แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
พระสูตรเว่ยหล่าง พุทธทาสภิกขุ แปล
ฐิตา:
ซึ่งเราจะพบความสว่างไสวได้ ในเขตนั้นฯ
การเสาะแสวงหาความสว่างไสว ในที่อื่นจากโลกนี้
เป็นของพิลึกกึกกือ เหมือนการเที่ยวหาเขากระต่ายฯ
สัมมาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่ถูกขนานนามว่า "เลิศเหนือโลก"
มิจฉาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่ถูกขนานนามว่า "ข้องอยู่ในโลก"
เมื่อใดทิฏฐิทั้งสองอย่าง
ไม่ว่าสัมมาหรือมิจฉา ถูกสลัดพ้นออกไป
เมื่อนั้นโพธิแท้ ย่อมปรากฏ ฯ
โศลกนี้มีไว้สำหรับพวก "นิกายฉับพลัน"
และโศลกนี้ ยังถูกขนานนามว่า "มหาธรรมนาวา" (เพื่อแล่นข้ามฝั่งสังสารวัฏ)
กัลป์แล้วก็กัลป์เล่า คงตกอยู่ภายใต้ความมืดบอด
แต่ครั้นถึงคราวตรัสรู้ มันกินเวลาแวบเดียวเท่านั้น เขาก็เข้าถึงพุทธภูมิฯ
ก่อนจบเทศนา พระสังฆปริณายกได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "บัดนี้ในวิหารแห่งไทฟันนี้ อาตมาได้แสดงธรรมให้ท่านฟัง ถึงคำสอนแห่ง "นิกายฉับพลัน" แล้ว ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งล้วนแต่มีธรรมธาตุอันนั้นประจำอยู่ ในตัวทุกคนแล้วจงเข้าใจธรรมะนี้ และลุถึงความเป็นพุทธะเถิด"
เมื่อได้ฟังธรรมกถาที่พระสังฆปริณายากล่าวจบลงแล้ว ข้าหลวงไว่ แห่งชิวเจา พวกข้าราชการ นักศึกษาฝ่ายเต๋า และชาวบ้านเหล่านั้นได้เข้าถึงความสว่างไสว ทั่วถึงกัน เขาเหล่านั้น พร้อมกันทำความเคารพและออกอุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า "สาธุ สาธุ ใครจะนึกไปถึงว่า พระพุทธเจ้าได้มาอุบัติขึ้นในนครกวางตุ้ง"
ฐิตา:
หมวดที่ 3
ว่าด้วยข้อปุจฉา-แลวิสัชนา
********************
วันหนึ่ง ท่านข้าหลวงไว่ ได้จัดให้มีการประชุมกันถวายภัตตาหารเจแด่ พระสังฆปริณายก และขอร้องให้ท่านแสดงธรรมแก่ประชุมชนที่กำลังประชุมกันคับคั่ง เมื่อเสร็จจากการฉันแล้ว ท่านข้าหลวงไว่ได้อาราธนาให้ท่านขึ้นธรรมมาสน์ (ซึ่งท่านได้ตกลงรับ) เมื่อได้โค้งคำนับด้วยความเคารพ 2 ครั้ง 2 ครา พร้อมๆกับบรรดาข้าราชการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่ได้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั่นแล้ว ข้าหลวงไว่ได้กล่าวขึ้นว่า กระผมได้ฟังบทธรรมที่พระคุณเจ้าแสดงแล้ว รู้สึกว่าเป็นของลึกซึ้งเกินกว่ากำลังความคิดและถ้อยคำของกระผมจะบรรยายได้ และกระผมมีปัญหาอยู่บางประการ ซึ่งหวังว่าพระคุณเจ้าคงจะกรุณาชี้แจงให้เห็นกระจ่าง
พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ถ้าท่านมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่ก็ขอให้ท่านถามมา อาตมาจะได้ชี้แจง
ข้าหลวงไว่ได้ถามขึ้นว่า หลักธรรมต่างๆ ที่พระคุณเจ้าได้แสดงไปแล้วนี้ เป็นหลักที่ประสังฆปริณายกโพธิธรรม ได้วางไว้บัญญัติไว้มิใช่หรือ?
