของศีลธรรมในปัจจุบัน จะทำให้เรามองหาทางออกได้ ซึ่งผมคงไม่มีความสามารถที่จะบอกทางออกได้อย่างจะแจ้ง แต่จะชี้สาเหตุใหญ่ ๆ ที่สำคัญเอาไว้สองสามอย่าง 

ก่อนจะพูดถึงเรื่องกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางศีลธรรมของสังคมปัจจุบัน ผมขอเริ่มต้นด้วยการพูดถึงศีลธรรมของสังคมก่อน เพราะผมคิดว่าผมอาจจะนิยามศีลธรรมไม่ตรงกับที่เขานิยามกัน แต่ถ้าตรงกันก็แล้วไป ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องศีลธรรม มีอยู่ ๒ ส่วนที่มีความสำคัญ ส่วนที่หนึ่งคือกฎเกณฑ์ที่กำหนดความสัมพันธ์ทางสังคม บางทีก็เรียกว่าจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เพื่อนบ้าน คนรัก ลูกเมีย คนอื่นๆ ที่ร่วมอยู่ในสังคมเดียวกับเรา หรือคนอื่นๆ ที่ร่วมอยู่ในโลก รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับธรรมชาติแวดล้อมด้วย หัวใจสำคัญของส่วนแรกของศีลธรรม คือการรู้จักคิดถึงคนอื่นหรือสิ่งอื่น ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเองคนเดียว คิดถึงว่ามีคนอื่นอยู่ด้วย คิดถึงว่ามีสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ร่วมโลกกับเราด้วย ถ้าพูดแบบพุทธก็คือมีเพื่อนร่วมทุกข์เยอะแยะมากเลยในโลกนี้ และผมคิดว่านี้คือส่วนแรกของศีลธรรม ซึ่งก็มักจะพูดถึงเรื่องนี้กันแยะ 

ส่วนที่สองของศีลธรรม คือกฎเกณฑ์ ผมไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร คำว่ากฎเกณฑ์เป็นคำที่ไม่ดีเลยในภาษาไทยปัจจุบัน เพราะมันจะหมายความถึงข้อกำหนดเป็นข้อๆๆๆ ให้ทำอย่างนั้นให้ทำอย่างนี้ หรือไม่ให้ทำอย่างนั้นไม่ให้ทำอย่างนี้ เหมือนกับกฎหมาย แต่จริงๆ แล้วตรงนี้ผมไม่อยากใช้คำว่ากฎเกณฑ์ แต่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ที่กำหนดโลกทัศน์และชีวทัศน์ คือกำหนดทัศนคติของเราทั้งหมดที่มีต่อโลก กำหนดทัศนคติของเราที่มีต่อชีวิต เชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับสิ่งที่ผมขอเรียกกว้างๆ ว่า “บรมธรรม” หมายความว่า ถ้าเป็นพุทธศาสนาก็เป็นบรมธรรมของพุทธศาสนา ถ้าเป็นคริสต์ศาสนา เป็นอิสลาม ก็เป็นบรมธรรมของคริสต์ศาสนา เป็นบรมธรรมของอิสลาม เช่น คนเราเกิดมาทำไม ความดีสูงสุดคืออะไร ถ้าคุณเป็นมุสลิม คุณก็บอกว่าพระเจ้า ถ้าคุณเป็นพุทธ คุณก็บอกว่านิพพาน

ส่วนที่สองของศีลธรรม เป็นส่วนที่ผมรู้สึกว่าในโลกปัจจุบันนี้จะแยกมันออกไป และถือว่าไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับส่วนแรก เวลาที่เราบอกให้คนมีศีลธรรม เรามักจะนึกถึงศีลธรรมในส่วนแรก แต่ผมอยากจะพูดไว้ตรงนี้เพียงนิดหน่อยเท่านั้นเองว่า สองอย่างนี้ ด้านหนึ่งที่เป็นกฎเกณฑ์ในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนอื่น กับสัตว์อื่น กับสิ่งอื่นๆ ที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็แล้วแต่ กับส่วนที่เรียกว่าความเชื่อก็ได้ ที่เกี่ยวกับบรมธรรม มันแยกออกจากกันไม่ได้ (แต่เดี๋ยวจะพูดให้ฟังว่า ในเมืองไทยสั่งให้มันแยกจากกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ มาแล้ว) การปฎิบัติในอย่างที่หนึ่งนั้น ไม่ต้องห่วง ในโลกปัจจุบันนี้จะมีกฎหมาย มีตำรวจ มีรัฐ มีคุก คอยกำกับควบคุมอยู่พอสมควร คือกำกับได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าคุณมีอำนาจมากหน่อย คุณอาจจะทำผิดกฎหมายโดยที่ไม่ถูกจับก็ได้ แต่โดยทั่วๆ ไป คนปกติธรรมดาอย่างเรายากที่จะทำผิดศีลธรรมในความหมายอย่างแรก เพราะมีกฎหมายคอยกำกับอยู่ แต่ที่เราสามารถจะปฏิบัติตามศีลธรรมในส่วนแรกได้นั้น ผมคิดว่าพลังที่สำคัญมาจากส่วนที่สอง คือส่วนของความเชื่อเรื่องบรมธรรมในศาสนาของเรา ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้

ทีนี้ในโลกสมัยใหม่ (โมเดิร์น) ซึ่งเกิดในยุโรปเมื่อประมาณ ๒๐๐ – ๓๐๐ ปีมาแล้ว เกิดในเมืองไทยประมาณ ร้อยปีมาแล้ว คำว่าโลกสมัยใหม่ไม่ได้แปลว่ายุคปัจจุบันอย่างเดียว แต่มันมีลักษณะพิเศษในทางสังคมเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง หรือแม้แต่โลกหลังสมัยใหม่ มันไปแยกสองส่วนนี้ของศีลธรรมออกจากกัน คือส่วนที่เป็นกฎเกณฑ์ในเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม กับส่วนที่เป็นบรมธรรม ไม่ว่าในยุโรป ในเอเชีย จะคิดแยกสองอย่างนี้ออกจากกัน ถ้าเป็นโลกหลังสมัยใหม่ (โพสต์โมเดิร์น) ยิ่งร้ายกาจใหญ่ เท่าที่ผมเข้าใจซึ่งอาจจะผิด โลกหลังสมัยใหม่สงสัยแม้แต่กฎเกณฑ์ที่ไปกำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมว่า มันจริงหรือเปล่า มันสำคัญจริงหรือเปล่า หรือมันเป็นความดีในตัวเองหรือเปล่า เป็นความจริงในตัวเองหรือเปล่า หรือเป็นแต่เพียงกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นเพื่อประโยชน์ของการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม อันนี้ผมจะไม่เข้าไปสู่รายละเอียด แต่หมายความว่า โพสต์โมเดิร์นจะสงสัยแม้แต่ในข้อที่หนึ่ง พวกโมเดิร์นยังยอมว่าส่วนที่หนึ่งมีและสำคัญ แต่ส่วนที่สองไม่เกี่ยว แต่โพสต์โมเดิร์นสงสัยแม้แต่ส่วนที่หนึ่งว่า มันอาจจะไม่ได้เป็นความดีในตัวมันเอง การไม่โกหกไม่ได้เป็นความดีในตัวมันเอง แต่เป็นประโยชน์ในระบบอุตสาหกรรม เพราะว่าถ้าคุณโกหกมากๆ แล้วจะทำให้เครื่องจักรไม่ทำงานหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มันมีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ในการเอารัดเอาเปรียบกัน หรือในทางการเมืองของระบบสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นโลกปัจจุบันหรือโลกข้างหน้าถ้ามันมีหลังสมัยใหม่จริง ผมคิดว่าศีลธรรมจะถูกมองในลักษณะที่บิดเบือน เพราะว่าหนึ่งมันไปแยกออกจากกัน หรือมิฉะนั้นมันสงสัยแม้แต่ในตัวความดีที่เราเชื่อว่าเป็นความดีด้วยซ้ำไป

