โดย
ชลนภา อนุกูลเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒
ผลจากแบบสอบถามครั้งหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้คนโดยมากเชื่อว่านักฟิสิกส์ฉลาดกว่านักวิทยาศาสตร์สาขาอื่น – แต่ความเห็นของคนโดยมากก็ไม่อาจกลายเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์หรอกนะ
ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งยืนยันว่าการดื่มไวน์แดงช่วยป้องกันโรคหัวใจ แต่งานวิจัยอื่น-อื่นก็ชี้ให้เห็นว่าการดื่มไวน์แดงเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคอื่น-อื่นได้อีกมหาศาล - การเลือกเชื่อผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพียงบางเรื่องก็ไม่ใช่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน
งานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกป่าหลายชิ้นปรากฏผลว่า คุณภาพของดินที่ปลูกป่าเลวลง หากไม่มองว่า ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลเป็นเพียงระยะเริ่มต้นของการปลูกป่า ซึ่งต้นไม้จะต้องดึงแร่ธาตุสารอาหารในดินไปใช้ในการเจริญเติบโต ก่อนที่จะเน่าเปื่อยสูญสลายกลายเป็นหน้าดินในเวลาอีกหลายสิบปีถัดมา การปลูกป่าก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นเรื่องไร้ประโยชน์และเป็นโทษต่อพื้นดินไปอย่างง่ายดาย - การพิเคราะห์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังต้องตั้งคำถามต่อกระบวนการและปัจจัยในการทดสอบอีกด้วย
ทฤษฎีทางฟิสิกส์มีวิวัฒนาการมาจากนิวตัน ผ่านเข้าสู่ทฤษฎีสัมพันธภาพ และปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคควอนตัม - แต่ไม่ได้หมายถึงว่า ควอนตัมนั้นดีที่สุด และเอะอะอะไรก็ควอนตัม-ควอนตัม ถ้าจะให้ดี ต้องตรวจสอบผู้พูดอย่างถี่ถ้วนเหมือนกันว่าสิ่งที่พูดนั้นผู้พูดเข้าใจแค่ไหนและอย่างไร เพราะนักฟิสิกส์เองก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจทฤษฎีทางฟิสิกส์อย่างถ่องแท้ อย่างที่ริชาร์ด ฟายน์แมน นักฟิสิกส์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปีค.ศ. ๑๙๖๕ ผู้เชื่อมสมานทฤษฎีสัมพันธภาพและควอนตัมเข้าด้วยกัน เคยตั้งข้อสังเกตว่า ในโลกนี้น่าจะมีนักฟิสิกส์สักสิบสองคนที่เข้าใจทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ และไม่มีแม้แต่คนเดียวที่เข้าใจทฤษฎีควอนตัม ซึ่งรวมทั้งตัวเขาเองด้วย
ด้วยความที่ควอนตัมเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จึงกลายเป็นเรื่องที่ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา และเลอะเทอะกลายเป็นไสยศาสตร์ได้ง่าย ดังที่มีผู้พยายามขายสินค้าโดยอ้างว่าเป็นไปตามทฤษฎีควอนตัม และพะถ้อยคำควอนตัมลงไปในเหรียญประดับ นาฬิกา เตียง น้ำ เป็นต้น และอ้างสรรพคุณว่ามีฤทธิ์รักษาโรคได้สารพัด -
การอ้างจากประสบการณ์ของผู้คนไม่กี่คนนั้นไม่ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันการพร้อมที่จะเชื่อโดยไม่ตรวจสอบใคร่ครวญก็ไม่ถือว่าเป็นพุทธเช่นเดียวกันทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะควอนตัมกลายเป็นหนทางใหม่ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ มีการอ้างถึงนักวิทยาศาสตร์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ประกอบคำโฆษณามากมาย แต่เมื่อตรวจสอบผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กลับไม่พบเลยแม้แต่ชิ้นเดียว สินค้าที่อ้างควอนตัมนี้ใช้การแถลงสรรพคุณจากผู้คนมากหน้าหลายตา การซื้อขายนี้จึงอันตรายเสียยิ่งกว่าการซื้อขายวัตถุบูชาทั้งหลาย ซึ่งยังเสนอข้อเท็จจริงในแง่ของความเชื่อและศรัทธาแบบตรงไปตรงมา แต่สินค้าควอนตัมตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท็จและความฉ้อฉลล้วน-ล้วน โดยมีลัทธิบริโภคนิยมและวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณเป็นเครื่องหนุนเสริม
บางคนเห็นว่าก็ถ้าจ่ายเงินไม่เท่าไหร่ และหายจากความเจ็บป่วยด้วยอุปาทาน ต่อให้ไม่ใช่คุณวิเศษจากควอนตัมก็ไม่น่าจะเป็นไร - ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เงินไม่เท่าไหร่ นั้นเท่าไหร่แน่? คำว่าไม่เป็นไร ไม่เป็นไรจริงล่ะหรือ?
