วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม

แด่เธอผู้มาใหม่ : เรื่องเรียบง่ายและธรรมดาที่เรียกว่า ธรรมะ

<< < (2/5) > >>

ฐิตา:




ถึงตอนนี้ เราจะรู้ชัดว่า ร่างกายก็เป็นแค่หุ่นยนต์ตัวหนึ่ง
ความรู้สึกสุขทุกข์ และอารมณ์ทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา

เมื่อหัดสังเกตเรียนรู้จิตใจตนเองมากขึ้น คราวนี้ก็จะเห็นการทำงานของจิตใจ
ได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
จนรู้ความจริงว่า ความทุกข์เป็นเพียงสิ่งที่มีเหตุทำให้เกิดขึ้นเป็นคราวๆ เท่านั้น

เราจะพบพลังงานหรือแรงผลักดันบางอย่างในจิตใจของเรา
เช่นพอเห็นผู้หญิงสวยถูกใจ
พอจิตใจเกิดความรู้สึกรักใคร่พอใจแล้ว





มันจะเกิดแรงผลักดันจิตใจของเรา ให้เคลื่อนออกไปยึดเกาะ
ที่ผู้หญิงคนนั้น
ทำให้เราลืมดูตัวเอง เห็นแต่ผู้หญิงคนนั้นเท่านั้น

(เรื่องจิตเคลื่อนไปได้นี่ ถ้าเป็นคนที่เรียนตำราอาจจะงงๆ
แต่ถ้าลงมือปฏิบัติจริง จะเห็นว่า ความรับรู้มันเคลื่อนไปได้จริงๆ
ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านพูดเรื่องจิตเที่ยวไปได้ไกล
ไม่มีคลาดเคลื่อนแม้แต่คำเดียว)

หรือเมื่อเราเกิดความสงสัยในธรรม ว่าเราควรปฏิบัติอย่างไร
ก็จะเห็นแรงผลักดัน
ที่บังคับให้เราคิดหาคำตอบ  จิตใจของเราเคลื่อนเข้าไปอยู่ในโลกของความคิด

ตอนนั้น เราลืมดูตัวเราเอง

เจ้าหุ่นยนต์นั้นก็ยังอยู่ แต่เราลืมนึกถึงมันก็เหมือนกับว่ามันหายไปจากโลก
ความรู้สึกต่างๆ ในจิตใจเราเป็นอย่างไร
เราก็ไม่รู้  เพราะมัวแต่คิดหาคำตอบ  ในเรื่องที่สงสัยอยู่นั่นเอง

หัดรู้ทันจิตใจตนเองมากเข้า ไม่นานก็จะทราบด้วยตนเองว่า
ความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร  ความพ้นทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร
สภาพที่ไม่ทุกข์ เป็นอย่างไร
สภาพจิตใจมันจะพัฒนาของมันไปเองทุกอย่าง
ไม่ต้องไปคิดเรื่องฌาน เรื่องญาณ หรือเรื่องมรรคผลนิพพานใดๆ ทั้งสิ้น

ถึงตรงนี้ อาจจะพูดธรรมะไม่ได้สักคำ แปลศัพท์บาลีไม่ได้สักตัว
แต่จิตใจพ้นจากความทุกข์ หรือมีความทุกข์ ก็ทุกข์ไม่มากและไม่นาน





Credit by : http://www.vipassana.es.tl/106-%26%233649%3B%26%233604%3B%26%233656%3B%26%233648%3B%26%233608%3B%26%233629%3B%26%233612%3B%26%233641%3B%26%233657%3B%26%233617%3B%26%233634%3B%26%233651%3B%26%233627%3B%26%233617%3B%26%233656%3B-.htm

Pics by : Google
           : K. peem

มีต่อค่ะ

ฐิตา:



การดูจิต
: ความหมาย วิธีการ และผลของการปฏิบัติ

เนื้อความ :
เพื่อนใหม่ที่เข้ามาสู่ลานธรรม มักจะมีคำถามเสมอว่า
การดูจิตคืออะไร ทำอย่างไร ดูแล้วมีผลอย่างไร
คำตอบที่ได้รับจากหลายๆ ท่าน ค่อนข้างแยกเป็นส่วนๆ
วันนี้ผมขอโอกาสเล่าถึง การดูจิตในภาพรวม สักครั้งนะครับ


ความหมายของการดูจิต

คำว่า การดูจิต เป็นคำที่นักปฏิบัติกลุ่มหนึ่ง
บัญญัติขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมายกันเองภายในกลุ่ม
หมายถึงการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ทุกบรรพ)
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ทุกบรรพ)
รวมถึงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน(บางอย่างที่เป็นฝ่ายนามธรรม)
กล่าวอย่างย่อ ก็คือการเจริญวิปัสสนาด้วยอารมณ์ฝ่ายนามธรรม
ได้แก่การรู้จิตและเจตสิกนั่นเอง

ฐิตา:



วิธีการเจริญวิปัสสนา(ดูจิต)

