อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

พระเถรีสมัยพุทธกาล

<< < (8/12) > >>

ฐิตา:




ออกบวชตามพระสวามีและโอรส

ฝ่ายพระนางยโสธราพิมพาราชเทวี พระชนนีของพระราหุลกุมาร ทรงว้าเหว่าโศกาดูร
ด้วยพระดำริว่า “โลกสันนิวาสนี้ มิมีอะไรแน่นอน
พระสวามีและลูกน้อยต่างก็ได้เสด็จออกบรรพชา อีกทั้งพระประยูรญาติทั้งชายหญิง

ก็พากันออกบวชตามเสด็จ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีประโยชน์อะไรแก่เราในเพศฆราวาส
เราควรสละสมบัติทั้งปวงแล้วออกบวชโดยเสด็จพระภัสดาในบัดนี้ จะประเสริฐกว่า”

พระนางจึงเสด็จเข้าไปกราบทูลลาพระเจ้ามหานามะ แล้วพร้อมด้วยพระนางรูปนันทาชนบทกัลยาณี
และสาวสนมกำนัล รวมประมาณ ๕๐๐ นาง เสด็จไปยังพระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี

ถวายอัญชลีแล้วกราบทูลขออุปสมบท  สมเด็จพระบรมศาสดาประทานสงเคราะห์
ด้วยครุธรรม ๘ ประการ
พระนาง ครั้นบวชแล้วได้นามปรากฏว่า “ภัททากัจจานาเถรี” ได้เรียนพระกรรมฐาน

ในสำนักพระบรมศาสดาแล้วเจริญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง
๔ ประการ เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว
ปรากฏว่าพระเถรีเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญในอภิญญาทั้งหลาย นั่งขัดสมาธิครั้งเดียว

สามารถระลึกชาติได้ถึงหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป เมื่อคุณความสามารถปรากฏเช่นนั้น
พระบรมศาสดา ได้ทรงสถาปนาแต่งตั้งพระเถรีนี้
ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีสาวิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้ทรงอภิญญา


ฐิตา:




พระกีสาโคตมีเถรี

เอตทัคคะในฝ่ายผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง

พระกีสาโคตมีเถรี ถือกำเนิดในสกุลคนเข็ญใจในกรุงสาวัตถี
บิดามารดาตั้งชื่อให้นางว่า “โคตมี”
แต่เพราะความที่นางเป็นผู้มีรูปร่างผอมบอบบาง คนทั่งไปจึงพากัน
เรียกนางว่า “กีสาโคตมี”

เงินทองของเศรษฐีกลายเป็นถ่าน

ในกรุงสาวัตถีนั้น มีเศรษฐีคนหนึ่งมีทรัพย์สินเงินทองมากมายถึง ๔๐ โกฏิ แต่ต่อมา
ทรัพย์เหล่านั้นกลายสภาพเป็นถ่านไปทั้งหมด เศรษฐีจึงเกิดความเสียดาย
เศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ร่างกายซูบผอมไปจากเดิม มีสหายคนหนึ่ง
มาเยี่ยมเยียนได้ทราบสาเหตุความทุกข์ของเศรษฐีแล้ว
จึงแนะนำอุบายที่จะให้ถ่านเหล่านั้นกลับมาเป็นเงินเป็นทองดังเดิมว่า:-

“แน่ะสหาย ท่านจงนำถ่านทั้งหมดนี้ออกไปวางที่ริมถนนในตลาด ทำทีประหนึ่งว่า
นำสินค้าออกมาขาย ถ้ามีคนผ่านไปผ่านมาพูดว่า “คนอื่น ๆ เขาขายผ้า ขายน้ำมัน น้ำผึ้ง
น้ำอ้อย เป็นต้น แต่ท่านกลับเงินเอาทองมานั่งขาย”
ถ้าคนที่พูดนั้นเป็นหญิงสาว ท่านก็จงสู่ขอนางมาเป็นสะใภ้ แล้วมอบทรัพย์ทั้งหมดนั้นให้แก่เธอ
ท่านก็จงอาศัยเลี้ยงชีพอยู่กับเธอนั้น แต่ถ้าคนที่พูดเป็นชายหนุ่ม
ท่านก็จงยกธิดาของท่าน ให้แก่เขาแล้วมอบทรัพย์ทั้งหมดให้แก่เขาโดยทำนองเดียวกัน


