แสงธรรมนำใจ > หยาดฝนแห่งธรรม
เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า..ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร
i mah'ta:
เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาอย่างไร? (ตอน ๖)
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
พระสีวลีเถระ/มหาโพธิสมาคม
พุทธคยา อินเดีย
วิสัชนา : หากจะนำ “หลักโยนิโสมนสิการ” มากล่าว คงจะต้องขออนุญาตสรุปย่อพอเข้าใจ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา จึงขอแนะนำให้สาธุชนขวนขวายไปเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือประกอบการศึกษาทางพุทธศาสนา ที่ผู้รู้จำนวนมากได้แต่งตำราเผยแพร่กับในสังคมยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่อัตคัดตำรา หนังสือ แหล่งความรู้จากภายนอก หรือเรียกว่า ปรโตโฆสะ (เสียงจากผู้อื่น) เพื่อจะได้นำไปสู่การพัฒนาความคิด ความเห็นให้ชอบ ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม โดยการน้อมนำความรู้อันดีงามเหล่านั้น เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) เพื่อสร้างทิฏฐิอันชอบโดยธรรม อันจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องตามธรรม สมควรแก่ธรรม (ธรรมานุธรรมปฏิปัตติ)
เมื่อสังเคราะห์ลงมาโดยสรุปได้ชัดเจนว่า “การคิดเป็น คิดถูก หรือการรู้จักคิดนั้น จะนำไปสู่แสงสว่างแห่งชีวิต” เพื่อความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่ต้องการก้าวออกจากความทุกข์ จึงต้องรู้จักคบหากัลยาณมิตร เพื่อได้รับฟังเสียงที่ดีงาม สิ่งที่ถูกต้อง (ปรโตโฆสะ) ฯลฯ และการรู้จักโยนิโสมนสิการ ซึ่งได้แก่ การรู้จักนำมาคิดพิจารณาโดยแยบคาย เพื่อสร้างองค์ความรู้อันนำไปสู่ปัญญาหรือแสงสว่างแห่งดวงจิต จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนซึ่งกันและกัน สำหรับผู้ยังต้องศึกษา จนกว่าจะก้าวถึงที่สุดแห่งเส้นทางธรรม...
หากจะขอกล่าวถึง ความหมายของ “โยนิโสมนสิการ” นั้น คงจะแปลตามรูปศัพท์ได้ว่า การกระทำในใจโดยแยบคาย (โยนิสะ = แหล่งเกิดปัญญา อุบาย วิธีฯ, มนสิการ = การทำในใจ การคิด คำนึงฯ) ซึ่งอาจจะสรุปใจความตามรูปศัพท์ให้พอเข้าใจได้ว่า เป็นกระบวนการคิดอย่างมีทิศทาง คิดตามเหตุ คิดตามผล คิดอย่างมีเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่ความรู้แจ้งหรือเกิดปัญญาอันชอบ ท่านผู้รู้มักจะสรุปกันว่า เป็นความคิดอย่างถูกวิธี มีระเบียบ มีเหตุผล และเร้ากุศล ทั้งนี้ ได้สรุปไว้อย่างชัดเจนว่า “โยนิโสมนสิการ” นั้น เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา คือ เกิดสัมมาทิฏฐิ
เพื่อเข้าสู่ธรรมกระแส บนหนทางแห่งอริยมรรค อันมีองค์ธรรม ๘ ประการ ซึ่งสัมมาทิฏฐินั้น แท้จริง คือตัวปัญญา อันนำไปสู่การมีวิชชาเกิดขึ้น เพื่อดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ในชีวิต หรือการบรรเทาความทุกข์ด้วยความเข้าใจ หรือรู้เท่าทันโลก ในวิถีแห่งโลกียสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นความเห็นชอบของบุคคลที่ต้องเกี่ยวข้องอยู่กับโลกสืบเนื่องการดำเนินชีวิตบนหลักศีลธรรม เพื่อการดำรงความดีงามของตนไว้ในฐานะทางโลก ซึ่งจะต้องอาศัยกำลังศรัทธาในการยึดเหนี่ยวจิต ชักนำความคิดไปทางกุศลธรรม รู้จักใช้หลักโยนิโสมนสิการ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินไปของชีวิต เพื่อรู้ประโยชน์ รู้คุณค่าความหมายแห่งศีลธรรม ในการนำไปสู่การประกอบความดี
จึงต้องมีกำลังศรัทธาชักนำจิตให้รู้จักคิดพินิจตามธรรม (โยนิโสมนสิการ) โดยการได้รับรู้ รับฟัง ได้รับการศึกษาในสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง มีประโยชน์โดยธรรม (ปรโตโฆสะ) ซึ่งเกิดจากการได้คบค้ากับผู้รู้หรือบัณฑิต ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรที่ควรค่า จึงนำไปสู่การรู้จักคิดอย่างมีปัญญา เพื่อมุ่งขจัดความไม่รู้หรืออวิชชาให้หมดไป ดังที่จะกล่าวโดยสรุปถึงลำดับวิธีการแห่งการคิดพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ตามหลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา อันมีประโยชน์ยิ่ง...ดังนี้
อ่านต่อพรุ่งนี้
-----------------
ที่มา : เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาอย่างไร? (ตอน ๖)
รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต
i mah'ta:
เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (ตอน ๗)
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...
