จุก : หลวงตา ๆ หลวงตาคิดอย่างไรกับคำว่า “พระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์” ?
หลวงตา : เฉย ๆ
จุก : หลวงตาไม่รู้สึกดีใจ หรือภูมิใจหรอกหรือ?
หลวงตา : เฉย ๆ
จุก : แล้วหลวงตาคิดอย่างไรที่มีนักวิทยาศาสตร์หลายคน หรือนักการศึกษาหลายท่านของตะวันตก หันมาให้ความสนใจพระพุทธศาสนา เพราะเขาเห็นว่า คำสอนของพระพุทธศาสนาสามารถตอนโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ หรือปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ได้
หลวงตา : เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา
จุก : เอะ หลวงตานี่ ยังไงกัน?
หลวงตา : ทำไมจุก? เฉย ๆ ไม่คิดอะไร มันผิดด้วยหรือ?
จุก : ไม่ผิดหรอกครับหลวงตา แต่อยากฟังความเห็นของหลวงตาบ้าง
หลวงตา : เฉย ๆ นี่ก็เป็นความเห็นอย่างหนึ่ง แล้วเธออยากจะฟังความเห็นอะไรอีกละ?
จุก : ที่มันมากกว่าเฉย ๆ นะครับ!
หลวงตา : ก็แล้วทำไมต้องไปพูดว่า พระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์?
จุก : ก็แหม หลวงตา โลกนี้ทั้งโลกเขายกย่องวิทยาศาสตร์กันทั้งนั้น พระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ก็ฟังดูดีไม่ใช่หรือ?
หลวงตา : พระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์นี่นา ฟังดูดี?
จุก : หรือหลวงตาว่าไม่ใช่
หลวงตา : ไม่หรอก! ความ “ดูดี” ของพระพุทธศาสนา ไม่ได้อยู่ตรงที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์รับรอง หากแต่อยู่ตรงที่เราสามารถเข้าใจ เข้าถึง และนำความรู้ความเข้าใจที่เราเข้าถึงมาแก้ปัญหาชีวิตได้ต่างหาก
จุก : หลวงตาไม่ชื่นชมวิทยาศาสตร์หรอกหรือ?
หลวงตา : วิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ พระพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา ไม่เห็นต้องเอาไปเทียบเคียงว่า “เป็น” หรือ “เหมือน”
จุก : มันเป็นผลดีไม่ใช่หรือครับหลวงตา?
หลวงตา : ในดี มันก็มีเสียอยู่ในตัว จุกรู้ไหม การพูดว่า พระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ มีข้อเสียยังไง?
จุก : เสียยังไงครับหลวงตา?
หลวงตา : เท่ากับเป็นการ “ลดทอน” พระพุทธศาสนาลงให้เหลือแค่ “เป็น” หรือ “เหมือน” วิทยาศาสตร์
จุก : มีอะไรที่พระพุทธศาสนา “ไม่เป็น” หรือ “ไม่เหมือน” วิทยาศาสตร์หรือ?
หลวงตา : นี่แหละประเด็นสำคัญจุก พระพุทธศาสนาหลายเรื่องแย้งกับวิทยาศาสตร์ หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์
จุก : เช่นอะไรครับหลวงตา
หลวงตา : ความดี ความงาม ความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องถูกนำไปใช้ตรวจสอบพฤติกรรม อะไรที่ขัดแย้งต่อความดี ความงาม ความถูกต้อง พระพุทธศาสนาปฏิเสธ ท่าทีของวิทยาศาสตร์ต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร?
จุก : ยังไงต่อครับหลวงตา?
หลวงตา : วิทยาศาสตร์มีความพยายามอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่าได้ละเลยความดี ความงาม และความถูกต้อง หรือกล่าวแบบรวบยอดว่า บางครั้งวิทยาศาสตร์เองก็กระทำในสิ่งที่ละเลย หรือตรงกันข้ามกับจริยธรรม
จุก : เช่นอะไรครับหลวงตา?
