อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า
ฐิตา:
วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า
โดย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการแสดงธรรมะปาฐกถา อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว
ขอให้ทุกคนอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
ขณะนี้อากาศเริ่มร้อน ญาติโยมคงจะรู้สึกร้อน ร้อนผิวกายเพราะอากาศมันทำให้ร้อนก็ได้เย็นก็ได้
หน้าหนาวก็ทำให้รู้สึกหนาว หน้าร้อนก็รู้สึกว่ามันร้อน อันนี้มันเป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศ
ซึ่งเป็นไปตามจักราศี หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ในปีหนี่งเราก็พบฤดูร้อน ฤดูฝน ไปเจอกันฤดูหนาวกับภาคกลาง
แต่ว่าทางภาคใต้นั้นมีแต่ร้อนกับฝนเท่านั้น เวลาหนาวคนก็บ่นว่าหนาว เวลาร้อนก็บ่นว่าร้อน
ตอนไหนที่จะดีนั้นดูเหมือนว่าจะหายากสำหรับมนุษย์เราทั้งหลาย เคี่ยวเข็ญในเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา
ร้อนไป ก็ไม่ดี หนาวไปก็ไม่ดี ฝนตกมากก็ไม่ดี เลยก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนทางใจ
เพราะไม่พอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยเฉพาะในเรื่องดินฟ้าอากาศ แต่ว่าความร้อนความหนาวที่เกิดขึ้นนั้น
สมัยนี้โลกมันเจริญด้วยวิทยาศาสตร์ ก็มีการปรับปรุงได้ เช่นร้อนไปก็เปิดพัดลมได้ แต่เปลืองไฟนิดหน่อย
หนาวไปก็มีเครื่องทำให้อุ่นได้สำหรับเมืองหนาว
แต่ถ้าหนาวหนักเกินไปก็ทำไม่ไหวเหมือนกัน ร้อนหนักไปก็ทำไม่ไหว
ความร้อนในเมืองไทยเรานี้ความจริงก็ไม่รุนแรง
สู้ความร้อนในประเทศอินเดีย หรือในประเทศตะวันออกเขาไม่ได้ มันร้อน มันร้อนที่สุด
อากาศร้อนนี้ร้อนเหลือทน ร้อนจนปวดหัว ถ้าใครคิดจะฆ่าตัวตายนี่ไม่ลำบากในประเทศนั้น
เวลาแดดเปรี้ยงๆ ออกจากบ้านเดินฝ่าแดดไป ไม่ถึงสามกิโลก็เรียบร้อย อีแร้งได้กินเท่านั้นเอง
เพราะความร้อนทำให้เป็นลมชักดิ้นชักงอไป
ในหน้าหนาวถึงจะไปเดินตากหนาวมันก็ไม่ตาย คนในอินเดียเขาไม่ตายหน้าหนาว ตายน้อย
แต่พอถึงฤดูร้อนแมลงวันก็ชุม ยุงก็ชุม โรคระบาดก็ชุมคนก็ตายกันมาก เพราะอาศัยความร้อนที่เกิดขึ้นทางร่างกาย
แต่ว่าความร้อนทางร่างกายนี้ก็ไม่รุนแรงอะไร สู้ความร้อนทางจิตใจไม่ได้
ความร้อนทางใจนั้น ทำให้กายร้อนมากขึ้น แต่ถ้าใจไม่ร้อนสิ่งทั้งหลายก็เรียบร้อย
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องช่วยทำใจให้ สบายไว้ อย่ามันร้อนมากเกินไป
ใจจะร้อนก็เพราะอะไร ก็เพราะมีไฟเกิดขึ้นในใจ เรียกว่าไฟกิเลส
เพราะฉะนั้นที่เราสวดมนต์ว่า พระพุทธเจ้าท่านดับไฟเพลิงกิเลสทุกข์ได้สิ้นเชิง ดับเพลิงกิเลสได้แล้วก็ดับเพลิงได้
