แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
พระสูตรเว่ยหล่าง พุทธทาสภิกขุ แปล
ฐิตา:
ข้าหลวงไว่ได้เรียนถามขึ้นว่า เราทั้งหลายควรฝึกตัวอย่างไรเมื่ออยู่ที่บ้าน ขอพระคุณเจ้าโปรดสั่งสอนเถิด
พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า อาตมาจะสอนโศลกว่าด้วยนิรรูปให้สักหมวดหนึ่ง ถ้าท่านทั้งหลายเก็บเอาข้อความออกมาปฏิบัติตามแล้ว ท่านก็จะอยู่ในสภาพเช่นเดียวกันกับพวกที่อาศัยอยู่กับอาตมาเนืองนิจเหมือนกัน ในทางตรงข้าม ถ้าท่านทั้งหลายไม่ปฏิบัติมัน ท่านก็จะหาความเจริญในทางจิตไม่ได้ แม้ว่าท่านจะโกนหัว และสละบ้านเรือนออกแสวงบุญ (คือบวชเป็นพระ) โศลกนั้น มีดังต่อไปนี้
ผู้มีใจเที่ยงธรรม การรักษาศีลไม่เป็นของจำเป็น
ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว การปฏิบัติในทางฌานมันจะมีมาเอง (แม้จะไม่ตั้งใจทำ)
สำหรับหลักแห่งการกตัญญูกตเวทีนั้น เราอุปัฏฐากบิดามารดา รับใช้ท่านอย่างฐานลูก
สำหรับหลักแห่งความเป็นธรรมนั้น
ผู้ยิ่งใหญ่กับผู้ต่ำต้อยยืนเคียงข้างอาศัยกันและกัน (ในคราวคับขัน)
สำหรับหลักแห่งความปรารถนาดีต่อกันนั้น ผู้อาวุโสกับผู้อ่อนอาวุโส ต้องสมัครสมานกัน
สำหรับหลักแห่งขันตินั้น
เราไม่ให้มีการทะเลาะเบาะแว้ง แม้จะตกอยู่ในท่ามกลางของหมู่อมิตรอันกักขฬะ
ถ้าเรามีความเพียร รอคอยจนได้ไฟอันเกิดจากการเอาไม้มาสีกัน
เมื่อนั้น
บัวสีแดง(พุทธภาวะ) ก็จะโผล่ออกมาเองจากตมสีดำ(ความมืดมนก่อนตรัสรู้)
สิ่งที่มีรสขม ย่อมถูกใช้เป็นยาดี
สิ่งที่ฟังแล้วไม่ไพเราะหู นั้นคือคำตักเตือนอันจริงใจของผู้เตือนที่แท้จริง
จากการแก้ไขความผิดให้กลับเป็นความถูก เราย่อมได้รับสติปัญญา
โดยการต่อสู้
เพื่อรักษาความผิดของตัวไว้ เราแสดงนิมิตแห่งความมีจิตผิดปรกติออกมา
ในวันหนึ่งๆที่ชีวิตล่วงไปเราควรปฏิบัติความไม่เห็นแก่ตัวอยู่ตลอดเวลา
แต่ว่าพุทธภาวะนั้น ไม่มีหวังที่จะได้มาจากการให้เงินเป็นทาน
โพธิปัญญานั้น หาพบได้เฉพาะจากภายในใจของเราเอง
และไม่มีความจำเป็น
ที่จะเสาะหาความจริง อันเด็ดขาดของพระศาสนาจากภายนอก
ผู้ซึ่งได้ฟังโศลกนี้แล้ว นำไปปฏิบัติ
อย่างจริงจัง
จะประสบแดนสุขาวดีอยู่ตรงเบื้องหน้าเขา นั่นแล.
