ผู้เขียน หัวข้อ: สิเนหาอาลัย.. อังคาร กัลยาณพงศ์...  (อ่าน 7902 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


  โลกนี้มิอยู่ด้วย      มณีเดียวนา
ทรายและสิ่งอื่นมี      ส่วนสร้าง
ปวงธาตุต่ำกลางดี      ดุลยภาพ
ภาคจักรวาลมิร้าง      เพราะน้ำ แรงไหน

  ภพนี้มิใช่หล้า        หงส์ทอง  เดียวเลย
กาก็เจ้าของครอง      ชีพด้วย
เมาสมมติจองหอง     หีนชาติ
น้ำมิตรแล้ง โลกม้วย   หมดสิ้น สุขศานติ์ ๚๛

                        (โลก  อังคาร กัลยาณพงศ์)


-http://www.reurnthai.com/index.php?action=printpage;topic=1734.0
-http://www.dhammathai.org/kaveedhamma/view.php?No=689




ทุ่งข้าว
 ๏ ทุ่งข้าวเขียวขจี            สีสดชื่นระรื่นลมไหว
ปูปลามาเล็มไคล              ในน้ำใสใต้สันตะวา
สาหร่ายชูดอกกระจิดริด      แมลงน้อยนิด ไร้เดียงสา
เกาะดอกหญ้าบนคันนา       แมงมุมตั้งท่าตะครุบกิน

 ๏ ควายเคี้ยวเอื้องนอนหนอง    แววตาหม่นหมองไม่สิ้น
เหลือบริ้นวนเวียนบิน          เกาะกินเลือดล้นพุงกลวง
กบเขียดร้องเสียงใส           เสมือนน้ำบนใบบัวหลวง
งูอะไรสีเงินยวง                 เลื้อยไปล้วงรูปูนา

 ๏ ยางขาวถลาบิน                 จิกปลากินเกาะกิ่งหว้า
เงาเมฆสีหม่นลอยมา           แสงแดดกล้ากึ่งกลางวัน
ถอนกล้ามาเหนื่อยเมื่อยล้า    เข้าร่มไม้ชายคาประหนึ่งสวรรค์

แก้ห่อข้าวออกวางพลัน        ชวนกันนั่งล้อมวงกิน
น้ำพริกเจือแมงดา              แกล้มยอดหว้าหวั่นใจถวิล
ว่าสวรรค์ในแคว้นแดนดิน      คือถิ่นทุ่งทองของไทยเอย ๚๛


(ทุ่งข้าว
: บทกวีของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์)





 ๏ ใครจะอาจซื้อขายฟ้ามหาสมุทร
แสนวิสุทธิ์โลกนี้ที่พระสร้าง
สุดท้ายกายวิภาคจะจากวาง
ไว้ระหว่างหล้าและฟ้าต่อกัน


 ๏ เรามิใช่เจ้าของฟ้าอวกาศ
โลกธาตุทั่วสิ้นทุกสรวงสวรรค์
มนุษย์มิเคยนฤมิตตะวันจันทร์
แม้แต่เม็ดทรายนั้นสักธุลี


 ๏ แย่งแผ่นดินอำมหิตคิดแต่ฆ่า
เพราะกิเลสบ้าหฤโหดสิงซากผี
ลืมป่าช้าคุณธรรมความดี
เสียศรีสวัสดิ์ค่าแท้วิญญาณ ๚


 ๏ สภาวะสรรพสิ่งทุกส่วนโลกนี้
ควรที่สำนึกค่าทิพย์วิเศษวิศาล
อนุรักษ์ดินน้ำฟ้าไว้ตลอดกาล
เพื่อเหนือทิพยสถานวิมานแก้วไกวัล ๚


 ๏ ทุ่งนาป่าชัฏช้าอรัญญิกาลัย
เทือกผาใหญ่เสียดดาวดึงส์สวรรค์
เนื้อเบื้อเสือช้างลิงค่างนั้น
มดแมลงนานาพันธุ์ทั้งจักรวาล ๚


 ๏ เสมอเสมือนเพื่อนสนิทมิตรสหาย
เกิดร่วมสายเชี่ยววัฏฏะสังสาร
ชีพหาค่าบ่มิได้นับกาลนาน
หวานเสน่ห์ฟ้าหล้าดาราลัย ๚


 ๏ ถึงใครเหาะเหินวิมุติสุดฝั่งฟ้า
เดือนดาริกาเป็นมรคายิ่งใหญ่
แต่เราขอรักโลกนี้เสมอไป
มอบใจแด่ปฐพีทุกชีวีวาย ๚


 ๏ จะไม่ไปแม้แต่พระนิรพาน
จะวนว่ายวัฏฏะสังสารหลากหลาย
แปลค่าแท้ดาราจักรมากมาย
ไว้เป็นบทกวีแด่จักรวาล ๚


 ๏ เพื่อลบทุกข์โศก ณ โลกมนุษย์
ที่สุดสู่ยุคสุขเกษมศานต์
วานนั้นฉันจะป่นปนดินดาน
เป็นฟอสซิลทรมานอยู่จ้องมอง ๚

๑๐
 ๏ สิ้นเสน่ห์วรรณศิลป์ชีวิตเสนอ
ละเมอหาค่าทิพย์ไหนสนอง
อเนจอนาถชีวีทุกธุลีละออง
สยดสยองแก่ถ่านเถ้าเศร้าโศกนัก ๚

๑๑
 ๏ แล้งโลกกวีที่หล้าวูบฟ้าไหว
จะไปรจนารุ้งมณีเกียรติศักดิ์
อำลาอาลัยมนุษย์ชาติน่ารัก
จักมุ่งนฤมิตจิตรจักรวาล

๑๒
 ๏ ให้ซึ้งซาบกาพย์กลอนโคลงฉันท์
ไปทุกชั้นอินทรพรหมพิมานสถาน
สร้างสรรค์กุศลศิลป์ไว้อนันตกาล
นานช้าอมตะอกาลิโก ๚๛





@ โอม กราบพระศรีรัตนตรัย
บุญญฤทธิ์ยิ่งใหญ่วิเศษวิศาล
คุ้มครองปกป้องพี่น้องนาน
เกษมศานติ์อยู่คู่ฟ้าดินเอย ๚๛

                อังคาร กัลยาณพงศ์

วันศุกร์ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรง

************


 
(Sakol Sandhiratne :
"ท่านอาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้เสียชีวิตลงแล้ว ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
เมื่อเวลาประมาณ 24.30 น.ของเช้าวันใหม่ 25 ส.ค. 55
ด้วยโรคชรา ในวัย 86 ปี 6 เดือน โดยมีพิธีสวดพระอภิธรรมที่วัดตรีทศเทพ ศาลา 2
ตั้งแต่วันที่ 25-31 ส.ค. หลังจากนั้นจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพต่อไป")

****************************************************





-http://www.facebook.com/notes/
พรรคดินน้ำลมไฟ/ปณิธานกวี-อังคาร-กัลยาณพงศ์-อาลัย/459866534053649




สิเนหาอาลัย...อังคาร กัลยาณพงศ์
รัตนกวีศรีสยาม
♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥ ♥

“เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง
มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า
ซบหน้าติดดินกินทราย...”
*****

อหังการ์จอมกวี....
ลับหล้าธาตรีร่วงสลาย
ฝนหลั่งสั่งสวรรค์พรรณราย
เสียดายคนดีศรีแผ่นดิน


จะเจ็บจำไปถึงปรโลก
รัตติกาลวิปโยคไปเสียสิ้น
ลมเหงาูกระเพื่อมพ้อธรณิน
ไยหนอชีวินต้องล่วงลับ


จันทร์เจ้าจ่อมเคล้าเมฆขาว
ดื่นดาวเปล่าประกายปุบปับ
ระทดเทพวรรณศิลป์ท่าวทับ
ย่อยยับสิเนหาภาษาทิพย์

จากรุ้งโค้งสู่ดงดอย
มิเคยละหลงรอยกะล่อยกะหลิบ
โพ้นโลกสุนทรีย์ลี้ลิบ
ระยับระยิบจิตหนึ่งซึ้งรัก


มืดสนิท...
หนึ่งชีวิต..หนึ่งปัญญา..ฟ้าประจักษ์
เอนกายคลายร้อนผ่อนพัก

พำนักอมตะดุจราชันย์ ๚๛


ระพี พชระ
๒๖ สิงห์ ๒๕๕๕
-http://www.facebook.com/RaPhiPhchra

***************************************


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงสำหรับวงการกวีและจิตรกรเลยทีเดียว กับการจากไปของ "อังคาร กัลยาณพงศ์" ศิลปินแห่งชาติด้านกวีนิพนธ์ (พ.ศ. 2536) ที่เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคหัวใจและโรคเบาหวานเรื้อรัง เมื่อเวลา 01.30 น. ของวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ด้วยวัย 86 ปี

           วันนี้กระปุกดอทคอม ก็ขอย้อนเล่าถึงประวัติความเป็นมาของ ครูอังคาร กวีชื่อดังของเมืองไทย ที่ได้ร้อยเรียงเขียนบทกวีอันซึ้งกินใจ ให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้สัมผัสและตระหนักถึงความสวยงามภาษา ถึงแม้ว่าบทกวีของครูอังคารจะไม่ถูกเรียงร้อยด้วยอักษรและรูปแบบที่ตายตัว แต่กลอนของครูอังคารนั้น คงความเป็นไทยเอาไว้ในทุกกระเบียดนิ้ว...

