มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือที่มักเรียกกันว่า ลิวคีเมีย แบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากที่สุด
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา ที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ตัวอ่อนของเม็ดโลหิตขาวเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่เซลล์เหล่านั้นไม่สามารถเจริญเป็นตัวแก่ได้ตามปกติ เซลล์ตัวอ่อนของเม็ดโลหิตขาวในไขกระดูกจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เซลล์มะเร็งเหล่านี้ จะแทนที่และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ซึ่งสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด จนเกิดอาการ และอาการแสดงในผู้ป่วยในระยะเวลาอันสั้น เช่น มีอาการซีด อ่อนเพลีย มีเลือดออกผิดปกติ หรือจุดเลือดออก ีเนื่องจากเกร็ดเลือดต่ำ ติดเชื้อง่ายมีไข้สูง นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการผิดปกติจากการที่เซลล์มะเร็งแทรกตัวเข้าไปในเนื้อเยื่ออื่นๆ อีกด้วย เช่นต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม ผิวหนัง หรือเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เป็นโรคที่มีพยาธิกำเนิดในระดับเซลล์หลายรูปแบบทำให้แบ่งเป็นชนิดย่อยได้หลายชนิด แต่ละชนิดมีการดำเนินโรคและพยากรณ์โรคที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การพิจารณาเลือกการรักษาต้องคำนึงถึงชนิดย่อยของโรคด้วย การแยกชนิดย่อยทำได้หลายระบบทั้งการจัดแบ่งตามลักษณะรูปร่างของเซลล์ จัดแบ่งกลุ่มตามความผิดปกติของโครโมโซม และความผิดปกติระดับยีน
การวินิจฉัยโรค การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดโลหิตขาวชนิดเฉียบพลัน อาศัยการตรวจเลือด และการตรวจไขกระดูกเป็นหลัก ผู้ป่วยมักมีประวัติการเกิดโรคค่อนข้างเร็ว อาการและอาการแสดงที่ปรากฏ มักเกี่ยวเนื่องกับภาวะไขกระดูกล้มเหลว และเซลล์มะเร็งที่แทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อต่างๆ รบกวนการทำงานตามปกติของอวัยวะนั้นๆ ร่วมกับความผิดปกติที่เกิดจากการมีเซลล์มะเร็งจำนวนมากในร่างกาย
อาการและอาการแสดงที่พบบ่อยได้แก่ ไข้ ซีด เลือดออกผิดปกติ ต่อมน้ำเหลืองโต ตับโต ม้ามโต น้ำหนักลด ผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยผื่นหรือปื้นที่ผิวหนัง อัณฑะบวมโต หรือ ปวดกระดูก ปวดข้อ ก็ได้ นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเม็ดโลหิตขาวชนิดเฉียบพลันบางรายอาจมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท โดยอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนพุ่ง เนื่องจากมีเซลล์มะเร็ง แทรกตัวในเยื่อหุ้มสมองทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตรวจพบเม็ดเลือดขาวชนิดตัวอ่อนสูงเป็นจำนวนมากในกระแสเลือด แต่ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจมีเม็ดเลือดขาวต่ำและตรวจไม่พบเม็ดเลือดขาวชนิดตัวอ่อนในเลือดก็ได้ แต่ตรวจพบในไขกระดูกหรืออวัยวะอื่นจำนวนมากแทน
ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นมะเร็งเม็ดโลหิตขาวชนิดเฉียบพลัน ควรได้รับการตรวจสภาพร่างกาย ดังนี้ 1. ซักถามประวัติ ต่าง ๆ เช่น ประวัติอาชีพที่เสี่ยงต่อโรค ประวัติการให้เลือด ประวัติโรคหัวใจ ประวัติการแพ้ยา ประวัติครอบครัว ประวัติการติดเชื้อต่าง ๆ เป็นต้น 2. ตรวจร่างกายอย่างละเอียด ประเมินสภาพร่างกายโดยรวม ตรวจหาร่องรอยของการติดเชื้อในช่องปากและฟัน มีเชื้อราในช่องปากหรือไม่ ตรวจการติดเชื้อบริเวณโพรงหลังจมูก ปอด และ บริเวณ รอบ ๆ ทวารหนัก เป็นต้น ตรวจร่างกายตามระบบ คือ หัวใจ ระบบการหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ตรวจหาโรคภายนอกอื่น ๆ เช่น ผิวหนัง ระบบประสาท ต่อมน้ำเหลือง ตับและม้าม ลูกอัณฑะ เป็นต้น ตรวจหาร่องรอยของเลือดออกผิดปกติ เช่น ตา เหงือก ผิวหนัง เป็นต้น ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินสภาวะทั่วไปของผู้ป่วยทั้งนี้เพื่อช่วยให้ การรักษาผู้ป่วย
