วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม

ปฏิจจสมุปบาท (dependent origination)

<< < (2/5) > >>

ฐิตา:


6. สาเหตุให้เกิดการกระทำกรรม

ตามปกติสามัญชนทั่วไปย่อมทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ถ้าทำกรรมดีกรรมดีก็จะนำไปสู่สุคติ มีความสุขกายสบายใจ ถ้าทำกรรมชั่วกรรมชั่วก็จะนำไปสู่ทุคติคือมีความลำบากเดือดร้อนใจ
ต่อไปนี้เป็นข้อความที่แสดงให้รู้ว่ากรรมที่กระทำลงไปแล้ว จะให้ผลเมื่อไรและบาปกรรมอาจจะล้างได้หรือไม่ ดังข้อความในพระสูตรนี้ว่า

“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย โลภ โทสะ โมหะ
...อกุศลมูล 3 อย่างเหล่านี้ เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของกรรมทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมที่กระทำด้วยโลภ เกิดจากโลภมีโลภเป็นเหตุเป็นปัจจัย กรรมที่กระทำด้วยโทสะ เกิดจากโทสะ มีโทสะเป็นเหตุเป็นปัจจัย
กรรมที่กระทำด้วยโมหะ เกิดจากโมหะ มีโมหะเป็นเหตุเป็นปัจจัย อัตภาพของบุคคลนั้นเกิดในที่ใดกรรมย่อมให้ผลในที่นั้น เมื่อกรรมที่ให้ผล เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมในที่นั้น ซึ่งอาจจะเป็นในชาติที่เกิดนั้น หรือในชาติถัดไปหรือในชาติต่อ ๆ ไปอีก
การกระทำที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำกรรมถือเป็นเพียงกิริยาอาการเท่านั้น ตัวอย่าง เช่น ท่านพระจักขุบาลตาบอดมองไม่เห็นเดินจงกรมเหยียบแมลงเม่าตายเป็นจำนวนมาก ภิกษุทั้งหลายเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นจึงนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้ตรัสกะ ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านจักขุบาลมิได้กระทำกรรมเพราะไม่มีเจตนาที่จะเหยียบสัตว์ให้ตาย
ในจูฬกัมมวิภังคสูตร พระพุทธองค์ทรงตอบคำถามของสุภมาณพ เกี่ยวกับผลร้ายผลดีต่าง ๆ 7 คู่ ว่า เนื่องมาจากกรรมคือการกระทำของสัตว์คือ

1. มีอายุน้อยเพราะฆ่าสัตว์ มีอายุยืนเพราะไม่ฆ่าสัตว์
2. มีโรคมากเพราะเบียดเบียนสัตว์ มีโรคน้อยเพราะไม่เบียดเบียนสัตว์
3. มีผิวพรรณทรามเพราะขี้โกรธ มีผิวพรรณดีเพราะไม่ขี้โกรธ
4. มีศักดาน้อยเพราะไม่ให้ทาน มีโภคทรัพย์มากเพราะให้ทาน
5. เกิดในตระกูลต่ำ เพราะกระด้างถือตัวไม่อ่อนน้อมและเกิดในตระกูลสูงเพราะไม่ถือตัว
6. มีปัญญาทรามเพราะไม่เข้าไปหาสมณพราหมณ์ เพื่อไต่ถามเรื่องกุศล อกุศล เป็นต้น
7.มีปัญญาดีเพราะเข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่องกุศล อกุศล เป็นต้น

หากพิจารณาโดยผิวเผินจะเห็นว่าอาจไม่เป็นความจริง เพราะบางคนประกอบอาชีพฆ่าสัตว์มีอายุยืนยาวก็มีมากคน แต่อำนาจของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อน กรรมทำในชาติก่อนอาจส่งผลให้ในชาตินี้หรือชาติต่อ ๆ ไป ดังได้กล่าวมาแล้ว

7. การให้ผลของกรรม

การให้ผลของกรรมนั้นอาจพิจารณาได้ 3 ระดับ คือ
1. ระดับคุณภาพของจิต
2. ระดับบุคลิกภาพและอุปนิสัย
3. ระดับภาพนอกหรือผลทางสังคม

1. ระดับคุณภาพของจิต
คนที่สั่งสมคุณงามความดีไว้คุณภาพของจิตจะมีความโน้มเอียงไปในทางที่ดีงามเสมอ มีความซื่อสัตย์สุจริต เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีน้ำใจไมตรีต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ ส่วนผู้ที่สั่งสมความชั่วไว้คุณภาพของจิตจะแข็งกระด้างมีความอิจฉาริษยาชอบนินทาว่าร้ายคนอื่นลักษณะของจิตมีสภาพมัวหมองต่ำทรามและไม่เป็นที่ชื่นชมยินดีของคนอื่น

