แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

พระสูตรเว่ยหล่าง พุทธทาสภิกขุ แปล

<< < (7/21) > >>

(〃ˆ ∇ ˆ〃):
สาธุ อนุโมทนาค่ะ พี่แป๋ม :07:

ฐิตา:



การดำรงใจไว้ให้เป็นอิสระจากอำนาจของกิเลส  ในทุกๆลักษณะของสิ่งที่แวดล้อมรอบตัวเรา  นี้เรียกว่า  "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก"  ใจของเราลอยอยู่สูงเหนือสิ่งต่างๆ  ที่แวดล้อมเรา  และในทุกกรณี  เราไม่ยอมให้สิ่งเหล่านั้นมามีอิทธิพลครอบงำ  ในการที่ใจของเราของเราจะทำหน้าที่ของมัน  แต่ว่ามันเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวง  ในการบีบบังคับใจไม่ให้คิดอะไรเสียหมด  เพราะว่าแม้เราจะทำได้สำเร็จในการบังคับเช่นนั้น  และเราดับจิตลงไปในขณะนั้น  เราก็ยังคงต้องเกิดใหม่  ในภพใดภพหนึ่งอยู่ดี 

จงกำหนดความข้อนี้ไว้เถิดบรรดาท่านผู้เดินทางทั้งหลาย  มันเป็นความชั่วอย่างพอตัวทีเดียว  สำหรับคนที่ทำอย่างผิดพลาด  เนื่องมาจากไม่เข้าใจความหมายของธรรมบัญญัติข้อนั้น  แล้วมันจะเป็นความชั่วมากขึ้นไปเพียงใดอีก  ในการเร้าใจให้ผู้อื่นพากันทำตามเป็นบริวารของตน  เมื่อหลงเสียแล้ว  เขาก็มองไม่เห็นอะไร  และยิ่งกว่านั้นเขายังแถมเป็นผู้กล่าวตู่พระพุทธวจนะ  อยู่ตลอดกาลเป็นนิจด้วย  เหตุฉะนั้นแหละ  เราจึงถือเอา  "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก"  ว่าเป็นผลที่จำนงหวังของเรา

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  อาตมาจะอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก  ว่าทำไมเราจึงถือเอา  "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก"  มาเป็นผลที่จำนงหวังของเรา  เพราะเหตุว่ามีคนเขลาบางประเภท  ได้โอ้อวดว่าเห็นแจ้ง  จิตเดิมแท้  แต่ก็กำลังถูกอารมณ์ที่แวดล้อมลากเอาตัวไป  วิตกต่างๆ เกิดขึ้นในใจของเขา  ถูกแวดล้อมอยู่ด้วยมิจฉาทิฏฐิ  อันเป็นกระแสแห่งความหลงและกิเลสทุกๆชนิด



ก็ใน จิตเดิมแท้ (ซึ่งเป็นตัวสำแดงแห่งความว่าง) นั้น ไม่มีอะไรสำหรับ
ให้ใครลุถึงเสียเลย 
ฉะนั้น  การที่มาเอ่ยอ้างว่ามีการลุถึง  และกล่าวพล่อยๆถึงความดีหรือความชั่ว 

เหล่านั้นล้วนแต่เป็นมิจฉาทิฎฐิและกิเลส 

เพื่อผลอันนี้เอง  เราจึงได้ถือเอา  "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก"
ว่าเป็นผลที่จำนงหวังในนิกายของเรา


        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  (ก็ในเรื่องความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตกนั้น)  อะไรเล่าเป็นสิ่งที่เราควรสลัดเสียให้สิ้นเชิง  และอะไรเล่า  ที่เราควรปักใจของเราลงไป  เราควรสลัด  "ของที่เป็นคู่ๆอย่างตรงกันข้ามต่อกัน"(*20) เสียให้สิ้นเชิง  พร้อมทั้งอกุศลเจตสิกทุกๆอย่าง  และเราควรปักใจของเราลงไปที่ภาวะแท้จริงของ  ตถตา (ความเป็นแต่อย่างนั้นอย่างเดียว  เป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้)  เพราะเหตุว่า  ตถตา นั่นแหละ  เป็นตัวการแท้ของวิตก  และวิตกเป็นผลแห่งการไหวตัวของ ตถตา