          สำหรับครูอังคาร กัลยาณพงศ์ นั้น เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นบุตรของกำนันเข็ม และนางขุ้ม กัลยาณพงศ์ ในวัยเด็กร่างกายเคยเป็นอัมพาตเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่หมอมารักษาด้วยสมุนไพรจนหายเป็นปกติ ต่อจากนั้น ครูอังคารได้เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดจันทาราม จนกระทั่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงย้ายไปเรียนโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด นั่นก็คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยม ครูอังคารก็เริ่มรู้ว่าตนเองสนใจด้านศิลปะเป็นอย่างมาก จึงได้เข้าศึกษาเฉพาะด้านศิลปะต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง และที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
 
           ในช่วงวัยเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ครูอังคารเป็นลูกศิษย์ของศิลปินใหญ่หลายต่อหลายคน อาทิ ศ.ศิลป์ พีระศรี, อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ และ อ.เฉลิม นาคีรักษ์  ทำให้ครูอังคารได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์ และศึกษาค้นคว้างานในด้านต่าง ๆ อย่างเจาะลึก ทั้งศิลปกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์

          ส่วนเส้นทางความเป็นกวีและจิตรกรนั้น ด้วยความที่ครูอังคารเกิดใน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดถูกกล่าวว่าเป็นเมืองแห่งกาพย์กลอนอยู่แล้ว ความเป็นกวีจึงค่อย ๆ ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ๆ จากการฝึกหัดแต่งกลอน บวกกับพรสวรรค์ที่มีอยู่ อีกทั้งครูอังคารยังมีมุมมองและแง่คิดในการใช้ชีวิตที่อิสระ จึงทำให้บทกวีของครูอังคารโดดเด่นมีเอกลัษณ์ที่ไม่เหมือนใคร พร้อมนำเสนอมุมมองแบบใหม่ ๆ โดยไม่มีรูปแบบตายตัวมากำหนด หรือเรียกได้ว่ากวีผู้แหกกฎกลอนโบราณของไทย และแสวงหาแนวทางกวีใหม่ของตนเอง ซึ่งเหตุนี้นี่เองที่ทำให้ครูอังคารถูกขนานนามว่า "ผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่"

          สำหรับผลงานชิ้นแรก ๆ ของครูอังคาร เป็นบทกวีที่อยู่ในหนังสือ "อนุสรณ์น้องใหม่" ของมหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งครูอังคารได้พบกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการคนแรกของ "สังคมศาสตร์ปริทัศน์" ทำให้บทกวีของครูอังคาร ได้พิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง และมีผลงานที่จัดพิมพ์อย่างมากมาย ซึ่งเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการวรรณกรรมไทยเลยทีเดียว

          ผลงานกวีนิพนธ์ของครูอังคารในขณะนั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก จนถูกรวบรวมและนำมาตีพิมพ์เป็นเล่ม โดยในเล่มแรกชื่อว่า หนังสือกวีนิพนธ์ จากนั้นชื่อเสียงของครูอังคารก็กลายเป็นที่ยอมรับและรู้จักอย่างรวดเร็ว

         ผลงานกวีนิพนธ์ของท่านที่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่ม มีดังนี้

         พ.ศ. 2507 กวีนิพนธ์ ของ อังคาร กัลยาณพงศ์

         พ.ศ. 2512 ลำนำภูกระดึง

         พ.ศ. 2525 บางบทจากสวนแก้ว

         พ.ศ. 2521 บางกอกแก้วกำศรวญ หรือ นิราศนครศรีธรรมราช
       
         พ.ศ. 2529 ปณิธานกวี

         พ.ศ. 2530 หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา


         ครูอังคารได้รับรางวัลเกียรติคุณต่าง ๆ ดังนี้

         พ.ศ. 2512 รางวัลกวีดีเด่น ของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประธีป

         พ.ศ. 2529 รางวัลซีไรต์ จาก ปณิธาณกวี

         นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2532 ครูอังคารยังได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ด้านกวีนิพนธ์ ซึ่งเป็นกวีร่วมสมัยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "จินตกวี" ผู้ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวรรณศิลป์และทัศนศิลป์ 

         ก่อนที่ครูอังคารจะจากโลกไป ท่านได้มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะและวรรณศิลป์แห่งชีวิต ณ บ้านอังคาร กัลยาณพงศ์ แสดงผลงานทั้งทางด้านงานประพันธ์ และภาพเขียนของเขาทั้งหมด พิพิธภัณฑ์นี้เปิดเป็นทางการเมื่อ วันวิสาขบูชา พ.ศ. 2545

        โดยครูอังคารได้กล่าวถ้อยคำที่แสดงถึงจิตวิญญาณของจิตรกร และกวีที่แท้จริงเอาไว้ว่า...

         "การวาดรูปกับการแต่งบทกวีต้องใช้ความคิดกับจินตนาการ อาจจะผิดกันในเรื่องเทคโนโลยีกับเทคนิค แต่ใช้จิตใจดวงเดียวกัน ทั้งงานเขียนรูปและเขียนหนังสือก็ต้องอาศัยมโนคติ บางคนเขาเรียก อิมเมจิเนชั่น ต้องมีจินตนาการความคิด เหมือนคนที่สร้างนครวัด เขาต้องมีภาพมาก่อนว่าทำอย่างไรจึงจะมีปราสาทขึ้นมา ถ้าเรามีมโนภาพกว้างใหญ่ไพศาล เราก็สามารถสร้างสรรค์อะไรที่ใหญ่โตขึ้นมา ถ้ามีมโนภาพคับแคบก็สร้างสรรค์อะไรอยู่ในกะลาเท่านั้น"

          "คนอื่นเขาอาจจะไปทำขนมครก ไปรับเหมาทางด่วน ไปทำอะไรก็ได้ แต่กวีต้องเป็นกวีอยู่ทุกลมหายใจ คือโดยหลักจริง ๆ แล้วผมยังเขียนบทกวีอยู่เรื่อย ๆ จะชำระของที่ดูไม่ค่อยเรียบร้อยให้เรียบร้อย ให้หมดจดขึ้น มีถ้อยคำที่ลงตัว คือพูดง่าย ๆ ว่า ถ้าเราตายไปแล้ว เราก็หมดโอกาสที่จะเปิดฝาโลงขึ้นมาชำระโคลงของเราให้เรียบร้อย คนที่เขียนกวี ถ้าบทกวีชิ้นใดไม่สมบูรณ์ ก็เหมือนเราไปปรโลกแล้วยังมีห่วงอยู่"

         "โดยหลักการ การเขียนกาพย์กลอนต้องโปร่งใส ต้องใช้อิสระเสรี ถึงจะทำได้ดี ก็เหมือนทะเลเวลามีคลื่นลมมากเรือที่ลอยอยู่ก็สามารถจมได้ บางครั้งอารมณ์ไม่ดีก็ทำไม่ได้"
http://hilight.kapook.com/view/75384



จากข่าวการเสียชีวิตของท่านศิลปินแห่งชาติยอดฝีมือแห่งกวีและจิตรกร
    อังคาร กัลยาณพงศ์ ด้วยวัย 86 ปี
ขอนำบทกวีที่น่าประทับใจของท่านมาให้อ่านกันครับ

เสียเจ้า
๑.เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า ซบหน้าติดดินกินทรายฯ

๒.จะเจ็บจำไปถึงปรโลก ฤารอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย อย่าหมายว่าจะให้หัวใจฯ

๓.ถ้าเจ้าอุบัติบนสวรรค์ ข้าขอลงโลกันตร์หม่นไหม้
สูเป็นไฟเราเป็นไม้ ให้ทำลายสิ้นถึงวิญญาณฯ   

๔.แม้แต่ธุลีมิอาลัย ลืมเจ้าไซร้ชั่วกัลปาวสาน
ถ้าชาติไหนเกิดไปพบพาน จะทรมานควักทิ้งทั้งแก้วตาฯ

๕.ตายไปอยู่ใต้รอยเท้า ให้เจ้าเหยียบเล่นเหมือนเส้นหญ้า
เพื่อจดจำพิษช้ำนานา ไปชั่วฟ้าชั่วดินสิ้นเอย ๚๛   


โลก
๑.โลกนี้มิอยู่ด้วย มณี เดียวนา   
ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง   
ปวงธาตุต่ำกลางดี ดุลยภาพ   
ภาคจักรพาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหนฯ

๒.ภพนี้มิใช่หล้า หงส์ทอง เดียวเอย   
กาก็เจ้าของครอง ชีพด้วย   
เมาสมมุติจองหอง หินชาติ   
น้ำมิตรแล้งโลกม้วย หมดสิ้นสุขศานต์ฯ   


ปณิธานของกวี
๑.ฉันเอาฟ้าห่มให้ หายหนาว   
ดึกดื่นกินแสงดาว ต่างข้าว   
น้ำค้างพร่างกลางหาว หาดื่ม   
ไหลหลั่งกวีไว้เช้า ชั่วฟ้าดินสมัยฯ

๒.พลีใจเป็นป่าช้า อาถรรพณ์   
ขวัญลิ่วไปเมืองฝัน ฟากฟ้า   
เสาะทิพย์ที่สวรรค์ มาโลก   
โลมแผ่นทรายเส้นหญ้า เพื่อหล้าเกษมศานต์ฯ

๓.นิพนธ์กวีไว้เพื่อกู้ วิญญาณ   
กลางคลื่นกระแสกาล เชี่ยวกล้า   
ชีวีนี่มินาน เปลืองเปล่า   
ใจเปล่งแววทิพย์ท้า ตราบฟ้าดินสลายฯ

๔.จิตกาธารกรุ่นไหม้ โฉมไป ก็ดี   
กาพย์ร่ำหอมแรงใจ ไป่แล้ว   
จุติที่ภพไหน ภพนั่น   
ขวัญท่วมทิพย์รุ้งแก้ว ร่วงน้ำมณีสมัยฯ

๕.ลายสือไหววิเวกให้ หฤหรรษ์   
ฝนห่าแก้วจากสวรรค์ ดับร้อน   
ใจปลิวลิ่วไปฝัน โลกอื่น   
หอมภพนี้สะท้อน ภพหน้ามาหอมฯ

๖.ข้ายอมสละทอดทิ้ง ชีวิต   
หวังสิ่งสินนฤมิต ใหม่แพร้ว   
วิชากวีจุ่งศักดิ์สิทธฺ์ สูงสุด   
ขลังดั่งบุหงาป่าแก้ว ร่วงฟ้ามาหอมฯ   


บทกวีที่หาอ่านได้ยากอีกบทหนึ่ง
o เกิดมาทำไมในชาตินี้   เพื่อมีงานทิพย์แด่ดินฟ้า
เสาะแสวงมิแล้งแรงปัญญา   ใช้คุณค่าอมตะวิญญาณ

o โลภอะไรไหมในโลก   โลภลบโศกเพื่อสุขเกษมศานติ์
แผ่เมตตากรุณาจบจักรวาล   ทุกกาลสมัยให้อโหสิกรรม

o โกรธอะไรไหมในฟ้านั้น   โกรธมิ่งขวัญจะหายบ้าระห่ำ
เพราะสงครามกักขฬะอธรรม   ครอบงำจิตร์มนุษย์สุดต่ำทราม

o หลงอะไรบ้างกลางแดนดิน   หลงถวิลเสน่หาทั่วฟ้าสาม
อยากทะนุถนอมโลกงดงาม   อร่ามคุณค่ากว่าสวรรค์ใด

o แล้วปราถนาอะไรในพิภพ   จบอุดมคติทิพย์ยิ่งใหญ่
นำงานชีวิตถึงหลักชัย   รวงรุ้งแห่งสมัยอกาลิโก

o เจ้าบำเพ็ญตบะอะไรบ้าง   ชำระล้างจิตร์หยาบหยิ่งยโส
เพื่อทำทานน้ำใจใหญ่โต   แด่คนโซยากแค้นทั้งแดนดิน

o มีมรดกไหมหฤทัยนั้น   มีฝันทิพย์ตักตวงไป่สิ้น
เป็นมูลนิธิทิพย์ไร้มลทิน   ระรินคติธรรมร่ำหอมเมือง

o เจ้ารักอะไรในโลกนี้   รักวรรณคดีสุนทรีย์ฟุ้งเฟื่อง
เพราะช่วยมนุษย์ชาติรุ่งเรือง   เปรื่องปราชญ์พ้นสัตว์มหัศจรรย์

o อโหมนุษย์น้อยกระจิดริด   แง่คิดเจ้าเหลวเปล่าเงาฝัน
เหตุมนุษย์ชาติชั่วช้าอาธรรม์   จะจุดประลัยกัลป์ล้างโลกแล ๚๛


