อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

พระเถรีสมัยพุทธกาล

<< < (6/12) > >>

ฐิตา:


ดอกฟ้าในมือโจร

ขณะนั้น นางภัททา ธิดาเศรษฐีมีอายุย่างเข้าวัย ๑๖ ปี มีรูปร่างสวยงาม บิดามารดาจึง
ระวังรักษาให้อยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ ให้หญิงรับใช้หนึ่งคนคอยดูแลรับใช้ของนาง

ก็เป็นธรรมดาของหญิงสาวในวัยนี้ ย่อมมีความฝักใฝ่ในชายหนุ่ม ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่นำโจรหนุ่ม
ตระเวนมาทางบ้านของนาง พอนางเปิดหน้าต่างมองลงไป



เห็นโจรเท่านั้นก็เกิดจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ในตัวโจรทันทีคิดว่า “ชาตินี้ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มมาเป็นคู่ครอง
ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่” และรู้ว่าพวกเจ้าหน้าที่กำลังนำโจรไปประหาร

ความรู้สึกของนางเหมือนกับกำลังสูญเสียสามีสุดที่รัก ความทุกข์เศร้าโศกเสียใจสุดจะห้ามก็ตามมา
ฝ่ายสาวใช้ เห็นเช่นนั้นจึงรีบแจ้งให้เศรษฐีผู้เป็นบิดามาดาทราบโดยด่วน

บิดามารดาของนางพอมาถึง ก็ได้ไต่ถามทราบจากปากของธิดาว่า “ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มคนนั้นมาเป็นคู่
ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป” แล้วก็นอนกลิ้งเกลือกอยู่บนเตียงนอนนั้น มารดาจึงพูดอ้อนวอนว่า:-

“ภัททา ลูกแม่ อย่าทำอย่างนี้เลย อีกไม่นานเจ้าก็จะได้สามีที่มีทรัพย์สมบัติ
และชาติสกุลเสมอกัน”

“คุณแม่ค่ะ ดิฉันไม่ต้องการชายอื่น ถ้าไม่ได้ชายคนนี้จะขอตายดีกว่า”
บิดามารดาทั้งสอง ช่วยกันพูดอ้อนวอนอยู่เป็นเวลานาน แต่ก็ไม่เป็นผลด้วยความรักและห่วงใยในลูกสาว

จึงติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้วยทรัพย์จำนวนหนึ่งพันกหาปณะ ขอไถ่ชีวิตโจรหนุ่มคนนั้นโดยให้นำมา
ส่งที่บ้าน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชบุรุษทั้งหลาย รับทรัพย์ไปแล้วทำเป็นถ่วงเวลารอจนมืดค่ำ

จากนั้นได้นำโจรหนุ่มคนนั้นมามอบให้แก่เศรษฐีแล้ว นำนักโทษอีกคนหนึ่งไปประหารชีวิตแทนแล้ว
กราบทูลพระราชว่าฆ่าโจรสัตตุกะเรียบร้อยแล้ว เศรษฐีรับตัวโจรหนุ่มสัตตุกะไว้แล้ว

ให้อาบน้ำชำระร่างกายและมอบเสื้อผ้าชั้นดีสวมใส่ พร้อมทั้งอาภรณ์เครื่องประดับชั้นดีต่าง ๆ นำไปยัง
ปราสาทของลูกสาว ทำพิธีส่งตัวให้เป็นคู่ผัวเมียกันแล้ว บิดามารดาทั้งสองก็กลับไปยังที่พักของตน

ฐิตา:


สันดานโจรไม่เจือจาง
โจรสัตตุกะมีความสุขอยู่ในบ้านของเศรษฐีซึ่งมีให้พรั่งพร้อมทุกอย่างได้ทั้งภรรยาที่
แสนสวย ทรัพย์สินเงินทองก็มีให้ใช้อย่างสุขสบายไม่ขัดสน การงานก็มีคนรับให้ทำให้ ไม่ต้อง
ดิ้นรนขวนขวยใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เขาก็อยู่ได้ไม่นานเพราะนิสัยสันดานโจรอดที่จะทำชั่วไม่ได้ เขา
คิดวางแผนฆ่าภรรยาเพื่อจะนำเอาเครื่องประดับอันมีค่านั้นไปขายแล้วนำเงินมาหาความสุขด้วย
การดื่มสุรา แล้วเขาก็เริ่มดำเนินการตามแผน ด้วยการแสดงกิริยาให้ภรรยาพอใจแล้วกล่าวว่า:-

“น้องหญิง การที่พี่รอดชีวิตจากการถูกประหารอย่างหนึ่ง และการที่ได้มาแต่งงานอยู่
กับน้องหญิงอีกอย่างหนึ่ง ก็ด้วยอานุภาพของเทวดาที่สิงสถิต ณ ภูเขาทิ้งโจร เพราะพี่ได้บนบาน
บวงสรวงกับท่านเข้าไว้ ขณะนี้ก็สำเร็จสมประสงค์ทั้ง ๒ ประการแล้ว พี่เห็นว่าควรจะทำการแก้
บนถวายเครื่องพลีกรรมแก่เทวดานั้น ขอให้น้องหญิงจงจัดเครื่องพลีกรรมสังเวยให้พร้อมแล้ว
ประดับอาภรณ์ให้สวยงามไปร่วมทำพิธีพลีกรรมที่ภูเขาทิ้งโจรนี้กับพี่เถิด”