ตัวแท้ของตถตา  ซึ่งเบ่งบานขึ้นถึงระดับเด่นชัดนั้นต่างหาก  ที่ทำให้วิตกนั้นเกิดขึ้น  หาใช่เพราะอวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์นั้นๆไม่  ตถตา ย่อมทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะของตัวมันเอง  ฉะนั้น มันจึงสามารถให้กำเนิดแก่วิตก  ปราศจาก ตถตา เสียแล้ว อวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์  และอารมณ์นั้น (*21) ย่อมสลายลงทันที. ผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เพราะเหตุที่คุณลักษณะของ ตถตา  ต่างหากที่ให้กำเนิดแก่วิตก  ฉะนั้น  อวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์ต่างๆ  ของเราไม่จำเป็นจะต้องพลอยด่างพร้อยหรือเศร้าหมองไปด้วย  ในทุกๆเหตุการณ์  แม้ว่ามันจะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการดู  การฟัง การสัมผัส การรู้ฯลฯ ก็ตาม,  และตัวภาวะแท้ของเรา  ก็อาจยัง  "แสดงตัวเองให้ปรากฏได้"  ทุกเวลา  เพราะเหตุฉะนั้น  พระสูตรนั้นจึงกล่าวว่า  ผู้ทีคล่องแคล่วในการแยกแยะธรรมลักษณะนานาประการ  เพื่อความเข้าใจอันถูกต้องได้  จักเป็นผู้ตั้งอยู่อย่างไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน  ใน "ธรรมอันเอก" (กล่าวคือถิ่นอันสงบเย็นของพระอริยะหรือนิพพาน)

*20 ของคู่ในที่นี้  คือของที่เป็นสุดโต่งฝ่ายข้างหนึ่ง  ก็สุดโต่งฝ่ายข้างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น  บวก-ลบ โง่-ฉลาด ร้อน-เย็น  นรก-สวรรค์ ฯลฯ (พุทธทาส)

*21 อวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์ หรือ Sense Organs ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ใจ อารมณ์  หรือ Sense objects ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมมารมณ์ คำเหล่านี้เป็นคำบัญญัติเฉพาะในพุทธศาสนา อาจไม่ตรงกับที่บัญญัติเฉพาะวิชาแขนงอื่นก็ได้ (พุทธทาส)


ฐิตา:



บัวหิมะ บนเทือกเขาซินเกียง

หมวดที่ 5 ว่าด้วย ธฺยานะ

**********
วันหนึ่ง  พระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง  ด้วยข้อความดังต่อไปนี้:-

        ในระบบการเจริญกัมมัฏฐานภาวนาของเรานั้น  เรามิได้กำหนดลงไปที่จิต (จิตปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างอย่างตรงกันข้าม กับจิตเดิมแท้)  หรือกำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์  หรือว่าเราจะไปจับเอาตัวความหยุดนิ่ง  ปราศจากความเคลื่อนไหวทุกประการ  ก็หามิได้  สำหรับการกำหนดจดจ่อลงไปที่จิตนั้น  ไม่ควรทำ  เพราะจิตเป็นของมืดมัวมาเสียก่อนแล้ว  เมื่อเรามองเห็นชัดว่ามันเป็นเพียงตัวมายาตัวหนึ่งเท่านั้นแล้ว  ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะไปจดจ่อกับมัน  สำหรับการกำหนดลงไปที่ตัวความบริสุทธิ์นั้นเล่า  ตัวธรรมชาติแท้ของเราก็บริสุทธิ์อย่างแท้จริงอยู่แล้ว  และตลอดเวลาที่เราขับไล่อกุศลวิตกออกไปเสียให้สิ้นเชิง  มันก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในตัวเรา  นอกจากความบริสุทธิ์ย่างเดียวเพราะว่ามันเป็นด้วยอกุศลวิตก  กำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์  เราก็มีแต่จะสร้าง  อวิชชาอันใหม่ขึ้นมาอีกอันหนึ่ง  เท่านั้น  คืออวิชชาแห่งความบริสุทธิ์  เพราะเหตุที่อวิชชาเป็นสิ่งที่ไม่มีที่ตั้งอาศัย  จึงเป็นความเขลาที่เราจะไปอิงอาศัยมัน,  ตัวความบริสุทธิ์นั้นไม่มีสัณฐาน  ไม่มีรูปร่าง  แต่มีคนบางคนที่อุตริถึงกับประดิษฐ์  "รูปร่างของความบริสุทธิ์" ขึ้นมา  แล้วก็กุลีกุจออยู่กับมันในฐานะเป็นปัญหาสำคัญของความหลุดพ้น  เมื่อถือหลักความคิดเช่นนี้  คนเหล่านั้นก็กลายเป็น ผู้ขับไล่ไสส่งความบริสุทธิ์ เสียเองแล้ว  จิตเดิมแท้ของเขา  ก็ถูกทำให้เศร้าหมองไปเพราะเหตุนั้น

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  พวกที่ฝึกตัวอยู่ใน "ความแน่วไม่หวั่นไหว"  นั้น  แม้จะได้เผชิญกับคนทุกชนิด  เขาก็ยังไม่รู้ไม่เห็นความผิดของผู้อื่นอยู่เสมอ  เขาไม่มีอะไรวิปริตผิดแปลกไปจากเดิม  เมื่อประสบบุญหรือบาป  ความดีหรือความชั่ว ของผู้อื่น  เพราะลักษณะเช่นนี้  ย่อมอนุโลมต่อ "ความแน่วไม่หวั่นไหว" ของจิตเดิมแท้ ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  คนทีมีจิตยังมืดนั้นอาจสงบเฉพาะทางร่างกายภายนอก  แต่พอเผยอริมฝีปากเท่านั้น  เขาก็ติชมวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นด้วยเรื่องบุญบาป  ความสามารถ  ความอ่อนแอ  ความดีหรือความชั่ว  ของคนเหล่านั้นๆ  นี่แหละ  เขาเฉออกไปนอกทางแห่งสัมมาปฏิบัติอย่างนี้เอง  อีกฝ่ายหนึ่ง  การที่จดจ่อง่วนอยู่ ที่จิตของตนเอง  หรือที่ความบริสุทธิ์  ก็กลายเป็นสิ่งสะดุดกีดขวางในหนทาง  ด้วยเหมือนกัน


        ในสมัยอื่นอีก  พระสังฆปริณายก ได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง ด้วยข้อความดังต่อไปนี้:-
        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  อย่างไรเรียกว่า  การนั่ง  เพื่อการกัมมัฏฐานภาวนา?  ในนิกายของเรานี้  การนั่ง  หมายถึงการได้รับอิสรภาพอันเด็ดขาด  และมีจิตสงบได้ในทุกๆ กรณีที่แวดล้อมเข้ามาจากภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้างดี หรือเป็นอย่างใดมา การกัมมัฏฐานภาวนา นั้น หมายถึงการเห็นชัดแจ้งในภายใน  ต่อ "ความแน่วไม่หวั่นไหว ของจิตเดิมแท้ ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  อะไรเรียกว่า ธฺยาน (ฌาน) และสมาธิ? ธฺยาน หมายถึงการหลุดจากความพัวพันด้วยอารมณ์ภายนอก(*22) ทุกประการ และ สมาธิ หมายถึงการได้รับศานติในภายใน 

