แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
พระสูตรเว่ยหล่าง พุทธทาสภิกขุ แปล
ฐิตา:
ความคิดชั่วร้ายเพียงดวงเดียว จากจิตเดิมแท้ของเรา อาจจะทำลายความดีที่เราสร้างสม อบรมมานาน นับเป็นสมัยๆ ให้เสื่อมเสียไปหมดได้ทำนองเดียวกับความคิดอันดีงานจากจิตเดิมแท้นั่นอีกเหมือนกัน อาจจะชำระชะล้างบาปอกุศลของเรา ซึ่งแม้จะมากมายเหมือนเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา ได้ดุจกันการเห็นประจักษ์ชัดต่อจิตเดิมแท้ของเราเองอยู่ทุกขณะจิต ปราศจากการแทรกแซงจนกระทั่งลุถึงการตรัสรู้ขั้นสูงสุด ถึงกับอยู่ในภาวะแห่งความเต็มเปี่ยมด้วยความรู้ อันถูกต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นั่นแหละ คือสัมโภคกาย
ทีนี้ อะไรเล่า ชื่อว่านิรมานกายอันมากมายนับด้วยหมื่นแสน?
เมื่อใดเราทำตัวเรา
ให้เข้ามาอยู่ในฝักฝ่ายของความรู้จักแบ่งแยกว่า อะไรเป็นฝ่ายไหน
และระบุออกไปว่า อะไรเป็นสิ่งที่ควรต้องการ ได้แม้แต่เพียงนิดเดียวเท่านั้น
เมื่อนั้นความเปลี่ยนรูปแปลงร่างก็จะเกิดขึ้น (แก่ตัวเราเอง)*33
ถ้าผิดไปจากนี้ สิ่งทุกสิ่งจะยังคงว่างเปล่า เหมือนกับอวกาศ ดังเช่นที่มันเป็นอยู่
ในตัวมันเองมาแต่เดิม
โดยการเอนอิงจิตของเราลงไปบนสิ่งชั่ว นรกก็เกิดขึ้น
โดยการเอนอิงจิตของเราลงไปบนการกระทำกรรมดี สวรรค์ก็ปรากฏ
มังกรและงูร้าย คือการแปลงร่างมาเกิดของเวรภัยอันมีพิษ
เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์
ก็คือตัวตน ของความเมตตากรุณา จับกลุ่มกันมาเกิด
ซีกบนคือปัญญาซึ่งจับตัวกันเป็นผลึก ส่องแสงจ้าอยู่
ในขณะที่โลกซึกล่าง
เป็นเพียงอีกรูปหนึ่งของสิ่งที่ก่อรูปมาจากอวิชชา และความมัวเมา
การเปลี่ยนรูปแปลงร่างของจิตเดิมแท้ช่างมีมากมายเสียจริงๆ
พวกที่ตกอยู่ภายใต้ความหลงก็ไม่มีวันตื่น และไม่มีวันเข้าใจ
จึงน้อมใจลงสู่ความชั่วเสมอและประพฤติความชั่วนั้นเป็นปกตินิสัย
แต่ถ้าเขาจะน้อมจิตเลี้ยวจากความชั่ว มายังความดีงาม
แม้แต่เพียงสัก ขณะจิตเดียว เท่านั้น
ปัญญาก็จะเกิดขึ้นทันที นี่แหละ คือสิ่งซึ่งเรียกว่า
นิรมานกายของพระพุทธเจ้าแห่ง.. จิตเดิมแท้
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ธรรมกาย คือ สิ่งซึ่งมีความเต็มเปี่ยมอยู่ในตัวเอง
อย่างแท้จริง
การเห็นกันอยู่อย่างเผชิญหน้ากับจิตเดิมแท้ของคนทุกๆขณะจิต นั้นคือ
สัมโภคกาย ของพระพุทธเจ้า
การเอนอิงจิตของเราลงที่สัมโภคกายนั้น (จนถึงกับเกิดความสว่างหรือปัญญา)
นั่นคือนิรมานกาย
การปฏิบัติให้ลุถึงการตรัสรู้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง และการที่ตนเอง
ปฏิบัติความดีงาม ตามที่มีอยู่ในจิตเดิมแท้ของตนเอง
นั่นแหละ คือกรณีชั้นเลิศของ "การถือที่พึ่ง"
กายเนื้อของเรานี้ประกอบอยู่ด้วยเนื้อและหนัง ฯลฯ มันไม่มากอะไรยิ่งไปกว่า
เป็นที่พักแรม (สำหรับอาศัยเพียงชั่วคราว)
ดังนั้นเราจึงไม่ถือที่พึ่งในกายเนื้อนั้น แต่เราจงพยายามให้เห็นแจ้ง
