ผู้เขียน หัวข้อ: ปัจฉิมเทศนา(พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ)  (อ่าน 1936 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ๓ หน

กุสลาธมฺมา อกุสลาธมฺมา อพฺยากตาธมฺมา ติ

ณ โอกาสนี้ อาตมาจักได้แสดงธรรมิกกถาศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นเครื่องเพิ่มพูนกุศล ศรัทธา ปัญญาบารมีของพุทธบริษัททั้งหลาย ที่พร้อมเพรียงกันมาประชุมสโมสรในธรรมสภาภาคศาลามณฑลสถานที่นี้

เนื่องด้วยวันนี้ พวกพุทธบริษัททั้งหลายมาระลีกถึงบุญคุณของหลวงพ่อคำมา ผู้ถึงกาลกิริยาตายไปสู่โลกเบื้องหน้า และจะได้ทำการเผาในวันนี้ พวกเรามาระลึกถึงบุญคุณของท่าน ซึ่งเคยมีต่อพวกเรามา เช่น เคยเป็นครูบาอาจารย์ แนะนำสั่งสอนพวกเราให้รู้ศีลรู้ธรรม และข้อวัตรปฏิบัติอื่นๆ ตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

การสมาทานเอาซึ่งศีลเบญจเวรวิรัตทั้ง ๕ ประการ เราก็ได้พากันสมาทานสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว จนตลอดการถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสงฆ์องค์เจ้า ก็ได้สำเร็จเสร็จสิ้นไปด้วยความเรียบร้อยทุกอย่างทุกประการ ต่อแต่นี้ไปใครอยากจะฟังพระสัทธรรมเทศนา เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองศรัทธาปลาทะ เพิ่มพูนกุศลเจตนาปัญญาบารมีต่อไป จึงได้นิมนต์ให้อาตมาเป็นผู้แสดงดังอาตมาก็จักได้แสดงต่อไป

สำหรับความตายนี้เป็นของที่พวกเราหนีกันไม่พ้น เพราะมันเป็นสังขารที่ปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อมีเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีแก่ มีเจ็บ มีตายไปดังนี้ ความตายนี้แหละเราจะต้องประสบด้วยกันทุกคน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง หรือผู้ชาย อ่อน แก่ หรือ ปานกลางก็จะต้องตายกันทั้งนั้น เพราะบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย มีความตายเป็นสมบัติรอคอยอยู่เบื้องหน้า ไม่มีผู้ใดเลยจะล่วงพ้นไปได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ซึ่งวิเศษประเสริฐกว่าสรรพสัตว์ กว่าเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์หาได้พ้นจากความตายไปไม่ แต่การตายของพระองค์เป็นการตายอันประเสริฐ เพราะพระองค์เป็นผู้หมดจากอาสวกิเลสทั้งน้อยใหญ่สิ้น จึงเรียกอาการตายของพระองค์ว่า นิพพาน ไม่มีการตายการเกิดอีกเหมือนอย่างปุถุชนธรรมดาสามัญ

ปุถุชนนั้นเมื่อสิ้นลมหายใจแล้ว เรียกว่าตายหรือมรณภาพ ถ้าเป็นคนชั้นสูงก็เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสวรรคต ที่แท้ก็เป็นตายอันเดียวกัน หมดลมหายใจอย่างเดียวกัน เมื่อตายไปแล้วก็ไม่ได้ขนเอาข้าวของอันใดไปได้เลย ได้ติดตัวไปแต่เพียงไม้กระดานอันกว้างหนึ่งศอกกำมา และทางยาววาหนึ่งเท่านั้น กับบุญกุศลที่ตนได้ทำไว้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ และบาปที่ตนได้ทำเอาไว้แต่เมื่อยังเป็นมนุษย์เท่านั้น จึงสมกับอุเทศที่อาตมาได้ยกขึ้นตั้งไว้เบื้องต้นว่า