๏ อังคาร กัลยาณพงศ์ ๚๛


อนิจจาน่าเสียดาย ฉันทำชีวิตหายครึ่งหนึ่ง
ส่วนที่สูญนั่นลึกซึ้ง   มีนํ้าผึ้งบุหงาลดามาลย์ ฯ

ครึ่งหนึ่งหลงเหลือในอกนี้ สั่นชีวีเสียสะเทือนสะท้าน
ซํ้าโซ่ตรวนพันธนาการ ทรมานปานทาสจะขาดใจ ฯ

อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่น้องแก้ว ขึ้งโกรธพี่แล้วจะทำไฉน
ถึงใกล้ก็อย่างห่างไกล   ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ฯ

เสียแรงชายบริสุทธิ์ซื่อ   ควรหรือนางมล้างค่าใฝ่ฝัน
ทิ้งให้เทวษหาจาบัลย์   ที่ไหนนั่นมิ่งขวัญจะกลับคืน ฯ

หมายทะนุถนอมไว้กะอก กลับตกในมือของเขาอื่น
แสนเจ็บแสนปวดปูนปื้น   พิษมาเสียบเสียววิญญาณ ฯ

ใจนางอย่างนํ้าค้างกลางดึก ดั่งผนึกเพชรใสไหวสะท้าน
ชั่วครู่ก็แตกดับกับดินดาน ไร้แก่นสารจะหวังมิยั่งยืน ฯ

บุราณว่าพรากจากนารี ลับลี้สามวันฝันเป็นอื่น
เสียเจ้าโศกเศร้าทุกวันคืน สุดจะฝืนสู้ทุกข์ขุกเข็ญใจ ฯ

แค้นหญิงชิงชังไปทั่วโลก จะทุกข์โศกกะนารีหรือไฉน
เสียแรงเป็นบุรุษรัตน์อาชาไนย มาหลงใหลหล่มล้มจมดิน ฯ

ระอัปยศแก่วิญญาณ อัปประมาณอดสูฤารู้สิ้น
จึงตัดใจหลั่งนํ้าไหลริน ลงดินขาดกันจนวันตาย ๚๛

๏ อังคาร กัลยาณพงศ์ ๚๛

_friendship Posted 25 August 2012 - 12:09 Pm
-ขอคารวะและไว้อาลัย ยอดกวีศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์
:http://siamnaliga.com/index.php?/topic/218547- ขอคารวะและไว้อาลัย-ยอดกวีศิล/


บทที่สอนเรื่องคุณค่าของเวลา”
       
       น้ำไหลอายุขัยก็ไหลล่วง
       ใบไม้ร่วงชีพก็ร้างอย่างความฝัน
       ฆ่าชีวาคือพร่าค่าคืนวัน
       จะกำนัลโลกนี้มีงานใด
 ๏ อังคาร กัลยาณพงศ์ ๚๛


      หลังจากการจากไปของอังคาร ผู้เคยบอกว่า
     “ผมหาวเป็นลายกนก และ ฝันเป็นโคลงสี่สุภาพ”
     พระมหาวุฒิชัย ได้เขียนบทกวีเพื่อเป็นการไว้อาลัยว่า
       
       “อังคาร” เป็นถ่านเถ้า ธุลีดิน
       “กัลยาณพงศ์” บิน บ่ายฟ้า
       เอกอัครศิลปิน ปราชญ์โลก
       กายจากหากงานท้า เทพทั้งนาครถวิล
       
       สิ้นอังคารไม่สิ้นศรีกวีแก้ว
       ยังเจื่อยแจ้วจำเรียงอยู่ไม่รู้หาย
       ทั้งกาพย์กลอนโคลงฉันท์พรรณราย
       อมรรตายตราบดินฟ้าล่มหล้าลง
       
       “สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา”
       พระพุทธาย้ำเตือนอย่าเลือนหลง
       สรรพสิ่งสังขาร์ว่าหยัดยง
       วันหนึ่งคงร่วงรุ้งฟุ้งกระจาย
       
       “สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา”
       พระพุทธาเน้นหนักจำหลักหมาย
       ประดาสิ่งผสมอย่างมงาย
       ว่าไม่ตายไม่ภินท์พังอย่าหวังเลย
       
       “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา”
       พระพุทธาสอนสั่งอย่าฟังเฉย
       สรรพสิ่งสากลไม่ทนเอย
       ที่สุดเผย “แก่นกลวง” ทะลวงตา
       
       อังคารลับลาโลกอย่าโศกเศร้า
       กวีเก่ามิเคยแก่ลองแลหา
       หากคิดถึงท่านอังคารผ่านเวลา
       จงเหลือบตาเริงรสบทกวี.

       คิดถึงท่านอังคาร โดย ว.วชิรเมธี
     
       >>>แรงบันดาลใจ
       
       ย้อนกลับไปเกือบยี่สิบปี วันหนึ่งขณะกำลังนั่งอยู่ในห้องสอบวิชา “การประพันธ์ไทยสำหรับครู” ผู้เขียนได้อ่านพบกวีนิพนธ์บทหนึ่งซึ่งเป็นข้อสอบที่นักศึกษาจะต้องวิจารณ์ลงในกระดาษคำตอบ พออ่านกวีนิพนธ์บทนั้นจบแล้ว ก็สัมผัสได้ว่า “นี่ไม่ใช่กวีนิพนธ์ธรรมดา” รู้สึกขึ้นมานาทีนั้นว่า ตั้งแต่อ่านกวีนิพนธ์มา ยังไม่มีกวีบทไหนที่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความลึกซึ้งขนาดนี้มาก่อน
       
       เมื่อเขียนคำตอบเสร็จแล้ว จึงพยายามขออนุญาตเอากระดาษข้อสอบออกมาจากห้อง เพราะต้องการจะได้กวีนิพนธ์บทนั้นมาไว้สืบค้นว่าใครกันหนอเป็นผู้แต่ง แต่อาจารย์ผู้คุมห้องสอบไม่อนุญาต เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร จึงใช้วิธีคัดกวีนิพนธ์บทนั้นลงบนฝ่ามือ เมื่อออกมาจากห้องสอบแล้ว จึงพยายามตามหาว่า ใครแต่งกวีนิพนธ์บทนั้น หากันอยู่พักใหญ่ ในที่สุดก็ไปได้หนังสือรวมบทกวีชื่อ “กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงษ์” จากร้านหนังสือเก่าที่จตุจักร นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้เขียนก็นับท่านอังคาร กัลยาณพงษ์เป็นครูกวีในแบบครูพักลักจำมาโดยตลอด
       
       กวีนิพนธ์บทที่คัดใส่ฝ่ามือออกมาจากห้องสอบนั้น ก็คือ
       
       “โลกนี้มิอยู่ด้วย มณี เดียวนา
       ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง
       ปวงธาตุต่ำกลางดี ดุลยภาพ
       ภาคจักรพาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหน”
       
       “ภพนี้มิใช่หล้า หงส์ทอง เดียวเลย
       กาก็เจ้าของครอง ชีพด้วย
       เมาสมมมุติจองหอง หินชาติ
       น้ำมิตรแล้งโลกม้วย หมดสิ้นสุขศานต์”
       
       เหตุที่ความลึกซึ้งของกวีนิพนธ์บทนี้ทำให้ผู้เขียน “ประทับใจ” ในระดับที่เรียกกันว่าเกิดอาการ “องค์กวีลงประทับ” ก็เพราะเนื้อหาทั้งหมดไปสอดคล้องกับหลักธรรมชื่อ “อิทัปปัจจยตา” (สิ่งนี้มีเพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย) อันเป็นหลักธรรมระดับปรมัตถธรรมของพุทธศาสนานั่นเอง
       
       ท่ามกลางกวีที่เขียนกวีเพื่อส่งประกวดรายปี ซึ่งเด่นและแม่นในทางฉันทลักษณ์ ทว่าเบาหวิวในแง่เนื้อหาสาระ งานของท่านอังคาร กัลยาณพงษ์ ซึ่งสุขุมลุ่มลึกและมากด้วยอหังการของกวีที่สำแดงออกผ่านโคลงฉันท์กาพย์กลอนจึงเหมือนกับเพชรนิลจินดาที่สุกสว่างอยู่ท่ามกลางกองกรวดกองทรายนับอนันต์
       
       ตอนที่เริ่มเรียนเขียนกลอนใหม่ๆ ผู้เขียนยังเคยเอารูปของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ (และรูปอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) ซึ่งตัดมาจากนิตยสารสกุลไทยมาใส่กรอบตั้งไว้ในห้อง เดินเข้าเดินออกก็เห็นท่านทุกวัน ทำให้ไฟกวีในตัวรุ่งโรจน์โชตนาอยู่เสมอ และที่รักการเขียนโคลงอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะความหลงไหลในโคลงของท่านอีกนั่นเอง
       
       >>>ความเมตตาของครู
       
       เวลาไปร่วมงานบางงานที่มีท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นผู้อ่านกวีนิพนธ์ บ่อยครั้งเมื่ออ่านกวีนิพนธ์เสร็จแล้ว ท่านอังคารจะนำเอาต้นฉบับกวีนิพนธ์บทนั้นที่เขียนด้วยลายมือมามอบให้กับผู้เขียนด้วยมือตนเอง โดยท่านมักพูดขำๆ ด้วยเสียงดังอย่างเป็นเอกลักษณ์ว่า “ผมขอมอบให้พระอาจารย์เก็บไว้ดีกว่า เพราะคนพวกนั้นไม่รู้จักคุณค่าของบทกวีหรอก”
       
       >>>อัจฉริยลักษณ์ของท่านอังคาร
       
       ลักษณะพิเศษในงานของท่านอังคาร คือ
       
       (๑) ความลุ่มลึกของทัศนะต่อโลกและชีวิต ที่แสดงออกมาอย่างมีความเป็นสากล โดยเฉพาะในงานยุคต้นๆ ที่มีความสดใหม่ ดุดัน กราดเกรี้ยว คมกริบ เช่น บทที่ว่า
       