2. ระดับบุคลิกภาพและอุปนิสัย
เมื่อคุณภาพของจิตสูง พฤติกรรมที่แสดงออกมาจะมีลักษณะนิ่มนวล มีเสน่ห์น่า คบหาสมาคมไม่เป็นคนก้าวร้าว มีความสุขุมเยือกเย็น คนที่ได้เข้าใกล้คบหาจะรู้สึกสบายอกสบายใจ ไม่ระแวงสงสัยกราบไว้ด้วยความสนิทใจ

3. ระดับภายนอกหรือผลทางสังคม
คนที่มีคุณภาพจิตดีและบุคลิกภาพดีย่อมจะเป็นแรงผลักดันให้ได้ ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นที่ยอมของสังคม ได้ตำแหน่งหน้าที่และเจริญก้าวหน้าในอาชีพของตน ตรงกันข้าม คนที่คุณภาพจิตต่ำก็จะได้รับความทุกข์ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ และการนินทาว่าร้ายต่าง ๆ จริงอยู่บางรายแม้ว่า เขาจะมีลาภ ยศ สุข สรรเสริญ เพราะกรรมตามยังไม่ทัน แต่ภายในจิตใจของเขานั้นก็ไม่แช่มชื่นเบิกบานมีแต่ความทุกข์ ทรมาน ทำนองหน้าชื่นอกตรม

ฐิตา:


อริยสัจจ์ 4 (The Four Noble Truths)

ความหมายของศัพท์
 
คำว่า อริยสัจจ์ ประกอบด้วย อริย + สัจจะ อริย แปลว่า ประเสริฐ สัจจะ แปลว่า ความจริง เมื่อรวมความเข้ากันแล้วมีความหมายว่า “ ความจริงอันประเสริฐ” ได้แก่ ความจริงอันเป็นของพระอริยะเจ้า หรือ ความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ผู้ศึกษาพึงทราบความเบื้องต้นก่อนว่า ความจริงหรือสัจจะนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ

1) สมมติสัจจะ ความจริงโดยการสมมติ
2) ปรมัตถสัจจะ ความจริงที่แท้จริง

อะไรคือความจริงโดยการสมมติ หากเราจะพิจารณาถึงสิ่งที่ชาวโลกที่เรียกขานกัน ไม่ว่าเป็นวัตถุ บุคคล สถานที่และสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา สิ่งดังกล่าวเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสมมติกัน ใช้เรียกกันเพื่อสื่อความหมายให้ตรงกัน จะได้ไม่เกิดความสับสนขึ้น และสิ่งดังกล่าวเหล่านี้เมื่อมองให้ลึกลงไปจะไม่มีอะไรเป็นความจริง ล้วนแต่เป็นสิ่งสมมติตั้งขึ้นชั่วครู่ชั่วคราว ก็จะแตกสลายสูญหายไปตามกาลเวลาและมิได้มีสาระแก่นแท้จริงเลย จึงเรียกว่า สมมติสัจจะ คือเป็นความจริงโดยการกำหนดสมมติ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “สมมติสัจจะ”

อะไรคือความจริงที่แท้จริง ได้แก่ ความจริงที่เป็นปรมัตถสัจจะ หรือความจริงสูงสุดเป็นความจริงที่แท้จริง ซึ่งมิได้เกิดจากการสมมติใด ๆ กล่าวคือไม่ว่าใครจะรู้เห็นหรือไม่ มันก็มีของมัน และก็เป็นอยู่อย่างนั้น เมื่อมีผู้รู้ความจริงนั้นเข้าก็นำมาประกาศบอกเล่าแก่บุคคล อื่น ๆ ต่อ ๆ กันไป อริยสัจจ์ 4 จัดเป็นปรมัตถสัจจะ เพราะเป็นความจริงที่แท้จริงและก็มีอยู่จริง ๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ จะลบล้างได้ และเป็นความจริงที่ประจักษ์แก่ทุกคนไม่มีการยกเว้น

หัวข้อแห่งอริยสัจจ์ 4

อริยสัจจ์ คือ ความจริงอันประเสริฐซึ่งเป็นของพระอริยเจ้านี้มี 4 ประการด้วยกันคือ
 
1.ทุกขสัจจ์ (Suffurring)
ความจริงคือความทุกข์ ได้แก่ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ซึ่งเรียกว่า ทุกขเวทนา กล่าวโดยประเภทมี 10 ประเภทคือ