พระสีวลีเถระ/มหาโพธิสมาคม
พุทธคยา อินเดีย
วิสัชนา : ๑.วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย ที่เรียกว่า วิธีคิดแบบ “อิทัปปัจจยตา” ซึ่งเป็นการคิดแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัยสัมพันธ์ เพื่อค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลสัมพันธ์สืบทอดกันมา พูดให้เข้าใจว่า “ไล่เรียงกันตลอดสาย ว่า ผลนี้มาได้ด้วยเหตุอันใด หรือ เหตุนี้นำไปสู่ผลอันใด” ดังที่มีการคิดสืบสาวปัจจัยสัมพันธ์ ที่ปรากฏอยู่ในหลักปฏิจจสมุปบาทธรรมที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ”
๒.วิธีคิดแบบกระจายเนื้อหา (แยกแยะส่วนประกอบ) เป็นการคิดที่มองเข้าไปหาความจริงอันเป็นที่สุด เพื่อรู้แจ้งในสภาวธรรมเหล่านั้น ในทางธรรมเป็นการคิดเพื่อมุ่งเข้าไปถึงชั้นความจริงอริยสัจ ที่เห็นถึง ความไม่มีตัวตน ความไม่มีแก่นสาร เพื่อเข้าถึงตัวกฎแห่งพระไตรลักษณ์ จะเรียกว่า เป็นการคิดแบบวิเคราะห์ ก็ว่าได้...
๓.วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรม (แบบสามัญญลักษณะ) คือ มองตามสภาพความเป็นจริงของสภาวธรรม และรู้เท่าทันในความเป็นธรรมดา หรือความเป็นจริงนั้น ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้น ตามธรรมดาของมันเอง... ดังเช่น การคิดพิจารณาเข้าไปหาความจริงของสภาวธรรมหรือสังขารธรรม อันได้แก่ นามรูปทั้งหลายว่า... เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ไม่คงอยู่ตลอดไป เป็นอนิจจัง และด้วยความสัมพันธ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไปมาไม่คงที่ จึงนำไปสู่ความขัดแย้ง ทำให้เกิดสภาวะที่ถูกบีบคั้น กดดัน ไม่อาจคงสภาพได้ จึงมีความแปรปรวน เปลี่ยนสลาย ให้เป็นทุกข์ และด้วยความเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงไม่อาจถือสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของได้ ไม่อยู่ในการควบคุมบัญชาของใคร ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา รื้อค้นพิจารณากลายเป็นความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน เรียกว่า เป็นอนัตตา จึงได้ชื่อว่า เข้าถึงความรู้จริงในความเป็นจริงที่มีอยู่... ในธรรมชาตินี้... เพื่อนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง อันมุ่งตรงไปที่อริยสัจ... อันมุ่งหวังความปลดเปลื้องในความยึดถือที่เกิดจาก อวิชชา อันนำไปสู่ความทุกข์ไม่จบสิ้น...
