แสงธรรมนำใจ > วัชรยาน

ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต โศลกสิบเจ็ดบทของปันเชนลามะ

(1/4) > >>

มดเอ๊กซ:



บทที่ ๑

ข้าและสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วทั้งจักรวาล ไม่มีเว้น
ขอยึดถือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
รวมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
ตราบกระทั่งบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ
ขอให้พวกเราจงหลุดพ้นจากความกลัวในชีวิตนี้
ในสภาวะรอยต่อแห่งชีวิต
และ ในชาติหน้าด้วย เทอญ


หนังสือเรื่อง ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต
เขียนโดย ทะไลลามะ
บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจฟฟรี ฮ้อปกินส์
แปลเป็นภาษาไทยโดย ธารา รินศานต์
บรรณาธิการภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง

มดเอ๊กซ:
หนังสือเล่มนี้ เป็นอรรถาธิบายโศลกสิบเจ็ดบทที่มีชื่อว่า "คำอธิษฐานเพื่อแคล้วคลาดจากอุปสรรคภยันตรายในสภาวะรอยต่อแห่งชีวิต ผู้กล้าที่หลุดพ้นจากความกลัว" ซึ่งปันเชนลามะองค์แรกชื่อโลชัง โชคยี เกียลเซนประพันธ์ไว้ ท่านผู้นี้เป็นพระอาจารย์ของทะไลลามะองค์ที่ ๕ ในช่วงศตวรรษที่ ๑๗

ท่านทะไลลามะองค์ปัจจุบันผู้เป็นองค์อรรถาธิบาย กล่าวนำไว้ว่า
"การจะหลุดพ้นจากภาพหลอนอันน่ากลัวขณะที่กำลังจะตาย และในระหว่างช่วงรอยต่อแห่งชีวิตนั้น เราต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในบทโศลก ซึ่งได้บอกวิธีการที่จะขจัดความกลัวเหล่านั้นเอาไว้อย่างลึกซึ้ง การพิจารณาดังกล่าวช่วยให้เราเรียนรู้ว่า ความตายเกิดขึ้นอย่างไร เป็นความรู้ที่มีประโยชน์ในระหว่างที่เกิดกระบวนการนั้นจริง ๆ ความตายคือช่วงเวลาที่จิตเบื้องลึกเผยตัวออกมา การเจริญมรณานุสติในชีวิตประวันยังช่วยเปิดประตูไปสู่สภาวะดังกล่าวด้วย"

โศลกเจ็ดบทแรก อธิบายถึงวิธีการรับมือกับความตาย

สามบทที่สอง อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการตายสี่ขั้นแรก

บทที่สิบเอ็ด พูดถึงโครงสร้างของกายและจิตตามหลักอนุตตรโยคตันตระ

บทที่สิบสองและสิบสาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าถึงประสบการณ์แสงกระจ่างของจิตเดิมแท้

สี่บทสุดท้าย พูดถึงสภาวะในช่วงรอยต่อแห่งชีวิต (ภายหลังจากสิ้นใจและก่อนที่จะไปสู่ชีวิตใหม่)

โศลกทั้ง ๑๗ บท นำเสนอวิธีการเตรียมตัวตายอย่างสมบูรณ์ โดยขจัดเหตุปัจจัยอันไม่พึงประสงค์ เอื้ออำนวยให้เกิดเหตุปัจจัยที่ดี รวมถึงการเรียนรู้วิธีที่จะปฏิบัติธรรมในขณะตาย การรับมือกับสภาวะในช่วงรอยต่อแห่งชีวิต ตลอดจนการกำหนดภพภูมิที่จะไปเกิดใหม่

มดเอ๊กซ:
คำอธิษฐานบทแรก ยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าผู้เป็นคุรุ โดยมีหมู่สงฆ์ที่เข้าถึงการรู้แจ้งขั้นสูงเป็นแบบอย่าง ค่อย ๆ ก้าวเดินไปบนมรรคาธรรมและการขจัดทุกข์นานา ค่อย ๆ ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่ขัดขวางการหลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร และที่ขวางกั้นญาณหยั่งรู้ กระทั่งได้บรรลุถึงพุทธภาวะ หลุดพ้นจากความกลัวทั้งหลาย เพื่อการช่วยเหลือผู้อื่นให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ได้เข้าถึงสภาวะสูงสุด

ยึดถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งในการตรัสรู้ เพื่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย

เป็นคำอธิษฐานเพื่อปัดเป่าความกลัวในชีวิตนี้ (กลัว)สภาวะรอยต่อแห่งชีวิต (กลัว)ชาติหน้า โดยยึดถือและคำนึงถึงผู้อื่นเป็นที่ตั้ง


บทที่ ๒

ขอให้เราได้เห็นคุณค่าความหมายของการเกิดมาในชีวิตนี้
ไม่หลงใหลเพลิดเพลินไปกับเรื่องที่ไร้แก่นสาร
เนื่องจากฐานที่ดี อันยากที่จะได้มา
ทว่าง่ายที่จะเสื่อมสลายไปนี้
ได้ให้โอกาสในการเลือกระหว่างคุณกับโทษ
ความสุขกับความทุกข์



คำอธิษฐานให้ตระหนักถึงความสำคัญของชีวิต โดยการเพ่งพิจารณาถึงคุณค่าและโอกาสอันยากลำบากกว่าที่จะได้เกิดมาในร่างมนุษย์นี้

