แสงธรรมนำใจ > มหายาน

ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร ( พระสูตร ที่ผู้หญิงควรอ่าน )

<< < (2/3) > >>

มดเอ๊กซ:
8-9 ธรรมกายและความหมายแห่งสุญญตา

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า การพ้นทุกข์มิใช่การสิ้นสุดแห่งธรรมะ ด้วยเหตุใดหรือ เพราะพระธรรมกายของพระตถาคตนั้นได้ชื่อว่า 'เป็นที่สุดแห่งทุกข์' ไม่มีจุดกำเนิด มิได้ถูกสร้างขึ้น ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย เป็นอิสระจากความตาย เป็นนิรันดร์ มั่นคง สงบ อมตะ มีความบริสุทธ์จากภายใน เป็นอิสระจากอาสวะทั้งปวง ถึงพร้อมอยุ่ในธรรมชาติแห่งพุทธะอันมีจำนวนมากกว่าเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา มีความเปิดเผย เป็นอิสระและหยั่งมิได้ ธรรมกายแห่งพระตถาคตนี้ เมื่อยังไม่เป็นอิสระจากอาสวะเรียกว่า ตถาคตครรภ์

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ความรู้ในตถาคตครรภ์คือ รู้ในสุญญตาแห่งพระตถาคตเจ้า ตถาคตครรภ์เป็นสิ่งที่ไม่เห็น  ไม่ได้ยินมาก่อนโดยพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะ  เป็นสิ่งที่เข้าใจได้โดยตรง โดยพระผู้มีพระภาคเจ้า ความรู้ในสุญญตาแห่งตถาคตครรภ์นั้นมี 2 ชนิด ดังนี้

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์เป็นสูญจากกิเลสทั้งปวงที่ปกปิด และที่รู้ว่ายังไม่เป็นอิสระ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์มิได้เป็นสูญจากธรรมะแห่งพุทธะอันเปิดเผย มิอาจหยั่งได้ มีจำนวนมากกว่าเม็ดทราบในแม่น้ำคงคา และรู้กันว่าเป็นอิสระ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ความรู้แห่งสุญญตาทั้งสองแบบแห่งตถาคตครรภ์นี้ ย่อมทำให้เกิดศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยเฉพาะกันพระสาวกทั้งหลาย  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ความรู้ในสุญญตาของพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะยังข้องอยู่ในวัตถุทั้ง 4 (*) เมิ่อเป็นเช่นนั้น ทั้งพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะจึงไม่เห็นไม่เข้าใจมาก่อนในที่สุดแห่งทุกข์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงหยั่งถึงโดยตรงและทรงเข้าใจโดยถ่องแท้ และทั้งพระองค์ยังได้เอาชนะกิเลสทั้งปวง และได้พัฒนามรรคอันเป็นหนทางสู่การสิ้นสุดแห่งทุกข์"

* ได้แก่ความยึดมั่นว่าอนิจจังเป็นนิจจัง เป็นต้น

10 เอกสัจ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อริยสัจทั้ง 4 ประการนี้ สัจจะ 3 ประการยังนับว่าเป็นอนิจจัง มีสัจจะเดียวที่เป็นนิจจัง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะสัจจะทั้ง 3 นั้น ยังมีสังขารลักษณะ และอะไรก็ตามที่ยังมีสังขารลักษณะย่อมเป็นอนิจจัง สิ่งใดก็ตามที่เป็นอนิจจังย่อมมีธรรมชาติมายา ทุกสิ่งที่มีธรรมชาติมายาย่อมไม่เป็นจริง เป็นอนิจจัง และเป็นสรณะมิได้ ดังนั้นอริยสัจแห่งทุกข์ สมุทัย และมรรค นับว่าไม่จริงเป็นอนิจจัง และเป็นสรณะมิได้  พระผู้มีพระภาคเจ้า ในอริยสัจ 4 นี้ มีเพียงอริยสัจเดียวคือนิโรธ ซึ่งตัดขาดจากอาณาจักรแห่งสังขารลักษณะสิ่งใดที่ตัดขาดจากสังขารลักษณะย่อมเป็นนิจจัง สิ่งใดที่เป็นนิจจังย่อมไม่มีธรรมชาติมายา และสิ่งใดที่ปราศจากธรรมชาติมายาย่อมเป็นจริงเป็นนิจจัง และเป็นสรณะ ดังนั้น อริยสัจคือ นิโรธ จึงมีความจริงเป็นนิจจัง และเป็นสรณะ