ในตรีกายแห่งจิตเดิมแท้
ของเราเถิด และเราจะรู้จักพระพุทธเจ้าแห่งจิตเดิมแท้ของเราเอง
*33 ข้อความนี้ คงฟังยากสำหรับบางคน จึงขออธิบายเสียด้วยว่า พอปัญญาแท้จริงเกิดขึ้นแม้นิดเดียว ในขณะนั้นก็เกิดการเปลี่ยนรูปขึ้นภายในจิต เช่นเปลี่ยนจากความมืด มายังความสว่าง จากความเปื้อน มาเป็นความสะอาด จากความร้อนมาเป็นความเย็น เป็นต้น เป็นของใหม่ขึ้นมา มากน้อยตามสมควรแก่ความรู้จักแยก (discrimination) และความรู้จักระบุของที่ควรต้องการ (particularization) ของตนเอง หมายความสั้นๆว่า พอปัญญาเกิด ก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในภายในด้วยเสมอไป ถ้าผิดไปจากนี้ ก็คือยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผู้แปลไทย พุทธทาส
ฐิตา:
อาตมามีโศลกโคลง *34 อันไม่เกี่ยวกับ"รูปธรรม" อยู่บทหนึ่ง
ซึ่งการท่องและการปฏิบัติตามโศลกโคลงนี้ จะสามารถ..
.. เพิก อวิชชา ให้สูญไป
และชำระ.. ชะล้าง บาป..
.. อันได้สะสมอบรมมานานนับด้วยกัลป์ๆได้ โดยสิ้นเชิง
โศลกโคลงนั้นมีดังนี้:-
พวกที่จมอยู่ความเขลา ย่อมมัวแต่สะสมบุญอันแปดเปื้อน (ด้วยการลูบคลำ
ของตัณหาและทิฏฐิ)*35 ไม่ไต่ไปตามมรรคปฏิปทา
พวกนี้ตกอยู่ภายใต้ความรู้สึก ว่าการสะสมบุญ กับการไต่ไปตามมรรคปฏิปทานั้น
เป็นของสิ่งเดียวและอย่างเดียวกัน
แม้ว่าบุญของคนพวกนี้ อันเกิดจากการให้ทานและการบูชา
จะมีมากหาประมาณมิได้
เขาก็ไม่เห็นแจ้งว่า วิถีทางมาอันเฉียบขาดของบาปนั้น เนื่องอยู่กับมูลธาตุ
อันมีพิษร้ายสามประการ (โลภ โกรธ หลง)อันมีอยู่ในใจของตนเอง
เขาคิดว่าเขาจะเปลื้องบาปของเขาได้ ด้วยการสะสมบุญ
โดยหารู้ไม่ว่าความสุขที่เขาจะได้รับในชาติข้างหน้านั้น ไม่มีอะไร
เกี่ยวกับการเปลื้องบาปนั้นเลย
ทำไมจึงไม่เปลื้องบาป (ด้วยวิธีที่ทำกัน) ภายในใจของตนเอง เพราะนั่นแหละ
เป็นการชำระบาป (ภายในจิตเดิมแท้ของเรา) อย่างแท้จริง
คนบาปที่ได้มีความเห็นแจ้งขึ้นในทันทีทันใด ว่าอะไรจะนำมาซึ่งการสำนึกบาป
อย่างแท้จริง ตามวิธีของนิกายมหายาน
และได้เลิกละเด็ดขาดจากการทำบาป ทำแต่ความดีงาม
นี่แหละ คือ ผู้หมดบาป
ผู้ที่ไต่ไปตามมรรคปฏิปทา ซึ่งกำหนดในจิตเดิมแท้อยู่เนืองนิจนั้น
ควรถูกจัดเข้าในระดับชั้นเดียวกันกับ พุทธบุคคลอันมีประเภทต่างๆ
*34 โคลงโศลก ในที่นี้คือคำที่ผูกเข้าเป็นคำประพันธ์ชนิดกาพย์ หรือโคลงในภาษาบาลีเรียกคำชนิดนี้ว่า "คาถา" หรือคำสำหรับขับ "ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม" ในที่นี้ ก็เช่นเดียวกับที่อื่นนั่นเอง คือสอนวิธีปฏิบัติไม่เกี่ยวกับรูปธรรม หรือพึ่งพาอาศัยรูปธรรม ผู้แปลไทย พุทธทาส
