แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
บทที่ 2 ธรรมเทศนาดุจกระแสเลือด ( โลหิตสูตร )
ฐิตา:
ในพระสูตรกล่าวว่า รูปกายของพระตถาคตไม่มีที่สุด และรูปกายเช่นนั้นก็คือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของพระองค์ ความเปลี่ยนแปลงที่ไร้ขอบเขตของรูปเป็นผลที่เนื่องมาจากจิต จิตสามารถที่จะแยกแยะทุกสิ่งได้ การเคลื่อนไหวหรืออิริยาบถใด ๆ ก็ตาม เกิดมาจากความรู้สึกทางจิตของเราทั้งสิ้นแต่จิตก็ไม่มีรูป ความรู้สึกของจิตก็ไม่ใช่ขอบเขตดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า รูปกายของพระตถาคตไม่มีขอบเขต รูปนั้นก็คือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของพระองค์นั่นเอง (ธรรมกาย)
รูปกายอันประกอบด้วยธาตุ 4 (24*) เป็นทุกข์ และเป็นที่ตั้งของความเกิดและความตาย แต่ธรรมกาย ( รูปแท้จริงหรือกายดั้งเดิม ) ดำรงอยู่โดยไม่แสดงตัวเพราะธรรมกายของพระตถาคตไม่เคยเปลี่ยนแปลง ( ความรู้สึกตัว )
( เชิงอรรถ 24* คือ องค์ประกอบทั้ง 4 ของวัตถุทั้งปวง รวมทั้งร่างกายนี้ด้วย ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ และ ลม )
พระสูตรกล่าวว่า “ บุคคลควรรู้จักธรรมชาติของพุทธภาวะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้ว ” พระคุณเจ้ามหากัสสปะ เป็นบุคคลแรก ( นอกจาก พระพุทธเจ้า ) ที่รู้แจ้งธรรมชาติของตน
ธรรมชาติของเราก็คือจิต จิตก็คือธรรมชาติของเรา ธรรมชาติก็เหมือนกันกับจิตของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ 25* พระพุทธเจ้าทั้งอดีตและอนาคต อุบัติมาเพียงเพื่อถ่ายทอดจิตชนิดนี้ นอกจากจิตชนิดนี้แล้ว ก็ไม่มีพระพุทธเจ้าในที่ไหนเลย
( 25* พระมหากัสสปะ หรือพระมหากัสสปเถระ เป็นพระสาวกองค์สำคัญองค์หนึ่งในเหล่าสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้า และได้เป็นผู้ยอมรับนับถือยกย่องให้ดำรงตำแหน่ง พระสังฆปรินายกองค์แรกของเซ็น ในประเทศอินเดีย ในคราวที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชูดอกไม้ขึ้น แล้วตรัสถามปัญหา ท่านกัสสปเถระได้ตอบโดยการยิ้ม และนั้นเป็นการสื่อความหมายแบบเซ็นเป็นครั้งแรก )
แต่ปุถุชนที่ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา ย่อมไม่รู้จักจิตของตนเองว่าเป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะเขามัวแต่แสวงหาแต่พระพุทธเจ้าภายนอก และถามอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ใดหนอ ?
อย่าหลงเพลินไปในจินตนาการอันหลอกหลอนเช่นนั้นอีกเลย ให้มารู้จักจิตของตนเองเท่านั้น นอกเหนือจากจิตนี้แล้วไม่มีพุทธะในที่อื่นเลย พระสูตรกล่าวว่า “ ทุกสิ่งที่มีรูปล้วนเป็นมายาหลอกลวง ” ท่านกล่าวไว้อีกว่า “ ท่านอยู่ที่ใดพุทธะก็อยู่ที่นั้น ” เพราะจิตของท่านก็คือพุทธะ อย่าใช้พุทธะบูชาพุทธะ
หากแม้พระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ 26* บังเอิญปรากฏขึ้นต่อหน้าท่านไม่จำเป็นต้องทำความเคารพ เพราะจิตของเรานี้เป็นความว่าง และไม่บันทึกรูปใด ๆ เอาไว้