พระสังฆปริณายกได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ท่านทุกคนจงปฏิบัติตามคำสอนที่กล่าวไว้ในโศลกนี้เถิด เพื่อว่าท่านจะได้เห็นแจ้งจิตเดิมแท้ และลุถึงพุทธภาวะได้โดยตรงๆ พระธรรมไม่คอยใคร อาตมาก็กำลังจะกลับไปโซกายเดี๋ยวนี้ ท่านทั้งหลายจงเลิกประชุมเถิด ถ้าท่านยังมีปัญหาใดๆ ท่านจงไปถามที่นั่นเถิด
ในการได้สมาคมกันคราวนี้ ท่านข้าหลวงไว่ ข้าราชการ คนใจบุญและสุภาพสตรีผู้อุทิศเคร่งครัดทั้งหลาย ผู้ได้มาร่วมประชุม ณ ที่นั้น ได้เกิดความสว่างไสวทุกคน เขารับคำสอนไปปฏิบัติด้วยความซื่อตรงแน่วแน่.
ฐิตา:
หมวดที่ 4
ว่าด้วย สมาธิ และปรัชญา*16
******************
ในสมัยอื่นอีก พระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง ด้วยข้อความดังต่อไปนี้:-
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ในระบบคำสอนของอาตมานั้น สมาธิ และปรัชญา นับว่าเป็นหลักสำคัญ แต่ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจผิดไปว่า ธรรมะข้อนี้แยกจากกันได้เป็นอิสระ เพราะเหตุว่ามันเป็นของรวมอยู่ด้วยกันอย่างที่จะแยกกันไม่ได้ และมิใช่เป็นของสองอย่าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีความเป็นของตัวเอง สมาธินั่นแหละคือตัวจริงของปรัชญา ในเมื่อปรัชญาเป็นแต่เพียงอาการไหวตัวของสมาธิ ในขณะที่เราได้ปรัชญา สมาธิก็มีพร้อมอยู่ในนั้นแล้ว หรือจะกล่าวกลับกันว่า เมื่อมีสมาธิ เมื่อนั้นก็มีปรัชญา ดังนี้ก็ได้ ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจหลักอันนี้ ก็แปลว่าท่านเข้าใจความสัมพันธ์อันมีส่วนเสมอกันระหว่างสมาธิกับปรัชญา ผู้ศึกษาไม่ควรจะไปคิดว่า มันมีอะไรแตกต่างกันในระหว่างคำว่า "สมาธิให้เกิดปรัชญา" กับคำว่า "ปรัชญาให้เกิดสมาธิ" การถือความเห็นว่าแยกกันได้นั้น ย่อมส่อว่ามันมีอะไรที่เด่นๆ อยู่ถึงสองฝักสองฝ่าย ในธรรมะนี้
สำหรับบุคคลที่ลิ้นของเขาพูดได้ไพเราะ แต่ใจของเขาไม่สะอาดนั้น สมาธิและปรัชญาไม่มีประโยชน์อะไรแก่เขา เพราะสมาธิและปรัชญาของเขาไม่ทางจะสมส่วนสัมพันธ์กันได้เลย อีกทางหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม คือถ้าทั้งใจและดีทั้งถ้อยคำที่พูด ทั้งกิริยาอาการภายนอกกับความรู้สึกในใจก็ประสานกลมกลืนกันแล้ว นั่นแหละคือกรณีสมาธิและปรัชญา ได้สัมพันธ์กันอย่างสมส่วน
การโต้แย้งกันนั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดแก่นักศึกษา ที่มีความสว่างไสวแล้ว การมัวเถียงกันว่าปรัชญาเกิดก่อน หรือสมาธิเกิดก่อนนั่นแหละ จะทำให้ผู้นั้นตกอยู่ในภาวะเช่นเดียวกับคนที่ถูกอวิชชาครอบงำทั้งหลาย การเถียงกันย่อมหมายถึงความดิ้นรนจะเป็นฝ่ายชนะ ย่อมเสริมกำลังให้แก่ความยัดมั่น ถือมั่นว่าตัวตน และย่อมจะผูกพันเราไว้กับความยึดถือ ด้วยความสำคัญว่าตัวตน ว่าสัตว์ ว่าชีวะ ว่าบุคคล
