แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

พระสูตรเว่ยหล่าง พุทธทาสภิกขุ แปล

<< < (11/21) > >>

ฐิตา:



ลำดับนั้น  ภิกษุฟัตตัต  ได้ยกเรื่องอื่นขึ้นมาถามต่อไปว่า พระสูตรได้กล่าวว่า "นับตั้งแต่พระสาวกขึ้นไปจนถึงพระโพธิสัตว์  แม้ท่านเหล่านี้จะได้พยายามจนสุดกำลัง  ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจทั่วถึงในพุทธธรรม" ดังนี้ แต่ใต้เท้า  ได้ทำให้กระผมเข้าใจว่า แม้คนธรรมดาเราถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งถึงใจของตนเอง เขาก็ได้ชื่อว่าลุถึงพุทธธรรมแล้ว  ดังนี้  กระผมเกรงไปว่า  ยกเว้นพวกที่เฉียบแหลมอย่างยิ่งเสียแล้ว  คนนอกนั้นจะสงสัยไม่เชื่อคำสอนของใต้เท้า ยิ่งกว่านั้น  ในสูตรมีกล่าวถึงยาน 3 ชนิด คือเกวียนเทียมด้วยแพะ (สาวกยาน)เกวียนเทียมด้วยกวาง (ปัจเจกพุทธยาน)  และเกวียนเทียมด้วยวัว (โพธิสัตว์ยาน) แล้วก็ยานทั้งสามนี้ ผิดแปลกแตกต่างไปจากเกวียนวัวขาวได้อย่างไรเล่า?

       พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ในข้อนี้  พระสูตรได้แสดงไว้ชัดเจนแล้ว ท่านเองต่างหากที่เข้าใจผิด เหตุผลที่ว่า  ทำไมพระสาวก พระปัจเจกพุทธะและพระโพธิสัตว์  ไม่สามารถเข้าใจในพุทธธรรมได้ ก็เพราะท่านเหล่านั้นเพ่งจ้องต่อพุทธธรรม  ท่านเหล่านั้นสามารถประมวลกำลังความเพียรทั้งหมดเพื่อเพ่งก็จริง แต่เขายิ่งเพ่งหนักเข้าเท่าไร  เขาก็ยิ่งห่างออกไปจากธรรมนั้นมากขึ้นเพียงนั้น  พระโคตมะพุทธเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้  แก่คนธรรมดาทั่วไป  มิใช่ตรัสแก่พระพุทธเจ้าองค์อื่นๆด้วยกัน  แต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับเอาคำสอนที่พระองค์ทรงแนะให้  พระองค์ก็ปล่อยให้เขาหลุดไปจากหมู่  ดูเหมือนท่านจะยังไม่ทราบว่า  เพราะเราได้นั่งอยู่บนเกวียนวัวขาวเรียบร้อยแล้ว  เราก็ไม่มีความจำเป็น  ที่จะออกเที่ยวแสวงหางเกวียนอื่นอีกสามชนิดเหล่านั้น ยิ่งกว่านั้น  พระสูตรก็ได้บอกแก่ท่านอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า มีพุทธยานเท่านั้น ไม่มียานอื่นที่ไหนอีก  ในฐานะเป็นยานที่สองที่สาม  เพราะเหตุที่จะให้เราเข้าใจในยานอันเอกอันนี้เอง พระพุทธองค์จึงได้ทรงสั่งสอนเรา  ด้วยวิธีที่พระองค์ทรงช่ำชองมาแล้ว  มีปริยายต่างๆ ทรงใช้เหตุผลและข้อถกเถียง มีปริยายต่างๆ พร้อมทั้งนิทานเปรียบและภาพเปรียบ  และอื่นๆ ทำไมท่านจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่ายานทั้งสามเหล่านั้น  เป็นของสมมุติให้เด็กเล่น  สำหรับใช้กับเรื่องที่ล่วงไปแล้ว ส่วนยานอันเอกคือพุทธยานนั้น เป็นของชั้นยอดเยี่ยม  และเพื่อใช้กับเรื่องในปัจจุบันๆ