พระสังฆปริณายก ตอบว่า ใช่
กระผมได้สดับตรับฟังมาว่า เมื่อพระโพธิธรรมได้พบปะและสังสนทนากันเป็นครั้งแรกกับ พระจักรพรรดิวู่แห่งราชวงศ์เหลียง นั้น ท่านสาธุคุณองค์นั้นได้ถูกพระจักรพรรดิถามถึงข้อที่ว่า พระองค์จะได้รับกุศล (Merits) อะไรบ้าง ในการที่พระองค์ได้กระทำการก่อสร้างพระวิหาร การอนุญาตให้คนบวช(ซึ่งในสมัยนั้นพระบรมราชานุญาตเป็นของจำเป็นมาก) การโปรยทานและการถวายภัตตาหารเจแด่พระภิกษุสง์ในราชกาลของพระองค์ และท่านสาธุคุณองค์นั้น ได้ถวายพระพรว่า การกระทำเช่นว่านั้น ไม่เป็นทางนำมาซึ่งกุศลแต่อย่างใดเลย ในเรื่องนี้ กระผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมพระสังฆปริณายกโพธิธรรม จึงได้ถวายพระพร เช่นนั้น ของพระคุณเจ้าโปรดชี้แจงด้วยเถิด
พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ถูกแล้ว การกระทำเช่นว่านั้น ไม่เป็นทางนำมาซึ่งกุศลแต่อย่างใด ท่านอย่าได้มีความสงสัยในถ้อยคำของพระมุนีองค์นั้นเลย พระจักรพรรดิเองต่างหาก มีความเข้าพระทัยผิด และพระองค์ไม่ได้ทรงทราบถึงคำสอนอันถูกต้อง ตามแบบแผน ก็การกระทำเช่นสร้างวิหาร การอนุญาตให้คนบวช การโปรยทาน การถวายภัตตาหารเจ เช่นกล่าวนี้จะนำมาให้ได้ก็แต่เพียงความปิติอิ่มใจต่างๆ เท่านั้น ซึ่งไม่สมควรจะถือว่าเป็นกุศล กุศลจะมีได้ก็แต่ในธรรมกาย ไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกันกับการทำเพื่อความปิติอิ่มใจ ดังกล่าวมานั้นเลย (*14)
*14 เราจะเห็นได้ว่า แม้ในสมัยโบราณ นิกายเซ็นแห่งประเทศจีน ก็ยังคงมีการถือคำว่ากุศลกันอย่างถูกต้องตามความหมายเดิมของคำว่า "กุศล"(กุศล-ตัดความชั่วสิ่งห่อหุ้ม สันดานเหมือนหญ้ารก) ซึ่งในที่นี้ หมายความถึงสิ่งที่จะช่วยขจัดเครื่องกางกั้น มิให้ลุถึงความรอดพ้นจากอำนาจกิเลส หรือกล่าวโดยตรง กุศล ก็ได้แก่เครื่องช่วยให้จิตหลุดรอดไปจากสิ่งครอบคลุมห่อหุ้ม จนไม่เห็นโพธินั่นเอง ฉะนั้น จึงไม่หมายความไปถึงวัตถุภายนอก เช่น การให้ทาน หรือการสร้างวิหารเป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ควรจะเรียกว่า "บุญ" มากกว่าที่จะเรียกว่า "กุศล" (ปุญญ-เครื่องให้ฟูใจ) ครั้นตกมาถึงสมัยพวกเรานี้ คำว่ากุศล ใช้ปนเปไปกับคำว่าบุญ จนอ่านข้อความตอนนี้เข้าใจได้ยาก (ผู้แปลไทย พุทธทาส)
ฐิตา:
พระสังฆปริณายกได้กล่าวต่อไปว่า การเห็นแจ้งชัดในจิตเดิมแท้ นั้น เรียกว่า กุง (กุศลวิบาก) และความคงที่สม่ำเสมอ นั้น เรียกว่า แต๊ก (กุศลสมบัติ) และเมื่อใด ความเป็นไปทางฝ่ายจิตของเรา มีการเคลื่อนไหวคล่องแคล่วไม่มีติดขัด จนทำให้เราทราบไม่ขาดสาย ถึงภาวะที่แท้จริง พร้อมทั้งการทำหน้าที่อย่างประหลาดลึ้ลับของใจของเราเอง เมื่อนั้น เรียกว่าเราเข้าถึงแล้วซึ่ง กุงแต๊ก (กุศล) ที่เป็นภายใน