*35 บุญเป็นสิ่งที่แปดเปื้อนหรือมีราคี เพราะบุญทุกอย่างต้องอาศัยตัณหาและทิฏฐิ หรือย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเกิดขึ้นได้ ที่เป็นชั้นสูง เช่นทิฏฐิที่ยังสำคัญว่าตัวตนบังคับให้ทำดีอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อตัวเช่นนี้ บุญนี้ ชื่อว่ายังถูกทิฏฐิ หรืออุปทานลูบคลำอยู่ ถ้าสูงพ้นนี้ไป คือมีความรู้สึกในความไม่มีตัวตน ทำอะไรก็พ้นจากความเป็นบุญเสียแล้ว จึงมีหลักตายตัวว่า บุญทุกชนิดต้องแปดเปื้อนแต่เป็นความแปดเปื้อนชนิดที่ถือกันว่าสวยเช่น การเขียนปาก เขียนคิ้ว ของคนในสมัยนี้ เป็นตัวอย่าง บุญย่อมนำหรือส่งเสริมให้เกิดในภพใดภพหนึ่งเสมอไป ซึ่งทำให้มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทางพุทธศาสนาจึงถือว่า แม้บุญก็มีพิษร้ายเท่ากับบาป แต่ว่าลึกซึ้งเกินกว่าที่คนธรรมดาจะมองเห็น และเมื่อเขายังไม่สามารถทำอะไรให้สูงไปกว่านั้นได้ จึงให้ทำบุญกันไปก่อนดีกว่าทำบาป แต่เมื่อใดความเห็นจริง เมื่อนั้น จะเบื่อบุญเท่ากับเบื่อบาป และหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ ผู้แปลไทย พุทธทาส
แก้วจ๋าหน้าร้อน:
:13: อนุโมทนากับความสวยงามของหัวใจครับ พี่แป๋ม
ฐิตา:
พระสังฆปริณายกของเราที่แล้วๆมา ไม่ค่อยสอนระบบธรรมอย่างอื่นเลย
นอกจากระบบ "ฉับพลัน"*36 นี้เท่านั้น
ขอให้ ผู้ปฏิบัติตามระบบนี้ทุกคน จงเห็นอย่างเผชิญหน้าต่อ จิตเดิมแท้ของตน
และอยู่กับพระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้ในทันที
ถ้าท่านกำลังแสวงหาธรรมกาย
ก็จงมองให้สูง เหนือขึ้นไปจากลักษณะธรรมดา *37 (ปรากฏการณ์ต่างๆ) แล้วจิตเดิมแท้ของท่านก็จะบริสุทธิ์
จงตั้งตัวมั่น ในความมุ่งหมายที่เห็นจิตเดิมแท้อย่างเผชิญหน้า อย่าถอยหลัง
เพราะความตายอาจมาถึงโดยปัจจุบัน และทำชีวิตในโลกนี้ของท่าน ให้สิ้นสุดลงโดยทันที
ผู้ที่เข้าใจคำสอนตามหลักแห่งมหายาน และอยู่ในฐานะที่จะมองเห็นจิตเดิมแท้เช่นนี้
ควรจะกระพุ่มมือทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างนอบน้อม (ด้วยอาการแห่งความเคารพ) แล้วแสวงหาธรรมกาย ด้วยความกระตือรือร้นเถิด
พระสังฆปริณายกได้กล่าวเสริมอีกว่า:-
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย ควรสาธยายโศลกนี้และปฏิบัติตาม ถ้าท่านมองเห็นจิตเดิมแท้ของท่านหลังจากที่สาธยายแล้ว ท่านก็จะเห็นได้เองว่า ท่านได้อยู่ในที่เฉพาะหน้าของอาตมาตลอดไป แม้ว่าตามที่แท้ท่านอยู่ห่างออกไปตั้งพันๆไมล์ แต่ถ้าท่านไม่สามารถทำได้ แม้เราจะอยู่จ่อหน้ากันอย่างนี้ โดยทีแท้ก็คือเราอยู่ห่างกันตั้งพันๆ ไมล์นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น จะมีประโยชน์อะไรในการที่ท่านทนทรมานเดินทางจนมาถึงที่นี่ จากที่อันไกลแสนไกล จงระวังตัวของท่านให้ดี อาตมาลาก่อน
บรรดาผู้มาประชุมกันนั้น เมื่อได้ฟังพระสังฆปริณายกกล่าวจบแล้ว ได้พากันรู้แจ้งเห็นจริง ด้วยอาการอันปลื้มปิติ เขาพากันร้บเอาคำสอน และนำไปปฏิบัติ
*36 ระบบฉับพลัน หมายถึงระบบลัดตามวิธีนี้ เพื่อตัดขาดจากการมัวข้องแวะกับรูปธรรม นับตั้งแต่ตำราไปจนถึงบุญกุศลหรือสวรรค์ อ้นเป็นหลักสำคัญของท่านผู้นี้ ผู้แปลไทย พุทธทาส