กุสลาธมฺมา อกุสลาธมฺมา อพฺยากตาธมฺมา

ซึ่งแปลเป็นใจความแล้วคงได้ความว่า

กุศลกรรมทั้งหลาย อันเป็นทางบุญเรียกว่ากุศล อกุสลาธมฺมา เป็นส่วนบาปเรียกว่าอกุศล คือทางชั่ว ทางไม่ดี อพฺยากตาธมฺมา เป็นส่วนกลางๆ จะว่าดีก็ไม่ใช่ เป็นส่วนชั่วก็ไม่ใช่เรียกว่า อพยากฤต

เท่านี้แหละที่จะติดตัวผู้ตายไปได้ ถ้าเราทำดีไว้แต่เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เมื่อเราตายไปก็จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ถ้าทำชั่วไว้ เป็นต้นว่า ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ศีล ๕ ไม่เคยรักษา คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ไม่รู้ เมื่อตายไปแล้ว ผลกรรมนั้นก็จะตามไปสนองให้ได้รับความเดือดร้อน วิปฺปฏิสาร อยู่ในนรกอเวจีหลายกัปหลายกัลป์

ถ้าทำความดีไว้แล้ว พอตายลงไปก็มีผู้มาปลงอนิจจังสังเวช ทำบุญ ทำกุศลอุทิศให้ อย่างหลวงพ่อคำมานี้ เพราะก่อนตายท่านก็ได้สร้างคุณความดีให้แก่พุทธบริษัททั้งหลายไว้แล้ว แต่ถึงอย่างไรท่านก็ได้ตายไปแล้ว เพราะความตายมันไม่เลือกบุคคล สิ่งใดปัจจัยแต่ง สิ่งนั้นจะต้องเป็นไปตามปัจจัย ดังมีธรรมภาษิตที่พระเจ้าพระสงฆ์เคยใช้สวดเสมอว่า

อนิจจา วต สงฺขารา ซึ่งแปลเป็นใจความแล้ว ก็คงได้ใจความว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ อุปฺปาทวยธมฺมิโน เมื่ออุบัติเกิดขึ้นแล้ว อุปฺปชฺชิตวา นิรุชฺฌนฺติ ย่อมดับไปดังนี้

คนตายนี้ก็มีดีอยู่อย่างหนึ่งเหมือนกัน จะได้ชักนำให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ได้กินได้ทาน ได้เข้าวัดเข้าวา ฟังเทศน์ ฟังธรรม ซึ่งเรียกว่าเป็นบุญเป็นกุศลประการหนึ่ง อันเรียกว่า คนตายจูงคนเป็น อย่างบางคนไม่เคยได้เข้าวัดเข้าวาสักทีเลย เห็นพระเห็นเจ้าเท่ากับเห็นอสรพิษอันร้ายกาจ แต่พอญาติพี่น้องของเขาตายลงไป เกิดมีคนใช้ให้เขาไปนิมนต์พระนิมนต์เข้ามา มาติกาบังสุกุล จะไม่ไปหรือก็ขัดไม่ได้ จำเป็นจะต้องได้ไป พอนิมนต์มาแล้ว ผู้อื่นก็ใช้ให้ประเคนหมากพลู บุหรี่ กระโถน กาน้ำ ตลอดจนการตักบาตร ถวายอาหารแก่พระเจ้าพระสงฆ์ ทำให้เขาได้บุญได้กุศลไปในตัว นั่นแหละจึงเรียกว่าคนตายจูงคนเป็นให้ได้กุศล และผู้ชายบางคนเมื่อเขายังมีชีวิตเป็นผู้ไม่ประมาท ขยันขันแข็งในการทำมาหาเลี้ยงชีพของตน เป็นผู้เก็บหอมรอมริบ พอตายไปแล้วทิ้งมรดกให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้สืบได้ต่อ จนกลายเป็นผู้มีโภคสมบัติมากมูลก็มีอยู่เป็นอันมาก เช่นบางคนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้หาเงินหาทองฝากคลัง ฝากประกันชีวิตไว้กับบริษัท พอเขาตายไปแล้ว ลูกหลานเขาได้เงินได้ทองเพราะเขาก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก บางรายมีเงินมีทองตั้งมากมายก่ายกองก็มี