หลวงตา : คุณหมอ และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐ ใช้ผู้ชายผิวดำมาเป็นหนูทดลองยา ภายใต้โครงการศึกษาโรคซิฟิลิส โดยที่ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนเป็นการรักษาพยาบาลฟรีกับผลประโยชน์อื่นอีกเล็กน้อย ขณะที่ข้อเท็จจริงคือ โครงการนี้ไม่มีการรักษาอะไรเลย เป็นแค่เพียงการศึกษาพัฒนาการของโรค มีคนตายจากโครงการนี้ยี่สิบแปดคน และหนึ่งร้อยคนเกิดภาวะแทรกซ้อน ขณะที่ภรรยาสี่สิบคนกับทารกอีกสิบเก้าคนติดเชื้อไปด้วย กระทั่งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งไปขุดคุ้ย นำมาตีแผ่ในความไม่ชอบมาพากล โครงการนี้จึงถูกระงับไป
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้นักโทษเป็น “หนู” ทดลอง วิธีการคือจับนักโทษไปแช่น้ำที่เย็นจัด จากนั้นก็ใช้ค้อนทุบเพื่อเช็กดูว่า แขนขาของนักโทษเริ่มแข็งชาเมื่อใด การทดลองครั้งนี้เพียงเพื่อต้องการตอบตามหัวข้อวิจัย “วิทยาศาสตร์ของการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม”
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง มีการเอาช็อคโกแลตที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียแอนแทร็กซ์ให้เด็กจีนกิน เพื่อดูว่าเด็ก ๆ จะตายเร็วแค่ไหน[1]
จุก : มีอีกไหมครับหลวงตา
หลวงตา : ตัวนักวิทยาศาสตร์ของโลกหลายท่านที่เราชื่นชม บางครั้งชีวิตส่วนตัวก็มีมุมมืดที่ขัดกับความดี ความงาม และความถูกต้องทางศาสนา
จุก : เช่น?
หลวงตา : ไอน์สไตน์ก็เป็นพ่อที่เฉยเมย และก็เป็นสามีที่ไม่ซื่อสัตย์ เขาหย่าขาดจากภรรยาคนแรก และทอดทิ้งลูกสาวที่พิการ เขามีครอบครัว แต่เขาก็ไม่ได้ให้ความสนใจครอบครัว เพราะมัวสาลวนอยู่แต่กับการศึกษาค้นคว้า ขณะที่นิวตันก็เป็นคนอหังการในความมีชื่อเสียงของตน ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวหาไลบ์นิชอย่างผิดว่า ๆ ว่าเป็นคนขโมยความคิดของเขา
จุก : เป็นเพราะเรามองวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเลิศเลอเกินไปหรือเปล่า?
หลวงตา : อาจารย์ระวี ภาวิไล เคยเตือนพวกเราชาวพุทธในเรื่องนี้ หลวงตาจำไม่ได้ว่า ท่านเขียนไว้ที่ไหน แต่จำได้ว่าเคยอ่านเจอ ท่านพูดในทำนองว่า ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการลองผิดลองถูก ขณะที่คำสอนของพระพุทธองค์ไม่ใช่ ดังนั้นการพูดว่า พระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ หรือเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องระมัดระวัง
จุก : จะกลายเป็นการลดทอนพระพุทธศาสนาลงเหมือนอย่างที่หลวงตาว่า?
หลวงตา : ถูกแล้วจุก!
จุก : ผมพอจะเข้าใจแล้วครับหลวงตา ต่อไปผมจะระมัดระวังการใช้คำนี้ให้มากกว่านี้
--------------------------------------------------------------------------------
[1] ข้อมูลดังกล่าวนี้ อ้างอิงจากบทความสนทนาระหว่างนักฟิกส์กับนักการศาสนา (มาติเยอ ริการ์ และตริน ซวน ตวน) จากหนังสือควอนตัมกับดอกบัว แปลโดย กุลศิริ เจริญศุภกุล และบัญชา ธนบุญสมบัติ
http://www.oknation.net/blog/bunruang/2010/09/26/entry-1