1) นิพัทธทุกข์ คือทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ได้แก่ ความไม่สบายกายความไม่สบายใจอันเกิดจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น อากาศหนาว อากาศร้อน และสิ่งรบกวนอื่น ๆ เช่น ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ การนั่ง ๆ นอนนาน ๆ และยืนนาน ๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ล้วนทำให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น
2) พยาธิทุกข์ คือ ทุกข์ที่เกิดจากความป่วยไข้ ความไม่ปกติทางร่างกายอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง
3) สภาวทุกข์ คือทุกข์อันเกิดจากสภาพการณ์ต่าง ๆ เช่น การเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ชีวิตทุกชีวิตต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้
4) สันตาปทุกข์ คือ ทุกข์ที่เกิดจากความเร่าร้อนภายใน คือกิเลสตัณหาและราคะเผาไหม้จิตใจครุกกรุ่นอยู่ภายใน ต้องดิ้นรนขวนขวาย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการและผละออกไป ซึ่งสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาตามอำนาจของกิเลส
5) ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จรมา เช่น ความโศกเศร้าเสียใจอันเกิดจากความคิดถึงและเสียดายในสิ่งของที่หวงแหน

6 )อาชีวทุกข์คือทุกข์เกิดจากการทำมาหากินต้องต่อสู้อดทนขยันและเสี่ยงต่อภยันตรายต่างๆต้องตื้นเช้านอนดึกเพื่อหาอาหารและทรัพย์สินมาเลี้ยงตนเองและ
ครอบครัว
7 ) วิบากทุกข์ คือ ทุกข์ที่เกิดจากผลแห่งกรรมชั่ว ที่ตนได้ประกอบมา เช่น ถูกลงโทษทัณฑ์ หรือ เสียสิทธิ์ เสียชื่อเสียง และเสียสุขภาพจิต เป็นต้น
8 ) สหคตทุกข์ คือทุกข์ไปตามหรือทุกข์ติดตามได้แก่ทุกขลาภ (ทุกข์เกิดจากการได้มา) เช่น ได้รับตำแหน่งหน้าที่เกียรติยศ ทรัพย์สิน เงินทอง และอื่น ๆ ต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อรักษามันไว้ให้อยู่กับตนนานเท่านาน และหมั่นประคับประคองเอาใจใส่อยู่เสมอ จึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ยากลำบากตามมา
9 ) วิวาทมูลทุกข์ คือ ทุกข์เกิดจากการถกเถียงโต้แย้ง และเป็นศัตรูกัน เกิดการจองเวรล้างผลาญ ทุกข์ประเภทนี้เกิดขึ้นเสมอในสังคมใหญ่ ๆ แม้บางคนจะถือสันติสงบ กาย วาจา แต่อีกฝ่ายก็จะหาเรื่องใส่ร้ายป้ายสีและซุบซิบนินทาตามกิเลสของมนุษย์
10) ทุกขขันธ์ คือทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะมีขันธ์ 5 คือ ชีวิต ต้องประคับประครองประคบประหงมเอาใจใส่ต่อขันธ์ นั่นก็คือทุกข์จากการบริหารขันธ์ 5 นั่นเอง เช่น ต้องล้างหน้า แปรงฟัน ทาแป้ง แต่งตัว เมื่อมีความเจ็บป่วยก็ต้องพยาบาลรักษาให้หายเป็นต้น

อนึ่ง ทุกข์ในอริยสัจจ์กับทุกข์ในขันธ์ 5 มีความหมายกว้างแคบกว่ากัน ทุกข์ในขันธ์ 5 หมายถึง สภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้จำจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ส่วนทุกข์ในอริยสัจจ์ หมายถึง ทุกขเวทนา คือ ความเจ็บปวด ซึ่งเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตเท่านั้น

sithiphong:
แก่นแท้พระพุทธศาสนาครับ

โมทนาบุญทุกประการ

 :46:

ฐิตา:


2. ทุกขสมุทัยสัจจ์ (The cause of suffuring)

ได้แก่ ความจริงคือเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยากมี 3 อย่าง คือ

           1) กามตัณหา (อยากได้)
           2) ภวตัณหา (อยากเห็นหรืออยากให้เป็น, อยากให้อยู่) และ
           3) วิภวตัณหา (อยากไม่เป็น, อยากให้ผ่านพ้นไป)

...........1) กามตัณหา คือ ความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัส อันน่าปรารถนา น่าชอบใจ ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ
...........2) ภวตัณหาคือความอยากเป็นอย่างนั้นอยากเป็นอย่างนี้ที่ตนยังไม่เป็นและเมื่อได้เป็นแล้วก็อยากให้สิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจอยู่ในสภาพเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
...........3) วิภวตัณหาคือความอยากไม่เป็นหรืออยากไม่ให้เป็นอย่างที่มันเป็นอยู่อยากให้มันผ่านพ้นไปกล่าวโดยสรุปก็คือเกิดความเบื่อหน่ายในสภาพที่เป็นอยู่อยากให้มีการ
เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตัณหานี้เองเป็นตัวก่อให้เกิดทุกข์ ยิ่งมีตัณหาความทะยานอยากมากเท่าไร ความทุกข์ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณขึ้นเป็นเงาตามตัว