ทีนี้หันมาดูส่วนแรกสำหรับกรณีของเมืองไทยหรือทั่วทั้งโลกก็ได้ เราจะพบว่ารัฐสมัยใหม่ (ซึ่งไม่เหมือนกรุงศรีอยุธยา ฝรั่งเศสสมัยปัจจุบันกับฝรั่งเศสสมัยก่อนหน้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ไม่เหมือนกัน) ได้พยายามเข้ามาแทรกแซงในชีวิตของคน แล้วออกกฎหมาย ใช้กฎหมาย คือแต่ก่อนกฎหมายทุกแห่งในโลกนี้ จะเหมือนกันหมด คือจริงๆ ตัวกฎหมายที่รัฐเป็นคนออกไม่ค่อยได้ถูกใช้เท่าไหร่ กฎหมายตราสามดวงที่เรานึกว่าสำคัญนักหนา รัฐมีอำนาจจะบังคับกฎหมายตราสามดวงกับพลเมือง ผมว่าไม่ถึง ๑๐ % ด้วยซ้ำไป ที่เหลือมันอยู่กันได้ด้วยประเพณี อยู่กันได้ด้วยความสัมพันธ์มากกว่า อย่าลืมคนไทยเกินครึ่งอ่านหนังสือไม่ออก เพราะฉะนั้นจะเขียนกฎหมายตราสามดวงอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ มันอยู่กันมาตามประเพณีมากกว่า ในยุโรปก็เป็นอย่างนั้น อย่าไปนึกว่าฝรั่งมันเหนือเรา รัฐโบราณไม่ได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ แต่รัฐสมัยใหม่เนื่องจากมันอยากมีอำนาจมาก จึงพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการเข้ามากำกับควบคุมพลเมือง และทำให้เห็นด้วยว่าการลงทัณฑ์โดยกฎหมายได้ผลกว่าการลงทัณฑ์โดยวิธีอื่นๆ เป็นต้นว่า สมัยก่อนถ้าเผื่อเป็นชาวบ้านไทย คุณขโมยของเขา สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าถูกจับได้ คุณจะถูกนำไปหาผู้ใหญ่ของหมู่บ้าน แล้วเขาจะพูดกับคุณ อบรมสั่งสอนคุณ ไปบอกให้พ่อแม่คุณรู้ ไปบอกให้ญาติโกโหติการู้ น่าอับอายขายหน้า แล้วสั่งสอนอบรมว่าอย่าทำอย่างนี้อีก ถ้าคุณทำอีกโทษจะแรงขึ้นทีละนิดๆ ถูกไหม แต่ของรัฐสมัยใหม่ ไม่มีใครจับไปหาพ่อแม่ คุณจับมาเสร็จก็ยัดลงไปในคุกเลย เพราะฉะนั้นการลงทัณฑ์ของรัฐสมัยใหม่ดูเหมือนว่ามีประสิทธิผลกว่า คุณทำผิดก็จับยัดใส่คุก คุณทำผิดก็เอาไปประหารชีวิตเลย ส่วนใหญ่จะเป็นการลงโทษทางร่างกาย ไม่เอาไปขังคุกก็อื่นๆ หรือมิฉะนั้นก็ใช้ระบบภาษีหรือค่าปรับในการลงโทษลงทัณฑ์แก่พฤติกรรมที่รัฐไม่ชอบให้ทำ 

แต่รัฐสมัยใหม่จะไม่สนใจการลงทัณฑ์ทางสังคมและจิตใจ ซึ่งไม่เหมือนกับการบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมในชุมชนโบราณ ที่เขาแทบจะไม่มีอำนาจในการลงทัณฑ์ทางร่างกายกับใคร คุณขโมยของเขา เป็นชู้กับเมียเขา ในสังคมไทยคุณทำอะไรไม่ได้นอกจากเรียกมาตักเตือนสั่งสอน ถ้าคุณไม่เชื่อ คนในสังคมก็จะเลิกคบกับคุณ เป็นต้น เป็นการลงทัณฑ์ทางสังคม เป็นการลงทัณฑ์ทางจิตใจ เอาพระอุปัชฌาย์มาตักเตือนสั่งสอน ก็เหมือนกับพ่อแม่อีกคนหนึ่ง เป็นเรื่องของการลงทัณฑ์ทางจิตใจ แต่คุณไม่มีคุกจะไปขังเขา การทำผิดในรัฐสมัยโบราณเป็นเรื่องของการลงทัณฑ์ทางสังคมกับทางจิตใจ รัฐสมัยใหม่จะลงทัณฑ์ทางร่างกาย และให้ความสำคัญกับการลงทัณฑ์ทางสังคมและจิตใจน้อย หรือเกือบจะไม่ให้เลย 

กฎหมายของเรามีตัวอย่างชัดเจน คนเสพยาแล้วคุณบอกว่าไปประกาศชื่อมันออกทีวีทุกวัน ทำไม่ได้ นั่นเป็นการลงทัณฑ์ทางสังคม ผมไม่ได้หมายความว่าควรทำนะ แต่ชี้ให้เห็นว่าการลงทัณฑ์ทางสังคมและจิตใจจะถูกตัดออกไปจากโลกสมัยใหม่หรือรัฐสมัยใหม่ มาในภายหลังคุณเริ่มคิดถึงการลงทัณฑ์ทางสังคมและทางจิตใจบ้างเหมือนกัน เช่น การรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ แต่คุณจะเห็นได้อย่างหนึ่งว่า แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการลงทัณฑ์ของรัฐสมัยใหม่หรือโลกสมัยใหม่ ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า มนุษย์ทุกคนย่อมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนสูงสุด จริงหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่เป็นข้อสรุปในทางเศรษฐศาสตร์คลาสสิก ว่ามนุษย์เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนสูงสุด ถือว่าธรรมชาติของมนุษย์คือคนเห็นแก่ตัว ด้วยเหตุดังนั้น ในการรณรงค์บุหรี่ คุณจะใช้ความเห็นแก่ตัวเป็นเครื่องมืออย่างมาก ผมพูดในฐานะคนติดบุหรี่นะครับ หมายความว่าอย่างนี้ ระวังนะ ถ้าคุณสูบบุหรี่ หนึ่ง ปอดคุณแหก มีรูปให้ดูด้วย สอง ลูกเมียคุณจะปอดแหกตามไปด้วย สาม คุณจะเป็นที่รังเกียจของสังคม คุณไปนั่งที่ไหนก็จะมีคนมาถาม ขอโทษเรารู้จักกันมาก่อนหรือเปล่าคะ อย่างนี้เป็นต้น ตัวคุณเป็นผู้เดือดร้อนหมด 