ถ้าดับเพลิงกิเลสไม่ได้เพราะฉะนั้นเรื่องความร้อนใจนี่ จึงหนักกว่าความร้อนทางกาย แม้ว่ากายจะร้อน
ถ้าใจเย็นแล้วมันก็เหมือนกับไม่ร้อน แต่ถ้าใจร้อนแม้กายเย็นก็เหมือนกับร้อน เช่น เราร้อนอกร้อนใจ
นั่งอยู่ในห้องปรับอากาศ ก็ยังร้อนใจอยู่นั่นเอง ร้อนใจนี่จึงสำคัญกว่าร้อนกาย
เป็นเรื่องที่เราจะต้องแก้ไขความร้อนทางจิตใจ ความร้อนทางจิตใจเกิดจากไฟคือกิเลส ที่มาแผดเผาใจให้เร่าร้อน
ฐิตา:
ในพระสูตรทางพระพุทธศาสนามีพระสูตรหนึ่งเรียกว่า อาทิตตปริยายสูตร ถ้าจะพูดกันไปแล้ว เรียกว่า
สูตรที่สามที่พระพุทธเจ้าท่านแสดง คือพระสูตรแรกที่ทรงแสดงก็คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร
ตรัสกับพวกปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เป็นการสอนทดสอบ ว่า
คนเหล่านั้นได้เข้าใจในเรื่องที่พระองค์เข้าใจหรือไม่ จะรู้ในเรื่องที่พระองค์ได้รู้มาหรือไม่
เป็นการสอนแบบทดสอบก่อน แต่ว่าได้ผล คือท่านทั้งห้าที่นั่งฟังอยู่นั้น ได้ความรู้ความเข้าใจชัดเจนถูกต้อง
องค์หนึ่ง คือท่านพระโกณทัญญะ พระพุทธเจ้าจึงแถมชื่อให้ข้างหน้า ว่า "อัญญาโกณทัญญะ"
ก็เนื่องมาจากความรู้นี่แหละ คือเมื่อเห็นว่ารู้ พระองค์ก็บอกว่า อัญญาสิ วต โภ โกณทัญโญ
แปลว่า โกณทัญญะรู้แล้ว โกณทัญญะรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ก็เลยเติมชื่อให้ข้างหน้าว่าอัญญาโกณทัญญะ นั่นคือ
ผลของการเทศน์ครั้งแรก ท่านทั้งห้าเข้าใจความหมายธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงเพียงรูปเดียว
ทีนี้ต่อมาก็แสดงพระสูตรที่สองเรียกว่า อนัตตลักขณสูตร
พระสูตรนี้พูดถึงเรื่องอนัตตา อันเป็นธรรมะสูงสุดทางพระพุทธศาสนา
เป็นการอบรม วิปัสสนาญาณให้แก่ท่านทั้งห้านั่นแหละ คือปัญจวัคคีย์ แต่ว่าองค์แรกได้รู้เพราะธัมมจักร
อีกสี่องค์ก็สอนไป หลายวันสอนอบรมบ่มนิสัยอีกสี่วัน แล้วก็ได้บวชเช่นเดียวกันมีความรู้ความเข้าใจเหมือนกัน
แล้วก็ควรจะอบรมบ่มวิปัสสนาญาณให้แก่กล้า เพื่อพ้นทุกข์ พระองค์จึงได้เทศน์อนัตตลักขณสูตร
เรื่องเกี่ยวกับอนัตตา คือ สิ่งหลายไม่มีตัวตน รูปเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา
วิญญาณเป็นอนัตตา เรื่องอนัตตาที่เราสวดเมื่อตะกี้นี้แหละเราสวดว่า รูปัง อนัตตา
นั่นคือข้อความจากพระสูตรอันที่สอง ที่พระผู้มีพระภาคแสดงในคราวนั้น
ครั้นต่อมาก็ได้ตรัสสูตรที่สาม พระสูตรที่สามนี้เกี่ยวกับความร้อน เรียกว่าอาทิตตปริยายสูตร
สูตรที่เปรียบด้วยความร้อน ทำไมจึงได้ตรัสเรื่องนี้ เรื่องร้อนๆ ก็เพราะว่า ผู้ฟังนั้นเป็นคนชอบของร้อน มาก่อน