11 - 12 เอกสรณะ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นิโรธอยู่เหนือการสัมผัสของสรรพสัตว์ทั้งหลาย มิอาจหยั่งได้ และทั้งมิได้อยู่ในขอบข่ายของความรู้ของพระสาวก หรือพระปัจเจกพุทธะ เปรียบดังคนตาบอดที่ไม่อาจเห็นรูปหรือทารกอายุ 7 วันที่ไม่เคยเห็นดวงอาทิตย์ เช่นเดียวกัน นิโรธ มิใช่อริยสัจที่สัมผัสได้โดยปุถุชนผู้ยังไม่เจริญ ทั้งมิใช่ความรู้ในขอบข่ายของพระสาวกหรือพระปัจเจกพุทธะ พระผู้มีพระภาคเจ้า 'ผัสสะของปุถุชนผู้ยังไม่เจริญ' เป็นศัพท์ที่ใช้ในทัศนะสุดขั้ว 2 ประการ 'ความรู้ของพระสาวกหรือพระปัจเจกพุทธะ' เป็นศัพท์ที่ใช้ในความหมายของความรู้บริสุทธิ์  'ทัศนะสุดขั้ว 2 ประการ'  เป็นศัพท์ที่ใช้ในการให้เหตุผลของปุถุชนผู้ยังไม่เจริญ ยังมีตัวตนมีที่ยึดมั่นอยู่ในเบญขันธ์ พระผู้มีพระภาคเจ้า  'ทัศนะสุดขั้ว'  มี 2 ประการนี้คืออะไร คือ อุจเฉททิฏฐิ กับ สัสสตทิฏฐิ ยังมีการมองเห็นว่า 'สังขารนั้นเป็นอนิจจัง' นี่อมเป็นอุจเฉททิฏฐิ และมิใช่ทัศนะที่ถูกต้อง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งถือว่า 'พระนิพพานเป็นนิจจัง' นี่เป็นสัสสตทิฏฐิ ย่อมมิใช่ทัศนะที่ถูกต้องเช่นกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า หากผู้ใดเห็นว่าร่างกาย ประสาทสัมผัส ความรู้สึก และความจำได้หมายรู้ เสื่อมลงในชีวิตปัจจุบัน และไม่สามารถเข้าใจและไม่สามารถค้นพบการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ทัศนะของเขาด้วยเหตุผลนั้นย่อมเป็นทัศนะที่สับสน เป็นอุจเฉททิฏฐิ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อบุคคลมีความสับสนในเรื่องวิญญาณ และไม่เข้าใจการสิ้นสุดชั่วขณะของวิญญาณ ทัศนะของเขาด้วยเหตุผลเช่นนั้น เป็นทัศนะแบบสัสสตทิฏฐิ พระผู้มีพระภาคเจ้า ในลักษณะนั้น ทัศนะที่ใช้เหตุผลประกาศว่า ควรจะเป็นเช่นนั้น เขาก็ยึดมั่นในอุจเฉททิฏฐิบ้าง หรือยึดมั่นในสัสสตทิฏฐิบ้าง เพราะทัศนะของเขาไปไกลกว่าความหมาย หรือไม่ถึงความหมาย หรือเป็นทัศนะที่มีลักษณะผสมปะปนกัน พระผู้มีพระภาคเจ้า สรรสัตว์ย่อมหลงไปในเบญจขันธ์ มีความคิดว่า อนิจจังเป็นนิจจัง ความทุกข์เป็นสุขอนัตตาเป็นอัตตา ความไม่บริสุทธิ์เป็นความบริสุทธิ์