นางภัททา ด้วยความรักสามีสุดหัวใจ จึงเห็นชอบเชื่อตามคำสามีทุกประการ โดยให้
ทาสชายหญิงจัดเครื่องพลีกรรมเรียบร้อยแล้ว ขึ้นนั่งรถคันเดียวกันกับสามีไปยังเหวที่ทิ้งโจร
เมื่อมาถึงเชิงเขา โจรสัตตุกะบอกกับภรรยาว่า “ให้เหล่าบริวารที่ติดตามมานั้นกลับไปก่อน เราสอง
คนเท่านั้นที่จะขึ้นไปทำพลีกรรม”

 เมื่อบริวารแยกทางกลับไปแล้วก็ช่วยกันถือเครื่องสักการะสังเวยขึ้นไปบนยอดเขา นางภัททา
รู้สึกมีความสุข ความอิ่มใจที่ได้ช่วยกิจของสามี และได้โอกาสมาทัศนาโลกภายนอก แต่พอถึง
ยอดเขา โจรสัตตุกะก็พูดกับนางด้วยเสียงอันแข็งกร้าวเด็ดขาดว่า:-

“ภัททา เจ้าจงเปลื้องผ้าห่มออกแล้วถอดเครื่องประดับทั้งหมดมัดห่อรวมกันไว้เดี๋ยวนี้”
นางภัททา ได้ฟังคำและเห็นกิริยาของสามีเปลี่ยนไปเช่นนั้นก็ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก
ละล่ำละลักถามสามีว่า:-  “นายจ๋า ดิฉันทำอะไรผิดหรือ ?”

“นางหญิงโง่ ความจริงเราจะควักตับกับหัวใจของเจ้า ถวายแก่เทวดาที่นี่ แล้วยึดเอา
เครื่องอาภรณ์ของเจ้าทั้งหมดไปใช้จ่ายหาความสุข”

“นายจ๋า ก็ทั้งตัวดิฉันกับเครื่องประดับทั้งหมดนี้ ก็เป็นของท่านอยู่แล้ว  ทำไมท่าน
จะต้องฆ่าฉัน เพื่อยึดเครื่องประดับด้วยอีกเล่า”

ฐิตา:




ปัญญามิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน

แม้นางจะอ้อนวอนชี้แจงอย่างไร เจ้าโจรโง่ใจร้ายก็ไม่ยอมรับฟัง ตั้งหน้าแต่จะฆ่านาง
เอาเครื่องประดับอย่างเดียว นางตกอยู่ในสถานการณ์จนตรอกมองเห็นความตายอยู่แค่เอื้อม

จึงรวบรวมสติไว้แล้วคิดว่า “ขึ้นชื่อว่าปัญญาที่ติดกับตัวมาตั้งแต่เกิดนั้น มิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน
แต่มีไว้เพื่อพิจารณาหาหนทางดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาชีวิต

เราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด” เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงกล่าวกับสามีโจรชั่วว่า:-
“เอาละนายจ๋า วันท่านท่านถูกราชบุรุษเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุม

พาตระเวนประจานไปทั่วเมืองก่อนนำมาประหารที่ภูเขาทิ้งโจรนี้ ดิฉันได้อ้อนวอนบิดามารดา
ให้สละทรัพย์เป็นอันมากไถ่ชีวิตท่านแล้วนำมาแต่งงานกับดิฉัน

และดิฉันก็มีความรักต่อท่านอย่างสุดหัวใจ วันนี้ท่านมีความประสงค์จะฆ่าดิฉันให้ได้
เพื่อต้องการเครื่องประดับ แต่ก็ไม่เป็นไร

ก่อนที่ดิฉันจะตายขอให้ดิฉันได้แสดงความรักต่อท่านเป็นครั้งสุดท้ายสักหน่อยเถิด
เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้ใกล้ชิดท่าน
ขอให้ท่านจงยืนตรงนั้นแล้วดิฉันจะขอสวมกอดท่านทั้ง ๔ ทิศหลังจากนั้นท่านก็จงประหารดิฉันเถิด”


ฐิตา:



โจรชั่วสิ้นชีพ

โจรชั่วสัตตุกะเห็นกิริยาอาการและฟังคำพูดของนางดูเป็นปกติสมจริง
จึงอนุญาตให้นางกระทำตามที่ขอ

แล้วไปยืนตรงที่นางบอกบนยอดเขา ขณะนั้น นางภัททาผู้เป็นภรรยา
ได้ทำการ
ประทักษิณเดินเวียนขวารอบสามี ๓ รอบ แล้วไหว้ทั้ง ๔ ทิศ พร้อมกับกล่าวว่า

