แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
พระสูตรเว่ยหล่าง พุทธทาสภิกขุ แปล
ฐิตา:
ขอให้เราทั้งหลาย บรรดาสาวกที่ไม่ได้ระบุนามเหล่านี้ จงเป็นผู้เป็นอิสระตลอดกาล จากรอยด่างของความไม่รู้และรู้ผิด เราได้สำนึกแล้วในบาปและกรรมชั่วทั้งหลายของเรา อันเราได้ประกอบแล้ว เพราะอำนาจแห่งความรู้ผิด หรือความไม่รู้ ขอให้บาปทั้งปวงนั้นจงเป็นสิ่งไถ่ถอนหมดสิ้นแล้วในทันทีนี้ และขออย่าให้กลับเกิดมีมาอีกเลย
ขอให้เราทั้งหลาย จงเป็นผู้เป็นอิสระตลอดกาล จากรอยด่างของความเย่อหยิ่งและความอวดดี เราสำนึกได้แล้วในจริตอันเย่อหยิ่งและโอ่อวด อันเราทั้งหลายได้ประพฤติมาแล้วในอดีต ขอให้บาปทั้งมวลนั้น จงเป็นสิ่งที่ไถ่ถอนหมดสิ้นแล้วในทันทีนี้ และขออย่าให้กลับเกิดมีมาอีกเลย
ขอให้เราทั้งหลาย จงเป็นผู้เป็นอิสระตลอดกาล จากรอยด่างของความริษยา และความเคียดแค้น เราสำนึกได้แล้วในบาป และกรรมชั่วทั้งหลายของเรา อันเราได้ประกอบขึ้นแล้วด้วยใจอันเต็มไปด้วยความริษยาและความเคียดแค้น ขอให้บาปทั้งมวลนั้น จงเป็นสิ่งที่ไถ่ถอนหมดสิ้นแล้วในทันทีนี้ และขออย่าให้กลับเกิดมีมาอีกเลย
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย นี่แหละที่เราเรียกว่า "เซ็น-ฝู่ อันไม่เกี่ยวกับรูปธรรม"
อะไรเล่าเป็นความหมายของ เซ็น และ ฝู่ (กฺษมยติ) ในที่นี้?
เซ็น นั้นถึงความสำนึกบาปอันเป็นอดีต การสำนึกถึงตัวบาปและกรรมชั่วทั้งปวงในอดีต
อันเราได้ประกอบขึ้นแล้ว ด้วยอำนาจความรู้ผิด ความไม่รู้ ความเย่อหยิ่ง ความอวดดี
ความเคียดแค้น หรือความริษยาและอื่นๆ ได้ ฯลฯ จนถึงกับทำความสิ้นสุดให้แก่บาปเหล่านี้ได้เรียกว่า เซ็น.
ฝู่ นั้นเล็งถึงการสำนึกบาปส่วนที่จะเกิดขึ้นด้วยการกระทำในอนาคตของเรา
เมื่อเห็นแจ้งชัดถึงธรรมชาติอันเราอาจล่วงละเมิดได้ (ในอนาคต)
เราย่อมตั้งปฏิญาณว่าแต่นี้ต่อไป เราขอทำความสุดสิ้น แก่กรรมชั่ว ทุกประเภท
อันเกิดขึ้นมาจากความรู้ผิด ความไม่รู้ ความเย่อหยิ่ง ความอวดดี ความเคียดแค้น หรือความริษยา
และว่า เราจะไม่ก่อบาปขึ้นอีกต่อไป นี้เรียกว่า ฝู่
เนื่องจากความไม่รู้และรู้ผิดเป็นเหตุ คนทั้งหลายย่อมไม่เห็นชัดแจ้งว่าในการทำความสำนึกบาปนั้น เขาไม่ควรจะเพียงแต่รู้สึกเสียใจ เพราะบาปกรรมที่ทำมาแล้วอย่างเดียว แต่เขาควรจะละเว้นเด็ดขาดจากการทำบาปใหม่ในอนาคตด้วย เนื่องจากเขาไม่ใส่ใจสำรวมถึงการกระทำในอนาคตนั่นเอง เขาประกอบบาปขึ้นใหม่ ก่อนแต่ที่จะไถ่ถอนบาปเก่าให้สิ้นไป เราจะเรียกการกระทำเช่นนั้นว่า "การสำนึกบาป" ได้อย่างไรกันเล่า?