       “ใครดูถูกดูหมิ่นศิลปะ
       อนารยะไร้สกุลสถุลสัตว์
       ราวลิงค่างเสือสางกลางป่าชัฏ
       ใจมืดจัดกว่าน้ำหมึกดำ
       
       เพียงกินนอนสืบพันธุ์นั้นหรือ
       ชื่อว่าสิ่งประเสริฐเลิศล้ำ
       หยาบยโสกักขฬะอธรรม
       เหยียบย่ำทุกหย่อมหญ้าสาธารณ์
       
       ภพหน้าอย่ามีรูปมนุษย์
       จงผุดเกิดในร่างดิรัจฉาน
       หน้าติดดินกินขี้เลื้อยคลาน
       ทรมานทุกร้อนร้ายนิรันดร์เอย”

       
       ที่ว่าเป็นสากลคือกวีนิพนธ์ของท่านนั้นมีความลุ่มลึกเลยระดับปรากฏการณ์ต่างๆ เฉพาะหน้าออกไป ใกล้เคียงกับงานของคาลิล ยิบราน คือ มีความเป็นวรรณกรรมและสัจธรรมพร้อมกันอยู่ในตัว เช่น บทกวีที่ชื่อ “โลก” ที่ยกมาให้อ่านข้างต้นนั้น
       
       (๒) ความเป็นนายของภาษา ท่านอังคารใช้ภาษาในงานกวีของท่านโดยไม่แคร์ราชบัณฑิตยสถานและไม่แคร์ครูภาษาไทย บางบทใช้คำหยาบ แรง และดิบเถื่อนจนอ่านแล้วแทบได้ยินทั้งเสียง สัมผัสทั้งสีและกลิ่น
       
       (๓) ความกล้าหาญทางจริยธรรมในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมชนิดที่ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ถ้าท่านเห็นว่า ไม่ถูกต้องแล้ว ท่านจะสับแหลก โดยเฉพาะกับนักการเมืองจอมฉ้อฉลด้วยแล้ว ท่านไม่เพียงร่ายกวีถึงหากแต่ท่านแช่งผ่านกวีเลยด้วยซ้ำ
       
       (๔) ความคิดนอกกรอบกล้าที่จะแหกขนบเดิมๆ ออกมาจนสามารถสร้างอัตลักษณ์ที่เป็นตัวของตัวเองได้อย่างโดดเด่นทั้งทางวรรณศิลป์และทางวิจิตรศิลป์
       
       งานเขียนของท่านอังคารเป็นทั้งวิจิตรวรรณกรรมและเป็นทั้งวิจิตรศิลปกรรมที่หาคนเสมอเหมือนได้ยาก โดยเฉพาะงานปาดเกรยองของท่านนั้นคมกริบจนเวลาเราดูภาพก็ให้รู้สึกเกรงไปว่ายอดแหลมๆ ของลายกนกจะทิ่มตาเอาได้
       
       ดูงานศิลปะของท่านจึงต้องเจริญสติให้ดีๆ ฟังท่านอ่านกวีก็ต้องฟังอย่างลึกซึ้ง มิเช่นนั้นแล้ว ท่านอาจหยุดอ่านแล้วด่าเอาซึ่งๆ หน้า หรือเวลาที่ท่านซึ้ง ท่านก็ร้องให้ออกมาเหมือนเด็กๆ ที่อุ้มความไร้เดียงสาเอาไว้เต็มที่
       
       ความเป็นกวีของท่านอังคารนั้นต่างจากกวีทั่วไป คือ ท่านเป็นกวีทั้งเนื้อทั้งตัว ไม่ได้เป็นบางฤดูเหมือนกวีบางคน ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า
       
       “ผมหาวเป็นลายกนก และฝันเป็นโคลงสี่สุภาพ”
       
       เวลาท่านอ่านกวีจึงต้องฟังทั้งกวีและต้องอ่านสิ่งที่ท่านแสดงออกมาในเวลานั้นไปพร้อมๆ กัน ท่านเล่าว่า ท่านจะยังไม่รีบบรรลุนิพพาน ขออยู่เขียนกวีที่ท่านรักไปพลางๆ ก่อน เนื่องเพราะท่านเป็นกวีมาหลายภพหลายชาติ แม้ชาติหน้าก็จะขอกลับมาเป็นอีก หรือต่อให้ตกนรกไปหมกไหม้อยู่ในกระทะทองแดง หากไม่ร้อนเกินไปนัก ท่านก็จะร่ายกวีกลางกระทะทองแดงให้สัตว์นรกฟัง
       
       (๕) อารมณ์ขันอันร้ายเหลือ พอ ๆ กับอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ เป็นอารมณ์ขันปนเมตตา อารมณ์ขันที่กลั่นมาจากปฏิภาณเฉพาะหน้า ไม่ใช่มาจากมุขตลกตื้นๆ แต่เกิดจากการจบโลกเจนธรรมจนหยิบมาอำมาด่าได้อย่างมีศิลปะ คือ ใครถูกด่าแล้วถ้าไม่ขมขื่นก็เกือบบรรลุธรรมน้อยๆ ที่สำคัญเราไม่รู้ว่าท่านจะขำหรือด่าใครเมื่อไหร่ อยู่ใกล้ๆ ท่านในงานต่างๆ จึงต้องดูทิศทางลมให้ดี แต่นี่ก็เป็นเสน่ห์ที่หาคนเลียนแบบได้ยาก
       
       (๖) เป็นนักอุดมคติ กล่าวคือ เป็นศิลปินที่ไม่ยอมขายจิตวิญญาณของตัวเองให้แก่คนที่ไม่เห็นคุณค่าของงานศิลปะที่ตนเองสร้างสรรค์ ชีวิตของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ในแง่นี้สอดคล้องกับโคลงโลกนิติที่ว่า
       
       “ถึงจนทนสู้กัด กินเกลือ
       อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ พวกพ้อง
       อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ สงวนศักดิ์
       โซก็เสาะใส่ท้อง จับเนื้อกินเอง”

:http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9550000105999

**********************************************


https://youtu.be/coum_KnH9OI
Published on Apr 9, 2012

๏ ฤาแผ่นดินสิ้นกวี..................จึ่งมีปีศาจฉกาจร้าย
กบเขียดน้อยรอยควาย.............หลั่งน้ำลายใบ้บ้าน่าชัง ฯ
เฉกสวะปฏิกูล......................ไป่ปูนรุ้งแก้วมณีหวัง
กะลาน้อยนิดอนิจจํ..................อึ่งคลั่งหนักว่าจักวาล ฯ

๏ ถึงปูนดาวคู่ฟ้า ......เดือนปี ก็ดี
วารหนึ่งอาจเป็นผี ......พุ่งใต้
อย่าดูหมิ่นปฐพี ......เหยียบย่ำ ใดเลย
ลางแห่งซ่อนเพชรไว้ ......ค่าล้ำ ภายหลัง

๏ ถึงน้ำเน่าขังท่อ...........ข้างถนน
มันย่อมเป็นเมฆฝน ..... แห่งฟ้า
ถึงต่ำแต่หวังผล ............อันเลิศ
เพียงเปรี่องปราชญ์มิช้า....ช่วยขึ้นภูมิสรวง
...

๏ โลกนี้มิอยู่ด้วย ................. มณี เดียวนา
ทรายและสิ่งอื่นมี ............... ส่วนสร้าง
ปวงธาตุต่ำกลางดี .............. ดุลยภาพ
ภาคจักรพาลมิร้าง .............. เพราะน้ำแรงไหนฯ

๏ ภพนี้มิใช่หล้า .............. หงส์ทอง เดียวเอย
กาก็เจ้าของครอง .............. ชีพด้วย
เมาสมมุติจองหอง ............. หินชาติ
น้ำมิตรแล้งโลกม้วย............... หมดสิ้นสุขศานต์ฯ

อ.ถวัลย์ ดัชนี ร่ายบทกวีของ อ.อังคาร กัลยาณพงษ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 21, 2016, 06:35:32 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สิเนหาอาลัย.. อังคาร กัลยาณพงศ์...
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 05, 2017, 01:46:15 pm »


ปณิธานของกวี
๏ ฉันเอาฟ้าห่มให้ หายหนาว
ดึกดื่นกินแสงดาว ต่างข้าว
น้ำค้างพร่างกลางหาว หาดื่ม
ไหลหลั่งกวีไว้เช้า ชั่วฟ้าดินสมัยฯ

๏ พลีใจเป็นป่าช้า อาถรรพณ์
ขวัญลิ่วไปเมืองฝัน ฟากฟ้า
เสาะทิพย์ที่สวรรค์ มาโลก
โลมแผ่นทรายเส้นหญ้า เพื่อหล้าเกษมศานต์ฯ

๏ นิพนธ์กวีไว้เพื่อกู้ วิญญาณ
กลางคลื่นกระแสกาล เชี่ยวกล้า
ชีวีนี่มินาน เปลืองเปล่า
ใจเปล่งแววทิพย์ท้า ตราบฟ้าดินสลายฯ

๏ จิตกาธารกรุ่นไหม้ โฉมไป ก็ดี
กาพย์ร่ำหอมแรงใจ ไป่แล้ว
จุติที่ภพไหน ภพนั่น
ขวัญท่วมทิพย์รุ้งแก้ว ร่วงน้ำมณีสมัยฯ

๏ ลายสือไหววิเวกให้ หฤหรรษ์
ฝนห่าแก้วจากสวรรค์ ดับร้อน
ใจปลิวลิ่วไปฝัน โลกอื่น
หอมภพนี้สะท้อน ภพหน้ามาหอมฯ

๏ ข้ายอมสละทอดทิ้ง ชีวิต
หวังสิ่งสินนฤมิต ใหม่แพร้ว
วิชากวีจุ่งศักดิ์สิทธฺ์ สูงสุด
ขลังดั่งบุหงาป่าแก้ว ร่วงฟ้ามาหอมฯ


ลำนำภูกระดึง
๏ ภูกระดึงตะลึงฝันว่าชั้นฟ้า
เมฆลอยมาหุ้มกายคล้ายสวรรค์
สวนสนป่าพฤกษาลดาวัลย์
เย้ายวนป่วนปั่นสั่นวิญญาณ

๏ เนินเถินสล้างสลับซับซ้อน
หญ้าอ่อนชะอ้อนใจไหวสะท้าน
งามเงื้อมชะโงกโตรกเหวธาร
ปานวิมานนฤมิตวิจิตรจริง

หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา ตอน นิมิตในสายรุ้ง
๏ รัตติกาลในม่านดำสีคล้ำหม่น
กาลจวบจนจวนเช้าป่าเขากว้าง
ทุ่งราบใหญ่ในเช้าตรู่ดูเวิ้งว้าง
ดูเคว้งคว้างหว่างเขาลำเนาไพร

๏ ละอองหมอกมัวคลุ้มคลุมดอยสูง
ไม้ยางยูงยอดเทียมเยี่ยมฟ้าใส
ตะวันรุ่งรุ้งทองผ่องอำไพ
งามละไมในเงาหมอกออกอัศจรรย์

๏ น้ำค้างหยดหยาดลงตรงใบไม้
ทิ้งรอยไว้ในดินทรายดังลายสวรรค์
ฝากละอองเป็นน้ำไหลใต้ตะวัน
ฝากรอยฝันสรรค์ลิขิตดังจิตกร

๏ ดอกไม้ป่าพากันแย้มแต้มแต่งสี
รับรวีที่ส่องมาเหมือนคราก่อน
ฝูงวิหคผกผินออกบินจร
หมู่ภมรร่อนชมดมมาลี

๏ เพียงยลยินทั้งดินฟ้าและอากาศ
ธรรมชาติสะอาดงามตามวิถี
ชำระใจไร้ชั่วมัวราคี
เพียงเท่านี้มีสุขทุกวันคืน

>>http://nagojora.tumblr.com/post/83900353846/บทกว-ของท-านอ-งคาร-ก-ลยาณพงศ


https://youtu.be/ISTl1g3gPVU

หนังสือเล่มนั้นชื่อ “หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา”
รวบรวมบทกวีร้อยแก้วของท่านอังคารฯ ไว้หลายบท 

   “ปางเมื่อสายัณหสมัย พระสุริยายอแสงจวนจะอัสดงลงลับหล้าภูผาสูง แว่วๆแจ้วๆเสียงยูงทองร้อง ปุยเมฆหม่นหมอง ละอองนวล ค่อยๆแปรปรวนโปรยประกายเป็นยวงสีส้มสุกทอขอบทองคำใสวาวบริสุทธิ์เลื่อนลอยลิบลิ่วปลิวเป็นรูปแก้วแหวนเงินทอง อัญมณี เสมอมีกัลปพฤกษ์สะพรั่งช่อดอกผลแก้ว แล้วโปรยปรายให้ทานปีติทิพย์ไปทั่วพื้นปัฐพี สุดแต่ใครจะมีแววตาเห็นคุณค่าอมตะสมบัติทิพย์ อันหาค่าบ่มิได้นั้นแล

   แสงทองคำของพระสุริยาพยับเมฆนั้น ส่องทะลุวงเมฆลงเป็นลำแสงพรายพระแพร้ว แล้ววงทองทิพย์ค่อยๆคล้อยเคลื่อนเลื่อนลงเหนือขอบฟ้า กระจายรังสีแจ่มจ้าประภัสสร สะท้อนฉายจบเวิ้งเขาลำเนาไม้ ทำให้เทือกขุนภูผาใหญ่ไกลลิบลิ่ว สุดขอบฟ้านั้นกลับกลายเป็นทิวเทือกขุนเขาสีทองคำบริสุทธิ์ ประดุจรูปนิมิตในเมืองฝัน

   ฝูงบุหรงดงบินบ่ายหน้า กลับค่าคบไม้รังรวง น่าแหนหวงชีวาปักษาทั้งป่าดงพงไพร ด้วยเจ้าไซร้เป็นผู้กระทำลำนำเพลงบรรเลงขลุ่ยวิเศษบอกโมงยามนาที มีบางตัวรั้งตำแหน่งระฆังทองของทิวาวาร เจื้อยแจ้วขานเสียงเพียงจะเรียกหาเมตตาธรรมจากความกรุณาปรานีซึ่งหนีหน้าหายไปจากหัวใจมนุษย์เสียช้านานแล้ว”

(ส่วนเริ่มต้นใน “บันทึกของจิตรกร อัจกลับแก้ว)
จากหนังสือ “กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ “กินรินทร์” พ.ศ. ๒๕๔๘
..
..

ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 18:47
หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา ตอน นิมิตในสายรุ้ง

รัตติกาลหลับอยู่ในม่านแพรของละอองอากาศสดใส ยวงนิลอมน้ำเงินเป็นละอองยองใย  ห้องแก้วนั้นคือเวิ้งพระธรณี มีพื้นราบกระทั่งสุดป่าเขาลำเนาไพรไปลับลิ่ว จนจบปริมณฑลไกลกว้างกว่าขอบฟ้า จวนลุเวลาเช้าตรู่ แสงทองเริ่มวเนจรมาถึงโลก ละอองหมอกอันปกคลุมดอยสูง ทำให้เกิดเป็นสายรุ้งอันรุ่งเรือง ในริ้วรุ้งสีทิพย์นั้นบังเกิดนิมิตน่าอัศจรรย์ซับซ้อนอยู่กว่าร้อยความฝัน เสมอฟ้าเสกสรรค์ เงาฝันนั้นมาซับซ้อนซ่อนเร้นไว้ให้หลงไหลใฝ่ฝันจินตนาการ

ทิวาวารตื่นแล้ว หอยทากคลืบคลานมาบสายรุ้ง  ลีลาช้า ๆ มาพร้อมกับแสงตะวันในยามเช้า หอยทากคลานลงจากโค้งรุ้งแล้วเลยหยุดกินน้ำค้างบนใบหญ้าและกลีบดอกไม้ เอ่ยถามหยาดน้ำค้างว่า ใครแต่งแต้มลวดลายไว้บนสไบพระแม่ธรณีในคืนนี้ มีจิตรกรหรือ เขาคงซื่อขีดเขียนอยู่มิรู้หลับนอนกระมัง

หยาดน้ำค้างตอบว่า " เรานี่แหละเป็นจิตรกร "

เมื่อท่ามกลางดึกสงัด เราได้หยดหยาดลงบนใบไม้ ตกต้องเนื้อดินทรายป่าอันละเอียด ตรงใหนมีลายพู่กันของเราลงแรง แผ่นดินก็เว้าลงเป็นรอยลึก ที่ใหนต้องรอยพู่กันน้อย รอยก็ตื้น ตลอดราตรีนี้น้ำค้างมิได้หลับนอนเลย ประจงแต่งแต้ม รอยสับสนวนวง ลงเป็นเส้นสายน้ำไหลอันไพจิตรน่าพิศวง ซื่อตรงเป็นลำนำธรรมชาติบริสุทธิ์ เราจึงสมมติว่าเป็นจิตรกรแก้วแล้วแต่งแต้มลวดลายของหยาดน้ำค้าง ลงบนสไบแพรของพระแม่ธรณี

" เจ้าเห็นสวยงามหรือ "
" จ้ะ สวยงามมาก "

ทำให้เห็นว่า โลกนี้มีแต่แรงเสน่หา น่าอัศจรรย์ ดูเถอะนั่นดอกไม้ป่าก็เบิกบานยิ้มแย้ม เสียดายก็แต่หมู่มนุษย์ โง่เขลาเบาปัญญา คิดแต่จะฆ่าทำลายล้างโลก ดูเถอะนั่นมันกำลังทำอากาศให้เสียหาย เป็นสวะดำมหึมาน่าขยะแขยง ทั้ง ๆ ที่เขาใช้อากาศหายใจ มีชีวิตสดใส เพราะอากาศบริสุทธิ์ แต่ไม่หยุดทำสกปรกสิ่งเลวนรกจกเปรต จนอากาศเน่าเปื่อยสิ้นทุกมุมเมือง

ดูสิเขาฆ่าป่าไม้ ทำลายสายต้นน้ำลำธารลงทุกเวลานาที อย่างไม่มีความหมายสิ่งใด เพียงแต่เหตุโลภหลงเงินทองเป็นกองภูเขาเลากาน่าอนาถ ต้นไม้ช่วยปรับช่วยปรุงให้อากาศบริสุทธิ์ กำนัลมนุษย์ทั้งโลก แต่เขาก็ฆ่าประหารพฤกษาตายคามือ มนุษยชาติอกตัญญู ไม่รู้จักบุญคุณสิ่งใด ดีแต่ทำระเบิดมหาประลัยไว้ล้างโลก แสนทุกข์แสนโศกเสียหนักหนา มิหนำซ้ำบ้าสงคราม กัดกันเหมือนสัตว์ป่าน่าอนาถ ดูสิไม่ทันอรุโณทัยเลย ก็เห่าแตรเครื่องยนต์เสียสนั่นหวั่นไหว แม้สัตว์ป่าโขลงช้างในไพรเถื่อน เพื่อนก็ไม่ตะโกนโพนทนาบ้าคลั่งดังแตรรถยนต์ รกไปด้วยเสียงสวะปฏิกูล แตร้นแตร่นแสนแสบหูดับตับไหม้แรงร้ายชั่วช้าสาหัสนัก

อรุโณทัยพลอยหม่นหมองเสียอารมณ์ รู้สึกโกรธเคืองอุษาโยคนี้ที่มืดมิดไปหน่อย ไม่มีแสงเงินแสงทอง เหมือนอุษาโยค ณ เวลาของทิวาอื่น ๆ ขมขื่นนักหรือ ดึงดื้อเป็นอย่างนั้นกับเขาเหมือนกันรึ อรุโณทัย ทำราวกับจำแบบเอาอย่างมนุษย์ที่มีเงินนับว่าน้อง มีทองนับว่าพี่ อย่างนี้จะดีที่ใหนอุษาโยคใดจะยากจนข้นแค้นไปบ้าง คือหม่นหมองขาดแสงเงินแสงทอง ไม่ควรจะดูหมิ่นถิ่นแคลนถึงกับไล่ไปเสียจากทิวาวาร เป็นการด่วนได้เห็นแก่นนั้นอัปยศนัก ไม่ควรด่วนใจร้อนเลย อย่ารีบร้อนนักความดีงามจะหนีหายหมด ดูเถอะเขาอื่นหมื่นแสนในแดนดินยังหลับสนิท เว้นแต่หมู่มนุษย์บ้าหลัง โลภหลงละเมอในเงิน เพ้อเจ้อในกองทอง

ดูเถอะนั่น นาฬิกายังหลับไหล ละเมอเพ้อฝัน จนมีพันธุ์บุปผชาติบานแย้มขึ้นบนเข็มของนาทีและชั่วโมง เวลานาที อบอวนด้วยกลิ่นหอมจากละอองเรณูดอกไม้ คงจะเป็นความฝัน มิใช่ความจริงสิ่งใดเป็นความจริงแท้ แต่ใคร ๆ ในโลกไม่ตระหนักประจักษ์แจ้ง ยังเคลือบแคลงสงสัยเรียกชื่อใหม่ว่าความฝัน เราจะปลุกเวลาขึ้นดีใหมอรุโณทัยถาม หอยทากตอบ อย่าปลุกเธอขึ้นมาเลย ปล่อยให้ฝีเท้าเราไปล่วงหน้าเวลาสักร้อยปีมิดีกว่าหรือ