ฐิตา:




ถ่านกลับเป็นเงินเป็นทองดังเดิม

เศรษฐีได้ฟังสหายแนะนำแล้วเห็นดีด้วย จึงทำตามสหายแนะนำทุกอย่าง
ประชาชนที่ผ่านไปผ่านมาต่างก็พูดกันว่า ““คนอื่น ๆ เขาขายผ้า ขายน้ำมัน น้ำผึ้ง
น้ำอ้อย เป็นต้น แต่ท่านกลับมานั่งขายถ่าน”
เศรษฐีตอบว่า “ก็เรามีแต่ถ่านอย่างเดียว สิ่งอื่น ๆ ของเราไม่มี”

วันนั้น นางกีสาโคตมีเดินเข้าไปธุระในตลาดเห็นเศรษฐีแล้วนึกประหลายใจ
จึงถามว่า “คุณพ่อ คนอื่น ๆ คนอื่น ๆ เขาขายผ้า ขายน้ำมัน น้ำผึ้ง
น้ำอ้อย เป็นต้น แต่ทำไมคุณพ่อกลับเงินเอาทองเล่า”

“เงินทองที่ไหนกัน แม่หนู” เศรษฐีกล่าว
“คุณพ่อ ก็ที่กองอยู่นี่ไง” พูดแล้วนางก็กอบเต็มมือให้เศรษฐีดู ทันใดนั้น
เศรษฐีก็เห็นถ่านในกำมือของนางกลายเป็นเงินเป็นทองจริง ๆ

จากนั้น เศรษฐีได้สอบถามถึงสถานที่อยู่และตระกูลของนางแล้ว ได้สู่ขอนาง
มาทำพิธี อาวาหมงคลกับบุตรชายของตนแล้วมอบทรัพย์ ๔๐ โกฏินั้น
ให้แก่นาง ทรัพย์เหล่านี้ก็กลับเป็นเงินเป็นทองดังเดิม




อุ้มศพลูกหาหมอรักษา

นางได้อยู่ร่วมกับสามีจนมีบุตรหนึ่งคนในขณะที่บุตรของนางอยู่ในวัยพอเดินได้
เท่านั้นก็ถึงแก่ความตาย นางห้ามมิให้คนนำบุตรของนางไปเผาหรือไปทิ้งในป่าช้า
เพราะนางไม่เคยเห็นคนตาย จึงอุ้มร่างบุตรชายที่ตายแล้วนั้นเที่ยวเดินถาม
ตามบ้านเรือนต่าง ๆ ว่ามียารักษาบุตรของนางบ้างหรือไม่ คนทั้งหลายพากันคิดว่า
“นางคงจะเป็นบ้า จึงเที่ยวหายารักษาคนตายให้ฟื้น”
อุบาสกผู้มีปัญญาคนหนึ่งเห็นกิริยาของนางแล้วก็คิดว่า “นางคงจะมีบุตรคนแรก
จึงรักบุตรมาก และคงจะไม่เคยเห็นคนตาย จึงไม่รู้ว่าความตาย
เป็นอย่างไร เราควรจะแนะนำทางให้นางดีกว่า” จึงกล่าวกับนางว่า:-

“แม่หนู ฉันเองไม่รู้จักยารักษาลูกของเธอหรอก แต่พระสมณโคดม ขณะนี้
ประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน พระองค์ท่านรู้จักยาที่รักษาลูกของเธอได้”
นางรู้สึกดีใจที่ทราบว่ามีคนสามารถรักษาลูกของนางให้หายได้ จึงอุ้มลูกน้อย
รีบมุ่งหน้าตรงไปยังพระวิหารเชตวัน เข้าไปกราบถวายบังคมพระบรมศาสดา
แล้วทูลถามหายาที่จะมารักษาลูกของนางให้หายได้

