การปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยชักเกร็งหลายคนคงเคยสงสัยว่าหากมีผู้ป่วยชักเกร็งอยู่ตรงหน้าจะทำการปฐมพยาบาลอย่างไรดี
เราลองมาทำความรู้จักกับการชักและวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกันดีกว่าค่ะ
การชัก (Convulsion) คือ การที่ร่างกายของบุคคลมีอาการสั่นเกร็งขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกระตุก คือมีเกร็งสลับกับผ่อนคลายเป็นจังหวะ
และไม่สามารถควบคุมได้ การชักเกิดจากการเกิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติขึ้นในสมอง และกระตุ้นให้เกิดการกระตุกผิดปกติของกล้ามเนื้อตามมา
สำหรับผู้เข้าช่วยเหลือเบื้องต้น (First responder) ควรจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างถูกต้องโดยอาศัยหลักการดังต่อไปนี้ 1. เมื่อมีการชักเกิดขึ้น เป้าหมายหลักก็คือ การป้องกันการบาดเจ็บของผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้นขณะชัก พยายามไม่ให้ผู้ป่วยล้มลง
จัดให้ผู้ป่วยนอนลงกับพื้นในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่ควรมีเฟอร์นิเจอร์ หรือวัตถุแหลมคม ที่ผู้ป่วยอาจไปกระทบกระแทกได้ขณะชัก
2. หาหมอนหรือสิ่งนุ่มๆรองศีรษะไม่ให้ถูกกระแทก
3. จัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่าพัก (Recovery position) โดยนอนตะแคงซ้าย เพื่อป้องกันทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น และป้องกันการสำลักอาหาร
ลงปอด (aspiration) โดยเฉพาะในรายที่มีความเสี่ยงที่จะอาเจียน

4. จัดเสื้อผ้าผู้ป่วยให้หลวมๆ โดยเฉพาะบริเวณลำคอ ไม่ควรจะรัดมากเกินไป
5. อยู่กับผู้ป่วยคนกว่าผู้ป่วยจะหยุดชัก หรือจนกว่าจะมีบุคลากรทางการแพทย์มาช่วยเหลือ โดยอาจช่วยจับชีพจร และดูการหายใจไปด้วย
ข้อควรระวัง ห้ามทำสิ่งต่อไปนี้ในผู้ป่วยชัก 1. ห้ามผูกตรึง (Restrain) ผู้ป่วย
2. ห้ามนำวัตถุใดๆรวมถึงนิ้วมือของผู้ช่วยเหลือใส่ในปากของผู้ป่วยระหว่างฟันบนและล่าง เนื่องจากไม่ได้ช่วยเหลืออะไร
ซ้ำร้ายยังสามารถเกิดอันตรายจากวัตถุที่ทำให้เกิดแผลในปากผู้ป่วย และนิ้วของผู้ช่วยเหลือขาดได้
3. อย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขณะกำลังชักเกร็ง ยกเว้นกรณีชักอยู่ในบริเวณที่ไม่ปลอดภัย
4. ไม่ต้องพยายามทำให้ผู้ป่วยหยุดชัก เนื่องจากผู้ป่วยไม่รู้ตัวและห้ามตัวเองไม่ได้ ต้องได้รับยาฉีดเข้าเส้นเลือดเท่านั้น
5. อย่าให้ผู้ป่วยรับประทานอะไรทางปากจนกว่าผู้ป่วยจะหยุดชักและตื่นดีแล้ว
(อย่าให้กินอะไรจะดีกว่าเนื่องจากเสี่ยงต่อการชักซ้ำและเกิดการสำลักอาหารหรือน้ำลงปอดได้)

เห็นไหมล่ะคะว่าง่ายแค่ไหน หากท่านพบผู้ป่วยกำลังชักเกร็งไม่ต้องตกใจ ให้รีบตั้งสติก่อน แล้วลงมือปฏิบัติตามแนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้นก็จะทำให้
การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างปลอดภัย อย่าลืมเรียกรถพยาบาลไปช่วยหลังจากได้ปฐมพยาบาลแล้วนะคะ เพราะผู้ป่วยอาจชักซ้ำอีกก็ได้ และควร
หาสาเหตุของการชักด้วยทุกครั้ง แล้วพบกันใหม่ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก www.narenthorn.or.th