เวลาอันแสนบรมสุข มักประมาทหลงเหลิงจนลืมนาทีทอง อันมีค่าควรที่จะตื่นเสาะแสวงหาศึกษารู้แก่นสารของชีวิตแล้วปฏิบัติผลิดอกออกผลงานทิพย์ไว้ในโลก แม่พระธรณีจะไม่โศกเศร้าเสียค่าน้ำนมเปล่า เวลาหลับหรือตื่นอย่าไปสนใจเลย ทำธุระการงานจุดมุ่งหมายในหน้าที่ชีวิตของท่านจงทุกนาทีเถิด เวลานั้นยิ่งใหญ่จนเรานึกไม่ถึงกำหนดไม่ได้คิดไปไม่เห็น เป็นสิ่งลึกซึ้งใหญ่หลวงนัก

ทั้ง ๆ ที่เวลาเป็นสิ่งว่างเปล่า  ในตัวของมันเองไม่มีอะไรเลย แต่ในความไม่มีอะไรในสูญตานั้น สรรพสิ่งต่าง ๆ อันคงอยู่ในสกลจักรวาลและสุริยจักรวาลฟากฟ้าอื่น ๆ ล้วนเป้นองค์ประกอบของเวลาทั้งหมด ดูเป็นมิติมหึมา สุดคณานับ ประมาณความหมายถึงลึกซึ้ง จนครอบคลุมสิ่งทั้งปวงไว้เป็นเอกภาพสูงสุด

เหนือมิติความว่างอันหลากหลาย คือ สุญญะนั้น กลับเป็นตัวตนอันใหญ่ยิ่ง จะว่ามีตนก็ได้ จะว่าไม่มีก็ได้ จุดหมายสูงสุด ช่างอิสระเสรี ในความไม่ยึดถือ หรือยึดถือเสมอไม่ยึดถือ พูดอย่างซื่อ ๆ  บริสุทธิ์ไว้ให้ปวงมนุษย์ดูหมิ่นเล่น เวลาดูเสมอว่าหลับใหล  แต่ในความหลับสนิทนั้น อาจกลับกันเป็นความตื่นอันแท้จริงก็ได้

หอยทากคลานมาช้า ๆ หารู้พิษสงของเวลาไม่ กระทั่งคืบคลานมาถึงความตายผุเปื่อยไป แต่เวลายังหาผุเปื่อยไม่ ไม่มีรอยยิ้ม แต่ดูเสมือนว่าเวลานั้นยิ้มแย้ม ดอกไม้ก็ยังบานสะพรั่ง สายลำธารก็ยังหลากไหล นกก็ยังร่ำร้องเป็นปกติอยู่

มีสิ่งเปลี่ยนแปร ก็แต่หอยทากนั้น อันได้กลับชาติเกิดเป็นมนุษย์และหลงตัวเองว่าศรีวิไลใหญ่ยิ่งลำพองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ  โดยไม่หยุดคิดมองไตร่ตรองเห็นตัวเอง  แล้วเปรียบเทียบกับสิ่งใดเลย  มืดมนอนธการอยู่แต่ในคำสรรเสริญเยินยอ  ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐเลิศโลกนั้น นับกาลนาน
 
อนิจจา

อังคาร กัลยาณพงศ์
ร่างต้นฉบับเมื่อก่อน พ . ศ. ๒๕o๙

**
**
กามนิต-วาสิฎฐีของเสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป
      ภาษาของนักปราชญ์ทั้งสองท่านงดงามมาก   ตั้งแต่หน้าแรกทีเดียว

     "ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จลงมาตรัสในมนุษยโลกแล้ว ถึงวาระอันควรจะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ได้เสด็จสู่ที่จาริกไปในคามชนบทราชธานีต่าง ๆ แห่งแคว้นมคธจนบรรลุกรุงราชคฤห์มหานคร"


ข้อความในพระสูตรเป็นดั่งนี้
ขณะพระองค์เสด็จมาใกล้เบญจคิรีนครคือราชคฤห์ เป็นเวลาจวนสิ้นทิวาวารแดดในยามเย็นกำลังอ่อนลงสู่สมัยใกล้วิกาล ทอแสงแผ่ซ่านไปยังสาลีเกษตร แลละลิ่วเห็นเป็นทางสว่างไปทั่วประเทศสุดสายตา ดูประหนึ่งมีหัตถ์ทิพย์มาปกแผ่อำนวยสวัสดี เบื้องบนมีกลุ่มเมฆเป็นคลื่นซ้อนซับสลับกันเป็นทิวแถว ต้องแสงแดดจับเป็นสีระยับวะวับแววประหนึ่งเอาทรายทองไปโปรยปราย เลื่อนลอยลิ่ว ๆ เรี่ย ๆ รายลงจดขอบฟ้า ชาวนาและโคก็เมื่อยล้าด้วยตรากตรำทำงาน ต่างพากันดุ่ม ๆ เดินกลับเคหสถานเห็นไร ๆ เงาหมู่ไม้อันโดดเดี่ยวอยู่กอเดียว ก็ยืดยาวออกทุกที ๆ มีขอบปริมณฑลเป็นรัศมีแห่งสีรุ้ง อันกำแพงเชิงเทินป้อมปราการที่ล้อมกรุงรวมทั้งทวารบถทางเข้านครเล่า มองดูในขณะนั้นเห็นรูปเค้าได้ชัดถนัดแจ้งดั่งว่านิรมิตไว้ มีสุมทุมพุ่มไม้ดอกออกดกโอบอ้อมล้อมแน่นเป็นขนัด ถัดไปเป็นทิวเขาสูงตระหง่าน มีสีในเวลาตะวันยอแสงปานจะฉาบเอาไว้เพื่อแข่งกับแสงสีมณีวิเศษ มีบุษยราคบัณฑรวรรณและก่องแก้วโกเมน แม้รวมกันให้พ่ายแพ้ฉะนั้น

          พระตถาคตเจ้าทอดพระเนตรภูมิประเทศดั่งนี้ พลางรอพระบาทยุคลหยุดเสด็จพระดำเนิน มีพระหฤทัยเปี่ยมด้วยโสมนัสอินทรีย์ในภูมิภาพที่ทรงจำมาได้แต่กาลก่อน เช่นยอดเขากาฬกูฏไวบูลยบรรพต อิสิคิลิและคิชฌกูฏ ซึ่งสูงตระหง่านกว่ายอดอื่น ยิ่งกว่านี้ทรงทอดทัศนาเห็นเขาเวภาระอันมีกระแสธารน้ำร้อน ก็ทรงระลึกถึงคูหาใต้ต้นสัตตบรรณอันอยู่เชิงเขานั้น ว่าเมื่อพระองค์ยังเสด็จสัญจรร่อนเร่แต่โดยเดียว แสวงหาพระอภิสัมโพธิญาณ ได้เคยประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ในที่นั้นเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะเสด็จออกจากสังสารวัฏเข้าสู่แดนศิวโมกษปรินิพพาน
**
**

     ขณะหนึ่งในแววตาของเวลา : อังคาร กัลยาณพงศ์

    ทิพยเนตรแห่งวินาที จ้องภาษาตาไปพูดกับดวงดาว ดูราวผู้อยู่ชั่วนิจนิรันดร์ บนหลืบผาสูงนั้นมีแมงมุมหนึ่ง บรรจงถักรูปนานาบุปผชาติเบิกบานแย้มไว้กลางใย กระทั่งราชินีแห่งแมลงปีกสีทอง และผีเสื้องามทั้งหลายต่างหลงใหล บินมาติดใยตายมากมาย แมงมุมตะกรุมตะกรามกิน ทั้งเหลือเป็นอาหารสำรองไว้อีกมากมาย จนเพื่อนแมงมุมอื่นๆ ยกย่องเป็นเศรษฐี
    มันรำพึงว่า ฮะฮ้า แมงมุมเอ๋ย ถ้าหากเจ้าถักรูปถุงทองคำไข่มุกเพชรมณีไว้กลางใย หมู่มนุษย์จะหลงใหล มาติดใยล้มตายลง เสมือนแมลงเป็นมั่นคง เราจะลองดูไหมล่ะ
    แม่งมุมเฒ่าห้าม อย่า เราจงเลิกใช้วิธีเช่นนั้น อย่าหลอกลวงใคร ดอกไม้ล่อต่อหน้า แล้วเอาเขี้ยวขย้ำข้างหลัง เสียความงามแห่งวิญญาณ อย่าเอาความดีเป็นทาสรับใช้ความชั่วเลย
    ตราบกาลอวสานแมงมุมและบางเหล่าสัตว์เดรัจฉานเชื่อฟัง แต่บังเอิญชาวป่าดึกดำบรรพ์หมู่หนึ่ง ได้ยินคำสนทนาของเดรัจฉานเหล่านั้น ชาวป่าเถื่อนดึกดำบรรพ์รู้สึกจับใจในความเฉลียวฉลาดของแมงมุม จึงเก็บสิ่งบาปกลอุบายนั้น มาทะนุถนอมเป็นสมบัติในนิสัยสืบโคตรตระกูลมนุษย์ มาตราบเท่าทุกวันนี้
    ( จาก กวีนิพนธ์ 'แววตาของเวลา' โดยอังคาร กัลยาณพงศ์)
**
**

   แม่นกนางแอ่น
ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ รจนา


   นกนางแอ่นฝูงหนึ่ง อาศัยเกาะร้างกลางมหาสมุทรกาลนั้น มรสุมรุนแรง กระแสคลื่นกราดเกรี้ยวจนเกาะเกือบจมน้ำฝูงนกตกใจ หนีพลัดพรากสิ้นร้างทั้งรวงรัง ทิ้งไว้แต่ลูกนกกำพร้าเพียงตัวเดียว เธอเกิดจากไข่ฟองสุดท้ายแห่งฤดูกาล

   ลูกนกสลบไปตั้งแต่เช้า ล่วงกลางคืนตกดึกดื่น ฟื้นขึ้นด้วยเย็นหยาดน้ำค้าง อกเบาหวิว หิวโหย อ่อนใจ จนหลงใหลเพ้อเจ้อ ทำไมแม่ไม่มาทำรังกลางปุยเมฆขาว นวลละออง เราจะจิกกินเดือนดาวได้ ปางใดเรามีปีก ปางนั้นเราจะบินหนีไปสุดหล้าฟ้าอื่นจนความทุกข์ทรมานตามไม่ถึง