นอกเรื่องนิดหน่อย เอาประสบการณ์ตัวผมเอง ผมเคยสามารถเลิกบุหรี่ได้ ๓ ปี ด้วยคำพูดของอาจารย์ประเวศ ท่านบอกว่าคนสูบบุหรี่อย่าลืมนะว่า ถ้าคุณไม่สบาย คุณต้องไปเอาทรัพยากรสาธารณสุขของสังคมมาใช้ แล้วบ้านเราทรัพยากรทางสาธารณสุขมีจำกัดมาก เขาเอาไว้รักษาคนป่วยที่มีเหตุพึงป่วย หรือคนแก่ แต่คุณผ่าไปทำตัวเองให้ป่วย แล้วคุณก็ไปแย่งหมอ แย่งยา แย่งพยาบาลเขามา 

วิธีคิดสองอย่างไม่เหมือนกัน อันที่หนึ่งคือ ถ้าคุณรณรงค์แบบที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ คุณสรุปว่ามนุษย์เราเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นเอาประโยชน์ส่วนตัวมาเป็นเครื่องล่อ คุณเห็นไหมว่า คุณสูบบุหรี่ คุณทำลายประโยชน์ส่วนตัว แต่วิธีของหมอประเวศคือ เอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ถ้าคุณสูบบุหรี่ คุณทำลายประโยชน์ส่วนรวมนะ คนละด้านกันเลย แล้วผมคิดว่า โลกสมัยใหม่หรือรัฐสมัยใหม่จะค่อนข้างใช้ประโยชน์ส่วนตัว คือไปยอมรับธรรมชาติมนุษย์ตามที่นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่นิยามเอาไว้ ว่ามนุษย์คือสัตว์เห็นแก่ตัว ถ้าคุณยังไม่อยากให้ทำอะไร ต้องถือเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นตัวตั้ง แล้วบอกว่าถ้าคุณทำสิ่งนี้จะทำลายประโยชน์ส่วนตัว แต่เราตัดเรื่องประโยชน์ส่วนรวมออกไป 

นอกจากนี้ โลกสมัยใหม่หรือรัฐสมัยใหม่ยังแยกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคมกับกฎเกณฑ์ที่กำหนดโลกทัศน์ชีวทัศน์ในตัวเราออกจากกันโดยเด็ดขาด เวลาเราพูดถึงศีลธรรมกลายเป็นว่าเราเรียนรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์โดยตรง เช่นเป็นต้นว่า สมัยเมื่อผมเป็นนักเรียนชั้นประถม มัธยม คุณต้องรู้เรื่องของหน้าที่พลเมืองคืออะไร ถ้าคุณกลับไปเปิดดูตำราสมัยก่อน พูดง่ายๆ ว่า กฎเกณฑ์ กฎหมายต่างๆ ว่าคุณจะต้องทำอะไรบ้าง ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ สถานภาพการจดทะเบียนสมรสคืออะไร จะหย่าทำอย่างไร หรือจะไม่หย่าทำอย่างไร ร้อยแปดต่างๆ นานา คือรู้แต่เรื่องของกฎเกณฑ์เป็นหลัก ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของหน้าที่พลเมือง ศีลธรรมก็เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ คือคุณเอาหมวดธรรมต่างๆ มา ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ เพราะฉะนั้นเด็กไทยจะคล่องมาก จะท่องได้ตลอดเวลาเลย เพราะมันเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ เราจะมองเรื่องของศีลธรรมเป็นเรื่องกฎเกณฑ์อยู่ตลอดเวลา 

ฉะนั้นเวลาที่พวกผู้นำประเทศบอก จงทำดีๆ ๆ หรือว่าเราต้องเป็นคนดี จริงๆ แล้วผมเชื่อว่า คนไทยส่วนใหญ่จะถามว่า ที่ว่าทำดีนี่ทำอะไรวะ เพราะว่าคน ๘๐–๙๐% ของทุกประเทศในโลกนี้เหมือนกันนะ คือไม่ได้เป็นคนผิดกฎหมาย ทุกคนทำถูกกฎหมาย แล้วบอกให้ทำดี ก็ไม่รู้จะทำอะไร เพราะทำถูกกฎหมายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคำสอนของผู้นำทั้งหลาย จะสอนคนประมาณ ๑๐% เท่านั้นคือคนชั่ว ไม่เกี่ยวกับพวกเรา จึงไร้ความหมาย และผมคิดว่าคำว่าศีลธรรมก็จะไร้ความหมายไปด้วย ถ้าเผื่อเราไม่เข้าใจ ไม่เอาบรมธรรมกับกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคมเข้ามาผสมผสานกัน เข้ามาเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

ส่วนที่สองในโลกสมัยใหม่หรือรัฐสมัยใหม่ คือส่วนที่เกี่ยวกับบรมธรรม ทำยังไง เรากลายเป็นเสรีนิยม หมายความว่าต่างคนต่างมี เอาไงก็ได้ เชิญตามสบาย ไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐ ไม่เกี่ยวอะไรกับโลกหรือคนอื่นๆ เขา คุณจะเชื่อพระนิพพานก็ได้ คุณจะเชื่อพระฤาษีในการแทงหวยก็ได้ ไม่เกี่ยว เป็นเรื่องส่วนตัวหมด ขออย่างเดียวคือให้เป็นคนมีศีลธรรมก็แล้วกัน ซึ่งแปลว่าทำถูกกฎหมาย ส่วนที่สองเป็นส่วนที่โลกสมัยใหม่ถือว่าไม่เกี่ยว ยังไงก็ได้ ต่างคนต่างมี ตามสบายเลย

ในที่สุดเมื่อคุณไม่มีบรมธรรมเป็นตัวกำกับกฎเกณฑ์ที่จะประพฤติปฏิบัติต่อคนอื่น ต่อสิ่งอื่นในโลกนี้ ถามว่าอะไรเข้ามาครอบงำคุณ ผมคิดว่ามีสองอย่างคือวิทยาศาสตร์กับวัตถุนิยม สองอย่างนี้จะเข้ามาครอบงำเราแทนบรมธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นพระนิพพาน

