แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
บทที่ 2 ธรรมเทศนาดุจกระแสเลือด ( โลหิตสูตร )
ฐิตา:
การถ่ายทอดธรรม คือการถ่ายทอดจิตสู่จิต
ตราบใดที่คนยังสร้างกรรมอยู่ เขาก็ต้องวกวนไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป เมื่อใดคนได้รู้ประจักษ์แจ้งในธรรมชาติของตนเอง เขาก็หยุดสร้างกรรม ถ้าเขาไม่เห็นธรรมชาติของตนเอง ก็อ้อนวอนพระพุทธเจ้าเรื่อยไป
ซึ่งไม่อาจปลดเปลื้องตนเองออกจากกรรมได้เลย แม้ว่าเขาจะเป็นคนขายเนื้อก็ตาม แต่เมื่อใดเขาประจักษ์แจ้งในตนเอง ความสงสัยทั้งปวง ก็หมดไป แม้กรรมของการค้าเนื้อก็ไม่มีผลแก่คนขายเนื้อนั้น
ในอินเดียมีสังฆปรินายกถึง 27 องค์ 42* ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดรอยประทับจิตหรือพุทธจิต 43* ฉันมาสู่ประเทศจีน ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียว คือ การถ่ายทอดการรู้ธรรมแบบฉับพลัน ( อึดใจเดียว ) ของมหายาน 44* ( คำกล่าวของท่านโพธิธรรม )
“ จิตนี้คือพุทธะ ฉันไม่ได้พูดถึงการถือศีล, การให้ทาน หรือการเคร่งครัดแบบฤาษี เช่น การลุยน้ำลุยไฟ เหยียบมีดเหยียบหนาม รับประทานวันละมื้อ หรือไม่นอนเลย การบำเพ็ญเหล่านี้เป็นความคลั่งไคล้ เป็นคำสอนที่สร้างภาพพจน์ชั่วคราวไม่ยั่งยืน เมื่อใดท่านรู้จักและเข้าใจการเคลื่อนไหวของตนเอง รู้จักธรรมชาติแห่งการตื่นตัวอย่างปาฏิหาริย์ จิตของท่านก็จะเป็นเช่นเดียวกับจิตของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์”
พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและอนาคต ล้วนแต่กล่าวถึง การถ่ายทอดเรื่องจิต พระองค์ไม่ได้สอนเรื่องอื่นเลย ถ้าผู้ใดเข้าใจคำสอนนี้ได้ แม้เขาจะไม่รู้หนังสือเลย เขาก็เป็นพุทธะได้คนหนึ่ง แต่ถ้าท่านไม่เห็นตนเองไม่เห็นธรรมชาติแห่งการตื่นตัวอย่างปาฏิหาริย์ของตนเอง ท่านก็จะไม่พบพระพุทธเจ้า แม้ท่านจะปฏิบัติกรรมฐานไปจนทำลายตัวเองให้เป็นผุยผงก็ตาม 45*
พระพุทธเจ้าคือธรรมกายของท่าน คือ ใจดั้งเดิมของท่าน จิตนี้ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีเหตุหรือผล ไม่มีเอ็นหรือกระดูก มันเป็นเสมือนอวกาศ ไม่อาจจับต้องได้ มันไม่ใช่จิตของพวกวัตถุนิยม หรือวิญญาณนิยม นอกจากพระตถาคตแล้ว ปุถุชนหรือคนหลง ไม่มีใครจะสามารถหยั่งรู้ความจริงอันนี้ได้
แต่จิตนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกกายภายนอก ในธาตุ 4 ถ้าปราศจากจิตนี้ เราก็ไม่อาจเคลื่อนไหวได้ กายที่ไม่มีความรู้สึกตัว ก็เหมือนกับต้นไม้หรือก้อนหิน กายที่ไม่มีจิตจะเคลื่อนไหวได้อย่างไร จิตนี้ชื่อว่าทำให้กายนี้เคลื่อนไหวได้
ภาษาและพฤติกรรม สัญญาและเจตนาล้วนเป็นหน้าที่ของจิต การเคลื่อนไหวทั้งปวง ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวของจิต การเคลื่อนไหวจึงเป็นหน้าที่ของจิต ปราศจากการเคลื่อนไหวก็ไม่มีจิต ปราศจากจิตก็ไม่มีการเคลื่อนไหว แต่การเคลื่อนไหวไม่ใช่จิต และจิตก็ไม่ใช่การเคลื่อนไหว*
( * ข้อสังเกต “ หลวงพ่อเทียน น่าจะเป็น…ปรมาจารย์เซ็นในประเทศไทย ”
การเคลื่อนไหวโดยพื้นฐานไม่ใช่จิต และจิตโดยพื้นฐานก็ไม่ใช่การเคลื่อนไหว แต่การเคลื่อนไหวก็ดำรงตัวเองไม่ได้ ถ้าปราศจากจิต และจิตก็ดำรงตัวเองไม่ได้ ถ้าปราศจากการเคลื่อนไหว และไม่มีการเคลื่อนไหวที่อยู่นอกจิต การเคลื่อนไหวจึงเป็นหน้าที่ของจิต และหน้าที่ของจิตก็คือความเคลื่อนไหว