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอบเขตของความรู้อันเป็นธรรมกายของพระตถาคตนั้น ไม่มีใครเห็นมาก่อน แม้โดยความบริสุทธิ์ของพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะ เมื่อสรรพสัตว์มีศรัทธาในพระตถาคต และสรรพสัตว์เหล่านั้นเข้าถึงพระองค์ด้วยความมั่นคง ความสุข อัตตา ความบริสุทธิ์ และไม่หลงผิดไป สรรพสัตว์เหล่านั้นมีทัศนะที่ถูกต้องทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะธรรมกายของพระตถาคตมีความสมบูรณ์ในความเป็นนิจจัง มีความสมบูรณ์อยู่ในความสุข มีความสมบูรณ์ในอัตตา และสมบูรณ์ในความบริสุทธิ์ เมื่อใดก็ตามที่สรรพสัตว์เห็นธรรมกายของพระตถาคตในลักษณะนี้ เรียกได้ว่าเขาเห็นถูกต้อง ผู้ใดเห็นถูกต้องนับว่าเป็นพุทธบุตร เกิดจากพระหฤทัย เกิดจากพระโอษฐ์ เกิดจากธรรมะ ผู้ปฏิบัตินี้เป็นเยี่ยงปรากฏของพระธรรมและประดุจเป็นทายาทแห่งพระธรรม

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  'ความรู้บริสุทธิ์" คือความรู้สมบูรณ์ของพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะ จึงนับเป็นความรู้บริสุทธิ์ ในเมื่ออริยสัจคือนิโรธนั้น มิได้อยู่ภายในขอบข่ายหรือเป็นวัตถุแห่งความรู้บริสุทธิ์ อริยสัจคือนิโรธนั้นมิใช่ขอบข่าย มิใช่วัตถุของผู้ที่มีความรู้เพียงอาศัย 4 (*) ด้วยเหตุใดหรือ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่เริ่มต้นในยานทั้งสามจะได้ไม่หลง และเข้าใจในความหมายที่แท้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอธิบายในอาศัย 4 แล้ว อาศัย 4 นี้เป็นโลกียะ  พระผู้มีพระภาคเจ้าสรณะเดียว คืออริยสัจนิโรธ เป็นเลิศในสรณะทั้งหลายในโลกกุตระ นั่น คืออาศัยที่แท้จริง นั่นคือสรณะ"

* สิ่งที่บุคคลพึงพัฒนา โดยยึดในอรรถะและมิใช่พยัญชนะ ยึดในธรรมะมิใช่ตัวบุคคล ยึดในความรู้ (ญาณ) มากกว่าสัมผัส ยึดในคัมภีร์อันมีความหมายเป็นที่สุดมหากกว่าความหมายรอง

13 ความบริสุทธิ์ภายในแห่งจิต

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  สังสารนั้นขึ้นอยู่กับตถาคตครรภ์ในความหมายที่เกี่ยวเนื่องในตถาคตครรภ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอธิบายว่า 'มันไม่มีขอบเขตในอดีต' เพราะมีตถาคตครรภ์ จึงเป็นปัจจัยให้พูดถึงเรื่องสังสาร พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยสังสารนี้ไม่ทันที่อายตนะแห่งสัมผัสจะผ่านไป ตถาคตครรภ์ก็ยึดถือในสัมผัสนั้น และนั่นเองคือสังสาร พระผู้มีพระภาคเจ้า ธรรมชาติทั้งสองคือการ 'ดับไป' และ 'การเกิด' เป็นศัพท์ที่สมมุติเพื่อใช้กับตถาคตครรภ์ พระผู้มีพระภาคเจ้า คำว่า 'ดับไป' และ 'เกิดขึ้น' เป็นศัพท์สมมุติที่ใช้ในโลก 'ดับไป' คือการดับของสัมผัส 'เกิดขึ้น'  คือการได้สัมผัสอีก แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์นั้นไม่มีเกิด ไม่มีตาย ไม่มีการดับสูญ เพื่อมาเกิดอีก ตถาคตครรภ์ไม่มีสังขารลักษณะ(คือไม่ประกอบขึ้น) ตถาคตครรภ์เป็นนิจจังมั่นคงเป็นนิรันดร์ ดังนั้นตถาคตครรภ์จึงเป็นผู้สนับสนุนเป็นผู้รักษา เป็นรากฐานแห่งสังขาร(แห่งธรรมชาติพุทธะ) อันไม่ปกปิดเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง และยิ่งไปกว่านั้น เป็นผู้สนับสนุน เป็นผู้รักษา เป็นรากฐานแห่งสังขารลักษณะภายนอกที่ปกปิด และรู้ว่ายังไม่เป็นอิสระ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หากไม่มีตถาคตครรภ์ แล้วย่อมไม่มีความต้องการที่จะพ้นทุกข์ ทั้งไม่มีความปรารถนา ความมุ่งมั่น และความศรัทธาในพระนิพพาน ด้วยเหตุไดหรือ ไม่ว่าอายตนะทั้ง 6  จะเป็นอย่างไร ไม่ว่าผัสสะอื่นจะเป็นอย่างไร ธรรมชาติทั้ง 7(*) มิได้คงอยู่เป็นไปเพียงชั่วขณะและไม่รับรู้ทุกข์ ธรรมชาติเหล่านี้จึงไม่สอดคล้องกับการหลีกหนีทุกข์ และไม่แสวงหาไม่ปรารถนาพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์มีปรมัตถ์สารรัตถะอันปราศจากจุดกำเนิดและปราศจากจุดจบ มีธรรมชาติที่ไม่มีเกิดไม่มีตาย และรับรู้ในทุกข์ ดังนั้น ตถาคตครรภ์จึงสมควรที่จะหลีกหนีทุกข์ และแสวงหานิพพาน