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย สมาธิและปรัชญานั้น ควรจะเปรียบกับอะไรเล่า? ธรรมะสองชื่อนี้ ควรจะเปรียบกันกับตะเกียง และแสงของมันเอง มีตะเกียง ก็มีแสง ไม่มีตะเกียงมันก็มืด ตะเกียงนั่นแหละคือตัวการแท้ของแสงสว่าง และแสงสว่างเป็นแต่สิ่งซึ่งแสดงออกของตะเกียง โดยชื่อ ฟังดูเป็นสองอย่าง แต่โดยเนื้อแท้แล้ว มันเป็นของอย่างเดียว และทั้งเป็นของอันเดียวกันด้วย กรณีเช่นนี้แหละ ได้กับสมาธิและปรัชญา
*16 คำว่าปรัชญา ท่างฝ่ายมหายานนั้น ตรงกับคำว่าปัญญา ในฝ่ายเถรวาท แต่คำปรัชญาในที่นี้มิได้เป็นคำเดียวกับปรัชญาในภาษาไทย ซึ่งใช้เป็นคำแปลของคำว่าคิดกัน Philosophy ในมหายานใช้รูปศัพท์สันสกฤตเช่นนั้นเอง (ผู้แปลไทย พุทธทาส)
ฐิตา:
ในสมัยอื่นอีก พระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง
ด้วยข้อความดังต่อไปนี้:-
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย การบำเพ็ญ "สมาธิที่ถุกวิธี" นั้น ได้แก่การทำให้เป็นระเบียบตายตัว
เพื่อให้เราเป็นคนตรงแน่วในทุกโอกาส ไม่ว่าคราวเดิน ยืน นั่ง หรือนอน
วิมลกีรฺตินิเทศสูตร มีข้อความว่า "ความเป็นผู้ตรงแน่วนั่นแหละคือเมืองอริยะ "แดนบริสุทธิ์"
ท่านทั้งหลายจงอย่าปล่อยใจให้คดเคี้ยวไปมา และอย่าประพฤติ
ความตรงแน่ว เพียงสักว่าที่ริมฝีปาก
เราต้องบำเพ็ญให้ตรงแน่วจริงๆ และไม่ผูกพันตัวเองไว้กับสิ่งใดๆ
คนพวกที่งมงายอยู่ภายใต้อวิชชา ย่อมเชื่ออย่างดื้อดึงไปตามตัวหนังสือ(*17)
ฉะนั้นเขาจึงรั้นที่จะแปล เอาตามชอบใจของตัวเอง ในการแปลคำว่า "สมาธิที่ถูกวิธี"
ซึ่งเขาเหล่านั้นพากันแปลว่า "นั่งอย่างเงียบติดต่อกันไป โดยไม่ยอมให้
ความคิดอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในจิต"
การแปลความหมายเช่นนี้ เป็นการจัดตัวเราเองให้ลงไปอยู่ในชั้นเดียวกับ
วัตถุที่ไร้ชีวิตวิญญาณทั้งหลาย
และยังจะกลายเป็นสิ่งสะดุดเกะกะกีดขวางหนทางตรง อันเราพึงทำให้เปิดโล่งอยู่เสมอ
ถ้าเราทำใจของเราให้พ้นจากการข้องแวะในสิ่งทั้งหลายทุกสิ่งได้แล้ว
ทางนั้นก็จะเตียนโล่ง ถ้าไม่อย่างนั้น ชื่อว่าขัง(*18) ตัวเราเอง
ถ้าหากว่าคำแปลที่ว่า "นั่งอย่างเงียบติดต่อกันไป ฯลฯ" เป็นคำแปลที่ถูกต้อง แล้วทำไม
ในคราวหนึ่งท่านสารีบุตรจึงถูกท่านวิมลกีรติขนาบเอาเนื่องจากนั่งเงียบๆ ในป่านั้นเอง(*19)
*17 คำนี้ไม่สามารถแปลไปตามต้นฉบับซึ่งมีอยู่ว่า ".....ย่อมเชื่ออย่างดื้อดึงในธรรมลักษณะ...." เพราะจะไม่ทำให้ผู้อ่านจับใจความอย่างใดได้เลย จึงถอดใจความอย่างง่ายเสียทีเดียว และแปลว่าเชื่อตามตัวหนังสือ คำว่า "ธรรมลักษณะ"นี้ หาคำแปลยากที่สุดแม้ นายว่อง มูล่ำ เองก็ถึงกับแปลแตกต่างกันทุกแห่ง ทั้งสามแห่ง แต่ข้าพเจ้าได้พยายาม ทบทวนดูแล้ว จึงแปลอย่างนี้โดยอาศัยหลักคู่แรกของ ธรรมลักษณะ คือคำพูด กับตัวธรรมจริง นายว่องมูล่ำ ไม่แปล ใช้ทับศัพท์เอาแล้ววงเล็บไว้ว่า (Thing and Form) ซึ่งไม่ทำความเข้าใจให้แก่ผู้อ่านทั่วไปได้เลย (ผู้แปลไทย พุทธทาส)