เพราะฉะนั้นตราบเท่าที่เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เราอยากจะรวยให้เร็วที่สุดเท่าไหร่ก็ได้ เราอยากจะยึดมั่นในชีวิตของเราให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ก็ได้ ไม่เป็นไร ไม่ผิดทั้งสิ้น ผมคิดว่านี่เป็นผลผลิตของสิ่งที่เรียกว่าความเป็นสมัยใหม่ โมเดิร์นนิตี้ (Modernity) ความเป็นสมัยใหม่มันให้ผลผลิตที่ตัวเราเองพบ ตัวเราเองก็เป็นและคนอื่นก็เป็นอยู่ในโลกทุกวันนี้ แล้วผมคิดว่าโมเดิร์นนิตี้หรือความเป็นสมัยใหม่ไม่ได้ครอบงำเฉพาะสังคมไทยหรือสังคมฝรั่งเท่านั้น แต่ครอบงำสังคมเกือบทั้งโลกเลย มีสังคมที่หลุดรอดออกไปจากความเป็นสมัยใหม่ได้น้อยมาก และหนึ่งในสังคมเหล่านั้นที่ผมอยากจะพูดถึงคือสังคมมุสลิม ไม่ใช่ทุกสังคม แต่ผมคิดว่าสังคมมุสลิมโดยส่วนใหญ่แล้วสามารถหลุดรอดออกไปจากการครอบงำของความเป็นสมัยใหม่แบบนี้ได้ กล่าวคือถ้าคุณเป็นมุสลิม คุณแยกระหว่างสิ่งที่เป็นบรมธรรมออกจากสิ่งที่เป็นศีลธรรมไม่ได้ การที่คุณเป็นมุสลิม คุณจะต้องไม่กินอาหารที่พระเจ้าสั่งไม่ให้คุณกิน เช่น หมูหรือสัตว์ที่ไม่ได้เชือดอย่างถูกต้องตามพิธีกรรม และอื่นๆ ไม่ใช่ว่าเป็นกฎเกณฑ์เท่านั้น 

อย่างคนไทยบอกว่า ผมไม่ได้โกหกนี่หว่า พระเดินมา ตำรวจมาถามว่าเห็นผู้ร้ายวิ่งมาทางนี้หรือเปล่า ขยับมาก้าวหนึ่ง บอกว่าตั้งแต่ยืนอยู่ตรงนี้ อาตมาไม่เห็น แล้วบอกว่าไม่โกหก ไม่ใช่ นี่มันเป็นเรื่องของทนายความ ไม่ใช่เรื่องของพระ แต่ในสังคมมุสลิมเวลาที่เขาไม่กินหมู ไม่ใช่เขาปฏิบัติตามกฎหมายอย่างที่คนไทยพุทธเรามีทัศนะต่อศีลห้า การกินหมูคือการท้าทายอำนาจพระเจ้า พระเจ้าสั่งไม่ให้กิน คุณแยกบรมธรรมกับกฎเกณฑ์ของชีวิตออกจากกันไม่ได้ ในขณะที่ชาวพุทธปัจจุบันเฉยเลย สบายเลย คือคุณถือศีลห้าโดยไม่เชื่อพระนิพพานได้ไหม ได้ ไม่แปลกอะไร เพราะมันเป็นแค่กฎเกณฑ์ คุณแยกมันออกไปจากความเชื่อในเรื่องบรมธรรมได้โดยเด็ดขาด แต่สังคมมุสลิมไม่ได้ สังคมมุสลิมจึงหลุดรอดออกไปจากการครอบงำของโมเดิร์นนิตี้ แล้วกลายเป็นคล้ายๆ กับผู้ร้าย กลายเป็นที่ไม่เข้าใจของคนอื่นๆ ในสังคมที่เขาได้กลายมาเป็นสังคมสมัยใหม่ไปแล้ว เวลาคุณมองสังคมมุสลิมนี่คุณไม่เข้าใจ ถ้าคนในภาคกลางมองคนในภาคใต้ที่เป็นชาวมุสลิม จะรู้สึกว่าพวกนี้เคร่งศาสนา จริงๆ ปู่ย่าตายายของคนภาคกลางก็เคร่งศาสนาแบบนั้นแหละ แต่ปัจจุบันมันไม่ได้เคร่งไปแล้ว และไปคิดว่าความเคร่งศาสนานั้นกลายเป็นความแปลกปลอม เป็นมนุษย์อัศจรรย์ ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา ผมคิดว่าคนไทยปัจจุบันจะมองคนมุสลิมแตกต่างจากบรรพบุรุษของตัวเอง คือคนในสมัยรุ่นก่อนหน้ารัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป ที่ไม่ได้มองมุสลิมแตกต่างออกไป เพราะคนพุทธสมัยก่อนไม่ได้แยกระหว่างสิ่งที่เป็นบรมธรรมกับกฎเกณฑ์ที่เราเรียกว่าศีลธรรมออกจากกันเหมือนกัน

ทีนี้เรามาดูกระบวนการเรียนรู้ทางศีลธรรมในสังคมโบราณ ซึ่งผมจะพูดเพียงนิดเดียวเพราะว่าไม่ได้ให้มาพูดประวัติศาสตร์ในที่นี้ สรุปอย่างสั้นๆ คือว่า กระบวนการเรียนรู้ทางศีลธรรมของคนโบราณมันอยู่ในวิถีชีวิตหรือเป็นกระบวนการชีวิต คุณแยกกระบวนการเรียนรู้ทางศีลธรรมกับกระบวนการชีวิตออกจากกันไม่ได้ ปัจจุบันเวลาเราพูดถึงกระบวนการเรียนรู้ทางศีลธรรมของสังคมปัจจุบัน ฟังดูคล้ายๆ กับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องมาดูว่า เราจะทำกระบวนการเรียนรู้ทางศีลธรรมยังไง ถ้าเป็นคนสมัยโบราณ คงบอกไม่รู้จะทำยังไง เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การที่คุณมีชีวิตอยู่ได้ ส่วนหนึ่งคุณต้องเรียนรู้กระบวนการทางศีลธรรมด้วย เพราะระบบความสัมพันธ์ทางสังคมในสมัยก่อนถูกกำกับด้วยศีลธรรม ผมไม่ได้หมายความว่าสมัยก่อนไม่มีผู้ร้ายฆ่าคนตาย ไม่มีคนขโมย ไม่มีคนเป็นชู้เมียเขา ไม่มีคนโกหก ไม่มีคนประมาท กินเหล้า เสพยา หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่ามันถูกกำกับด้วยศีลธรรมค่อนข้างมาก เพราะถ้าคุณไม่ทำตามที่สังคมคาดหวัง คุณจะถูกการลงทัณฑ์ซึ่งในทัศนะผมมีประสิทธิภาพกว่าปัจจุบันค่อนข้างมาก เช่น เมื่อผมไปที่ลุ่มแม่น้ำสงคราม ชาวบ้านมีอาชีพการประมง เพราะฉะนั้นเขาจะทำปาณาติบาตได้สบายเลย แต่เขามีหลักเกณฑ์นะ คือเมื่อไหร่ที่คุณเอาเรือออกไปจับปลา พอกลับถึงฝั่งคุณต้องเก็บปลาทุกตัว ทั้งตัวเล็กตัวน้อยมาให้หมดเพื่อทำปลาร้า คุณทิ้งเศษปลาเล็กปลาน้อยแล้วเอาเรือไปคว่ำล้างไม่ได้เลย เพราะเขาบอกว่าการฆ่าสัตว์ เพราะคุณจำเป็นจะต้องมีชีวิตอยู่ แต่คุณฆ่าเพื่อใช้ประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อทิ้งเพื่อขว้าง กลายเป็นศีลธรรมของชุมชน แล้วถ้าคุณไม่ทำตามนั้น คนจะเริ่มรังเกียจคุณ เพราะฉะนั้นทำจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตั้งแต่เด็กมาออกไปหาปลากับพ่อแม่ พ่อแม่ก็บอกว่าเก็บให้หมดเพื่อจะเอาไปทำปลาร้านานาชนิด มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และมีการลงทัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ เพราะหากคุณไม่ทำตามนั้น คนอื่นจะรังเกียจคุณ กระทบกับความสัมพันธ์ทางสังคมที่คุณมีอยู่ อย่าลืมนะครับว่าสังคมไทยสมัยก่อนไม่ได้อยู่แบบปัจเจก ถ้าคุณอยู่แบบปัจเจก คุณเอาตัวไม่รอด สังคมสมัยก่อนมันมีอาชีพเดียวกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ถ้าคุณทำนา จะบอกว่าไม่ให้ใครเปิดน้ำผ่านนากูเลย ก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะคุณต้องเปิดน้ำผ่านนาคนอื่นเหมือนกัน อย่างนี้เป็นต้น