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย เมื่อได้มีการสำนึกบาปชำระตัวแล้ว
เราควรจะตั้งไว้ซึ่ง
ปฏิญาณรวบยอด 4 ประการ*26 ดังต่อไปนี้
เราขอปฏิญาณ ที่จะปลดปล่อย สัตว์มีวิญญาณ
มีปริมาณไม่จำกัด อันเป็น ของ แห่งใจ ของเราเอง.
เราขอปฏิญาณ ที่จะเพิกเสีย ซึ่งกิเลส มีปริมาณคณานับไม่ได้
ในใจของเราเอง
เราขอปฏิญาณ ที่จะศึกษา ระบอบธรรม อันนับไม่ถ้วน
แห่งจิตเดิมแท้ของเรา
เราขอปฏิญาณ ที่จะเข้าให้ถึง พุทธภาวะ อันสูงสุด
แห่งจิตเดิมแท้ของเรา
*26 ปฏิญาณรวบยอด 4 ประการ นั้น คำว่ารวบยอดหมายความว่า
กินหมดถึงหลักทุกๆ หลักในการปฏิบัติ หรือตัวศาสนาก็ตาม
ฐิตา:
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย บัดนี้เราทั้งหมดได้ประกาศออกไปแล้วว่าเราปฏิญาณในอันที่จะปลดปล่อยสัตว์มีวิญญาณ อันมีประมาณไม่จำกัด แต่นั้นหมายความว่าอย่างไรเล่า? มันมิได้หมายความว่า อาตมา,เว่ยหล่าง กำลังจะปลดปล่อยสัตว์นั้น. และอะไรเล่าคือสัตว์มีวิญญาณเหล่านั้น อันมีอยู่ในใจของเรา?
สัตว์เหล่านั้นคือ ใจที่หลงผิด ใจที่เป็นมายา ใจชั่วร้ายและใจอื่นๆ ทำนองนั้น เหล่านี้ทั้งหมด เรียกว่าสัตว์ที่มีวิญญาณ *27 สัตว์เหล่านี้แต่ละตัวจำจะต้องปลดปล่อยตัวมันเอง โดยอาศัยอำนาจแห่งจิตเดิมแท้ของมัน แล้วการปลดปล่อยนั้น ก็จะเป็นการปลดปล่อยอันเลิศแท้.
ในเรื่องนี้ การปลดปล่อยตัวเองโดยอาศัยจิตเดิมแท้ของตัวเองนั้น หมายความว่าอย่างไรเล่า? มันหมายถึงการหลุดรอดของสัตว์ที่โง่เขลา ที่หลงผิด ที่หลงทรมาน อันมีอยู่ในใจเรา ออกไปได้โดยอาศัยสัมมาทิฏฐิ โดยได้อาศัยสัมมาทิฏฐิและปัญญา สิ่งกางกั้นต่างๆที่สัตว์ผู้ไร้ความรู้และรู้ผิดเหล่านั้นแต่ละตัว จะอยู่ในฐานะปลดปล่อยตัวเองออกไปได้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัว ผู้ผิดจงปลดปล่อยตัวเองได้ ด้วยอาศัยความถูก ผู้รู้ผิดจงปลดปล่อยตัวเองได้ ด้วยอาศัยความรู้แจ้ง ผู้ไม่รู้ ด้วยอาศัยปัญญา และผู้เต็มอยู่ด้วยโทษ ด้วยการอาศัยคุณนี้คือการปลดปล่อยอันเลิศแท้.
สำหรับข้อปฏิญาณที่ว่า "เราขอปฏิญาณที่จะเพิกเสียซึ่งกิเลสอันชั่วร้ายภายในใจ อันมีปริมาณคณานับไม่ได้" นั้น ย่อมเล็งถึงการปลดออกเสียซึ่งกลุ่มของความคิดอันเชื่อถือไม่ได้ และเป็นมายาหลอกลวง โดยนำเอาปัญญาแห่งจิตเดิมแท้เข้ามาใส่แทนที่.