( 26* พระโพธิสัตว์ เป็นอุดมคติของฝ่ายมหายาน หมายถึง ผู้ที่วางเงื่อนไข ความหลุดพ้นของตนเองไว้กับสรรพสัตว์ ส่วนพระอรหันต์นั้น เป็นอุดมคติของฝ่ายหินยาน หมายถึง ผู้ที่แสวงหาความหลุดพ้นด้วยตนเอง แทนที่จะนำจิตเข้าสู่สุญญตภาวะเหมือนพระอรหันต์ พระโพธิสัตว์กลับแผ่ขยายไปสู่ชีวิตอื่น ๆ อย่างไม่มีขอบเขต นั้นเป็นเพราะเขาเข้าใจแจ่มแจ้งว่าทุกชีวิตมีพุทธภาวะเหมือนกันหมด )
บรรดาบุคคลที่ยึดถือเอาตามปรากฏการณ์คือปีศาจ พวกเขาย่อมหลุดไปจากทางอริยมรรค จะหลงบูชามายาที่เกิดจากจิตอยู่ทำไม ? คนบูชาย่อมไม่รู้ คนที่รู้ย่อมไม่บูชา เพราะการบูชานั้นท่านต้องตกอยู่ภายใต้การสะกดของมาร
ฉันชี้ให้เห็นจุดนี้ เพราะเกรงว่าท่านจะไม่รู้สึกตัว*
( *คนที่มัวเคารพบูชาสิ่งภายนอกตัว มักจะหลงลืมความรู้สึกที่มีอยู่ในตัวเอง ไม่ให้ความสำคัญความรู้สึกที่มีอยู่ในตัวเอง …..ผู้แปลไทย)
เพราะธรรมชาติอันเป็นพื้นฐานของพุทธะ ไม่มีรูปใด ๆ อยู่เลย*
( *มโนภาพหรือจินตนาการเป็นภาวะแปลกปลอมที่เกิดขึ้นทีหลัง เหมือนรูปปรากฏขึ้นในกระจก …. ผู้แปลไทย)
จงรักษาความรู้สึกตัวนี้ไว้กับจิตเสมอ แม้ว่าบางสิ่งบางอย่างจะดูไม่เหมาะสมก็ตาม ก็จงอย่ายึดติดอย่าเกิดความขี้ขลาดหวาดกลัว อย่าสงสัยเลยว่าจิตของท่านมีความบริสุทธิ์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จะมีห้อง ( หัวใจ ) ห้องไหนว่างสำหรับรูปเช่นนั้นอีก ?
ฐิตา:
ขณะเดียวกันเมื่อภูตผีปีศาจหรือเทวดา 27* ปรากฏขึ้นก็อย่าคิดเคารพหรือหวาดกลัว เพราะจิตของท่านเป็นจิตว่างมาแต่เดิม ปรากฏการณ์ทั้งปวงล้วนเป็นมายาภาพ อย่ายึดมั่นถือมั่นเอาตามปรากฏการณ์
( 27* หมายถึง ชีวะที่แยกออกจากร่างกาย Demons คือเหล่าเทพเจ้าทั้งหลาย รวมทั้งเทพบนฟ้า (เทวดา ) ในทะเล (นาค ) และบนพื้นพิภพ ( ยักษ์ ) Devine Being คือ พระอินทร์ เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และพระพรหมคือผู้สร้างสรรพสิ่ง )
เมื่อท่านได้พบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือพระโพธิสัตว์ 28* และคิดจะเคารพท่านเหล่านั้น ท่านก็ผลักไสตนเองไปสู่ภูมิปุถุชน
( 28* หมายถึง องค์ประกอบทั้งสามประการ อันเป็นที่พึ่งของชาวพุทธ เรียกว่าพระรัตนตรัย พระธรรม คือคำสอนของพระพุทธเจ้า บุคคลที่ปฏิบัติตามคำสอนเหล่านั้น เรียกว่าพระสงฆ์ หรือพระโพธิสัตว์ ตามทัศนคติฝ่ายมหายาน )
ถ้าท่านแสวงหาความไม่ยึดมั่นถือมั่นเอาปรากฏการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นก็ตาม ท่านจะประสบความสำเร็จ
ฉันไม่มีคำแนะนำอย่างอื่น พระสูตรกล่าวว่า “ปรากฏการณ์ทั้งปวงเป็นมายาภาพ มายาภาพเหล่านี้ไม่มีภพที่แน่นอน ไม่มีรูปที่ถาวร เป็นสภาพที่ไม่เที่ยงแท้ ( อนิจจัง ) อย่ายึดมั่นกับปรากฏการณ์ทั้งหลาย แล้วท่านจะเป็นหนึ่งเดียวกับพุทธะ ”
พระสูตรกล่าวว่า “ สิ่งซึ่งเป็นอิสรภาพจากรูปทั้งปวง คือพุทธภาวะ ”
แต่ทำไมเราจึงบูชาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์กันอีกเล่า ?