พระพุทธองค์รับสั่งให้นางไปหาเมล็ดพันธุผักกาดหยิบมือหนึ่ง มาเป็นเครื่อปรุงยา
แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ผักกาด
ที่ได้จากบ้านที่ไม่เคยมีคนตายมาก่อนเท่านั้นจึงสามารถใช้เป็นเครื่องปรุงยาได้


ฐิตา:




พระศาสดาบอกยาให้

ในดวงจิตของนางคิดว่า ของสิ่งนี้หาไม่ยาก นางอุ้มร่างลูกน้อยเข้าไปในหมู่บ้าน
ออกปากขอเมล็ดพันธุ์ผักกาดตั้งแต่บ้านหลังแรกเรื่อยไป ปรากฏว่าทุกบ้าน
มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดทั้งนั้น แต่พอถามว่าที่บ้านนี้เคยมีคนตายหรือไม่ เจ้าของบ้าน
ต่างก็ตอบเหมือนกันอีกว่า “ที่บ้านนี้ คนที่ยังเหลือยู่นี้น้อยว่าคนที่ตายไปแล้ว”

เมื่อทุกบ้านต่างก็ตอบนอย่างนี้นางจึงเข้าใจว่า “ความตายนั้นเป็นอย่างไร
และคนที่ตาย ก็มิใช่ว่าจะตายเฉพาะลูกของเธอเท่านั้น
ทุกคนเกิดมาก็ต้องตายเหมือนกันหมด” นางจึงวางร่างลูกน้อยไว้ในป่า
แล้วกลับไปกราบทูลพระบรมศาสดาว่า
“ไม่สามารถจะหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากบ้านเรือนที่ไม่เคยมีคนตายได้”

พระพุทธองค์ได้สดับคำกราบทูลของนางแล้วตรัสว่า:-

“โคตมี เธอเข้าใจว่าลูกของเธอเท่านั้นหรือที่ตาย อันความตายนั้น
เป็นของธรรมดาที่มีคู่กับสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลก
เพราะว่ามัจจุราชย่อมฉุดคร่าสัตว์ทั้งหมด ผู้มีอัธยาศัยเต็มเปี่ยม
ไปด้วยกิเลสตัณหา
ให้ลงไปในมหาสมุทรคือ อบายภูมิ อันเป็นเสมือนว่าห้องน้ำใหญ่ ฉะนั้น”

นางได้ฟังพระดำรัสของพระบรมศาสดาจบลงก็ได้บรรลุอริยผลดำรงอยู่
ในพระโสดาบัน แล้วกราบทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดา
รับสั่งให้ไปบรรพชาในสำนักของภิกษุณีสงฆ์ นางบวชแล้วได้นามว่า
“กีสาโคตมีเถรี”

วันหนึ่งพระเถรีได้ไปทำความสะอาดโรงอุโบสถ เห็นแสงประทีปที่จุดอยู่
ลุกโพลงขึ้นแล้วหรี่ลงสลับกันไป นางจึงถือเอาดวงประทีปนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานว่า
“สัตว์โลกก็เหมือนกับแสงประทีปนี้
มีเกิดขึ้นและดับไป แต่ผู้ถึงพระนิพพานไม่เป็นอย่างนั้น”



ขณะนั้น พระผู้มีประภาคประทับอยู่ภายในพระคันธกุฎิ ทรงทราบด้วยพระญาณว่า
นางกำลังยึดเอาเปลวดวงประทีปเป็นอารมณ์กรรมฐานอยู่นั้น
จึงทรงแผ่พระรัศมีไปปรากฏประหนึ่งว่าพระองค์ประทับนั่งตรงหน้าของนางแล้วตรัสว่า:-