3. ทุกขนิโรธสัจจ์ (The cessation of suffuring)

ความจริง คือความดับทุกข์  ได้แก่ ดับตัณหาทั้ง 3 ดังกล่าว เมื่อตัณหาดับแล้วสภาพจิตก็จะเกิดความสะอาด (บริสุทธิ์) สว่าง (ปัญญา) และสงบ (สันติ) ขึ้นและเกิดความหลุดพ้นปลอดโปร่งและมีอิสระ นั่นก็คือจิตเข้าถึงนิพพาน คือสภาพที่จิตพ้นทุกข์อันเกิดจากอำนาจกิเลสการเดินทางแห่งชีวิตได้รรลุถึงเป้าหมายอันสูงสุดแล้ว

มีศัพท์ที่มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่านิโรธนี้เป็นจำนวนมาก เช่น

วิราคะ (สิ้นความกำหนัด)
วิมุตติ (หลุดพ้น)
วิโมกข์ (หลุดพ้น)
พุทธ (ตรัสรู้,รู้แจ้ง)
อรหันต์ (สิ้นกิเลส,ห่างไกลกิเลส)
นิพพาน (กิเลสสิ้น)
อนัตตา (ไม่มีตัวตน) ฯลฯ

4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (The way to the cessation of suffering)

ทางนำไปสู่ความดับทุกข์ บางทีเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งว่าเป็นทางสายกลาง
ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 หรือเรียกตามภาษาวิชาการว่า “อัฏฐังคิกมรรค”
นอกจากทาง 8 สายนี้แล้วไม่มีหนทางใด ๆ ที่จะนำชีวิตสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบแนวทางทางพ้นทุกข์ ซึ่งเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิด แล้วทรงนำมาประกาศสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้ตรัสรู้ตามทาง 8 สายดังกล่าวนี้ได้แก่ อริยมรรค 8 ประการ (The Noble Eighfold Path)

บทความจาก.. วิทยาศาสตร์และศาสนา 

อัจฉริยะ 2500 ปีที่ผ่านมา
สรรพสิ่งไม่มีตัวตนมันเป็นของสมมติ แต่มีอยู่จริงทั้งจักรวาล แต่มัน ไม่มีตัวตน
ถามว่า ถ้าอะตอมแยกได้อีก คือ อิเล็กตรอน โปรตรอน นิวตรอน
..ใน นิวตรอน ก็แยกไปอีก 3 คือ กลูออน อัปควาก ดาวควาก
เมื่อแยกสสารไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดของ..อะตอม ....คืออะไรระหว่าง...>>>>มีตัวตน กับ ไม่มีตัวตน
 
คำตอบ.คือ
1. อะตอม แยกๆๆๆไปแล้วยังมีเศษ หรือ ชิ้นส่วนเหลืออยู่ แสดงว่าเป็น อัตตา
สสารในจักรวาลมีตัวตน
2. อะตอมแยกๆๆๆไปแล้ว จนไม่มีอะไรเหลืออยู่ แสดงว่าเป็น อนัตตา
สรรพสิ่งในจักรวาลไม่มีตัวตนเป็นของว่างเปล่า

___________________________

สสาร คือ ทุกสิ่งทุกอย่างทางด้านกายภาพ(Physical)ทุกๆอย่างใน เอกภพ . พหุภพ

________________________________________________

สัพเพ ธัมมา อนัตตา. สรรพสิ่ง(ธรรมชาติ)ทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน
พระองค์ตรัสอย่างนั้น
ศัพท์ว่า ธรรม มาจาก ธร ธาตุ แปลว่า ทรงไว้ , ตั้งอยุ่ ,ดำรงอยุ่ , ฯลฯ

ธรรม หมายถึงอะไร (ท่านพุทธทาส)
นัยอันแรก คำว่า “ธรรม” นี้หมายถึง ธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่ ….
นัยที่ ๒ คำว่า “ธรรม” หมายถึง กฎของธรรมชาติ
นัยที่ ๓ นั้น คำว่า “ธรรม” หมายถึง หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติ
ให้ถูกตรงตามกฎของธรรมชาติ

  http://board.palungjit.com/f10/วิทยาศาสตร์และศาสนา-210546.html
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

แก้วจ๋าหน้าร้อน:
 :13: อนุโมทนาครับพี่แป๋ม^^

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version