การระวังจิตของตนไว้ ให้คงอยู่ในภาวะที่ปราศจากความเผยอผยองพองตัวเรียกว่า กุง ที่เป็นภายนอก การวางตัวไว้ในสภาพที่เหมาะสมทุกวิถีทาง เรียกว่า แต๊ก รู้ว่าทุก ๆสิ่ง คือการแสดงออกของจิตเดิมแท้ เรียกว่า กุง และรู้ว่าส่วนที่เป็นประธานของจิต เป็นอิสระแล้วจากความคิดอันเป็นเครื่องถ่วงทั้งหลาย นี้เรียกว่า แต๊ก การไม่แล่นเพริดเตลิดไปจากจิตเดิมแท้ เรียกว่า กุง และการที่เมื่อใช้จิตนั้นทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่เผลอทำจิตนั้นให้มืดมัวเสียรูปไป นี้เรียกว่า แต๊ก ถ้าท่านแสวงหากุศลภายในธรรมกาย และทำตามที่อาตมาได้กล่าวนี้จริงๆแล้ว กุศลที่ท่านได้รับ จะต้องเป็นกุศลจริง ผู้ปฏิบัติเพื่อกุศล จะไม่หมิ่นผู้อื่น และในที่ทุกโอกาสเข้าปฏิบัติต่อทุกๆ คนด้วยความยำเกรงนับถือ ผู้ซึ่งมีการดูหมิ่นผู้อื่นเป็นปรกตินิสัย ย่อมไม่สามารถขจัดมานะอหังการออกไปเสียได้ ซึ่งส่อว่าเขา ยังขาดกุง เพราะความถือตัว และความดูหมิ่นผู้อื่นเป็นปรกตินิสัยเขาย่อมไม่เห็นแจ้งต่อจิตเดิมแท้ และนี่ส่อว่าเขา ยังขาดแต๊ก
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย เมื่อใดความเป็นไปทางฝ่ายจิตทำหน้าที่ของมันได้โดยไม่มีที่ติดขัด เมื่อนั้นเรียกว่า มีกุง เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันในลักษณะที่ตรงแน่ว เมื่อนั้นเรียกว่า มีแต๊ก การฝึก การฝึกทางจิต จัดเป็น กุง การฝึกทางที่เกี่ยวกับกาย จัดเป็น แต๊ก
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย กุศลนั้นเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาภายในจิตเดิมแท้ และเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากาการโปรยทาน การถวายภัตตาหาร ฯลฯ และอื่นๆ เหตุฉะนั้น เราต้องรู้จักแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างความปิติอิ่มใจกับตัวกุศลแท้ คำที่พระสังฆปริณายกของเรากล่าวไปนั้นไม่มีอะไรผิด พระจักรพรรดิวู่เองต่างหาก ที่ไม่เข้าใจในหนทางอันแท้จริง
ข้าหลวงไว่ ได้เรียนถามปัญหาข้อต่อไปอีกว่า กระผมได้สังเกตเห็นเขาทำกันทั่วไป ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ในการออกนามพระอมิตาภะและตั้งอธิษฐานจิตขอให้ไปบังเกิดในดินแดนอันบริสุทธิ์ ทางทิศตะวันตก เพื่อขจัดความสงสัยของกระผม ขอพระคุณเจ้าจงกรุณาตอบให้แจ้งชัด ว่ามันจะเป็นได้หรือไม่ ที่เขาเหล่านั้นจะพากันไปเกิดที่นั้น
พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ท่านทั้งหลายจงฟังอาตมาอย่างระมัดระวังสักหน่อย แล้วอาตมาจะได้อธิบาย เมื่อกล่าวตามสูตรที่สมเด็จพระภควันต์ได้ตรัสไว้ที่นครสาวัตถี เพื่อนำประชาสัตว์ไปสู่แดนบริสุทธิ์ทางทิศตะวันตกนั้น มันก็เป็นที่กระจ่างชัดแล้วว่า แดนบริสุทธิ์นั้นอยู่ไม่ไกลไปจากที่นี่เลย เพราะตามระยะทางคิดเป็นไมล์ ก็ได้108,000ไมล์เท่านั้น ซึ่งโดยแท้จริงแล้วระยะทางนี้ หมายถึงอกุศล 10 และมิจฉัตตะ 8 ภายในตัวเรานั่นเอง (*15) สำหรับคนพวกที่ยังมีใจต่ำ มันก็ต้องอยู่ไกลอย่างแน่นอน แต่สำหรับพวกที่มีใจสูงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า มันอยู่ใกล้นิดเดียว
*15 อกุศล 10 อย่าง (ซึ่งหมายถึงอกุศลกรรมบท) คงกำหนดให้อย่างละหมื่นไมล์ ส่วนมิจฉัตตะ 8 อย่างนั้น คงกำหนดให้อย่างละพันไมล์ จึงได้แสนแปดหมื่นไมล์
มิจฉัตตะนั้น คือความผิดตรงกันข้ามกับมรรคมีองค์แปด (ผู้แปลไทย พุทธทาส
ฐิตา:
แม้ว่าพระธรรมจะเป็นของคงเส้นคงวารูปเดียวกันทั้งนั้น แต่คนนั้นๆย่อมแตกต่างกันโดยจิตใจ เพราะขนาดแห่งความฉลาดและความเขลาของมนุษย์มีอยู่แตกต่างกันนี่เอง จึงมีคนบางคนเข้าใจในพระธรรมได้ก่อนคนเหล่าอื่น เมื่อพวกคนไร้ปัญญากำลังพากันท่องนามของพระอมิตาภะ และอ้อนวอนของให้ได้เกิดในแดนบริสุทธิ์อยู่นั้น คนฉลาดก็พากันชำระใจของเขาให้สะอาดแทน เพราะเหตุว่า ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้นั้นมีอยู่ว่า "เมื่อใจบริสุทธิ์ แดนแห่งพระพุทธเจ้า ก็บริสุทธิ์พร้อมกัน
แม้ว่าพวกท่านทั้งหลายจะเป็นชาวตะวันออก ถ้าใจของท่านบริสุทธิ์ท่านก็เป็นคนไม่มีบาป อีกทางหนึ่งตรงกันข้าม ต่อให้ท่านเป็นชาวตะวันตกเสียเอง ใจที่โสมมของท่าน หาอาจช่วยให้ท่านเป็นคนหมดบาปได้ไม่ เมื่อคนชาวตะวันออกทำบาปเข้าแล้ว เขาออกนามอมิตาภะ แล้วอ้อนวอนเพื่อไปเกิดทางทิศตะวันตก ที่นี้ถ้าในกรณีที่คนบาปนั้นเป็นชาวตะวันตกเสียเองแล้ว เขาจะอ้อนวอนให้ไปเกิดที่ไหนเล่า? คนสามัญและคนเขลา ไม่เข้าใจในจิตเดิมแท้และไม่รู้จักแดนบริสุทธิ์อันมีอยู่พร้อมแล้วในตัวของตัว ดังนั้นเขาจึงปรารถนาที่จะไปเกิดทางทิศตะวันออกบ้าง ทางทิศตะวันตกบ้าง แต่สำหรับคนที่มีปัญญาแล้วที่ไหนๆก็ไม่สำคัญ เขาคงเป็นสุข และบันเทิงเริงรื่นอยู่เสมอ
ท่านทั้งหลาย เมื่อใจของท่านบริสุทธิ์จากบาปแล้ว ทิศตะวันตกก็อยู่ไม่ไกลจากที่ตรงนี้ มันลำบากนักก็อยู่ตรงที่ว่า คนใจโสมมต้องการจะไปเกิดที่นั่นด้วยการตะโกนร้องเรียกหาพระอมิตาภะเท่านั้น
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ในเรื่องนี้ สิ่งที่จะต้องทำเป็นข้อแรกก็คือจัดการกับอกุศล 10 ประการเสียให้หมดสิ้นไป เมื่อนั้นก็เป็นอันว่าเราได้เดินทางเข้าไปแล้ว 100.000ไมล์ ขั้นต่อไป เราจัดการกับมิจฉัตตะ 8 เสียให้สิ้นสุดก็เป็นอันว่าหนทางอีก 8.000ไมล์นั้น เราเดินผ่านทะลุไปแล้ว (เมื่อเป็นดังนี้แดนบริสุทธิ์จะหนีไปข้างไหน) ก็ถ้าเราสามารถเห็นแจ้งขัดในจิตเดิมแท้อยู่เสมอและดำเนินตนตรงแน่วอยู่ทุกขณะแล้ว พริบตาเดียวเท่านั้นเราก็ไปถึงแดนบริสุทธิ์ได้และพบพระอมิตาภะอยู่ที่นั่น (นะโมอมิตาพุทธ)