มันเป็นสังคมที่ไม่สามารถอยู่โดยปัจเจกได้ เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ทางสังคมจึงมีความสำคัญ เมื่อไหร่ที่คนอื่นๆ ในหมู่บ้านเขาไม่คบกับคุณแล้ว คุณจะอยู่ไม่ได้ คือไม่สามารถจะทำมาหากินได้ อย่างถ้าคนอีสานไม่อยากจะเอาใครไว้ในหมู่บ้าน คุณก็บอกว่าไอ้คนนี้เป็นผีปอบ เดี๋ยวมันก็ต้องไป นี้คือการขจัดคนออกไปจากเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้ว ปอบของเขาคืออะไรก็ไม่ทราบ แต่โบราณเขาใช้ปอบเป็นเครื่องมือในทางสังคมอย่างหนึ่ง แต่ความเป็นปัจเจกในสังคมปัจจุบันนี้ทำให้ไปรอด ไม่ใช่เฉพาะในเมืองที่เห็นชัดเจนอยู่แล้ว ผมไปทำงานของผม คนอื่นไปทำงานของเขา ต่างคนต่างไป ผมไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันอีกต่อไป ต่างคนต่างอยู่ได้ และไม่ใช่เฉพาะในเมืองเท่านั้น แม้แต่ในชนบทที่ห่างไกลเวลานี้ ปัจเจกก็ไปรอด ไปดูในหมู่บ้านไกลๆ ถามว่าทำอะไรกินกันบ้าง กระจุกหนึ่งทำอย่าง กระจุกหนึ่งอีกทำอย่าง ไม่ได้เป็นสังคมอันหนึ่งอันเดียวกันแบบสมัยก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนที่เป็นปัจเจกก็สามารถเอาตัวรอดได้ ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมจึงไม่จำเป็นต้องถูกกำกับโดยศีลธรรม 

ความคาดหวังของสังคมต่อเราก็แตกต่างกันด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้เลย ถ้าคุณต้องการสังคม คุณจะทำตัวยังไงก็ได้ เพราะสังคมปัจจุบันคุณซื้อได้ ถ้าเหงาอยากจะมีเพื่อน อยากจะเข้าสังคมอะไร คุณก็ใช้เงินฟันฝ่าเข้าไปได้หมด เพราะฉะนั้นเงินจึงเข้ามาแทนที่มนุษยสัมพันธ์ ทำไมจะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ ทำไมจะต้องไปแคร์ต่อระบบความสัมพันธ์ที่มีต่อคนอื่นๆ คุณมีเงินซะอย่าง อะไรๆ ก็สะดวกสบายหมด โดยไม่ต้องห่วงเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมอีกเลย 

ปัจจุบันนี้ศีลธรรมทั้งหลายจึงแยกออกไปจากชีวิต คุณดำเนินชีวิตได้โดยไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคม ซ้ำร้ายไปกว่านั้นบรมธรรมก็ไม่เกี่ยวอีกเหมือนกัน เพราะว่าบรมธรรมถูกตัดถูกแยกออกไปแต่ต้นแล้ว ต่างคนต่างมี มีก็ได้ไม่มีก็ได้ เรื่องของคุณ บรมธรรมไม่เกี่ยว ศีลธรรมก็ไม่เกี่ยวกับชีวิตอีก มนุษย์ในปัจจุบันจึงเป็นพลเมืองที่เคารพกฎหมาย ภาษาฝรั่งเรียก ลอว์ อะไบดิ้ง ซิติเซน (law abiding citizen) เป็นพลเมืองที่เคารพกฎหมาย แต่ไม่มีความสุข แล้วพร้อมจะเสียคน ถ้าคิดว่าตัวสามารถหลุดรอดออกไปจากเงื้อมมือกฎหมายได้ คุณเสียคนได้ทันที เพราะว่าหนึ่ง ไม่มีความสุข สอง คุณพร้อมที่จะไปในทางที่ยังไงก็ได้ ตราบเท่าที่คุณจะสามารถซื้อกฎหมายได้หรือหลุดรอดไปจากกฎหมายได้ 

ทีนี้ปัญหาคือว่า เราจะเอาศีลธรรมกลับคืนมาได้อย่างไร ผมคิดว่าคำตอบของผมคงตรงกับคนอื่นๆ ทุกคนที่จะพูดถึงเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นหัวข้อสัมมนาในวันนี้ แต่คำว่าการศึกษาหมายถึงอะไร ผมคิดว่ามันต้องหมายถึงอย่างน้อย ๓ อย่าง ที่มีความสำคัญ

หนึ่ง แน่นอนการศึกษาในระบบโรงเรียน มหาวิทยาลัย 

สอง ซึ่งผมคิดว่าสำคัญกว่าอันที่หนึ่งคือ การศึกษานอกระบบ นอกระบบหมายความว่ายังไง นอกระบบแล้วต้องเป็นระบบให้ได้หรือเปล่า ไม่เกี่ยวนะ หมายความว่าเวลาที่พูดถึงการศึกษานอกระบบ บางทีคนที่เป็นนักการศึกษาจะไปคิดถึงเรื่องสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หรือว่าโรงเรียนสารพัดช่าง นอกระบบซึ่งพยายามทำให้มันเป็นระบบอย่างยิ่งเลยนี้ ไม่ใช่ ผมหมายความว่า การพบปะพูดคุยกับคนนี่ก็ถือเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง และสาม สื่อ