ภูตผีปีศาจเป็นเจ้าของอำนาจแห่งปรากฏการณ์ อำนาจเหล่านี้สามารถสร้างมโนภาพพระโพธิสัตว์ให้ปรากฏขึ้นด้วยรูปจำแลงชนิดต่าง ๆ แต่ก็เป็นพระโพธิสัตว์ปลอม ไม่มีใครเป็นพุทธะจริง ( ด้วยมโนภาพ ) เพราะพระพุทธเจ้าที่แท้จริงคือจิตของเราเอง อย่านำการบูชาของท่านไปในทางที่ผิด
พุทธะ เป็นศัพท์สันสกฤตแทนคำที่ท่านเรียกว่า “ สติสัมปฤดี ” คือ ตื่นตัวอย่างปาฏิหาริย์ คือ อาการยินยอมน้อมรับด้วยความรู้สึกตัวในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น การพับตา เลิกคิ้ว เคลื่อนไหวมือและเท้า ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมชาติแห่งการตื่นอย่างปาฏิหาริย์ของท่าน และธรรมชาตินี้ก็คือจิต จิตนี้ก็คือพุทธะ และพุทธะก็คือมรรค มรรคก็คือเซ็น 29*
( 29* คำว่า เซ็น เดิมใช้ว่า ธฺยาน ซึ่งเป็นศัพท์กรรมฐานในภาษาสันสกฤต ท่านโพธิธรรมได้รับรองว่า เป็นเซ็นที่ปราศจากรูปแบบของการปฏิบัติเป็นการใช้คำเหมือน ( ไวพจน์ ) ที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เซ็นเป็นจิตที่ซื่อ ๆ ตรง ๆ เป็นจิตที่นั่งโดยไม่ต้องนั่ง และทำโดยไม่ต้องทำ )
แต่คำว่าเซ็นเป็นเพียงคำเดียว ที่ยังความพะวงสงสัยให้เกิดแก่ปุถุชนและนักปราชญ์ เมื่อเฝ้าดูธรรมชาติของตนก็คือเซ็น เมื่อท่านได้เห็นธรรมชาติของตนเองแล้วมันก็ไม่ใช่เซ็น *
( *คำว่า “ เซ็น “ มาจากคำว่า “ฌาน” ในภาษาบาลี แปลว่า การเพ่งพินิจหรือการเฝ้าดูจิต การเผาผลาญความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ อันเกิดจากการปรุงแต่ง ภาวะที่ทำงานเช่นนั้นเรียกว่า เซ็น ตามภาษาญี่ปุ่น … ผู้แปลไทย)
aun63:
:13:
ฐิตา:
Pic by : K. peem http://www.tairomdham.net
แม้ท่านจะสามารถอธิบายพระสูตร ได้หลายพันสูตรก็ตาม 30* เมื่อท่านเห็นธรรมชาติของท่าน ที่ยังเป็นธรรมชาติของอัตตาอยู่ การเห็นตัวเอง* ที่ยังเป็นอัตตาอยู่เช่นนั้น ยังเป็นคำสอนของปุถุชน ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
( 30* เป็นหมวดหมู่แห่งคำสอนของพุทธศาสนาในจีน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระไตรปิฎก แต่งขึ้นในตอนต้นศตวรรษที่ 6 เท่าที่ปรากฏมีจำนวนถึง 2,213 เล่ม และในบรรดาคัมภีร์เหล่านี้ เป็นพระสูตร 1,600 เล่ม และมีหลายสูตรที่เพิ่มเข้าในพระไตรปิฎกในยุคนั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคัมภีร์จะมีเป็นจำนวนมากมาย ก็ยังมีการสูญหายไปบ้างมิใช่น้อย ที่คงเหลืออยู่ในปัจจุบันมีจำนวน 1,662 เล่ม )
( *การเห็นตัวเองตามความเป็นจริง หมายถึงการเห็นที่ว่างจากการยึดมั่นถือมั่นมิใช่เห็นด้วยความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวตน … ผู้แปลไทย . )
มรรคที่แท้จริงคืออริยมรรค อริยมรรคไม่สามารถจะสื่อกันได้ด้วยภาษา แล้วตำราหรือคัมภีร์จะมีประโยชน์อะไร ?
