อนิจจัง(ท่านปสันโน)
แม่น้ำที่เราเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน แท้ที่จริงมันกำลังไหลอยู่ตลอดเวลา
น้ำที่อยู่ตรงหน้าเราขณะนี้จะไหลไป ในขณะที่น้ำเหนือจะไหลมาแทนที่
แต่การที่มันไหลติดต่อกันเป็นสายทำให้เห็นเป็นอันเดียวกัน แท้ที่จริง
มันเป็นคลื่นที่ต่อเนื่องกัน มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มันมีอนิจจัง
อยู่ในนั้น บางทีระดับน้ำก็เปลี่ยนหรืออะไรหลายๆ อย่างที่อยู่ในน้ำก็เปลี่ยน
แต่เพราะมีสันตติ คือ การสืบต่อกัน เป็นกระแสมาบดบังไว้ เราจึงมองไม่เห็นอนิจจัง
เป้าหมาย
ตราบใดที่จิตของเรามัวเมาเศร้าหมองขึ้นๆ ลงๆ ตามอารมณ์ มันเหนื่อย
น่าเหนื่อยน่าหน่าย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นอะไร มันน่าเหนื่อย เราปฏิบัติธรรม
หาที่หยุดที่นิ่ง ที่เบิกบานที่อิ่มเอิบ และสิ่งที่เราปฏิบัติทั้งหลาย จะทำบุญถวายทานก็ดี
รักษาศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ก็เพื่อให้เราเข้าถึงภาวะที่เรียกว่า ไม่หวั่นไหว เข้าสู่ภาวะที่มันอิ่ม
มันพอ รู้จักพอ ไม่ต้องแสวงหาอะไรอีกต่อไป มันพอหรือหยุดได้ นิ่งได้
นี่มันน่าปรารถนา เราตั้งเอาไว้เป็นเป้าหมายสำหรับเรา
คลื่นกระทบฝั่ง
ตั้งสติไว้กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็คล้ายๆ กับการดูคลื่นที่ชายทะเล
มันก็สบาย ไม่น่ามีอะไรกังวล หรือหนักอกหนักใจ ดูลมหายใจเข้า หายใจออกตามธรรมชาติ
เรื่องของธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เคลื่อนซัดเข้าหาฝั่ง
แล้วก็ออกไป ความรุ้สึกนึกคิดเข้ามาในจิตใจแล้วก็ออกไป ความห่วงกังวลเข้ามาในจิตใจ
แล้วก็ออกไป เหมือนลมหายใจเข้าลมหายใจออก ไม่มีอะไรผิดปกติ มันเหมือนๆ กันนั่นแหละ
ก็เลยเป็นที่ตั้งแห่งความสบาย เป็นอุบายที่จะทำให้ใจสงบ
รู้ให้ทัน
แกนกลาง ของสิ่งที่จะดับความทุกข์ได้ คือ เราเห็นการเกิดและการดับของสิ่งทั้งหลาย
เห็นร่างกายนี้ เห็นจิตใจนี้ เกิดอยู่แล้วก็ดับไป เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งที่เป็นของเรา
เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งนอกตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นบุคคลอื่นก็ดี เป็นสิ่งของก็ดี เป็นโลกทั้งโลกก็ดี
มันเป็นของไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ไม่ใช่สิ่งที่เก็บมาเป็นอารมณ์
ทับถมจิตใจ และสร้างความทุกข์ เป็นสิ่งที่เราต้องปล่อย แต่ปล่อยด้วยสติปัญญา และคุณธรรม