* คืออายตนะ 6 ได้แก่ วิญญาณที่เกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิญญาณที่ 7 คือวิญญาณที่ควบคุมการทำงานของมโนวิญญาณ และเป็นตัวรับรู้ธรรมะ ทางฝ่ายมหาสังฆิกะ เรียกวิญญาณที่ 7 นี้ว่า มูลวิญญาณ

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์ทั้งมิใช่อัตตา หรือสรรสัตว์ มิใช่วิญญาณ มิใช่บุคคล ตถาคตครรภ์มิได้อยู่ในขอบข่ายของสรรพสัตว์ผู้ตกอยู่ในข่ายความเชื่อเรื่องบุคคลก็ดี หรือผู้ที่ยึดอยู่ในทัศนะหนึ่งก็ดี หรือผู้ที่มีความคิดยึดติดอยู่ในสุญญตาก็ดี พระผู้มีพระภาคเจ้า ตถาคตครรภ์นี้ เป็นพีชะแห่งธรรมธาตุอันประเสริฐ เป็นพีชะแห่งธรรมกาย เป็นพีชะแห่งโลกุตรธรรม เป็นพีชะแห่งธรรมะอันบริสุทธิ์ภายใน

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ความบริสุทธิ์ภายในแห่งตถาคตครรภ์แปดเปื้อนด้วยกิเลสจรอยู่ในขอบข่ายของพระตถาคต ผู้ทรงเป็นนายอันมิอาจหยั่งได้ ด้วยเหตุใดหรือ วิญญาณบริสุทธิ์ เป็นเพียงชั่วขณะ ไม่แปดเปื้อนด้วยกิเลส และวิญญาณที่ไม่บริสุทธิ์ ก็เป็นเพียงชั่วขณะ ไม่แปดเปื้อนด้วยกิเลสเช่นกัน พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อกิเลสมิอาจแปดเปื้อนวิญญาณนั้นได้ ทั้งวิญญาณนั้นก็มิได้สัมผัสกิเลส ในลักษณะนี้วิญญาณซึ่งมีธรรมชาติที่ไม่ติดอยู่จะสัมผัสกิเลสได้อย่างไร พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่จริงแล้วมีทั้งกิเลสและวิญญาณที่แปดเปื้อน ดังนั้น ความหมายของคำว่ากิเลสที่แปดเปื้อนวิญญาณบริสุทธิ์ภายใน จึงเป็นเรื่องที่ยากแก่การเข้าใจ พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นที่ทรงมีพระเนตรและพระปัญญาหยั่งรู้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นรากฐานแห่งหลักธรรมทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้รู้ทั่ว และทรงเป็นสรณะ"

       ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงสดับพระนางศรีมาลาตรัสอธิบายเรื่องยากแก่ความเข้าใจ ทรงชื่นชมและมีพุทธดำรัสว่า