๔.วิธีคิดแบบอริยสัจ เป็นกระบวนการคิดเพื่อนำไปสู่ความดับทุกข์ที่แท้จริง ซึ่งเป็นเอกแห่งวิธีการคิดที่สาธุชนควรนำไปใช้ เพื่อประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม สืบสาวจากผลไปหาเหตุ เมื่อพบเหตุก็ให้แก้ไข ขจัดเหตุนั้นเสีย ผลนั้นก็จะจบสิ้นไป เช่น ปัญหาต่างๆ ย่อมมีที่มาของปัญหานั้นๆ สืบสาวให้ถึงจุดของที่มาแห่งปัญหา จึงจะดับปัญหานั้นได้ หรือเมื่อต้องการผลเช่นไร ก็ต้องมองหาวิธีการอันนำไปสู่ผลนั้น เมื่อเข้าถึงวิธีการที่ถูกต้อง ผลก็ย่อมปรากฏ เป็นธรรมดา...
๕.วิธีคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย (อรรถธรรมสัมพันธ์) พึงพิจารณาให้เข้าใจถ่องแท้ในหลักการและจุดมุ่งหมาย ไล่เรียงให้เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ก่อนจะลงมือปฏิบัติ หรือทำตามหลักการวิธีการนั้นๆ เพื่อให้ได้ผลตามความมุ่งหมาย เป็นการขจัดความเชื่ออย่างงมงาย ที่ไร้หลักการ ขาดหลักธรรม ห่างไกลความจริง เป็นการสกัดกั้นความคิดแบบเพ้อฝันของบรรดานักจิตนิยมที่ชอบขายความคิด...เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกชอบโดยธรรม สมควรแก่ธรรม...
๖.วิธีคิดแบบคุณโทษ และทางออก เป็นวิธีคิดด้วยการเปิดจิตยอมรับความจริง มองสิ่งทั้งหลายตามความจริงให้ครบทุกด้าน ทุกแง่ ทุกมุม ดุจการมองเหรียญ ๒ หน้า แถมสันเหรียญอีกส่วนหนึ่ง อันพึงรู้เห็นให้ละเอียด ไม่ผลีผลามสรุป จะผิดพลาดได้อย่างง่ายๆ กลายเป็นหมูวิ่งชนบังตอโดยไม่รู้ตัว การคิดแบบนี้มีปัญญานำสติ รู้เท่ารู้ทันกับสภาวธรรมที่ปรากฏ เป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องกับการปฏิบัติมาก ผู้รู้จักคิดแบบนี้ จะเป็นบุคคลที่มีความรอบคอบ เข้าใจในหลักความจริงของโลกธรรมว่า มี ๒ ส่วน แย้งกันอยู่เสมอ เช่น เมื่อมีส่วนดี (อัสสาทะ) ก็ย่อมต้องมีส่วนเสีย (อาทีนวะ) สำคัญยิ่งของหลักการคิดแบบเห็นคุณโทษนั้น จะได้ประโยชน์กับทางออกจากปัญหา ซึ่งไม่เข้าไปติดยึดในสองส่วนดังกล่าว เรียกว่า นิสสรณะ (ทางออก)
----------
ที่มา : เพื่อชีวิตที่มีคุณค่า...ควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (ตอน ๗)
รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต
i mah'ta:
เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (ตอน๘)
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...
พระสีวลีเถระ/มหาโพธิสมาคม พุทธคยา อินเดีย
วิสัชนา : ๗.วิธีคิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม เป็นการคิดเพื่อพินิจพิจารณาให้เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคใช้สอย เพื่อการเข้าถึงคุณค่าประโยชน์ที่แท้จริง เป็นการนำไปสู่การปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างเข้าใจประโยชน์ เพื่อความสุขโดยธรรม ทั้งต่อตนและผู้อื่น...