พวกที่ชอบของร้อนมาก่อนนี่ก็คือ ชฎิลสามพี่น้องที่เป็นหัวหน้าพร้อมด้วยบริวารอีกจำนวนหนึ่ง
มีรวมกันทั้งหมดตั้งพันรูป ชฎิลสามพี่น้องนี้ เป็นคนมีเกียรติมีชื่อเสียงในด้านวิชาการ
ถ้าในสมัยนี้ก็ เรียกว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ เป็นคนเคารพนับถือของมหาชนในเมืองราชคฤห์
หรือในแคว้นมคธก็ว่าได้ พระองค์จะไปสอนประชาชนในแคว้นนั้น
ถ้าปราบหัวโจกลงไม่ได้ การสอนก็จะมีปัญหา ยังมีคนขัดคอกันเรื่อยไปไม่จบสิ้น
เพราะฉะนั้นจะต้องไปปราบหัวโจกเสียก่อน เหมือนกับเราปราบโจรต้องปราบโจรใหญ่ก่อน โจรเล็กๆ ไม่ยาก
เมื่อโจรใหญ่ถูกปราบโจรเล็กก็หมอบราบคาบแก้วไปเอง วิธีการของพระพุทธเจ้านี้ ก็เหมือนกัน
อันนี้ขอแทรกนิดหน่อยว่า พระพุทธเจ้าของเรานั้น ทรงกระทำกิจการงานด้วยปัญญา ไม่ใช่ทำเฉยๆ แต่ว่าใช้ปัญญา
มีแผนการมีวิธี ว่าจะทำอย่างไรให้งานมันสะดวก
ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง ในระหว่างคนทั้งหลาย ที่พระองค์จะสั่งสอนต่อไป
ฐิตา:
ทีนี้คนในสมัยนั้น มีความเคารพผู้ใหญ่ เคารพนักบวชที่มีชื่อเสียง
เคารพพระราชามหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจในราชอาณาเขต เคารพเศรษฐีผู้มั่งคั่งมีทรัพย์สมบัติ
คนสามพวกนี้เป็นที่เคารพของมหาชน เมื่อจะไปสอนมหาชน ก็ต้องไปสอนคนที่เขาเคารพเสียก่อน
คนที่เขาเคารพมากที่สุดก็คือนักบวช เพราะพวกนักบวชนี้ไม่กระทบกระเทือนอะไรกัน ไม่มีปัญหา
ไม่มีเรื่องขัดแยังกันในทางผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การเศรษฐกิจอะไรๆ ทั้งนั้น เพราะนักบวช
เป็นพวกที่ปลีกตัวออกจากความวุ่นวาย เพื่อดูความวุ่นวายทั้งหลาย แล้วคิดว่าจะแก้ไขเขาอย่างไรต่อไป
เพราะฉะนั้นในคนที่ชาวบ้านนับถือสามคนก็ต้องเอานักบวชก่อน เพราะว่าเป็นที่เคารพของมหาชนทั่วๆ ไป
พระองค์จึงได้ไปเริ่มที่จะสั่งสอนในแคว้นมคธ ก็เห็นว่ามีสามคนนี้เป็นหัวโจกใหญ่
แล้วก็สามคนนั้นเป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน ก็ต้องไปสอนพี่ชายเสียก่อน เพราะว่าพี่ชายนั้นเป็นที่เคารพของน้อง
ถ้าสอนพี่ชายได้แล้ว น้องทั้งสองก็ไม่ต้องพูดมากให้เสียเวลา คงจะยกธงขาวได้ง่ายๆ
อันนี้เรียกว่า วิธีการของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเรื่องการที่จะไปสอนธรรมะ เพราะฉะนั้นก็ระลึกถึงว่า
อุรุเวลกัสสปก็เป็นคนสำคัญ ก็เป็นที่นับถือของมหาชน เรียกว่าเป็นชฎิลนักบวชชฎิลประเภทไม่โกนผม
แต่ไว้ผมยาวแบบฮิปปี้ แล้วก็เกล้าเป็นเชิงไว้บนหัว
พวกฮิปปี๊คงจะเอาอย่างชฎิลนั้นเอง เพราะว่ามันชอบพวกนี้เหมือนกัน
ในอเมริกามีนักบวชอินเดียไปเที่ยวตีกลองร้อนเพลง อะเรลามๆ พวกฮิปปี๊เดิมตามหลังเป็นแถวไปเลย