*18 ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เรียนถามพระอาจารย์ในนิกายธยาน ชื่อเช็กตาว ผู้สืบต่อมาจากศิษย์องค์หนึ่งของพระสังฆปริณายกองค์ที่หก ว่า "อะไรเป็นความหลุดรอด?" พระอาจารย์รูปนั้นได้ย้อนถามว่า "ใครเล่าที่จับท่านใส่กรงขัง?" ความเหมาะสมของคำตอบนี้เป็นอย่างเดียวกันแท้กับข้อความในตัวบทข้างบนนี้ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสังฆประณายกองค์ที่หกได้เล่าว่า พระสังฆปริณายกองค์ที่ห้าไม่ยอมถกด้วยเรื่อง ธยาน และ วิมุติ จะยอมถกเฉพาะเรื่องจิตเดิมแท้เท่านั้น (ในหมวดที่1) นั่นก็คือ ท่านได้แสดงแง่คิดอย่างเดียวกันกับอุทาหรณ์ข้างบน (ผู้แปลเดิม ดิปิงเซ่)
*19 ท่านวิมลกีรติ กล่าวแก่ท่านสารีบุตรว่า เมื่อกล่าวถึงการนั่งเงียบๆ แล้ว มันควรจะหมายถึงว่า เขาไม่เกิดในโลกทั้งสามอีกต่อไป (คือความรู้สึกของเขามีระดับอยู่เหนือกามโลก รูปโลก และอรูปโลก) มันควารจะหมายถึงว่า ขณะที่อยู่ในนิโรธสมาบัติ (ฌานขั้นที่ดับสัมปฤตีได้) นั้นเขาก็สามารถทำการเคลื่อนไหวต่างๆทางกายได้ เช่น การเดิน การยืน การนั่ง การนอน ฯลฯ มันควรจะหมายถึงว่า โดยไม่ต้องหันเหออกจากทางแห่งบัญญัติ เขาสามารถทำกิจการต่างๆทางวิสัยโลกได้ มันควรจะหมายถึงว่า เขาคอยอยู่ข้างในก็หามิได้ ข้างนอกก็หามิได้ มันควรจะหมายถึงว่า เขาบำเพ็ญโพธิปักขิยธรรมสามสิบเจ็ดประการอยู่ โดยปราศจากความหวั่นไหวด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ มันความจะหมายถึงว่า โดยไม่ต้องมีการทำลายล้างกิเลสอีกต่อไป เขาก็สามารถเข้า ถึงนิพพาน ผู้ที่สามารถนั่งได้เช่นนี้แหละจะได้รับความรับรองจากพระพุทธเจ้า" วิมลกีรฺติ. นิเทศ.สูตร
ฐิตา:
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย อาจารย์สอนกัมมัฏฐานบางคน สอนศิษย์ของตัวให้เฝ้าระวังจิตของในให้นิ่งเงียบ ถึงกับว่าหมดความเคลื่อนไหวเป็นไปของจิตเอาเสียทีเดียว เมื่อเป็นดังนั้น พวกศิษย์ก็พากันเลิกถอนการระดมกำลังจิตเสียสิ้นเชิง คนหลงผิดเหล่านี้ก็พากันฟั่นเฟือน เนื่องจากมีความเชื่อถือในคำแนะนำนั้นเกินไป กรณีเช่นว่านี้มีอยู่ทั่วไป ใช่ว่าจะมีนานๆครั้งก็หามิได้ และนับว่าเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวงที่สอนผู้อื่นให้ทำเช่นนั้น
ในสมัยอื่นอีก พระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง ด้วยข้อความดังต่อไปนี้:-