แต่บางรายนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นคนเกียจคร้านอ่อนแอ ไม่ทำการทำงานอะไร เสาะแสวงหาแต่การกินการเล่นอันจะพาตัวฉิบหาย เช่น เล่นการพนัน กินเหล้า กัดปลา ชนไก่ เป็นต้น เมื่อได้ ก็กินจนหมด เมื่อไม่ได้ ก็หากู้หายืม กู้ยืมไม่ได้ก็ลักบ้างขโมยบ้าง ก่อความทะเลาะวิวาทไว้กับเพื่อนกับฝูงทุกมุมเมือง เมื่อนานเข้าก็ถูกเขาจับเป็นขโมยบ้าง จับเล่นการพนันบ้าง หาว่าเป็นอันธพาลบ้าง เหล่านั้นจำเป็นทรัพย์สิน ซึ่งเป็นมรดกแต่พ่อแม่ตายาย ก็เอาไปจำนองจำนำ ก่อแต่ความเดือดร้อนให้แก่ตัวตลอดชีวิต พอตายลงไป หาเงินจะซื้อไม้มาทำศพก็ไม่มี จำเป็นพี่น้องจะต้องวิ่งเต้นไปหากู้ยืม ยอมเป็นลูกหนี้ของชาวบ้านชาวเมืองเขา ไม่ได้ก็เอาที่ดิน บ้าน ไร่ สวน นาไปจำนองจำนำ ทำให้พี่น้องได้รับความอับอายขายหน้าเป็นอันมาก นี้เรียกว่า คนตายขายคนเป็น

ฉะนั้นพุทธบริษัททั้งหลาย เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้จงรีบพากันขวนขวายสร้างคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้นในตนเสีย เพราะไม่รู้ว่าความตายมันจะมาถึงเราวันไหน เมื่อความตายมาถึงแล้ว เราไม่มีเวลาได้สร้างคุณงามความดีไว้ได้ทันเลย เราทุกวันนี้ก็ตกอยู่ในวงล้อมของพญามัจจุราชแล้ว ดังมีธรรมภาษิตรับรองสมอ้างว่า

ยถาทณฺเทน โคปาโล คาโวปาเชติ โคจรํ เอวํชรา จ มจฺจุจอายํ ปาเชนติ ปาณินํ

ซึ่งแปลเป็นใจความแล้วได้ความว่า

นายโคบาล (คนเลี้ยงโค) ย่อมต้อนฝูงโคไปสู่ที่หากินด้วยท่อนไม้พลองฉันใด ความแก่และความตาย ก็ต้อนชีวิตของสรรพสัตว์ฉันนั้น


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ปัจฉิมเทศนา(พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 10, 2011, 05:07:29 pm »


เนื้อความในพระคาถานี้อธิบายว่า

ธรรมดานายโคบาล ผู้ฉลาดย่อมต้อนฝูงโคของเขา ไปยังที่ซึ่งอุดมไปด้วยน้ำและหญ้า ตามวิสัยของผู้ฉลาดฉันใด ชีวิตคือความเป็นอยู่ของสรรพสัตว์ก็ฉันนั้น นับแต่คลอดออกจากครรภ์ของมารดาแล้ว ก็เดินทางไปสู่ความแก่ทุกวันทุกคืน จนเป็นเดือนเป็นปี และเป็นหลายๆ ปี

เมื่อถึงสถานีของความแก่แล้ว สถานีแห่งความแก่ ก็ส่งไปสู่สถานีแห่งความเจ็บ มีเจ็บหลังบ้าง เจ็บเอว เจ็บตา เจ็บแข้ง เจ็บขาบ้าง แล้วสถานีนี้ก็ส่งไปยังสถานีแห่งความตาย มาสิ้นสุดเพียงสถานีของความตายนี้ทั้งนั้น