       เทวี เป็นเช่นนั้น ความหมายแห่งวิญญาณบริสุทธิ์ภายใน ในสภาพที่ยังข้องกิเลสนั้นเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจ หลักธรรมทั้งสองนี้ยากแก่การเข้าใจ วิญญาณที่บริสุทธิ์ภายในก็ยากแก่การเข้าใจ และความแปดเปื้อนของวิญญาณเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจ เทวี พระนางทรงเป็นเช่นเดียวกับพระโพธิสัตต์ ผู้เข้าถึงคำสอนอันยิ่งใหญ่(*) สามารถรังฟังหลักธรรมทั้งสอง เทวี พวกที่เหลือคือพระสาวก ยอมรับหลักธรรมทั้งสองเพียงเพราะศรัทธาในพระตถาคตเจ้า"

*หมายถึงต้องเป็นโพธิสัตต์ในภูมิที่ 8 ขึ้นไป เป็นโพธิสัตต์ที่ไม่หวนคืนแล้ว

มดเอ๊กซ:
บทที่ 4 การเข้าสู่เอกยานมรรค

14 พุทธบุตรแห่งพระตถาคตเจ้า

       "เทวี ไม่ว่าสาวกคนใดของพระตถาคตผู้มีศรัทธา และตั่งมั่นอยู่ในศรัทธา และด้วยการตั้งมั่นอยู่ในศรัทธานั้น มีความรู้ในขอบข่ายแห่งธรรมะ ย่อมเข้าถึงฐานะนี้ เทวี 'ความรู้ในขอบข่ายแห่งธรรมนั้น'  เป็น ก. ภาพตัวแทนของประสาทสัมผัสในจิต  ข. เป็นภาพการเจริญของกรรม  ค. เป็นภาพกาหลับของพระอรหันต์  ง. เป็นภาพความปีติและและความสุขในฌานของผู้ที่ควบคุมจิตดีแล้ว จ.เป็นภาพอิทธิฤทธิ์ของพระอริยะ อันเป็นของพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระโพธิสัตต์ผู้มีวศิตา เทวี เมื่อมีอำนาจในการเห็นภาพทั้ง 5 นี้แล้ว เขาเหล่านั้น แม้ในขณะนี้ หรือเมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว ในอนาคตย่อมเป็นสาวกผู้มีศรัทธา ตั้งมั่นอยู่ในศรัทธา ยึดมั่นในประทีปแห่งศรัทธา มีความรู้ในขอบข่ายแห่งธรรมะ ที่ทำให้เขาเข้าถึงความบริสุทธิ์ภายใน และเข้าใจในความแปดเปื้อนแห่งวิญญาณ เทวี ด้วยความแน่วแน่ของพวกเขาย่อมเป็นปัจจัยให้เขาอยู่ในมหายานมรรค เมื่อเป็นเช่นนี้ ด้วยศรัทธาในพระตถาคต เขาย่อมไม่ละวางในคำสอนอันสุขุม เขาย่อมยังประโยชน์ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย"

15 สีหนาทแห่งพระนางศรีมาลาเทวี

       พระนางศรีมาลากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ "ขออำนาจแห่งพระตถาคตเจ้า ให้ข้าพระองค์มีความสามารถในการเทศนาโน้มใจเพื่อสามารถอธิบายความหมายอันปราศจากมลทิน" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เทวี พระนางจงมีความสามารถในการเทศนาเถิด"

       พระนางศรีมาลาเทวีจึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า

        "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า กุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูลนั้นมี 3 ประเภทในการรักษาพระธรรมโดยไร้มลทิน และไม่ให้เสื่อมเสีย ก่อกำเนิดบุญกุศลและเข้าสู่มหายานมรรค ทั้ง3 ประเภทนี้มีใครบ้าง พระผู้มีพระภาคเจ้า ก. กุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูล ผู้มีความรู้ในพระธรรมโดยการพินิจพิจารณา  ข. กุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูล ผู้มีความรู้ในขอบข่ายของธรรมะ  ค. กุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูลผู้ถดถอยจาการเข้าถึงความรู้ในหลักธรรมอันประเสริฐ โดยคิดว่า 'ฉันไม่เข้าใจดอกความหมายอันลึกซึ้งนี้จะเข้าใจได้โดยพระตถาคตเจ้าเท่านั้น' และด้วยความยึดมั่นในพระผู้มีพระภาคเจ้าเช่นนี้ จนพระพุทธองค์ปรากฏในจิตบุคคลเหล่านี้ เป็นบุคคล 3 จำพวกของกุลบุตรกุลธิดาแห่งตระกูล