   เดือนหงายแจ่มกระจ่าง หมู่แมลงเล็กๆพยายามบินขึ้นไปหาพระจันทร์ มันสิ้นแรงดับร่วงกลางหาวดึกลึก ซากลิ่วลอยลงในรวงรัง พร้อมน้ำค้างหยาด กระทบพืชอ่อนๆ พลอยตกในรวงรังด้วย ลูกนกประทังชีวิตด้วยสิ่งเหล่านี้ ช้าวันนานคืน มันรำลึกถึงแต่แม่ เคยคาบเหยื่อป้อนทุกเช้าเย็น บัดนี้ แม่ทิ้งเหยื่อไว้ให้ลูกอันกล้ำกลืนไม่รู้สิ้น คือความทุกข์ระทมถึงสุดโศกาดูร

   อรุโณทัย ลูกนกถามสายรุ้งว่า ดูรากำไลทองของขอบฟ้า ท่านทราบไหม มารดาข้าน้อยอยู่แห่งหนไหน ฉันไม่ทราบ ฉันเป็นเพียงอนุภาคไอน้ำทอประกายรังสีใส รู้เล็กน้อยว่า บางสิ่ง ธรรมชาติสร้าง แล้วสลายเร็วเกินไป จนไม่ทันรู้จักตัวเอง เสมือนชั่วครู่ที่เกิดเป็นสายรุ้ง กำลังทำลายตัวเอง อันหนวกบอดใบ้ไม่รู้ว่าจะหายไปแห่งหนไหน ท่านลองถามกระแสคลื่นเถิด

   ลูกนกนิ่ง เสียใจ กระทั่งดึกดื่นก็ยังเกรงใจคลื่น ด้วยทุกระลอกคลื่น สะอึกสะอื้นครวญคราง ล้มฟาดตัวแตกกระจายพรายจนหาดทรายขาวพราวเพราะฟองน้ำตา ท่านคงเสมือนเราที่ทุกข์ระทมท้นหัวใจ สายลมเจ้าข้าเอย มารดาข้าน้อยอยู่แห่งหนไหน แต่ลมพัดแล้วไม่คอยใคร เจ้าจะต้องรอคอย เราฝากคำตอบไว้กับเทพเจ้า ณ ดวงดาวบนสรวงสวรรค์

   เวลาล่วงเลยไป ลูกนกเติบโตบินสู่ฟากฟ้าอันไพศาลวันนั้น ตั้งแต่เช้ายังหาเหยื่อไม่ได้ จนจวบโพล้เพล้รำไร ลูกนกจึงเหลือบเห็นหอยประกายแวววาว มันบินเวียนวนโฉบคาบได้คาบเหินขึ้นสูง ทิ้งหอยกระแทกหินโดยแรง เปลือกแตกฉีกเนื้อราวคมมีดเฉือน ร่างหอยบิดเป็นเกลียว ด้วยเจ็บปวดแสบที่สุด

   บัดดลนั้น ฟากฟ้าบันดาลให้ดวงดาวตกวูบกระจ่างวาว นิรมิตความสำนึกแห่งรักชั่วนิรันดร บันดาลสัตว์ทั้งสองพูดและเข้าใจกันได้ แม่นกบินกลับมาหาลูกวันมรสุมรุนแรง แต่คลื่นสาดฟาดร่างนางนกตกจมหายใต้ทะเลลึก นางฝากวิญญาณความรักห่วงหาอาลัย เกิดในฝาหอยน้อยกระจิดริด ไม่ยอมพูดภาษาใดๆสิ้น นอกจากห้วงดวงใจรู้สึกคิดถึงลูกตามลำพัง เพื่อจะจดจำไปชั่วกาลอวสาน ลูกนกนางแอ่นเล่าเรื่องหนหลังให้แม่หอยฟังสิ้น ทุกข์โศก เจ็บ จนนางตื้นตันใจกลางความแสบปวดรวดร้าว

   ลูกเอ๋ย ชาติที่แล้ว แม่ตายเสียไม่ทันป้อนเหยื่อเจ้าเมื่อมื้อค่ำ มาพบกันใหม่ในชาตินี้ แม่มีตัวเองเป็นเหยื่อ มาป้อนเจ้าพอดี ลูกรัก เราไม่รู้จะกำหนดคุณค่าอันลึกซึ้งของความรักได้อย่างไร พอสิ้นเสียงแล้ว แม่หอยก็ขาดใจตาย

   ลูกนกฟุบกลิ้งเกลือกจนสลบไสล หัวใจแตกสลายตายตามไป กระทั่งคลื่นสาดสองซากเน่าเปื่อยเป็นผงธุลี ปลงสังเวชผงธุลีที่เคยเป็นแม่หอยและลูกนกนางแอ่นตัวนั้น อันฝากความรักเตือนแผ่นทรายไว้รำลึก ตลอดอายุขัยแห่งกาลนาที เทอญ

หมายเหตุ:
จินตนิทานเรื่องนี้ คัดลอกจากหนังสือ “กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์”
จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กินรินทร์ พ.ศ. ๒๕๔๘
..
..
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 12, 2017, 08:51:50 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สิเนหาอาลัย.. อังคาร กัลยาณพงศ์...
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กันยายน 05, 2017, 01:51:36 pm »
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 ม.ค. 13, 12:07
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเว็บไซต์เรือนไทยที่เคารพทุกท่านครับ

   ในที่สุด คุณน้าผู้รักหลาน (เช่นเดียวกับที่หลานรักน้า) ก็บอกผมจดนิทานเรื่อง “ญ่า” ของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นอักษรเบรลล์จบบริบูรณ์แล้วครับ ผมพิมพ์เสร็จเมื่อเช้าวันนี้เอง ขออนุญาตนำมาลงในกระทู้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาสืบไปครับ

    เรื่อง “ญ่า” มีองค์ประกอบต่างๆ เช่นภาษาเป็นอาทิ เข้าลักษณะ “แกะสลักลายซ้อนลาย” วิจิตรบรรจงยิ่ง
ผมอ่านแล้ว เกิดอารมณ์หลายๆลักษณะปะปนกันระหว่างบันทัดครับ น่ารักสำหรับบรรดาพืชพันธุ์ในไร่ยามเจรจากับ ญ่า ปลาบปลื้มปิติเวลาย่าดีใจ สงสารตอนญ่าล้มเจ็บหนัก ท้ายสุด เศร้าสะเทือนจิต คราญ่าดับสูญลมหายใจ
น่าสังเกตว่า ท่านอังคารฯ ใช้คำซ้อน ตลอดจนวลีที่เป็นสำนวนเยอะมาก เช่น
“สีหมอกดอกเลา” “ไร้ญาติขาดมิตร” “เก็บผักหักฟืน” “ออดๆแอดๆ” “อดมื้อกินมื้อ” “สนทนาปราศรัย” “พิศวงงงงวย” “เข้าไต้เข้าไฟ” ฯลฯ
เอาแค่การเลือกสรรถ้อย คนอ่านอย่างผมก็ตื่นเต้นแล้วครับ ขอเชิญทุกๆท่าน ท่องโลกจินตนาการไปกับ “ญ่า” บทนิพนธ์ล้ำค่าของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ได้ ณ บัดนี้ครับผม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

   ญ่า
ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ นิพนธ์
,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

   สายัณห์หนึ่งในวสันตฤดู ฝนหายพรายเมฆขาวสะอาด สุมทุมพุ่มไม้เขียวฉอุ่มลออสดใส ดวงตะวันยอแสงรุ้งลงกินน้ำ เบื้องหลังภูเขาสูงลมโชยแมกไม้ยูงยางสลัดน้ำฝนลงแพรวพราย เป็นชนบทเปล่าเปลี่ยวห่างไกลจากตัวเมือง

   หญิงชราร่างหง่อม อาศัยกระท่อมเก่าๆ กลางไร่ร้าง นางมีผมเหมือนสีหมอกดอกเลา ใบหน้านั้นย่นและแห้งเหี่ยว เว้นแต่แววตายังวาวแต่ก็ราวกะเวลาโพล้เพล้ อายุขัยแปดสิบเศษ หลังนั้นค่อมลงมากแล้ว

   นางอยู่ในวัยของ ญ่า ไร้ญาติขาดมิตร เก็บผักหักฟืนขายเลี้ยงชีพมาช้านาน เวลานี้ร่างกายผ่ายผอมลง และเจ็บป่วยออดๆแอดๆ อดมื้อกินมื้อ อยู่มาวันหนึ่งเพิ่งหายไข้ อยากจะกินข้าวกะแกงเลียงยอดผักหญ้า จึงออกจากกระท่อมเที่ยวเก็บผัก เห็นยอดตำลึงไหวๆฉะอ้อนกระแสลม พอจะเอื้อมเด็ด
เถาตำลึงหนึ่งร้องว่า

   ญ่าเก็บฉันก่อนเถอะ เถานั้นเป็นน้องสาว รอไว้พรุ่งนี้ บางทีเธออาจจะมีเรื่องสนทนาปราศรัยกะญ่าบ้างก็ได้ นางให้พิศวงงงงวยเป็นที่สุด แต่ก็แข็งใจตอบไปว่า แน่แท้หรอกเจ้า ฝูงคนทั้งแผ่นดินนั้นมีพรุ่งนี้ แต่เฉพาะญ่าแล้ว วันนี้เป็นวันสุดท้ายเสมอ ไม่แน่นอนนักพอไก่ขันล่วงสามยามปลายญ่าอาจจะสิ้นลมก็ได้ เกือบตายมาหลายหนแล้ว วันนี้จึงอยากจะขอกินแกงเลียงให้ชื่นใจสักหน่อยเถอะ

   ยอดกระถินถามนางบ้างว่า ญ่ามีข้าวสารหรือเปล่า เออ พอมีบ้างซื้อไว้สี่ห้าทะนานหลายวันแล้ว เหลืออยู่สักทะนานกว่าๆแต่ข้าวเป็นมอดต้องเก็บมอดทิ้ง กะว่าจะได้หุงก็ตอนเข้าไต้เข้าไฟโพล้เพล้นี่แหละ

   พอหญิงชราพูดขาดคำ มะละกอสุกงอมเหลืองอร่าม ร้องบอกเสียงสั่นเครือว่า ญ่าเอาผลอันสุกงอมของฉันไปกินก่อนเถอะ นางยังไม่วายพิศวง กล่าวขอบอกขอบใจในพืชพันธุ์เหล่านั้นเป็นล้นพ้น