คนที่พบเห็นตนเองแล้ว ย่อมพบทางแห่งอริยมรรค แม้เขาจะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ตาม คนที่เห็นธรรมในตนเองก็คือพุทธะ และธรรมกายของพุทธะเป็นกายที่บริสุทธิ์ ไม่มีมลทินโดยแท้ ทุกสิ่งที่ท่านตรัสก็เป็นสิ่งที่แสดงออกมาจากใจอันบริสุทธิ์ของท่าน
เมื่อพุทธะเป็นความว่างมาแต่เดิมแล้ว พุทธะก็ไม่อาจค้นพบได้ในคำพูดหรือคำสอนในคัมภีร์ใด ๆ อันมีถึงสิบสองหมวดก็ตาม (พระไตรปิฎกมหายาน)
อริยมรรคเป็นมรรคที่สมบูรณ์มาแต่เดิม ไม่ต้องการความสมบูรณ์ใด ๆ อีก อริยมรรคไม่มีรูปหรือเสียง เป็นสภาพที่ละเอียดประณีต และยากแก่การเข้าใจ เหมือนกับท่านดื่มน้ำ ท่านย่อมรู้เองว่าความร้อนความเย็นเป็นอย่างไร แต่ท่านไม่อาจจะบอกผู้อื่นได้
ในบรรดาสภาพธรรมเหล่านั้น พระตถาคตเจ้าเท่านั้นทรงรู้ มนุษย์และเทวดายังเข้าใจไม่ได้ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของปุถุชนยังไม่สมบูรณ์ ตราบใดที่เขายังยึดมั่นถือมั่นอยู่กับปรากฏการณ์ เขาก็ยังไม่รู้ว่าจิตของเขาเป็นความว่างและเพราะการยึดติด ตามปรากฏการณ์ของทุกสิ่งอย่างผิด ๆ พวกเขาจึงหลงทาง
ถ้าท่านทราบว่าทุกสิ่งล้วนออกมาจากจิต ก็อย่ายึดมั่นถือมั่น เมื่อใดท่านหลงยึดถือก็ย่อมหลงลืมตัวเองเมื่อนั้น เมื่อใดท่านเห็นธรรมชาติของตัวเองเมื่อนั้นคัมภีร์ธรรมะทั้งหมดก็กลายเป็นเพียงคำพูดธรรมดา ๆ
พระสูตรและคาถาเป็นจำนวนหลาย ๆ พันสูตร เป็นประโยชน์เพียงเพื่อเป็นเครื่องมือชำระจิต ความเข้าใจเกิดจากคำพูดเป็นสื่อกลาง แล้วคำพูดคำสอนที่เป็นสื่อกลางแบบไหนล่ะ ? ที่เป็นคำสอนที่ดี
ปรมัตถสัจจะ ย่อมอยู่เหนือคำพูด คำสอนเป็นเพียงคำพูด คำสอนจึงไม่ใช่อริยมรรค มรรคไม่ใช่คำพูด คำพูดเป็นมายาภาพ ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากสิ่งที่ปรากฏในความฝันของท่านในเวลากลางคืน ซึ่งท่านอาจฝันเห็นปราสาท ราชวัง ราชรถหรือวนอุทยาน หรือทะเลสาปหรือพระราชฐานอันโอ่อ่า อย่าหลงติดใจกับสิ่งที่เป็นความฝัน เพราะทั้งหมดเป็นเหตุให้สร้างภพใหม่ จงตั้งใจให้ดีเท่านั้น ขณะที่ท่านใกล้ตาย
ฐิตา:
จงทำตามธรรม แต่อย่าทำตามความคิด
อย่าหลงติดใจในปรากฏการณ์ แล้วท่านจะผ่านพ้นอุปสรรคชีวิตทั้งปวงได้ ความไม่แน่ใจแต่ละขณะ จะทำให้ท่านตกอยู่ภายใต้การสะกดของมาร ธรรมกายของท่าน ( กายจริง ) เป็นภาวะบริสุทธิ์หนักแน่น แต่เพราะโมหะธรรมจึงทำให้ท่านหลงลืมกายนั้น ( สติ – สัมปชัญญะ )เพราะเหตุนี้ท่านจึงทุกข์ เพราะความหลงทำให้ท่านทำในสิ่งที่ไร้สาระ เมื่อใดท่านหลงเกิดความยินดีพอใจ 31* ท่านก็ถูกผูกมัด ( ด้วยอุปาทาน ) แต่เมื่อใดท่านตื่นรู้ต่อกายใจดั้งเดิมของท่าน ( รูป – นาม ) ท่านก็ไม่ถูกผูกมัดด้วยอุปาทานต่อไป
( 31* ร่างกาย คือ ธาตุ 4 จิตใจคือขันธ์ 5 ที่มีการแสดงตัวในลักษณะต่าง ๆ แต่ท่านโพธิธรรมกล่าวว่า ได้แก่ตัวพุทธะนั้นเอง )
ใครก็ตาม ยังไม่ละเลิกความติดยึดในกามคุณ ซึ่งปรากฏในหลากหลายรูปแบบ ( รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ) เขาก็ยังเป็นปุถุชนอยู่