        พระสูตรได้สอนให้ท่านตั้งหน้าบำเพ็ญไปโดยไม่ต้องเป็นห่วงถึงของสมมุติให้เด็กเล่นเหล่านั้น  และให้เพ่งตรงไปยังของชั้นสูงสุดอย่างเดียว เมื่อถึงขั้นสูงสุดแล้ว  ท่านก็จะพบว่า  สิ่งที่เรียกกันว่า "ชั้นสูงสุด" นี้ ก็มิได้มีอยู่เลย  ท่านจะรู้สึกเห็นด้วยในข้อที่ว่า ท่านเองผู้เดียว  เป็นเจ้าของสิ่งอันสูงค่าเหล่านี้  และสิ่งเหล่านี้ มันขึ้นอยู่กับการจัดการทำของท่านเองล้วนๆ*40 เมื่อใดท่านเปลื้องตัวออกมาเสียได้จากการนึกเดาเอาเองว่า  สิ่งเหล่านี้เป็นของพ่อหรือเป็นของลูกๆ หรือว่ามันอยู่ที่การจัดการทำของคนนั้นคนนี้  เมื่อนั้นแหละท่านจะได้ชื่อว่าดำเนินการสาธยายพระสูตรไปโดยถูกทาง  เมื่อทำได้ดังนี้ พระสูตรก็จะชื่อว่า  อยู่ในกำมือของท่านทุกกัปป์ทุกกัลป์  และท่านก็จะชื่อว่าสาธยายพระสูตรทุกเช้าเย็น  ตลอดทุกเวลาทีเดียว


*40การที่อ้างถึงบท "นิยายอุปมา"  ในพระสูตร เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นในข้อที่ว่าพุทธธรรมมีอยู่ในคนทุกคนแล้ว ผู้แปลไทย พุทธทาส

ฐิตา:



ที่มาภาพ จาก :http://www.asomsanti.com/forums/viewtopic.php?f=4&t=126
เมื่อภิกษุฟัตตัตได้รับคำสั่งสอนจนเห็นแจ้งเช่นนั้น  ได้กล่าวสรรเสริญพระสังฆปริณายก 
ด้วยความปลาบปลื้มใจเป็นล้นพ้น  ด้วยโศลกเหล่านี้ว่า:-

 ความสำคัญผิดว่าเราได้รับกุศลเป็นอันมากในการสาธยายพระสูตร
มากกว่าสามพันครั้ง
ได้ถูกขับไล่ไปหมดด้วยคำพูดคำเดียว ของ ท่านอาจารย์แห่งสำนักโซกาย*41
ผู้ที่ไม่เข้าใจในความมุ่งหมายของการที่  พระพุทธ   บังเกิดขึ้นในโลกนี้
ย่อมเป็นผู้   ไม่สามารถ   ข่มขี่กิเลสร้าย อันตนได้สะสมมา เป็นชาติๆ
ยานสามชนิด ซึ่งเทียมด้วยแพะ กวาง และวัว ตามลำดับ นั้นจะเป็นเพียงของเด็กเล่นไปเอง
ในเมื่อ  ระดับทั้งสาม คือ ชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นสุด อันเป็นของที่อธิบายกันอยู่ในชั้นที่
เรียนธรรมะไปตามแบบแผน ได้ถูกจัดทำไปจนถึงที่สุดแล้ว จริงๆ
น้อยคนเหลือเกิน ที่จะยอมเห็นด้วย ว่า ในเรือนที่ไฟกำลังจะไหม้นั่นเอง
มีพระธรรมราชา ซึ่งเราจะหาพบได้



พระสังฆปริณายก  ได้กล่าวแก่ภิกษุฟัตตัตต่อไปว่า  ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป
ภิกษุฟัตตัตควรจะเรียกตัวเองว่า  "ภิกษุผู้สาธยายพระสูตร" ได้แล้ว
หลังจากการสนทนากันครั้งนี้ ภิกษุฟัตตัตก็สามารถ
จับฉวยเอาใจความอันลึกซึ้งของพระพุทธศาสนาได้
และเธอยังคงสาธยายพระสูตรไปดังเช่นก่อน

*41 อาจารย์แห่งสำนักโซกาย  ก็คือ พระสังฆปริณายก ผู้แปลไทย พุทธทาส


ฐิตา:

ภิกษุชิท็อง  เป็นชาวบ้านชูเจาแห่งอานฟุง ได้อ่านลังกาวตารสูตรมาเกือบพันครั้ง

 แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจความหมายของตรีกาย  และปรัชญาทั้งสี่
  เหตุนั้น จึงได้ไปหาพระสังฆปริณายก ให้ช่วยอธิบายความ

        พระสังฆปริณายกได้ให้คำอธิบายว่า ในกายทั้งสามนั้น 
ธรรมกายอันบริสุทธิ์  ก็คือ ตัวธรรมชาติตัวแท้ของท่าน  นั่นเอง 

สัมโภคกายอันสมบูรณ์ ก็คือ ตัวปรีชาญาณของท่าน 
ส่วนนิรมานกายนับด้วยหมื่นแสน ก็คือ การกระทำกรรมต่างๆของท่าน 