มันเห็นว่าแปลกดี พวกฮิปปี๊มันชอบอย่างนั้น แล้วก็แต่งเนื้อแต่งตัวมันพอเข้ากันได้ ฮิปปี๊ก็รุ่มร่าม
นักบวชพวกนั้นก็รุ่มร่ามเหมือนกัน ได้กล่องซักใบก็เที่ยวตีร้อง อะเรลามๆ พวกฮิปปี๊ก็ร้องลั่นเป็นแถวไป
กลายเป็นก๊กใหญ่ขึ้นมามันเป็นอย่างนั้น เรียกว่ามันพอเข้ากันได้ฝากับตัวคล้ายๆ กัน เท่าเทียมกัน
พระองค์ก็เสด็จไปสู่สำนักแรกของชฎิลคนหัวปี ซึ่งตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งแม่น้ำเนรัญชรา
แม่น้ำเนรัญชรามันก็ไหลผ่านเมืองคยา ไหลผ่านบริเวณต้นโพธิ์ แต่ว่าสูงขึ้นไปมันเป็นคุ้งๆ คือมันคดเข้าไป
ตั้งอยู่ที่เป็นแหลมน้ำมันเซาะ สร้างบ้านสร้างเมืองริมแม่น้ำ มันต้องเลือกชัยภูมิที่มันเป็นแหลมออกมา
ถ้าเว้าเข้ามาน้ำมันเซาะทุกปี ที่นั่นเป็นกาลกิณี อยู่ไม่ได้บ้านเมืองมันพัง แต่ถ้าโค้งอย่างนี้มันมีแต่จะยื่นออก
น้ำมันไม่เซาะ ชฎิลก็ตั้งหลักแหล่งที่นั่น ทำการบูชาไฟ
คือถือว่าไฟนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นของชำระชะล้างสิ่งสกปรกให้หายไป เช่นขยะมูลฝอยนี้ชำระด้วยไฟ
ศพตายก็เผาด้วยไฟ ไฟจึงเป็นเหมือนกับสิ่งชำระ เขาเลยจุดไฟแล้วนั่งกราบไหว้ ท่องคาถาอาคมเช่นว่า
ต้องว่าโอมอัคคี โอมอัคคนี ว่าไปตามเรื่องใจมันก็เป็นสมาธิเหมือนกัน เพราะตาเพ่งไปที่กองไฟ ใจก็สวดไป
ใจก็มีสมาธิมีความสงบ แต่ว่าไม่ก้าวหน้าในด้านปัญญา เพราะไปติดอยู่แต่เพียงความศักดิ์สิทธิ์
มีฤทธิ์มีเดชของสิ่งนั้น ไม่ได้ก้าวไปสู่ขั้นปัญญาต่อไป จิตมันอยู่เพียงเท่านั้นเอง เขาก็มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพ
และปรากฏว่าพวกนี้นับถืองูด้วย เอางูตัวใหญ่ๆ มาเลี้ยงไว้ในโรงบูชาไฟ แล้วมันอุ่นในโรงนั้น
งูชอบนอนสบาย อาหารก็มีกิน พระพุทธเจ้าก็ไปพบกับชฎิลนั้น
ฐิตา:
ครั้งแรกที่ชฎิลพบพระองค์นั้น ก็นึกชอบเหมือนกัน ชอบกิริยาท่าทาง ชอบความสง่าผ่าเผยสงบเสงี่ยม
แต่ว่ามีความหยิ่งอยู่ในตัว คือนึกว่าสมณองค์นี้ดูเข้าทีเหมือนกัน แต่ว่าคงจะไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนอย่างเรา
ว่าเสียอย่างนั้น เพราะว่าคนในสมัยนั้น ก็ฝันกันเรื่องพระอรหันต์นี้มาก อยากจะเห็นพระอรหันต์ คำว่าอรหัตต์
อรหันต์ ไม่ใช่เป็นคำใหม่ แต่ว่าเป็นสิ่งที่คนในอินเดีย ในสมัยนั้นอยากจะถึงอยู่เหมือนกัน จึงออกป่าปฏิบัติ
เพื่อจะให้ถึงธรรมะส่วนนี้ แล้วก็คงจะได้บ้างนิดหน่อย เช่นใจมันสงบขึ้น ก็นึกว่านี้แหละอรหันต์แล้ว
นี่แหละคุณธรรมของพระอรหันต์ แต่ว่ายังไม่ถึงจุดสุดยอด ก็นึกว่าตัวนี่เป็น สำคัญผิดไป
เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นพระพุทธเจ้า ก็สำคัญผิดไปว่าพระพุทธเจ้านี่เก่งแต่ไม่เหมือนเรา มันมีอัตตาอยู่ไม่รู้ตัว