“นายจ๋า นี่เป็นการเห็นท่านเป็นครั้งสุดท้าย นับต่อแต่นี้การที่ดิฉันจะได้เห็นท่าน
และท่านจะได้เห็นดิฉันก็คงไม่มีอีกแล้ว”
เมื่อกล่าวจบนางก็สวมกอดข้างหน้าแล้วก็เปลี่ยนมากอดข้างหลัง

ขณะที่โจรชั่วเผลอตัวอยู่นั้น นางได้ผลักโจรตกลงไปในเหว ร่างของโจรชั่ว
แหลกเหลวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จบชีวิตอันชั่วร้ายของเขาที่เหวทิ้งโจรนั้น
นางภัททา หลังจากผลักโจรชั่วผู้สามีตกลงไปในเหวแล้ว คิดว่า

“ถ้าเรากลับบ้านไป บิดามารดาก็จะถามว่า สามีเจ้าหายไปไหน ถ้าเราบอกความจริง
ว่าเราฆ่าเขาตายแล้ว ก็จะพากันประณามติเตียนว่า นางเด็กดื้อ
เจ้าอ้อนวอนพ่อแม่ให้เสียทรัพย์เพื่อไถ่ชีวิตโจรเอามาทำผัว แต่พอได้เขามาแล้ว
กลับฆ่าเขาตาย เจ้าทำอย่างนี้ได้อย่างไร แม้เราจะบอกว่าเขาต้องการฆ่าดิฉัน
เพื่อต้องการเครื่องประดับท่านทั้งสองก็จักไม่เชื่อเรา
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราไม่ควรกลับบ้าน ควรจะไปบวชในสำนักใดสำนักหนึ่งดีกว่า”


ฐิตา:




ถอนผมบวชเป็นเดียรถีย์

ครั้นนางภัททาคิดดังนี้แล้ว ก็ทิ้งห่อเครื่องประดับไว้บนยอดเขานั้นแล้วเดินลงจากภูเขาไป
เดินลัดเลาะไปตามป่า ได้พบสำนักของพวกนิครนถ์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา)

ขอบรรพชาในสำนักนั้น พวกนิครนถ์ถามนางว่า “จะบวชโดยวิธีไหน ?” นางจึงตอบว่า
“วิธีใดที่จัดว่าเป็นสิ่งสูงสุดในสำนักของท่าน ก็ขอให้ดิฉันบรรพชาด้วยวิธีนั้นนั่นแหละ”

พวกนิครนถ์จึงเอาก้านตาลถอนผมนางจนหมดศีรษะ ถือว่าเป็นวิธีบวชที่สูงสุดของสำนัก
เมื่อนางบวชแล้วผมที่งอกขึ้นมาใหม่ก็ม้วนกลมเป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่เหยียดยาวเหมือนเดิม

ดังนั้น นางจึงได้ชื่อว่า “กุณฑลเกสา” เมื่อนางบวชแล้ว ได้ศึกษาศิลปะวิทยาการต่าง ๆ
ในสำนักนั้นจนจบสิ้นนางเห็นว่าสำนักนี้ไม่มีศิลปะวิทยาที่สูงไปกว่านี้อีกแล้ว
จึงออกเที่ยวแสวงหาบัณฑิตผู้รู้ทั้งหลาย แล้วขอศึกษาสิ่งที่บัณฑิตเหล่านั้นรู้ทั้งหมด
นางเที่ยวแสวงหาบัณฑิตด้วยการโต้วาทะ โดยวิธีใช้กิ่งหว้าปักบนกองทราย

แล้วประกาศว่า “ถ้าผู้ใดสามารถที่จะโต้วาทะกับเราได้ก็จงเหยียบกิ่งหว้านี้”
โดยมีข้อตกลงกันว่า “ถ้าผู้ที่โต้วาทะชนะนางเป็นคฤหัสถ์ นางก็จะขอยอมเป็นทาสรับใช้
แต่ถ้าผู้โต้วาทะชนะเป็นนักบวช นางก็จะขอบวชเป็นศิษย์ในสำนักนั้น” นางถือกิ่งหว้า
เที่ยวประกาศท้าได้วาทะไปตามหมู่บ้านตำบลต่าง ๆ

ชาวบ้านพอได้ทราบข่าวว่า นางภัททามาทางบ้านของตนก็จะพากันหลีกหนีไป
นางเข้าไปถึงตำบลใดก็จะปักกิ่งหว้าบนกองทราย แล้วนั่งรอผู้ที่รับคำท้า
มาเหยียบกิ่งหว้าของนาง บางตำบลนางรอถึง ๗ วัน ก็ไม่มีผู้ใดกล้ามาเหยียบกิ่งหว้า
ของนางเลย นางจึงต้องถอนกิ่งหว้าแล้วหลีกต่อไปที่อื่น นางได้ถือกิ่งหว้าท่องเที่ยวไป
โดยทำนองนี้ จนได้ชื่อใหม่ว่า “นางชัมพุปริพาชิกา” (นางปริพาชิกาไม้หว้า, ชัมพุ = ไม้หว้า)


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version