พระพุทธเจ้าคือบุคคลที่ค้นพบอิสรภาพ คือเป็นอิสระจากโลกธรรมและความชั่วทั้งหลาย การค้นพบเช่นนั้นเป็นอำนาจของพระองค์ ที่ทำให้กรรมไม่อาจติดตามทันได้ ไม่ว่ากรรมชนิดใดก็ให้ผลต่อพระองค์ไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงกรรมได้ สวรรค์และนรก 32* ก็ไม่มีผลอะไรต่อพระองค์ แต่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของปุถุชน เป็นภาวะที่คลุมเครือ เศร้าหมอง เมื่อเปรียบเทียบกับของพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่างทั้งภายในและภายนอก
( 32* พุทธศาสนิกชนทั่วไป เข้าใจเรื่องสวรรค์เป็นรูปธรรมว่ามี 4 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งออกได้อีก 16 – 18 ชั้น และที่ไม่มีรูปอีก 4 ชั้น ซึ่งตรงข้ามกับสังสารวัฏ คือ นรกร้อน 8 ขุม และนรกเย็นอีก 8 ขุม แต่ละขุมก็มีบริวารอีกขุมละ 4 มีนรกพิเศษอีกจำนวนหนึ่ง คือนรกมืดและทุกข์ตลอดกาล )
ถ้าท่านไม่แน่ใจอย่าพึ่งทำอะไร เมื่อท่านทำลงไป ก็ต้องเวียนว่าย ตายเกิด และเป็นทุกข์เพราะไม่มีที่พึ่ง ความทุกข์ยากลำบากเกิดขึ้น เพราะความคิดผิด (มิจฉาทิฏฐิ ) การเข้าใจสภาวะจิตเช่นนี้ ท่านต้องทำแบบไม่ทำ* ด้วยวิธีนี้เท่านั้นจะทำให้ท่านเห็นทุกสิ่งจากญาณทัศนะของพระตถาคต
( *คือทำสักแต่ว่าทำ หมายถึงการมีสติปัญญากำหนดรู้ใน กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมตลอดเวลา เมื่อกรรมถูกกำหนดรู้อย่างเท่าทัน กรรมนั้นจะดับด้วยพลังของ ญาณปัญญา, อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ไม่อาจเข้าไปแทรกแซง ปรุงแต่ง แต่เป็นกรรมได้ เรียกว่า ทำแบบไม่ทำ … ผู้แปลไทย )
แต่เมื่อท่านเข้าปฏิบัติตามมรรคครั้งแรก ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของท่านยังไม่มีจุดรวม ท่านก็เห็นทุกสิ่งเป็นเรื่องแปลก เหมือนภาพในฝัน แต่ท่านอย่าสงสัยว่า ความฝันทุกอย่างล้วนเกิดจากจิตของท่านเอง ไม่ได้เกิดจากที่อื่น
ถ้าท่านฝันว่าท่านเห็นแสงสว่างเจิดจ้ายิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ ( นั้นเป็นนิมิตหมายว่า ) อุปาทานของท่านที่ยังเหลืออยู่ก็จะหมดไปโดยเร็ว และธรรมชาติของสัจจธรรมก็ปรากฏตัวขึ้น ปรากฏการณ์เช่นนั้นจะเป็นเครื่องช่วยเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุธรรม แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น ไม่อาจอธิบายให้ผู้อื่นทราบได้
หรือหากท่านกำลังยืน เดิน นั่ง หรือนอนในป่าอันสงัดวิเวก ท่านอาจเห็นแสงสว่าง ( อันเกิดจากนิมิต ) ไม่ว่าเป็นนิมิตที่แจ่มใส หรือคลุมเครืออย่าบอกเรื่องนั้นแก่ผู้อื่น และอย่ากำหนดจดจำนิมิตเช่นนั้นไว้ เพราะมันเป็นภาวะที่สะท้อนออกมาจากธรรมชาติภายในของท่านเอง
ถ้าท่านกำลังยืน เดิน นั่งหรือนอน ในที่สงบเงียบ และมืดในยามกลางคืน ( นิมิตปรากฏให้ท่านเห็น ) ทุกสิ่งปรากฏเสมือนกลางวัน ก็อย่าตกใจ เพราะปรากฏการณ์นั้นเกิดจากจิตของท่านเอง ที่ต้องการ เปิดเผยตัวมันเอง
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version