นอกจากบุญกับบาปที่ตนได้กระทำไว้แต่ครั้งยังมีชีวิตอยู่ คนผู้อยู่ทางหลังจะให้หรือไม่ให้ก็หมดห่วงหมดกังวลเสียแล้ว

เพราะฉะนั้นพุทธบริษัททั้งหลาย เมื่อมาทราบแจ้งชัดตามอรรถธรรมดังอาตมาได้แสดงมานี้แล้ว จงอย่าได้ประมาทในชีวิตของตน เพราะเราไม่รู้ว่าความตายนั้นจะมาถึงตัวเราเมื่อไร ไม่มีผู้ใดพยากรณ์ได้ถูก เราพยากรณ์ได้แต่วันเกิด อันบิดามารดาเป็นผู้บอกให้เท่านั้น

ฉะนั้นจึงขอรีบสร้างคุณงามความดีของตน ให้เกิดขึ้นในทวารทั้ง ๓ เสียคือว่า กายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร จะทำจะพูดจะคิดสิ่งใด ก็จง ทำ พูด คิดแต่ในทางที่จะเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่นเถิด

เมื่อประพฤติปฏิบัติเช่นนี้แล้วบุญกุศลใดที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป ขออย่าได้พากันประกอบกรรมอันชั่วช้าลามก ซึ่งจะเป็นทางพาให้เราไปตกนรกอบายภูมิ ซึ่งจะพาให้เราได้รับความเร่าร้อนหลายกัปหลายชาติ ถ้าท่านผู้ใดยังเห็นว่าศีลของตนยังไม่สมบูรณ์บริบูรณ์ รีบประกอบให้เกิดให้มีขึ้นเสียแต่บัดนี้

ศีล ๕ ประการดังนี้

ข้อหนึ่ง ปาณาติปาตา เวรมณี ข้าพเจ้าขอเว้นการพรากชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวง

ข้อสอง อทินนาทานา เวรมณี ข้าพเจ้าจักงดเว้นการลักฉ้อขโมยของคนอื่นเด็ดขาด

ข้อสาม กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี ข้าพเจ้าจักงดเว้นการล่วงเกินกามประเวณีลูกเมียผู้อื่นเด็ดขาด

ข้อสี่ มุสาวาทา เวรมณี ข้าพเจ้าจักไม่กล่าวเท็จ กล่าวคำหยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ

ข้อห้า สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี ข้าพเจ้าจักไม่กินเครื่องดองของเมาใดๆ เช่นสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเสียสติ

ดังนี้ ก็นับได้ว่า เราตัดเวรออกจากตัวของเราเองได้สิ้นแล้ว และเราจักขอถึงซึ่งคุณพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่พำนัก ที่ระลึก ที่นับถือว่า เป็นที่กำจัดภัยได้จริงดังนี้ ก็แสดงว่าเราเคารพนับถือในพระไตรสรณาคมน์โดยไม่มีความหวั่นไหว เมื่อเราเคารพนับถือเช่นนั้นแล้วเราก็จะมีแต่ความสุขใจเย็นใจเท่านั้น เมื่อเรามีศีลบริบูรณ์แล้ว ถึงเราจะภาวนา จิตเราก็เป็นสมาธิได้เร็ว เมื่อจิตของเราเป็นสมาธิได้เร็วแล้ว เราจะเป็นผู้เบิกบานอยู่เสมอ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งเรียกว่าโลกสวรรค์