ทรัพย์ที่จ่ายให้กับของที่ไม่ได้จำเป็นนั้น หากรวมกันมากเข้า อาจจะนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้มาก เป็นต้นว่า ทุนการศึกษาทางด้านจิตตปัญญาให้กับเสมสิกขาลัย สาวิกาสิกขาลัย หรือมหาวิทยาลัย - ทรัพย์นั้นอาจจะถูกมองว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัว แต่การใช้จ่ายออกไปไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวได้เลย หากมีผลต่อทัศนคติของสังคมว่าให้คุณค่ากับอะไรเป็นสำคัญ ก็ถ้าผู้บริโภคจ่ายเงินให้กับสินค้าประเภทไหน สินค้าประเภทนั้นก็ย่อมถูกผลิตออกมาอีก เนื่องจากถือว่าได้รับการโหวตจากผู้บริโภคโดยปริยาย ไม่น่าแปลกใจที่สินค้าที่อาศัยไสยศาสตร์หรือศรัทธาเป็นเครื่องเชิญชวนจะยังคงขายกันเกร่ออยู่ทั่วไป
หากครูบาอาจารย์หรือองค์กรที่ทำงานเรื่องพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณ เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเหรียญประดับควอนตัม อาหารบำรุงสมอง หรือแม้แต่นมผงสำหรับเด็ก จะถือว่าได้ทำหน้าที่ของตนในการทำลายซึ่งมิจฉาทิฏฐิแล้วล่ะหรือ? ต้นทุนที่แท้จริงของการเพิ่มเติมมิจฉาทิฏฐิว่าด้วยบริโภคนิยมและวัตถุนิยมลงไปในสังคมนั้นมีราคาเท่าไหร่กันแน่?
จิตตปัญญาศึกษาหรือการศึกษาด้วยใจอย่างใคร่ครวญนั้นเป็นการศึกษาที่เปิดใจกว้าง สามารถยอมรับวิถีทางที่แตกต่างได้ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องประนีประนอมกับสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานอย่างโยนิโสมนสิการหรือการบริโภคที่ขาดสติ - อย่าลืมว่า แม้ศาสนากับวิทยาศาสตร์จะพยายามสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบสุนทรียสนทนามากขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การเหมารวมหรือสรุปรวมหมู่ว่าศาสนากับวิทยาศาสตร์นั้นเหมือนกัน และยังยอมรับว่ามีทัศนะที่แตกต่างในหลายเรื่อง
จิตวิวัฒน์และจิตตปัญญาศึกษาแม้จะให้พื้นที่กับองค์ความรู้ที่ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้นว่า องค์ความรู้จากภูมิปัญญาของชนเผ่า องค์ความรู้เรื่องผลึกน้ำของศาสตราจารย์อิโมโตะ องค์ความรู้เรื่องความฝัน องค์ความรู้เรื่องการตาย ฯลฯ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะยอมรับองค์ความรู้เหล่านี้ หรือศิโรราบศรัทธาในอาจารย์ที่ปรึกษาฯ โดยปราศจากการตรวจสอบใคร่ครวญ
จิตตปัญญาศึกษามีหน้าที่ตรวจสอบองค์ความรู้ต่าง-ต่างอย่างเข้มข้น เรียนรู้ความเหมือนความต่าง และเข้าใจความเป็นไปอย่างแยบคาย
จิตตปัญญาไม่ได้แปลว่าการโอนอ่อนผ่อนตาม เปิดรับทุกเรื่องโดยไม่ตั้งคำถาม หรือเห็นแก่ความสัมพันธ์เสียจนละทิ้งความเป็นกัลยาณมิตรในฐานะผู้ร่วมเดินทางในการแสวงหาสัจจะร่วมกันหนทางในการภาวนาหรือเข้าถึงสัจจะนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของความสุขสนุกสนานเลยแม้แต่น้อย หนทางนี้มีการเผชิญหน้ากับคุณค่าเดิมในกระแสหลัก หวั่นไหวไปกับความรักความปรารถนาจากผู้คนรอบข้าง สับสนกับทางเลือกนับไม่ถ้วน เจ็บปวดกับการถูกตรวจสอบท้าทายครั้งแล้วครั้งเล่า
แต่บนหนทางนี้จะนำพารากแห่งปัญญาและกรุณาให้หยั่งลึกลงไปในหัวใจของเราลึกซึ้งขึ้น-ลึกซึ้งขึ้น Labels:
ชลนภา อนุกูล http://jittapanya.blogspot.com/2009/07/blog-post_26.html