ถ้าเราพัวพันอยู่กับอารมณ์ภายนอก  จิตภายในก็จะปั่นป่วน  เมื่อเราหลุดจากการพัวพันด้วยอารมณ์ภายนอกทุกอย่างแล้ว  จิตก็จะตั้งอยู่ในศานติ  จิตเดิมแท้ของเราเป็นของบริสุทธิ์อยู่แล้วอย่างแท้จริง  แล้วเหตุผลที่ว่า  ทำไมเราจึงปั่นป่วนนั้น  ก็เพราะเรายอมตัว  ให้อารมณ์ซึ่งแวดล้อมเราอยู่  ลากเอาตัวเราไป  ผู้ที่สามารถรักษาจิตของตนไว้ไม่ให้ปั่นป่วนได้  ไม่ว่าจะอยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมชนิดไหนหมด  นั่นแหละ ชื่อว่าได้บรรลุถึงสมาธิ

        การเป็นอิสระไม่พัวพันด้วยอารมณ์ภายนอกทุกอย่าง  ชื่อว่า  ธฺยาน  การลุถึงศานติในภายใน  ชื่อว่า สมาธิ  เมื่อใดเราอยู่ในฐานะที่จะเล่นฌาน และดำรงจิตในภายในให้ตั้งอยู่ในสมาธิ     เมื่อนั้น จึงชื่อว่าเราได้ลุถึง  ธฺยานและสมาธิ  ข้อความในโพธิสัตวสีลสูตร  มีอยู่ว่า  "จิตเดิมแท้ของเรานั้น เป็นของบริสุทธิ์แท้จริง" ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เราจงเห็นชัดความข้อนี้เพื่อตนเองทุกเมื่อเถิด  เราจงฝึกตัวเอง  ฝึกฝนมันด้วยตัวเอง  และลุถึงพุทธภาวะ  ด้วยความพยายามของตนเองเถิด[/size]

*22 อารมณ์ภายนอก  หมายถึงสิ่งทุกสิ่งนอกจากจิต  ฉะนั้นแม้แต่ความคิดในจิตหรือของจิตก็เรียกว่าอารมณ์ภายนอกในที่นี้เหมือนกัน ไม่ต้องกล่าวถึง รูป เสียง กลิ่น ฯลฯ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นของภายนอกชัดๆ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

ฐิตา:



หมวดที่ 6
ว่าด้วยบาปสำนึก (การสำนึกบาป)
************************
   ครั้งหนึ่ง  พวกที่ใฝ่ใจในการศึกษา  และพวกชาวบ้าน  จากกวางเจา ชิวเจา และที่อื่นๆ ได้มาประชุมกันอย่างคับคั่ง  เพื่อฟังคำเทศนาของพระสังฆปริณายก  เมื่อพระสังฆปริณายกเห็นดั่งนั้น  ก็ได้ขึ้นธรรมมาสน์  และแสดงธรรมเป็นข้อความดังต่อไปนี้:-

        การปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น เราควรตั้งต้นที่  จิตเดิมแท้  ของเราตลอดเวลา  เราต้องชำระจิตของเราติดต่อกันทุกขณะจิต  ไต่ไปตามมรรคปฎิปทาด้วยน้ำพักน้ำแรง  ของเราเอง  ให้เห็นประจักษ์ชัดแจ้งในธรรมกายของเรา  ให้เห็นประจักษ์ชัดแจ้งต่อองค์พระพุทธเจ้าในใจของเรา  รื้อขนเองด้วยต่างคนต่างสมาทานศีล  แล้วการมาสู่ที่นี่ของพวกท่านทั้งหลาย  ก็จะมิเป็นการมาเปล่า  เนื่องจากท่านทั้งหลายมาจากที่ไกล  ด้วยกันทุกคน   ข้อที่เราได้มาพบกันที่นี่  ย่อมแสดงว่าเป็นการได้มีการสมาคมกันอย่างประเสริฐ  ฉะนั้นพวกเราทั้งหมดจงนั่งลงตามท่านั่งชาวอินเดีย  อาตมาจะได้แสดงเรื่องวิธีการ สำนึกบาป(*23) (อันเป็นทางใจล้วน) ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม (เช่นกิริยาท่าทางเป็นต้น) แก่ท่านทั้งหลาย เมื่อทุกคนนั่งเรียบร้อยแล้ว  พระสังฆปริณายกได้กล่าวต่อไปว่า:-