เพราะนึกว่าตัวเก่งกว่าเขา ตัวไม่เก่งเหมือนเขา นี่มันเป็นอัตตา ยังทำลายตัวตนไม่ได้ มันเลยคิดอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าท่านก็เข้าไปอย่างสุภาพเรียบร้อย ไปถึงก็ไปขอพักอาศัย แล้วก็ชี้ไปที่โรงบูชาไฟเสียด้วย
พวกนั้นก็บอกว่าไม่ได้ ไปพักที่นั้นไม่ได้ เพราะนั่นมีงูพิษร้าย มีพญานาค ถ้าเข้าไปอยู่มันพ่นพิษใส่ก็ตายเท่านั้นเอง
พระองค์บอกว่าไม่เป็นไร เราอยู่ได้ ก็เลยเข้าไปอยู่ที่นั่น พวกนั้นก็นึกว่า ตายแล้ว ตื่นเช้าก็รีบมาดู
นึกว่าสมณะโคดมนี้ตายแล้วถูกพิษนาค แต่มาถึงเห็นสมณะนั่งหลับตาสงบอยู่
พวกนั้นก็นึกว่า เอะเก่งแฮะไม่เสียหายอะไร แต่ก็นึกว่ายังไม่เหมือนเรา ยังมีอยู่ ทิฏฐิมานะมันยังไม่คลาย
ยังนึกว่าตัวเองเก่งกว่าอยู่นั่นเอง มีวิธีหลายอย่าง
ที่นี้คราวหนึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ฝนตกหนัก ต้นน้ำไหลมาท่วมเจิ่งไปหมด พวกนั้นก็ตกใจ
นึกว่าสมณะโคดมคงจะสิ้นอายุแล้วเพราะน้ำท่วม หาเรือไปเที่ยวค้นคว้า
ผลที่สุดก็ไปเห็นพระองค์เดินจงกรมอยู่ในที่น้ำมันว่าง เดินจงกรมอยู่ พวกนั้นก็เลื่อมใสบอกว่า เก่งจริง
น้ำท่วมก็ยังไม่ตายนับว่าเก่ง เลยก็ยกนิ้วให้ ยอมเป็นศิษย์ เลยลอยเครื่องบูชาไฟ ลอยบริขารอะไรลอยหมด
โกนผมแบบชฎิลออก แล้วก็นุ่งผ้ากาสายะแบบพระพุทธเจ้า เป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา ชนะไปด่านหนึ่งแล้ว
น้องชายกลางอยู่คุ้งน้ำที่สอง นั่งอยู่บนกุฏิ มองไปเห็นอะไรลอยอยู่เยอะแยะ นั่นมันเครื่องสังขารของพี่ชาย
ถ้าจะเกิดโจรปล้นแล้ว เลยพาบริวารมา มาถึงเห็นพี่ชายนั่งอ่อนน้อมหมอบราบอยู่แทบเท้าพระพุทธเจ้า
ก็ไม่ถามอะะไรแล้ว เพราะไว้ใจพี่ชายมีปัญญามีความคิดมีความอ่าน เมื่อไปยอมตนเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็นับว่าเก่ง เลยลอยบริขารอีกเหมือนกัน โกนผมโกนเคราเข้าบวชในพระพุทธศาสนา
น้องชายคนที่สามก็ทำอาการเช่นกัน ผลที่สุดก็เลยบวชหมด ทั้งหัวหน้าทั้งบริวารก็เป็นพันหนึ่งพอดี
ฐิตา:
พระองค์เห็นว่าท่านเหล่านี้ได้บวชได้เรียนแล้ว
ก็ควรจะได้มีการอบรมบ่มนิสัย ให้เข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ลึกซึ้งต่อไป จึงได้นำเดินลงมาทางไต้
เดินมาตามกระแสน้ำ มาถึงที่เนินบริเวณหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้เมืองคยา มันเป็นเนินสูงกว้างเรียบ
ธรรมชาติมันแต่งไว้อย่างนั้น แล้วก็อยู่ติดฝั่งน้ำ นั่งตรงนั้น แล้วเห็นกระแสน้ำไหลไป น่าดู
แต่ว่าในสมัยนี้ถ้าไปนั่งตรงนั้นก็ไม่น่าดู เพราะว่าน้ำมันไม่มี แม่น้ำมันตื้นเขินเพราะถูกทำลายต้นน้ำ
เห็นแต่ทรายแล้วก็มีกระแสน้ำน้อยๆ ไม่น่าดูเท่าใด