จริงๆ นอกระบบที่ผมพูดถึงนี่ ผมคิดว่ามนุษย์เราเรียนรู้กับชีวิตเราเองมากกว่าในห้องเรียน แล้วทำไมเวลาเราพูดถึงการศึกษาในเมืองไทย จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษาในชีวิตของคนสักเท่าไหร่ หรือพูดถึงการศึกษาโดยไม่เคยนึกถึงสื่อเลย คนในโลกปัจจุบันเรียนรู้จากสื่อมากกว่าห้องเรียน จริงๆ เด็กตั้งแต่อนุบาลมา เรียนอะไรนอกห้องเรียนมากกว่าในห้องเรียนเสมอ เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงการศึกษาต้องหมายความถึง ๓ อย่าง คือ ทั้งในระบบด้วย การศึกษาในชีวิตด้วย และสื่อด้วย ๓ อย่างด้วยกันเป็นอย่างน้อย

ใน ๓ อย่างนี้ เราเรียนอะไร ไม่ว่าจะเป็นในสื่อก็ตาม ไม่ว่าในชีวิตจริงที่เราสัมพันธ์กับผู้คนก็ตาม ที่เรียนรู้ในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัยก็ตาม เราเรียนรู้วิทยาการเพื่อสะสมวัตถุนะครับ อย่างที่ท่านพุทธทาสบอกว่าเป็นการศึกษาแบบหมาหางด้วน คือไม่มีทิศทาง เราเรียนเพื่อที่จะสามารถครอบครอง เป็นเจ้าของได้ยิ่งมากยิ่งดี เราไม่เคยเรียนหนังสือเพื่อให้มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีขึ้น เราไม่ได้เรียนหนังสือเพื่อให้เรามีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ที่แวดล้อมให้ดีขึ้น เราเรียนหนังสือเพื่อให้ตัวเรามีความสามารถในการที่จะครอบครองวัตถุ เข้าถึงวัตถุต่างๆ ได้มากที่สุด เราไม่เคยเรียนหนังสือเพื่อที่จะเข้าถึงบรมธรรม ไม่ว่าคุณจะเป็นอิสลาม เป็นคริสต์ เป็นพุทธ คุณไม่ได้สนใจ เพราะบรมธรรมเกือบจะไม่ได้เกี่ยวข้องในการศึกษาเลย ผมไม่เคยเห็นตำราศีลธรรมเล่มไหนของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็กมาถึงปัจจุบันที่จะอธิบายเรื่องพระนิพพาน สังขตธรรม อสังขตธรรมให้เด็กเข้าใจว่า มันอะไรกันแน่วะ เพราะถือว่าสิ่งเหล่านี้สูงเกินกว่าที่เด็กควรจะต้องรู้ จึงตัดออกไปเลย

 ผมจะพูดประเด็นนี้เพียงแค่นี้ เพราะทุกครั้งที่พูดเรื่องการศึกษาก็จะต้องวนมาเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา เรียนพุทธ วัตถุนิยมอะไรต่างๆ นานา เพราะฉะนั้นจะไม่พูดมากไปกว่านี้อีก แต่อยากจะพูดอีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะมีคนพูดถึงน้อย คืออยากจะให้คิดถึงสิ่งที่เราเรียกว่าวิทยาการ ซึ่งเราเรียนรู้กันอยู่ในทุกวันนี้ ถามว่า สิ่งที่เรียกว่าวิทยาการหรือวิชาการคืออะไรกันแน่ จุดมุ่งหมายของวิชาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในยุโรป มันเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านบรมธรรมของศาสนาคริสเตียน ชัดเจนตั้งแต่ต้นเลย คงทราบว่ามหาวิทยาลัยรุ่นแรกๆ ในหลายประเทศในยุโรปตั้งใจไปเปิดให้ไกลโพ้นจากเมืองหลวง เพื่อจะหนีจากอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน หนีจากอำนาจของพระ เพื่อจะสามารถสอนสิ่งที่อยากสอนได้สบายๆ เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกที่จะต่อสู้กับบรมธรรมของคริสต์ศาสนา 

เพราะฉะนั้นวิทยาการทั้งหลายที่สืบมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ อันที่หนึ่ง มันไม่มีบรมธรรม ไม่ต้องการ ไม่สนใจ อันที่สองคือว่า อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ มันเอาวัตถุเป็นตัวตั้ง หมายความว่ามองความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ในเชิงวัตถุ และถือว่าความสัมพันธ์ที่เป็นเชิงวัตถุเท่านั้นที่เป็นความจริง ถ้าคุณไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ใดๆ ที่เป็นเชิงวัตถุได้แล้ว สิ่งนั้นไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ เช่น มรรค ๘ กับพระนิพพาน คุณไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมรรค ๘ กับพระนิพพานในเชิงวัตถุได้ ถูกไหม เชิงวัตถุหมายความว่า คุณเอาน้ำเทลงไป แรงดึงดูดของโลกย่อมดึงให้น้ำตกลงไปที่พื้นดิน ไม่ลอยขึ้นไปสู่ฟ้า อย่างนี้เป็นความสัมพันธ์เชิงวัตถุใช่ไหม เห็นได้ชัดๆ เลย แต่คุณลองอธิบายว่ามรรค ๘ กับพระนิพพานสัมพันธ์กันยังไงในเชิงที่เป็นวัตถุ เราทำไม่ได้ ฉะนั้นวิทยาการสมัยใหม่จะถือว่า ถ้าคุณเชื่ออย่างนี้ก็เชื่อไป แต่พิสูจน์ไม่ได้ 

เพราะฉะนั้นลักษณะของสิ่งที่เราเรียกว่าวิทยาการที่ศึกษากันมาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนกระทั่งถึงมหาวิทยาลัยนั้น จริงๆ แล้วคือการศึกษาสองอย่าง อย่างที่หนึ่ง การศึกษาที่มันกำเนิดมาและยังเป็นอยู่ คือต่อต้านบรมธรรม หรืออย่างน้อยสุดคือไม่สนใจมัน กับสอง การศึกษาสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่มีความสัมพันธ์ในเชิงวัตถุ ถึงแม้สิ่งนั้นไม่ใช่วัตถุก็ตาม 

สังคมไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ เป็นต้นมา เราเริ่มคบกับฝรั่งมากขึ้น เริ่มเปิดรับสังคมสมัยใหม่ มากขึ้น จะเผชิญการท้าทายได้อย่างไร คำตอบโดยสรุปคือ ปัญญาชนในประเทศไทยเอาพุทธศาสนาไปมองในแว่นของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เอาวิทยาศาสตร์มามองในแว่นของศาสนาพุทธ อันไหนที่วิทยาศาสตร์ส่องไม่เห็น ก็อย่าไปเน้นมัน ไม่พูดถึงมันเสีย เช่น พระนิพพาน การรังเกียจพระนิพพานไม่ได้เกิดขึ้นหลัง ๒๔๗๕ นะ ถ้าคุณไปอ่านประชุมสภาหลัง ๒๔๗๕ คุณจะพบคำพูดของ สส. สมัยนั้นแยะมากเลยที่แนะนำกระทรวงศึกษาธิการให้ไปบอกพระว่า อย่าสอนเรื่องพระนิพพาน คำพูดว่าอย่าสอนเรื่องพระนิพพานมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ แล้ว เพราะว่ามันไม่ค่อยเป็นประโยชน์