*37 คำนี้ของเดิมว่า "ธรรมลักษณะ" หมายถึงลักษณะธรรมดาของสิ่งทั้งปวงทั่วไป ข้าพเจ้าไม่ทับศัพท์เพราะอาจเกิดความสับสนแก่ท่านผู้อ่านได้ ผู้แปลไทย พุทธทาส
ฐิตา:
หมวดที่ 7
ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัย และสิ่งแวดล้อม
***********************************
แม้ว่าพระสังฆปริณายก จะได้กลับมายังตำบลโซฮัวแห่งเมืองชิวเจา จากวองมุยอันเป็นที่ซึ่งท่านได้รับมอบพระธรรม (แห่งนิกายธยานะจากพระสังฆปริณายกองค์ก่อน) อีกก็ตาม ท่านก็ยังเป็นคนแปลกหน้า ที่ไม่มีใครรู้จักในหมู่คนทั้งหลายอยู่นั่นเอง และผู้ทีให้การต้อนรับเลี้ยงดูอย่างครบครันแก่ท่านนั้น ได้แก่นักศึกษาแห่งลัทธิขงจื้อผู้หนึ่ง ซึ่งมีนามว่าหลิวชีลั่ก เผอิญหลิวชีลั่กผู้นี้ มีน้าผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง ชื่อวูจูจอง ได้บวชเป็นบรรพชิตในพุทธศาสนา และโดยปรกติสวดสาธยายมหาปรินิวาณสูตรอยู่เป็นนิจ เมื่อพระสังฆปริณายกได้ฟังการสาธยาย ของสตรีผู้นี้เพียงชั่วเวลาหน่อยเดียวเท่านั้น ก็สามารถจับฉวยเอาใจความอันลึกซึ้งของพระสูตรนั้นได้ และได้เริ่มอธิบายแก่เธอ เมื่อเป็นดังนั้น สตรีผู้นี้ได้หยิบคัมภีร์ขึ้นมาถามถึงความหมายของข้อความตอนหนึ่งแก่ท่าน
พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า อาตมาไม่รู้หนังสือ แต่ถ้าท่านประสงค์จะทราบใจความ แห่งพระคัมภีร์เรื่องนี้ ก็จงถามเถิด นักบวชสตรีผู้นั้นจึงถามต่อไปว่า เมื่อท่านไม่รู้จักแม้แต่จะอ่านถ้อยคำเหล่านั้นแล้ว ท่านจะสามารถทราบถึงความหมายแห่งตัวสูตรได้อย่างไรเล่า? พระสังฆปริณายกได้ตอบคำถามนี้ว่า ความลึกซึ้งแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่เกี่ยวอะไรกันเลยกับภาษาที่เขียนด้วยตัวหนังสือ
คำตอบนี้ ได้ทำให้สตรีผู้นั้นรู้สึกประหลาดใจเป็นอันมาก และเมื่อได้เล็งเห็นว่า ท่านผู้นี้มิได้เป็นพระภิกษุอย่างธรรมดาสามัญแล้ว ก็ได้บอกกล่าวให้เป็นที่ทราบกันทั่วไป ในบรรดาผู้ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้านนั้น เธอได้บอกกล่าวว่า ท่านผู้นี้เป็นอริยะบุคคล เราทั้งหลายควรขอร้องท่านให้พักอยู่ที่นี่ และขออนุญาตจากท่านเพื่อถวายอาหารและที่พักอาศัย
ต่อมา มีเชื้อสายแห่งท่านขุนนางชั้นสูง คือท่าน หวู่ แห่งราชวงศ์อาย ผู้หนึ่ง มีนามว่า โซชุกเหลียง พร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนมาก ได้พากันมาในเวลาบ่ายวันหนึ่ง เพื่อถวายความเคารพแด่พระสังฆปริณายก วัดเปาลัมอัน เป็นวัดเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งร้างไปเพราะภัยสงครามในปรายราชวงศ์ชิว ในบัดนี้หักพังเหลือแต่เศษสิ่งของเป็นกองๆ นั้น มหาชนได้พากันบูรณะขึ้นใหม่ตรงที่เดิมนั่นเอง และได้ของร้องให้พระสังฆปริณายกอยู่อาศัยประจำที่นั่น ไม่นานนักก็กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงมาก
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version