ในพุทธศาสนาชนิดที่เป็นไปตามคัมภีร์นั้น ความแตกต่างระหว่างนิกาย "ฉับพลัน" กับ "นิกายเชื่องช้า" มิได้มีอยู่อย่างชัดแจ้ง ความแตกต่างเท่าที่เห็นกันอยู่ก็มีแต่เพียงว่า ตามธรรมชาติที่เกิดมา คนบางพวกรู้อะไรได้เร็วในเมื่อคนอีกบางพวกที่ทึบต่อการที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ พวกที่สว่างไสว ก็สามารถเห็นแจ้งสัจจธรรม ได้ทันที ในเมื่อพวกที่อยู่ภายใต้อวิชชาจะต้องค่อยๆฝึกตัวเองต่อไป แต่ความแตกต่างเช่นกล่าวนี้ จะไม่ปรากฏเลย ถ้าหากว่าเรามารู้จักใจของตนเอง และรู้แจ้งต่อสภาพแท้ของเราเอง เพราะฉะนั้น คำว่า "เชื่องช้า" กับคำว่า "ฉับพลัน" สองคำนี้ เป็นเพียงภาพเลือนๆมากกว่าที่จะเป็นของจริง
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย มันเป็นจารีตในนิกายของเรา
ในการที่จะ ถือเอา
"ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก" ว่าเป็นผลที่เราจำนงหวัง
ถือเอา "ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์" ว่าเป็นมูลรากอันสำคัญ
และ ถือเอา "ความไม่ข้องติด" ว่าเป็นหลักหรือต้นตอ อันเป็นประธานสำคัญ
"ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์" นั้น
หมายถึงความไม่ถูกอารมณ์ดึงดูดเอาไป ในเมื่อได้สัมผัสกันเข้ากับอารมณ์
"ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก" นั้น หมายถึง
ความไม่ถูกลากเอาไป โดยความคิดอันแตกแยกแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง
ในขณะที่กำลังบำเพ็ญภาวนาทางจิต
"ความไม่ข้องติด" นั้น หมายถึงลักษณะเฉพาะแห่ง จิตเดิมแท้ ของเรานั่นเอง
สิ่งทุกสิ่ง ไม่ว่าดีหรือเลว สวยงามหรือน่าเกลียด ควรจัดเป็นของว่างอย่างเดียวกัน
แม้ในขณะที่โต้เถียงและทะเลาะวิวาท เราควรประพฤติต่อเพื่อนและต่อศัตรูของเราอย่างเดียวกัน
และไม่มีการ นึกถึง การแก้เผ็ด
ในการฝึกความนึกคิดของตนเอง จงปล่อยให้อดีตเป็นอดีต
ถ้าเราเผลอให้ความคิดของเรา ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
มาจับติดต่อกัน เป็นห่วงโซ่ แล้วก็หมายว่า เราจับตัวเอง ใส่กรงขัง
ในฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ยอมให้ใจของเรา ข้องติดอยู่ ในสิ่งใดๆ
เราจะลุถึง ความหลุดพ้น เพื่อผลอันนี้ เราจึงถือเอา
"ความไม่ข้องติด" ว่าเป็นหลักหรือต้นตอ อันเป็นประธานสำคัญ
การทำตัวเราเอง ให้เป็นอิสระ จาการถูกดูดดึงไปตามอารมณ์ภายนอกนี้
เรียกว่า "ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์" เมื่ออยู่ในฐานะ ที่จะทำได้
ดังนั้น สภาพธรรม(ที่มีในเรา) ก็จะบริสุทธิ์ เพื่อผลอันนี้
เราจึง ถือเอา "ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์" ว่าเป็นมูลรากอันสำคัญ
แก้วจ๋าหน้าร้อน:
:13: อนุโมทนาครับพี่แป๋ม เนื้อหาประดับไว้ในธรรมะจิต ภาพสวย คนโพสน่ารัก..
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version