สำหรับข้อปฏิญาณที่ว่า "เราขอปฏิญาณที่จะศึกษาระบบธรรม อันนับไม่ถ้วน" นั้น ควรจะวางหลักลงไปว่า การศึกษาที่แท้จริงจะยังมีไม่ได้ จนกว่าเราจะได้เผชิญหน้ากับจิตเดิมแท้ของเราเสียก่อน. และจนกว่าเราจะมีความเป็นไปของเรากลมเกลียวกันได้กับธรรมะอันถูกต้อง ในทุกโอกาสเสียก่อน
สำหรับข้อปฏิญาณที่ว่า "เราขอปฏิญาณที่จะเข้าให้ถึงพุทธภาวะอันสูงสุด" นั้น อาตมาปรารถนาที่จะชี้ ให้ท่านทั้งหลายเห็นชัดว่า เมื่อเราสามารถน้อมจิตของเรา ไปตามทางแห่งธรรมะอันแท้ และถูกตรงในทุกโอกาส และเมื่อปัญญาแจ่มแจ้งอยู่ในใจของเราไม่ขาดสาย จนกระทั่งเราสามารถตีตัวออกห่างเสียได้ทั้งจากความรู้แจ้งและความไม่รู้ ไม่ข้องแวะด้วยกับทั้งความจริงและความเท็จ เมื่อนั้นแหละ เราอาจจะถือว่าตัวเราได้รู้แจ่มชัดแล้วในธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ *28 หรืออีกนัยหนึ่ง ได้ลุถึงแล้วซึ่งพุทธภาวะ
*27 การที่เรียกใจที่ชั่วร้ายนานาชนิด ว่าสัตว์มีวิญญาณในที่นี้ เป็นสำนวนศาสนาชนิดหนึ่งซึ่งถือว่าสิ่งทั้งปวงสำคัญอยู่ที่ใจ สำเร็จอยู่ที่ใจ หรือออกไปจากใจ และเป็นสิ่งที่น่าสงสารที่สุดสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญญา พิจารณาเห็น ผู้แปลไทย พุทธทาส
*28ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ หรือพุทธภาวะ ซึ่งมีประจำอยู่ที่จิตเดิมแท้ สองคำนี้ เป็นคำที่อธิบายยาก ท่านจึงต้องชี้ไว้ด้วยลักษณะอาการ ทำนองการอนุมานว่า เมื่อใดจิตสะอาดและฉลาดและสงบ ถึงขนาดที่มองเห็นว่า ความจริงกับความเท็จก็เป็นของไม่น่ายึดถือ เท่ากัน ความตรัสรู้ กับความโง่เขลาก็เป็นของไม่น่ายึดถือ เท่ากัน เมื่อนั้น ใจนั้นชื่อว่า อยู่ในมาตรฐานที่รู้จักพุทธภาวะ อันมีอยู่เองแล้ว ในจิตเดิมแท้ของคนทุกคน ผู้แปลไทย พุทธทาส
ฐิตา:
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย เราควรจะสำเหนียกอยู่ในใจให้ได้เสมอไปว่า เรากำลังไต่ไปเรื่อยๆตามทางแห่งมรรคปฏิปทา เพราะว่าการทำในใจเช่นนั้นย่อมเพิ่มกำลังให้แก่ปฏิญาณของเรา บัดนี้ เนื่องจากเราได้ตั้งไว้ ซึ่งปฏิญาณรวมยอด 4 ประการ เหล่านี้แล้ว อาตมาจะได้แสดงแก่ท่านทั้งหลาย ถึง "เครื่องส่องทาง *29 มีองค์สามประการอันไม่เกี่ยวกับรูปธรรม *30" สืบต่อไป
เราถือเอา "การรู้แจ้ง(ตรัสรู้) ว่าเป็นเครื่องนำทางของเรา
เพราะว่านั่นแหละ
คือยอดสุดทั้งของบุญและปัญญา
เราถือเอา "ความถูกต้องตามธรรมแท้" ว่าเป็นเครื่องนำทางของเรา
เพราะว่านั่นแหละ
คือหนทางที่ดีที่สุดแล้ว ของการรื้อถอนตัณหา.