หากถ้าจะมีผู้ถามว่า สวรรค์นั้นอยู่ทีไหน อาตมาขอตอบว่า สวรรค์อยู่ที่ตัวของคนเราทุกคน นรกก็อยู่ที่ตัวเรานี้ นิพพานก็อยู่ในตัวเรานี้ทั้งนั้น ด้านกว้างของสวรรค์ก็ศอกกำมา ด้านยาวก็วาหนึ่งดังนี้ สวรรค์นิพพานไม่ได้อยู่ที่อื่นดอก เมื่อเราประกอบแต่กรรมอันเป็นสุจริตแล้ว นรกมันก็หายไป เมื่อเราทำลายกิเลสน้อยใหญ่ซึ่งหมักดองอยู่ในสันดานของเราแล้ว นิพพานก็อยู่ที่ไหนอีก

เมื่อเราเป็นผู้มีทาน มีศีล มีเจริญภาวนา ฆ่าความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกจากจิตสันดานเราได้แล้ว นรกมันก็อยู่ไม่ได้เท่านั้นเอง

ฉะนั้น พุทธบริษัททั้งหลายที่มาประชุมสโมสรในสถานที่นี้จงได้พากันเคารพในคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ให้หนักแน่นอย่าหวั่นไหว ถ้าได้เห็นดอกไม้ของหอม ก็ขอให้คิดอยากมาบูชาคุณของพระรัตนตรัยแก้วทั้งสาม มันจึงจะได้บุญได้กุศล ถ้าเราได้กินอาหารอันมีรสเอร็ดอร่อย ก็ให้คิดถึงวัดถึงวาถึงบิดามารดา ว่าอยากให้ท่านได้กินดี มันจึงจะเป็นบุญเป็นกุศล เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นก็อย่าได้แช่งได้ด่าให้ทานมากิน ผีมากิน ให้พูดว่า โอยท้าวขันเงินขันคำกวบหัวเจ้าเอ้ย ดังนี้ มันจึงจะบ่ได้บาป อย่าไปป้อยแช่งให้ห่าให้ผีเป็นอันขาด เพราะพระพุทธองค์ พระองค์สอนไม่ให้เคารพนับถือผี พระองค์ตรัสสอนแต่ให้เคารพธรรมเท่านั้น เพราะผีมันเป็นของไม่ดี ดังมีคำพื้นบ้านพื้นเมืองเราพูดกันว่า หน้าคือผี ขี้ร้ายคือผี บ่จบคือผี ทุกข์ยากคือผี ก่ำคือผี หมองคือผี เมื่อเป็นของไม่ดี แล้วมันก็คือผีทั้งนั้น เมื่อผีมันไม่ดี มันทุกข์มันยากมันก่ำมันหมองแล้ว ผัดอยากได้อยากเคารพนับถือมันไปหยัง

เมื่อมันทุกข์มันยากแล้วเราจะพึ่งพาอาศัยมันหยังได้ ลำพังเราข้ามฟากน้ำ น้ำก็ยังจะข้ามไม่พ้นอยู่แล้ว ยังจะแบกเอาซากผีไปอีก มันจะไม่พาจมน้ำตายทั้งคนทั้งผีหรือ อาตมาว่ามันคงไปไม่รอดทั้งคนทั้งผี เมื่อผีเป็นเช่นนี้แล้ว ควรแล้วหรือที่เราจะไปกราบไหว้บูชาเคารพนับถือ พึ่งพาอาศัยมันได้ มันก็มีแต่จะพาให้เราจมดิ่งไปฟูนรกอเวจีเท่านั้นเอง

ในธรรมเทศนาของอาตมาวันนี้ ขอบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจงพากันใช้โยนิโสมนสิการ นำไปพินิจพิจารณาโดยแยบคาย เห็นว่าสิ่งใดไม่ดีก็พากันละเสีย เห็นว่าสิ่งใดดี ก็จงถือเอาเป็นข้อวัตรประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะประสบแต่ความสุขความเจริญ ทุกทิพาราตรีกาล รับประทานแสดงมาก็พอสมควรแก่กาลเวลา เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้



พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ
แสดงในงานฌาปนกิจศพ หลวงพ่อคำมา ญาณทีโป
เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕


Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