การเจริญวิปัสสนาทุกประเภท รวมทั้งการดูจิต ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่ให้ผู้ปฏิบัติ
"รู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่เป็นกลางเท่านั้น"
แต่จะรู้ได้ถูกต้อง ก็ต้อง (1) มีจิตที่มีคุณภาพ
และ (2) มีอารมณ์กรรมฐานที่ถูกต้อง เท่านั้น

ซึ่งจิตที่มีคุณภาพสำหรับการทำสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา
ได้แก่จิตที่มีสติ(สัมมาสติ) สัมปชัญญะ(สัมมาทิฏฐิ) และสัมมาสมาธิ
ส่วนอารมณ์กรรมฐานที่ถูกต้อง คืออารมณ์ที่มีตัวจริงที่สามารถแสดงไตรลักษณ์ได้
หรือที่นักปฏิบัติมักจะเรียกว่าสภาวะ และนักปริยัติเรียกว่าอารมณ์ปรมัตถ์

เมื่อจะลงมือปฏิบัติ ก็ให้ (1) มีสติเฝ้ารู้ให้ทัน (มีสัมมาสติ)
(2) ถึงอารมณ์หรือสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ (มีอารมณ์ปรมัตถ์)
(3) ด้วยจิตที่ตั้งมั่น ไม่เผลอส่งส่ายไปที่อื่น และไม่เพ่งจ้องบังคับจิต (มีสัมมาสมาธิ)
แล้ว (4) จิตจะรู้สภาวธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง (มีสัมปชัญญะ/สัมมาทิฏฐิ)

การมีสติเฝ้ารู้ให้ทัน หมายถึงสิ่งใดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป ก็ให้รู้เท่าทัน
เช่นขณะนั้นรู้สึกมีความสุข ก็ให้รู้ว่ามีความสุข
เมื่อความสุขดับไป ก็ให้รู้ว่าความสุขดับไป

มีความโกรธก็รู้ว่ามีความโกรธ  เมื่อความโกรธดับไปก็รู้ว่าความโกรธดับไป
เมื่อจิตมีความทะยานอยากอันเป็นแรงผลักดัน
ให้ออกยึดอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  ก็ให้รู้ว่ามีแรงทะยานอยาก เป็นต้น

อารมณ์หรือสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ  ต้องเป็นอารมณ์ของจริง ไม่ใช่ของสมมุติ
โดยผู้ปฏิบัติจะต้องจำแนกให้ออกว่า   
อันใดเป็นของจริง หรือปรมัตถธรรม  อันใดเป็นของสมมุติ หรือบัญญัติธรรม

เช่นเมื่อจิตมีความสุข ก็ต้องมีสติรู้ตรงเข้าไปที่ความรู้สึกสุขจริงๆ
เมื่อจิตมีความโกรธ ก็ต้องรู้ตรงเข้าไปที่สภาวะของความโกรธจริงๆ
เมื่อมีความลังเลสงสัย ก็ต้องรู้ตรงเข้าไปที่สภาวะของความลังเลสงสัยจริงๆ ฯลฯ

และเมื่อหัดรู้มากเข้าจะพบว่า นามธรรมจำนวนมากผุดขึ้นที่อก หรือหทยรูป
แต่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องเที่ยวควานหาหทยรูป
หากกิเลสเกิดที่ไหน และดับลงที่ไหน ก็รู้ที่นั้นก็แล้วกันครับ

ถ้าเอาสติไปตั้งจ่อดูผิดที่เกิด ก็จะไม่เห็นของจริง
เช่นเอาสติไปจ่ออยู่เหนือสะดือสองนิ้ว
จะไม่เห็นกิเลสอะไร นอกจากเห็นนิมิต เป็นต้น

และการมีสติรู้ของจริง ก็ไม่ใช่การคิดถามตนเอง หรือคะเนเอาว่า
ตอนนี้สุขหรือทุกข์ โกรธหรือไม่โกรธ สงสัยหรือไม่สงสัย อยากหรือไม่อยาก
ตรงจุดนี้สำคัญมากนะครับ ที่จะต้องรู้สภาวธรรม หรือปรมัตถธรรมให้ได้

เพราะมันคือ พยานหรือแบบเรียนที่จิตจะได้เรียนรู้
ถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของมันจริงๆ
ไม่ใช่แค่คิดๆ เอาว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ฐิตา:




เมื่อมีสติรู้สภาวธรรมหรือปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏแล้ว
ผู้ปฏิบัติจะต้องมีจิตที่รู้ตัว ตั้งมั่น
ไม่เผลอไปตามความคิดซึ่งจะเกิดตามหลังการรู้สภาวธรรม
เช่นเมื่อเกิดสภาวะบางอย่างขึ้นในจิต อันนี้เป็นปรมัตถธรรม
ถัดจากนั้นก็จะเกิดสมมุติบัญญัติว่า นี้เรียกว่าราคะ
สมมุติตรงนี้ห้ามไม่ได้ เพราะจิตเขามีธรรมชาติเป็นนักจำและนักคิด
ผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องไปห้ามหรือปฏิเสธสมมุติบัญญัติ
เพียงรู้ให้ทัน อย่าได้เผลอหรือหลงเพลินไปตามความคิดนึกปรุงแต่งนั้น
หรือแม้แต่การหลงไปคิดนึกเรื่องอื่นๆ ด้วย
แล้วให้เฝ้ารู้สภาวะ(ที่สมมุติเรียกว่าราคะนั้น)ต่อไป ในฐานะผู้สังเกตการณ์
จึงจะเห็นไตรลักษณ์ของสภาวะอันนั้นได้

ในทางกลับกัน ผู้ปฏิบัติที่ไปรู้สภาวะที่กำลังปรากฏ
จะต้องไม่เพ่งใส่สภาวะนั้นด้วย
เพราะถ้าเพ่ง จิตจะกระด้างและเจริญปัญญาไม่ได้
แต่จิตจะ "จำ และจับ" สภาวะอันนั้นมาเป็นอารมณ์นิ่งๆ แทนการรู้สภาวะจริงๆ
พึงให้จิตเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ เหมือนคนดูละคร ที่ไม่โดดเข้าไปเล่นละครเสียเอง
จิตที่ทรงตัวตั้งมั่น นุ่มนวล อ่อนโยน ควรแก่การงาน
โดยไม่เผลอและไม่เพ่งนี้แหละ คือสัมมาสมาธิ
เป็นจิตที่พร้อมที่จะเปิดทางให้แก่การเจริญปัญญาอย่างแท้จริง

คือเมื่อจิตมีสติ รู้ปรมัตถธรรม ด้วยความตั้งมั่น ไม่เผลอและไม่เพ่ง
จิตจะได้เรียนรู้ความจริงของปรมัตถธรรมอันนั้นๆ 4 ประการ
คือ (1) รู้สภาวะของมันที่ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป (รู้ตัวสภาวะ)
(2) รู้ว่าเมื่อสภาวะอันนั้นเกิดขึ้นแล้ว
มันมีบทบาทและหน้าที่อย่างไร (รู้บทบาทของสภาวะ)
(3) รู้ว่าถ้ามันแสดงบทบาทของมันแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น (รู้ผลของสภาวะ)
และเมื่อชำนาญมากเข้า เห็นสภาวะอันนั้นบ่อยครั้งเข้า
ก็จะ (4) รู้ว่า เพราะสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว
จึงกระตุ้นให้สภาวะอันนั้นเกิดตามมา (รู้เหตุใกล้ของสภาวะ)
การที่จิตเป็นผู้สังเกตการณ์และเรียนรู้ หรือวิจัยธรรม (ธรรมวิจัย)
อันนี้เองคือการเจริญปัญญาของจิต หรือสัมปชัญญะ หรือสัมมาทิฏฐิ


ฐิตา:




ตัวอย่างเช่นในขณะที่มองไปเห็นภาพๆ หนึ่งปรากฏตรงหน้า
จิตเกิดจำได้หมายรู้ว่า นั่นเป็นภาพสาวงาม

แล้วสภาวธรรมบางอย่างก็เกิดขึ้นในจิต (ซึ่งเมื่อบัญญัติทีหลังก็เรียกว่า ราคะ)
การรู้สภาวะที่แปลกปลอมขึ้นในจิตนั่นแหละคือการรู้ตัวสภาวะของมัน

แล้วก็รู้ว่ามันมีบทบาทหรืออิทธิพลดึงดูด
ให้จิตหลงเพลินพอใจไปกับภาพที่เห็นนั้น

ผลก็คือ จิตถูกราคะครอบงำ
ให้คิด ให้ทำ ให้อยาก ไปตามอำนาจบงการของราคะ

และเมื่อรู้ทันราคะมากเข้า ก็จะรู้ว่า
การเห็นภาพที่สวยงาม เป็นเหตุใกล้ให้เกิดราคะ

จึงจำเป็นจะต้องคอยเฝ้าระวังสังเกต ขณะที่ตากระทบรูปให้มากขึ้น เป็นต้น

ในส่วนตัวสภาวะของราคะเอง เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติรู้อยู่นั้น
มันจะแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นทันที คือระดับความเข้มของราคะจะไม่คงที่

มันตั้งอยู่ไม่นาน เมื่อหมดกำลังเพราะเราไม่ได้หาเหตุใหม่มาเพิ่มให้มัน (ย้อนไปมองสาว)
มันก็ดับไป แสดงถึงความเป็นทุกข์ของมัน

และมันจะเกิดขึ้นก็ตาม ตั้งอยู่ก็ตาม ดับไปก็ตาม
ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยกำหนด ไม่ใช่ตามที่เราอยากจะให้เป็น

นอกจากนี้ มันยังเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา
เหล่านี้ล้วนแสดงความเป็นอนัตตาของสภาวะราคะทั้งสิ้น


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version