เราถือเอา "ความบริสุทธิ์" ว่าเป็นเครื่องนำทางของเรา
เพราะว่านั่นแหละ
คือคุณชาติอันประเสริฐที่สุดของการได้เกิดเป็นมนุษย์
ต่อไปนี้จงถือเอาท่านที่ตรัสรู้แล้ว เป็นครูของเรา ในทุกกรณี เราไม่ควรรับเอาพญามาร (บุคคลาธิษฐานแห่งความชั่ว) หรือมิจฉาทิฏฐิบุคคลอื่นใดว่าเป็นผู้นำของเรา ข้อนี้เราอาจน้อมนำเข้ามาสู่ใจเราได้ โดยการน้อมระลึกถึงอยู่เนืองนิจใน "รัตนะทั้งสาม" แห่งจิตเดิมแท้ของเรา ซึ่งในรัตนะเหล่านี้เอง ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย อาตมาแนะนำให้ท่านทั้งหลายถือเอาเป็นที่พึ่ง รัตนะเหล่านั้นคือ:-
พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นตัวแทนของ "ความรู้แจ้ง(ตรัสรู้)"
พระธรรม ซึ่งเป็นตัวแทนของ "ความถูกต้องตามธรรมแท้"
พระสงฆ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของ "ความบริสุทธิ์"
การน้อมใจของเราให้ถือเอา "ความรู้แจ้ง" เป็นที่พึ่งได้
จนถึงกับความรู้สึกที่ชั่วร้าย และผิดธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้
ตัณหาห่างจากไป ความตึงเครียดไม่ปรากฏ
ราคะและโลภะไม่รึงรัดอีกต่อไป นั่นแหละคือยอดสุด ทั้งของบุญและปัญญา
การน้อมใจของเราให้ถือเอา "ความถูกต้องตามธรรมแท้" เป็นที่พึ่งได้
จนถึงกับเราเป็นอิสระอยู่เสมอ จากความเห็นผิด
(ซึ่งถ้าปราศจากความเห็นผิดแล้ว ก็ไม่อาจจะเกิดความยึดถือตัวตน ความเย่อหยิ่ง
หรือความทะเยอทะยานขึ้นมาได้)
นั่นแหละ คือหนทางอันประเสริฐที่จะถอนเสียได้ซึ่งตัณหา.
การน้อมใจของเรา ให้ถือเอา "ความบริสุทธิ์" เป็นที่พึ่งได้
จนถึงกับ ไม่ว่าสถานะการณ์อันใดจะเข้ามาแวดล้อมใจ ก็ไม่ถูกทำให้เปื้อน
ด้วยวัตถุอารมณ์
อันน่าขยะแขยง ด้วยความทะเยอทะยานและตัณหา
นั่นแหละ คือคุณชาติอันประเสริฐสุดของการได้เกิดมาเป็นคน
*29 เครื่องส่องทาง Guidance ในที่นี้โดยความหมายก็ตรงกับคำว่า สรณะ เพราะสรณะก็คือเครื่องสำหรับให้ใจหน่วงไป หรือดึงดูดใจไปหา. แต่ข้าพเจ้าคงแปลว่า "เครื่องส่องทาง" อนุโลมตามรูปศัพท์ในภาษาอังกฤษ ทั้งๆ ที่เชื่อว่าต้นฉบับเดิมในภาษาจีนใช้คำที่ตรงกับคำว่า สรณะ ผู้แปลไทย พุทธทาส
*30 "ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม" ในตอนนี้มีอธิบายชัดอยู่ในตัวแล้ว คือคำว่าพระพุทธเจ้า ก็ไม่หมายเอาองค์หรือร่างกายพระพุทธเจ้า แต่หมายเอาตัวความรู้ พระธรรม ก็ไม่ได้หมายเอาคัมภีร์หรือเสียง หรือภาพ แต่หมายเอาตัวความถูกต้อง พระสงฆ์ไม่ไม่หมายเอาผ้าเหลืองหรือตัวคน แต่หมายเอาตัวความบริสุทธิ์ เช่นนี้ทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่า "Formless" หรือ "ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม" ตามความหมายของพระสังฆปริณายก นั้นได้ง่ายขึ้น ผู้แปลไทย พุทธทาส
ฐิตา:
การปฏิบัติใน "เครื่องส่องทางมีองค์สาม" ตามวิธีที่กล่าวมาแล้วนี้ ย่อมหมายถึงการทำที่พึ่งในตัวของตัวเอง (คือในจิตเดิมแท้ของผู้นั้นเอง)*31 พวกคนเขลาพากันถือสรณะ "เครื่องส่องทางมีองค์สาม" ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่เขาหาเข้าใจในสิ่งนี้ไม่ ถ้าเขากล่าวว่า เขาถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้า เขาทราบหรือว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน? ถ้าเขาไม่สามารถเห็นพระพุทธเจ้าได้ แล้วเขาจะสามารถถือที่พึ่งในพระองค์ได้อย่างไร? การที่เขายืนยันเช่นนั้นมิกลายเป็นเท็จไปหรือ?