ถ้าท่านทั้งหลายเพียงแต่ประพฤติกุศล 10 ประการเท่านั้น ท่านก็หมดความจำเป็นที่จะต้องไปเกิดที่นั่น ในฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าท่านไม่จัดการกับอกุศล 10 ประการให้เสร็จสิ้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ไหนเล่าที่จะพาท่านไปยังที่นั่น? ถ้าท่านเข้าใจในหลักธรรม อันกล่าวถึงธรรมชาติที่ไม่มีการเกิด (ซึ่งหักเสียซึ่งวงกลมแห่งการเกิดและการตาย) ของนิกาย "ฉับพลัน" แล้ว มันจะพาท่านไปให้เห็นทิศตะวันตกได้ในอึดใจเดียว แต่ถ้าท่านไม่เข้าใจ ท่านจะไปถึงที่นั้นด้วยลำพังการออกนามอมิตาภะได้อย่างไรกันหนอ เพราะหนทาง 108,000ไมล์นั้นมันไกลไม่ใช่เล่น เอาละท่านทั้งหลายจะพอใจไหม ถ้าอาตมาจะยกเอาแดนบริสุทธิ์มาวางไว้ตรงหน้าท่านในเดี๋ยวนี้?
ที่ประชุมได้ทำความเคารพ แล้วตอบพระสังฆปริณายกว่า ถ้าเราทั้งหลายอาจเห็นแดนบริสุทธิ์ได้ ณ ที่ตรงนี้แล้ว เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรารถนาไปเกิดที่โน่น ขอพระคุณเจ้าจงได้กรุณาให้เราทั้งหลายได้เห็นแดนบริสุทธิ์นั้น โดยยกมาวางที่นี่เถิด
ฐิตา:
พระสังฆปริณายกได้กล่าวตอบว่า ท่านทั้งหลาย เนื้อกายของเรานี้เป็นนครแห่งหนึ่ง ตา หู จมูก ลิ้นของเราเป็นประตูเมือง ประตูนอกมี 4 ประตู ประตูในมีหนึ่งประตู ได้แก่อำนาจปรุงแต่งสำหรับคิดนึก ใจนั้นเป็นแผ่นดิน จิตเดิมแท้เป็นเจ้าแผ่นดิน ซึ่งอาศัยอยู่ในมณฑลแห่งใจ ถ้าจิตเดิมแท้อยู่ข้างใน ก็แปลว่าเจ้าแผ่นดินยังอยู่ แล้วกายและใจของเราก็ชื่อว่ายังมีอยู่ เมื่อจิตเดิมแท้ออกไปเสียแล้ว ก็ชื่อว่าเจ้าแผ่นดินไม่อยู่ กายและใจของเราก็ชื่อว่าสาบสูญไปแล้ว เราต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นพุทธะในภายในจิตเดิมแท้ และต้องไม่เสาะหาจิตเดิมแท้ในที่อื่นนอกจากตัวเราเอง ผู้ที่ถูกความเขลาครอบงำมองไม่เห็นจิตเดิมแท้นั้น จัดเป็นคนสามัญ
ผู้ที่มีความสว่างมองเห็นจิตเดิมแท้ของตนเอง จัดเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ความเป็นคนมีเมตตากรุณา เป็นพระอวโลกิเตศวร (คือพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งในจำนวนโพธิสัตว์สององค์ในแดนบริสุทธิ์ทางทิศตะวันตก) การเพลินในการโปรยทาน คือพระมหาสถมะ (พระโพธิสัตว์อีกองค์หนึ่ง ซึ่งคู่กัน ความสามารถทำให้ชีวิตบริสุทธิ์ คือ องค์พระศากยมุนี (พระนามอีกพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้)