สมัยพระพุทธเจ้าสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว น้ำมันล้นฝั่งไหลตลอดเวลาก็คงจะน่าดูไม่ใช่น้อย
เพราะพระองค์เลือกชัยภูมิที่เหมาะ เพื่อให้เป็นสัปปายะ หมายความว่า ให้สบายแก่คนที่จะฟังคนที่จะพูด
แล้วก็เป็นที่สงบเงียบ ไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน จึงนำภิกษุทั้งพันรูปไปสู่สถานที่นั้น แล้วก็ตรัสอาทิตตปริยายสูตร
ใจความในอาทิตตปริยายสูตรนี้ก็พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับความร้อน ขึ้นต้นว่า จกฺขุ ภิกฺขเว อาทิตฺตํ บอกว่า
ตาเป็นของร้อน รูปเป็นของร้อน ความรู้ทางตาคือจักษุวิญญาณเป็นของร้อน สัมผัสที่เกิดจากตา รูป วิญญาณ
เป็นของร้อน เวทนาที่เกิดจากตา รูป ความรู้ทางตา และผัสสะก็เป็นของร้อน
ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ
ในภาษาบาลีเรียกว่า ราคัคคิ ไฟคือราคะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ
อาทิตตปริยายสูตรนี้ ฟังแล้วมันเพราะเหมือนกัน ถ้าเรารู้ภาษาบาลีนิดหน่อย
นิมนต์พระท่านสวดสูตรนี้แล้วมันฟังเพราะ ภาษาที่ใช้สั้นๆ น่าฟังอยู่เหมือนกัน มีความเคลิบเคลิ้ม เสียงมันเพราะ
เขาจึงเอาสูตรนี้มาใช้สวดอยู่บ้างในเวลาเกี่ยวกับงานต่างๆ เช่น งานศพงานเศร้าโศก ทำบุญห้าสิบวัน อะไรเหล่านี้
ใช้สวดสูตรนี้เรียกว่า อาทิตตปริยายสูตร พูดถึง เรื่องความร้อนอันเกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อายตนะ
อายตนะแปลว่าที่ต่อ เครื่องต่อ มันไปต่อกับสิ่งภายนอก
อายตนะนั้นมีสองอย่าง เรียกว่า อายตนะภายใน อายตนะภายนอก อายตนะภายในก็อยู่ที่ตัวเรา
อายตนะภายนอกก็สิ่งที่อยู่ข้างนอก ซึ่งมันจะมาต่อกับของข้างในได้ เช่นรูปที่เป็นอายตนะภายนอก รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันนี้เป็นของภายนอก มาต่อกับภายในคือต่อกับของที่อยู่กับตัว รูปมาต่อเข้าที่ตา
เสียงมาต่อเข้าที่หู กลิ่นมาต่อเข้ากับประสาทจมูก รสมาต่อกับประสาทลิ้น โผฏฐัพพะมาต่อกับประสาททางกาย
ธัมมารมณ์มาต่อเข้ากับใจ เมื่อสิ่งเหล่านี้มาสัมผัสกันเข้า คือมาต่อกันเข้า
มันก็เกิดอะไรขึ้นอย่างหนึ่งในจิตใจของเรา เขา เรียกว่าเกิดวิญญาณ ความรู้ วิญญาณก็คือความรู้นั่นเอง
มีคนชอบถามว่าในทางพระพุทธศาสนา วิญญาณมีหรือไม่ ก็ตอบได้ตรงไปตรงมา ว่าวิญญาณมี
แต่เราต้องเข้าใจว่าวิญญาณนั้นคืออะไร ที่คนถามโดยมากมักจะสงสัยว่า วิญญาณที่ออกจากร่าง
หมายความ ตายแล้ววิญญาณออกไป ไปนั่นไปนี่ต่อไป หรือว่าเชิญวิญญาณมาพูดกันได้ อะไรอย่างนั้น
เขาก็สงสัยว่ามันจะเหมือนรูปนั้นหรือไม่
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version