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายแต่ละคนควรจะพิจารณา และสอบสวนข้อเท็จจิรงในแง่นี้ให้แจ้งชัด เพื่อตัวท่านเอง และอย่างปล่อยให้กำลังกายและกำลังความคิดของท่าน ถูกใช้ไปผิดทาง พระสูตรได้กล่าวไว้ชัดแล้วว่า*31 เราควรจะถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้าภายในตัวเราเอง ไม่ได้กล่าวสอนไว้เลยว่าให้ถือพระพุทธเจ้าอื่นๆ นอกจากนี้เป็นที่พึ่ง ยิ่งกว่านั้นถ้าหากว่าเราไม่ถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้าภายในตัวเราเองแล้ว ก็ไม่มีที่อื่นใดอีก ที่จะถือเอาเป็นที่พึ่งที่ต้านทานแก่เราได้เมื่อได้พิจารณาเห็นความจริงในข้อนี้ โดยกระจ่างแล้วเราทั้งหลายแต่ละคนจงถือเอาที่พึ่งใน "รัตนะทั้งสาม" ภายในตัวเราเองเถิด ในภายในเราบังคับใจของเราเอง ภายนอก เรานอบน้อมต่อผู้อื่น นี่แหละ คือวิถีทางแห่งการถือที่พึ่งภายในตัวเราเอง
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย เมื่อท่านทุกคนได้ถือเอา "เครื่องส่องทางมีองค์สาม" นี้แล้ว อาตมาก็จะได้กล่าวแก่ท่านทั้งหลาย ถึงเรื่องตรีกาย (กายสามอย่าง) ของพระพุทธเจ้าแห่งจิตเดิมแท้ สืบไป เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะสามารถเห็นกายทั้งสามนี้ แล้วจะเห็นแจ้งในจิตเดิมแท้อย่างชัดเจนด้วย จงตั้งใจฟังให้ดี และว่าตามดังๆ พร้อมกันทุกคน เหมือนที่อาตมาจะว่านำ:-
ด้วยกายเนื้อของเรานี้
เราขอถือที่พึ่งในธรรมกายอันบริสุทธิ์ (คือกายแก่น)
ของ พระพุทธเจ้า
ด้วยกายเนื้อของเรานี้
เราขอถือที่พึ่งในสัมโภคกายอันสมบูรณ์(คือการแสดงออก)
ของ พระพุทธเจ้า
ด้วยกายเนื้อของเรานี้
เราขอถือที่พึ่งในนิรมานกายอันมากมายตั้งหมื่นแสน(กายเปลี่ยนรูปต่างๆ)
ของ พระพุทธเจ้า
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย กายเนื้อของเรานี้ อาจเปรียบกันได้กับโรงพักแรก (คือที่อาศัยชั่วคราว) ดังนั้นเราจึงไม่สามารถยึดเอาเป็นที่พึ่ง ในภายในจิตเดิมแท้ของเรา เราอาจหาพบกายทั้งสามนี้ และเป็นของสาธารณะทั่วไปสำหรับทุกคน แต่เนื่องจากใจ(ของคนธรรมดาสามัญ) ทำกิจอยู่ด้วยความรู้ผิด เขาจึงไม่ทราบถึงธรรมชาติแท้ ในภายในกายของเขา ผลจึงเกิดมีว่า เขาไม่รู้จักตรีกาย ภายในตัวของเขาเอง (มิหนำซ้ำยังเชื่อผิดๆ อีก) ว่าตรีกายนั้นเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาจากภายนอก ท่านจงตั้งใจฟังเถิด อาตมาจะแสดงให้ท่านเห็นว่าในตัวท่านเอง ท่านจะหาพบตรีกายเป็นปรากฏการณ์ อันแสดงออกของจิตเดิมแท้ อันเป็นสิ่งที่ ไม่อาจหาพบได้ จากภายนอก
*31 พระสังฆปริณายกต้องการจะชี้ให้เห็นว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชนิดที่เป็นรูปธรรมนั้น คนละอย่างต่างจากตัวพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นลักษณะของจิตเดิมแท้ และท่านสอนสาวกของท่านให้ถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนัยหลัง จึงขัดกัน อย่างที่จะเข้ากันไม่ได้ หรือฟังกันไม่ถูกกับพวกที่ถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชนิดที่เป็นรูปธรรม และด้วยเหตุนี้เอง ท่านจึงต้องใช้คำว่า "Formless" กำกับอยู่เสมอทุกแห่งในหัวข้อคำสอนของท่าน ผู้แปลไทย พุทธทาส