ความสม่ำเสมอคงที่และความตรงแน่ว คือ พระอมิตาภะ ความคิดเรื่องตัวตนหรือเรื่องความมีความเป็น คือเขาพระสุเมรุ ใจที่สามานย์ ได้แก่มหาสมุทร กิเลส คือละลอกคลื่น ความชั่วคือมังกรร้าย ความเท็จคือผีห่า อารมณ์ภายนอกอันน่าเวียนหัว คือสัตว์น้ำต่างๆ ความโลภและความโกรธ คือโลกันตนรก อวิชชาและความมัวเมา คือสัตว์เดรัจฉานทั่วไป
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ถ้าท่านประพฤติในกุศล 10 ประการอย่างมั่นคง แดนสุขาวดีก็จะปรากฏแก่ท่านในทันที เมื่อใดท่านขจัดความเห็นว่าตัวตนและความเห็นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ออกไปเสียได้ เขาพระสุเมรุก็จะหักคะมำพังทลายลงมา เมื่อใดจิตไม่ย้อมด้วยความชั่วอีกต่อไป เมื่อนั้นน้ำในมหาสมุทร (แห่งสังสาระ) ก็เหือดแห้งไปสิ้น เมื่อท่านเป็นอิสระอยู่เหนือกิเลส เมื่อนั้นลูกคลื่นและละลอกทั้งหลายก็สงบเงียบลง เมื่อใดความชั่วร้ายไม่กล้าเผชิญหน้าท่าน เมื่อนั้นปลาร้ายและมังกรร้ายก็ตายสิ้น
ภายในมณฑลแห่งจิตนั้น มีองค์ตถาคตแห่งความตรัสรู้ ซึ่งสองแสงอันแรงกล้าออกมาทำความสว่างที่ประตูภายนอกทั้งหกประตู และควบคุมมันให้บริสุทธิ์ แสงนี้แรงมากพอที่จะทะลุผ่านสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้งหก และเมื่อมันย้อนกลับเข้าภายในไปยังจิตเดิมแท้ มันจะขับธาตุอันเป็นพิษทั้ง 3 อย่างให้หมดไป และชำระล้างบาปชนิดที่จะทำให้เราตกนรก หรืออบายอย่างอื่น แล้วจะทำความสว่างไสวให้เกิดแก่เราทั้งภายในและภายนอก จนกระทั่งเราไม่มีอะไรแตกต่างจากพวกที่เกิดในแดนบริสุทธิ์ ทางทิศตะวันตก ที่นี้ถ้าเราไม่ฝึกตัวเราให้สูงถึงขนาดนี้แล้ว เราจะบรรลุถึงแดนบริสุทธิ์นั้นได้อย่างไรกัน?
เมื่อที่ประชุมได้ฟังเทศนาของพระสังฆปริณายกจบลงแล้ว ต่างพากันทราบถึงจิตเดิมแท้ของตนๆอย่างแจ้งชัด ทุกคนพากันทำความเคารพ และอุทานออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า "สาธุ" เขายังได้พากันสวดมนต์ภาวนา ขอสรรพสัตว์ในสากลจักรวาลนี้ เมื่อได้ยินธรรมเทศนานี้แล้ว จงเข้าใจได้อย่างซึมซาบในทันทีทันใดเถิด
พระสังฆปริณายกได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ผู้ใดอยากทำการปฏิบัติ (ทางจิต) จะทำที่บ้านก็ได้ ไม่มีความจำเป็นสำหรับคนเหล่านั้น ที่จะต้องอยู่ในสังฆราม พวกที่ปฏิบัติตนอยู่กับบ้านนั้น อาจเปรียบกันได้กับชาวบ้านทางทิศตะวันออกที่ใจบุญ พวกที่อยู่ในสังฆาราม แต่ละเลย ต่อการปฏิบัตินั้น ไม่แตกต่างอะไรกันกับชาวบ้านที่อยู่ทางทิศตะวันตก แต่ใจบาป จิตบริสุทธิ์ได้เพียงใด มันก็เป็น "แดนบริสุทธิ์ทางทิศตะวันตก กล่าวคือ จิตเดิมแท้ของบุคคลนั้นเอง" เพียงนั้น
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version