คันธสาระ(*24) ข้อต้นนั้น คือ ศีล  ซึ่งหมายถึงการที่จิตของเรา  ปราศจากรอยด่างๆของทุจริต 
ความชั่ว ความริษยา ความตระหนี่ ความโกรธ การใช้กำลังข่มขู่  และการผูกเวร
คันธสาระ  ข้อที่สองนั้นคือ สมาธิ  ซึ่งหมายถึงการที่จิตของเรา  ไม่มีอาการหวั่นไหวในทุกเหตุการณ์ 
ที่เข้ามาแวดล้อมเรา  ไม่ว่ามาดีหรือมาร้าย
คันธสาระ ข้อที่สาม คือปัญญา ซึ่งหมายถึงการที่จิตของเรา
เป็นอิสระจากเครื่องหุ้มห่อรึงรัด 
หมายถึงการที่เราส่องปัญญาของเราอยู่เนืองนิจ  ลงที่จิตเดิมแท้ของเรา
 
หมายถึงความที่เราเป็นผู้พ้นเด็ดขาดจากการที่จะทำความชั่วทุกประเภท
หมายถึงความที่แม้ว่า เราจะทำความดีทุกสิ่งทุกอย่าง 
ถึงกระนั้นเราก็ไม่ปล่อยให้ใจของเราเกี่ยวเกาะอยู่ที่ผลของความดีนั้นๆ
และหมายถึงวาเรายอมเคารพนับถือผู้ทีสูงกว่าเรา  อ่อนน้อมต่อผู้ที่ต่ำต้อยกว่าเรา
เห็นอกเห็นใจคนที่หมดวาสนาและคนยากจน



คันธสาระ ข้อที่สี่ คือความหลุดพ้น(วิมุติ) ซึ่งหมายถึงความที่ใจของเรา
ขึ้นถึงขั้นเป็นอิสระเด็ดขาด 
ไม่เกี่ยวเกาะอยู่กับสิ่งใด ไม่ผูกพันตัวเองอยู่กับความดีและความชั่ว 
คันธสาระข้อที่ห้า คือความรู้ อันเราได้รับในขณะที่ลุถึงความหลุดพ้น
เมื่อจิตของเราไม่เกี่ยวเกาะกับความดีและความชั่วแล้ว เรายังจะต้องระวังไม่ปล่อยให้จิตนั้น
อิงอยู่กับความว่างเปล่า  หรือตกลงไปสู่ความเฉื่อย 

ยิ่งกว่านั้นเรายังจะต้องเพิ่มพูนการศึกษา และขยายความรู้ของเราให้กว้างออกไป
จนกระทั่งเราสามารถ รู้จักจิตของเราเอง สามารถเข้าใจโดยทั่วถึง
ในหลักแห่งพุทธธรรม ทำตนเป็นญาติมิตรกับสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ที่เราเกี่ยวข้องด้วย
บำบัดความรู้สึกว่า  "ตัวตน" และความรู้สึกว่ามี ว่าเป็น เสียให้หมดสิ้น
และเห็นแจ้งชัดว่า จำเดิมแต่ต้นมาจนกระทั่งถึงเวลาที่เราได้บรรลุโพธินั้น 



"ธรรมชาติที่แท้จริง" (หรือจิตเดิมแท้) ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ดั่งนี้ ชื่อว่าคันธสาระแห่ง  "ความรู้อันเราได้รับในขณะที่ลุถึงความหลุดพ้น"
คันธสาระอันประกอบไปด้วยองค์ห้าประการนี้
ย่อมอบกลิ่นออกมาจากภายใน  และเราไม่ควรแสวงหามันจากภายนอก