*31 พระสูตร ในที่นี้หมายถึงสูตรฝ่ายมหายาน และโดยเฉพาะหมายถึงวัชรเฉทิกสูตรซึ่งข้าพเจ้าจะได้หาโอกาสสอบดูต่อไป พระสูตรเล่มจีน เรียก กิมกังเก็ง ผู้แปลไทย พุทธทาส
ฐิตา:
ในที่นี้ อะไรเล่าชื่อว่าธรรมกายอันบริสุทธิ์? จิตเดิมแท้ของเราเป็นของบริสุทธิ์จริงแท้ ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงอาการแสดงออกของจิตนี้กรรมดีกรรมชั่ว เป็นเพียงผลของความคิดดีและคิดชั่วตามลำดับ ฉะนั้น ภายในจิตเดิมแท้ สิ่งทุกสิ่ง (ย่อมบริสุทธิ์จริงแท้) เหมือนกับสีของท้องฟ้ากับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ซึ่งเมื่อเมฆผ่านมาบังความแจ่มนั้นดูประหนึ่งว่าถูกทำให้มัวไป แต่เมื่อเมฆผ่านไปแล้ว ความแจ่มกลับปรากฏอีก และสิ่งต่างๆก็ได้รับแสงที่ส่องมาเต็มที่อย่างเดิม ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย จิตชั่วของเราเปรียบเหมือนกับเมฆ ความรู้แจ้งแทงตลอด และปัญญาของเราเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ตามลำดับ เมื่อเราพัวพันอยู่กับอารมณ์ภายนอก
จิตเดิมแท้ของเรา ก็ถูกบดบังไว้ด้วยความรู้สึกที่ติดรสของอารมณ์ ซึ่งย่อมเป็นการปิดกั้นความรู้แจ้งแทงตลอด และปัญญาของเราไว้ มิให้ส่องแสงออกมาภายนอกได้ แต่เผอิญเป็นโชคดีแก่เราอย่างเพียงพอ ที่ได้พบกันกับครูผู้รอบรู้และอารีที่ได้นำธรรมะอันถูกต้องตามธรรมมาให้เราทราบ เราจึงสามารถกำจัดอวิชชาและความรู้ผิดเสียได้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา จนถึงกับเราเป็นผู้รู้แจ้งสว่างไสว ทั้งภายในและภายนอก และธรรมชาติแท้ของสิ่งทั้งปวง ปรากฏ ตัวมันเองอยู่ภายในจิตเดิมแท้ของเรา นี่แหละคือสิ่งซึ่งบังเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ได้เผชิญหน้ากันกับจิตเดิมแท้ และนี่แหละ คือสิ่งซึ่งเรียกว่า ธรรมกายอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย การถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้าที่จริงแท้นั้น ก็คือการถือที่พึ่งในจิตเดิมแท้ ของเราเอง ผู้ที่ถือที่พึ่งเช่นนี้ ย่อมจะพรากสิ่งต่อไปนี้ออกเสียจากจิตเดิมแท้ ของตน คือจิตชั่วต่ำ จิตริษยา จิตสอพลอ คดๆ งอๆ ความยึดถือตัว ความคดโกงและมดเท็จ ความดูถูก ดูแคลน ความโอหัง ความเห็นผิด ความเย่อหยิ่งจองหอง และความต่ำทรามอื่นๆ อันจะมีเกิดขึ้นใจจิตไม่ว่าในเวลาใดๆ การถือที่พึ่งในตัวเราเองนั้น คือการระวังระไวอยู่ตลอดเวลาในการที่จะไม่ทำชั่วทำผิด และงดขาดจากการวิพากษ์วิจารณ์ความดี หรือความผิดของบุคคลอื่น ผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตัวอยู่เสมอทุกโอกาส มีอัธยาศัยสุภาพต่อคนทุกๆคน ย่อมเป็นผู้ที่ได้เห็นจิตเดิมแท้ของเขาอย่างทั่วถึงแล้ว ทั่วถึงจริงๆ จนถึงกับหนทางข้างหน้าของเขาจะปราศจากอุปสรรคทุกประการ นี่แหละคือวิถีทางที่จะทำที่พึ่ง ในตนเอง