ถ้าท่านจะให้กายทั้งสามนี้  เป็นของต่างหากจากจิตเดิมแท้ 
มันก็เกิดมี  "กายซึ่งปราศจากปัญญา"  ขึ้นมาเท่านั้นเอง 

ถ้าท่านเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า  กายทั้งสามนี้ ไม่มีตัวตน
แท้จริงของมันเอง อะไรที่ไหนอีก

(เพราะมันเป็นแต่เพียงสมบัติของจิตเดิมแท้) ดั่งนี้แล้ว 
ท่านก็จะลุถึงโพธิของปรัชญาสี่ประการโดยแน่นอน จงฟังโศลกของฉัน

ดังต่อไปนี้:-

กายทั้งสามมีอยู่แล้ว ในจิตเดิมแท้ของเรา
ซึ่งโดยการงอกงามของจิตเดิมแท้  นั่นเอง ปรัชญาทั้งสี่ก็ปรากฏตัว

เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านไม่ต้องหลับตาหรืออุดหูของท่าน
เพื่อหลีกเลี่ยงอารมณ์ภายนอก

ท่านก็สามารถเข้าถึง   พุทธภาวะ   ได้โดยจังๆหน้ากับอารมณ์
เมื่อข้าพเจ้าได้อธิบายแก่ท่านอย่างเปิดเผย (จนเห็นเอง) เช่นนี้แล้ว

จงเชื่ออย่างแน่วแน่เถิด  ท่านจะหลุดพ้น จากความหลงตลอดไป
อย่าไปตามคน พวกที่แสวงหา  "การตรัสรู้" จากภายนอก

คนพวกนี้ พูดถึงโพธิ อย่างพร่ำเพรื่อ (แต่ตัวยังไม่เคยรู้เห็นเสียเลย)

ภิกษุชิท็อง  ได้ขอร้องต่อไปว่า  "ขอใต้เท้าได้กรุณาให้กระผมทราบข้อความ  อันเกี่ยวกับปรัชญาทั้งสี่นั้นบ้างเถิด" พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ถ้าท่านเข้าใจในเรื่องกายสามนี้แล้ว  ท่านก็จะเข้าใจในเรื่องปรัชญาทั้งสี่ได้เอง  ฉะนั้น  คำถามของท่านเป็นของไม่จำเป็น  ถ้าท่านทำให้ปรัชญาทั้งสี่อยู่ต่างหาก จากกายทั้งสามเสียแล้ว  ก็จะเกิดมี ปรัชญาซึ่งปราศจากกายขึ้นโดยแน่นอน ซึ่งเมื่อเป็นดังนี้ มันหาใช่เป็นปรัชญาไม่

ฐิตา:


พระสังฆปริณายก ได้กล่าวโศลกอื่นต่อไปอีกว่า:-


        "ปัญญาอันเปรียบด้วยกระจกส่อง"  นั้นบริสุทธิ์อยู่เอง  โดยธรรมชาติ

"ปัญญาเห็นความเสมอภาค"  นั้น ย่อมเปลื้องจิต เสียจากเครื่องกั้นทั้งปวง

"ปัญญา   เครื่องเห็น  สิ่งทั้งปวง"  นั้น  เห็น  สิ่งทั้งปวง  แจ่มแจ้ง
โดยไม่ต้อง
อาศัย  แนวแห่ง  เหตุและผล

"ปัญญา  เครื่องกระทำ  สิ่งทั้งปวง"  นั้น  มีลักษณะอย่างเดียว
กันกับ
"ปัญญา  อันเปรียบด้วย  กระจกส่อง"


        วิญญาณทั้งห้าข้างต้น*42 และอาลัยวิญญาณ*43 
ย่อม  "แปรรูป"
เป็น  ปรัชญา  ในขั้นที่  ตรัสรู้เป็นพุทธะ  

อย่างเดียวกับที่  กลิษตมโนวิญญาณ*44  และ มโนวิญญาณ*45 
แปรรูปเป็น   ปรัชญา   ในขั้นที่   เป็นโพธิสัตว์*46

  คำที่เรียกว่า  "การแปรรูปของวิญญาณ"  ดังที่กล่าวนี้
เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อ   ที่ใช้เรียกเท่านั้น   ส่วน  ตัวจริง หามีอะไรเปลี่ยนไม่*47 

เมื่อใดท่านสามารถ  เปลื้อง ตัวเองให้หมดจด  จากความผูกพัน   ของโลกิยารมณ์

ในขณะที่   มี "การแปรรูปของวิญญาณ"  ดังกล่าวมาแล้ว 

เมื่อนั้นท่านชื่อว่า   ตั้งอยู่ใน นาคสมาธิ อันทยอยกันเกิดขึ้นติดต่อกันไป  ตลอดกาลเนืองนิจ