๘.วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม เป็นการคิดแบบเร้ากุศล สร้างศรัทธา เพิ่มพูนฉันทะในธรรมอยู่ตลอดเวลา อันจะนำไปสู่ความเพียรอันชอบยิ่งๆ ขึ้น เป็นแนวความคิดที่ใช้บรรเทาและขัดเกลาความทะยานอยากอำนาจจิตอกุศลที่คิดปรุงแต่งในทางไม่ดีไม่งาม ฯลฯ
๙.วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการคิดแบบมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ อันเป็นไปตามหลักการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อการสกัดกั้นความคิดที่มักจะเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ปรุงแต่งที่เกิดจากอำนาจแห่งตัณหา ซึ่งมักจะอาลัยเกาะติดกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือเรียกหาสิ่งที่ยังมาไม่ถึง จนขาดปัญญาที่จะรู้จริงในความเป็นจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากแต่ว่าเมื่อการคิดพิจารณานั้นนำไปสู่ปัญญา ไม่ว่าเรื่องราวในการใด โดยนำมากำหนดรู้พิจารณาอยู่เฉพาะหน้าอย่างมีสติปัญญา ก็ย่อมไม่ถือว่าเป็นการคิดออกไปจากปัจจุบันธรรม
๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท เป็นวิธีการจำแนกแจกแจงโดยการแถลงแสดงเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นการพูดอันใกล้ชิดกับความคิดที่รู้จักพูด หรือกล่าวแสดงด้วยการจำแนกแจกแจง ซึ่งจะต้องรู้จักวิเคราะห์ในเรื่องนั้นๆ จนเข้าถึงชั้นของความจริงแท้ ซึ่งสามารถนำมาจำแนกแจกแจง แยกแยะให้เห็นได้ในแต่ละแง่ แต่ละด้าน ไม่พูดคลุมเครือ หรือแสดงออกมาเพียงแง่เดียว จะพบวิธีการดังกล่าวในพระพุทธศาสนา จนกลายเป็นนามเรียกพระพุทธศาสนาว่า วิภัชชวาท หรือ วิภัชชวาที ซึ่งจะพบบ่อยๆ ในรูปการปุจฉาวิสัชนาธรรม หรือวิธีตอบปัญหาของพระพุทธองค์ (ปัญหาพยากรณ์) ซึ่งมี ๔ อย่างคือ
เอกังสพยากรณ์ การตอบแง่เดียว (ตอบ อย่างเดียว เด็ดขาด)
วิภัชชพยากรณ์ การแยกแยะตอบ
ปฏิปุจฉาพยากรณ์ การตอบโดยย้อนถาม
ฐปนะพยากรณ์ การไม่ตอบ
จากกระบวนการคิดพิจารณาโดยแยบคายตามที่กล่าวมา เพื่อนำไปสู่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อปัญญาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการคิดนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคมปัจจุบัน ที่มากไปด้วยสิ่งเร้าอันนำไปสู่ อกุศลจิต ซึ่งสามารถสร้างความคิดที่ผิดทำนองคลองธรรมได้อย่างไม่ยาก และเมื่อความคิดผิดความเห็นผิดไปแล้ว
-----------------
ที่มา : เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (ตอน๘)
รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต<!-- google_ad_section_end -->
i mah'ta:
เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (จบ)
ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต...
โดย....พระอาจารย์อารยะวังโส
พระสีวลีเถระ/มหาโพธิสมาคม
พุทธคยา อินเดีย
วิสัชนา : จึงไม่แปลกที่จะนำไปสู่ความประพฤติผิด ดังที่คนในสังคมปัจจุบันถอยห่าง หรือปฏิเสธหลักคุณธรรมความดี!! แม้เพียงขั้นเบื้องต้นของสัตว์มนุษย์ ที่เรียกว่า ศีลธรรม อันเป็นความเชื่อแค่เพียงระดับกฎแห่งกรรมเท่านั้น!! ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ความเดือดร้อน ความเร่าร้อนได้แผ่กระจายไปทั่วในทุกภูมิภาคของสังคมโลก ดังเช่น ภัยจากการก่อการร้าย การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ หรือการใช้ความรู้ทางโลก ปล้นเงินทุนจากตลาดเงินทุนของแต่ละประเทศในรูปแบบต่างๆ นานา ฯลฯ การแพร่ระบาดในวิธีการเบียดเบียน เพื่อแย่งชิงหรือให้ได้มา ซึ่งปัจจัยที่ตนและพวกพ้องประสงค์จึงขยายตัวไปทั่ว โดยอาศัยความรู้ กลไกทางโลก ซึ่งไม่มีวิธีการใดที่สามารถยับยั้งมหันตภัยของสัตว์มนุษย์ที่สิ้นคิดได้เลย ด้วยความสิ้นคิด หรือไม่รู้จักคิด ขาดโยนิโสมนสิการในกระบวนการคิด จึงมากไปด้วยพิษภัยในความคิดที่ไม่ชอบตามทำนองคลองธรรม และมากไปด้วยความมืดมัว เมามาย ในความคิดอกุศล ที่มีฐานจิตมาจากอวิชชา จึงนำพาตนเองและสังคมไปสู่ความไร้คุณภาพ ขาดคุณธรรม และสิ้นคุณความดี ที่สุดคือ เพิ่มความทุกข์ทับถมในความทุกข์ที่มีอยู่ในหมู่สัตว์ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งความทุกข์กาย ทุกข์ใจ หรือทุกข์ที่เป็นความรู้สึกทุกข์ (ทุกขทุกขตา) อันเกิดขึ้นเมื่อประสบอนิษฐารมณ์ความทุกข์ด้วยการผันแปร ดังความสุขที่ก่อตัวขึ้น และผันแปรมาเป็นความทุกข์ (วิปริณามทุกขตา) และทุกข์ตามสภาพสังขาร (สังขารทุกขตา) ซึ่งอยู่ภายใต้ตัวกฎของธรรมชาติ อันเกิดขึ้น ผันแปร และแตกดับไปเป็นธรรมดา
ซึ่งหากกล่าวสรุปในสุดท้ายนี้ ก็ต้องรวมความทุกข์ ความเร่าร้อนของสัตว์ทั้งหลาย อยู่ที่ความโง่ (อวิชชา) ที่ปรากฏอยู่ในความคิดของสัตว์มนุษย์เหล่านั้น เมื่อคิดไม่เป็น จึงสิ้นคิด จึงนำไปสู่การกระทำที่ไร้ความคิด ทั้งนี้เพราะคิดไม่เป็น นั่นหมายถึง การไม่ได้รับการเรียนรู้ว่า ควรคิดอย่างไร เพื่อการนำไปสู่ความเข้าใจความรู้ และความมีปัญญา ซึ่งสามารถนำประโยชน์และความสุขมาสู่ตนและหมู่คณะได้ เราจึงเห็นเป็นปกติของความเดือดร้อนของสัตว์มนุษย์ในสังคมยุคสิ้นความคิด... ซึ่งเรามักจะอุทานเสมอ เมื่อพบกับความคิดที่ไร้วุฒิภาวะแห่งความเป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งไม่สมควรเรียกว่า ความคิด หรือการมนสิการเลย จึงมักจะกล่าวตำหนิกันว่า “มันเอาอวัยวะส่วนไหนมาคิดกัน ! จึงพูด หรือทำได้อย่างนั้น!!” แสดงว่า สัตว์สังคมที่ปกติในฐานะสมบูรณ์ด้วยวุฒิภาวะ ย่อมรู้ว่า “ความคิด ต้องมาจากจิตที่มีศีลธรรม อันสติกำกับดูแลดีแล้ว” จึงประกอบความระลึกรู้ที่ชอบโดยธรรมจากความคิดนั้น จึงควรกล่าวว่านี้คือ ความคิดที่เกิดจากการมนสิการโดยธรรม อันสามารถนำเข้าสู่ กระบวนการคิดพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ได้อย่างไม่ยาก... ซึ่งสามารถขจัดปัญหาและความทุกข์ทั้งปวงในชีวิตของตนและสังคมได้ ทั้งนี้ ส่วนสำคัญของความคิดที่ผ่านกระบวนการคิดพิจารณาโดยแยบคายแล้วนั้น จะไม่นำไปสู่การกระทำที่ผิดทำนองคลองธรรมเลยในทุกกาลสมัย และจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาชีวิตให้ดี มีคุณภาพ ก้าวย่างสู่คุณธรรมความดี อันสามารถดำรงอยู่ในโลกได้อย่างไม่เร่าร้อน วุ่นวาย มีความสงบสุขโดยธรรมอย่างแท้จริง ทั้งนั้นทั้งนี้ เพราะความคิดที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) จะนำไปสู่การกระทำที่ชอบโดยธรรมอย่างเป็นปกติ ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย... ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับบรรดาทุรชนผู้มีความคิดผิดทำนองคลองธรรม ที่เรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ” ซึ่งสามารถประกอบการอกุศลได้ในทุกๆ เรื่อง อย่างที่เราท่าน คาดคิดไม่ถึงว่า จะทำกันได้อย่างไร สมดังคำกล่าวที่ว่า “เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เพิ่มพูนไพบูลย์เหมือนอย่างมิจฉาทิฏฐิเลย”
ขอเจริญพร
-------------------
ที่มา : เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าควรปฏิบัติตามหลักศาสนาพุทธอย่างไร? (จบ)
รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต
แก้วจ๋าหน้าร้อน:
:13: อนุโมทนาครับคุณนู๋ตา^^
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version