“อย่างนั้นแหละโคตมี สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นและดับไป
เหมือนเปลวดวงประทีปนี้ แต่ผู้ถึงพระนิพพานแล้ว ย่อมไม่ปรากฏอย่างนั้น
ความเป็นอยู่แม้เพียงชั่วขณะเดียวของผู้เห็นพระนิพพาน
ย่อมประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นพระนิพพานนั้น”

เมื่อสิ้นสุดพระพุทธดำรัส นางก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ดำรงตนเป็นพระเถรี
ผู้เคร่งครัดในการใช้สอยบริขาร ยินดีเฉพาะผ้าไตรจีวร
ที่มีสีปอน ๆ และเศร้าหมองเที่ยวไปทุกหนทุกแห่ง
ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดา จึงได้ประทานแต่งตั้งพระเถรีนี้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีสาวิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง


ฐิตา:




พระสิงคาลมาตาเถรี

เอตทัคคะในฝ่ายผู้พ้นกิเลสด้วยศรัทธา
พระสิงคาลมาตาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์
เดิมมีชื่ออย่างไรไม่ปรากฏ

เมื่อเจริญวัยได้แต่งงานกับชายหนุ่มผู้มีชาติตระกูลและทรัพย์เสมอกัน
อยู่ครองเรือน จนมีบุตรหนึ่งคน
บรรดาหมู่ญาติได้ตั้งชื่อบุตรชายของนางว่า “สิงคาลกุมาร”
ด้วยเหตุนี้ ชนทั้งหลายจึงเรียกนางว่า “สิงคาลมาตา”

สิงคาลกุมารไหว้ทิศ ๖

สิงคาลกุมาร เมื่อเจริญวัยเติบโตขึ้น เป็นผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติ
ไหว้ทิศทั้ง ๖ เป็นประจำทุกวัน คือ

๑. ทิศเบื้องหน้า (ทิศตะวันออก)
๒. ทิศเบื้องขวาง (ทิศใต้)
๓. ทิศเบื้องหลัง (ทิศตะวันตก)
๔. ทิศเบื้องซ้าย (ทิศเหนือ)
๕. ทิศเบื้องล่าง
๖. ทิศเบื้องบน

วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จออกจากพระวิหารเวฬุวันเข้าไปบิณฑบาต
ในกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาละ ผู้ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่
มีผมและเสื้อผ้าเปียก กำลังประคองอัญชลีไหว้ทิศทั้ง ๖ อยู่จึงตรัสถามว่า
“สิงคาละ เพราะเหตุไร เธอจึงลุกขึ้นแต่เช้า
ทั้งผมและเสื้อผ้าเปียกชุ่มทำการไหว้ทิศทั้ง ๖ อยู่อย่างนี้

สิงคาลกุมาร กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก่อนที่บิดาของพระพุทธเจ้าจะตายได้สั่งให้ข้าพระองค์
ไหว้ทิศทั้ง ๖ เหล่านี้
ข้าพระองค์สักการะ เคารพ นับถือ และบูชาคำสั่งของบิดา
จึงทำอย่างนี้พระเจ้าข้า”

สิงคาละ ตามธรรมเนียมแบบแผนของพระอริยะนั้น เขาไม่ไหว้ทิศ ๖ กันอย่างนี้
แต่ทิศทั้ง ๖ ของพระอริยะนั้น คือ

๑. ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ มารดาบิดา
๒. ทิศเบื้องขวาง ได้แก่ ครูอาจารย์
๓. ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา
๔. ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย
๕. ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ทาสกรรมกร
๖. ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์

ซึ่งกุลบุตรจะต้องบำรุงดูแลรักษาและป้องกันตามสมควรแก่ฐานะ
และหน้าที่อย่างถูกต้องเหมาะสม แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัส
พระคาถาภาษิต ยังสิงคาละให้รื่นเริงบันเทิงใจ
เกิดศรัทธาเลื่อมใสประกาศตน
เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิต แล้วเสร็จกลับสู่พระเวฬุวัน


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version