การตรวจค้นหาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว 1. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และการตรวจสเมียร์เลือดด้วยการย้อมสี เป็นการตรวจขั้นพื้นฐานที่สามารถทำได้ในโรงพยาบาลทั่วไป แพทย์ทั่วไปสามารถให้การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันได้ไม่ยาก เนื่องจากผู้ป่วยมักซีด และมีเกร็ดเลือดต่ำผู้ป่วยส่วนใหญ่มีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงมาก และส่วนใหญ่เป็นเม็ดเลือดขาวตัวอ่อน 2. การตรวจไขกระดูก ควรทำการส่งตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและแยกชนิดย่อยของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน การตรวจเหล่านี้มีความสำคัญและจำเป็นต้องทำเนื่องจากทำให้สามารถบอกพยากรณ์โรค มีผลต่อการเลือกการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย 3. การตรวจระดับยีน การตรวจระดับยีนนอกจากจะมีประโยชน์ในการช่วยแยกชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันและบอกพยากรณ์โรคแล้ว ยังมีประโยชน์ในการติดตามโรคหลังการรักษา ซึ่งกรณีนี้สามารถทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติของโครโมโซมที่สามารถทำการตรวจระดับยีนได้ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องทำการตรวจเพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา ซึ่งเป็นการตรวจความสมบูรณ์ของระบบต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยทุกรายก่อนเริ่มให้การรักษาด้วยเคมีบำบัด เช่น การเจาะเลือด การถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น
การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว 1. การรักษาแบบประคับประคอง ในสถานพยาบาลที่ไม่อาจให้เคมีบำบัดแนะนำให้ส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่าทันที หลังให้การรักษาแบบประคับประคอง ให้ผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤตแล้ว การรักษาประคับประคองที่ควรทำได้แก่ การให้ส่วนประกอบของเลือดชนิดต่างๆ ที่เหมาะกับภาวะโรคของผู้ป่วย การให้ยาปฏิชีวนะ ในผู้ป่วยที่มีไข้ การลดจำนวนเม็ดเลือดขาวเบื้องต้น เป็นต้น
2. การรักษาจำเพาะ การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันจะใช้เคมีบำบัดเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ไขกระดูกกลับมาทำหน้าที่ตามปกติให้ได้เร็วที่สุด โดยสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งให้ได้มากที่สุด ป้องกันการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ดื้อต่อยาเคมีบำบัด ป้องกันการเกิดโรคใน ตำแหน่งที่ยาเคมีบำบัดเข้าถึงได้ยาก เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง และกำจัดเซลล์มะเร็งเม็ดโลหิตขาว จำนวนเล็กน้อยที่หลงเหลืออยู่ โดยการให้เคมีบำบัดต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งหลังผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะโรคสงบ แล้ว ดังนั้นชุดยาเคมีบำบัดที่ใช้จึงประกอบด้วยยาหลายชนิดให้ในขนาดและเวลาต่าง ๆ กัน ๆ
การพยากรณ์โรค ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดโลหิตขาวชนิดเฉียบพลัน ที่ไม่ได้รับการรักษาจะถึงแก่กรรมอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากภาวะไขกระดูกล้มเหลวทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงหรือเลือดออกในอวัยวะที่สำคัญ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยโปรแกรมการรักษาที่เหมาะสมมีโอกาสเข้าสู่ภาวะโรคสงบ ประมาณร้อยละ 70-85 ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ได้รับการรักษาเต็มที่สามารถหวังผลหายขาดได้ประมาณ ร้อยละ 20-40 ทั้งนี้ขึ้นกับ อายุของผู้ป่วย จำนวนเม็ดเลือดขาวเมื่อแรกวินิจฉัย และความผิดปกติของ โครโมโซมที่ตรวจพบ ข้อมูลจาก
ศูนย์มะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์