เมื่อไหร่ที่คุณเอาแว่นวิทยาศาสตร์ไปส่องพุทธศาสนา แล้ววิทยาศาสตร์มองไม่เห็นพระนิพพาน คุณก็อย่าไปสอนมัน อย่าไปเน้นมัน เพราะว่ามันอาจจะผิด คุณจะได้สะดวกในการเรียนรู้วิทยาการแผนใหม่ที่แยกออกไปต่างหากจากศีลธรรม กลายเป็นวิชาที่ไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงหรือไม่มีศีลธรรมเป็นฐานความรู้ คุณไม่ต้องรู้ศีลธรรม ก็สามารถเรียนรู้เคมี ฟิสิกส์ รู้อะไรต่างๆ ได้อย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้นเวลาคุณบอกว่า ให้เพิ่มวิชาศีลธรรมให้มากขึ้น เพิ่มคะแนนให้มากขึ้น บอกให้เด็กไปวัด ตราบเท่าที่ตัวศีลธรรมหรือบรมธรรมไม่ได้เป็นฐานของการแสวงหาความรู้ ไปวัดก็แค่นั้น เท่ากับคุณเพิ่มชั่วโมงเคมี เพิ่มชั่วโมงประวัติศาสตร์ เพิ่มชั่วโมงวรรณคดี ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย

ในสมัยหนึ่งทั้งในยุโรป ในประเทศไทย ในที่ไหนก็เหมือนกันหมด คุณจะเรียนรู้อะไรก็แล้วแต่ ฐานของความรู้คือศีลธรรม ในเชียงใหม่มีปราชญ์ชาวบ้านคนหนึ่งตัดกระดาษเก่งมาก ทำตุง ก่อนหน้าที่จะสอนวิธีตัดกระดาษ ท่านสอนใจก่อน ลูกศิษย์ที่มาถึงใจมันร้อน จะเอาให้ได้ ท่านยังไม่สอน ทำให้ใจสงบก่อน ถึงจะตัดกระดาษได้ ความรู้ของคนสมัยก่อนต้องวางอยู่บนฐานของบรมธรรม ถ้าคุณไม่วางอยู่บนฐานนี้คุณเรียนรู้อะไรไม่ได้ แต่ความรู้สมัยใหม่ไม่ใช่ คุณสามารถจะเรียนสิ่งนั้นได้โดยไม่ต้องมีฐานอะไรเลย เพราะฉะนั้นผมคิดว่า เวลาเราพูดว่าเด็กๆ สมัยนี้ไม่มีศีลธรรม อย่างนั้นเรียนศีลธรรมให้มากขึ้น ก็เหมือนกับเรียนเคมีให้มากขึ้น เรียนชีวะให้มากขึ้น ไม่ได้แตกต่างอะไรกัน มันคนละประเด็น

นอกเรื่องนิดหน่อย เมื่อเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นฮินดู ไม่ว่าจะเป็นศาสนายิว หรือแม้แต่ศาสนาคริสเตียนเอง ทุกศาสนาเผชิญกับการท้าทายของโมเดิร์นนิตี้หรือโลกสมัยใหม่เหมือนกันหมด ผมอยากจะพูดว่าการตอบสนองของพุทธไทยไม่มีพลัง ถ้าเราย้อนกลับไปดูตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ลงมา ไม่มีพลังในการที่ว่าคุณจะอยู่ยังไงในท่ามกลางโลกที่ถูกครอบงำด้วยความเป็นสมัยใหม่แต่อย่างใดทั้งสิ้น ในศาสนาอิสลามจะมีนักปราชญ์อิสลามจากปากีสถานบ้าง เช่น อิคบาล (Muhammad Iqbal) เป็นต้น ท่านสอนเลยว่า คุณจะไปเรียนวิทยาศาสตร์แบบนั้นไม่ได้ คุณต้องเรียนวิทยาศาสตร์ในเชิงที่จะรับใช้พระเจ้า คำว่ารับใช้พระเจ้าในความหมายของอิคบาล คือรับใช้เพื่อนมนุษย์ คุณจะเรียนเฉยๆ ไม่ได้ สิ่งนี้สำคัญยิ่งกว่าการรู้กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สำคัญน้อยกว่าตัวฐานว่า คุณเรียนไปทำไม อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณไปดูปัญญาชนยิว ฮินดู อิสลาม คริสต์เอง การตอบสนองต่อการท้าทายของโมเดิร์นนิตี้จะแตกต่างกันอย่างมาก ผมคิดว่าปัญญาชนไทยไม่กล้าแตะวิทยาศาสตร์ ไม่กล้าบอกว่าศาสนาพุทธไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ไม่ตรงกับวิทยาศาสตร์แบบนั้น จนถึงท่านพุทธทาสจึงกล้าบอกว่าไม่ใช่ วิทยาศาสตร์แค่นี้ไม่พอที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ แต่ก่อนหน้านั้นไม่เลย จะพยายามเอาแว่นวิทยาศาสตร์มาส่องศาสนาพุทธตลอด 

ฉะนั้นผมคิดว่าการที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางศีลธรรมในโลกปัจจุบันนี้จึงไม่ง่าย ยากมากๆ ไม่ง่ายแบบชนิดว่า เพิ่มชั่วโมงสอน เอาเด็กไปวัด เพราะว่าโลกสมัยใหม่ที่เป็นอริเป็นศัตรูกับบรมธรรมก็ตาม การแยกชีวิตออกจากศีลธรรมก็ตาม มันอยู่ในโครงสร้างความรู้ การที่คุณไปเรียนปริญญาเอก ถ้าพูดภาษาคริสเตียน คุณเรียนวิชาของซาตานนะ คุณไปเรียนวิชาของพวกมารโดยตรงเลยทีเดียว คือวิชาที่ปฏิเสธหรือไม่สนใจบรมธรรม ไม่ต้องการให้ฐานของความรู้ตั้งอยู่บนศีลธรรม สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในโครงสร้างของสังคมด้วย เพราะฉะนั้นถึงคุณไม่ยอมเรียนในโรงเรียน คุณมาเรียนข้างนอกก็เป็นแบบเดียวกัน เจอคนคุยกับคุณ ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่คุณเรียนรู้จะเป็นลักษณะเดียวกับที่ปรากฏในโรงเรียนนั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากมาก ต้องคิดถึงเรื่องนี้ให้ดีๆ อย่าคิดง่ายๆ แค่เพียงแต่ว่าเพิ่มชั่วโมง หรืออื่นๆ อย่างที่พูดๆ กัน