       "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ยังมีสรรพสัตว์ที่แตกต่างจากกุลบุตรกุลธิดา 3 จำพวกนี้ ที่หมกมุ่นอย่างจริงจังกันพระธรรมอันประเสริฐ แต่ยึดติดอยู่กับความคิดเห็นผิด ตั้งตัวเป็นครูและพูดมาก พระผู้มีพระภาคเจ้าขอให้ข้าพระองค์สามารถเอาชนะผู้ที่หันหลังให้กับหลักธรรมอันประเสริฐ และผู้ที่มีรากเหง้าอันชั่วร้ายของเดียรถีย์ ขอให้ข้าพระองค์เอาชนะรากเหง้าอันชั่วร้ายนี้โดยบารมีแห่งเทวดา มนุษย์ และอมนุษย์"

       เมื่อพระนางศรีมาลาเทวีได้กราบทูลขอพระราชทานเช่นนี้ ข้าราชบริพารของพระนางพากันก้มลงกราบแทบเบื้องพระบาทบงกชสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแก่พระนางศรีมาลาเทวีว่า "ประเสริฐแท้ ประเสริฐแท้ คำอธิบายของพระนางในวิธีการที่จะคุ้มครองตนเองให้อยู่ในหลักธรรม และคำอธิบายของพระนางในการเอาชนะศัตรูแห่งหลักธรรมอันประเสริฐ เหมาะกับกาลที่เดียว เทวี การถวายสักการะต่อพระพุทธเจ้าจำนวนแสนพระองค์ยังอัศจรรย์น้อยกว่าคำอธิบายของพระนางในความหมายนั้น"

       จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแผ่ฉัพพรรณรังสีต้องข้าราชบริพารทุกคน และส่องสว่างสูงขึ้นไปเทียมต้นตาล 7 ต้น แล้วทรงเหาะไปด้วยปาฏิหาริย์ยังทิศทางกรุงสาวัตถี ขณะนั้น พระนางศรีมาลาเทวีพร้อมข้าราชบริพารพากันประณมหัตถ์น้อมนมัสการตามทิศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไป เมื่อส่งเสด็จจนสุดสายตาแล้ว พระนางศรีมาลามีพระพักตร์เปี่ยมด้วยความปีติยินดี เช่นเดียวกับเหล่าข้าราชบริพาร ต่างแซ่ซ้องสาธุการพระพุทธบารมี แล้วคืนสู่กรุงอโยธยา

บทส่งท้าย

       เมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลังถึงสวนเชตวัน ทรงมีพระพุทธดำรัสให้พระอานนท์เถระเข้าเฝ้า และทรงระลึกถึงทิเวนทราสักระ(ท้าวสักกะเทวราช) ในขณะนั้น ทิเวนทราศักระก็ปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์ พรั่งพร้อมด้วยเทพยดาบริวาร เมื่อนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้มีพุทธาธิบายพระสูตรนี้ แก่ทิเวนทราศักระและพระอานนท์เถระ

       "เกาศิกะ จงรักษาพระสูตรนี้ไว้ เกาศิกะ จงอธิบายพระสูตรนี้แก่เทวดาทั้ง 33 องค์ อานนท์ เธอจงรักษาพระสูตรนี้ไว้ และอธิบายพระสตูรนี้แก่พุทธบริษัททั้ง 4 ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา"