*42 วิญญาณห้า คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ฯลฯ  ผู้อธิบายจีน

*43 วิญญาณคลังใหญ่ หรือวิญญาณโลก  ผู้อธิบายจีน

*44 วิญญาณเฉพาะตน  ผู้อธิบายจีน

*45 วิญญาณคิดนึก  ผู้อธิบายจีน

*46 ในระยะที่หนึ่ง คือระยะ "มุทิตา"  อันเป็นระยะที่โพธิสัตว์พิจารณาเห็นความว่างเปล่าของตัวตน  และของสิ่งทั้งปวงอย่างแจ่มแจ้ง นั่นเองที่ท่าน  "แปรรูป" กลิษตมโนวิญญาณ ไปเป็น  "ปัญญาเครื่องรู้สิ่งทั้งปวง"  เมื่อมีการบรรลุ  พุทธภาวะวิญญาณห้าข้างตน  จะถูก  "แปรรูป" ไปเป็น  ปัญญาเครื่องกระทำสิ่งทั้งปวง และอาลัยวิญญาณ  เป็น "ปัญญาเปรียบด้วยกระจกส่อง"  ผู้อธิบายจีน

*47 ในจิตเดิมแท้  ไม่อาจมีสิ่งที่เรียกกันว่า  "การแปรรูป"  เมื่อคนตรัสรู้ธรรมก็ใช้คำว่า "ปัญญา"  เมื่อยังไม่ตรัสรู้ใช้คำว่า  "วิญญาณ"  หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คำว่า  "การแปรรูป"  คำนี้ใช้เป็นเครื่องเปรียบ  หรือภาพพจน์ เท่านั้น  ผู้อธิบายจีน

ฐิตา:


ภิกษุชิท็อง  ได้ฟังคำอธิบายนี้  ได้มีความเห็นแจ้งในปรัชญา
แห่งจิตเดิมแท้ในขณะนั้นเอง  และได้กล่าวโศลกแก่พระสังฆปริณายกดังต่อไปนี้:-

แน่นอนเหลือเกิน  กายทั้งสาม มีอยู่ ในจิตเดิมแท้

เมื่อใจเรา รู้ธรรม สว่างไสว  ปรัชญาทั้งสี่ ก็ปรากฏเด่นอยู่ในนั้น

เมื่อใด กายและปรัชญาเหล่านั้น  เกิดความรู้แจ้ง ซึ่งกันและกัน ว่าเป็น ของ อันเดียวกัน

เมื่อนั่นเราก็สามารถตอบสนองคำขอร้องของสัตว์ทั้งปวง
(โดยเหมาะสม
แก่อุปนิสัยและอารมณ์ของสัตว์นั้น) ไม่ว่าสัตว์นั้นๆจะอยู่ในรูปร่างใด

การเริ่มต้นปฏิบัติ  ด้วยการ แสวงหา กายสามและปรัชญาสี่  นั้น
เป็นการ ถือเอาทางที่ผิด  โดยสิ้นเชิง 

(เพราะเมื่อ  สิ่งเหล่านี้  มีอยู่ ในเราเองแล้ว  เรื่องของมัน--ก็คือทำให้  เห็นแจ้ง  ออกมา
ไม่ใช่เที่ยววิ่ง  แสวงหา)
                                                                                                                                                           
การพยายามจะ  "จับฉวย"  หรือ "กุมตัว" สิ่งเหล่านี้  เป็นการกระทำ
ที่ขัดขวางต่อ ธรรมชาติแท้ ของมัน อย่างตรงกันข้าม

เพราะได้อาศัยใต้เท้าแหละขอรับ  บัดนี้กระผมจึงสามารถ  จับใจความ  อันลึกซึ้ง  ของมันได้.

และตั้งแต่นี้ต่อไป กระผมสามารถ สลัดทิ้ง ความเท็จเทียมและชื่อต่างๆที่หลงตั้งขึ้นเรียก
ตามโมหะของตนๆตลอดนิจกาล*48

*48 บันทึก  เมื่อจับใจความของคำสอนได้แล้ว  ผู้ปฏิบัติก็ตั้งหน้าบำเพ็ญไปได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงชื่อที่ใช้เรียกสิ่งนั้นๆ เพราะว่าชื่อทั้งหมดเป็นเพียงของสมมุติให้เด็กเล่นเท่านั้นเอง (แม้สุดแต่ชื่อว่า มรรค ผล นิพพาน ฯลฯ) ผู้คัดลอกจีน

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version