จงตระหนักถึงคุณค่าที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรรมดีมากมายในอดีตชาติ รวมทั้งซาบซึ้งในความจริงที่ว่า เรามีโอกาสที่จะเรียนรู้หลักธรรมคำสอน และพร้อมนำไปปฏิบัติ

เนื่องจากเราสามารถใช้ชีวิตอันมีค่านี้ไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล หรืออาจสร้างหายนะใหญ่หลวง และชีวิตนี้ก็เปราะบางอย่างที่สุด ฉะนั้น จงใช้มันอย่างมีค่าเสียตั้งแต่ตอนนี้

ความสุขทางกายเป็นเพียงความสมดุลชั่วคราวของธาตุในร่างกาย มิใช่ความสอดคล้องกลมกลืนในระดับลึก จงทำความเข้าใจถึงความไม่เที่ยงของมัน

จิตที่ได้รับการอบรมขัดเกลาจะทำให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และมีสุข ขณะที่จิตอันว้าวุ่นจนไม่อาจควบคุม ทำให้เราจมจ่อมอยู่กับความกลัวและความวิตกกังวล แม้ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกจะดีเลิศเพียงใดก็ตาม จงตระหนักว่าบ่อเกิดของความสุขและสวัสดิภาพของเราขึ้นอยู่กับจิตที่ได้รับการฝึกจนสงบ ซึ่งจะยังอานิสงส์มหาศาลแก่คนรอบข้าง

(จากหนังสือเรื่อง ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย ทะไลลามะ บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจฟฟรี ฮ้อปกินส์ แปลเป็นภาษาไทยโดย ธารา รินศานต์ บรรณาธิการภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)

มดเอ๊กซ:
บทที่ ๓

ขอให้เราสำนึกว่าไม่มีเวลาที่จะสูญเปล่าอีกแล้ว
ความตายเป็นสิ่งแน่นอน เพียงแต่เวลาของมันนั้นไม่อาจรู้แน่
ที่พบพานย่อมพลัดพราก ที่สร้างสมไว้ย่อมหมดไป ไม่มีเหลือ
ที่สุดของการขึ้นย่อมตกต่ำลง ที่สุดของการเกิดคือความตาย


เป็นคำอธิษฐานเพื่อละวางความยึดมั่นในสังสารวัฏฏ์ ด้วยการมีสติระลึกรู้ในอนิจจังและความตาย

การเจริญมรณานุสติ จะช่วยให้เราใช้เวลาอย่างมีคุณค่ายิ่งขึ้น

จงระมัดระวังตัวไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมายาคติเรื่องความเที่ยง เราจะได้ไม่ผัดผ่อนการปฏิบัติธรรมออกไป

จงตระหนักว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะวิเศษล้ำเลิศสักเพียงใด ย่อมต้องมีจุดสิ้นสุดเป็นธรรมดา

อย่าคิดว่ายังมีเวลาเหลืออีก

จงเผชิญกับวาระสุดท้ายของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา หาหนทางอันแยบยลที่จะให้ผู้อื่นรับมือกับความตายของพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา อย่าหลอกลวงซึ่งกันและกันด้วยคำหวานในเวลาที่ความตายย่างกรายเข้ามา ความจริงใจจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจและความเบิกบาน

(จากหนังสือเรื่อง ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย ทะไลลามะ บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจฟฟรี ฮ้อปกินส์ แปลเป็นภาษาไทยโดย ธารา รินศานต์ บรรณาธิการภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)

มดเอ๊กซ:
บทที่ ๔

ขอให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์อันหนักหน่วงเนื่องจากสาเหตุการตายต่าง ๆ
เมื่อต้องอยู่ในโลกแห่งมิจฉาทิฏฐิว่ามีผู้รับรู้และสิ่งที่ถูกรับรู้
ร่างกายอันเป็นมายาซึ่งประกอบไปด้วยธาตุอันเป็นมลทินทั้งสี่
และวิญญาณ จะแยกสลายจากกัน


เป็นคำอธิษฐานขอไม่ให้ความทุกข์เข้าครอบงำในระหว่างที่สิ้นใจ

จงลงมือปฏิบัติเสียแต่บัดนี้ เพื่อว่าเมื่อวันสุดท้ายมาถึง เราจะได้คุ้นเคยกับการคิดถึงแต่เรื่องที่เป็นบุญกุศล

จงมองเห็นร่างกายเป็นโลกแห่งมิจฉาทิฏฐิจริง ๆ เพราะถึงมันจะดูสะอาดเมื่อเราชำระล้าง เป็นบ่อเกิดของความสุข ดูเที่ยงแท้ถาวร และอยู่ภายใต้ความควบคุมของเรา แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ มันเกิดจากธาตุทั้งสี่ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) มีความรู้สึกเจ็บปวด และเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะโดยตัวของมันเอง

ผู้คนและสรรพสิ่งดูเหมือนจะดำรงอยู่จริงด้วยตัวมันเอง และอวิชชาก็ทำให้เรายอมรับในปรากฏการณ์อันบิดเบือนนี้ จนเพิ่มพูนอารมณ์ฝ่ายต่ำของความโลภ โกรธ และหลง ยิ่งขึ้น อารมณ์เหล่านี้จะนำไปสู่กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่เป็นอกุศล อันจะทำให้กระบวนการเวียนว่ายดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด พึงเข้าใจว่าเราอยู่ในโลกแห่งมิจฉาทิฏฐิ

(จากหนังสือเรื่อง ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย ทะไลลามะ บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจฟฟรี ฮ้อปกินส์ แปลเป็นภาษาไทยโดย ธารา รินศานต์ บรรณาธิการภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version