       จากนั้น ทิเวนทราศักระได้กราบทูลสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระสุคตเจ้า พระสูตรนี้จักมีนามว่าอะไร และข้าพระองค์จะรักษาไว้ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า" พระโลกนาถตรัสตอบว่า "เกาศิกะ พระสูตรนี้ มีกุศลอนันต์ หากพระสาวกและพระปัจเจกพุทธะ มิอาจหยั่งรู้ มิอาจเข้าใจได้ แล้วสรรพสัตว์อื่นๆเล่า จะมิยิ่งไม่เข้าใจหรือ เกาศิกะ ในลักษณะเช่นนั้น พระสูตรนี้ละเอียดอ่อนและเป็นปัจจัยแห่งมหากุศล ดังนั้น ตถาคตจะให้นามพระสูตรนี้เพื่อแสดงความหมายถึงบารมีแห่งพระสูตร จงตั้งใจฟังและจดจำใส่ใจให้ดี" ทิเวนทราศักระและพระอานนท์เถระพร้อมกันกราบทูลพระพุทธองค์ว่า "ประเสริฐยิ่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์จักตั้งใจฟังพระพุทธบรรหาร" สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมีพุทธดำรัสว่า "ขอให้รักษาพระสตูรนี้ไว้โดยถือว่าเป็นคำสรรเสริญบารมีอันเที่ยงแท้ และกว้างใหญ่ไพศาลของพระตถาคตเจ้า
จงรักษาไว้ในฐานะที่เป็น 'มหาปณิธาน'
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นความปรารถนาอันยิ่งใหญ่อันเป็นที่รวมแห่งความปรารถนาทั้งปวง
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนของหลักธรรมอันประเสริฐมิอาจหยั่งได้
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนเพื่อเอกยานมรรค
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นอริยสัจอันหาขอบเขตมิได้
รักษาไว้ในฐานะเป็นคำสอนเรื่องตถาคตครรภ์
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนเรื่องธรรมกาย
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนลับในความหมายของสุญญตา
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนเอกสัจ
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนเรื่องเอกสรณะอันเป็นนิจจัง มั่นคง สงบ และนิรันดร์
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนเพื่อการก้าวสู่ขั้นสูงขึ้นไป
รักษาไว้ในฐานะที่เป็นคำสอนแก่พุทธบุตรที่แท้แห่งพระตถาคต
       เกาศิกะ รักษาไว้ในฐานะที่เป็นศรีมาลาเทวีสีหนาท  รักษาคำอธิบายทั้งหลายที่ปรากฏในพระสูตรนี้ อันจะช่วยขจัดความสงสัยตัดสินปัญหา ทำให้ความหมายสุดท้ายชัดเจน และเข้าสู่เอกยานมรรค เกาศิกะ ตถาคตขอมอบพระสูตรอันสอนถึงศรีมาลาเทวีสีหนาทนี้ไว้ในหัตถ์ของท่าน ตราบเท่าที่หลักธรรมอันประเสริฐยังวัฒนาการอยู่ในโลก ขอให้พระองค์ทรงท่องบ่นและสอนโลกทั้งทศทิศ"

       ทิเวนทราศักระทรงน้อมรับว่า "ประเสริฐแล้วพระพุทธเจ้าข้า" เมื่อได้น้อมรับพระสูตรนี้ต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าและท่องจำจนขึ้นใจ ทิเวนทราศักระ พระอานนท์เถระเจ้า และบริษัทในธรรมสภานั้น ทั้งเทวดา มนุษย์ อมนุษย์ พร้อมคนธรรพ์ พากันโมทนาสาธุการ ต่อพระพุทธดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า

จบ ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร เพียงนี้     

 :yoyo106:

http://www.mahayana.in.th/tmayana/พระสูตร/ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร.html

แก้วจ๋าหน้าร้อน:
 :13: อนุโมทนาครับพี่มด^^

ฐิตา:
 
 
 
 :02: :13:   ลิ้งค์ค่ะ  :45:

ตถตา:
เทวี เป็นเช่นนั้น ความหมายแห่งวิญญาณบริสุทธิ์ภายใน ในสภาพที่ยังข้องกิเลสนั้นเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจ หลักธรรมทั้งสองนี้ยากแก่การเข้าใจ วิญญาณที่บริสุทธิ์ภายในก็ยากแก่การเข้าใจ และความแปดเปื้อนของวิญญาณเป็นเรื่องยากแก่การเข้าใจ

อิอิ ทำความเข้าใจในความหมายเสียก่อน

ความบริสุทธิ์
ความข้อง
ความแปดเปื้อน

แล้วเอาความเข้าใจนั้น เข้าไปดูให้เห้นจริง
จะเข้าถึงใจ
อิอิ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version