ฐิตา:



ทีนี้อาตมาจะได้แสดงแก่ท่านทั้งหลาย ถึงเรื่อง "บาปสำนึก*25 อันไม่เกี่ยวกับรูปธรรม" อันเป็นวิธีที่จะไถ่ถอนเสียได้ซึ่งปวงบาป  อันเราทั้งหลายได้กระทำกันในชาติเป็นปัจจุบัน  ชาติอดีต  และอนาคต  และจะชำระมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ของเราให้หมดจด

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย, จงทำตามอาตมา  และว่าดังๆ พร้อมกันทุกคนเหมือนที่อาตมาจะว่านำ:-


*23 คำว่า Formless Repentence ในที่นี้แปลว่า  วิธีการสำนึกบาป (อันเป็นทางใจล้วน) ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม (เช่นกิริยาท่าทางเป็นต้น) นี้หมายถึงการซักล้างหรือเปลี่ยนกลับที่เกี่ยวกับใจภายในใตล้วนๆ  ด้วยอำนาจของปัญญาเป็นต้น  ไม่เกี่ยวกับกิริยา  เช่น  ประกอบพิธี  ขอขมาในโบสถ์หรือเกี่ยวกับวัตถุ  เช่นไถ่ตัวด้วยของทำบุญเป็นต้น  หรือเกี่ยวกับบุคคล  เช่น  อ้อนวอนผู้มีอำนาจเบื้องบนเป็นต้น  ท่านเรียกของท่านว่า Formless ซึ่งตามตัวว่า  "ไม่มีรูป"  นับว่าเป็นคำที่แปลยากที่สุดในหนังสือเล่มนี้  และมีอยู่ทั่วไปแทบทุกบท  ต่อไปนี้จะแปลเพียงสั้นๆ ว่า  "ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม"  มีอธิบายดังที่กล่าวมาแล้ว  ให้ผู้อ่านถือเป็นหลักใหญ่ๆ  ไว้อย่างหนึ่งว่าสังฆปริณายกเว่ยหล่างที่กล่าวถึงองค์นี้  ท่านมุ่งจะสอนทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นธรรมาธิษฐาน คือเรื่องจิต หรือตัวจริงไปหมด  ไม่ให้เป็นรูปบุคคลาธิฐาน  ซึ่งสมมุติขึ้นเป็นบุคคล หรืออิงอยู่กับวัตถุ  (ผู้แปลไทย  พุทธทาส)

*24 คันธสาระ ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่มีกลิ่นหอมทั่วไป  ใช้จุดเพื่อให้อากาศหอม ผู้อ่านที่สังเกตจะเห็นได้ว่า คันธสาระห้าอย่างนี้  โดยชื่อ ก็คือที่เรียกกันในฝ่ายเถรวาทว่าธรรมสาระห้านั่นเอง ได้แก่ ศีล. สมาธิ ปัญญา. วิมุต  และวิมุติญาณทัสสะ แต่คำอธิบายเดินคนละชั้นคนละแนว (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

*25 คำว่า บาปสำนึก  หรือการสำนึกบาปนี้  หมายถึงความสลดสังเวชในบาปที่ทำมาแล้ว ถึงขนาดที่จะทำใจให้เปลี่ยนกลับตัวเป็นคนๆ ใหม่ แต่ท่านหมายความสูงถึงการทำใจให้พ้นจาการถือในบาปในบุญเอาเสียทีเดียว จงพยายามชี้ให้เห็นว่า ใจต้องข้ามพ้นจากบาปและบุญ  จึงจะสามารถทำใจ ให้เกลี้ยงเกลาจากบาปได้  ซึ่งในที่อื่นข้างหน้า ท่านชี้ให้เห็นว่า บุญกับบาปนั้นเป็นของอย่างเดียวกัน  คือเป็นเพียงสังขาร  และออกมาจากอวิชชาด้วยกันทั้งสองอย่าง ผู้แปลไทย พุทธทาส


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version