อะไรเล่า ชื่อว่าสัมโภคกายอันสมบูรณ์ ในที่นี้ขอให้เรานึกถึงตะเกียงเป็นภาพเปรียบ แม้แต่แสงตะเกียงเพียงดวงเดียว ก็ยังสามารถทำลายความมืด ที่มืดมานับพันๆปีได้ ฉะนั้น ประกายแห่งปัญญาย่อมสามารถทำลายอวิชชาที่มืดมาเป็นยุคๆ ได้เช่นกัน เราไม่ต้องวิตกกังวลถึงอดีต เพราะอดีตเป็นสิ่งที่ล่วงพ้นมาแล้ว และไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ สิ่งที่ต้องการความสนใจจากเราคืออนาคต ฉะนั้น จงให้ความคิดของเราเป็นสิ่งที่กระจ่าง และกลมกล่อมอยู่ทุกขณะจิตเถิด และให้เห็นอย่างเผชิญหน้าอยู่กับจิตเดิมแท้ทุกเมื่อเถิด ความดีกับความชั่วเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามต่อกันและกันอยู่ก็จริง แต่ว่าตัวเนื้อแท้ส่วนลึกของมันนั้น ไม่สามารถจะแยกออกเป็นสองฝ่าย*32 ธรรมชาติชั้นที่เราไม่สามารถแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายนี่เอง คือตัวธรรมชาติแท้ (กล่าวคือความจริงแท้อันเด็ดขาด) ซึ่งไม่สามารถถูกทำให้เปื้อนด้วยความชั่ว หรือวิปริตไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจของความดี นี่แหละคือสิ่งซึ่งเรียกว่า สัมโภคกายของพระพุทธเจ้า
*32 ข้อความวรรคนี้ คงจะเข้าใจยากยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นกับธรรมประเภทนี้ ว่ามีความดีกับความชั่ว เป็นของที่เห็นชัดว่าผิดตรงข้าม แต่ส่วนเนื้อแท้ส่วนลึกของมันเป็นอันเดียวกัน ไม่สามารถแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายนั้น คือว่า ปรากฏการณ์ข้างนอกของความดีความชั่ว หรือผลอันจะเกิดจากความดีความชั่วแก่เรา หรือลักษณะอื่นๆ ก็ตามล้วนแต่ตรงกันข้าม จนคนทั่วไปเรียกว่าเป็นของคู่ คือคนละอย่างตรงกันข้าม แต่เมื่อปัญญาแทงตลอดลงไปถึงตัวจริงส่วนลึก(Quintessence)ของมันแล้ว การกลับปรากฏไปเสียว่ามาจากตัณหาด้วยกัน เป็นสังขารด้วยกัน อวิชชาปรุงแต่งขึ้นด้วยกัน ไม่อาจแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายในขั้นนี้ซึ่งเป็นขั้นรากเง้าของมัน ใครเห็นชัดความจริงในส่วนนี้ ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้าแห่งจิตเดิมแท้ ในส่วนสัมโภคกายของพระองค์ คำว่า Quintessence นั้น ตามตัวอักษรแปลว่า อายตนะที่ห้า หรือมูลธาตุที่ห้า ดิน น้ำ ลม ไฟ คือสี่ธาตุ ธาตุที่ห้า คือใจ เมื่อใช้กับวัตถุ หมายถึงส่วนที่เป็นตัวแท้ของมัน ที่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ข้างนอก ในที่นี้ใช้กับความดี ความชั่ว คำนี้จึงหมายถึง "ตัวแท้ชั้นในหรือชั้นลึก"ของสิ่งนี้ ผู้แปลไทย พุทธทาส
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version