ที่สำคัญที่สุดที่ผมคิดว่ายังไม่มีคนทำในเมืองไทยทั้งที่เริ่มมีคนทำในต่างประเทศเยอะแล้ว พอสมควร คือคุณต้องสร้างวิชาการที่ไม่งอกออกมาจากการต่อต้านบรมธรรม ผมเคยใฝ่ฝันอยากเห็นมากๆ คือมหามงกุฎฯ มหาจุฬาฯ เลิกที่จะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือธรรมศาสตร์เสียที แต่เป็นมหาจุฬาฯ จริงๆ เป็นมหามงกุฎฯ จริงๆ คือสอนวิชาที่มีฐานอยู่บนบรมธรรมของพุทธศาสนา ปัจจุบันนี้เขาทำเยอะแยะไป ที่ฝรั่งเขียนและเรายกย่องนับถือกัน ชูมากเกอร์เขียน Small is Beautiful (จิ๋วแต่แจ๋ว) ก็ชื่นชมกัน คาปราเขียน เต๋าแห่งฟิสิกส์ (Tao of Physics) ก็ชื่นชมกัน นี่คือฐานที่คุณจะเอาไปสร้างวิชาความรู้ของโลกสมัยใหม่ที่มีฐานอยู่บนบรมธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นของพุทธหรือของใครก็แล้วแต่ ผมคิดว่านี่เป็นการท้าทาย แล้วอย่าหยุดอยู่แค่เพียงเศรษฐศาสตร์ ฝรั่งทำแค่เศรษฐศาสตร์ใช่ไหม ผมว่าต้องไปให้ถึงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติให้ได้ด้วย ไปถึงการแพทย์ให้ได้ด้วย คือไม่ใช่แต่เพียงเทคนิควิธี ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเราต้องยอมรับแพทย์แผนโบราณโดยเอาการนวดเข้ามา เอาอะไรเข้ามา อย่างนั้นก็โอเค แต่นั่นมันแค่เทคนิควิธี ตัวฐานความรู้สำคัญกว่า ต้องไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้ ถ้าไม่ถึงตรงนั้น สังคมไทยจะเหมือนสังคมสมัยใหม่ทั้งหลาย คือศีลธรรมมีหน้าที่เหมือนลิปสติกเอาไว้ทาปาก แต่สังคมไทยแต่งตัวจัดจ้าน จะทาหนากว่าสังคมอื่นๆ แยอะ 

อันที่สองที่ผมคิดว่าต้องคิดให้มากขึ้น ผมคิดว่ากระบวนการทางสังคมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เราไม่สามารถพูดถึงศีลธรรมโดยไม่คิดถึงชุมชน ศีลธรรมจะสามารถทำงานได้ต่อเมื่อมีคนอื่นๆ ลองคิดดูซิ ถ้าเรามีอยู่คนเดียว ไม่เห็นจะต้องมีศีลธรรม อย่างน้อยที่สุด คุณไม่ได้เป็นชู้เมียใครแน่ๆ เพราะคุณอยู่คนเดียว ไม่รู้จะโกหกใคร อย่างนี้เป็นต้น ศีลธรรมเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อต้องมีชุมชน และปัจจุบันนี้ผมคิดว่าชุมชนแบบเก่าของเราที่มีคนอยู่ในสถานที่เดียวกัน สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนและมีปฏิสัมพันธ์กัน สิ่งนี้กำลังหายไป ซึ่งไม่แปลกอะไร เพราะสังคมต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่ชุมชนแบบใหม่ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทั้งหมด ยังไม่สามารถทำงานในแง่ศีลธรรมได้ ตรงนี้มีความสำคัญ ผมไม่ได้หมายความว่าต้องคอยจับผิดว่าใครฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ใครโกหก แต่หมายความเป็นต้นว่า เอายายไฮก็ได้ คงได้ยินข่าวใช่ไหม ยายไฮที่ทุบเขื่อน จนในที่สุดได้ที่คืนมาหรือต้องยอมชดใช้ให้เขา ยายไฮเป็นสมาชิกสมัชชาคนจนอยู่นาน แล้วไม่สามารถจะเอาชนะรัฐบาลที่ดื้อด้านต่อกันมาหลายรัฐบาลได้ ในที่สุด ยายไฮเลยตัดสินใจทุบเขื่อนด้วยมือของตนเอง เพื่อจะให้ติดคุกก็ติด แต่ก่อนหน้าจะทุบเขื่อนยายไฮมาหาสมัชชาคนจนเพื่อขอลาออก อิฉันไปด้วยไม่ได้แล้ว เพราะสมัชชาคนจนช่วยได้แค่นี้ ก็เห็นใจสมัชชาคนจน เพราะฉะนั้นขอไปทุบเขื่อนด้วยมือตนเอง ผมถือว่านี่เป็นศีลธรรม เพราะว่าคุณมีพันธะผูกพันกับสมัชชาคนจนเป็นเวลานาน คุณไปทำแบบนั้นอาจจะกระทบต่อสมัชชาคนจนได้ในแง่ของการเคลื่อนไหวในทางการเมือง เพราะฉะนั้นก่อนที่คุณจะทุบคุณต้องมาบอกก่อน ผมถือว่านี่คือศีลธรรม แล้วมันมีศีลธรรมได้ไง ก็เพราะมันมีชุมชนไง สมัชชาคนจนมันเป็นชุมชนแบบใหม่ ไม่ใช่ชุมชนแบบเก่านะ ชุมชนแบบใหม่ที่ทำงานทางด้านนี้ยังมีน้อย คือเริ่มเกิดขึ้นแยะ แต่ที่มาทำงานทางด้านศีลธรรมได้ต้องเป็นอย่างนี้ ซึ่งยังมีน้อย และผมคิดว่าเราไม่สามารถจะพูดถึงศีลธรรมได้โดยที่ไม่พูดถึงชุมชน

สรุป คือ ถ้าเราพูดถึงเรื่องกระบวนการเรียนรู้ทางศีลธรรมของสังคมปัจจุบัน ต้องคิดถึงการทำให้ชุมชนแบบใหม่สามารถทำงานได้ พูดแล้วจะหาเรื่องโกรธกันอีกก็ได้ เช่น สันติอโศกก็เป็นชุมชนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญในแง่ที่ว่าต้องเปิดให้ชุมชนเหล่านี้ทำงาน เพราะว่าถ้าไม่มีชุมชนเหล่านี้ มันทำงานทางศีลธรรมไม่ได้ คุณจะเห็นด้วยหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าศีลธรรมทำงานได้ต่อเมื่อมีชุมชน

ขอบพระคุณมากครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 29, 2019, 04:31:55 pm โดย 時々होशདང一རພຊຍ๛ »
ชิเน กทริยํ ทาเนน


ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: รู้ - เห็น
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 06, 2010, 08:21:39 pm »
 :13: อนุโมทนาครับพี่กัลยา
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~