ทฤษฎีของท่านโพธิธรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว มาตรงกับวิธีการที่ชี้นำสู่ตัวพุทธธรรม โดยวิธีการของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ได้อย่างสอดคล้องกัน ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้กล่าวถึงการยกมือสร้างจังหวะ หรือเดินจงกรมก็ตาม และถึงแม้ว่าท่านทั้งสองจะมีชีวิตอยู่ห่างกันถึงเกือบ 2,000 ปีก็ตาม แต่การชี้นำเข้าสู่พุทธธรรมของท่านผู้รู้ทั้งสองท่าน เกือบตรงกันทุกเรื่อง ถึงแม้สำนวนภาษาดูไม่เหมือนกันก็ตาม แต่โดยสาระแทบจะเป็นอันเดียวกัน
ดังนั้น น่าจะกล่าวได้ว่า แนวการบรรลุธรรมของท่านทั้งสองไม่ต่างกัน แต่วิธีการ การถ่ายทอดอาจต่างกันไปตามยุคตามสมัย ดังนั้น ถ้าท่านโพธิธรรมเป็นผู้ให้กำเนิดพุทธศาสนามหายานแบบเซ็นในประเทศจีน หลวงพ่อเทียนก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นผู้ให้กำเนิดมหายานแบบเซ็นที่แท้จริงแก่ประเทศไทย ได้เช่นกัน… ผู้แปลไทย)
เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่ใช่ทั้งการเคลื่อนไหวหรือการทำหน้าที่ เพราะสาระสำคัญในหน้าที่ของจิตคือความว่าง และความว่างโดยเนื้อแท้ก็ไม่มีการเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวก็เป็นอันเดียวกันกับจิต และจิตโดยเนื้อแท้แล้วก็ไม่มีการเคลื่อนไหว
ฐิตา:
เชิงอรรถ
42* พระสังฆราชองค์แรกของวงศ์เซ็นคือพระกัสสปะ พระอานันทะเป็นองค์ที่ 2 พระปรัชญาตาระเป็นองค์ที่ 27 พระโพธิธรรมเป็นองค์ที่ 28 และเป็นสังฆราชองค์ที่ 1 ในประเทศจีนด้วย
43* รอยประทับจิต คือการเข้าสู่จิตแบบเซ็น จะมีสภาวะที่เหมือนกันทุกประการ ซึ่งสามารถทำการพิสูจน์กับของจริงได้เสมอ และเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานานและต้องทำให้มั่นคงดุจตราประทับเลยทีเดียว
44* มหา แปลว่า ใหญ่ ยานะ แปลว่า ยานพาหนะ เป็นรูปแบบที่ทรงพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในเอเชียฝ่ายเหนือ เอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศัพท์ว่า หินยาน จึงถูกนำมาใช้เรียก นิกายฝ่ายเถรวาทด้วย
45*Atom* ในยุคแรก พุทธศาสนานิกายสรวัสติกวาทิน ได้กล่าวถึงเรื่องของอนุภาคปรมาณูเอาไว้ว่า ปรมาณูเป็นสิ่งที่จะรู้ได้ด้วยสมาธิเท่านั้น และอนุภาคทั้ง 7 เหล่านี้ ก่อให้เกิดปรมาณูต่าง ๆ ขึ้นมา และปรมาณูทั้ง 7 ก็ก่อให้เกิดอนูขึ้น ซึ่งจะมองเห็นได้ก็เฉพาะผู้ที่มีโพธิจักษุเท่านั้น นิกายสรวัสติกวาทิน กล่าวอ้างว่า ร่างกายของมนุษย์นั้นเกิดมาจากอนูต่าง ๆ ถึง 84,000 84,000 มักนำมาใช้กับปริมาณที่นับไม่ได้อยู่บ่อย ๆ (*ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา , ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม …ในพระบาลี )
จบบทที่ 2 ธรรมเทศนาดุจกระแสเลือด ( โลหิตสูตร )
Pic by : K. peem http://www.tairomdham.net
: Google
ข้อมูลส่วนนี้นำมาจาก : http://www.yimwhan.com/board/show.php?user=modx&topic=47&Cate=8
โพสต์โดย : คุณมดเอ็กซ์
อนุโมทนาสาธุธรรม และอนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version