   มะละกอบอกซ้ำว่า ญ่าเอาผลของฉันไปกินก่อนเถอะ แรงโอสถบางอย่างจะล้างลำไส้ของญ่าให้สะอาด แล้วให้ญ่าทำใจให้สบาย ลืมวิตกกังวลจนสิ้นเชิง รื่นอารมณ์ชมชื่นในแสงรุ้งตะวันทั้งเจ็ดสี ตื่นแต่เช้าหายใจอากาศสดบริสุทธิ์ ไว้ต้อนรับอุษาเทพเจ้า อ่อนไท้จะประทานประกายปีติทิพย์มาให้ญ่า จะยืดอายุขัยออกไปอีก ญ่าจะมีวันพรุ่งนี้สืบเนื่องไปตามแรงปรารถนาของหัวใจ

   นางถามว่า ทำไม ต้นไม้จึงพูดได้เล่า วันก่อนๆก็เห็นนิ่งเป็นใบ้อยู่ทั้งสิ้นหรือชะรอยเจ้าจะมีน้ำใจ ซ่อนเร้นอยู่อย่างลี้ลับลึกซึ้งดูเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีเมตตาธรรมกว้างขวางหนักหนา ทำให้ญ่าดีอกดีใจจนเกิดปีติเป็นแรงทิพย์มีกำลังวังชาสดชื่นขึ้น

   บัดดลนั้น พฤกษชาติในไร่เปรยๆ ประสานเสียงขึ้นพร้อมกันว่า ถึงแม้เราจะอยู่ร่วมโลกกับมนุษย์ แต่อุปนิสัยใจคออันคับแคบตระหนี่ถี่เหนียวของมนุษย์มิได้มีอิทธิพลเหนือเราเลย เราไม่เอาอย่างจริต มารยาสาไถย ของมนุษย์เป็นอันขาด เว้นจากญ่าแล้วเราก็มิได้พูดด้วย เราเห็นญ่าถูกทอดทิ้ง ขาดน้ำใจจากสังคมมนุษย์ จึงสุดที่จะสมเพชเวทนาอดวาจาไว้มิได้

   ที่จริง เทพเจ้า ก็ได้ประทานดวงวิญญาณแก่สรรพสิ่งทั้งหลาย แต่เรารักจะเป็นใบ้ ถึงจะมีภาษาก็เสมือนหามีไม่ ซึ่งบางครั้งเราก็สนทนากันบ้าง แต่ภาษานั้น ลี้ลับลึกซึ้งจนเกินหูสามัญมนุษย์จะล่วงรู้ถึง ครั้งแรกเราหลงว่าญ่าจะสิ้นลมในคืนนี้ แต่โชคดีเหลือเกินที่รู้ว่า ญ่าเกิดแรงยินดีมีปีติเป็นทิพย์เท่ากับยาอายุวัฒนะ ทำให้ญ่ายืดอายุขัยออกไปอีกนานทีเดียว นางนิ่งฟังวังเวงใจ ทันใดยอดผักบุ้งในสระหลังกระท่อมพูดขึ้นบ้างว่า

   ญ่าจ๋าฉันจะแตกยอดให้ญ่าเก็บไปขายที่ตลาดทุกๆวัน ภายหน้าผู้คนจะมากมายขึ้น ฉันจะมีราคาแพงขึ้นบ้างละ แล้วญ่าช่วยตีฆ้องร้องป่าวไปด้วยว่า ผักบุ้งเป็นโอสถวิเศษ กินแล้วช่วยให้สายตาดีขึ้นมากด้วย

   หญิงชราตื้นตันใจ จนน้ำตาพร่าพรายลงอาบแก้ม ก้มกราบกับแผ่นดิน ขอบใจในบุญคุณพระแม่ธรณี และผักหญ้าพฤกษชาติเป็นล้นพ้น แล้วออกปากว่า ญ่าให้รู้สึกเกรงอกเกรงใจเต็มที

   เวลาเก็บเจ้าไปขายนั้นนะ เจ้าไม่เจ็บปวดบ้างเลยหรือ ยอดผักบุ้งไหวๆหัวเราะแล้วตอบว่า เทพเจ้าเท่านั้นที่มีน้ำพระทัยประเสริฐเลิศล้ำ ญ่าคิดหรือว่า ถ้าพระสร้างประสาทมาในผักหญ้านานาพันธุ์ไม้ไว้รู้สึก แผ่นดินนี้จะระงมไปด้วยเสียงคร่ำครวญ บาดเจ็บ สาหัส จากผลการกระทำของมนุษย์ทุกคืนวัน ที่ฉันพูดได้ รู้สึกระลึกได้ เหตุด้วยแรงจากดวงวิญญาณอันน่ามหัศจรรย์

   โชคดีมาก ต้นไม้ทั้งหลายไม่มีประสาทไว้รู้สึกเจ็บปวด ถ้าสู้ความทุกข์ระทมขมขื่นไม่ได้ก็ตายไปเลย ขอให้ญ่าเก็บฉันไปขายเถอะ ฉันยินดีจะงอกงามขึ้นใหม่เสมอ

   หลังจากวันนั้น ผักบุ้งในสระก็ทอดยอดงดงาม หญิงชราเก็บไปขายที่ตลาดพอได้เงินซื้อข้าวซื้อกับกิน ครองชีวิตในกระท่อมเก่าๆจากบางตับผุขาดจนเห็นแสงดาวระยับย้อยมาตามช่องโหว่นั้น ดาวไถก็คล้อยฟ้าไปแล้ว กบเขียดร้องเสียงใสเป็นเวลาดึกสงัด

   ขณะนี้หญิงชราล้มเจ็บป่วยเป็นมาเลเรียมาหลายวันแล้วพิษไข้ขึ้นสูง ให้หูอื้อ ตาลาย ละเมอ
เพ้อเจ้อ อากาศแปรปรวน อบอ้าว เมฆสีหม่นหมองมาบดบังจันทร์ กระแสลมเริ่มพัดจนรุนแรงจัดขึ้นเป็นวายุกล้า หวั่นไหวไกวเมือง หมู่ไม้เสมือนชิงช้ากลางสายฝน สายฟ้าแลบแปลบปลาบ แล้วฟาดเปรี้ยงสนั่นลั่นโลก หญิงชราตกใจสลบไปร่างกายเปียกโชกด้วยน้ำฝน ล่วงไปหลายนาฬิกาฝนก็ซาหาย ฟ้าจวนสางแสงเงินแสงทอง เสียงโประดก นกหกร้องร่าเริงอยู่แจ้วๆ

   นางฟื้นขึ้นแล้ว พิษไข้กลับย้อนซ้ำอีก อนิจจา ละเมอเพ้อสิ้นสติ หลงใหลลงเก็บผักบุ้ง ยอดผักบุ้งร้องบอกว่า ญ่าอย่าลงมาๆมีงูร้ายอยู่ริมสระ มันกำลังร่านคู่ประสมพันธุ์กัน แต่นางไม่ได้ยินเสียงอันหวังดีนั้น ดุ่มเดินลงไป

   บังเอิญ ถึงคราวเคราะห์ร้ายเหยียบปลายหางงูเห่าฉกรรจ์งูตกใจฉกกัดเอาเต็มที่ ฝังสองเขี้ยวพิษไว้เต็มแรง นางรู้สึกเสียวปลาบที่หลังเท้า ก็เอามือลูบคลำ งูกัดซ้ำเข้าที่มือจึงรู้สึกตัวว่าถูกงูกัด ก็พลันตกใจสิ้นสติ เป็นลมล้มลงขอบสระนั้น มินานนักฤทธิ์อันร้ายแรงของอสรพิษก็ทวนกระแสโลหิตในวัยชราอันมีกำลังต้านทานน้อยเหลือเกินเร่งฝ่ากระแสโลหิตเข้าสู่ห้องหัวใจ ดับแรงเต้นของชีพจรให้วอดวายลง หญิงชราก็สิ้นลม แต่ตานั้นลืมโพลงราวจะเป็นห่วงถึงผักหญ้าพฤกษาลดามาลย์ เสมือนมิตรสหายอันยากจะหาใครมาเทียบเทียมได้ เสี้ยวจันทร์เจ้าข้างแรมทอแสงหรุบหรู่ ลับทิวไม้ไปแล้ว ฟ้าสาง สายฝนก็หายนานอากาศสงบยะเยือกเย็นลง จนวิเวกวังเวง น้ำค้างเผาะๆบนใบไม้เหลือแต่ดาวดวงหนึ่งระยับระย้าอยู่ในห้วงสวรรค์อันบริสุทธิ์

   ถ้าแม้ใครมีหูทิพย์ ก็จะได้ยินเสียงสะอึกสะอื้นจากพฤกษาลดามาลย์ในไร่นั้น ยอดผักบุ้ง มะละกอ กระถิน และเถาตำลึงก็ครวญคร่ำร่ำไห้

   ดอกไม้เล็กๆ เสียงสั่นว่า พี่พฤกษชาติทั้งหลายเอย ฉันเสียใจหมายมั่นไว้ว่าจะบานแย้ม ดอกสีม่วงใสในเช้านี้ ถ้าญ่าได้เห็นสีอันสวยสดงดงาม จะทำให้บรรเทาความเจ็บป่วยลงบ้าง น่าเสียดายเหลือเกิน ตำลึงว่าดูเถอะนั่น ฝูงมดคันไฟกำลังรุมแทะกินลูกตาดำๆของญ่า มันรุมกินกันเป็นกลุ่มๆจนเป็นก้อน ไม่กี่วันอสุภซากนั้นจะเน่าพอง แร้งกาจะมาจิกกิน กระดูกจะเรี่ยรายกลิ้งกระจายกลางทรายดิน นึกน่าสมเพชเวทนานักหนาแล้ว

   ขาดคำรำพึงรำพัน เถาตำลึงก็ซ้ำร่ำไห้ สะอึกสะอื้นจนเกิดน้ำตาขึ้นกลางเกษรของดอกสีขาวนวลละออง น้ำนั้นละลายปนกับน้ำค้าง หยดหยาดระรินลงราวกับกระแสทุกข์โศกาดูร หลั่งไหลไว้อาลัย
หญิงชราผู้ลาโลก จากลับแล้วชั่วนิจนิรันดร

หมายเหตุ
   ข้อความทั้งหมด คัดลอกจากหนังสือ “กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์”
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ “กินรินทร์” เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๘ ตัวสะกดของคำบางคำซึ่งอาจผิดแผกจากในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ผมพิมพ์ตามหนังสือดังกล่าว มิได้ปรับแปรแก้ไข ด้วยเข้าใจในหลัก
“กวียานุโลม” ของท่านมหาจินตกวีผู้รจนาครับ 
..
..

อังคาร กัลยาณพงศ์อธิบายเหตุผลที่เลือกใช้คำว่า "ญ่า" ไว้ใน โคลงบทหนึ่ง
                                                          >>เพ็ญชมพู
:www.reurnthai.com